Napoleonic Wars (1804-1815)

สงครามนโปเลียน (๒๓๔๗-๒๓๕๘)

​​​     สงครามนโปเลียนเป็นสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศพันธมิตร เกิดขึ้นในรัชสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* แห่ง จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)*  เป็นสงครามที่เกิดจากนโยบายรุกรานของฝรั่งเศสที่มีมาตั้งแต่สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)* และแสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ในการดำเนินการทางทหารจนทำให้ยุโรปเกือบทั้งหมดต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจหรืออิทธิพลของฝรั่งเศสและทำให้มหาอำนาจยุโรปต้องผนึกกำลังกันครั้งใหญ่เพื่อโค่นอำนาจพระองค์ใน ค.ศ. ๑๘๑๔ แม้จักรพรรดินโปเลียนจะสามารถกอบกู้อำนาจได้ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น ๆ เพราะในที่สุดก็ทรงประสบความพ่ายแพ้และสูญสิ้นพระราชอำนาจอย่างถาวร
     สงครามปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้ฝรั่งเศสเป็นประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปโดยสามารถเอาชนะและผนวกดินแดนโดยรอบประเทศพร้อมทั้งขยายอำนาจ และอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและอุดมการณ์การปฏิวัติออกไปทั่วยุโรป สงครามยังสร้างวีรบุรุษคนสำคัญคือนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ซึ่งเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution 1789)* นโปเลียนเป็นเพียงนายทหารปืนใหญ่ยศร้อยโท ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสทำสงครามกับออสเตรียใน ค.ศ. ๑๗๙๒ เขามีโอกาสแสดงอัจฉริยภาพทางทหารอย่างเด่นชัดในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๑ (The First Coalition) ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๓-๑๗๙๗ ฝรั่งเศสต้องรบกับฝ่ายพันธมิตรอันประกอบด้วยออสเตรีย ปรัสเซีย รัสเซีย อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และสเปน นโปเลียนได้เป็นผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่ และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการและใน ค.ศ. ๑๗๙๖ ได้เลื่อนยศเป็นนายพลบังคับบัญชากองทัพฝรั่งเศสในการรบในคาบสมุทรอิตาลี ฝรั่งเศสมีชัยชนะและออสเตรียถูกบีบให้ต้องยอมลงนามในสนธิสัญญากัมโปฟอร์มีโอ (Treaty of Campo Formio)* เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๗
     แม้สงครามในยุโรปจะสิ้นสุดลง แต่ฝรั่งเศสก็ยังคงมีนโยบายรุกรานเข้าไปในดินแดนอียิปต์ที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* โดยส่งนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ตไปบุกอียิปต์ในเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ ทำให้อังกฤษซึ่งสนใจดินแดนดังกล่าวเช่นกันไม่พอใจ ดังนั้นอังกฤษจึงแสวงหาพันธมิตรจากออสเตรีย รัสเซีย จักรวรรดิออตโตมัน เนเปิลส์ และซาร์ดิเนีย

เกิดเป็นสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๒ (The Second Coalition) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ ขณะที่สงครามกำลังดำเนินอยู่นโปเลียนได้ลอบเดินทางกลับฝรั่งเศสเพื่อร่วมก่อรัฐประหารเดือนบูร์แมร์ (Coup d’Etat Brumaire)* และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในระบบกงสุล (Consulate System)* ขึ้น ใน ค.ศ. ๑๗๙๙ โดยเขาดำรงตำแหน่งกงสุลที่ ๑ รับผิดชอบกิจการด้านการทหารทั้งหมดซึ่งทำให้ฝรั่งเศสประสบชัยชนะอย่างงดงามในสมรภูมิอียิปต์ ประเทศพันธมิตรต่างทยอยถอนตัวออกจากสงครามจนเหลือเพียงอังกฤษซึ่งในท้ายสุดก็ลงนามในสนธิสัญญาอาเมียง (Treaty of Amiens)* เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๒ ต่อมาเมื่อนโปเลียนยังดำเนินนโยบายรุกราน อังกฤษจึงประกาศสงครามกับฝรั่งเศสอีกครั้งเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๓ แต่ครั้งนี้เป็นสงครามที่จำกัดขอบเขตในช่องแคบอังกฤษและบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกกระนั้นอังกฤษก็ดำเนินความพยามยามที่จะสร้างเครือข่ายพันธมิตรยุโรปเพื่อจำกัดอำนาจของฝรั่งเศสควบคู่ไปด้วย
     ในการหยั่งเสียงประชามติเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๔ นโปเลียนได้รับการสนับสนุนให้เป็นจักรพรรดิซึ่งเขาได้ทำพิธีสวมมงกุฎให้แก่ตนเองที่มหาวิหารโนเตรอดาม (Notre Dame) เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๔ นับเป็นการเปิดศักราชของสงครามนโปเลียนที่ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับภาวะสงครามตลอดรัชกาล จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงเร่งปฏิรูปและปรับปรุงประเทศให้แข็งแกร่งทุกด้านเพื่อทำให้พระราชอำนาจของพระองค์มั่นคงและขยายอำนาจของฝรั่งเศสต่อไป พระองค์ทรงตระหนักดีว่านับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นต้นมา ฝรั่งเศสได้สูญเสียกำลังพลงบประมาณ และทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปเป็นอันมากจึงเป็นภารกิจแรกและภารกิจหลักของผู้บริหารประเทศที่จะต้องฟื้นฟูบูรณะประเทศและทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับกองทัพ
     จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงเห็นว่าการจะทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับกองทัพได้อย่างรวดเร็วคือต้องทอนอำนาจของสภาสูงและสภานิติบัญญัติเพื่อให้พระราชอำนาจในการบริหารประเทศและการทหารสมบูรณ์และเด็ดขาด รวมทั้งลิดรอนอำนาจตุลาการให้หมดไปให้ได้ภายใน ค.ศ. ๑๘๐๘ ขณะเดียวกันพระองค์ทรงจัดตั้งสภาแห่งรัฐ (Council of State) ขึ้น สมาชิกประกอบด้วยจักรพรรดิ รัฐมนตรีซึ่งมีจำนวนระหว่าง ๗-๑๑ คน ผู้บริหารระดับจังหวัดและนายพลแห่งกองทัพฝรั่งเศส เพื่อเป็นกลไกในการบริหารจักรวรรดิ ขณะเดียวกันก็ทรงให้ข้าราชการที่กระจายกันอยู่ในกรมกองและจังหวัดต่าง ๆ มีบทบาททำให้นโยบายรัฐบรรลุผลเพื่อที่จะให้ประชาชนพอใจและมั่นใจในอำนาจรัฐ พระองค์ยังได้ทรงนำหลักการปกครองในระบบ เผด็จการที่วางอยู่บนพื้นฐานของการโน้มน้าวใจและความรักใคร่ของประชาชนมาใช้อย่างกว้างขวางอีกด้วย
     ในการปฏิรูปกองทัพที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยการปกครองในระบบกงสุล ได้มีการระดมกำลังพลด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งการจ้างคนต่างชาติ การรับอาสาสมัครและการเกณฑ์ทหาร (Conscription)* โดยเกณฑ์ชายฉกรรจ์ที่มีอายุระหว่าง ๑๘-๒๕ ปี ทำให้ฝรั่งเศสสามารถเสริมกำลังพลให้กับกองทัพในแต่ละปีได้อย่างเป็นระบบและทำให้ง่ายแก่การวางแผนฝึกอบรมบุคลากรในกองทัพควบคู่ไปกับการวางแผนพัฒนาอาวุธยุทธปัจจัย การคมนาคมและการขนส่ง ตลอดจนการจัดหางบประมาณให้พอเพียงแก่การเลี้ยงดูกองทัพและการสงคราม นอกจากนี้ ฝรั่งเศสซึ่งกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมมาแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่งก็สนับสนุนให้อุตสาหกรรมส่วนหนึ่งมุ่งไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรบซึ่งก็สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงปรากฏว่าฝรั่งเศสไม่เพียงแต่เพิ่มกำลังพลเท่านั้น แต่ยังเพิ่มขีดความสามารถของอาวุธยุทโธปกรณ์ ระบบการสื่อสาร ระบบการขนส่งและการลำเลียงพลตลอดจนอาวุธยุทธปัจจัยเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
     จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงเห็นความสำคัญของการจัดกำลังเป็นกองทัพใหญ่ (Grand Army) ที่มีกำลังพลระหว่าง ๑-๒ ล้านคน และแบ่งเป็นกองทัพย่อยตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เช่น กองทัพภาคแม่น้ำไรน์ (Army of the Rhine) กองทัพภาคอิตาลี (Army of Italy) กองทัพภาคมหาสมุทร ชายฝั่งทะเล ช่องแคบ และ ทะเลเหนือ (Army of the Ocean, Coasts, Channel and the North Sea) แม่ทัพแต่ละภาคจะรับผิดชอบกองทัพของตนและอาจแบ่งกองทัพเป็นหลายกองพล มีผู้ บัญชาการกองพลรับผิดชอบลดหลั่นกันไป แม้การบังคับบัญชาสูงสุดจะอยู่ที่ จักรพรรดิในฐานะจอมทัพแต่พระองค์ก็ทรงยอมให้แม่ทัพและผู้บังคับบัญชาหน่วยมี อำนาจในการจัดกำลังทัพและการตัดสินใจระดับหนึ่งเพื่อให้การปฏิบัติการรบบรรลุผลตามแผนที่วางไว้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ ส่วนจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็ทรงมีกองทัพส่วนพระองค์ที่ทรงเป็นแม่ทัพ เพื่อปฏิบัติการในพื้นที่ใดก็ได้ และอาจมีขนาดใหญ่ตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐-๔๐๐,๐๐๐ คน จัดเป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
     แม้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จะได้ชื่อว่าเป็นนักการทหารที่มีความสามารถในด้านการจัดกำลังทัพ การควบคุมและการบังคับบัญชาการรบ แต่พระอัจฉริยภาพที่โดดเด่นของพระองค์อยู่ที่การสร้างจิตวิญญาณของกองทัพและการใช้ยุทธวิธีใหม่ ๆ ในการรบ ความยิ่งใหญ่ของกองทัพฝรั่งเศสไม่ได้อยู่ที่กำลังพลที่มีระเบียบวินัยเท่านั้น หากยังมีพลังของความมีชีวิตชีวาและความกล้าหาญในการทำให้กองทัพเกิดการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ยุทธวิธีที่ใช้ก็จะเป็นการเคลื่อนกำลังพลที่มีความรวดเร็วฉับไวจากการแบ่งกำลังพลเป็นกองกำลังขนาดย่อยที่มีอาวุธยุทธปัจจัยพร้อมสรรพที่จะพึ่งตนเอง ได้และมีการเคลื่อนที่เร็วทั้งประสานสัมพันธ์กันในการตั้งรับ จู่โจม บุกทะลวงหรือตีตลบ ตลอดจนการเคลื่อนกำลังพลได้ในทุกสภาวะอากาศและภูมิประเทศอย่างรวดเร็วและมีระเบียบ กองทัพจึงมีชื่อเสียงในการเคลื่อนที่เร็วและครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางในการรบแต่ละครั้ง เมื่อกองทัพฝรั่งเศสมีความพร้อมรอบด้าน มีผู้นำทัพทุกระดับที่แข็งแกร่ง มีกำลังพลที่ฮึกเหิมและมียุทธวิธีที่เกื้อหนุนให้เกิดชัยชนะได้ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็สามารถตรัสได้อย่างภาคภูมิในความสำเร็จของกองทัพฝรั่งเศสที่เน้นจิตวิญญาณของกองทัพและการวางแผนการรบที่เยี่ยมจนทำให้ได้ชัยชนะทุกครั้งว่า "แผนการสู้รบทั้งหมดของข้าพเจ้าคือ การทำยุทธการนโยบายทั้งหมดของข้าพเจ้าคือ ชัยชนะ" และเมื่อใดที่มองไม่เห็นชัยชนะเมื่อนั้นเป็นอันสิ้นสุดการรบ
     สงครามนโปเลียนเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เมื่ออังกฤษซึ่งทำสงครามกับฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๐๓ สามารถสร้างกลุ่มพันธมิตรครั้งใหม่กับออสเตรีย รัสเซียและสวีเดนได้จนเกิดเป็นสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓ (The Third Coalition) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ เมื่อเริ่มสงครามประเทศพันธมิตรคาดหวังว่าจะปฏิบัติการรบในเชิงรุกจากทะเลบอลติก (Baltic) ทางตอนเหนือจนถึงทะเลเอเดรียติก (Adriatic) ทางตอนใต้ โดยกองกำลังผสมรัสเซีย-สวีเดนจะรับผิดชอบการรบในเขตทะเลบอลติก ขณะที่กองกำลังของรัสเซียอีกจำนวนหนึ่งจะสนับสนุนปรัสเซียในเขตรัฐเยอรมันทางตอนเหนือรวมทั้งฮอลแลนด์ ออสเตรียและรัสเซียจะรับผิดชอบร่วมกันในเขตรัฐเยอรมันตอนใต้ ส่วนปฏิบัติการในอิตาลีและทะเลเอเดรียติกจะเป็นความรับผิดชอบของหลายชาติร่วมกัน การรบทางทะเลครั้งสำคัญเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม คือ ยุทธนาวีที่ทราฟัลการ์ (Battle of Trafalgar)* เมืองชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสเปน เป็นการรบระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสและสเปนราชนาวีอังกฤษที่คุ้มครองน่านน้ำบริเวณนั้นประกอบด้วยเรือรบ ๒๗ ลำและเรือฟรีเกต ๔ ลำ ซึ่งมีไวส์เคานต์ฮอเรชีโอ เนลสัน (Horatio Nelson)* เป็นผู้นำได้เข้าโจมตีกองทัพเรือฝรั่งเศส-สเปนซึ่งมีเรือรบ ๓๓ ลำและเรือฟรีเกต ๗ ลำ ที่ทราฟัลการ์ ภายในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ เพียงวันเดียว อังกฤษสามารถทำลายเรือรบของฝ่ายฝรั่งเศสได้ถึง ๒๐ ลำโดยอังกฤษไม่มีการสูญเสียยุทธการที่ทราฟัลการ์แสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ทางทะเลของอังกฤษ ซึ่งทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงยกเลิกแผนการข้ามช่องแคบไปพิชิตอังกฤษและหันมาปฏิบัติการรบทางบกเพียงอย่างเดียว


     ในปฏิบัติการรบทางบก จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงมุ่งพิชิตออสเตรียและดินแดนเยอรมันทางตอนใต้ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ ทรงนำกองทัพ ๗ กองพล จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ คนบุกเข้าทางตอนกลางของลุ่มน้ำไรน์ (Rhine) และตอนใต้ของแม่น้ำเมน (Main) เข้าสู่รัฐสวาเบีย (Swabia) เพื่อรวบรวมกำลังพลเพิ่มเติมจากรัฐพันธมิตรเยอรมันทางตอนใต้แล้วจึงมุ่งสู่ออสเตรียทรงมีแผนจะเข้ายึดออสเตรียจากด้านใต้และตะวันออกเพื่อตัดเส้นทางติดต่อระหว่างกองทัพออสเตรียกับรัสเซีย ระหว่างเส้นทางการเคลื่อนพล กองทัพฝรั่งเศสเผชิญหน้ากับกองทัพออสเตรียที่เมืองอุล์ม (Ulm) เกิดเป็นการรบที่ดุเดือดรุนแรงต่อเนื่องกันถึง ๔ สัปดาห์ ระหว่างวันที่ ๒๕ กันยายน - ๒๐ ตุลาคม กองทัพฝรั่งเศสมีความเหนือชั้นกว่าในการบัญชาการรบและการใช้ยุทธวิธีจู่โจม ตีตลบ โอบล้อม สกัดกั้นและบดขยี้กองทัพฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพ กองทัพออสเตรียที่เมืองอุล์มจึงถูกทำลายล้างอย่างสิ้นเชิงโดย กองทัพรัสเซียซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๘๐ กิโลเมตรไม่อาจช่วยอะไรได้นอกจากถอยไปตั้งมั่นอยู่ในเขตรัฐโมเรเวีย (Moravia)
     ความปราชัยที่เมืองอุล์มทำให้จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๓๕)* แห่งออสเตรียตัดสินพระทัยสละกรุงเวียนนาโดยไม่ทรงนำพาที่จะทำลายเสบียงอาหารและอาวุธยุทธปัจจัย ดังนั้น การยึดครองกรุงเวียนนาของกองทัพฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๐๕ จึงสร้างแรงกดดันให้กับปรัสเซียและรัสเซียเป็นอันมาก มีการเคลื่อนไหวที่แสดงว่าปรัสเซียจะเข้าร่วมสงครามสหพันธมิตรและรัสเซียจะรวบรวมกำลังพลเป็นกองทัพหลวงภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)* ส่วนออสเตรียเองแม้จะเผชิญชะตากรรมแต่ก็ยังมีกองทัพนอกเขตเมืองหลวงที่สามารถรวบรวมได้จำนวน ๘๕,๐๐๐ คนซึ่งพร้อมจะเข้าร่วมการรบครั้งใหม่ได้ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่งทรงบังคับบัญชากองทัพอยู่ที่ เมืองบรึนน์ (Brünn) ห่างจากกรุงเวียนนาไปทางเหนือประมาณ ๗๐ กิโลเมตร จึงตัดสินพระทัยบุกโจมตีเพื่อทำลายขวัญฝ่ายตรงข้ามและนำไปสู่ยุทธการที่เอาส์เทอร์ลิทซ์ (Battle of Austerlitz)* เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ ระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรียและรัสเซีย กองทัพฝ่ายพันธมิตรถูกทำลายอย่างย่อยยับ รัสเซียถอนตัวออกจากสงครามและออสเตรียขอสงบศึกโดยมีการลงนามในสนธิสัญญาเพรสบูร์ก (Treaty of Pressburg)* เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๕
