North German Confederation

สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ

​​      สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือเป็นการรวมตัวของรัฐเยอรมัน ๑๙ รัฐกับเสรีนครอีก ๓ แห่งซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำไมน์ (Main) ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ หลังสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Week’s War)* ระหว่างปรัสเซียกับออสเตรีย มีผลให้สมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation)* ที่จัดตั้งขึ้นในที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ โดยมีออสเตรียเป็นรัฐที่มีอำนาจสูงสุดสิ้นสุดลงสมาพันธรัฐเยอรมันเหนืออยู่ใต้อำนาจและอิทธิพลของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ แห่งปรัสเซีย [ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๘๘๘)*] และออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครเสนาบดี โครงสร้างทางการเมืองและรัฐธรรมนูญของสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือในเวลาต่อมาได้กลายเป็นแม่แบบให้แก่จักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)*ที่สถาปนาขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๗๑ ขณะที่สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* กำลังดำเนินอยู่ อันมีนัยถึงการสิ้นสุดของสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือด้วย แต่ก็นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของปรัสเซียในการรวมชาติเยอรมันได้ในที่สุด


      การจัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือเป็นผลมาจากความขัดแย้งและการแข่งขันเป็นผู้นำของดินแดนเยอรมันระหว่างปรัสเซียกับออสเตรียที่อาจมองย้อนกลับไปได้เมื่อพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๒ มหาราช (Frederick II the Great ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๘๖) แห่งราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* ของปรัสเซียได้ท้าทายอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* แห่งออสเตรีย ซึ่งโดยธรรมเนียมปฏิบัติประมุขของออสเตรียทรงดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* ที่ ปรัสเซียสังกัดอยู่ด้วย ปรัสเซียได้ก่อสงครามการสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย (War of Austrian Succession ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๔๘) และเป็นฝ่ายมีชัยชนะทำให้พระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๒ มหาราชทรงมีบทบาทสูงขึ้นในดินแดนเยอรมันทัดเทียมกับประมุขของออสเตรียในเวลาต่อมา ทั้งยังเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปให้เป็นหนึ่งในมหาอำนาจยุโรปเนื่องจากมีกองทัพขนาดใหญ่ที่ แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ
     อย่างไรก็ดี หลังสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* และการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาที่มีเป้าหมายจะสร้างสันติภาพและฟื้นฟูสถานภาพของนานาประเทศของยุโรปที่มีมาก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* พระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๓ (Frederick William III ค.ศ. ๑๗๙๗-๑๘๔๐)* พระราชนัดดาในพระเจ้าเฟรเดอริกมหาราชกลับทรงดำเนินนโยบายอนุรักษนิยมตามแนวของเจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิช (Klemens von Fürst Metternich)* เสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศแห่งออสเตรีย (ต่อมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๑-๑๘๔๘) ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในขณะนั้น โดยพระองค์ทรงละทิ้งนโยบายการแข่งขันกับออสเตรียของพระอัยกาและยอมรับบทบาทผู้นำของออสเตรียในดินแดนเยอรมัน ซึ่งในขณะนั้นได้มีการรวมรัฐเยอรมันที่เคยสังกัดในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ประกาศยุบไปใน ค.ศ. ๑๘๐๖ ขึ้นเป็นสมาพันธรัฐเยอรมัน อีกทั้งพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๓ ยังทรงพอพระทัยที่จะจำกัดบทบาทของปรัสเซียในสมาพันธรัฐเยอรมันในฐานะประเทศผู้นำอันดับสองทรงให้ความร่วมมือกับออสเตรียในการปราบปรามขบวนการเสรีนิยมและชาตินิยมในดินแดนต่าง ๆ ทั่วยุโรป ยิ่งไปกว่านั้น พระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ (Frederick William IV ค.ศ. ๑๘๔๐-๑๘๖๑)* ซึ่งสืบราชสมบัติต่อมายังทรงมีทัศนะว่ากษัตริย์ปรัสเซียควรมีบทบาทด้านการทหารในฐานะจอมทัพ (archgeneral) แห่งจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* เท่านั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ทรงปฏิเสธที่จะเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเยอรมันที่แยกออสเตรียออกจากรัฐเยอรมัน ซึ่งเป็นการทิ้งโอกาสที่ราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของดินแดนเยอรมันอีกด้วย ทั้งในเวลาต่อมาก็ต้องทรงยอมยุบสหภาพปรัสเซีย (Prussian Union) หรือสหพันธรัฐเยอรมันเล็ก (Little German Federation) ที่เกิดจากแผนการรวมตัวของปรัสเซียกับรัฐเยอรมันบางรัฐเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับออสเตรียในสหพันธรัฐเยอรมันใหญ่ (Greater German Federation) และถูกบีบบังคับให้ทำสนธิสัญญาโอลมืทซ์ (Treaty of Olmütz) ในเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๐ ที่กำหนดให้คงสมาพันธรัฐเยอรมันไว้อย่างเดิมและให้ออสเตรียมีอำนาจสูงสุดนับ เป็นการทำลายเกียรติภูมิของปรัสเซียเป็นอันมากจนเรียกกันว่าความอัปยศแห่งโอลมืทซ์ (Humiliation of Olmütz)
     เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ และพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ พระอนุชาได้สืบราชสมบัติ สถานการณ์ในยุโรปก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับแต่ต้นทศวรรษ ๑๘๕๐ เป็นต้นมา ที่สำคัญได้แก่การจัดตั้งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (SecondEmpire of France)* ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ สงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)* ที่ออสเตรียต้องสูญเสียพันธมิตรที่สำคัญคือจักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire) และการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy*) ใน ค.ศ. ๑๘๖๐ ที่พวกชาตินิยมอิตาลีลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจและอิทธิพลของราชวงศ์ฮับส์บูร์กในคาบสมุทรอิตาลี ซึ่งมีผลให้พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงให้ความสนพระทัยในกิจการด้านการทหารมากขึ้นและมีพระราชประสงค์ที่จะปฏิรูปกองทัพปรัสเซียให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อปรัสเซียจะสามารถจะเผชิญสถานการณ์และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งการกู้ศักดิ์ศรีและสถานภาพรัฐผู้นำของปรัสเซียใน ดินแดนเยอรมันแต่แผนการเพิ่มกำลังทัพกลับได้รับการต่อต้านจากพวกเสรีนิยมที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) แม้ว่าต่อมาพระองค์จะทรงประกาศยุบสภาฯ แต่ผลของการเลือกตั้งใหม่กลับทำให้พรรคเสรีนิยมเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น จนทำให้ พระองค์คิดสละราชบัลลังก์ ในที่สุดด้วยการแนะนำของเคานต์อัลแบรชท์ ฟอน โรน (Albrecht von Roon) เสนาบดีว่าการกระทรวงสงคราม จึงทรงแต่งตั้งออทโท ฟอน บิสมาร์คนักการทูตและนักพูดที่มีความสามารถเป็นอัครเสนาบดีในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๖๒ บิสมาร์คมีความเห็นสอดคล้องกับพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ และดำเนินการปฏิรูปกองทัพ โดยไม่ต้องรอรับความเห็นชอบในเรื่องรูปแบบของกองทัพ งบประมาณและการเก็บภาษี ทั้งเขายังมีความต้องการที่จะขยายบทบาทและอำนาจของปรัสเซียและให้ราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นเป็นผู้นำในดินแดนเยอรมันแทนออสเตรีย บิสมาร์ควางแผนการดังกล่าวโดยใช้วิธีทั้งทางการทูตและการสงครามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยในเบื้องต้นปรัสเซียได้ร่วมมือกับรัฐเยอรมันซึ่งออสเตรียเป็นผู้นำในการทำสงครามกับเดนมาร์กใน ค.ศ. ๑๘๖๔ ด้วยการแย่งสิทธิในการครอบครองแคว้นชเลสวิก (Schleswig)* และโฮลชไตน์ (Holstein)ที่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน เดนมาร์กเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และปรัสเซียได้บริหารแคว้นชเลสวิกและออสเตรียบริหารแคว้นโฮลชไตน์เป็นการชั่วคราว
     ในเวลาต่อมาบิสมาร์คดำเนินนโยบายทางการทูตเพื่อเตรียมทำสงครามกับออสเตรีย โดยเขามั่นใจว่าทั้งอังกฤษและรัสเซียจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสงครามในดินแดนเยอรมัน แต่สำหรับฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๖๕ บิสมาร์คเจรจาลับกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐)* พระราชภาติยะ (หลานลุง) ในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ที่ ต้องการกอบกู้พระเกียรติยศของราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonaparte)* จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทรงให้สัญญาว่าฝรั่งเศสจะวางตัวเป็นกลางเพื่อแลกกับดินแดนแถบแม่น้ำไรน (Rhine) ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๖๖ ปรัสเซียยังทำสัญญาพันธมิตรกับอิตาลีว่าหากเกิดสงครามระหว่างปรัสเซียกับออสเตรียภายในระยะเวลา ๓ ปี อิตาลีจะต้องสนับสนุนปรัสเซีย และอิตาลีจะได้รับวินีเชีย (Venetia) เป็นเครื่องตอบแทน แม้สัญญาพันธมิตรดังกล่าวจะละเมิดข้อตกลงของสมาพันธรัฐเยอรมันที่ห้ามสมาชิกทำสัญญาพันธมิตรกับประเทศหนึ่งประเทศใดที่เป็นการต่อต้านรัฐสมาชิกด้วยกัน แต่นับเป็นการดำเนินนโยบาย "การเมืองที่เป็นจริง" (Realpolitik) อย่างเป็นรูปธรรมของบิสมาร์คที่ จะทำให้ปรัสเซียบรรลุเป้าหมายในการขยายอำนาจในดินแดนเยอรมันได้ หลังจากนั้น บิสมาร์คก็กล่าวหาว่าออสเตรียยุยงให้ประชากรในแคว้นโฮลชไตน์ต่อต้านปรัสเซียและในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๖ ผู้แทนปรัสเซียในสภาสมาพันธรัฐเยอรมันเสนอให้ที่ประชุมขับออสเตรียออกจากสภา ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระหว่างปรัสเซียกับออสเตรีย ในที่สุดปรัสเซียก็ประกาศยุบสภาสมาพันธรัฐเยอรมันในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๖๖ ออสเตรียก็ต้องสูญเสียอำนาจผู้นำในดินแดนเยอรมันเพราะหลังจาก ก่อสงครามกับปรัสเซียจนพ่ายแพ้ในสงครามเจ็ดสัปดาห์ที่ยุทธการแห่งซาโดวา (Battle of Sadowa) ในโบฮีเมีย ออสเตรียได้ถูกขับออกจากสมาพันธรัฐเยอรมันตามความตกลงสันติภาพแห่งปราก (Peace of Prague) นับเป็นอวสานของสมาพันธรัฐเยอรมันที่มีอายุยืนยาวกว่า ๕๐ ปี ขณะเดียวกันก็เป็นจุดกำเนิดของสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ แห่งปรัสเซียทรงเป็นผู้นำของสมาพันธรัฐใหม่นี้
     อย่างไรก็ดี แม้ออสเตรียจะถูกขับออกจากดินแดนเยอรมันที่เคยรวมตัวด้วยและมีบทบาทกว่า ๕๐๐ ปี แต่โดยทั่วไปออสเตรียก็มิได้สูญเสียมากนักนอกจากต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนน้อยและต้องยกวินีเชียให้แก่อิตาลี [ทำให้การรวมชาติอิตาลีที่มีมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๐ สัมฤทธิ์ผลมากขึ้นเพราะสามารถขับอำนาจของต่างชาติ (ออสเตรีย) ออกจากดินแดนผืนสุดท้าย ของคาบสมุทรอิตาลีได้สำเร็จ] ทั้งนี้เพราะบิสมาร์คไม่ต้องการก่อศัตรูกับออสเตรียอีก ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญอันอาจเป็นภัยต่ออนาคตของปรัสเซียได้เนื่องจากนานามหาอำนาจจะรวมตัวกันทำสงครามกับปรัสเซีย ก่อนที่จะมีการลงนามในความตกลงสันติภาพแห่งปราก บิสมาร์คก็ได้แสดงท่าทีที่ จะลาออกจากตำแหน่งอัครเสนาบดีหากพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ และคณะนายทหารยังคงมุ่งมั่นที่จะเผด็จศึกและยกกองทัพเข้าโจมตีและยึดครองกรุงเวียนนา ส่วนความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส การจัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือรวมทั้งที่อิตาลีสามารถผนวกวินีเชียของออสเตรียได้กลายเป็น "หนามยอกอก" จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ดังนั้น พระองค์จึงพยายามแก้ไขความเพลี่ยงพล้ำในทางการทูตของฝรั่งเศสโดยทรงเรียกร้องปรัสเซียให้ฝรั่งเศสเข้าครอบครองดินแดนทางตอนใต้ของแม่น้ำไรน์ที่ฝรั่งเศสเคยครอบครองในอดีต เช่น แคว้นซาร์แลนด์ (Saarland) ดินแดนของบาวาเรีย (Bavaria) และเฮสส์ (Hesse) เพื่อสร้างดุลอำนาจระหว่างฝรั่งเศสกับปรัสเซีย อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวกลับถูกบิสมาร์คนำไปเปิดเผยในเวลาต่อมา และทำให้รัฐเยอรมันตอนใต้ที่มิได้รวมตัวกับสมาพันธรัฐเยอรมันเหนืออันได้แก่บาวาเรียเวือร์ทเทมแบร์ก (Württemberg) และบาเดิน (Baden) ซึ่งกลัวภัยรุกรานจากฝรั่งเศสทำสนธิสัญญาพันธไมตรีลับในด้านการทหารกับปรัสเซียโดยทันที จึงนับเป็นการเพลี่ยงพล้ำในทางการทูตของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ กับปรัสเซียอีกครั้ง และมีผลให้พระองค์คิดหาโอกาสที่จะแก้แค้นปรัสเซียเพื่อกู้เกียรติภูมิของฝรั่งเศสและพระเกียรติยศให้กลับคืนมา
     สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือประกอบด้วยรัฐและนครอิสระที่ตั้งอยู่ในตอนเหนือของแม่น้ำไมน์ รวมกับมณฑลทางตะวันออกของปรัสเซียและดัชชีชเลสวิก รวมทั้งสิ้น ๒๒ แห่ง ได้แก่ ปรัสเซีย แซกโซนี (Saxony) เฮสส์ [เฉพาะอัปเปอร์เฮสส์ (Upper Hesse)] เมคเลนบูร์ก-ชเวริน (Mecklenburg-Schwerin) เมคเลนบูร์ก-ชเตรลิทซ์ (Mecklenburg-Strelitz) โอลเดนบูร์ก (Oldenburg) ซักซ์-ไวมาร์-ไอเซนัค (Saxe-Weimar- Eisenach) อันฮัลท์ (Anhalt) บรันสวิก (Brunswick) ซักซ์-อัลเทนบูร์ก (Saxe-Altenburg) ซักซ์-โกบูร์ก-ไมนิงเงิน (Saxe-Goburg-Meiningen) ลิพเพอ (Lippe) รอยส์ - จุลสาขา (Reuss - minor branch) รอยส์ - มหาสาขา (Reuss - major branch) เชาม์บูร์ก-ลิพเพอ (Schaumburg-Lippe) ชวาร์ซบูร์ก-รูโดลชตัดท์ (Schwarzburg-Rudolstadt) ชวาร์ซบูร์ก-ซอนแดร์สเฮาเซิน (Schwerzburg-Sondershausen) วัลเดค-พือร์มอนท์ (Waldeck-Pyrmont) นครเบรเมิน (Bremen) นครฮัมบูร์ก (Hamburg) และนครลือเบค (Lübeck) ส่วนดินแดนที่ เป็นพันธมิตรของออสเตรียได้แก่ราชรัฐนัสเซา (Nassau) เฮสส์-คัสเซิล (Hesse- Cassel) และเสรีนครแฟรงก์เฟิร์ตถูกผนวกเข้ากับปรัสเซีย ทำให้มณฑลทางตะวันตกและมณฑลทางตะวันออกของปรัสเซียมีพื้นที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน โดยปรัสเซียได้รับดินแดนเพิ่มขึ้น ๓,๓๖๗ ตารางกิโลเมตร และมีประชากรเพิ่มขึ้นจำนวน ๔,๕๐๐,๐๐๐ คน
     ส่วนในด้านการเมืองภายในปรัสเซีย ชัยชนะในสงครามเจ็ดสัปดาห์ก่อให้เกิดการขานรับนโยบายการปฏิรูปกองทัพและการขยายอำนาจของปรัสเซียใน ดินแดนเยอรมันมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นกระแสต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามกับเดนมาร์กใน ค.ศ. ๑๘๖๔ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายหลังจากสงครามสิ้นสุด ปรากฏว่าพรรคเสรีนิยมพ่ายแพ้อย่างยับเยินและเปิดโอกาสให้พรรคอนุรักษนิยมได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวน ๑๔๒ คนจากเดิม ๓๘ คน และทำให้พรรคการเมืองอื่น ๆ หมดบทบาทลงในสภาด้วย อย่างไรก็ดีบิสมาร์คก็เห็นเป็นโอกาสที่จะประนีประนอมและได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคเสรีนิยมที่เคยต่อต้านเขาในการเสนองบประมาณปฏิรูปกองทัพใน ค.ศ. ๑๘๖๒ ทั้งยังจะทำให้พรรคเสรีนิยมและสภาผู้แทนราษฎรไม่เสียหน้าที่จะสนับสนุนเขาในอนาคต โดยให้สภาผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมรัฐบาลและทำให้งบประมาณ ค.ศ. ๑๘๖๒ ถูกต้องตามหลักนิติบัญญัติ (รวมทั้งการใช้งบประมาณต่าง ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๒ เป็นต้นมา) แผนการของบิสมาร์คประสบความสำเร็จในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๖๖ เมื่อพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงมีพระราชดำรัสต่อสภาและทรงยอมรับว่าการกระทำของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ทรงชี้แจงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการดังกล่าวไปโดยปราศจากความเห็นชอบของสภา ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมรัฐบาลจึงได้ผ่านการพิจารณาด้วยเสียงข้างมาก ทำให้การจัดตั้งสมาพันธรัฐแห่งเยอรมันเหนือที่ มีปรัสเซียเป็นผู้นำเป็นที่ ชื่นชมของนักการเมืองกันได้อย่างจริงใจและเปิดเผย และวิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างรัฐสภากับการเมืองก็สิ้นสุดลงด้วย
     รัฐธรรมนูญของสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๖๗ โดยกำหนดให้สมาพันธรัฐประกอบด้วยรัฐและ เสรีนครจำนวน ๒๒ แห่ง มี พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ แห่งปรัสเซียเป็นประธานสมาพันธรัฐและมีอำนาจสูงสุดในการบริหารสมาพันธรัฐ ให้อำนาจพระองค์ในการกำหนดและรับผิดชอบต่อนโยบายต่างประเทศ การประกาศสงครามและการเจรจาสันติภาพ รวมทั้งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพของสมาพันธรัฐ มีอำนาจในการแต่งตั้งอัครเสนาบดีและเสนาบดีของสมาพันธรัฐซึ่งพระองค์ก็ทรงแต่งตั้งบิสมาร์คเป็นอัครเสนาบดีที่รับผิดชอบโดยตรงต่อพระองค์ ระบบบริหารหรือโครงสร้างทางการเมืองมีลักษณะเป็นแบบสหพันธรัฐ (federation) รัฐสภาใช้ระบบ ๒ สภา ประกอบด้วยสภาไรค์ชตาก (Reichstag) ที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั่วไป (manhood suffrage) ซึ่งมีอำนาจในการพิจารณางบประมาณและมีสิทธิ์ที่จะอภิปรายให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างกฎหมายต่าง ๆ แต่ไม่มีสิทธิ์เสนอร่างกฎหมายเอง ทั้งไม่มีอำนาจในการควบคุมคณะรัฐบาลหรือนโยบายต่างประเทศและการทหารซึ่งอยู่ในอำนาจของกษัตริย์แห่งปรัสเซียเพียงพระองค์เดียว สภาไรค์ชตากสามารถทำได้เพียงอภิปรายเรื่องงบประมาณอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการทหาร ส่วนอีกสภาได้แก่สภาสมาพันธรัฐหรือสภาบุนเดสรัท (Bundesrat) ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐและเสรีนครต่าง ๆ ที่ เป็นสมาชิกของสมาพันธรัฐและได้รับการแต่งตั้งจากประมุขของรัฐหรือนคร มี อำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาไรค์ชตากและสามารถให้ความเห็นชอบในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ทั้งอยู่นอกเหนือการควบคุมของสภาไรค์ชตากด้วย รัฐธรรมนูญยังทำให้ ปรัสเซียเป็นรัฐที่ มีอำนาจมากที่สุดในสภาสมาพันธรัฐ โดยมีผู้แทนจำนวน ๑๗ คนจากจำนวนสมาชิกทั้งหมด ๔๓ คน ซึ่งทำให้สามารถควบคุมเสียงในสภาได้และหาเสียงสนับสนุนเพื่อได้รับเสียงข้างมากได้โดยง่าย ส่วนอำนาจปกครองในรัฐต่าง ๆ คงปล่อยให้เป็นขององค์ประมุขของรัฐนั้น ๆ ดังเดิม แต่ละรัฐคงมีกฎหมาย รัฐธรรมนูญรัฐสภา ระบบศาลและข้าราชการของตนเอง ทั้งมีอิสระในการบริหารและการจัดการเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและการศึกษา รวมทั้งการเก็บภาษีเองอีกด้วย
     ขณะเดียวกัน รัฐเยอรมันทางตอนใต้ของแม่น้ำไมน์ที่เป็นอดีตรัฐสมาชิกของสมาพันธรัฐเยอรมันเช่นเดียวกันไม่สามารถรวมตัวกันได้ เพราะต่างไม่ไว้วางใจกันและไม่ต้องการอยู่ใต้อิทธิพลของบาวาเรียที่เป็นรัฐใหญ่และมีอำนาจ อีกทั้งพวกนักบวชในนิกายโรมันคาทอลิก นักประชาธิปไตย นักสังคมนิยมและพวกต่อต้านลัทธิทหารต่างพากันต่อต้านการเข้าเป็นสมาชิกของสมาพันธรัฐใหม่นี้ด้วย อย่างไรก็ดี กระแสการรวมชาติเยอรมันก็ปรากฏให้เห็นในรัฐเยอรมันตอนใต้ตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๑๘๕๐ เมื่อมีการจัดตั้งสาขาของสมาคมแห่งชาติ (National Society - Nationalverien) ไปทั่วนอกจากนี้ ในวิกฤตการณ์ลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Crisis)* ค.ศ. ๑๘๖๗ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทรงพยายามจะซื้อราชรัฐลักเซมเบิร์กที่อยู่ในปกครองของ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ (William III ค.ศ. ๑๘๔๙-๑๘๙๐) แห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนที่เคยเป็นรัฐสมาชิกของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และสมาพันธรัฐเยอรมันที่ประชากรพูดภาษาเยอรมัน ทั้งจะทำให้ฝรั่งเศสมี พรมแดนที่ประชิดดินแดนเยอรมันมากขึ้น ดังนั้นชาวเยอรมันโดยทั่วไปจึงต่อต้านและเรียกร้องให้ปรัสเซียปกป้องศักดิ์ศรีของรัฐเยอรมันแม้จะต้องทำสงครามกับฝรั่งเศสก็ตาม วิกฤตการณ์ลักเซมเบิร์กจึงเป็นเสมือน "การซ้อมใหญ่สำหรับวิกฤตการณ์ ค.ศ. ๑๘๗๐" ระหว่างฝรั่งเศสกับปรัสเซีย ทั้งทำให้รัฐเยอรมันทางใต้หวั่นไหวในความมั่นคงของตนจึงพยายามแสวงหาพันธมิตรกับปรัสเซียและสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ มีการทำสนธิสัญญาความร่วมมือทางทหารและการจัดตั้งกองทัพตามแบบฉบับของปรัสเซีย ต่อมาได้มีการฟื้นฟูสหภาพศุลกากรเยอรมัน (Zollverein) ขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างความ แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐของตน ซึ่งเท่ากับเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างรัฐเยอรมันตอนใต้กับปรัสเซียและสมาชิกสมาพันธรัฐเยอรมันเหนืออื่น ๆ ด้วย ดังนั้นจากเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่าการรวมชาติเยอรมันเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว รัฐเยอรมันตอนใต้กลับต่อต้านแนวคิดของการใช้การรวมตัวทางเศรษฐกิจเป็นบันไดไปสู่การรวมตัวทางการเมือง
     อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวบิสมาร์คเชื่อว่าการรวมชาติเยอรมันเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และเป็นเรื่องของเวลาเท่านั้น แต่การต่อต้านจากรัฐเยอรมันทางใต้ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญ หากจะรวมชาติให้ประสบความสำเร็จต้องปลุกกระแสชาตินิยมให้เกิดขึ้นทั่วไปในดินแดนเยอรมันและสงครามจะเป็นกระบวนการที่จะก่อให้เกิดการรวมชาติได้ในเวลาอันรวดเร็ว ในต้น ค.ศ. ๑๘๖๙ บิสมาร์คเห็นเป็นโอกาสเมื่อเกิดปฏิวัติขึ้นในสเปนใน ค.ศ. ๑๘๖๘ และทำให้ราชบัลลังก์ว่างลงสภาแห่งชาติสเปน (Cortes) ทำการคัดเลือกเจ้านายใน ราชวงศ์ต่าง ๆ เพื่ออัญเชิญมาเป็นกษัตริย์ บิสมาร์คจึงใช้ปัญหาการสืบบัลลังก์สเปนเป็นเครื่องยั่วยุให้ฝรั่งเศสทำสงครามกับปรัสเซีย โดยวางแผนให้เจ้าชายเลโอโปลด์ (Leopold) แห่งราชสกุลโฮเฮนซอลเลิร์น-ซิกมาริงเงิน (Hohenzollern-Sigmaringen) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นเป็นคู่แข่งขันไปครองราชบัลลังก์สเปน ทั้งนี้ย่อมเป็นที่เข้าใจกันได้ว่าฝรั่งเศสต้องไม่พอใจที่จะเห็นราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นปกครองดินแดนที่ ห้อมล้อมฝรั่งเศสทั้งทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ทำการประท้วงอย่างรุนแรงตามคาดหมาย ทั้งต่อมาในกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๐ ยังส่งเอกอัครราชทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ เพื่อคาดคั้นให้พระองค์เลิกสนับสนุนเจ้าชายเลโอโปลด์ รวมทั้งให้คำมั่นสัญญากับฝรั่งเศสว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เพื่อแสดงชัยชนะของฝรั่งเศสหลังจากที่เสียหน้าในวงการทูตให้แก่ปรัสเซียหลายครั้ง รวมทั้งการสนับสนุนการสถาปนาจักรพรรดิแมกซิมีเลียนที่ ๑ (Maximilian I ค.ศ. ๑๘๖๔-๑๘๖๗)* พระอนุชาใน จักรพรรดิโจเซฟ ฟรานซิส (Joseph Francis ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๑๖)* แห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งเม็กซิโกจนในที่สุดเกือบทำให้ฝรั่งเศสต้องเข้าสู่สงครามกับสหรัฐอเมริกา ส่วนจักรพรรดิแมกซิมิเลียนที่ ๑ ก็ถูกล้มล้างอำนาจและถูกสำเร็จโทษอย่างอเน็จอนาจ บิสมาร์คได้ดัดแปลงโทรเลขจากเมืองเอมส์ (Ems Telegram)* ที่พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงมีพระราชดำรัสถึงเขาและทรงเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้เป็นไปในเชิงที่ต่างฝ่ายต่างไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และส่งไปลงข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๐ อันเป็นการยั่วยุพลเมืองของทั้ง ๒ ชาติและกลายเป็นชนวนเหตุของสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียที่ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๐ ในวันรุ่งขึ้น บาวาเรียเวือร์ทเทมแบร์กและบาเดินก็ประกาศตัวเข้าร่วมรบกับกองทัพปรัสเซีย ซึ่งเป็นไปตามแผนการที่จะใช้สงครามสร้างกระแสชาตินิยมในดินแดนเยอรมันเพื่อรวมชาติที่บิสมาร์คได้วางไว้ทุกประการ
     สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๑ โดย ๑๐ วันก่อนหน้านี้บิสมาร์คได้รับฉันทานุมัติจากบรรดาประมุขของรัฐเยอรมันทั้งในตอนเหนือและตอนใต้ประกาศจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมันและสถาปนาพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ แห่งปรัสเซียเป็นไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ แห่งจักรวรรดิเยอรมัน ณ ห้องกระจกในพระราชวังแวร์ซาย (Versailles) ชานกรุงปารีส นับเป็นความสำเร็จของการรวมชาติเยอรมันและการสิ้นสุดของสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือที่จัดตั้งขึ้นได้เพียง ๔ ปี ๖ เดือนส่วนอิตาลีก็ฉวยโอกาสที่ฝรั่งเศสติดพันในสงครามเข้ายึดกรุงโรมและจัดตั้งเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรซึ่งทำให้การรวมชาติอิตาลีสำเร็จอย่างสมบูรณ์ตามที่ พวกอิตาลีชาตินิยมเคยตั้งเป้าหมายไว้ด้วย.


ประชากรของแคว้นโฮลชไตน์เกือบทั้งหมดเป็นชาวเยอรมันและเป็นรัฐสมาชิกของสมาพันธรัฐเยอรมันส่วนชเลสวิกไม่เป็นสมาชิกแต่ประชากรเกือบร้อยละ ๗๐ เป็นชาวเยอรมันแคว้นทั้งสองมิได้รวมตัวกับเดนมาร์กแต่อยู่ใต้ปกครองโดยตรงของกษัตริย์เดนมาร์กซึ่งบรรพบุรุษพระองคหนึ่งทรงเป็นดุ๊กของราชรัฐหรือแคว้นทั้งสองแห่งนี้

คำตั้ง
North German Confederation
คำเทียบ
สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ
คำสำคัญ
- โฮเฮนซอลเลิร์น-ซิกมาริงเงิน, ราชสกุล
- สหภาพศุลกากรเยอรมัน
- สมาคมแห่งชาติ
- สภาแห่งชาติสเปน
- วิลเลียมที่ ๓, พระเจ้า
- วิกฤตการณ์ลักเซมเบิร์ก
- เฮสส์-คัสเซิล
- เลโอโปลด์, เจ้าชาย
- ฮัมบูร์ก, นคร
- สภาไรค์ชตาก
- สภาบุนเดสรัท
- นัสเซา, ราชรัฐ
- ลือเบค, นคร
- โอลเดนบูร์ก
- เฮสส์
- อัปเปอร์เฮสส์
- อันฮัลท์
- ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- เยอรมัน, สมาพันธรัฐ
- เยอรมัน, จักรวรรดิ
- เยอรมันเหนือ, สมาพันธรัฐ
- วิลเลียมที่ ๑, ไกเซอร์
- สงครามเจ็ดสัปดาห์
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- ความอัปยศแห่งโอลมืทซ์
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- ฝรั่งเศสที่ ๒, จักรวรรดิ
- เฟรเดอริกที่ ๒ มหาราช, พระเจ้า
- เฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๓, พระเจ้า
- เฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔, พระเจ้า
- เมทเทอร์นิช, เคลเมนส์ ฟอน
- โรมันอันศักดิ์สิทธิ์, จักรวรรดิ
- สงครามการสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย
- สนธิสัญญาโอลมืทซ์
- สงครามนโปเลียน
- สหภาพปรัสเซีย
- สหพันธรัฐเยอรมันเล็ก
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- ออสเตรีย, จักรวรรดิ
- โฮเฮนซอลเลิร์น, ราชวงศ์
- การรวมชาติอิตาลี
- ชเลสวิก, แคว้น
- นโปเลียนที่ ๓, จักรพรรดิ
- รัสเซีย, จักรวรรดิ
- โบนาปาร์ต, ราชวงศ์
- โรน, อัลแบรชท์ ฟอน, เคานต์
- วินีเชีย
- สงครามไครเมีย
- โฮลชไตน์
- ความตกลงสันติภาพแห่งปราก
- ชวาร์ซบูร์ก-ซอนแดร์สเฮาเซิน
- ชวาร์ซบูร์ก-รูโดลชตัดท์
- เชาม์บูร์ก-ลิพเพอ
- ซักซ์-โกบูร์ก-ไมนิงเงิน
- ซักซ์-ไวมาร์-ไอเซนัค
- ซักซ์-อัลเทนบูร์ก
- ซาร์แลนด์, แคว้น
- แซกโซนี, แคว้น
- บรันสวิก
- บาเดิน, เมือง
- เบรเมิน, นคร
- บาวาเรีย
- เมคเลนบูร์ก-ชเตรลิทซ์
- เมคเลนบูร์ก-ชเวริน
- ยุทธการแห่งซาโดวา
- รอยส์ - จุลสาขา
- ลิพเพอ
- รอยส์ - มหาสาขา
- วัลเดค-พือร์มอนท์
- เวือร์ทเทมแบร์ก, รัฐ
- โจเซฟ ฟรานซิส, จักรพรรดิ
- โทรเลขจากเมืองเอมส์
- แมกซิมีเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- แวร์ซาย, พระราชวัง
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf