นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเนปเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่มุ่งแก้ไขสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ และสังคมของสหภาพโซเวียตอันเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม(War Communism)* และสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตครั้งที่ ๑๐ ระหว่างวันที่ ๘-๑๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ แนวความคิดหลักของเนปคือการยกเลิกการบังคับเกณฑ์แรงงานและการยึดผลผลิตส่วนเกินของชาวนาโดยเปลี่ยนมาเป็นการเก็บภาษีและให้มีเสรีภาพทางการค้า ตลอดจนผ่อนคลายมาตรการควบคุมทางสังคมและวัฒนธรรม แม้เนปจะทำให้สภาวะเศรษฐกิจที่เสื่อมโทรมของประเทศฟื้นตัวขึ้นแต่ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองภายในพรรคระหว่างกลุ่มบอลเชวิคปีกซ้ายกับปีกขวาเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการแย่งชิงอำนาจภายในพรรค โจเซฟ สตาลิน (Josep Stalin)* เลขาธิการพรรคจึงเห็นเป็นโอกาสใช้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกำจัดฝ่ายตรงข้ามและยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจใหม่ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ โดยกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ขึ้นแทน
ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามที่รัฐบาลโซเวียตประกาศใช้ภายหลังการยึดอำนาจทางการเมืองได้ ๘ เดือนด้วยการบังคับให้ชาวนาจัดส่งผลผลิต "ส่วนเกิน" ทางเกษตรแก่รัฐ และการบังคับเกณฑ์แรงงานกับพลเมืองชายทุกคน ตลอดจนการประกาศยกเลิกการใช้เงินตราและอื่น ๆ ได้สร้างผลเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และการค้าระหว่างเมืองกับชนบทชะงักงันทั้งนำไปสู่การเกิดสงครามชาวนาระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๑ นอกจากนี้ ปัญหาภาวะฝนแล้งและการขาดแคลน อาหารซึ่งนำไปสู่การเกิดทุพภิกขภัยและความอดอยากอย่างรุนแรงระหว่างฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๑ ก็ทำให้ประชาชนต่างเดือดร้อนลำเค็ญกันทั่ว การก่อจลาจลและการต่อต้านรัฐบาลจึงเกิดขึ้นทั่วไป รัฐบาลได้ใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง การใช้มาตรการรุนแรงของรัฐบาลมีส่วนทำให้ทหารและกลาสีเรือที่ฐานทัพเรือครอนชตัดท์ บริเวณอ่าวฟินแลนด์ซึ่งห่างจากกรุงเปโตรกราดไปทางทิศตะวันตก ๓๐ กิโลเมตรก่อการกบฏที่รู้จักกันว่ากบฏครอนช์ตัดท์ (Kronstadt Revolt)* ขึ้นในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองดังกล่าวจึงทำให้เลนินผู้นำรัฐบาลโซเวียตซึ่งกำลังประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ ๑๐ เสนอนโยบายเศรษฐกิจใหม่ขึ้นเพื่อใช้แทนระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามและเพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ ที่ประชุมใหญ่ก็มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของเลนิน นโยบายเศรษฐกิจใหม่จึงไม่เพียงเป็นหลักนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลโซเวียตในทศวรรษ ๑๙๒๐ เท่านั้นแต่ยังนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นทางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย
นโยบายเศรษฐกิจใหม่มีจุดมุ่งหมายหลักจะกระตุ้นชาวนาให้ทำการผลิตมากขึ้น รัฐบาลจึงล้มเลิกระบบการบังคับเกณฑ์แรงงานและการยึดผลผลิตส่วนเกินของชาวนาและเปลี่ยนเป็นการเก็บภาษีด้วยผลผลิตแทนโดยคิดเป็นอัตราส่วนจากปริมาณการผลิต ในช่วงแรกของการดำเนินนโยบาย มีการกำหนดอัตราผลผลิตที่ต้องการไว้ในระดับต่ำและน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เช่น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๑ กำหนดโควต้าผลผลิตธัญพืชไว้ ๔๓๓ ล้านปูด [ปูด (Pood) เป็นมาตราชั่งตวงของรัสเซียซึ่ง ๑ ปูดมีน้ำหนักประมาณ ๓๖ ปอนด์] แต่ได้กำหนดเก็บภาษีในรูปผลผลิต ๒๔๐ ล้านปูดเท่านั้น เป็นต้น ต่อมาเมื่อระบบเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นและมีการปฏิรูปเงินตราและการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้นใหม่ซึ่งทำให้เสถียรภาพของค่าเงินรูเบิลคงที่จึงเปลี่ยนการเก็บภาษีจากผลผลิตเป็นเงินแทน การเก็บภาษีผลผลิตทำให้ชาวนามีแรงจูงใจในการผลิตเพิ่มขึ้น และสามารถนำผลผลิตส่วนเกินที่เหลือมาจำหน่ายได้ด้วย เกษตรกรรมจึงเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และตลาดทางการเกษตรที่ ชาวนาจะซื้อขายสินค้าก็ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
ผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ตลาดท้องถิ่นไม่อาจรองรับการขยายตัวและการเติบโตทางการค้าได้ทันการ วิสาหกิจเอกชนและการค้าเอกชนจึงฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งและการค้าขายในรูปของสหกรณ์ก็ได้รับการส่งเสริมอย่างมากด้วย นอกจากนี้พ่อค้าคนกลางที่เรียกว่านายทุนเนป (Nepmen) ที่เกิดขึ้นก็มีบทบาทสำคัญในการประสานการดำเนินงานทางธุรกิจระหว่างเมืองกับชนบทและกับรัฐบาล ในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๑ รัฐบาลโซเวียตประกาศยกเลิกการยึดโอนวิสาหกิจขนาดเล็กเป็นของรัฐและอนุญาตให้ประชาชนสามารถประกอบงานหัตถกรรมได้อย่างเสรีทั้งสามารถดำเนินการวิสาหกิจขนาดเล็กได้โดยมีเงื่อนไขว่าลูกจ้างที่ มาทำงานต้องไม่เกินจำนวน ๑๐-๓๐ คน อุตสาหกรรมขนาดเล็กจึงเริ่มฟื้นตัวขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมหนักซึ่งขาดเงินทุนที่จะดำเนินการก็ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยรัฐบาลสนับสนุนให้นายทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน
นโยบายเศรษฐกิจใหม่ทำให้การค้าระหว่างประเทศที่หยุดชะงักลงในช่วงสงครามกลางเมืองเริ่มฟื้นตัวขึ้น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๓ สหภาพโซเวียตลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับอังกฤษและเยอรมนี และต่อมากับประเทศยุโรปอื่น ๆ ปริมาณการส่งออกของประเทศจึงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมูลค่าการส่งออกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๒๕ มีประมาณ ๑ ใน ๓ ของ ค.ศ. ๑๙๑๓ หรือเป็น ๙ เท่าของช่วง ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๒ ระบบการพาณิชย์ที่ขยายตัวและเติบโต ขึ้นทำให้รัฐบาลโซเวียตซึ่งเคยประกาศยกเลิกการใช้เงินตราในช่วงสงครามกลางเมืองโดยให้ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนและการปันส่วนผลผลิตแทนต้องกลับมาใช้ระบบเงินตราใหม่อีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. ๑๙๒๑ รัฐบาลจัดตั้งธนาคารชาติขึ้นใหม่และในปีรุ่งขึ้นยังตั้งธนาคารเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งเพื่อสร้างและขยายสินเชื่อที่จำเป็นแก่อุตสาหกรรมทั้งรัฐบาลยังประกาศการค้ำประกันเงินฝากในธนาคารด้วย ขณะเดียวกันมีการจัดพิมพ์ธนบัตรใหม่เพื่อใช้แทนเงินรูเบิลเก่าที่ธนาคารเก็บคืนคลังตลอดจนการเก็บรายได้และภาษีสรรพสามิตต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ระบบเงินตราจึงมีเสถียรภาพขึ้นและงบประมาณที่เคยขาดดุลก็สมดุลและเกินดุลในเวลาต่อมา
ระบบเศรษฐกิจที่เริ่มมีเสถียรภาพและคล่องตัวขึ้นมีส่วนทำให้ธุรกิจการพิมพ์ของเอกชนที่เกือบล้มเลิกกิจการลงในช่วงสงครามกลางเมืองฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งและส่งผลให้กิจกรรมทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะในวงการหนังสือและการประพันธ์คึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นด้วย สำนักพิมพ์เอกชนได้จัดพิมพ์หนังสือแนวเนื้อหาหลากหลายที่แตกต่างจากสำนักพิมพ์ของรัฐออกเผยแพร่เป็นจำนวนมาก ทั้งมีการร่วมลงทุนและประสานงานกับสำนักพิมพ์ที่อยู่นอกประเทศโดยเฉพาะสำนักพิมพ์ของกลุ่มชาว รัสเซียอพยพในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี จัดพิมพ์งานของนักเขียนอิสระที่ ไม่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เช่น อิลยา เอเรนบูร์ก (Ilya Ehrenburg) อิซัก บาเบล (Isaac Babel) และมีฮาอิล ซอสเชนโก (Mikhail Zoshchenko) เป็นต้น เสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกดังกล่าวชี้ให้เห็นนโยบายการผ่อนปรนการควบคุมของพรรคด้านศิลปวัฒนธรรม ช่วงสมัยเนปจึงได้ชื่อว่าเป็นสมัยทองของงานวรรณกรรมโซเวียต นอกจากนี้ตลาดหนังสือเอกชนที่ขยายตัวขึ้นดังกล่าวทำให้ผู้อ่านมีโอกาสเลือกเสพหนังสือในแนวที่สนใจได้มากขึ้น งานประพันธ์ในรูปแบบของเรื่องสั้นและนวนิยายเริ่มมีบทบาทและเป็นที่นิยมอ่านกันมาก ในขณะที่กวีนิพนธ์ที่เคยเฟื่องฟูในช่วงสงครามกลางเมืองกลับซบเซาลง
นโยบายเศรษฐกิจใหม่ยังทำให้แวดวงของชุมชนชาวรัสเซียอพยพในต่างแดนมีชีวิตชีวาขึ้นเพราะต่างตีความว่าการประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่เลนินอ้างว่าเป็นนโยบายทุนนิยมแห่งรัฐ (state capitalism) เป็นการปรับนโยบายรัฐกลับไปสู่ระบบทุนนิยม ชุมชนชาวรัสเซียนอกประเทศซึ่งเคยต่อต้านรัฐบาลโซเวียตจึงเปลี่ยนทัศนคติหันมาสนับสนุนและร่วมมือกับอำนาจรัฐโซเวียตด้วยการเรียกร้องให้ชาวรัสเซียลี้ภัยเดินทางกลับประเทศเพื่อร่วมกันสร้างและพัฒนาประเทศให้ แข็งแกร่ง การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีชื่อเรียกที่รู้จักกันทั่วไปว่าขบวนการซเมนาเวค (Smena vek) ตามสถิติของรัฐบาลโซเวียตระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๓๑ ประมาณว่าผู้อพยพออกนอกประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๑๙ จำนวนร้อยละ ๑๐-๑๒ หรือประมาณ ๑๘๑,๔๐๐ คน เดินทางกลับรัสเซียและใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ซึ่งเป็นปีที่เริ่มนโยบายเศรษฐกิจใหม่ จำนวนผู้อพยพที่กลับประเทศมีถึง ๑๒๑,๘๔๓ คน ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตครั้งที่ ๑๒ ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ที่ประชุมพรรคมีมติให้สนับสนุนการเคลื่อนไหวซเมนา เวค เพราะเห็นว่าขบวนการดังกล่าวได้รวบรวมและกำลังรวบรวมกลุ่มผู้อพยพและปัญญาชนรัสเซียที่ประนีประนอมกับอำนาจโซเวียตและพร้อมที่จะทำงานร่วมกับอำนาจโซเวียตเพื่อการเริ่มต้นใหม่ของรัสเซีย
แม้นโยบายเศรษฐกิจใหม่จะทำให้เศรษฐกิจของโซเวียตพัฒนาดีขึ้นแต่ก็ก่อปัญหาหลายประการ เพราะการผ่อนคลายการควบคุมและการวางแผนจากส่วนกลางเพื่อให้เกิดตลาดเสรีทำให้การขยายตัวระหว่างอุตสาหกรรมหนักกับอุตสาหกรรมเบาตลอดจนอุตสาหกรรมของรัฐกับเอกชนไม่ได้สัดส่วน ราคาผลิตผลเกษตรตกฮวบลงและราคาสินค้าอุตสาหกรรมถีบตัวสูงขึ้น ชาวนาจึงต่อต้านด้วยการไม่ซื้อสินค้าอุตสาหกรรม ราคาข้าวยังต่ำกว่าสมัยก่อนสงครามร้อยละ ๓๓ ในขณะที่ ราคาสินค้าสิ่งทอแพงกว่าสมัยก่อนสงครามสามเท่า การผลิตเครื่องจักรเกษตรทำได้เพียงร้อยละ ๒๐ ของระดับก่อนสงครามและการขายเท่ากับร้อยละ ๒๕ ความแตกต่างของราคาดังกล่าวเปรียบเสมือนขากรรไกซึ่งถ่างอ้าห่างกันมากขึ้นทุกขณะจนนำไปสู่การเกิดวิกฤติการณ์การจำหน่ายที่เรียกว่า "วิกฤติการณ์กรรไกร" (Scissor Crisis) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ผู้นำคนสำคัญของพรรคบอลเชวิคซึ่งตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์พิจารณา ทบทวนการใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่แต่ก็ไร้ผล อย่างไรก็ตาม การพยายามหาทางแก้ไขปัญหาความแตกต่างระหว่างราคาสินค้าเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมที่ขยายตัวกว้างมากขึ้นทุกขณะได้นำไปสู่การโต้แย้งเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศซึ่งกินเวลา หลายปี รัฐบาลโซเวียตในเวลาต่อมาจึงต้องยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจใหม่ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ และกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี ที่เน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมหนักและการนำระบบการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (collectivization) มาบังคับใช้แท