     ในอิตาลีกองทัพออสเตรียถูกฝรั่งเศสขับไล่ออกจากอิตาลีตอนเหนือทั้งหมด จัก รพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงทรงจัดตั้งราชอาณาจักรอิตาลีขึ้นโดยพระองค์เป็นกษัตริย์มีอำนาจเหนือดินแดนดังกล่าวแทนที่ออสเตรียอังกฤษซึ่งรับผิดชอบการรบในอิตาลีตอนใต้ก็ถูกขับไล่ออกจากรัฐเนเปิลส์ (Naples) และต้องไปตั้งมั่นที่เกาะซิซิลี (Sicily) เปิดโอกาสให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงสถาปนาโจเซฟ (Joseph) พระเชษฐาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนเปิลส์

นอกจากนี้ ยังทรงยกราชรัฐแฮโนเวอร์ (Hanover) ที่กษัตริย์อังกฤษทรงปกครองให้แก่ปรัสเซียเพื่อให้ปรัสเซียเป็นกลางระหว่างสงคราม ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๖ ทรงเปลี่ยนสถานะสาธารณรัฐบาตาเวีย (Batavian Republic)ที่ยึดครองได้จากอังกฤษและสวีเดนเป็นราชอาณาจักรฮอลแลนด์และให้อยู่ภายใต้การปกครองของหลุยส์ โบนาปาร์ต (Louis Bonaparte) พระอนุชา
     การขยายอำนาจและอิทธิพลของฝรั่งเศสออกไปในดินแดนส่วนต่าง ๆ ของยุโรปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการรวมพันธมิตรอีกครั้งหนึ่งในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๐๖ ครั้งนี้มีปรัสเซียเป็นแกนนำร่วมกับรัสเซียอังกฤษ และสวีเดน สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔ (The Fourth Coalition) จึงเริ่มขึ้นและภายในเวลาเพียง ๓ สัปดาห์ระหว่างวันที่ ๒๘ กันยายน - ๑๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๖ กองทัพฝรั่งเศสมีชัยชนะเหนือกองทัพปรัสเซียอย่างง่ายดายในยุทธการที่เมืองเยนา (Battle of Jena)* ปรัสเซียสูญเสียทหารจำนวน ๒๕,๐๐๐ คน ปืนใหญ่ ๒๐๐ กระบอก และธงประจำกองทัพจำนวน ๓๐ ผืนขณะที่ฝรั่งเศสมีทหารเสียชีวิต ๕,๐๐๐ คน จากเยนาฝรั่งเศสประสบชัยชนะอย่างงดงามอีกครั้งที่เมืองเอาเออร์ชเตดท์ (Auerstädt) จากนั้นก็เดินทัพต่อจนสามารถยึดครองกรุงเบอร์ลินนครหลวงของปรัสเซียได้ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๖ กองทัพปรัสเซียซึ่งมีกำลังน้อยกว่าก็สู้รบอย่างกล้าหาญจนถึงนาทีสุดท้ายและปราชัยภายในระยะเวลาไม่ถึง ๑ เดือน กองกำลังเกือบทั้งหมดของปรัสเซียถูกกองทัพฝรั่งเศสบดขยี้ บางส่วนถอยไปตั้งมั่นอยู่ในอีสต์ปรัสเซียและโปแลนด์เพื่อคอยความช่วยเหลือจากรัสเซีย
     จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ยังทรงสร้างแรงกดดันให้กับฝ่ายพันธมิตรมากยิ่งขึ้น ทรงตระหนักดีว่าแม้อังกฤษจะไม่เข้าร่วมปฏิบัติการรบบนภาคพื้นทวีปยุโรปโดยตรง แต่ก็ได้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนสงครามบนภาคพื้นนั้นด้วยการส่งเงิน เสบียง และอาวุธยุทธปัจจัยให้กับประเทศพันธมิตร ขณะที่การปฏิบัติการรบของอังกฤษจะอยู่ในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและดินแดนโพ้นทะเล ดังนั้น เพื่อกำจัดบทบาทของอังกฤษ ในยุโรปและดินแดนโพ้นทะเลให้ได้มากที่สุดโดยไม่ต้องทำการรบ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงทรงเริ่มใช้ระบบภาคพื้นทวีป (Continental System)* ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาเบอร์ลิน (Berlin Decree) เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๐๖ ปิดล้อมอังกฤษทางเศรษฐกิจและปิดเมืองท่าทั้งหมดในยุโรปไม่ให้ติดต่อค้าขายกับอังกฤษ ทั้งยังห้ามเรืออังกฤษและเรือของชาติที่เป็นกลางซึ่งมาจากอังกฤษเข้าเทียบท่าในยุโรป จึงเกิดการตอบโต้ไปมาระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสด้วยการออกกฤษฎีกาอีกหลายฉบับในเวลาต่อมาโดยแต่ละฉบับจะทวีความเข้มงวดยิ่งขึ้นจนไม่มีประเทศใดในยุโรปทั้งที่เป็นพันธมิตรฝรั่งเศสและพันธมิตรอังกฤษยอมรับระบบนี้ได้
     ในเขตอีสต์ปรัสเซียและโปแลนด์ตั้งแต่เดือน มกราคม ค.ศ. ๑๘๐๗ โดยเฉพาะบริเวณรอบ ๆ เมืองเคอนิกส์แบร์ก (Königsberg) ซึ่งเป็นเมืองท่าและแหล่งเสบียงสำคัญของอีสต์ปรัสเซีย สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซียดำเนินไปอย่างดุเดือด ในยุทธการที่ไอเลา (Battle of Eylau) ฝรั่งเศสสามารถยึดพื้นที่ได้ แต่ทั้งฝรั่งเศสและรัสเซียก็ประสบกับความสูญเสียอย่างหนักจนต้องเรียกระดมครั้งใหญ่ ขณะนั้นฝรั่งเศสมีกำลังพลที่กระจัดกระจายในส่วนต่าง ๆ ของยุโรปประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้มีจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ คนที่พร้อมจะสนับสนุนกองทัพของนโปเลียนที่ ๑ แต่เพื่อไม่ ให้เสียโอกาสในการรบ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ได้ตัดสินพระทัยบุกโปแลนด์ด้วยกำลังพลเพียง ๑๐๐,๐๐๐ คน ยุทธการที่ฟรีดลันด์ (Friedland) ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๐๗ แสดงถึงความไม่พร้อมของกองทัพฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกแต่ด้วยพระอัจฉริยภาพของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงเปลี่ยนยุทธวิธีบุกโจมตีกองทัพรัสเซียด้วยกองกำลังปืนใหญ่และตามด้วยทหารราบอย่างรวดเร็วและกระชั้นชิดทำให้กองทัพรัสเซียซึ่งมีซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เป็นผู้นำต้องล่าถอยไปติดแม่น้ำเนมัน (Neman) รัสเซียส่งคณะทูตซึ่งมีเคานต์คาร์ล เนสเซลโรเด (Karl Nesselrode)* รวมอยู่ด้วยขอเจรจาสงบศึกที่เมืองทิลซิท การลงนามในสนธิสัญญาทิลซิท (Treaty of Tilsit)* ของรัสเซีย เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๗ จึงเป็นการประกาศชัยชนะอย่างงดงามของฝรั่งเศสเพราะรัสเซียต้องยอมรับเงื่อนไขเข้าร่วมในระบบภาคพื้นทวีปเพื่อต่อต้านอังกฤษส่วนปรัสเซียกลายเป็นประเทศบริวารของฝรั่งเศสทั้งสูญเสียดินแดนประมาณ ๑ ใน ๓ ของประเทศ ต้องเสียสิทธิในการปกครองดินแดนในโปแลนด์และดินแดนระหว่างแม่น้ำเอลเบ (Elbe) กับแม่น้ำไรน์ ทั้งยังถูกจำกัดกำลังพลให้มีอยู่ไม่เกิน ๔๒,๐๐๐ คน
     หลังสนธิสัญญาทิลซิท ฝรั่งเศสมีอำนาจในยุโรปจากเทือกเขาพิเรนีส (Pyranees) ทางตะวันตกไปจนจดเขตแดนรัสเซียทางตะวันออก และมีอังกฤษเพียง ประเทศเดียวที่ยังคงเป็นคู่สงครามกับฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ระบบภาคพื้นทวีปก็ทำให้ประเทศยุโรปอื่น ๆ ที่ถูกบีบบังคับให้เข้าร่วมโดยเฉพาะสเปนและโปรตุเกสได้ รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ หลายประเทศในภาคพื้นทวีปซึ่งบอบช้ำและเหนื่อยล้าจากสงครามก็ต้องการเวลาว่างศึกเพื่อฟื้นฟูบูรณะประเทศ ความไม่พอใจฝรั่งเศสของประเทศเหล่านี้จึงคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ส่วนฝรั่งเศสแม้จะชนะสงคราม แต่ก็เผชิญกับภาวะสูญเสียกำลังพลตลอดจนอาวุธยุทธปัจจัยเป็นอันมาก ในระยะหลัง กองทัพฝรั่งเศสขาดแคลนทหารอาชีพที่ได้รับการฝึกปรือจนเป็นที่ยอมรับแก่นานาประเทศว่ามีคุณภาพสูง ฝรั่งเศสต้องระดมพลจากต่างชาติโดยเฉพาะจากรัฐบริวารในอิตาลี เนเปิลส์ สมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine)* รวมทั้งจากมิตรประเทศด้วย กองทัพฝรั่งเศสจึงมีองค์ประกอบเป็นทหารรับจ้างและทหารเกณฑ์ที่เป็นต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ จิตวิญญาณและความน่าเกรงขามของกองทัพฝรั่งเศสจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๗-๑๘๐๙ ฝรั่งเศสเผชิญกับสงครามรูปแบบใหม่ในคาบสมุทรไอบีเรีย แม้สเปนจะถูกบังคับให้เป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๙๖ และโปรตุเกสต้องดำรงความเป็นกลางตลอดสงครามแต่ทั้ง ๒ ประเทศซึ่งใกล้ชิดกับอังกฤษได้ลอบค้าขายกับอังกฤษอย่างลับ ๆ มาโดยตลอด จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงส่งกองทัพเข้ายึดกรุงมาดริด (Madrid) เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๐๗ และทรงบังคับให้กษัตริย์สเปนสละราชสมบัติ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๘ ทรงสถาปนาพระเจ้าโจเซฟแห่งเนเปิลส์พระเชษฐาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งสเปน และทรงให้จอมพล โชอาคิม มูรา (Joachim Murat)* พระสวามีในเจ้าหญิงแคโรลีน (Caroline) พระขนิษฐาองค์เล็กให้ครองราชบัลลังก์ เนเปิลส์การเปลี่ยนราชวงศ์และการยึดครองอำนาจในสเปนของฝรั่งเศสได้สร้างความไม่พอใจอย่างใหญ่หลวงให้แก่ชาวสเปน จึงเกิดกองกำลังต่อต้านขึ้นทั่วไป เปิดโอกาสให้อังกฤษเข้าแทรกแซงโดยใช้โปรตุเกสเป็นฐานกำลังในการช่วยเหลือกองกำลังต่อต้านซึ่งใช้ยุทธวิธีแบบกองโจรทำให้ยากแก่การปราบปราม แม้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จะเสด็จมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เองระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๘ พร้อมกำลังพลกว่า ๓๐๐,๐๐๐ คนก็ไม่อาจเอาชนะกองกำลังของสเปนและไม่อาจขับไล่อังกฤษออกจากโปรตุเกสได้จึงปล่อยหน้าที่การปราบปรามไว้เป็นภาระของพระเจ้าโจเซฟ
     ข่าวความปราชัยของกองทัพฝรั่งเศสในสงครามกับสเปนได้สร้างขวัญและกำลังใจให้กับออสเตรีย ในวันที่ ๑๐ เมษายน ออสเตรียจึงตัดสินใจทำสงครามกับฝรั่งเศสโดยไม่มีพันธมิตร มีการรบหลายครั้งโดยรอบเมืองแรทิสบอน (Ratisbon) ริมฝั่งแม่น้ำดานูบโดยออสเตรียเป็นฝ่ายปราชัย แต่ในการรบอีกหลายครั้งในเขตอาสเพิร์นเอสลิง (Aspern Essling) ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ พฤษภาคม แม้ออสเตรียจะมีชัยชนะอย่าง งดงามแต่ก็ไม่อาจสยบจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่งบุกเข้ายึดครองกรุงเวียนนาได้ยุทธการที่วากราม (Battle of Wagram)* ระหว่างวันที่ ๕-๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๙ นำชัยชนะอย่างเด็ดขาดให้แก่ฝรั่งเศสและออสเตรียต้องยอมรับความพ่ายแพ้อย่างเป็นทางการ ในสนธิสัญญาสันติภาพเชินบรุนน์ (Peace of Schöbrunn) เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๙ ออสเตรียสูญเสียเมืองซัลส์บูร์ก (Salzburg) ให้กับบาวาเรีย มณฑลอิลลิเรีย (Illyrian Provinces) ให้ฝรั่งเศส ส่วนหนึ่งของกาลิเซีย (Galicia) ให้กับราชรัฐวอร์ซอ (Grand Duchy of Warsaw) และรัสเซีย อีกทั้งต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามและถูกจำกัดกำลังทหารเหลือเพียง ๑๕๐,๐๐๐ คน
