คืนแห่งมีดยาวเป็นชื่อเรียกเหตุการณ์การกวาดล้างทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเยอรมนีระหว่างวันที่ ๒๙๓๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ โดยหน่วยเอสเอส (SS- Schulzstaffel)* ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือนาซี (National Socialist German Workers’ Party - NSDAP; Nazi Party)* ได้สังหารแอนสท์ เริม (Ernst Roehm)* และเหล่าผู้นำหน่วยเอสเอ (SA-Sturmabteilung)* เกือบ ๘๐ คนที่ต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* การกวาดล้างครั้งนี้ยังมีชื่อเรียกกันทั่วไปว่าการกวาดล้างเริม (Roehm Purge) หรือการกวาดล้างอันนองเลือด (Blood Purge) ผลสำคัญของการกวาดล้างคือ การกำจัดศัตรูการเมืองของฮิตเลอร์และกลุ่มผู้นำเอสเอและสมาชิกรวมทั้งสมาชิกพรรคนาซีซึ่งมีความคิดเห็นขัดแย้งกับแนวนโยบายจำนวนกว่า ๑๐๐ คน หน่วยเอสเอหมดบทบาท และอิทธิพลลงและเปิดทางให้ฮิตเลอร์มีอำนาจเด็ดขาด ในพรรคทั้งนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้การควบคุมของนาซีในเวลาต่อมา
คืนแห่งมีดยาวเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองและการแย่งชิงอำนาจในพรรคนาซีระหว่างแอนสท์ เริม หัวหน้าหน่วยเอสเอกับแฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง (Hermann Wilhelm Göring)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และแกนนำพรรคนาซีที่สนับสนุนเกอริงซึ่งประกอบด้วยไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* โยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbles)* และไรนฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน ไฮดริช (Reinhard Tristan Eugen Heydrich)* ขณะเดียวกันกองทัพก็สนับสนุนฮิตเลอร์ให้ลดอำนาจและบทบาทของเอสเอลง ทั้งสมาชิกพรรคนาซีปีกขวาที่ไม่พอใจพฤติกรรมรักร่วมเพศของเริมและกลุ่มแกนนำเอสเอก็เรียกร้องให้มีการดำเนินการเด็ดขาดกับเอสเอเพื่อปกป้องชื่อเสียงของพรรคและผู้นำพรรค
ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ เริมซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกปีกซ้ายของพรรคนาซีเคลื่อนไหวเรียกร้องการก่อการปฏิวัติครั้งที่ ๒ เพื่อให้พรรคนาซีได้อำนาจทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ (พรรคนาซีถือว่าการที่ฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เป็นชัยชนะของการก่อการปฏิวัติยึดอำนาจทางการเมืองครั้งแรก) การเคลื่อนไหวดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นเพราะเริมและสมาชิกปีกซ้ายของพรรคไม่พอใจที่ฮิตเลอร์สนับสนุนนักการเมืองหัวอนุรักษ์ นายทุนและนายทหารระดับสูงให้เข้าร่วมในคณะรัฐบาล ขณะเดียวกันเริมและแกนนำหน่วยเอสเอก็ผิดหวังที่ฮิตเลอร์ไม่ตอบแทนให้แก่สมาชิกหน่วยเอสเอที่ช่วยยึดอำนาจซึ่งจำนวนไม่น้อยตกงาน เขาจึงเรียกร้องให้ฮิตเลอร์ปรับคณะรัฐบาลและเปลี่ยนสถานภาพของหน่วยเอสเอซึ่งเป็นเพียงกองกำลังของพรรคนาซีเป็นกองทัพแห่งชาติของรัฐเยอรมันใหม่โดยให้กองทัพเยอรมัน (Reichswehr) เข้ารวมกับเอสเอภายใต้การนำของเขา ทั้งยังสนับสนุนให้สมาชิกเอสเอจัดการชุมนุมและเดินขบวนเพื่อชี้นำมวลชนให้คล้อยตามเรื่องการก่อการปฏิวัติสังคมครั้งที่ ๒ และเพื่อข่มขู่ฮิตเลอร์ด้วย
ข้อเรียกร้องของเริมและการเคลื่อนไหวของสมาชิกนาซีปีกซ้ายทำให้ฮิตเลอร์หวาดวิตกเพราะในขณะนั้น ประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* มีสุขภาพอ่อนแอ หากเสียชีวิตลงกลุ่มการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมอาจผลักดันให้มีการแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ที่ มีแนวความคิดอนุรักษ์ซึ่งจะสามารถขัดขวางแผนของฮิตเลอร์ที่ต้องการรวม ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีเป็นตำแหน่งเดียวกัน [ต่อมาเรียกอย่างเป็นทางการว่า ผู้นำหรือฟือเรอร์ (Führer)*] ฮิตเลอร์ยังตระหนักว่าในการรักษาอำนาจทางการเมืองและได้เป็นประธานาธิบดีนั้น เขาจะต้องได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๓๓ ฮิตเลอร์จึงเริ่มนโยบายรุกด้านการต่างประเทศด้วยการติดอาวุธให้กองทัพเพื่อหาโอกาสแย่งชิงดินแดนที่สูญเสียจากข้อกำหนดของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* กลับคืน ซึ่งทำให้เขาได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากผู้นำกองทัพ แต่ผู้นำเหล่านี้ก็เกลียดชังเริมและไม่แน่ใจว่าฮิตเลอร์เห็นด้วยกับเริมเรื่องการรวมกองทัพเข้ากับเอสเอหรือไม่ ผู้นำกองทัพและนายพล แวร์เนอร์ ฟอน บลอมแบร์ก (Werner von Blomberg) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่จึงโน้มน้าวให้ฮิตเลอร์ตัดสินใจเลือกข้างระหว่างกองทัพกับเอสเอต่อมาฮิตเลอร์จึงมีคำสั่งให้เอสเอหยุดกิจกรรมความเคลื่อนไหวที่จะทำให้สาธารณชนตื่นตระหนก คำสั่งดังกล่าวทำให้เริมขุ่นเคืองและต่อต้านฮิตเลอร์อย่างเปิดเผยมากขึ้น
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เริมวิพากษ์โจมตีนโยบายต่างประเทศของเยอรมนีอย่างต่อเนื่องและต่อต้านนโยบายการควบคุมการแสดงออกทางความคิดเห็น เขายังโจมตีและประณามเกิบเบิลส์ เกอริง ฮิมม์เลอร์ และรูดอล์ฟ เฮสส์ (Rudolf Hess)* ว่าประจบสอพลอฮิตเลอร์และชี้ให้เห็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของเหล่าแกนนำนาซีดังกล่าว เริมมีคำสั่งเตือนหน่วยเอสเอให้คอยเฝ้าระวัง "เหล่าเพื่อนจอมปลอม" ของฮิตเลอร์ ซึ่งจะขัดขวางแผนการก่อปฏิวัติไม่ให้บรรลุเป้าหมายนอกจากนี้ เริมยังเขียนบทความโจมตีฮิตเลอร์อย่างรุนแรงโดยกล่าวหาว่าเขาทรยศต่อเอสเอและมั่วสุมกับพวกปฏิกิริยาและนายทหารที่ล้าหลัง หากฮิตเลอร์ไม่ถอนตัว เขาจะเน่าเหม็นมากยิ่งขึ้น
ฮิตเลอร์ซึ่งตระหนักถึงความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในหน่วยเอสเอพยายามหาทางประนีประนอมกับเริมในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาแต่งตั้งเริมให้เข้าร่วมในคณะรัฐบาลแต่ไม่ได้ให้อำนาจหน้าที่ใด ๆ และยังผลักดันการออกกฎหมายว่าด้วยการประกันความเป็นเอกภาพของพรรคและรัฐ (Law for Securing the Unity of Party and State) ซึ่งเน้นว่าพรรคคือเสาหลักของรัฐและควบคุมกิจกรรมทุก ๆ ด้านของรัฐ กฎหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายจะป้องปรามการเคลื่อนไหวเตรียมก่อการปฏิวัติของเอสเอ ต่อมา ในวันปีใหม่ ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์กล่าวสดุดีบทบาทของเอสเอในการรับใช้พรรคและเตือนผู้นำเอสเอว่าการปฏิวัติสังคมครั้งที่ ๒ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและเป็นการไม่เหมาะสมที่ จะผลักดันให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เริมตอบโต้ด้วยการกล่าวโจมตีฮิตเลอร์ที่จะทำให้การเคลื่อนไหวปฏิวัติของพรรคนาซีไร้พลังและสูญสลาย ขณะเดียวกันเขาและผู้นำเอสเอจำนวนไม่น้อยก็สร้างความกระอักกระอ่วนให้แก่ฮิตเลอร์มากขึ้นด้วยการมีพฤติกรรมรักร่วมเพศเปิดเผย ต่อสาธารณชนมากขึ้น เกอริงจึงใช้ประเด็นชีวิตส่วนตัวของเริมดังกล่าวโจมตีเอสเอว่าทำลายชื่อเสียงของพรรคและผู้นำ
ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์กล่าวสุนทรพจน์แก่ข้าหลวงเขต (gauleiter) ในกรุงเบอร์ลินโดยชี้แนะถึงการเกิดสภาวะกลียุคทางการเมืองและสังคมที่จะเป็นผลสืบเนื่องจากการเคลี่อนไหวปฏิวัติของกลุ่มที่ไม่ยอมรับอำนาจของผู้นำและพรรค สุนทรพจน์ดังกล่าวเปิดทางให้เกอริงวางแผนกำจัดเริมด้วยการสนับสนุนฮิมม์เลอร์เป็นหัวหน้าตำรวจแห่งปรัสเซียและรองหัวหน้าใหญ่ของหน่วยตำรวจลับหรือเกสตาโป (Gestapo)* เพื่อให้ฮิมม์เลอร์ควบคุมตำรวจทั่วเยอรมนีและให้ตำรวจดูแลกิจกรรมการเคลื่อนไหวของหน่วยเอสเอได้สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันกองทัพก็หาทางสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ฮิตเลอร์ในเรื่องความจงรักภักดีด้วยการห้ามชาวยิวเข้ารับราชการทหารและนำเครื่องหมายสวัสดิกะ (swastika) ของพรรคมาเป็นส่วนหนึ่งของ เครื่องหมายกองทัพ ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ฮิตเลอร์จัดการประชุมระหว่างบลอมแบร์กกับเหล่าผู้นำหน่วยเอสเอและเอสเอส เริมถูกบีบให้ลงนามในข้อตกลงที่ว่าเขาจะไม่พยายามให้กองทัพอยู่ใต้การควบคุมของเอสเอหลังการประชุมครั้งนี้เริมก็ถูกตำรวจคอยติดตามการเคลื่อนไหว แม้เริมจะขุ่นเคืองแต่เขาก็ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการก่อการปฏิวัติ
ในเดือนเมษายนต่อมา ฮิตเลอร์พบกับผู้นำกองทัพและให้สัญญาว่ากองทัพจะเป็นเสาหลักของประเทศและหน่วยเอสเอจะถูกทอนอำนาจจนหมดบทบาทและอิทธิพลลง ผู้นำกองทัพก็ตกลงที่จะสนับสนุนฮิตเลอร์เป็นผู้นำสืบต่อจากประธานาธิบดีฮินเดนบูร์ก ข้อตกลงดังกล่าวทำให้ฮิมม์เลอร์และไรนฮาร์ด ไฮดริชกุข่าวว่าเริมกำลังวางแผนยึดอำนาจซึ่งทำให้ฮิตเลอร์เริ่มคล้อยตามความเห็นที่จะให้มีการกวาดล้างหน่วยเอสเอ แต่เขาก็ยังไม่ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะกำจัดเริมฮิมม์เลอร์จึงปล่อยข่าวว่าการปกป้องเริมและหน่วยเอสเอของฮิตเลอร์เป็นเพราะฮิตเลอร์มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศและเขาร่วมอยู่ใน กลุ่มแกนนำเอสเอที่มีรสนิยมเดียวกันด้วย ข่าวลือดังกล่าวเชื่อกันว่ามีส่วนทำให้ในท้ายที่สุดฮิตเลอร์เห็นชอบกับการกวาดล้างเอสเอและเริม
ในกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์เดินทางไปเยือนอิตาลีเป็นครั้งแรกเพื่อเสริมสร้างไมตรีกับเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำพรรคฟาสซิสต์ ในช่วงที่ฮิตเลอร์ไม่อยู่ฟรันซ์ ฟอน พาเพิน (Franz von Papen)* คู่แข่งทางการเมืองของฮิตเลอร์ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยมาร์บูร์ก (Marburg) เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ประณามแนวความคิดการจะก่อการปฏิวัติครั้งที่ ๒ ของพรรคนาซีอย่างเผ็ดร้อนและวิพากษ์โจมตีแนวทางการสร้างเยอรมนีด้วยการใช้กระบวนการบริหารที่ประสานกับรัฐที่ เรียกว่าไกลค์ชาลทุง (Gleichschaltung - Coordination)* ฮิตเลอร์ ขุ่นเคืองมากและถือว่าพาเพินได้ท้าทายเขาเป็นการส่วนตัว เขาจึงเจรจากับเริมเป็นเวลาเกือบ ๕ ชั่วโมงเพื่อให้ล้มเลิกความคิดการจะก่อการปฏิวัติครั้งที่ ๒ และสัญญาว่าจะไม่ยุบหน่วยเอสเอ ขณะเดียวกันฮิตเลอร์ขอให้หยุดกิจกรรมการเคลื่อนไหวของหน่วยเอสเอชั่วคราวและอนุญาตให้เริมและหน่วยเอสเอทั้งหมดลาพักได้ ๑ เดือน โดยระหว่างการลาพักห้ามสวมเครื่องแบบ เริมปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อให้ฮิตเลอร์เห็นว่าเขาและเอสเอยังภักดีและเชื่อฟังผู้นำทั้งจะเป็นการยุติข่าวลือเรื่องการเตรียมก่อการปฏิวัติ
อย่างไรก็ตาม ข่าวลือเกี่ยวกับการก่อการปฏิวัติของเอสเอก็ยังคงแพร่กระจายทั่วไปและมีส่วนทำให้ภาวะเศรษฐกิจเริ่มหยุดนิ่ง ต่อมาเมื่อฮิตเลอร์ได้รับรายงานยืนยันทั้งจากเกอริงและฮิมม์เลอร์ว่าหน่วยเอสเอจะก่อการปฏิวัติขึ้นในวันที่ ๓๑ มิถุนายนที่กรุงเบอร์ลินและนครมิวนิก เขาจึงตัดสินใจที่จะลงมือก่อนด้วยการกวาดล้างเริมและหน่วยเอสเอโดยมีกองทัพให้การสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ฮิตเลอร์ซึ่งเดินทางไปในงานสมรสของข้าหลวงเขตที่เมืองเอสเซน (Essen) แถบไรน์แลนด์ (Rhineland) และพบปะหารือกับนักธุรกิจท้องถิ่นได้รับรายงานด่วนว่าเริมมีคำสั่งให้หัวหน้าเอสเอทุกหน่วยมาประชุมกับเขาในตอนบ่ายของวันที่ ๓๐ มิถุนายนและให้กองกำลังเอสเอทุกหน่วยประจำการเพื่อรอฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา เกิบเบิลส์ให้ความคิดเห็นแก่ฮิตเลอร์ว่าการกำจัดผู้คบคิดทรยศ ๑๐๐ คน เป็นทางเลือกที่เหมาะสมและดีกว่าที่จะปล่อยให้ฝ่ายเอสเอที่ไม่เกี่ยวข้องจำนวนหมื่นเข่นฆ่าทำสงครามกับประชาชนที่บริสุทธิ์ ฮิตเลอร์จึงสั่งการทางโทรศัพท์ให้ผู้นำหน่วยเอสเอทั้งหมดมาพบเขาในช่วงเช้าของวันที่ ๓๐ มิถุนายน ณ โรงแรมที่บัดวีสเซ (Bad Wiessee) ทางตอนใต้ของมิวนิก ขณะเดียวกันเขาก็เรียกประชุมด่วนหน่วยเอสเอสในวันรุ่งขึ้นเพื่อเตรียมดำเนินการกวาดล้างและให้เกอริงบินไปควบคุมการปฏิบัติการที่เบอร์ลิน
การเคลื่อนไหวของหน่วยเอสเอสมีส่วนทำให้ฝ่ายเอสเอหวาดระแวง ในคืนวันที่ ๒๙ มิถุนายน สมาชิกเอสเอกว่า ๓,๐๐๐ คนชุมนุมก่อกวนตามถนนสายต่าง ๆ ในนครมิวนิกและตะโกนว่าเอสเอจะบดขยี้กลุ่มหรือฝ่ายที่ทรยศต่อองค์การทั้งกล่าวโจมตีฮิตเลอร์และกองทัพอย่างรุนแรง เมื่อฮิตเลอร์ซึ่งกลับมาถึงมิวนิกในเช้าวันที่ ๓๐ มิถุนายนทราบการเคลื่อนไหวดังกล่าว เขาจึงสั่งกวาดล้างทันทีโดยไม่รอให้มีการประชุมหน่วยเอสเอตามแผนที่กำหนดไว้ ฮิตเลอร์และทหารองค์รักษ์เอสเอสเดินทางไปที่บัดวีสเซเพื่อจับกุมเริมและผู้นำเอสเอจำนวนหนึ่งซึ่งพักอยู่ที่นั่น แกนนำเอสเอคนสำคัญหลายคนถูกยิงทิ้งในห้องพัก บ้างถูกลากออกมาสังหารนอกห้องพร้อมกับทหารหนุ่มคู่นอน ที่เหลือถูกนำไปคุมขังในเมืองและถูกสังหารในเวลาต่อมา ฮิตเลอร์กล่าวหาเริมว่า ทรยศและสั่งให้เขาปลิดชีพตนเอง แต่เริมปฏิเสธ เขาจึงถูกนำไปคุมขังที่คุกมิวนิกและต่อมาถูกฮิตเลอร์สั่งฆ่า ในช่วงที่มีการกวาดล้างเอสเอที่มิวนิก เกอริงและฮิมม์เลอร์ก็ดำเนินการกวาดล้างที่เบอร์ลินและไรน์ฮาร์ดควบคุมเกสตาโปกวาดล้างตามเมืองต่าง ๆ เหยื่อการกวาดล้างไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะพวกเอสเอเท่านั้นแต่ยังรวมถึงฝ่ายตรงข้ามกับนาซีและศัตรูเก่าของฮิตเลอร์ด้วยนักการเมืองและบุคคลสำคัญที่ถูกจับและถูกกวาดล้างหลายคน ได้แก่ ฟอน พาเพิน กุสทาฟ ริทเทอร์ ฟอน คาร์ (Gustav Ritter von Kahr) ซึ่งหักหลังฮิตเลอร์เมื่อครั้งเขาก่อกบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsh)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เกรกอร์ ชตราสเซอร์ (Gregor Strasser)* และคูร์ท ฟอน ชไลเชอร์ (Kurt von Schleicher)* เป็นต้นไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่าผู้ที่ถูกสังหารในการกวาดล้างที่ฮิตเลอร์เรียกว่า "คืนแห่งมีดยาว" หรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่า "การกวาดล้างอันนองเลือด" หรือกรณีเริม (Roehm Affair) มีจำนวนเท่าใด แต่ประมาณกันว่าเป็นแกนนำนาซีในหน่วยเอสเอ ๗๔-๗๗ คนและ ฝ่ายนาซีปีกซ้ายอีกกว่า ๑๐๐ คน นอกจากนี้ ชาวยิวอีกจำนวนมากก็ถูกสังหารด้วยเพื่อกระตุ้นอารมณ์และสร้างความบันเทิงแก่พวกเอสเอส หลังเหตุการณ์วันที่ ๓๐ มิถุนายน การจับกุมและการกวาดล้างยังคงดำเนินต่อไปอีกเกือบสัปดาห์ และใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะถูกจับกุมทันที
ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ฮิตเลอร์ชี้แจงต่อคณะรัฐบาลเกี่ยวกับมูลเหตุการกวาดล้างโดยอ้างว่าเริมและชไลเชอร์คบคิดก่อการปฏิวัติซึ่งจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคม ทั้งพวกคอมมิวนิสต์ที่แอบแฝงในพรรคก็ก่อกวนและสร้างสถานการณ์อีก ๑๐ วันต่อมา ฮิตเลอร์แถลงต่อสภาไรค์ชตาก (Reichstag) เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ซึ่งถ่ายทอดทางวิทยุทั่วประเทศถึงเหตุผลและความจำเป็นของการกวาดล้างเพื่อปกป้องและคุ้มครองประชาชนนับหมื่นคนให้รอดพ้นจากการถูกเข่นฆ่า และเพื่อรักษาไว้ซึ่งกฎหมายและความเป็นระเบียบ ของสังคม สภาไรค์ชตากยอมรับเหตุผลของฮิตเลอร์และลงมติเอกฉันท์ผ่านกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันตัวของรัฐ (Law Regarding Measures of State Self-Defense) ที่ถือว่าปฏิบัติการกวาดล้างที่ฮิตเลอร์ดำเนินการเป็นการป้องกันตัวของรัฐที่ถูกกฎหมายและเป็นหน้าที่และการกระทำที่กล้าหาญของรัฐบุรุษ กฎหมายฉบับนี้จึงมีนัยว่าสภาไรค์ชตากได้กลายเป็นสภาของนาซีในท้ายที่สุด ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็แสดงความยินดีและชื่นชมฮิตเลอร์ในนามของประชาชนและกองทัพต่อปฏิบัติการที่ห้าวหาญของเขา
เหตุการณ์คืนแห่งมีดยาวได้ทำให้ฮิตเลอร์มีชื่อเสียงและความนิยมมากขึ้น และกองทัพก็ประกาศสนับสนุนและภักดีต่อเขา หน่วยเอสเอหมดบทบาทและ อิทธิพลลง จำนวนสมาชิกเอสเอลดลงอย่างรวดเร็วจากสมาชิกทั้งหมด ๒๙ ล้านคนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ เหลือ ๑.๖ ล้านคนในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ และ ๑.๒ ล้านคนในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ หน่วยเอสเอสถูกแยกออกจากเอสเอและกลายเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจบริหารของพรรคนาซีโดยมีวิคทอร์ ลุทซ์ (Victor Lutze) เป็นผู้นำ
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์คืนแห่งมีดยาวนอกจากจะหมายถึงการกวาดล้างเริมและหน่วยเอสเอแล้วยังใช้เรียกการปะทะกันอย่างนองเลือดระหว่างนาซีกับคอมมิวนิสต์ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ ด้วย การปะทะกันดังกล่าวแม้จะเกิดขึ้น ๒ ปีก่อนหน้านั้นแต่ก็เป็นการกวาดล้างที่รุนแรงและนองเลือดโดยเฉพาะที่เมืองเคอนิกส์แบร์ก (Königsberg) ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะถูกรุมทำร้ายรวม ๙๙ คน และบาดเจ็บกว่า ๑,๑๐๐ คน ในการกวาดล้างครั้งนั้นหน่วยเอสเอมีบทบาทสำคัญในการก่อกวนและสร้างความวุ่นวายตามท้องถนนและบริเวณเขตเลือกตั้งทั้งใช้ระเบิดและสาดกระสุนข่มขวัญในที่สาธารณ