Mussolini, Benito Amilcare Andrea (1883-1945)

นายเบนีโต อามิลกาเร อันเดรอา มุสโสลีนี (๒๔๒๖-๒๔๘๘)

​​​​

     เบนีโต อามิลกาเร อันเดรอา มุสโสลีนีเป็นนายกรัฐมนตรีและผู้นำ (ll Duce) ของราชอาณาจักรอิตาลีระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ หลังจากมีรัฐบาลทหารเข้ามาทำหน้าที่แทนระยะหนึ่งและมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เป็นระบอบสาธารณรัฐระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* มุสโสลีนีก็ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำอีกครั้งหนึ่งโดยเป็นผู้นำของสาธารณรัฐสังคมอิตาลี (Italian Social Republic) ระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๓ ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ เขาเป็นผู้ให้กำเนิดลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* และตลอดระยะเวลาของการครองอำนาจก็ทำให้อิตาลีตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการฟาสซิสต์อย่างเข้มงวด มุสโสลีนียังร่วมมือกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* แห่งเยอรมนีในการแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของลัทธิฟาสซิสต์ระหว่างสงครามโลก ในปลายสงครามมุสโสลีนีถูกลอบสังหารจนเสียชีวิตระหว่างเดินทางหนีออกนอกประเทศมุ่งสู่ออสเตรียซึ่งอยู่ใต้การยึดครองของเยอรมนี
     มุสโสลีนีเกิดเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๘๓ ที่เมืองโดวีอาดีเปรดัปปีโอ (Dovia di Predappio) ในจังหวัดฟอร์ลี (Forli) แคว้นเอมีลยา-โรมาญญา (Emilia-Romagna) ในครอบครัวยากจน บิดาเป็นช่างตีเหล็กชื่ออาเลสซานโดร (Alessandro) มารดาเป็นครูชื่อโรซา (Rosa) มีพี่สาว ๑ คนและน้องชาย ๑ คน เนื่องจากบิดามีรายได้ไม่แน่นอนแต่ชอบสังสรรค์ในโรงเหล้า ติดผู้หญิงและใช้เวลาอยู่นอกบ้านถกเถียงปัญหาการเมือง มุสโสลีนีจึงเติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้าง อัตคัด บ่อยครั้งต้องอดมื้อกินมื้อและต่อสู้เพื่อการอยู่รอดแต่อาศัยที่มารดาเป็นครู ลูกทุกคนจึงได้รับการเอาใจใส่ให้เรียนหนังสือและรักการเขียนการอ่าน มุสโสลีนีเป็นเด็กก้าวร้าว หัวดื้อและไม่ยอมใคร เขามักมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนนักเรียนและครูอยู่เสมอจนมารดาต้องนำเขาไปฝากเข้าโรงเรียนประจำคาทอลิกซึ่งมีระเบียบวินัยเข้มงวดตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ เมื่ออายุได้ ๑๑ ขวบเขาก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียนโทษฐานทำร้ายครูและแทงเพื่อนนักเรียน ชีวิตการเรียนของมุสโสลีนีจึงลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่เขาก็เป็นเด็กเรียนดีและจบชั้นมัธยมใน ค.ศ. ๑๙๐๑ ทำให้เขามีคุณสมบัติเป็นครูประถมได้ มุสโสลีนีจึงเริ่มอาชีพแรกด้วยการเป็นครูแต่ก็พบว่าไม่ถูกอัธยาศัยเขานัก
     เนื่องจากมุสโสลีนีและพี่น้องทุกคนชอบการอ่านและฝักใฝ่ลัทธิสังคมนิยมตามบิดามารดา จึงสนใจเป็นพิเศษกับการอ่านงานเขียนแนวสังคมนิยม ครอบครัวของเขาเป็นสมาชิกขบวนการสังคมนิยมสากล (International Socialism) ของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* และ ฟรีดริช เองเงิลส์ (Friedrich Engels)* และต่อต้านสงครามอย่างรุนแรง เมื่ออายุครบเกณฑ์ทหารใน ค.ศ. ๑๙๐๒ มุสโสลีนีจึงหนีไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเงินติดกระเป๋า นอกจากเหรียญคาร์ล มากซ์เหรียญเดียว เขาจึงใช้ชีวิตในระยะแรกเร่ร่อนไม่มีหลักแหล่งแน่นอน บางครั้งก็ถูกจับกุมและเมื่อปรากฏว่าเขาเข้าร่วมในขบวนการสังคมนิยมจึงถูกทางการสวิสส่งตัวกลับอิตาลี อย่างไรก็ดี ภายในเวลาไม่นานเขาก็สามารถเดินทางกลับเข้าสวิตเซอร์แลนด์ได้อีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสวิสสายสังคมนิยมให้อยู่ในประเทศได้อย่างเป็นสุขพอควรมุสโสลีนีใช้เวลาในช่วงนี้เข้าร่วมขบวนการสังคมนิยมอย่างจริงจัง จากการเป็นนักอ่านตัวยงทำให้เขาคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับงานเขียนของอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) เบเนดิกต์ สปิโนซา (Benedict Spinoza) ปีเตอร์ โครพอตคิน (Peter Kropotkin) ฟรีดริช นีทซ์เชอ (Friedrich Nietzsche) จี. ดับเบิลยู. เอฟ. เฮเกล (G. W. F. Hegel) และชอช ซอแรล (Georges Sorel) เป็นต้น เขาได้เริ่มชีวิตทางการเมืองด้วยการเป็นนักหนังสือพิมพ์สายการเมือง เป็นนักปลุกระดมที่มีลีลาเร้าใจ เป็นนักเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ทุกครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มุสโสลีนีมักเรียกร้องให้ใช้วิธีการรุนแรงในการต่อสู้ เขาจึงถูกจับกุมและคุมขังหลายครั้ง แต่ก็ทำให้เขามีชื่อเสียงโดดเด่นขึ้นในหมู่นักสังคมนิยมรุ่นหนุ่ม เมื่อเดินทางกลับประเทศอิตาลีใน ค.ศ. ๑๙๐๔ ชื่อของมุสโสลีนีจึงปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ชีวิตกลับเงียบเหงา เพราะเขาย้ายไปอยู่เมืองเล็ก ๆ ในแคว้นเวนิสทางตอนเหนือและใช้ชีวิตช่วงหนึ่งเป็นครู ซึ่งต่อมาเขาเห็นว่าเป็นช่วงชีวิตที่สูญเปล่า
     ใน ค.ศ. ๑๙๐๙ มุสโสลีนีหวนกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองเตรนโต (Trento) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อยู่ภายใต้การยึดครองของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* แต่ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายอิตาลี เขาได้พบรักและแต่งงานกับราเชล กวีดี (Rachele Guidi) สาวน้อยวัย ๑๖ ปีซึ่งเป็นลูกสาวของอดีตชู้รักของบิดามุสโสลีนีทำงานหนังสือพิมพ์ด้วยการช่วยงานในสำนักงานและงานบรรณาธิการให้กับหนังสือพิมพ์ Future of the Worker ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักกับเซซาเร บัตติสตี (Cesare Battisti) นักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ II Popolo (The People) และต่อมาเมื่อเขากลับมาอยู่จังหวัดฟอร์ลีก็ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เขาได้เริ่มเขียนนวนิยายเสียดสีสังคมเป็นตอน ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมากจนต่อมามีการแปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ The Cardinal’s Mistress ด้วยลีลาการเขียนที่ห้าวหาญและเร้าอารมณ์ทำให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นงานท้าทายสถาบันศาสนาโดยตรง มีผลทำให้มุสโสลีนีถูกเนรเทศออกนอกประเทศ
     เมื่อมุสโสลีนีกลับเข้าประเทศอีกครั้งหนึ่ง เขาก่อตั้งหนังสือพิมพ์ชื่อ La Lotta di Classe (The Class Struggle) ซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยมในระยะเวลาอันรวดเร็ว จนใน ค.ศ. ๑๙๑๒ เขาได้รับเชิญให้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทางการของพรรคสังคมนิยมอิตาลี คือ Avanti (Forward) มุสโสลีนีประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะจำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทำให้หนังสือพิมพ์อยู่ในชั้นแนวหน้าในฐานะเป็นกระบอกเสียงต่อต้านอำนาจทหารอำนาจจักรวรรดินิยม และอำนาจชาตินิยมหัวรุนแรงเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ มุสโสลีนีคัดค้านการเข้าร่วมสงครามของอิตาลีในฐานะสมาชิกของกลุ่มสนธิสัญญาพันธมิตรไตรภาคี (Triple Alliances)*
     อย่างไรก็ดี สงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้กลายเป็นจุดหักเหครั้งใหญ่ในชีวิตของมุสโสลีนี เขาลาออกจากการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Avanti และแสดงจุดยืนใหม่ในงานเขียนและสุนทรพจน์ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ โดยสนับสนุนการเข้าร่วมสงครามและแนวทางการสร้างชาติอิตาลีให้ยิ่งใหญ่และมีศักดิ์ศรี เขาจึงถูกขับออกจากพรรคสังคมนิยมหลังจากนั้นเพียง ๒ สัปดาห์เขาก็เดินทางไปมิลานเพื่อร่วมงานกับกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาซึ่งจะมีชื่อเรียกในภายหลังว่ากลุ่มสันนิบาตอิตาลีเพื่อการต่อสู้ (Fasci Italiani di Combattimento - Italian Fighting League) พร้อมกันนั้น มุสโสลีนียังได้รับแรงสนับสนุนให้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ชื่อ II Popolo d’Italia (The People of Italy) ซึ่งทำหน้าที่เป็นแนวหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าร่วมสงครามโดยเป็นฝ่ายเดียวกับกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* ต่อต้านออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนี ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ รัฐบาลอิตาลีประกาศเข้าร่วมสงครามเป็นฝ่ายเดียวกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียมุสโสลีนีได้สมัครเข้าเป็นทหารร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปีเดียวกันนั้นเอง
     หลังจากถูกปลดประจำการในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ เพราะได้รับบาดเจ็บ มุสโสลีนีกลับมาอยู่มิลานด้วยความเชื่อมั่นยิ่งกว่าเดิมว่าจะต้องมีโอกาสที่อิตาลีได้รับการกอบกู้ให้ยิ่งใหญ่และมีศักดิ์ศรีกว่าที่เป็นอยู่ คำตอบจึงอยู่ที่แนวทางชาตินิยมและอำนาจนิยมมุสโสลีนีใช้เวลาในระยะแรกเดินสายกล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องความสนใจของคนให้สนับสนุนแนวความคิดของเขาและการเข้าร่วมกลุ่มการเมืองซึ่งนำไปสู่แนวคิดตามอุดมการณ์ของลัทธิฟาสซิสต์และการจัดตั้งสันนิบาตอิตาลีเพื่อการต่อสู้ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ มีสมาชิกเริ่มแรก ๒๐๐ คน ในเวลา ๒ ปีก็ขยายจำนวนอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นพรรคฟาสซิสต์แห่งชาติ (National Fascist Party) มีสมาชิกทั่วประเทศ มีเงินทุนสนับสนุนมีกองกำลังติดอาวุธเรียกว่ากองกำลังเชิร์ตดำ (Black- shirt) เป็นเขี้ยวเล็บทำหน้าที่กวาดล้างศัตรูของพรรคและมีหนังสือพิมพ์ II Popolo d’Italia เป็นกระบอกเสียงของพรรค
     ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๒๑ พรรคฟาสซิสต์ได้รับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๒๓ คนรวมทั้งมุสโสลีนีในฐานะหัวหน้าพรรคด้วย ซึ่งนับเป็นชัยชนะขั้นต้นในการก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมืองของพรรค ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๒๒ เกิดวิกฤติด้านแรงงานที่รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาการขู่หยุดงานของสหภาพแรงงานทั่วประเทศ และมีการขู่ที่จะเดินขบวนของแรงงานกลุ่มฟาสซิสต์จากทุกส่วนของประเทศเข้าสู่กรุงโรม (March on Rome) ในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ซึ่งพรรคฟาสซิสต์ได้ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไข หากทำไม่ได้พรรคฟาสซิสต์ก็จะเป็นผู้ดำเนินการเอง แม้พรรคฟาสซิสต์จะมีผู้แทนจำนวนน้อย แต่พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emmanuel III ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๔๖)* ทรงตัดสินพระทัยเชิญมุสโสลีนีเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ และในวันที่ ๓๑ ตุลาคมด้วยวัย ๓๙ ปีเขาก็ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อิตาลี การเดินทางสู่กรุงโรมจึงเปลี่ยนจากการเข้ามาประท้วงเป็นการฉลองชัยชนะให้แก่พรรคฟาสซิสต์มุสโสลีนีได้เดินทางโดยรถไฟจากมิลานสู่กรุงโรมเพื่อเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารประเทศชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยคนนอกพรรคเป็นส่วนใหญ่เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และขณะเดียวกันก็ให้โอกาสพรรคฟาสซิสต์สถาปนาอำนาจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เขาใช้เวลาประมาณ ๑ ปีเศษเป็นมิตรกับกลุ่มหนังสือพิมพ์ สหภาพแรงงาน และพรรคการเมืองต่าง ๆ จนสามารถผ่านกฎหมายสำคัญที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคฟาสซิสต์ จากนั้นก็ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๔
     ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคฟาสซิสต์ได้เสียงข้างมากในสภาอย่างล้นหลาม และการเลือกตั้งก็ได้รับการกล่าวขานว่าสกปรกและมีการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองในทุกรูปแบบ แต่ที่กระทบความรู้สึกของคนมากที่สุด คือ การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของ จาโกโม มัตเตออตตี (Giacomo Matteotti)* รองหัวหน้าพรรคสังคมนิยมที่ต่อต้านการกระทำของพรรคฟาสซิสต์อย่างรุนแรง ต่อมาได้มีการพิสูจน์ว่าเขาถูกฆาตกรรมโดยคำสั่งของทางการ จึงมีการประท้วงรัฐบาลของมุสโสลีนีอย่างกว้างขวาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคสังคมนิยม ประชานิยม และเสรีนิยมจำนวน ๑๕๐ คน ประกาศแยกตัวจากสภาเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลลาออก แต่มุสโสลีนีตอบโต้ด้วยมาตรการทางสภาโดยใช้มติเสียงข้างมากบีบให้ผู้แยกตัวต้องสูญเสียที่นั่งในสภา นอกจากนั้น เขายังคุมสื่อและยุบพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทั้งหมด เหตุการณ์หลังจากนั้นจึงเป็นการสลายอำนาจและอิทธิพลของกลุ่มการเมืองและผู้เป็นศัตรูของรัฐบาลและเป็นการสถาปนาอำนาจของระบอบเผด็จการฟาสซิสต์อย่างเต็มรูปแบบ ภายในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๕ สภาผู้แทนราษฎรและหนังสือพิมพ์ในอิตาลีแทบจะหมดบทบาท พรรคฟาสซิสต์กลายเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ผูกขาดกิจกรรมทั้งมวลของประเทศและเข้าควบคุมทุกภาคส่วนของกิจกรรมในสังคมรวมทั้งเยาวชนเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ฟาสซิสต์ ในวันก่อนคริสต์มาส ค.ศ. ๑๙๒๕ รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายเปลี่ยนตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารจาก "ประธานสภาคณะรัฐมนตรี" (president of the Council of Ministers) หรือนายกรัฐมนตรีเป็น "หัวหน้าคณะรัฐบาล" หรือรู้จักกันในนาม "ผู้นำ" โดยผู้นำไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภาอีกต่อไป แต่การแต่งตั้งและถอดถอนยังคงอยู่ในพระราชอำนาจของกษัตริย์ ผู้นำจึงมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศโดยมีพรรคฟาสซิสต์ กองกำลังเชิร์ตดำและตำรวจลับเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ
     มุสโสลีนีก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยวิถีทางที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่โดยเนื้อแท้เขาต่อต้านประชาธิปไตยและนิยมเผด็จการ แต่ด้วยความสามารถเป็นพิเศษในการแสดงออกต่อสาธารณชน เขาประสบความสำเร็จทุกครั้งในการสื่อให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ตามที่เขาต้องการ มุสโสลีนีเป็นนักเขียนนักพูด และนักแสดงที่โน้มน้าวใจผู้คนให้เห็นคล้อยตามโดยเชื่อว่าเขาคือผู้นำอิตาลีที่ทุกคนรอคอยและเป็นคนที่กุมโชคชะตา (man of destiny) ของโลกในขณะนั้นนับจาก ค.ศ. ๑๙๒๕ เขาจึงสามารถดำเนินนโยบายตามแนวทางฟาสซิสต์ได้โดยแทบไม่มีใครกล้าขัดขวางจนถึง ค.ศ. ๑๙๔๓ อิตาลีได้กลายเป็นรัฐตำรวจที่ไม่มีอำนาจใดตรวจสอบได้ สภานิติบัญญัติเหลือเพียงชื่อเพราะมุสโสลีนีสั่งยกเลิกกฎหมายเลือกตั้งและทำให้พรรคฟาสซิสต์เป็นพรรคการเมืองเดียวที่เหลืออยู่ ทั้งยังทำให้สภาพรรคฟาสซิสต์ (Grand Council of Fascism) ทำหน้าที่เสนอชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วให้ ประชาชนแสดงประชามติรับรองรายชื่อนั้น การบริหารงานส่วนท้องถิ่นที่มีการกระจายอำนาจก็ถูกยกเลิก ทำให้การออกกฎหมาย การรักษากฎหมาย และการบริหาร ราชการแผ่นดินตกอยู่ในมือของสภาพรรคฟาสซิสต์อำนาจของพรรคจึงอยู่เหนือรัฐและบ่อยครั้งอำนาจของผู้นำก็อยู่เหนืออำนาจทั้งปวง นอกจากการเป็นผู้นำแล้วบางครั้งมุสโสลีนีก็ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ๆ ด้วย โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอาณานิคม กระทรวงกลาโหม กระทรวงบริหารงานสาธารณะ และบรรษัทเกี่ยวกับการเงินและธุรกิจต่าง ๆ การมีอำนาจและใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง ทำให้มุสโสลีนีตกเป็นเป้าของการถูกลอบสังหารหลายครั้ง และทุกครั้งที่รอดเขาก็จะใช้วิธีการตอบโต้อย่างรุนแรงและเด็ดขาด ก่อให้เกิดความน่าสะพรึงกลัวแก่ผู้ตั้งตนเป็นศัตรูของเขา
     แม้มุสโสลีนีจะนิยมใช้อำนาจในการบริหารงานแผ่นดิน แต่เขาก็ฉลาดพอจะยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีความสำคัญต่อการคงอยู่ของรัฐและของพรรค ฟาสซิสต์ เขาจึงมีนโยบายเศรษฐกิจที่เอาใจประชาชนนโยบายที่เห็นชัดเจนประการแรกคือ "ยุทธการปลูกข้าว" (Battle for Grain) เพื่อเพิ่มพูนผลผลิตอาหารไว้เลี้ยงปากท้องประชาชนด้วยการเพิ่มพื้นที่ทำนาอีก ๕,๐๐๐ แห่ง และตั้งเมืองเกษตรกรรมใหม่ขึ้นมาอีก ๕ เมืองในพื้นที่ปรับปรุง นโยบายนี้พิสูจน์ในภายหลังว่าไม่ประสบผลเท่าที่ควรเพราะทำให้รัฐมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการและงบประมาณ นโยบายประการที่ ๒ ซึ่งต้องสัมพันธ์กับนโยบายแรกคือ "ยุทธการหาที่ทำกิน" (Battle for Land) ซึ่งขยายที่ทำกินเข้าไปในพื้นที่ซึ่งเป็นหนองบึงหรือที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมขังโดยเปิดโอกาสให้คนจับจองและถือกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินเพื่อขยายฐานเจ้าของที่ดินและสร้างงานบุกเบิกที่ดินทำกิน แต่นโยบายนี้ก็สร้างภาระให้แก่รัฐจนต้องล้มเลิกไปใน ค.ศ. ๑๙๔๐ นโยบายที่ ๓ ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับประชาชนเป็นอย่างมากคือ นโยบาย "ทองสำหรับปิตุภูมิ" (Gold for the Fatherland) โดยรัฐขอให้ประชาชนร่วมกันบริจาคเครื่องประดับประเภทสร้อยหรือแหวนทองคำเพื่อนำมาหลอมเป็นทองคำแท่งเก็บไว้เป็นทุนสำรองในธนาคารซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนพอควร แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้รับผลสำเร็จมากน้อยเพียงใดนอกจากนโยบายประชานิยมดังกล่าวแล้ว นโยบายเศรษฐกิจที่มีผลเป็นรูปธรรมอีกประการหนึ่ง คือนโยบายประนีประนอมกับภาคอุตสาหกรรมโดยรัฐบาลให้ภาคอุตสาหกรรมมีสิทธิพิเศษในการดำเนินกิจการของตนเองโดยอิสระเพื่อแลกเปลี่ยนกับการสนับสนุนทางการเงินให้รัฐและระบอบฟาสซิสต์ แต่สำหรับภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้า การเงิน การธนาคาร และแรงงาน รัฐจะเข้าไปควบคุมอย่างใกล้ชิดด้วยการร่วมเป็นเจ้าของกิจการต่าง ๆ ซึ่งแปรรูปเป็นบรรษัท (corporate) ภายใน ค.ศ. ๑๙๓๕ รัฐสามารถเข้าควบรวมกิจการได้ถึง ๓ ใน ๔ ของภาคธุรกิจ
     มุสโสลีนีสร้างความชอบธรรมให้กับการคงอยู่ของอำนาจเผด็จการด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนทุกภาคส่วนยอมรับว่าอำนาจเท่านั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จและความยิ่งใหญ่ของประเทศการที่เขาคุ้นเคยกับงานหนังสือพิมพ์ วิทยุ ภาพยนตร์และสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ ทำให้เขาสามารถควบคุมและใช้สื่อเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์แก่การโฆษณาลัทธิฟาสซิสต์และงานของรัฐจนทำให้เกิดความศรัทธาโดยทั่วไปว่าคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จะเป็นศตวรรษของลัทธิฟาสซิสต์แทนที่ลัทธิเสรีนิยมและประชาธิปไตย รัฐใช้สื่อและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่จะทำให้คนทุกระดับ โดยเฉพาะครู นักเรียน ผู้ใช้แรงงาน และคนในสาขาอาชีพต่าง ๆ เกิดศรัทธาและพร้อมจะปกป้องระบอบฟาสซิสต์นอกจากจะยอมรับการคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์และชนชั้นที่มีทรัพย์สินเช่นนักอุตสาหกรรมแล้ว มุสโสลีนียังพยายามสร้างภาพให้ประชาชนเห็นว่ารัฐและสถาบันศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เขาร่วมลงนามกับสันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ (Pius XI)* ในความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล (Concordat)* หรือที่เรียกชื่อว่า สนธิสัญญาลาเทอรัน (Lateran Treaty)* เพื่อแก้ไขปัญหากรุงโรมโดยให้อำนาจอธิปไตยแก่สันตะปาปาเหนือดินแดนพระราชวังวาติกันและโบสถ์เซนต์ปีเตอร์พร้อมกับยอมรับสิทธิพิเศษของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในการจัดการศึกษาโรงเรียนของรัฐและในกฎหมายครอบครัวว่าด้วยการสมรส ความตกลง ค.ศ. ๑๙๒๙ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักรในอิตาลีดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความตกลงดังกล่าวก็มีผลบังคับเพียงระยะสั้น เพราะต่อมาทั้ง ๒ ฝ่ายก็เป็นปฏิปักษ์กันดังเดิม
     ในด้านการต่างประเทศนั้น มุสโสลีนีได้เปลี่ยนท่าทีจากการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)* สงครามและการใฝ่หาสันติภาพมาเป็นนักชาตินิยมหัวรุนแรงที่พร้อมจะรุกรานหรือทำสงครามขยายอำนาจและอิทธิพลของประเทศ สงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้เขาได้เห็นประจักษ์ถึงสถานะอันแท้จริงของอิตาลีว่ายังเทียบไม่ได้กับ อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือแม้แต่ออสเตรียฮังการีในขณะนั้น ซึ่งล้วนมีนโยบายรุกรานเข้าไปในดินแดนโดยรอบอิตาลี มุสโสลินีเห็นว่าอิตาลีควรดำเนินนโยบายตามบรรพบุรุษในยุคโบราณที่ทำให้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็น "ทะเลของเรา" (จากภาษาละตินว่า mare nostrum - our sea) และไม่ควรให้ชาติอื่นเข้ามาแสวงหาประโยชน์ หรือแม้แอฟริกาตอนเหนือและแอฟริกาตะวันออกซึ่งอยู่ใกล้กับโลกเมดิเตอร์เรเนียน

ที่สุดก็ควรได้รับความสนใจจากรัฐบาลอิตาลี ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ หลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียงปีเดียวสถานการณ์ก็เป็นใจให้มุสโสลีนีได้แสดงบทบาทเป็นผู้นำที่เข้มแข็งในเหตุการณ์เกาะคอร์ฟู (Corfu Incident)* เขาสั่งทิ้งระเบิดเกาะคอร์ฟูของกรีซเพื่อเข้ายึดพื้นที่ในทะเลเมดิเตอเรเนียนตะวันออก หลังจากนั้นก็เข้ายึดเกาะเลรอส (Leros) ของกรีซเพื่อใช้เป็นฐานทัพเรือนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวดังกล่าวนับเป็นการท้าทายหลักการการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* ของสันติบาตชาติ (League of Nations)* เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ มุสโสลีนียังเริ่มสถาปนาอำนาจของอิตาลีให้เข้มแข็งมากขึ้นในลิเบียซึ่งอิตาลีได้เข้าไปยึดครองอย่างหลวม ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๒ จากแอฟริกาตอนเหนือและเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก มุสโสลีนียังมุ่งความสนใจสู่แอฟริกาตะวันออกด้วยการรุกรานเอธิโอเปียในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๕
     สงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย (Italo-Ethiopian War ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๗)* ได้ชี้ให้เห็นความทารุณโหดร้ายของกองทัพและอาสาสมัครกองกำลังเชิร์ตดำของอิตาลี เพราะมีการใช้อาวุธเคมีและระเบิดทำลายล้างรวมทั้งการสังหารหมู่ชาวพื้นเมืองและผู้ที่เป็นศัตรูของอิตาลีทุกหนทุกแห่งเพื่อทำให้ยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเฉพาะที่แอดดิสอาบาบา (Addis Ababa) เมืองหลวงของเอธิโอเปียในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๗ สงครามครั้งนี้ถูกประณามอย่างหนักจากองค์การกาชาดสากลสันนิบาตชาติและประเทศต่าง ๆ ยกเว้นเยอรมนีซึ่งสนับสนุนอิตาลีในการสร้างจักรวรรดิในแอฟริกาและนำไปสู่การทำสนธิสัญญามิตรภาพแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน (Rome-Berlin Axis)* ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ สำหรับชาวอิตาลีแล้วกลับเห็นว่าการที่อิตาลีสามารถยึดครองดินแดนในเขต "ทะเลของเรา" และแอฟริกาแม้จะเป็นเพียงบางส่วนก็นับเป็นความสำเร็จของประเทศชาติในยุคใหม่ โดยเฉพาะเมื่อมุสโสลีนีเข้าใจเลือกเวลาและสถานที่ตอกย้ำความภาคภูมิใจและ ความใฝ่ฝันที่จะรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของชนชาติอิตาลีด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ที่จตุรัสเวเนเซียท่ามกลางประชาชนกว่า ๔๐๐,๐๐๐ คนในคืนวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ว่า หลังการรอคอยเป็นเวลา ๑๔ ปีของรัฐบาลฟาสซิสต์ ( ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๓๖) ประชาชนคงจะเห็นด้วยกับเขาที่อำนาจทางทหารและการทำสงครามเท่านั้นจะทำให้อิตาลีมีจักรวรรดิอีกครั้งหนึ่ง
     ขณะที่สงครามในเอธิโอเปียยังดำเนินอยู่ มุสโสลีนีร่วมมือกับฮิตเลอร์เข้าแทรกแซงในสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙)* โดยสนับสนุนนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* เขายังยอมรับการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ และการแบ่งแยกเชโกสโลวะเกียของเยอรมนีใน ค.ศ ๑๙๓๙ รวมทั้งการที่กองทัพนาซีเข้ายึดครองซูเดเทนลันด์ (Sudetenland) ด้วย ความสัมพันธ์อันดีระหว่างอิตาลีกับเยอรมนีซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ ๑๙๓๖ จึงแนบแน่นมากขึ้น มุสโสลีนีเป็นคนตั้งชื่อ "แกนร่วมโรม-เบอร์ลิน" ซึ่งต่อมาเขามักเรียกว่าเป็น "กติกาสัญญาเลือด" (Pact of Blood) แต่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ เมื่อจะมีการลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สืบเนื่องมาจากแกนร่วมโรมเบอร์ลินเขาก็เสนอให้ใช้ชื่อ "กติกาสัญญาเหล็ก" (Pact of Steel) อย่างไรก็ดี สัมพันธภาพระหว่างอิตาลีกับเยอรมนีไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันระหว่างประเทศคู่สัญญา เพราะอำนาจและบทบาทของเยอรมนีในเวทีโลกเหนือกว่าอิตาลี บ่อยครั้งมุสโสลีนีต้องโอนอ่อนผ่อนปรนและดำเนินรอยตามฮิตเลอร์ เช่น การออกกฎบัตรว่าด้วยเชื้อชาติ (Charter of Race) ค.ศ. ๑๙๓๘ และการออกกฎหมายหลายฉบับที่ต่อต้านพวกยิว (Anti-Semitism) ซึ่งทำให้คนจำนวนหนึ่งคัดค้านการกระทำของเขาอย่างรุนแรง แต่มุสโสลีนีก็หันเหความสนใจของประชาชนด้วยการสานฝันเรื่องการสร้างจักรวรรดิโดยประกาศเจตจำนงที่จะผนวกมอลตา คอร์ซิกาตูนิสและมุ่งสู่ตะวันออกไปยังปาเลสไตน์ อียิปต์ เคนยา และส่วนอื่น ๆ ของแอฟริกา เพื่อสร้าง "จักรวรรดิโรมันใหม่" (New Roman Empire) ดินแดนทั้งหมดนี้เป็นเพียงความฝันของเขา และสิ่งที่ทำได้เป็นผลสำเร็จคือการผนวกแอลเบเนียในคาบสมุทรบอลข่านในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้นในเดือน กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ มุสโสลีนีไม่ได้นำประเทศเข้าสู่สงครามทันที เพราะความไม่พร้อมหลาย ๆ ด้าน เขารอดูสถานการณ์ว่าฝ่ายใดมีทีท่าจะได้เปรียบจนถึงเดือน มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เมื่อเยอรมนีได้เปรียบในแนวรบด้านตะวันตกอย่างชัดเจน เขาจึงประกาศสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ แต่บทบาทของอิตาลีในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* ยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* หรือในเบลเยียมไม่เป็นที่ประทับใจ เพราะความไม่พร้อมของกองทัพอิตาลีในทุก ๆ ด้าน อิตาลีจึงหันไปสานฝันในการสร้างจักรวรรดิโรมันใหม่ด้วยการบุกเข้าโจมตีโซมาลีแลนด์และอียิปต์ของอังกฤษเพื่อสร้างจักรวรรดิแอฟริกาตะวันออกให้สมบูรณ์ในเดือนสิงหาคมและกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ตามลำดับ แต่ก็ถูกกองทัพอังกฤษต้านไว้ได้ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันอิตาลีโจมตีกรีซ แม้การรบจะประสบความสำเร็จในระยะแรก แต่ท้ายสุดก็ถูกกองทัพกรีกตอบโต้อย่างรุนแรง จนต้องถอยร่นออกจากกรีซ ทั้งสูญเสียดินแดนบางส่วนในแอลเบเนียและกองทัพเรือของอิตาลีในเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกก็ถูกทำลายและใช้การไม่ได้ตลอดสงคราม
     ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ แม้อิตาลีซึ่งเป็นหนึ่งใน มหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ประกาศสงครามกับรัสเซียและสหรัฐอเมริกา แต่ก็แทบไม่มีบทบาทใน การรบด้านตะวันออกและในส่วนอื่น ๆ ของยุโรป ทั้งยังพ่ายแพ้อังกฤษในแอฟริกาตะวันออกและปราชัยกองกำลังพันธมิตรในการรบในแอฟริกาตอนเหนือ (North African Campaigns)* ทั้ง ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากเยอรมนี ความพ่ายแพ้ในแอฟริกาจึงดับความฝันของมุสโสลีนีในการฟื้นฟูจักรวรรดิใหม่ให้แก่ชาวอิตาลี ยิ่งเมื่อฝ่ายพันธมิตรเริ่มยุทธการบุกเกาะซิซิลีและประสบผลอย่างงดงาม โดยสามารถยึดเนเปิลส์และเตรียมปฏิบัติการมุ่งสู่กรุงโรม ชาวอิตาลีก็เริ่มเห็นการสูญเสียของคนทั้งชาติที่กำลังใกล้เข้ามาเป็นลำดับมุสโสลีนีจึงเผชิญกับแรงต่อต้านจากคนหลายกลุ่มรวมทั้งเพื่อนสนิทและเคานต์กาเลอัซโซ ชาโน (Galeazzo Ciano)* บุตรเขยซึ่งเรียกร้องเขาให้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่มุสโลลีนีกลับเรียกประชุมสภาพรรคฟาสซิสต์เป็นครั้งแรกนับแต่เกิดสงครามในคืนวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ โดยกล่าวเพียงสั้น ๆ ถึงสถานการณ์การรบโดยทั่วไปและการที่เยอรมนีจะถอนทหารออกจากภาคใต้ของอิตาลี ซึ่งทำให้ชาวอิตาลีต้องปกป้องตนเองจากการยึดครองของฝ่ายพันธมิตร ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติไม่ไว้วางใจผู้นำ และทูลขอให้พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญปลดมุสโสลีนีออกจากตำแหน่งผู้นำรัฐ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชโองการในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้น มุสโสลีนีก็ถูกจับและถูกนำตัวไปคุมขังไว้ในที่ ๆ ไม่เปิดเผยและต้องย้ายที่คุมขังไปเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สนับสนุนฝ่ายเยอรมนีช่วยเหลือสถานที่คุมตัวเขาถูกเปิดเผยในเวลาต่อมาคือที่โรงแรมกรันซัสโซ (Gran Sasso) ซึ่งเป็นสถานที่ ตากอากาศบนเขาในเขตอาบรุซโซ (Abruzzo)
     ทันทีที่มุสโสลีนีถูกปลด นายพลปีเอโตร บาดอลโย (Pietro Badoglio) ก็ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งแทนที่ เขาได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าสงครามยังคงดำเนินต่อไปโดยอิตาลียังสนับสนุนเยอรมนีอยู่ขณะเดียวกันก็เป็นที่คาดกันว่า เขาจะเจรจาต่อรองกับฝ่ายพันธมิตรเพื่อยุติสงคราม ในวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๓ บาดอลโยได้ลงนามในสัญญาสงบศึกซึ่งฝ่ายพันธมิตรเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ ๘ กันยายน จากนั้นอิตาลีก็ตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจและหวั่นเกรงว่าจะมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงของคนกลุ่มต่าง ๆ ถึงขั้นเผชิญหน้าหรือเข่นฆ่ากันเอง หรือเยอรมนีอาจถูกดึงเข้ามาร่วมปฏิบัติการตอบโต้จนอาจทำให้อิตาลีต้องกลับสู่ภาวะสงครามอีกครั้ง เหตุผลประการหลังนี้เองที่ทำให้พระเจ้าวิกเตอรเอมมานูเอลที่ ๓ บาดอลโยและบุคคลในคณะรัฐบาลตัดสินใจหนีออกจากกรุงโรม ทำให้ประเทศขาดผู้นำและเกิดความระส่ำระสายไปจนทั่ว มีคนจำนวนไม่น้อยหนีไปพึ่งกองกำลังพันธมิตรซึ่งยังคงปักหลักอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลี บ้างก็รวมกำลังกันทำงานใต้ดินต่อต้านพวกฟาสซิสต์และนาซีเยอรมัน
     สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอิตาลีทำให้ฮิตเลอร์ตัดสินใจเข้าแทรกแซง ปฏิบัติการแกนร่วม (Operation Axis) ถูกนำมาใช้ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ เพื่อระงับเหตุร้ายในอิตาลี โดยมีกองทัพนาซีเข้าควบคุมสถานการณ์ ส่วนกองทัพอิตาลีถูกปลดอาวุธ อย่างไรก็ดี มีการเปิดเผยก่อนหน้านั้นว่าฮิตเลอร์ได้ใช้ปฏิบัติการโอ๊ก (Operation Oak) ลักพาตัวมุสโสลีนีไปไว้ที่เมืองมิวนิค (Munich) ทางตอนใต้ของเยอรมนี และมีการตกลงระหว่างฮิตเลอร์กับมุสโสลีนีว่า กองทัพนาซีจะไม่เข้าไปปกครองอิตาลี แต่จะจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมอิตาลีตามแนวทางลัทธิฟาสซิสต์ขึ้นแทนที่ราชอาณาจักรอิตาลีโดยมีมุสโสลีนีเป็นผู้นำและต้องร่วมมือกับเยอรมนีสาธารณรัฐนี้มีศูนย์กลางอยู่ในอิตาลีตอนเหนือที่เมืองซาโล (Salo) ในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy)
     เมื่อกลับคืนสู่อำนาจครั้งใหม่นี้ มุสโสลีนีตระหนักดีว่าเขาเป็นเพียงหุ่นเชิดให้ฮิตเลอร์โดยเฉพาะในกิจการต่างประเทศและที่เกี่ยวข้องกับสงครามและการขยายฐานอำนาจให้กับอุดมการณ์ฟาสซิสต์และนาซีความสนใจของเขาจึงมุ่งไปที่การล้างแค้นผู้โค่นล้มเขารวมทั้งการทำลายล้างผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิฟาสซิสต์นับจาก ค.ศ. ๑๙๔๔ จนถึงการสิ้นสุดอำนาจของมุสโสลีนี จึงมีปฏิบัติการตามล่าและทำลายล้างศัตรู และเพื่อให้เกิดความหลาบจำ ผู้ถูกจับหรือผู้ถูกฆ่าจะถูกนำไปประจานในที่สาธารณะ มีคนจำนวนมากถูกลากทึ้งเหยียบย่ำทำลายอวัยวะหรือถูกสับเป็นท่อน ๆ หรือถูกจับมัดห้อยหัวอยู่ตามที่สาธารณะ โดยไม่มีการฝังหรือทำพิธีทางศาสนาตามประเพณี เหตุการณ์ที่ฝังใจประชาชนจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของขบวนการต่อต้านฟาสซิสต์คือ การสังหารหมู่นักโทษการเมืองทั้งคอมมิวนิสต์และพวกต่อต้านกลุ่มต่าง ๆ จำนวน ๑๕ คน ในเช้ามืดของวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ ที่จัตุรัสโลเรโต (Piazzale Loreto) ในเมืองมิลาน ศพทั้งหมดถูกกองทิ้งไว้ในลักษณะท่าทางที่หวาดกลัวและทนทุกข์ทรมานก่อนเสียชีวิต อีกทั้งศพยังเต็มไปด้วยฝูงแมลงวันตอมเป็นที่ อุจาดตา ความป่าเถื่อนทารุณโหดร้ายที่มุสโสลีนีและพวกฟาสซิสต์ได้ก่อขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ขบวนการต่อต้านรัฐบาลต้องปฏิบัติการอย่างหนักทั้งบนดินและใต้ดิน มุสโสลีนีถูกลอบสังหารหลายครั้งและมีศัตรูเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะ เดียวกันความรู้สึกถูกกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมและไร้ความเป็นธรรมได้นำไปสู่การสร้างงานวรรณกรรมจำนวนมากโดยเฉพาะงานกวีนิพนธ์
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๕ กองทัพพันธมิตรประสบความสำเร็จในการยึดครองอิตาลีได้เกือบทั้งหมด ในเดือนเมษายนกองทัพนาซีไม่อาจต้านทานการรุกไล่ของกองทัพพันธมิตรในเขตอิตาลีตอนเหนือได้ มุสโสลีนีกับกลาเรตตา เปตัชชิ (Claretta Petacci) ภรรยาน้อยและผู้ติดตามจำนวนหนึ่งปลอมตัวเป็นชาวเยอรมันหลบหนีออกนอกประเทศไปตามเส้นทางทะเลสาบโคโมอินส์บรุค (Como-Innsbruck) ประเทศออสเตรีย แต่ก็ถูกพวกต่อต้านฟาสซิสต์จับตัวได้แล้วถูกยิงเสียชีวิตทุกคน ณ บริเวณใกล้หมู่บ้านดอนโก (Dongo) ทะเลสาบโคโมเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ในวันรุ่งขึ้นศพทั้งหมดก็ถูกเคลื่อนย้ายไปจัตุรัสโลเรโต และกองสุมทิ้งไว้โดยไม่มีอะไรปกปิดเพื่อให้ประชาชนรุมทำร้ายศพร่างอันไร้ชีวิตของมุสโสลีนี ภรรยาน้อยและตัวแทนผู้ติดตามอีก ๒ ศพรวม ๔ ศพถูกนำมามัดห้อยศีรษะลงแบบเดียวกับที่พวกฟาสซิสต์ได้เคยกระทำเพื่อเป็นการประจานไว้พร้อม ๆ กับมีการก่นด่าและสาปแช่งของประชาชน ต่อมา ศพเหล่านั้นได้ถูกนำไปฝังแบบศพไม่มีญาติ ปราศจากพิธีการทางศาสนาและปราศจากป้ายชื่อที่หลุมศพ นับเป็นการลงโทษผู้เสียชีวิตที่สร้างความ เจ็บปวดที่สุดให้แก่จิตวิญญาณของผู้พบเห็น
     อย่างไรก็ดี ศพของมุสโสลีนีได้ถูกลักลอบขุดโดยความช่วยเหลือของนักบวชนิกายฟรานซิสกันเพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนาและฝังไว้ในโบสถ์เล็ก ๆ ใกล้เมืองมิลานเป็นเวลา ๑๑ ปี จนถึง ค.ศ. ๑๙๕๗ จึงถูกเคลื่อนย้ายกลับคืนสู่ครอบครัวโดยถูกฝังไว้ ณ สุสานซานคัสซิอาโนที่เมืองเปรดัปปีโอบ้านเกิด.



คำตั้ง
Mussolini, Benito Amilcare Andrea
คำเทียบ
นายเบนีโต อามิลกาเร อันเดรอา มุสโสลีนี
คำสำคัญ
- ปฏิบัติการโอ๊ก
- ชาโน, เคานต์กาเลอัซโซ
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- บาดอลโย, ปีเอโตร
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- สงครามกลางเมืองสเปน
- ฟรังโก, ฟรันซิสโก
- มหาอำนาจกลาง
- แกนร่วมโรม-เบอร์ลิน
- ซูเดเทนลันด์
- ขบวนการสังคมนิยมสากล
- การรบในแอฟริกาตอนเหนือ
- โดวีอาดีเปรดัปปีโอ, เมือง
- ฟอร์ลี, จังหวัด
- มุสโสลีนี, เบนีโต อามิลกาเร อันเดรอา
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- กวีดี, ราเชล
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- ลัทธิฟาสซิสต์
- เอมีลยา-โรมัญญา, แคว้น
- คานท์, อิมมานูเอล
- เตรนโต, เมือง
- โครพอตคิน, ปีเตอร์
- นีทซ์เชอ, ฟรีดริช
- มากซ์, คาร์ล
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาพันธมิตรไตรภาคี
- ซอแรล, ชอร์ช
- บัตติสตี, เซซาเร
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- สปิโนซา, เบเนดิกต์
- เองเงิลส์, ฟรีดริช
- กองกำลังเชิร์ตดำ
- วิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓, พระเจ้า
- กลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี
- ไพอัสที่ ๑๑, สันตะปาปา
- ยุทธการปลูกข้าว
- มัตเตออตตี, จาโกโม
- ความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล
- นโยบายทองสำหรับปิตุภูมิ
- สงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย
- สนธิสัญญาลาเทอรัน
- ลัทธิจักรวรรดินิยม
- ยุทธการหาที่ทำกิน
- เลรอส, เกาะ
- สนธิสัญญามิตรภาพแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน
- เหตุการณ์เกาะคอร์ฟู
- แอดดิสอาบาบา
- กฎบัตรว่าด้วยเชื้อชาติ
- หลักการการประกันความมั่นคงร่วมกัน
- อาบรุซโซ, เขต
- กติกาสัญญาเหล็ก
- กติกาสัญญาเลือด
- เปตัชชิ, กลาเรตตา
- โลเรโต, จัตุรัส
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- ซาโล, เมือง
- ปฏิบัติการแกนร่วม
- ลอมบาร์ดี, แคว้น
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1883-1945
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๒๖-๒๔๘๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf