November Revolution (1918)

การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (๒๔๖๑)

​​​     การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ เป็นการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในเยอรมนีระหว่างวันที่ ๖-๙ พฤศจิกายน โดยมีศูนย์กลางการเคลื่อนไหวปฏิวัติที่เมืองคีล (Kiel) มิวนิก (Munich) และกรุงเบอร์ลิน เป็นการปฏิวัติที่แตกต่างจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* และการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในรัสเซียเพราะกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายไม่มีบทบาทและอิทธิพลในการก่อการปฏิวัติ ทั้งเป็นการปฏิวัติที่ปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อและเกิดขึ้นโดยไม่มีการวางแผนมาก่อนการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายนสิ้นสุดลงเมื่อฟิลิป ไชเดอมันน์ (Philip Schiedemann) ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดี (German Social Democratic Party - SPD)* ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเยอรมันในช่วงบ่ายของวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ก่อนที่เยอรมนีจะยอมลงนามการสงบศึก (Armistice)* ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ได้ ๒ วัน
     การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่เยอรมนีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการรุกครั้งใหญ่ในแนวรบด้านตะวันตกซึ่งสมรภูมิส่วนใหญ่อยู่ที่ฝรั่งเศส ตั้งแต่ฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๑๘ กองทัพเยอรมันต้องล่าถอยออกจากแนวรบฮินเดนบูร์ก (Hindenburg Line)* ซึ่งเป็นแนวสนามเพลาะที่ทอดยาวตั้งแต่เมืองลอง (Lens) ผ่านเมืองแซงต์กองแต็ง (Saint-Quentin) ไปจนถึงเมืองแร็ง (Reims) ในฝรั่งเศส และขณะเดียวกันกองทัพก็ถูกตีแตกจนต้องถอยหนีออกจากบัลแกเรียความพ่ายแพ้ดังกล่าวทำให้นายพลเอริช ฟอน ลูเดนดอร์ฟ (Erich von Ludendorff)* เสนอให้เปิดการเจรจายุติสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และให้ปฏิรูปการเมืองเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายสัมพันธมิตร ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* ก็ทรงเห็นด้วย ขณะเดียวกันมัททีอัส แอร์ซแบร์เกอร์ (Matthias Erzberger ค.ศ. ๑๘๗๕-๑๙๒๑)* ผู้นำปีกซ้ายของพรรคเซนเตอร์ (Centre Party)* จึงเห็นเป็นโอกาสรวบรวมเสียงข้างมากในสภาไรค์ชตาก (Reichtag) ซึ่งประกอบด้วย พรรคเซนเตอร์ พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน และพรรคประชาชน (People’s Party) เคลื่อนไหวปฏิรูปทางการเมือง และให้เปิดการเจรจาสันติภาพโดยปราศจากการยึดครองดินแดนและค่าปฏิกรรมสงคราม เจ้าชายมักซีมีเลียนแห่งบาเดิน (Prince Maximillian of Baden) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเจ้าชายมักซ์ทรงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ และคณะรัฐบาลของพระองค์ประกอบด้วยสมาชิกพรรคเอสพีดีและฝ่ายเสรีนิยมปีกซ้าย พระองค์ทรงเปิดการเจรจายุติสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรและขณะเดียวกันก็ทรงปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาด้วยการล้มเลิกอำนาจของจักรพรรดิที่ควบคุมกองทัพบกและกองทัพเรือ และให้กองทัพอยู่ใต้การควบคุมของสภาไรค์ชตาก สภาไรค์ชตากมีสิทธิถอดถอนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล สมาชิกสภาสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ทั้งล้มเลิกระบบการเลือกตั้งแบบเดิม เป็นต้น การปฏิรูปการเมืองดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "การปฏิวัติจากเบื้องบน" เนื่องจากผู้ดำเนินการปฏิรูปเป็นชนชั้นสูงและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงและอิทธิพล
     นายพลลูเดนดอร์ฟและจอมพล เพาล์ ฟอนฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)*สนับสนุนเจ้าชายมักซ์ให้เจรจายุติสงครามโดยเร็ว เพราะต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบแทนกองทัพในการยอมแพ้ คนทั้งสองเชื่อมั่นว่ารัฐบาลประชาธิปไตยของเจ้าชายมักซ์จะเป็นที่ยอมรับของประเทศสัมพันธมิตร ทั้งกระแสการปฏิรูปทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นก็ทำให้เยอรมนีหลีกเลี่ยงการเกิดการปฏิวัติสังคมนิยมเช่นในรัสเซียได้ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาได้ยื่นเงื่อนไขให้เยอรมนีถอนกำลังออกจากพื้นที่ยึดครองทั้งหมด รวมทั้งแคว้นอัลซาซ-ลอแรน (Alsace-Lorraine)* และปรัสเซียตะวันออก ตลอดจนให้ยุตินโยบายทำสงครามเรือดำน้ำทันที ต่อมาวิลสันก็ถูกอังกฤษและฝรั่งเศสกดดันให้ประวิงเวลาการเจรจาเพื่อให้เยอรมนีซึ่งกำลังจะพ่ายแพ้ในสงครามต้องยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไข วิลสันจึงเรียกร้องการเปิดเจรจาครั้งใหม่กับผู้แทนของประชาชนที่แท้จริงซึ่งมีนัยว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะไม่เจรจากับผู้แทนรัฐบาลเยอรมันที่มีไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ เป็นประมุข พรรคเอสพีดีจึงเคลื่อนไหวกดดันให้ไกเซอร์สละราชย์ แต่พระองค์ทรงหลีกเลี่ยงการตัดสินพระทัยในเรื่องดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลว่าจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเพราะกองทัพที่ถอยกลับเข้าประเทศอาจก่อความวุ่นวายได้ในภาวะขาดผู้นำ ทั้งพระองค์ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและพวกอนุรักษนิยมและชาตินิยมไม่ให้สละราชย์
     ข่าวการประวิงเวลาการเจรจาสันติภาพที่มีเงื่อนไขได้สร้างความขุ่นเคืองให้แก่กองทัพเรืออย่างมากจอมพลเรือ ฟอน ฮิพเพอร์ (von Hipper) ซึ่งไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ และต้องการแสดงศักยภาพของกองเรือรบเทียร์พิซ (Tirpiz) ให้เป็นที่ประจักษ์เป็นครั้งสุดท้ายจึงสั่งการให้กะลาสีเรือที่ฐานทัพเรือเมืองคีลเตรียมการโจมตีกองทัพเรืออังกฤษในทะเลเหนือ ฮิพเพอร์ไม่ได้กราบทูลไกเซอร์และแจ้งให้เจ้าชายมักซ์ทราบถึงการตัดสินใจของเขา อย่างไรก็ตาม กะลาสีเรือซึ่งเบื่อหน่ายในสงครามและกำลังไม่พอใจต่อการปันส่วนอาหารที่ไร้คุณภาพ รวมทั้งการขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มตลอดจนการใช้กฎวินัยที่เข้มงวดก็ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งผู้บัญชาการเรือจึงจับกุมผู้นำของพวกกะลาสีเรือไว้ซึ่งนำไปสู่การชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านในวันที่ ๓ พฤศจิกายน มีการปะทะกันขึ้นและฝ่ายกะลาสีเรือเสียชีวิต ๘ คน บาดเจ็บ ๒๙ คน ข่าวการนองเลือดที่เกิดขึ้นได้จุดชนวนการเคลื่อนไหวปฏิวัติของกรรมกรและมวลชนรวมทั้งฝ่ายซ้ายในพื้นที่ใกล้ฐานทัพเรือคีลและเมืองใกล้เคียงในวันที่ ๔ พฤศจิกายน กรรมกรและกะลาสีเรือชุมนุมเดินขบวนโบกธงแดงและชูคำขวัญของฝ่ายสังคมนิยมและพวกรักสันติ (pacifist) รวมทั้งจัดตั้งแรเทอ (Räte) หรือสภาผู้แทนกรรมกรและกะลาสีเรือตามแบบอย่างสภาโซเวียต (Soviet) ของรัสเซียขึ้น
     สภาผู้แทนกรรมกรและกะลาสีเรือซึ่งไม่มีแนวความคิดเกี่ยวกับการปฏิวัติได้เรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง การยกเลิกระบบเซนเซอร์ การมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม และให้ยกเลิกคำสั่งกองทัพเรือออกรบและอื่น ๆ เจ้าชายมักซ์พยายามแก้ไขวิกฤตการณ์ด้วยการส่งนักสังคมนิยมสายกลางที่เป็นสมาชิกสภาไรค์ชตากและสันทัดเรื่องการทหารและการเมืองไปเจรจากับสภาผู้แทนกรรมกรและกะลาสีเรือจนสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่การจลาจลต่อต้านที่ฐานทัพเรือคีลได้จุดชนวนการเคลื่อนไหวต่อต้านขึ้นตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในเยอรมนีรวมทั้งในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ด้วย ที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) เบรเมน (Bremen) และลือเบค (Lübeck) กรรมกรได้จัดตั้งสภาผู้แทนกรรมกรและกะลาสีเรือขึ้น และแนวทางดังกล่าวได้ขยายตัวไปยังเมืองมิวนิกและกรุงเบอร์ลินและในที่สุดก็ขยายตัวเป็นการปฏิวัติ
     การยอมจำนนของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ต่อประเทศสัมพันธมิตรไม่เพียงทำให้ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* สิ้นสุดอำนาจลงเท่านั้นแต่ยังทำให้รัฐบาวาเรีย (Bavaria)* กลายเป็นเป้าการบุกโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย ชาวเมืองมิวนิกซึ่งกังวลว่าจะถูกกองทัพข้าศึกโจมตีจึงหันไปสนับสนุนคูร์ท ไอส์เนอร์ (Kurt Eisner ค.ศ. ๑๘๖๗-๑๙๑๙)* นักการเมืองเชื้อสายยิวสังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระ (Independent Social Democratic Party) ให้แก้ไขสถานการณ์ไอส์เนอร์จึงเห็นเป็นโอกาสจัดการชุมนุมเดินขบวนในคืนวันที่ ๗ พฤศจิกายน ผู้ร่วมชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมกร นายทหารชั้นผู้น้อย และผู้แทนสันนิบาตชาวนาบาวาเรีย (Bavariasn Peasants’ League) เรียกร้องให้ไกเซอร์สละราชย์ และให้แก้ไขภาวะการขาดแคลนอาหารและลดชั่วโมงการทำงานเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยึดอาวุธจากป้อมทหารหลายแห่งและก่อนเที่ยงคืนก็สามารถยึดศูนย์บัญชาการทหารของเมืองมิวนิกไว้ได้ในคืนวันเดียวกันนั้นไอส์เนอร์ก็ประกาศล้มอำนาจของราชวงศ์วิทเทลสบัค (Wittelsbach) ที่ปกครองบาวาเรียมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๑๘๐ และจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมและประชาธิปไตยบาวาเรีย (Bavarian Democratic and Social Republic) ขึ้น
     ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ไอส์เนอร์จัดตั้งสภารัฐธรรมนูญของชาวนา กรรมกร และทหาร (Constituent Soldiers’ Workers’ and Peasants’ Council) ขึ้นเพื่อบริหารปกครอง และตั้งคณะรัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งประกอบด้วยพวกสังคมประชาธิปไตย และสังคมประชาธิปไตยอิสระ รวมทั้งปัญญาชนที่มีชื่อเสียงหลายคน ไอส์เนอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลเฉพาะกาลของเขาสัญญาจะสร้าง "สหรัฐแห่งเยอรมนี" (United States of Germany) ซึ่งรวมทั้งออสเตรียเข้าไว้ด้วย การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ การสร้างความสงบและเป็นระเบียบในสังคม และอื่น ๆ ขณะเดียวกันไอส์เนอร์ก็พยายามหาทางยุติสงคราม และเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันลบล้างความผิดในการก่อสงครามด้วยการปลดผู้มีส่วนรับผิดชอบในนโยบายของจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ออกจากตำแหน่ง
     การปฏิวัติในรัฐบาวาเรียซึ่งเป็นรัฐใหญ่และสำคัญของจักรวรรดิเยอรมันเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของจักรวรรดิเยอรมันเพราะมีส่วนทำให้ราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* แห่งจักรวรรดิเยอรมันต้องสิ้นสุดอำนาจลงผลสำเร็จของฝ่ายปฏิวัติทำให้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ใน กรุงเบอร์ลินหวาดวิตกและพยายามกดดันเจ้าชายมักซ์ให้กราบทูลไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ให้สละราชย์ ขณะเดียวกันกลุ่มสังคมนิยมเสียงข้างมากในสภาไรค์ชตากก็ยื่นข้อเรียกร้องต่อเจ้าชายมักซ์ให้ปรับคณะรัฐบาลโดยแต่งตั้งเสนาบดีจากพรรคที่มีเสียงข้างมากโดยเฉพาะพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันให้มีเสรีภาพในการชุมนุมและให้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ และมกุฎราชกุมารสละราชย์และสิทธิในการสืบราชสมบัติภายในวันที่ ๘ พฤศจิกายน รัฐบาลยอมรับข้อเรียกร้องที่เสนอยกเว้นประเด็นการสละราชย์เนื่องจากไกเซอร์ยังคงลังเลพระทัยกลุ่มสังคมประชาธิปไตยอิสระยอมให้เลื่อนการตัดสินพระทัยไปจนถึงวันที่ ๙ พฤศจิกายน เพราะเห็นว่าจะมีส่วนทำให้การเจรจาการสงบศึกซึ่งกำลังดำเนินอยู่บรรลุผล ในช่วงเวลาเดียวกันกลุ่มสังคมนิยมปีกซ้ายที่เรียกว่ากลุ่มสปาร์ตาซิสต์ (Spartacist) ก็เตรียมการลุกฮือและเรียกร้องการจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมขึ้น ตำรวจซึ่งทราบข่าวการเตรียมการจึงกวาดล้างและจับกุมผู้นำบางคน การจับกุมดังกล่าวได้นำไปสู่การชุมนุมของฝ่ายสังคมนิยมหัวรุนแรงจนเกิดการต่อสู้ลุกฮือด้วยอาวุธขึ้นและมีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑๕ คน
     ในเย็นของวันที่ ๘ พฤศจิกายน รัฐบาลก็ยังไม่ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับการสละบัลลังก์ รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่สังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระจึงประกาศลาออกจากคณะรัฐบาล พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันได้เรียกประชุม ณ ที่ทำการสหภาพแรงงานเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา และมีมติว่าหากไกเซอร์ยังไม่สละราชย์ในเช้าวันที่ ๙ พฤศจิกายนก็จะเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ใน เวลาเดียวกันมีการจัดตั้งสภาผู้แทนทหารและกรรมกรขึ้นเพื่อประสานงานกับกองกำลังต่าง ๆ ที่ ประจำอยู่ในกรุงเบอร์ลินเพื่อให้สนับสนุนการชุมนุม นอกจากนี้ผู้นำคนสำคัญของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันและพรรคประชาธิปไตยอิสระจำนวน ๕ คน ซึ่งรวมทั้งฟรีดริช เอแบร์ท (Friedrich Ebert ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๙๒๕)* และฟิลิปป์ ไชเดอร์มันน์ด้วยได้เจรจาหารือกับเจ้าชายมักซ์โดยแจ้งให้ทราบว่ากองทัพสนับสนุนพวกเขาและต้องการรัฐบาลประชาธิปไตยชุดใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญเจ้าชายมักซ์ทรงไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกนอกจากยุบคณะรัฐบาล และประกาศการสละราชบัลลังก์ของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ โดยไม่รอการตัดสินพระทัยจากพระองค์ทั้งแต่งตั้งเอแบร์ทเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในวันเดียวกันนี้เอแบร์ทก็ทำความตกลงกับจอมพล วิลเฮล์ม เกรอเนอร์ (Wilhelm Groener) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดให้สนับสนุนอำนาจของรัฐบาลใหม่และป้องกันการก่อการปฏิวัติของพวกบอลเชวิคเยอรมัน การลาออกของเจ้าชายมักซ์ยังส่งผลให้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ซึ่งประทับที่เมืองสปา (Spa) ประเทศเบลเยียม ทรงต้องประกาศสละราชสมบัติในเวลาต่อมา เพราะจอมพล ฮินเดนบูร์กและจอมพล เกรอเนอร์กราบทูลพระองค์ว่ากองทัพจะไม่สนับสนุนพระองค์และการสละราชย์คือวิธีเดียวที่จะ แก้ไขวิกฤตการณ์ได้ ในวันรุ่งขึ้นพระองค์ก็เสด็จลี้ภัยไปประทับที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งดำเนินนโยบายเป็นกลาง
     เอแบร์ทได้ร่วมมือกับพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระจัดตั้งรัฐบาลผสมแนวสังคมนิยมขึ้นรวมทั้งจัดตั้งสภาผู้แทนประชาชน (Council of Peoples Representatives) เพื่อวางแนวนโยบายสังคมนิยม อย่างไรก็ตามเอแบร์ทก็ตั้งใจว่าจะโอนอำนาจของสภาผู้แทนประชาชนซึ่งสมาชิกมาจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันและพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระให้แก่สภาแห่งชาติ (National Assembly) ซึ่งกำหนดจะเลือกตั้งขึ้นในเดือน มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ ผลสำคัญของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่คือในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ฟิลิปป์ ไชเดอมันน์ ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันซึ่งร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลใหม่ได้รีบประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเยอรมันขึ้นเนื่องจากเกรงว่าฝ่ายสังคมนิยมปีกซ้ายที่มีคาร์ลลีบเนชท์ (Karl Liebknecht)* และโรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)* เป็นผู้นำจะประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมเยอรมันแบบโซเวียตขึ้นก่อน การประกาศดังกล่าวไม่ได้มีการเตรียมการมาก่อน และแม้เอแบร์ทจะไม่พอใจอย่างมากแต่ก็ต้องปล่อยเลยตามเลยสาธารณรัฐเยอรมันที่จัดตั้งขึ้นจึงไม่ได้เกิดจากผู้ที่นิยมระบอบสาธารณรัฐแต่อย่างใด และนำไปสู่ความขัดแย้งของกลุ่มสังคมนิยมและความอ่อนแอของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ในเวลาต่อมา ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน เจ้าผู้ครองนครและท้องถิ่นต่าง ๆ ก็ประกาศสละอำนาจ และมีการจัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งขึ้นปกครองแทน ในวันต่อมา แอร์ซแบร์เกอร์ ผู้แทนรัฐบาลชุดใหม่ก็ลงนามสงบศึกกับจอมพล แฟร์ดีนอง ฟอช (Ferdinand Foch ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๙๒๘)* ผู้แทนของฝ่ายสัมพันธมิตร บนรถไฟ ณ เมืองกงเปียญ (Compiegne) ซึ่งมีผลให้สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลงพร้อมกับการสิ้นสลายของจักรวรรดิเยอรมัน
     การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ สิ้นสุดลงโดยแทบจะไม่มีการนองเลือด ความสำเร็จของการปฏิวัติส่วนหนึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งกันเองของฝ่ายสังคมนิยม และกองทัพไม่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ทั้งชนชั้นกลางส่วนใหญ่ก็ไม่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้ให้ความหวังใหม่ของการจะสร้างระเบียบใหม่ทางการเมือง และการจัดประชุมแห่งชาติที่นครไวมาร์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นการเริ่มต้นความเป็นชาติครั้งใหม่ของเยอรมน



คำตั้ง
November Revolution
คำเทียบ
การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน
คำสำคัญ
- สาธารณรัฐไวมาร์
- ฮัมบูร์ก, เมือง
- ฟอช, แฟร์ดีนอง
- ลักเซมบูร์ก, โรซา
- ลีบเนชท์, คาร์ล
- ไอส์เนอร์, คูร์ท
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- ลือเบค, นคร
- เบรเมิน, นคร
- สันนิบาตชาวนาบาวาเรีย
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- บาวาเรีย, สาธารณรัฐสังคมและประชาธิปไตย
- บาวาเรีย, รัฐ
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
- แอร์ซแบร์เกอร์, มัททีอัส
- ฮินเดนบูร์ก, แนวรบ
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช ฟอน
- สภาไรค์ชตาก
- อัลซาซ-ลอร์แรน, แคว้น
- วิลสัน, วูดโรว์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
- มักซีมีเลียนแห่งบาเดิน, เจ้าชาย
- ลอง, เมือง
- แร็ง, เมือง
- แซงต์กองแต็ง, เมือง
- คีล, เมือง
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดี
- พรรคเซนเตอร์
- ไชเดอมันน์, ฟิลิป
- การสงบศึก
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘
- กลุ่มสปาร์ตาซิสต์
- เอแบร์ท, ฟรีดริช
- เกรอเนอร์, วิลเฮล์ม
- สปา, เมือง
- เยอรมัน, จักรวรรดิ
- โฮเฮนซอลเลิร์น, ราชวงศ์
- กงเปียญ, เมือง
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1918
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๖๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf