ไวส์เคานต์ฮอเรชีโอ เนลสันเป็นนายพลเรืออังกฤษที่มีผลงานโดดเด่นและได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษระหว่างสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)* และสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* เขาสามารถนำกองทัพเรืออังกฤษเอาชนะกองทัพเรือฝรั่งเศสในยุทธนาวีที่ปากแม่น้ำไนล์ (Battle of the Nile) หรือเรียกอีกชื่อว่ายุทธนาวีอ่าวอาบูกีร์ (Battle of Abukir Bay) ใน ค.ศ. ๑๗๙๘ และโดยเฉพาะยุทธนาวีที่ทราฟัลการ์ (Battle of Trafalgar) ใน ค.ศ. ๑๘๐๕ แม้เนลสันจะเสียชีวิตในยุทธนาวีครั้งหลังนี้แต่ชัยชนะดังกล่าวก็ทำให้อังกฤษได้เป็นมหาอำนาจทางทะเลแต่ผู้เดียวตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
เนลสันเกิดเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ค.ศ. ๑๗๕๘ ที่เบอร์นัมทอร์ป (Burnham Thorpe) ในนอร์ฟอล์กเคาน์ตี (Norfolk County) เขาเป็นบุตรชายคนที่ ๕ ของ ครอบครัวเอดมันด์กับแคเทอรีน เนลสัน (Edmund & Catherine Nelson) แต่มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นบุตรชายคนที่ ๓ เพราะพี่ชายของเขา ๒ คนเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก มารดาถึงแก่กรรมขณะเขาอายุได้ ๙ ขวบ เนลสันเป็นเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงและมีรูปร่างผอมบาง บิดาซึ่งไม่สามารถดูแลลูกหลายคนได้จึงยกเนลสันซึ่งขณะนั้นมีอายุ ๑๒ ขวบให้อยู่ในความดูแลของมอริซ ซักกลิง (Maurice Suckling) พี่ชายของแม่ เนลสันพอใจมากที่ได้อยู่กับลุงซึ่งเป็นนายทหารเรือ ต่อมาในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๗๑ เนลสันได้สมัครเป็นทหารเรือฝึกงานเพื่อติดตามลุงไปทำสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด (Falkland Islands) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๗๐ และ ประจำการบนเรือเรซันเนเบิล (Raisonnable) แต่เรือเรซันเนเบิลไม่ได้เข้าร่วมรบเพราะสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์สิ้นสุดลงเสียก่อน ลุงจึงฝากเนลสันให้เดินทางไปกับเรือขนส่งสินค้าเพื่อเรียนรู้ชีวิตบนเรือเดินทะเลการใช้ชีวิตบนเรือสินค้าครั้งนี้ทำให้เขาได้รับประสบการณ์ที่มีค่าซึ่งต่อมาได้นำไปประยุกต์ใช้ในการบังคับบัญชาเรือรบและส่งผลให้เนลสันเป็นที่เคารพนับถือและเป็นที่รักใคร่ของผู้ใต้บังคับบัญชามาก ขณะที่เนลสันอายุ ๑๔ ปี ลุงได้อนุญาตให้เขาควบคุมเรือลาดตระเวนแม่น้ำเทมส์ชื่อไทรอัมฟ์ (Triumph) ที่ลุงเป็นผู้บัญชาการอยู่เพราะเชื่อมั่นในความสามารถในการเดินเรือของเขาต่อมา เนลสันเดินทางไปยังอาร์กติกกับเรือเรซฮอร์ส (Racehorse) เพื่อสำรวจเส้นทางเดินเรือทางตะวันออกเฉียงเหนือ แต่การสำรวจครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จขณะที่ประจำการบนเรือซีฮอร์ส (Seahorse) เนลสันได้รับรู้ถึงการต่อสู้ของทหารเรือและเรียนรู้ระเบียบวินัยที่เข้มงวด ทั้งเห็นการโบยกะลาสีเรือกว่า ๒๐๐ ครั้งซึ่งทำให้เขารู้สึกหดหู่ใจมาก อย่างไรก็ตาม การล้มป่วยด้วยไข้มาลาเรียทำให้เขาถูกส่งตัวกลับบ้าน
ใน ค.ศ. ๑๗๗๗ เนลสันสอบเลื่อนยศเป็นเรือเอกได้ขณะที่มีอายุเพียง ๑๘ ปี การที่เขาสามารถสมัครสอบเลื่อนขั้นได้แม้อายุจะไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ ๒๐ ปีเนื่องจากได้รับความช่วยเหลือจากลุงซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานตรวจสอบการเงินการบัญชี (comptroller) ของกองทัพเรืออังกฤษ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๗๘ เนลสันได้เลื่อนยศเป็นนาวาโท และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๗๙ เป็นนาวา เอก ทั้งยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการเรือฮิตเชนโบรก (Hitchenbroke) เป็นครั้งแรก ต่อมาใน ค.ศ. ๑๗๘๑ เนลสันได้บัญชาการเรือฮิตเชนโบรกต่อสู้กับเรือรบของสเปนที่ป้อมซานฮวน (San Juan) ในนิการากัว แต่พ่ายแพ้อย่างยับเยิน ทหารเรืออังกฤษเกือบ ๒๐๐ คนเหลือรอดชีวิตเพียง ๑๐ คนซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตจากไข้เหลือง เนลสันเองก็ล้มป่วยและถูกส่งตัวกลับอังกฤษเพื่อพักรักษาตัว ต่อมา เขาได้เดินทางสู่ทวีปอเมริกาเหนืออีกครั้งหนึ่งกับเรืออัลเบมาร์ล (Albemarle) เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๘๑ และได้พยายามยึดเกาะเติกส์ (Turks) ในหมู่เกาะบาฮามาสจากฝรั่งเศสในเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๘๓ แต่ไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาเนลสันได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการเรือบอริแอส (Boreas) ซึ่งรับผิดชอบดูแลอาณานิคมของอังกฤษในหมู่เกาะเวสต์อินดีส ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เขาได้ขัดขวางการลักลอบค้าขายระหว่างพ่อค้าชาวอเมริกันกับชาวอาณานิคมของอังกฤษในทะเลแคริบเบียนซึ่งเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเดินเรือ (Navigation Acts) ที่ไม่อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาซึ่งประกาศอิสรภาพจากอังกฤษแล้วทำการค้ากับอาณานิคมของอังกฤษในทะเลแคริบเบียนเนลสันซึ่งไม่ชอบอเมริกาเป็นการส่วนตัวอยู่แล้วจึงยึดเรือสินค้าอเมริกัน ๔ ลำที่เมืองเนวิส (Navis) ทำให้กัปตันเรืออเมริกันที่โดนยึดรวมทั้งพ่อค้าชาวเนวิสฟ้องศาลว่าเขาทำการยึดเรือโดยผิดกฎหมาย ส่งผลให้เนลสันไม่กล้าขึ้นจากเรือบอริแอสของเขาประมาณ ๘ เดือนเพราะกลัวจะถูกจับขังคุก แต่ศาลของเนวิสยกฟ้องข้อกล่าวหาในที่สุด ขณะปฏิบัติหน้าที่ ณ หมู่เกาะเวสต์อินดีสนี้ มอริส ซักกลิง ผู้เป็นลุงเสียชีวิตและได้มอบเงินกับดาบของนาวาเอก กัลฟริดัส วอลโพล (Galfridus Walpole) ซึ่งเป็นลุงอีกคนหนึ่งให้กับเนลสันเนลสันใช้ดาบเล่มนี้เป็นดาบประจำตัวจนกระทั่งเขาเสียชีวิต ต่อมา เนลสันได้แต่งงานกับฟรานเซส นิสเบต (Frances Nisbet) เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๘๗ หลังจากนั้นไม่นานก็ถูกเรียกตัวกลับอังกฤษ โดยได้เข้าประจำการที่นอร์ฟอล์กเป็นเวลาหลายปีและได้รับเงินเดือนเพียงครึ่งเดียว
เมื่ออังกฤษเตรียมเข้าสู่สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส เนลสันได้รับมอบหมายให้บัญชาการเรืออากาเมมนอน (Agamemnon) ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๙๓ ภารกิจหลักคือการลาดตระเวน คุ้มครองเรือสินค้าอังกฤษและยึดเรือของโจรสลัดในทะเลเมดิเตอรเรเนียน เนลสันได้ปฏิบัติการรบหลายครั้ง รวมถึงการยึดเกาะบาสตียา (Bastia) และคาลวี (Calvi) เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๔ ซึ่งเป็นเหตุให้เขาถูกยิงที่ตาข้างขวาจนบอดสนิท ต่อมาเนลสันได้เลื่อนยศเป็นพลเรือจัตวาและได้ย้ายไปบัญชาการเรือกัปตัน (Captain) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลหมู่เรืออังกฤษในอ่าวเจนัว ในช่วงเวลานี้ กองทัพเรืออังกฤษในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอ่อนแอลงเนื่องจากกองทัพบกของฝรั่งเศสสามารถบุกเข้ายึดอิตาลีทางตอนเหนือได้และบีบบังคับให้ราชอาณาจักรเนเปิลส์และซิซิลี (Kingdom of Naples and Sicily) ซึ่งอยู่ใต้อำนาจปกครองของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* เป็นกลางและให้สเปนต้องเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๗๙๖ กองทัพเรืออังกฤษเริ่มถอนตัวจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๗ กองเรือรบอังกฤษปะทะกับกองเรือรบสเปนที่แหลมเซนต์วินเซนต์ (St. Vincent) เนลสันมีบทบาทสำคัญช่วยให้กองทัพเรืออังกฤษมีชัยชนะในยุทธนาวีครั้งนี้ โดยเขาใช้ยุทธวิธีที่ตรงกันข้ามกับธรรมเนียมปฏิบัติในการทำสงครามทางทะเลด้วยการบังคับเรือกัปตันออกจากแนวรบของอังกฤษเพื่อเข้าโจมตีกองเรือของสเปนให้แยกออกจากกัน เขาสามารถยึดเรือซานโคเซ (San Josef) ของสเปนและเมื่อเรือซานนิโคลัส (San Nicolas) ที่พยายาม จะเข้ามาช่วยเหลือเรือซานโคเซ ทหารของเนลสันก็ต่อสู้อย่างกล้าหาญและได้รับ ชัยชนะในที่สุดชัยชนะเหนือกองทัพเรือสเปนในครั้งนี้ทำให้พลเรือเอก เซอร์จอห์นจาร์วิส (Sir Jonh Jarvis) ผู้บัญชาการสูงสุดของกองเรืออังกฤษในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอิร์ลแห่งเซนต์วินเซนต์ (Earl of St. Vincent) และเนลสันเป็นอัศวินแห่งบาท (Knight of the Bath) และเป็นรองผู้บัญชาการกองทัพเรืออังกฤษในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนต่อจากเอิร์ลแห่งเซนต์วินเซนต์ เอิร์ลแห่งเซนต์วินเซนต์ได้ตอบแทนเนลสันโดยอนุญาตให้เขานำกำลังบุกยึดเรือบรรทุกสมบัติของสเปนที่จอดทอดสมออยู่ที่อ่าวซานตากรูส (Santa Cruz) ของเกาะเตเนริฟฟ์ (Teneriffe) ในหมู่เกาะคะแนรี (Canary) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๗ แต่การโจมตีครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เนลสันซึ่งบังคับบัญชาเรือลำแรกที่แล่นเข้าสู่อ่าวถูกยิงที่แขนขวาและถูกนำตัวลงไปรักษาในเคบินใต้ท้องเรือและต้องถูกตัดแขนขวาทิ้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อทำบาดแผลเสร็จ เนลสันก็กลับขึ้นมาบัญชาการรบอีกครั้งหนึ่ง แต่ผลสุดท้ายกองเรือรบอังกฤษต้องยอมถอยทัพ
เนลสันซึ่งถูกส่งตัวกลับอังกฤษเพื่อรักษาตัวคิดว่าชีวิตทหารเรือของเขาคงจะจบสิ้นลง แต่ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๘ เมื่อบาดแผลหายดีแล้ว เขาเข้าพบสมาชิกสภาการทหารเรือ (First Sea Lord) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือ (First Lord of the Admiralty) เพื่อยืนยันว่าเขายังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดีอยู่และก็ได้รับการยอมรับ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๘ เขาถูกมอบหมายให้บัญชาการเรือชื่อแวนการ์ด (Vanguard) พร้อมกับเรือรบอีก ๑๔ ลำเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทะเลเมดิเตอร์เร เนียนโดยมีภารกิจหลักคือติดตามกองเรือของนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๐๔ ได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* ซึ่งออกเดินทางจากเมืองตูลง (Toulon) ไปยังจุดหมายที่ไม่ชัดเจน เนลสันคาดว่าเรือรบเหล่านี้น่าจะเดินทางไปยังเมืองเลอวอง (Levant) แต่ขณะที่ติดตามเรือของฝรั่งเศสถึงเมืองอะเล็กซานเดรีย (Alexandria) เนลสันก็คลาดกับกองเรือของฝรั่งเศสและทำให้เขาต้องสำรวจชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนานนับเดือนเพื่อค้นหาเรือเหล่านี้ ในที่สุด เย็นของวันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ เนลสันก็พบกองเรือของฝรั่งเศสจอดทอดสมอที่อ่าวอาบูกีร์ ปากแม่น้ำไนล์ เนลสันตัดสินใจเข้าโจมตีกองเรือของฝรั่งเศสที่จอดทอดสมออยู่จนเกิดเป็นการสู้รบที่ปากแม่น้ำไนล์ขึ้น การสู้รบระหว่าง ๒ ฝ่ายดำเนินไปตลอดคืนนั้น เรือของเนลสันสามารถแล่นฝ่าแนวด่านและเข้าประชิดเรือลอรียอง (L’Orient) ได้สำเร็จ เช้าวันรุ่งขึ้นปรากฏว่าเรือรบของอังกฤษสามารถทำลายหรือยึดเรือรบของฝรั่งเศสได้เกือบทั้งหมดรวมทั้งเรือลอรียองด้วย ชัยชนะเหนือฝรั่งเศสที่ปากแม่น้ำไนล์นี้ทำให้เนลสันมีชื่อเสียงมากขึ้นและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในทุกที่ที่เขาปรากฏตัว เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นบารอนเนลสันแห่งแม่น้ำไนล์และเบอร์นัมทอร์ป (Baron Nelson of the Niles and Burnham Thorpe) ชัยชนะของกองทัพเรืออังกฤษครั้งนี้ยังทำให้นโปเลียนโบนาปาร์ตตัดสินใจยกเลิกแผนการที่จะบุกอินเดียของอังกฤษและให้ถอนทหารฝรั่งเศสออกจากตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ประเทศในยุโรปที่ต่อต้านฝรั่งเศสกล้าที่จะรวมตัวเป็นพันธมิตรกันอีกครั้งหนึ่ง
หลังยุทธนาวีที่ปากแม่น้ำไนล์ กองเรือของเนลสันได้ประจำการอยู่ที่เนเปิลส์และได้ร่วมมือกับพระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ ๔ (Ferdinand IV) แห่งราชอาณาจักรเนเปิลส์และซิซิลีในการต่อต้านฝรั่งเศส เมื่อกองทัพฝรั่งเศสบุกเนเปิลส์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ เนลสันได้ช่วยเหลือพระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ ๔ และพระราชวงศ์อพยพไปประทับที่ปาเลอร์โม (Palermo) หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๙ เขามีส่วน ช่วยฟื้นฟูอำนาจของราชวงศ์บูร์บงโดยการนำพระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ ๔ กลับมาปกครองเนเปิลส์อีกครั้งหนึ่งและในฐานะผู้บัญชาการกองทัพเรือของเนเปิลส์ เนลสันได้สั่งให้ประหารชีวิตผู้นำทางทหารของเนเปิลส์หลายคนที่มีส่วนช่วยเหลือฝรั่งเศส ปีเดียวกันนั้น กษัตริย์แห่งเนเปิลส์ฯ ได้แต่งตั้งเนลสันเป็นดุ๊กแห่งบรอนเต (Duke of Bronte) ที่เนเปิลส์ นี้เนลสันได้รู้จักกับเซอร์วิลเลียม แฮมิลตัน (Sir William Hamilton) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเนเปิลส์และเลดีเอมมา แฮมิลตัน (Emma Hamilton) ผู้เป็นภรรยา เนลสันลุ่มหลงเลดีแฮมิลตันมากและมีความสัมพันธ์กันจนมีบุตรสาวด้วยกันคือฮอเรเชีย (Horatia) ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้จึงเป็นจุดด่างพร้อยที่สุดในชีวิตของเนลสัน ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๐๐ เนลสันและครอบครัวแฮมิลตันเดินทางกลับอังกฤษร่วมกัน หลังจากนั้นไม่นาน เนลสันก็ได้แยกทางกับภรรยาเก่าและไปอยู่กับครอบครัวแฮมิลตันในช่วงที่ไม่ได้ประจำการบนเรือรบ
เนลสันได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเรือโทเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๐๑ และในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนั้น ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการกองทัพเรืออังกฤษในทะเลบอลติก ภารกิจของเขาคือการทำลายเรือรบของประเทศที่ เป็นกลางในทะเลบอลติก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ซาร์ปอล (Paul ค.ศ. ๑๗๙๖-๑๘๐๑) แห่งรัสเซียได้เข้าเป็นพันธมิตรกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ แห่งฝรั่งเศสและได้ประกาศจัดตั้งกองทัพของชาติที่เป็นกลางแห่งทะเลเหนือขึ้นโดยมีเดนมาร์กและสวีเดนเข้าร่วมด้วย ในการวางแผนจัดการกับกองทัพของชาติที่เป็นกลางนี้ เนลสันเสนอว่าให้เผด็จศึกกองทัพของรัสเซียก่อน เมื่อกองทัพของซาร์ถูกทำลายแล้ว กองทัพของสวีเดนและเดนมาร์กก็จะไม่เป็นภัยกับอังกฤษ แต่เซอร์ไฮด์ พาร์กเกอร์ (Sir Hyde Parker) ผู้บัญชาการสูงสุดไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าในขณะที่อังกฤษกำลังทำสงครามติดพันกับรัสเซียอยู่นั้น กองทัพของเดนมาร์กและสวีเดนสามารถตลบหลังอังกฤษได้และทำให้อังกฤษต้องเผชิญกับสงครามสองด้าน ดังนั้น เซอร์พาร์กเกอร์จึงสั่งให้กองทัพเรืออังกฤษบุกกรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์กก่อน
ในการทำสงครามยุทธนาวีที่กรุงโคเปนเฮเกน (Battle of Copenhagen) นี้ กองทัพเรืออังกฤษอนุญาตให้ทหารอาสาสมัครชาวเดนมาร์กที่ประจำการบนเรือรบอังกฤษย้ายไปประจำการบนเรืออังกฤษลำอื่นได้เนลสันเป็นผู้วางแผนในยุทธนาวีที่กรุงโคเปนเฮเกนนี้ทั้งหมด โดยเขานำเรือรบอังกฤษเข้าโจมตีเรือรบของเดนมาร์กที่ ป้องกันกรุงโคเปนเฮเกนเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๘๐๑ โดยใช้การยุทธที่คล้ายกับการต่อสู้กับกองเรือฝรั่งเศสในยุทธนาวีที่ปากแม่น้ำไนล์ ได้แก่ การโจมตีเรือที่มีการป้องกันน้อยที่สุดก่อนแล้วจึงค่อยต่อสู้ไล่ล่าขึ้นไปตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ทหารเรือเดนมาร์กก็สู้รบอย่างเข้มแข็งซึ่งทำให้ทหารอังกฤษไม่สามารถเอาชนะได้ง่าย ขณะที่ การต่อสู้ดำเนินอย่างยืดเยื้ออยู่นั้นเซอร์พาร์กเกอร์เกรงว่ากองทัพเรืออังกฤษจะเพลี่ยงพล้ำจึงส่งสัญญาณให้เนลสันถอยทัพ แต่เนลสันแกล้งทำประหนึ่งว่าไม่เห็นสัญญาณนั้นและสู้รบต่อไปจนกระทั่งกองทัพเรืออังกฤษได้รับชัยชนะในที่สุด แม้ว่ากองทัพเรืออังกฤษจะเป็นฝ่ายมีชัยแต่ก็ได้รับความเสียหายมากอย่างไรก็ดีชัยชนะในครั้งนี้ทำให้เนลสันได้รับการเชิดชูเกียรติและได้รับแต่งตั้งเป็นไวส์เคานต์เนลสันแห่งไนล์และได้รับอนุญาตให้ลาพักตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๘๐๒ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๓ เนลสันได้ทำสงครามกับฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง โดยเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพเรืออังกฤษในทะเล เมดิเตอร์เรเนียน และเป็นผู้บังคับบัญชาเรือวิกตอรี (Victory) ภารกิจสำคัญคือการปิดล้อมเมืองตูลงของฝรั่งเศส แต่ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ เรือรบของฝรั่งเศสหลายลำสามารถหลบหนีการปิดกั้นของกองทัพเรืออังกฤษไปได้ และตามแผนการของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ นั้นเรือรบเหล่านี้จะไปรวมตัวกันที่หมู่เกาะอินดีสตะวันตก เนลสันติดตามไล่ล่ากองเรือของฝรั่งเศสทั่วมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ไม่พบ ขณะเดียวกันเนลสันก็ประสบกับปัญหาสุขภาพ ดังนั้น เขาจึงต้องเดินทางกลับไปพักผ่อนที่อังกฤษในช่วงสั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๑๔ กันยายน ปีเดียวกันนั้น เรือรบอังกฤษได้ค้นพบกองเรือรบของฝรั่งเศสซึ่งซ่อนตัวอยู่ที่แหลมคาดิซ (Cadiz) ของสเปน เนลสันจึงได้กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเรือรบของฝรั่งเศสกับสเปนออกเดินทางไปยังช่องแคบยิบรอลตาร์ (Gibraltar)* ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม เพื่อเบิกน่านน้ำให้กับกองทัพเรือของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ที่จะยกไปบุกเกาะอังกฤษเนลสันได้นำเรือรบอังกฤษจำนวน ๒๗ ลำโจมตีเรือรบฝรั่งเศสและสเปนที่มีจำนวนรวมกัน ๓๓ ลำที่ทราฟัลการ์ปากช่องแคบยิบรอลตา ในการประจัญบานกับเรือรบฝรั่งเศสนั้น กัปตันเรือของเนลสันคือ นาวาเอก ฮาร์ดี (Hardy) ได้แล่นเรือวิกตอรีแทรกเข้าไประหว่างเรือบูซองโตร์ (Bucentaure) กับเรือเรอดูตาบเลอ (Redoutable) ของฝรั่งเศสและยิงปืนต่อสู้กันไปด้วยเรือวิกตอรีได้ชนเข้ากับเรือเรอดูตาบเลอ และทำให้เนลสันถูกยิงบาดเจ็บสาหัส แต่ก่อนที่เขาจะถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ นั้นเนลสันก็ได้รับทราบว่ากองทัพเรืออังกฤษมีชัยชนะเหนือกองทัพเรือฝรั่งเศส การพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ต้องล้มเลิกความคิดที่จะบุกเกาะอังกฤษกองทัพเรืออังกฤษได้นำศพของเนลสันกลับอังกฤษและประกอบพิธีฝังที่มหาวิหารเซนต์พอล (St. Paul Cathedral) ในวันที่ ๙ มกราคม ค.ศ. ๑๘๐๖
เนลสันได้รับการยกย่องว่าเป็นนายทหารเรือที่มีความสามารถสูงและเป็นผู้นำที่ กล้าหาญ เขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชากล้าทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ความห่วงใยที่เนลสันมีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอมาจึงทำให้เขาเป็นที่รักใคร่และได้รับความจงรักภักดีมากนอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้เนลสันประสบความสำเร็จในการทำสงครามต่าง ๆ คือ ความไว้วางใจและการติดต่อสื่อสารระหว่างเนลสันกับทหารใต้บังคับบัญชาของเขาตลอดเวลา ส่วนยุทธวิธีของเนลสันในการประจัญบานกับเรือรบของศัตรูนั้น เขาจะพยายามแยกกลุ่มเรือรบของข้าศึกให้แตกแถวออกจาก กัน และให้ความสำคัญต่อการสู้รบของแต่ละส่วน การเสียชีวิตของเนลสันในขณะที่ ทำการต่อสู้เพื่อนำชัยชนะมาสู่อังกฤษในยุทธนาวีที่ทราฟัลการ์นั้นทำให้เรื่องราวชีวิตของเขากลายเป็นตำนานของชาวอังกฤษสืบต่อมาและเขาได้รับยกย่องอย่างสูงในฐานะวีรบุรุษของชาติอีกทั้งรัฐบาลอังกฤษยังได้กำหนดให้วันที่ ๒๑ ตุลาคมของทุกปีเป็นวันทราฟัลการ์ (Trafalgar’s Day) เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาและระลึกถึงชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของกองทัพเรืออังกฤษที่มีต่อกองทัพเรือฝรั่งเศสในระหว่างสงครามนโปเลียนด้วย.