     ในช่วงเวลาที่ออสเตรียสู้รบอย่างโดดเดี่ยวกับฝรั่งเศส อังกฤษได้รวมกลุ่มพันธมิตรกับโปรตุเกสและกองกำลังต่อต้านฝรั่งเศสในสเปนในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๐๙ โดยส่งเซอร์อาเทอร์ เวลส์ลีย์ [(Arthur Wellesley) ต่อมา คือ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน (Duke of Wellington)*] วีรบุรุษสงครามในอินเดียเป็นผู้บัญชาการรบในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕ (The Fifth Coalition) สงครามคาบสมุทรไอบีเรียระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๑๓ เป็นสงครามที่สร้างความเจ็บปวดให้กับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เพราะยุทธวิธีที่ฝ่ายพันธมิตรใช้เป็นแบบกองโจร มีปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วประเทศไม่มีการรบเป็นรูปแบบ แต่มีการส่งกำลังบำรุงอย่างเต็มที่และไม่ขาดสาย เนื่องจากเส้นทางลำเลียงจากคาบสมุทรออกสู่ทะเลและจากเกาะอังกฤษเป็นระยะทางสั้นทั้งยังมีกองทัพเรืออังกฤษหนุนอยู่ไม่ห่าง ตรงข้ามกับฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งมีกองกำลังอยู่ท่ามกลางศัตรูทั้งการส่งกำลังบำรุงก็กินระยะทางยาวไกลกว่าฝ่ายพันธมิตรยุทธวิธีรบแบบต้องอาศัยสมรภูมิเต็มรูปแบบจึงใช้ไม่ได้กับการรบในสเปน การสู้รบระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสทำกันเต็มรูปแบบเฉพาะเมื่อมีการช่วงชิงพื้นที่กลับมาเป็นของสเปน ซึ่งฝ่ายอังกฤษก็ได้ชัยชนะรวมทั้งสามารถยึดกรุงมาดริดคืนให้แก่สเปนได้ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๑๒ กษัตริย์โจเซฟต้องถอยทัพไปทางตะวันออกเฉียง เหนือสู่ชายแดนฝรั่งเศส แม้กองทัพฝรั่งเศสจะต่อสู้จนสุดความสามารถระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๒-๑๘๑๓ ก็ไม่อาจรักษาพื้นที่ในสเปนไว้ได้ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ ดุ๊กแห่งเวลลิงตันได้นำกองทัพพันธมิตรบุกผ่านพรมแดนเข้าสู่ฝรั่งเศสใต้และยึดครองเมืองตูลูส (Toulouse) ในวันที่ ๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๘๑๔ สงครามคาบสมุทรยุติลงด้วยความปราชัยอย่างย่อยยับของฝรั่งเศส
     คาบสมุทรไอบีเรียไม่ได้เป็นหนามยอกอกและจุดอ่อนของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น รัสเซียก็เช่นเดียวกัน นับตั้งแต่การลงนามในสนธิสัญญาทิลซิทใน ค.ศ. ๑๘๐๗ เป็นต้นมา รัสเซียได้แสดงท่าทีไม่เต็มใจที่จะเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส เพราะไม่ไววางใจจุดมุ่งหมายแท้จริงของฝรั่งเศสที่เกี่ยวกับโปแลนด์ คาบสมุทรบอลข่าน และรัฐเยอรมัน ทั้งยังไม่เห็นชอบกับระบบภาคพื้นทวีปที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของรัสเซีย ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๑๐ ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ จึงทรงประกาศยุติการเข้าร่วมระบบดังกล่าว และเข้าเป็นพันธมิตรกับสวีเดนและจักรวรรดิออตโตมัน ใน ค.ศ. ๑๘๑๑ รัสเซียและฝรั่งเศสจึงต่างเตรียมการทำสงครามโดยรัสเซียได้สร้างกลุ่มพันธมิตรขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๑ ด้วยการรวมสหพันธมิตรครั้งที่ ๖ (The Sixth Coalition) ซึ่งในชั้นแรกมีเพียงรัสเซีย สวีเดน และจักรวรรดิออตโตมัน แต่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๓-๑๘๑๔ ก็มีปรัสเซีย ออสเตรียอังกฤษและอีกหลายประเทศเข้าร่วม
     ฝรั่งเศสประกาศสงครามกับรัสเซียในวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๒ พร้อมกับยกกองทัพบุกข้ามแม่น้ำเนมันเข้าไปในเขตแดนรัสเซียโดยมีกองทัพหนุนเรียงรายเป็นระยะถึงกรุงวอร์ซอ (Warsaw) นครหลวงของโปแลนด์ กองทัพฝรั่งเศสเคลื่อนกำลังไปตามเส้นทางสู่เข้านครมอสโก (Moscow) เป็นระยะทางเกือบ ๙๐๐ กิโลเมตร และปะทะกับกองทัพรัสเซียเป็นระยะ ๆ การสู้รบแต่ละครั้งก็เป็นไปอย่างดุเดือดโดยมีทหารบาดเจ็บหลายหมื่นคน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ค.ศ. ๑๘๑๒ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ พร้อมกองทัพหลวงที่มีทหารเหลืออยู่ ๙๕,๐๐๐ คนก็ยึดนครมอสโกไว้ได้ แต่ก็พบเมืองที่ถูกทำลายและมีแต่ความว่างเปล่าปราศจากการต่อต้าน นับเป็นชัยชนะที่ไม่อาจทำลายกองทัพรัสเซียให้สิ้นไปเพื่อนำไปสู่ชัยชนะที่แท้จริงได้ ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงตัดสินพระทัยถอนทัพออกจากมอสโก การเดินทางกลับเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะขาดเสบียงอาหารทั้งอากาศก็ทวีความหนาวเหน็บซ้ำเติมความบอบช้ำของทหาร อีกทั้งกองทัพรัสเซียยังลอบจู่โจมเป็นระยะ ๆ นับเป็นการสูญเสียมากที่สุดในประวัติการรบของพระองค์จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เสด็จกลับถึงกรุงปารีสเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๑๒ โดยยังมีกองทัพฝรั่งเศสที่ เหลืออยู่จำนวนหนึ่งทำการรบต่อไป
     ขณะที่กองทัพฝรั่งเศสถอยทัพออกจากรัสเซียปรัสเซียก็เตรียมการยึดคืนกรุงเบอร์ลินและส่งพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๓ ไปประทับที่แคว้นไซลีเชีย (Silesia) แล้วเตรียมการผูกมิตรกับรัฐเยอรมัน รวมทั้งขอให้ออสเตรียเป็นกลางทางทหาร ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๑๓ ปรัสเซียลงนามร่วมรบกับรัสเซียเพื่อต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศสในสงครามที่ปรัสเซียถือว่าเป็น "สงครามปลดปล่อย" (War of Liberation) ของรัฐเยอรมัน ในวันที่ ๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ กองทัพรัสเซียเคลื่อนกำลังจำนวนหนึ่งเข้าคุ้มครองกรุงเบอร์ลิน และในวันที่ ๑๗ มีนาคม ปรัสเซียและรัสเซียประกาศสงครามกับฝรั่งเศสโดยคาดหวังว่าสงครามครั้งนี้จะพลิกชะตากรรมของชนชาติเยอรมันและยุโรปโดยรวม การประลองกำลังของทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นไปอย่างดุเดือดต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๓ ออสเตรียประกาศเข้าร่วมกับปรัสเซีย รัสเซีย และสวีเดน ทำให้ฝ่ายพันธมิตรมีกำลังพลเหนือกว่าประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ ต่อ ๖๐๐,๐๐๐ คน ในยุทธการที่ไลพ์ซิก (Battle of Liepzig) ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ ซึ่งเป็นยุทธการที่ใหญ่ยิ่งที่สุดในสงครามนโปเลียน มีการสู้รบที่ นองเลือดเกิดขึ้นหลายครั้งรอบ ๆ เมืองไลพ์ซิกโดยไม่มีฝ่ายใดประสบชัยชนะ เมื่อไม่เห็นทางจะได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ตัดสินพระทัยถอยทัพ แม้จะถูกโจมตีเป็นระยะ แต่พระองค์ก็ทรงสามารถข้ามแม่น้ำไรน์กลับฝรั่งเศสได้ในปลายเดือนตุลาคมโดยมีทหารติดตามพระองค์เหลืออยู่เพียง ๗๐,๐๐๐ คน อีก ๔๐,๐๐๐ คนถอยอย่างไม่เป็นกระบวนตามมา ขณะที่ ๙๐,๐๐๐ คนอยู่ประจำการอยู่ตามฐานที่ตั้งในเขตลุ่มน้ำไรน์และอีกประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน ทำสงครามกับอังกฤษอยู่ในฝรั่งเศสตอนใต้ ฝ่ายพันธมิตรซึ่งได้รับความเสียหายมากระหว่างการรบตัดสินใจไม่ไล่ล่ากองทัพฝรั่งเศส แม้รัสเซีย ปรัสเซีย และอังกฤษเห็นพ้องที่จะต้องเผด็จศึกฝรั่งเศสเป็นการเด็ดขาด แต่ออสเตรียและสวีเดนกลับเห็นควรให้มีการเจรจายุติสงครามโดยมีเงื่อนไข แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะเจรจาตกลง ฝ่ายพันธมิตรจึงบุกฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๑๓
     สงครามปกป้องฝรั่งเศสในฤดูหนาว ค.ศ. ๑๘๑๓-๑๘๑๔ แสดงถึงความเสียเปรียบของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ตั้งแต่แรก พระองค์ทรงมุ่งหวังระดมพลให้ได้ ๙๖๓,๐๐๐ คนจากทุกภาคส่วนแต่ทรงรวบรวมพลได้เพียง ๑๑๐,๐๐๐ คน ทั้งยังมีเด็กอายุ ๑๖ ปีจำนวนหนึ่งและมีคนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะหนีทัพ กองทัพจึงอ่อนแอและขาดจิตวิญญาณจะสู้รบอย่างจริงจัง ส่วนกองทัพต่างชาติในกลุ่มประเทศบริวารหรือพันธมิตรก็ตีจากกันหมด อย่างไรก็ดี การเป็นเจ้าของพื้นที่และพระอัจฉริยภาพส่วนพระองค์ในการวางแผนการรบและการล่อหลอกฝ่ายตรงข้าม ก็ทำให้กองทัพฝรั่งเศสยังสามารถต้านทานและบางครั้งตอบโต้การบุกของกองทัพพันธมิตรซึ่งเข้ามาหลายเส้นทาง การรบในฝรั่งเศสจึงประกาศความยิ่งใหญ่และความเชี่ยวชาญการรบของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ อีกครั้ง แต่ความเสียเปรียบด้านกำลังพลทำให้แม่ทัพนายกองที่เคยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระองค์เริ่มตีตนออกห่างและท้ายสุดก็ก่อการกบฏขึ้นในกองทัพ

รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของชาร์ล โมรีซ เดอ ตาลเลรอง (Charles Maurice de Talleyrand)* รัฐมนตรีต่างประเทศจึงจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในวันที่ ๓ เมษายน ค.ศ. ๑๘๑๔ โดยมีคณะแม่ทัพนายกองให้การสนับสนุน จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ในวันที่ ๖ เมษายน และถูกส่งไปอยู่เกาะ เอลบา (Elba)
     ประเทศพันธมิตรยอมให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ดำรงพระอิสริยยศเป็นจักรพรรดิแห่งเกาะเอลบา มีทหารราชองครักษ์ประจำการจำนวน ๗๐๐ คน มีงบประมาณส่วนพระองค์ซึ่งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๒๔)* แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* จะจ่ายให้เป็นรายปี ๆ ละ ๒ ล้านฟรังก์ ขณะที่การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* กำลังหารือเกี่ยวกับสันติภาพของยุโรปหลังสงครามนโปเลียน แต่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ได้ลอบเดินทางจากเกาะเอลบาในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๑๕ พร้อมทหารจำนวน ๑,๑๐๐ คน ปืน ๔ กระบอก หลบเลี่ยงเรือลาดตระเวนของอังกฤษมาขึ้นบกที่ ชายฝั่งใกล้กับเมืองกานส์ (Cannes) และเดินเท้ามุ่งสู่กรุงปารีสซึ่งนำไปสู่ช่วงสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* ของการครองอำนาจ ตลอดเส้นทางมีประชาชนและทหารเข้าสมทบกองกำลังของพระองค์ซึ่งรวมทั้งนายพลมีเชล เน (Michel Ney)* ที่ถูกส่งมาจับกุมนโปเลียนด้วย และเมื่อเสด็จถึงกรุงปารีสในวันที่ ๒๐ มีนาคม ก็ได้รับการโห่ร้องต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวปารีส ประเทศพันธมิตรซึ่งกำลังประชุมอยู่ที่กรุงเวียนนาจึงประกาศให้พระองค์เป็นบุคคลนอกกฎหมายของนานาประเทศเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม และในวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๕ ก็มีการรวมกลุ่มพันธมิตรครั้งใหญ่เพื่อทำสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๗ (The Seventh Coalition) โดยออสเตรีย ปรัสเซีย รัสเซีย และอังกฤษจะส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบประเทศละ ๑๕๐,๐๐๐ คน รัฐเล็กอื่น ๆ ประเทศละ ๑๐๐,๐๐๐ คน ขณะที่จักรพรรดินโปเลียนมีทหารประจำการอยู่ขณะนั้นจำนวน ๒๒๔,๐๐๐ คน แต่พร้อมจะทำการรบได้เพียง ๕๐,๐๐๐ คน พระองค์ จึงต้องเรียกระดมพลจากทหารผ่านศึกที่เคยร่วมรบในสมรภูมิ ค.ศ. ๑๘๑๓-๑๘๑๔ ได้เพิ่มเติมอีก ๑๒๐,๐๐๐ คน
     จักรพรรดินโปเลียนไม่ทรงรอให้มีการประกาศสงคราม ด้วยความช่ำชองการรบแบบเคลื่อนที่เร็วในการบุกจู่โจมและตัดกำลังของฝ่ายตรงข้ามก่อนที่จะตั้งตัวได้ ภายใน ๒ สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ก็ทรงเคลื่อนทัพข้ามพรมแดนเบลเยียมเพื่อสลายกำลังของอังกฤษและปรัสเซีย ยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)* เริ่มขึ้นในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ภายใน ๓ วันมีการรบสำคัญเกิดขึ้น ๓ ครั้ง โดย ๒ ครั้งเกิดขึ้นในวันแรกที่ตำบลลีญี (Ligny) และกาตร์บรา (Quatre Bras) และการรบครั้งสำคัญที่สุดเกิดขึ้นที่ตำบลวอเตอร์ลูในวันที่ ๑๘ มิถุนายน การรบในวันแรกนโปเลียนประสบความสำเร็จในการสะกัดกั้นกองทัพอังกฤษภายใต้การนำของดุ๊กแห่งเวลลิงตันไม่ให้ประสานการรบกับกองทัพปรัสเซียภายใต้การนำของจอมพล เกบฮาร์ด เลบเรชท์ ฟอน บลือเชอร์ (Gebhard Lebrecht von Blücher)* นับเป็นชัยชนะครั้งแรกและครั้งเดียวของพระองค์ เพราะหลังจากนั้นกองทัพอังกฤษและปรัสเซียก็สามารถร่วมกันปฏิบัติการรบโดยเฉพาะการรบในวันที่ ๑๘ มิถุนายนที่ ตำบลวอเตอร์ลู ฝ่ายพันธมิตรประสบชัยชนะอย่างงดงาม ดุ๊กแห่งเวลลิงตันในฐานะผู้นำปฏิบัติการรบร่วมในเบลเยียมได้กลายเป็นวีรบุรุษชั่วข้ามคืน จักรพรรดินโปเลียนต้องยอมรับความพ่ายแพ้และถอยทัพกลับปารีส แม้จะมีผู้นำกองทัพจำนวนหนึ่งสนับสนุนให้พระองค์ทำการรบต่อไป แต่เมื่อมองไม่เห็นชัยชนะอยู่เบื้องหน้า พระองค์จึงทรงสละราชบัลลังก์เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ นับเป็นการสิ้นสุดของสงครามนโปเลียนที่ดำเนินมากว่า ๑๐ ปีพร้อมกับการยุติบทบาทของจักรพรรดินโปเลียนในเวทีการเมืองยุโรป พระองค์ทรงถูกส่งตัวไปควบคุมที่เกาะเซนต์เฮเลนา (St. Helana) จนสวรรคตใน ค.ศ. ๑๘๒๑.



คำตั้ง
Napoleonic Wars
คำเทียบ
สงครามนโปเลียน
คำสำคัญ
- ฝรั่งเศสที่ ๑, จักรวรรดิ
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๗
- ยุทธการที่วอเตอร์ลู
- เวลลิงตัน, ดุ๊กแห่ง
- เวลส์ลีย์, เซอร์อาร์เทอร์
- แรทิสบอน, เมือง
- วอร์ซอ, ราชรัฐ
- ยุทธการที่เมืองวากราม
- ตูลูส, เมือง
- ซัลส์บูร์ก, เมือง
- เอลเบ, แม่น้ำ
- สมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์
- สนธิสัญญาทิลซิท
- ยุทธการที่ไอเลา
- ยุทธการที่ฟรีดลันด์
- พิเรนีส, เทือกเขา
- มูรา, โชอากีม
- เนมัน, แม่น้ำ
- เนสเซลโรเด, เคานต์คาร์ล โรเบียร์ต
- บลือเชอร์, เกบฮาร์ด เลบเรชท์ ฟอน
- แฮโนเวอร์, ราชรัฐ
- แคโรลีน, เจ้าหญิง
- เอาเออร์ชเตดท์, เมือง
- เคอนิกส์แบร์ก, เมือง
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔
- หลุยส์ โบนาปาร์ต
- ระบบภาคพื้นทวีป
- ยุทธการที่เมืองเยนา
- อุล์ม, เมือง
- พระราชกฤษฎีกาเบอร์ลิน
- สนธิสัญญาเพรสบูร์ก
- บาตาเวีย, สาธารณรัฐ
- สวาเบีย, รัฐ
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑, ซาร์
- โมเรเวีย, รัฐ
- ยุทธการที่เอาส์เทอร์ลิทซ์
- ซิซิลี, เกาะ
- บรึนน์, เมือง
- เมน, แม่น้ำ
- ฟรานซิสที่ ๑, จักรพรรดิ
- เนเปิลส์, รัฐ
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓
- เอเดรียติก, ทะเล
- ยุทธนาวีที่ทราฟัลการ์
- บอลติก, ทะเล
- เนลสัน, ไวส์เคานต์ฮอเรชีโอ
- โนเตรอดาม, มหาวิหาร
- สนธิสัญญาอาเมียง
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- การเกณฑ์ทหาร
- สนธิสัญญากัมโปฟอร์มีโอ
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๒
- ระบบกงสุล
- รัฐประหารเดือนบูร์แมร์
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๑
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส
- สงครามนโปเลียน
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕
- อาสเพิร์นเอสลิง, เขต
- สนธิสัญญาสันติภาพเชินบรุนน์
- อิลลิเรีย, มณฑล
- ไซลีเซีย, แคว้น
- การรวมสหพันธมิตรครั้งที่ ๖
- ยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก
- วอร์ซอ, กรุง
- สงครามปลดปล่อย
- กานส์, เมือง
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- เน, มีเชล
- บูร์บง, ราชวงศ์
- ตาลเลรอง, ชาร์ล โมรีซ เดอ
- สมัยร้อยวัน
- หลุยส์ที่ ๑๘, พระเจ้า
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- เอลบา, เกาะ
- เซนต์เฮเลนา, เกาะ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1804-1815
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๔๗-๒๓๕๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf