องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตเป็นองค์การระหว่างประเทศในระบบพันธมิตรทางทหารที่มีมาตรการความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security) จัดตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty) ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๙ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการรุกรานของสหภาพโซเวียตและประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ใน สงครามเย็น (Cold War)* มีภาคีสมาชิกแรกเริ่ม๑๒ ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ อิตาลี และโปรตุเกส ในทศวรรษ ๑๙๕๐ รับสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก ๓ ประเทศ และใน ค.ศ. ๑๙๘๒ เพิ่มอีก ๑ ประเทศ ก่อนสิ้นสงครามเย็นองค์การนาโตจึงมีสมาชิกทั้งหมด ๑๖ ประเทศ ในยุคหลังสงครามเย็นองค์การนี้ได้ปรับปรุงโครงสร้างและปรับบทบาทใหม่ พร้อมทั้งรับสมาชิกจากประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกเข้ามาด้วย ทำให้ในปัจจุบันองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือเป็นองค์การในระดับภูมิภาคของยุโรปอย่างแท้จริง โดยมีสมาชิกทั้งสิ้น ๒๖ ประเทศ ( ค.ศ. ๒๐๐๗) และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม
การจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือเป็นผลโดยตรงมาจากสงครามเย็นที่เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สงครามดังกล่าวเริ่มปรากฏอย่างชัดเจนเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศหลักการทรูแมน (Truman Doctrine) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ และประกาศให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ยุโรปตะวันตกภายใต้ แผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อช่วยสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันตก ซึ่งมีผลทำให้สหภาพโซเวียตเร่งขยายอิทธิพลในยุโรปตะวันออกมากขึ้น พร้อมทั้งออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศบริวารของตนเช่นเดียวกันแต่เหตุการณ์ที่มีผลทำให้เกิดระบบพันธมิตรทางทหาร ของฝ่ายตะวันตกขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๙ ได้แก่ การปิดกั้นเบอร์ลิน (Berlin Blockade)* ของสหภาพโซเวียตระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๘ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำให้ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเสื่อมโทรมลงอย่างมากเท่านั้น แต่ยังทำให้สหรัฐอเมริกาตระหนักว่า จำเป็นต้องจัดตั้งระบบการป้องกันร่วมขึ้นในยุโรปตะวันตกอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะสถาบันถาวรที่จะสามารถทำหน้าที่ป้องกันการรุกรานของฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพแทนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ละครั้งดังเช่นวิกฤตการณ์ปิดกั้นเบอร์ลิน นอกจากนี้ ยุโรปตะวันตกในช่วงหลังสงครามก็ยังอ่อนแอและไม่มีศักยภาพทางทหารเพียงพอที่จะป้องกันตนเองโดยลำพังได้
หลังการเริ่มปิดกั้นนครเบอร์ลินไม่นาน ในวันที่ ๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ สหรัฐอเมริกาได้เชิญแคนาดาและกลุ่มประเทศภาคีสมาชิกองค์การสนธิสัญญาบรัสเซลส์ (Brussels Treaty Organization BTO)* ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก มาประชุมร่วมกันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อหารือเบื้องต้นในการจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหารเพื่อป้องกันยุโรปตะวันตกโดยให้ครอบคลุมอาณาบริเวณแอตแลนติกเหนือทั้งหมด ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งองค์การระหว่างประเทศเพื่อการป้องกันยุโรปขึ้นโดยเร็วและได้บรรลุข้อตกลงในหลักการของการมีระบบป้องกันตนเองร่วมกันดังนี้ ๑) สนธิสัญญาจัดตั้งระบบป้องกันตนเองร่วมกันที่จะมีขึ้นจะต้องอยู่ในกรอบขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ๒) ต้องเป็นการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงควบคู่ไปกับการต่อต้านการรุกราน ๓) ต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและการป้องกันตนเองเป็นรากฐานของสนธิสัญญา ๔) ควรครอบคลุมถึงกิจกรรมที่ไม่ใช่ด้านการทหารด้วยและ ๕) ควรมีการดำเนินงานในลักษณะองค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ บรรดาผู้เข้าร่วมประชุมยังเห็นว่าควรนำชาติยุโรปตะวันตกอื่น ๆ เข้ามาร่วมในระบบพันธมิตรดังกล่าวด้วย
การเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนืออย่างเป็นทางการระหว่าง ๗ ประเทศเริ่มขึ้นในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ โดยใช้สนธิสัญญาบรัสเซลส์ (Treaty of Brussels) ฉบับ ค.ศ. ๑๙๔๘ เป็นฐานการพิจารณาและได้เพิ่มเติมส่วนสำคัญ ๆ ที่เป็นมาตรการการป้องกันยุโรปทางด้านการทหารไว้อย่างรอบด้าน โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารและการเงินแก่องค์การที่จะจัดตั้งขึ้น ที่ ประชุมใช้เวลาประมาณ ๓ เดือนการจัดทำร่างสนธิสัญญาจึงแล้วเสร็จและได้รับการตีพิมพ์ในปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ ต่อมาในวันที่ ๔ เมษายน จึงได้มีพิธีลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยผู้แทนของทั้ง ๗ ประเทศที่เข้าร่วมเจรจา และผู้แทนนอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ อิตาลี และโปรตุเกส ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม
ลงนามด้วย รวมทั้งหมด ๑๒ ประเทศ ประเทศเหล่านี้จึงถือเป็นภาคีสมาชิกผู้ก่อตั้งขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ เมื่อสนธิสัญญามีผลบังคับใช้
สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือจัดทำขึ้นโดยสอดคล้องกับมาตรา ๕๑ และ ๕๒ ของกฎบัตรสหประชาชาติ (United Nations Charter) ซึ่งว่าด้วยการจัดตั้งองค์การในระดับภูมิภาคเพื่อการป้องกันตนเองและการประสานงานกับองค์การสหประชาชาติในกรณีต่าง ๆ สนธิสัญญาฉบับนี้มีเพียง ๑๔ มาตรา โดยได้กำหนดมาตรการในด้านการป้องกันร่วมซึ่งเป็นหัวใจของสนธิสัญญาไว้ในมาตรา ๕ ดังนี้ "ภาคีของสนธิสัญญาเห็นพ้องกันว่าการโจมตีด้วยกำลังอาวุธต่อประเทศใดประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศในยุโรปหรืออเมริกาเหนือจะถือว่าเป็นการโจมตีต่อประเทศภาคีทุกประเทศ ด้วยเหตุนั้นหากมีการโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้น ประเทศภาคีทุกประเทศโดยอาศัยสิทธิในการป้องกันตนเองทั้งโดยลำพังและโดยร่วมกันตามความในมาตรา ๕๑ ของกฎบัตรสหประชาชาติจะทำการช่วยเหลือประเทศภาคีที่ถูกโจมตี ทั้งโดยลำพังและโดยร่วมกับประเทศภาคีอื่น ๆ ด้วยมาตรการที่เห็นว่าจำเป็น รวมถึงการใช้กำลังทหารเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงของเขตแอตแลนติกเหนือ" อย่างไรก็ดี การตอบโต้ด้วยการปฏิบัติการตามที่ชาติสมาชิกเห็นว่าจำเป็น รวมทั้งการใช้กำลังทางทหาร ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติสมาชิกจะต้องตอบสนองต่อคำร้องขอด้วยการใช้กำลังตอบโต้ผู้รุกรานโดยทันที แต่ประเทศเหล่านั้นต้องตอบสนองต่อคำร้องขอดังกล่าวโดยรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการเลือกที่จะตอบโต้อย่างไร ความในข้อนี้จึงแตกต่างจากมาตรา ๔ ของสนธิสัญญาบรัสเซลส์ที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าการตอบสนองต่อการร้องขอของชาติสมาชิกอื่นเมื่อถูกรุกรานจะต้องรวมถึงการใช้กำลังทางทหาร นอกจากนี้มาตรา ดังกล่าวยังจำกัดขอบเขตอาณาบริเวณของสนธิสัญญาไว้เฉพาะยุโรปและอเมริกาเหนือเท่านั้น ฉะนั้นกองทัพนาโตจึงไม่ได้เข้าไปช่วยอังกฤษในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (Falkland Islands War)* ใน ค.ศ. ๑๙๘๒ อย่างไรก็ดีตลอดระยะเวลาเกือบ ๕๐ ปีของสงครามเย็นก็ไม่มีเหตุการณ์ใดรุนแรงถึงขั้นต้องใช้กำลังของนาโตตามมาตรา ๕ เลย
สำหรับคำจำกัดความของ "เขตแอตแลนติกเหนือ" (North Atlantic Area) นั้นปรากฏอยู่ในมาตรา ๖ ของสนธิสัญญา ซึ่งระบุถึงดินแดนของประเทศภาคีสนธิสัญญาในยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมถึงดินแดนที่เป็นเกาะซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศภาคีในทวีปอเมริกาเหนือ นอกจากนั้นสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือยังระบุถึงวัตถุประสงค์ขององค์การนาโตไว้ใน บทอารัมภกถาซึ่งกล่าวถึงเป้าหมายในการส่งเสริมเสถียรภาพและความกินดีอยู่ดีของภาคีสมาชิกในเขตแอตแลนติกเหนือ สะท้อนให้เห็นว่าองค์การนาโตมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือทั้งในด้านการทหารและด้านที่ไม่ใช่การทหารควบคู่กันไป
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือมีโครงสร้างทางสถาบันและกลไกการดำเนินงานที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยมีทั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านกิจการพลเรือนและด้านกิจการทางทหาร องค์กรที่สำคัญได้แก่ คณะมนตรีแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Council) เป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ในด้านกิจการพลเรือน โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจขององค์การรวมทั้งมีหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารงานและจัดการด้านการเงินขององค์การด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีสำนักเลขาธิการระหว่างประเทศ (International Secretariat) ทำหน้าที่บริหารงานขององค์การโดยมีเลขาธิการ (Se- cretary-General) เป็นผู้บริหารสูงสุดและมีเจ้าหน้าที่นานาชาติที่ได้รับการคัดเลือกมาจากประเทศสมาชิกอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของ องค์การระหว่างประเทศ องค์กรที่สำคัญอีกองค์กรหนึ่งคือสมัชชาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Assembly) ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นสภาขององค์การเพื่อให้องค์การดำเนินงานโดยสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย มีสมาชิกจำนวน ๑๘๘ คน ซึ่งมาจากสภาผู้แทนราษฎรของทุกชาติสมาชิก สภานี้จะมีการประชุมเป็นประจำอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง
ส่วนหน่วยงานทางทหารที่สำคัญได้แก่ คณะกรรมาธิการทหาร (Military Committee) เป็นองค์กรหลักของนาโตในการดำเนินงานทางด้านการทหาร และยังมีกองกำลังป้องกัน (Defence Forces) ที่แบ่งออกเป็น ๓ กองกำลังหลัก ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการป้องกันเขตพื้นที่แตกต่างกันและมีกองบัญชาการสูงสุดแยกออกจากกันแต่ต้องทำงานประสานกัน คือ กองบัญชาการพันธมิตรฝ่ายยุโรป (Allied Command Europe - ACE) อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บัญชาการสูงสุดพันธมิตรฝ่ายยุโรป (Supreme Allied Commander Europe SACEUR) กองบัญชาการพันธมิตรฝ่ายแอตแลนติก (Allied Command Atlantic - ACA) อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บัญชาการสูงสุดพันธมิตรฝ่ายแอตแลนติก (Supreme Allied Commander Atlantic - SACATLANT) และกองบัญชาการช่องแคบอังกฤษ (Channel Command - CC) อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บัญชาการสูงสุดช่องแคบอังกฤษ (Commander in Chief Channel CINCHAN) นอกจากนี้ยังมีองค์กรและหน่วยงานทางทหารอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากซึ่งตั้งกระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในเขตสนธิสัญญา
นับตั้งแต่การก่อตั้ง นาโตได้ใช้แผนยุทธศาสตร์ในการป้องกันโดยใช้กองทัพปกติของนาโตที่ประจำการอยู่ในประเทศภาคีสมาชิกในทวีปยุโรปซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในการใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีเพื่อตอบโต้การรุกรานอย่างเต็มรูปแบบ แต่ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๖๗ นาโตได้มีการปรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่โดยกำหนดให้ใช้กองทัพปกติในการตอบโต้การรุกรานก่อนพร้อมกับใช้วิธีการทางการทูตควบคู่ไปด้วย หากวิธีการทางทหารและการทูตไม่สามารถยุติการสู้รบได้จึงจะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่เต็มรูปแบบในขั้นต่อมา และจะใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างเต็มรูปแบบเป็นวิธีสุดท้ายในการรบ
ในด้านสมาชิกภาพ ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ กรีซและตุรกีประเทศริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้เข้าเป็นสมาชิกของนาโต และต่อมาในวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือ เยอรมนีตะวันตกได้เป็นสมาชิกอีก ๑ ประเทศ การเข้าเป็นสมาชิกของเยอรมนีตะวันตกถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์สงครามเย็น เพราะทำให้สถานภาพของเยอรมนีตะวันตกเป็นที่ยอมรับของประเทศตะวันตกและสหภาพโซเวียตจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization - WTO)* ขึ้นโดยทันทีในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ เพื่อตอบโต้การเข้าเป็นสมาชิกนาโตของเยอรมนีตะวันตก และป้องกันการรุกรานของฝ่ายตะวันตก ฉะนั้นนับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๕ เป็นต้นมา ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีระบบพันธมิตรทางทหารของตนเองต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๘๒ สเปนได้เข้าเป็นสมาชิกของนาโตอีก ๑ ประเทศ ทำให้มีสมาชิกทั้งหมด ๑๖ ประเทศ ก่อนจะสิ้นสงครามเย็นในปลายทศวรรษ ๑๙๘๐
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือประสบวิกฤตการณ์ที่ท้าทายต่อเอกภาพขององค์การครั้งแรก ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ เมื่อประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* แห่งฝรั่งเศสประท้วงบทบาทผู้นำองค์การของสหรัฐอเมริกาและ "ความสัมพันธพิเศษ" ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ โดยการส่งบันทึกความจำลงวันที่ ๑๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๕๘ ถึงประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) แห่งสหรัฐอเมริกาและนายกรัฐมนตรีฮาโรลด์ แมกมิลแลน (Harold Macmillan)* แห่งอังกฤษเสนอขอให้เปลี่ยนระบบผู้บริหารสูงสุดทางทหารของนาโตจากระบบผู้อำนวยการ ๒ คน ที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษดำรงตำแหน่งอยู่มาเป็นระบบผู้อำนวยการ ๓ คน (tripartite directorate) โดยเพิ่มฝรั่งเศสอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อให้ฝรั่งเศสมีฐานะเท่าเทียมกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ นอกจากนี้ เดอ โกล ยังขอให้สหรัฐอเมริกาขยายขอบเขตอาณาบริเวณของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือให้ครอบคลุมไปถึงดินแดน ภายใต้ปกครองของฝรั่งเศสในแอฟริกาเหนือด้วย โดยเฉพาะต้องการให้นาโตเข้าไปช่วยฝรั่งเศสรบในสงครามแอลจีเรีย (Algerian War)* ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในขณะนั้น
เมื่อสหรัฐอเมริกาปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดของ เดอ โกล เขาจึงประท้วงด้วยการตัดสินใจจัดตั้งกองทัพนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสเพื่อป้องกันตนเอง พร้อมทั้งประกาศว่าฝรั่งเศสจะถอนตัวออกจากพันธกิจทางทหารที่มีต่อองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือทั้งหมด แต่จะยังคงเป็นพันธมิตรทางการเมืองขององค์การนี้ต่อไปฉะนั้นในวันที่ ๑๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ ฝรั่งเศสจึงเริ่มถอนกำลังกองทัพเรือที่ประจำอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนภายใต้การบังคับบัญชาของนาโตกลับคืนประเทศ และในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกันเขายังออกคำสั่งห้ามนาโตติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์บนผืนแผ่นดินฝรั่งเศสอีกด้วย การกระทำดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเคลื่อนย้ายเครื่องบินที่ใช้ในกองทัพจำนวน ๒๐๐ ลำ ออกจากฝรั่งเศสพร้อมทั้งส่งคืนการควบคุมฐานทัพอากาศหลักของนาโตรวม ๑๐ แห่งที่ปฏิบัติการอยู่ในฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๐ ให้แก่ฝรั่งเศสภายใน ค.ศ. ๑๙๖๗ นาโตจึงต้องจัดตั้งฐานทัพเหลานี้ใหม่ในประเทศสมาชิกอื่น เช่นในเยอรมนีตะวันตก เป็นต้น
ในต้นทศวรรษ ๑๙๖๐ แม้ว่า เดอ โกลยังคงให้การสนับสนุนท่าทีของฝ่ายตะวันตกและนาโตอย่างเต็มที่ในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธที่คิวบา (Cuban Missile Crisis)* ใน ค.ศ. ๑๙๖๒ ก็ตาม แต่เขาก็ยังคงดำเนินการให้ฝรั่งเศสถอนตัวออกจากพันธกิจทางทหารของนาโตต่อไป ใน ค.ศ. ๑๙๖๖ ฝรั่งเศสได้ถอนกำลังกองทัพเรือที่ประจำอยู่ที่ฐานทัพเรือนาโตในมหาสมุทรแอตแลนติกและบริเวณช่องแคบอังกฤษออกทั้งหมดและยังได้ถอนกำลังทางทหารทั้งหมดออกจากกองทัพร่วมของนาโตรวมทั้งขอให้กองกำลังนาโตที่ ไม่ใช่ของฝรั่งเศสออกไปจากประเทศอย่างสิ้นเชิงด้วย การถอนตัวออกจากพันธกิจทางทหารของฝรั่งเศสทำให้สหรัฐอเมริกาต้องย้ายสำนักงานใหญ่กองบัญชาการสูงสุดของพันธมิตรฝ่ายยุโรปหรือเชป (Supreme Headquarters Allied Powers Europe - SHAPE) และองค์กรหลักอื่น ๆ ของนาโตที่ตั้งอยู่ในฝรั่งเศสตั้งแต่แรกไปอยู่ที่เบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๖๗ และย้ายวิทยาลัยการป้องกันทางทหารของนาโต (NATO Defence College) ไปอยู่ที่ กรุงโรม อิตาลีด้วย นอกจากนั้นนาโตยังต้องปรับแผนยุทธศาสตร์สำหรับยุโรปใหม่แม้ว่าฝรั่งเศสจะยังคงรวมอยู่ในอาณาบริเวณสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือที่กองทัพนาโตจะต้องให้ความคุ้มครองก็ตาม ทั้งยังต้องปรับปรุงหน่วยงานและองค์กรบริหารต่าง ๆ ใหม่ด้วย อย่างไรก็ดีใน ค.ศ. ๑๙๙๕ ฝรั่งเศสก็กลับเข้ามาร่วมในคณะกรรมาธิการทหารของนาโตอีกครั้ง และได้เข้าร่วมทำงานทางทหารในกรอบของนาโตอย่างแข็งขัน แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ได้เข้าร่วมในกองทัพผสมภายใต้การบังคับบัญชาของนาโต และยังคงไม่อนุญาตให้กองกำลังนาโตที่ไม่ใช่ฝรั่งเศสเข้าไปตั้งฐานทัพในฝรั่งเศสเช่นเดิม
ใน ค.ศ. ๑๙๗๔ เกิดวิกฤตการณ์ที่มีผลกระทบต่อเอกภาพของนาโตอีกครั้งเมื่อตุรกีโจมตีไซปรัส ทำให้กรีซซึ่งสนับสนุนไซปรัสถอนกองทัพของตนออกจากกองทัพผสมนาโต แต่ต่อมาหลังจากตุรกียอมให้ความร่วมมือในการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทกับไซปรัสใน ค.ศ. ๑๙๘๐ กรีซจึงส่งกองกำลังเข้าร่วมในกองทัพนาโตตามเดิม ความขัดแย้งภายในนาโตจึงยุติลงได้ อย่างไรก็ดีการเสริมสร้างกำลังอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธในรูปแบบต่าง ๆ ของนาโตเพื่อรับมือกับสหภาพโซเวียตและองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอในกรณีที่เกิดการโจมตีขึ้นก็ก่อให้เกิดการประท้วงและต่อต้านหลายครั้งจากบรรดาผู้รักสันติภาพในยุโรปตะวันตก รวมทั้งการประท้วงและการเตรียมพร้อมในค่ายคอมมิวนิสต์ด้วย ดังเช่นเหตุการณ์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๓ เมื่อสหภาพโซเวียตรู้ข่าวนาโตนำขีปนาวุธเอเบิลอาร์เชอร์ ๘๓ (Able Archer 83) มาใช้ก็เข้าใจว่านาโตจะเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีสหภาพโซเวียตก่อน สหภาพโซเวียตจึงได้สั่งให้ฐานทัพอากาศในประเทศรวมทั้งในเยอรมนีตะวันออกและโปแลนด์เตรียมพร้อมอย่างเต็มรูปแบบ เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความตึงเครียดในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะกล่าวแก้ว่าข่าวการนำขีปนาวุธดังกล่าวมาใช้เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของบางหน่วยงาน อย่างไรก็ดี ในปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตก็สามารถบรรลุข้อตกลงในการถอนอาวุธนิวเคลียร์พิสัยใกล้และพิสัยกลางของนาโตที่ติดตั้งอยู่ในเขตสนธิสัญญาในยุโรปตะวันตกได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้เหตุการณ์คลี่คลายลง
การยุติของสงครามเย็นและการล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียต รวมทั้งการยุบเลิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอใน ค.ศ. ๑๙๙๑ มีผลกระทบต่อความคงอยู่ของนาโตเป็นอย่างมาก เพราะภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ตลอดจนเหตุปัจจัยในการจัดตั้งนาโตได้หมดสิ้นไปแล้ว นอกจากนี้ในช่วงเดียวกันยุโรปตะวันตกก็กำลังดำเนินการจัดตั้งสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union - EU)* ซึ่งจะมีสถาบันที่ทำหน้าที่รับผิดชอบต่อนโยบายร่วมด้านต่างประเทศและความมั่นคงของภาคีสมาชิก (Common Foreign and Security Policy - CFSP) ของตนเอง ความจำเป็นที่จะให้นาโตคงอยู่ในยุโรปเพื่อทำหน้าที่ป้องกันการรุกรานจึงลดความสำคัญลงไปมาก อย่างไรก็ดี พันธมิตรของนาโตส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่านาโตควรอยู่ต่อไป แต่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง บทบาท และหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์การใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของยุโรปที่กำลังเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสถานการณ์ ด้านความมั่นคงของยุโรปในช่วงสงครามเย็นที่ เพิ่งยุติลงยังมีความไม่แน่นอน ในขณะที่สนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht)* ก็ยังไม่ได้รับการลงนามอย่างเป็นทางการ อีกทั้งมีสงครามกลางเมืองและสงครามเชื้อชาติเกิดขึ้นในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกด้วยทำให้ยุโรปในภูมิภาคนี้รวมถึงบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนอยู่ในสภาพที่ ไร้เสถียรภาพและขาดดุลแห่งอำนาจจำเป็นต้องมีองค์การระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอให้การดูแลและสามารถจัดการกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้ ด้วยเหตุนั้นองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือจึงยังคงอยู่ในยุโรปต่อมาจนปัจจุบัน
ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๑ สหรัฐอเมริกาได้ลดงบประมาณค่าใช้จ่ายและภารกิจทางทหารในนาโตลงเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทใหม่ของนาโต พร้อมทั้งให้มีการถอนทหารของชาติสมาชิกที่ประจำการในยุโรปในฐานทัพบางแห่งที่ไม่จำเป็นออกไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนีเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาสองบวกสี่ (Two Plus Four Treaty) ค.ศ. ๑๙๙๐ ซึ่งว่าด้วยการรวมชาติเยอรมนีขึ้นใหม่ (Reunification of Germany) นอกจากนี้ก็ยังให้มีการปรับปรุงโครงสร้างและปรับเปลี่ยนบทบาทของนาโตอย่างรวดเร็ว ในการประชุมสุดยอดของนาโตที่กรุงโรมในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๑ ที่ประชุมมีมติให้องค์การมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกรวมทั้งอดีตสหภาพโซเวียต โดยให้จัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Cooperation Council) ขึ้นเพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ (Partnership for Peace) ระหว่างนาโตกับประเทศเหล่านี้ รวมทั้งได้มีการกำหนดบทบาทใหม่ของนาโตที่มุ่งเน้นการปฏิบัติภารกิจในด้านมนุษยธรรมและการรักษาสันติภาพเป็นหลัก โดยอาศัยกองกำลังในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าหน่วยปฏิบัติการเร็วของพันธมิตร (Allied Rapid Reaction Corps) ต่อมาที่ประชุมสุดยอดนาโตในเดือน มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๔ ก็ได้ให้การรับรองแนวคิดในการเปิดรับสมาชิกใหม่จากประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก รวมทั้งมีมติให้จัดตั้งกองกำลังผสม (Combined Joint Task Forces - CJTF) ในหมู่ประเทศสมาชิกเพื่อการปฏิบัติการอย่างกว้างขวางภายในกรอบของนาโต นอกจากนี้ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๔ -๑๙๙๗ ได้มี การจัดตั้งเวทีความร่วมมือระหว่างนาโตกับประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปเพิ่มขึ้น ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ ข้อริเริ่มการเจรจาเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Dialogue Initiative) และคณะมนตรีหุ้นส่วนยูโร-แอตแลนติก (Euro-Atlantic Partnership Council) เพื่อให้การประสานงานกับสหภาพยุโรปและประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในระยะแรก การปฏิบัติการทางทหารของนาโตจำกัดอยู่ที่ภารกิจการรักษาสันติภาพตามมติขององค์การสหประชาชาติ เช่น การใช้กองทัพเรือเข้าไปดูแล ให้มีการปฏิบัติตามมติขององค์การสหประชาชาติในการคว่ำบาตรเซอร์เบีย (Serbia) และมอนเตเนโกร (Montenegro) ที่ให้การสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (Bosnia-Herzegovina)* แต่ นับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๔ เป็นต้นมา กองทัพนาโตมีบทบาทมากขึ้นในสงครามบอสเนีย (Bosnian War)* หลายครั้งเช่น กองทัพนาโตได้ยิงเครื่องบินของพวกเซิร์บบอสเนียที่บินละเมิดข้ามเขตห้ามบิน (no-fly zone) ของสหประชาชาติจนตกถึง ๔ ลำเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ และต่อมาก็ทำการโจมตีทางอากาศและทิ้งระเบิดครั้งใหญ่อีกหลายครั้งเพื่อทำลายที่มั่นของชาวเซิร์บและบีบบังคับให้เซอร์เบียยอมปฏิบัติตามมติข้อตกลงหยุดยิงของสหประชาชาติจนยอมเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง ซึ่งยุติลงได้ใน ค.ศ. ๑๙๙๕
ต่อมาในวันที่ ๒๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ กองทัพนาโตก็ได้เข้าไปปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ในสงครามคอซอวอ (Kosovo War) โดยโจมตีทางอากาศเพื่อถล่มหน่วยต่อต้านอากาศยานและฐานเรดาร์ของยูโกสลาเวียในช่วง ๒ วันแรกกองทัพนาโตใช้จรวดนำวิถีแบบโทมาฮอว์กโจมตีจุดยุทธศาสตร์ของยูโกสลาเวียและคอโซโวเกือบ ๔๐ แห่ง และในวันที่ ๓ เมษายน ก็เริ่มโจมตี ใจกลางกรุงเบลเกรด เมืองหลวงของเซอร์เบียและยูโกสลาเวียเป็นครั้งแรก ทำลายจุดยุทธศาสตร์ทางทหารและพลเรือนอย่างย่อยยับ กองทัพนาโตดำเนินการโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินในช่วงแรกติดต่อกันรวม ๑๑ วัน โดยได้พยายามชี้แจงให้ประชาคมโลกเข้าใจว่าการปฏิบัติการของนาโตเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและสำคัญในการสร้างสันติภาพในยูโกสลาเวีย และจากนั้นก็ มีการโจมตีเป็นระยะ ๆ รวมเวลาการปฏิบัติการทางทหารในสงครามคอซอวอทั้งหมด ๗๗ วันซึ่งยุติลงด้วยความตกลงวันที่ ๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๙ ที่ประธานาธิบดีสลอบอดาน มีโลเซวิช (Slobodan Milosevich)* แห่งยูโกสลาเวียยอมรับข้อเรียกร้องของนาโตโดยยอมรับมติ ๑๒๔๔ (Resolution 1244) ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) นาโตยังได้ช่วยจัดตั้งกองกำลังความมั่นคงคอซอวอ (Kosovo Stabilization Force - KFOR) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกนาโตและประเทศในยุโรปที่ ไม่ใช่สมาชิกนาโตอีก ๑๒ ประเทศเพื่อทำหน้าที่ดูแลการสร้างเสถียรภาพและสันติภาพในคอซอวอภายใต้อาณัติของสหประชาชาติ
อย่างไรก็ดี การปฏิบัติการทางทหารของนาโตในยูโกสลาเวียก็ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในประชาคมระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง หลายประเทศ ให้ความเห็นว่าการใช้กำลังกองทัพของนาโตเพื่อการโจมตีควรได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก่อน แต่สหรัฐอเมริกาคัดค้านโดยให้เหตุผลว่าการรอมติของสหประชาชาติจะทำให้อำนาจของนาโตลดน้อยลง ทั้งยังอาจเปิดโอกาสให้รัสเซียและจีนใช้สิทธิยับยั้งการโจมตีในยูโกสลาเวียได้ อย่างไรก็ดี ฝรั่งเศสและพันธมิตรนาโตอีกหลายประเทศก็ยังคงสนับสนุนการผ่านมติของสหประชาชาติก่อน นอกจากนี้ในการประชุมสุดยอดของนาโตที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๙ ข้อเสนอของเยอรมนีที่ให้นาโตไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีก่อนก็ไม่ผ่านมติที่ ประชุม สะท้อนให้เห็นว่าชาติสมาชิกของนาโตเริ่มมีความขัดแย้งกันในด้านนโยบาย
การโจมตีอาคารเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ในนครนิวยอร์กโดยผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๑ ก็มีผลทำให้นาโตขยายกิจกรรมทางทหารออก ไปนอกยุโรป และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาติสมาชิกในด้านนโยบายต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากคณะมนตรีนาโตซึ่งได้เปิดประชุมเป็นวาระเร่งด่วนที่กรุงบรัสเซลส์ในวันที่ ๑๒ กันยายน ได้มีมติให้นำมาตรา ๕ ของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือมาใช้ เนื่องจากเห็นว่าการโจมตีสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นภาคีสมาชิกของนาโตถือเป็นการโจมตีภาคีสมาชิกขององค์การโดยรวมต่อมาในวันที่ ๔ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๑ ที่ประชุมคณะมนตรียังได้ย้ำมตินี้อีกครั้งพร้อมทั้งตัดสินใจส่งกองทัพนาโตไปร่วมปฏิบัติการทางทหารเพื่อช่วยสหรัฐอเมริกาต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติในอิรัก ซึ่งนาโตได้ปฏิบัติการรวมทั้งหมด ๘ ครั้ง แม้ว่าในตอนแรกพันธมิตรนาโตจะได้แสดงถึงความเป็นเอกภาพในด้านนโยบายที่มีต่อการก่อการร้ายข้ามชาติอย่างเต็มที่ แต่อีก ๒ ปีต่อมานาโตก็ต้องเผชิญกับความขัดแย้งภายในระหว่างชาติสมาชิกด้วยกันเมื่อฝรั่งเศสและเบลเยียมร่วมกันใช้สิทธิยับยั้งการใช้มาตรการลงมติโดยวิธีที่ไม่ต้องออกเสียง ของที่ประชุมคณะมนตรีนาโตเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๓ เกี่ยวกับการจัดทำกำหนดเวลาการเข้าไปให้ความช่วยเหลือตุรกีในกรณีที่ตุรกีต้องทำสงครามกับอิรัก ส่วนผู้แทนเยอรมันแม้จะไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าวแต่ก็กล่าวย้ำว่าเยอรมนีสนับสนุนการยับยั้งของชาติสมาชิก
ทั้งสองอย่างเต็มที่ เหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าภาคีสมาชิกของนาโตมีความเห็นเกี่ยวกับนโยบายอิรักแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย
อย่างไรก็ดี ในกรณีอัฟกานิสถานชาติสมาชิกกลับแสดงความเป็นเอกภาพมากกว่ากรณีอิรัก ในวันที่ ๑๔ เมษายน ค.ศ. ๒๐๐๓ ผู้แทนนาโตทั้ง ๑๙ ประเทศได้มีมติเอกฉันท์รับข้อเสนอของเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ที่ให้นาโตเข้าไปทำหน้าที่บังคับบัญชากอง กำลังช่วยเหลือความมั่นคงนานาชาติ (International Security Assistance Force - ISAF) ในอัฟกานิสถานและนาโตได้รับมอบหน้าที่นี้ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ ต่อมาในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ กองกำลังนาโตซึ่งประกอบด้วยกองกำลังทหารส่วนใหญ่จากแคนาดา อังกฤษ ตุรกี และเนเธอร์แลนด์ยังได้เข้าไปรับหน้าที่ ควบคุมการปฏิบัติการทางทหารในทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานต่อจากกองทัพผสมต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติที่นำโดยสหรัฐอเมริกาด้วย ปัจจุบันนาโตจึงมีขอบเขตของการปฏิบัติภารกิจทางด้านการทหารนอกทวีปยุโรปอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ นาโตยังมีปัญหาขัดแย้งกับรัสเซียในเรื่องการติดตั้งระบบตรวจจับขีปนาวุธของสหรัฐอเมริกาในโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ใน ค.ศ. ๒๐๑๕ และจะสามารถตรวจจับขีปนาวุธได้เกือบทั่วทวีปยุโรป ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin)* แห่งรัสเซียได้คัดค้านโครงการนี้โดยให้เหตุผลว่าการติดตั้งระบบดังกล่าวจะทำให้เกิดการแข่งขันทางอาวุธเพื่อการทำลายล้างอีกครั้งทั้งเป็นการคุกคามต่อสันติภาพของโลก รัสเซียจะยุติการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาว่าด้วยกองกำลังอาวุธปกติในยุโรปหรือซีเอฟอี (Treaty on Conventional Armed Forces in Europe - CFE) ค.ศ. ๑๙๙๐ ซึ่งจำกัดการใช้อาวุธข้ามทวีปจนกว่าชาติสมาชิกของนาโตจะให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาซีเอฟอีฉบับใหม่ที่ได้มีการแก้ไขแล้ว แม้ว่าเลขาธิการนาโตจะได้อธิบายว่าระบบการตรวจจับดังกล่าวจะไม่ทำให้ความสมดุลทางยุทธศาสตร์เสียไป และจะไม่เป็นการคุกคามต่อความ ปลอดภัยของรัสเซียก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
ปัจจุบันองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือมีสมาชิก ๒๖ ประเทศโดยได้รับอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๐ เมื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติหลังการรวมเยอรมนีในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีซึ่งเป็นสมาชิกของนาโตอยู่แล้ว ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี และโปแลนด์ได้เข้าเป็นสมาชิก และต่อมาใน ค.ศ. ๒๐๐๔ มีสมาชิกเพิ่มอีก ๗ ประเทศ คือ บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวียลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวะเกีย และสโลวีเนีย สมาชิกของนาโตจึงมีจำนวนใกล้เคียงและทับซ้อนกับสมาชิกของสหภาพยุโรปซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก ๒๗ ประเทศ ในจำนวนนี้มีประเทศที่เป็นสมาชิกของนาโตถึง ๒๑ ประเทศ ส่วนประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโต คือออสเตรีย ไอร์แลนด์ สวีเดน ฟินแลนด์ ไซปรัส และมอลตา เพราะในบางประเทศประชาชนไม่สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกของนาโต หรือมีสนธิสัญญาความเป็นกลางระหว่างประเทศเป็นอุปสรรคดังเช่นออสเตรียและสวีเดน เป็นต้น แต่ประเทศเหล่านี้หลายประเทศก็ได้ร่วมกิจกรรมกับนาโตมาตั้งแต่แรกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกิจกรรมในด้านการรักษาสันติภาพ ฉะนั้นจึงคาดว่าประเทศเหล่านี้คงไม่สมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ดี นาโตก็ยังเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ สมัครเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นโดยได้จัดทำแผนปฏิบัติการสมาชิกภาพ (Membership Action Plan) เพื่อเป็นกลไกในการเตรียมความพร้อมการเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๙ และนับตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๐ เป็นต้นมา ประเทศต่าง ๆ ได้ส่งใบสมัครพร้อมทั้งแผนปฏิบัติการดังกล่าวให้นาโตพิจารณาเพิ่มขึ้นอีกหลายประเทศ ในขณะที่บางประเทศได้ผ่านขั้นตอนการเจรจาและการพิจารณาอนุมัติแล้ว จึงคาดว่าภายใน ค.ศ. ๒๐๑๒ หากเป็นไปตามแผนการดำเนินงานนาโตจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นรวมเป็น ๓๐ หรือ ๓๑ ประเทศ ซึ่งจะทำให้นาโตสามารถทำหน้าที่ในขอบเขตที่ กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิม
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือเป็นองค์การระหว่างประเทศในระบบพันธมิตรทางทหารของยุโรปที่ใหญ่ที่สุดที่ได้มีบทบาทและทำงานประสาน กับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศทั่วโลกอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย การสร้างเสถียรภาพและสันติภาพของโลก องค์การนี้จึงยังคงสถานะความเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่สุดองค์การหนึ่งในปัจจุบัน.