ความตกลงมิวนิกเป็นความตกลงระหว่างประเทศมหาอำนาจยุโรปในการประชุมที่ เมืองมิวนิกเยอรมนีระหว่างวันที่ ๒๙-๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ซูเดเทนลันด์ (Sudetenland Crisis)* และพิจารณาเรื่องสถานภาพของเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนีร่วมกันลงนามในกติกาสัญญามิวนิก (Munich Pact) เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ โดยบีบบังคับเชโกสโลวะเกียให้ยอมยกซูเดเทนลันด์ให้แก่เยอรมนีตามความต้องการของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือนาซี (National Socialist German Workers’ Party - NSDAP; Nazi Party)* โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่มีการรุกรานดินแดนส่วนที่เหลือของเชโกสโลวะเกียอีกต่อไป ความตกลงมิวนิก ค.ศ. ๑๙๓๘ เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดของ นโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* ในการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและข้อขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจนำไปสู่การเกิดสงคราม เชโกสโลวะเกียซึ่งไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ประณามความตกลงมิวนิกว่าเป็น "การบงการจากมิวนิก" (Munich Dictate) และ "การหักหลังจากมิวนิก" (Munich Betrayal) เพราะฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารกับเชโกสโลวะเกียทรยศต่อความร่วมมือทางทหารระหว่างกัน
ความตกลงมิวนิกเป็นผลสืบเนื่องจากความสำเร็จของการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ ฮิตเลอร์ซึ่งต้องการทำลายสถานะความเป็นชาติเอกราชของเชโกสโลวะเกียสนับสนุนให้ชาวเยอรมันซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยประมาณ ๓ ล้านคนในซูเดเทนลันด์ก่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อรวมเข้ากับเยอรมนี คอนราด เฮนไลน์ (Konrad Henlein) ผู้นำพรรคซูเดเทน-เยอรมัน (Sudeten-German Party - SDP) ซึ่งนิยมลัทธินาซี (Nazism) จึงรับคำสั่งจากฮิตเลอร์ให้ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องประธานาธิบดีเอดุอาร์ด เบเนช (Eduard Beneš)* แห่งเชโกสโลวะเกียให้สิทธิปกครองตนเองแก่ซูเดเทนลันด์ และให้เสรีภาพในการแสดงออกแก่พรรคการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ลัทธินาซี เบเนช พยายามแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการให้เพิ่มจำนวนผู้แทนชาวซูเดเทนเชื้อสายเยอรมันในรัฐสภามากขึ้นและให้ความเสมอภาคทางสังคมและการศึกษาแก่พลเมืองเชื้อสายเยอรมันเท่าเทียมกับชาวเช็กและสโลวัก แต่นโยบายดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่ พอใจแก่พรรคซูเดเทนเยอรมันซึ่งยังคงเรียกร้องอำนาจการปกครองตนเองมากขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘ ฮิตเลอร์เสนอให้สภาไรค์ชตาก (Reichstag) พิจารณาปัญหาซูเดเทนลันด์โดยอ้างว่าพลเมืองเชื้อสายเยอรมันถูกข่มเหงรังแก และกำลังคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากเยอรมนีในการต่อต้านชาวเช็กที่กดขี่
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ เกิดการปะทะกันบริเวณชายแดนและตำรวจเช็กยิงชาวซูเดเทนเชื้อสายเยอรมันเสียชีวิต ๒ คน สื่อมวลชนเยอรมันพากันโหมกระพือประณามความทารุณโหดร้ายในซูเดเทนลันดเยอรมนีจึงส่งกำลังทหารไปประจำการใกล้พรมแดนเช็กเชโกสโลวะเกียก็ตอบโต้ด้วยการส่งกำลังทหาร ๔๐๐,๐๐๐ คนไปป้องกันแนวพรมแดน อย่างไรก็ตาม สหภาพโซเวียตและฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารกับเชโกสโลวะเกียในกลุ่มความตกลงอนุภาคี (Little Entente)* แสดงท่าทีให้เห็นว่าพร้อมจะสนับสนุนเชโกสโลวะเกียเยอรมนีจึงถอนกำลังทหารออกจากพรมแดน ในช่วงเวลาเดียวกันเยอรมนีก็สนับสนุนให้ชาวซูเดเทนเยอรมันที่ได้รับการฝึกอบรมจากหน่วยเอสเอส (SS - Schultzstaffel)* ก่อการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเช็กที่กรุงปราก (Prague) ด้วยวิธีการรุนแรงรวมทั้งการจัดชุมนุมเดินขบวนในซูเดเทนลันด์ รัฐบาลต้องใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ ฮิตเลอร์ยังเชิญเฮนไลน์ มาพบเขาที่กรุงเบอร์ลินและให้เขากดดันรัฐบาลเช็กให้มอบอำนาจการปกครองตนเองแก่ซูเดเทนลันด์ ในเวลาต่อมาเฮนไลน์จึงประกาศข้อเรียกร้องขอสิทธิการปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์ที่เมืองคาร์ลสบาด (Karlsbad) เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ในปลายเดือนพฤษภาคม ฮิตเลอร์เรียกประชุมลับเหล่านายทหารระดับสูงและแจ้งเจตจำนงของเขาที่จะผนวกเชโกสโลวะเกียเข้ากับเยอรมนีด้วยการใช้กำลังทหารเข้ายึดครอง เขากำหนดแผนปฏิบัติการสีเขียว (Operation Green) ซึ่งจัดทำโดยจอมพล วิลเฮล์ม ไคเทิล (Wilhelm Keitel)* เพื่อเตรียมบุกยึดครองโบฮีเมีย (Bohemia) และโมเรเวีย (Moravia) ในวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๘
สถานการณ์สงครามที่ตั้งเค้าได้สร้างความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศและองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ก็ล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในเดือนมิถุนายน อาร์เทอร์ เนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Arthur Neville Chamberlain)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ให้ไวส์เคานต์รันซิมันแห่งดอกซฟอร์ด (Runciman of Doxford) เป็นผู้แทนไปเจรจากับประธานาธิบดีเบเนชเพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตการณ์ซึ่งฝรั่งเศสเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว เบเนชตระหนักว่ามหาอำนาจสนับสนุนฝ่ายซูเดเทนเยอรมันจึงยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของเฮนไลน์และผู้แทนฝ่ายซูเดเทนลันด์เกือบทุกข้อทั้งจะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ซูเดเทนลันด์ด้วย อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์สั่งให้เฮนไลน์ยกเลิกการทำความตกลงกับรัฐบาลเช็กทั้งหมดและเรียกร้องให้ซูเดเทนลันด์รวมเข้ากับเยอรมนี ขณะเดียวกันเยอรมนีก็ปลุกปั่นชาวเยอรมันในซูเดเทนลันด์ให้ก่อการจลาจลจนรัฐบาลเช็กต้อง ประกาศกฎอัยการศึกในซูเดเทนลันด์และเรียกทหารเข้าประจำการ
ในต้นเดือนกันยายน พรรคนาซีจัดการชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Rally)* ระหว่างวันที่ ๕-๑๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ซึ่งนับเป็นการชุมนุมประจำปีครั้งใหญ่ที่สุดที่เรียกว่า "การชุมนุมของเยอรมนีใหญ่" (Rally of Greater Germany) ฮิตเลอร์เน้นเรื่องการสร้างชาติเยอรมันที่ยิ่งใหญ่และยืนยันว่าเยอรมนีพร้อมที่จะเข้าช่วยชาวซูเดเทนเยอรมันที่กำลังถูกกดขี่ทั้งกล่าวโจมตีรัฐบาลเช็กอย่างเผ็ดร้อนรวมทั้งประกาศที่จะใช้สงครามเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา ในช่วงเวลาเดียวกันเฮนไลน์ซึ่งรับคำสั่งจากฮิตเลอร์ก็ยื่นคำขาดให้ประธานาธิบดีเบเนชยกเลิกกฎอัยการศึก ถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากซูเดเทนลันด์ และให้ตอบรับคำขาดภายในเที่ยงคืนของวันที่ ๑๑ กันยายน แต่ประธานาธิบดีเบเนชปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามและสั่งจับกุมเฮนไลน์และผู้ที่สนับสนุนเขา เฮนไลน์จึงหนีภัยมากรุงเบอร์ลิน สถานการณ์ระหว่างประเทศที่เขม็งเกลียวทำให้เชมเบอร์เลนตัดสินใจเดินทางไปพบฮิตเลอร์ที่เมืองแบร์ชเทสกาเดิน (Berchtesgaden) เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายนเพื่อเจรจาเรื่องซูเดเทนลันด์และหาทางที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม ฮิตเลอร์ยืนกรานกับเชมเบอร์เลนว่าซูเดเทนลันด์ต้องรวมเข้ากับจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* โดยเร็วมิฉะนั้นเยอรมนีจะก่อสงคราม ฮิตเลอร์ยอมให้เชมเบอร์เลนกลับไปหารือกับคณะรัฐบาลที่กรุงลอนดอนและกำหนดการเจรจากันอีกครั้งที่เมืองบาดโกเดสแบร์ก (Bad Godesberg) ในวันที่ ๒๒ กันยายน แม้รัฐบาลอังกฤษจะมีความคิดเห็นแตกแยกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแต่นายกรัฐมนตรีเอดูอาร์ ดาลาดีเย (Edouard Daladier)* แห่งฝรั่งเศสก็สนับสนุนเรื่องการรวมซูเดเทนลันด์เข้ากับเยอรมนี ต่อมา อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงสงครามโดยไม่คำนึงถึงผลสืบเนื่องใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นจึงตกลงกันโดยไม่หารือกับรัฐบาลเช็กยื่นคำขาดเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายนบังคับให้เชโกสโลวะเกียยกดินแดนซูเดเทนลันด์ส่วนที่มีชาวเยอรมันอาศัยอยู่จำนวนมากแก่เยอรมนี หากเชโกสโลวะเกียปฏิเสธ อังกฤษและฝรั่งเศสจะไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ในช่วงเวลาที่รัฐบาลเช็กยังไม่ได้ให้คำตอบข้อเรียกร้องของอังกฤษและฝรั่งเศส มัคซิม มัคซีโมวิช ลิวีนอฟ (Maksim Maksimovich Litvinov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโซเวียตซึ่งสนับสนุนแนวความคิดการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* ในการป้องกันสงครามและการรักษาระเบียบระหว่างประเทศก็กล่าวปราศรัยในที่ประชุมขององค์การสันนิบาตชาติเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายนว่าด้วยความพร้อมของสหภาพโซเวียตที่จะปกป้องเชโกสโลวะเกียในกรณีที่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาคีกติกาสัญญาป้องกันร่วมกัน (Mutual Defence Pact ค.ศ. ๑๙๓๕) จะร่วมดำเนินการด้วย ลิวีนอฟยังโจมตีอังกฤษและฝรั่งเศสในการหลีกเลี่ยงปัญหาการตั้งเค้าของสงครามที่เป็นอยู่ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดสงครามใหญ่ในวันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสซึ่งไม่ต้องการให้เกิดสงครามและกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปก็ยังไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของโซเวียต การนิ่งเฉยของฝรั่งเศสและท่าทีของอังกฤษจึงมีส่วนทำให้รัฐบาลเช็กในท้ายที่สุดยอมยกซูเดเทนลันด์แก่เยอรมนี และนายกรัฐมนตรีมิลาน ฮอจา (Milan Hodža) แห่งเชโกสโลวะเกียก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ในช่วงเวลาเดียวกัน การชุมนุมต่อต้านเยอรมนีของชาวเช็กก็ก่อตัวขึ้นที่กรุงปรากและขยายตัวอย่างรวดเร็วในวงกว้าง กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลให้ปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศจากผู้ข่มขู่คุกคามและประณามนโยบายของอังกฤษและฝรั่งเศส
ในการเจรจาหารือครั้งที่ ๒ ระหว่างเชมเบอร์เลนกับฮิตเลอร์ที่เมืองบาดโกเดสแบร์กเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ฮิตเลอร์ไม่พอใจข้อเสนอของรัฐบาลเช็กที่ จะยกซูเดเทนลันด์ส่วนที่ชาวเยอรมันส่วนใหญ่อาศัยอยู่ให้แก่เยอรมนี และอ้างว่าชาวเยอรมันในซูเดเทนลันด์กว่า ๓๐๐ คนกำลังถูกเข่นฆ่า ฮิตเลอร์ต้องการซูเดเทนลันด์ทั้งหมดและเพิ่มข้อเรียกร้องให้มีการพิจารณาปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวโปลและฮังการีในเชโกสโลวะเกียด้วย โดยให้ยกไซลีเซียตอนใต้แก่โปแลนด์และรูเมเนียแก่ฮังการี หากเชโกสโลวะเกียปฏิเสธเยอรมนีจะเคลื่อนกำลังข้ามพรมแดนเข้ายึดครองซูเดเทนลันด์ภายในวันที่ ๑ ตุลาคม เชมเบอร์เลนจึงนำข้อเรียกร้องของฮิตเลอร์มาหารือกับฝรั่งเศสและเชโกสโลวะเกียอีกครั้ง เขาเองยอมที่จะปฏิบัติตามความต้องการของฮิตเลอร์ แต่สมาชิกส่วนใหญ่ในคณะรัฐบาลต่อต้าน เชมเบอร์เลนจึงตกลงกับดาลาดีเยว่าอังกฤษจะสนับสนุนฝรั่งเศสในกรณีที่ฝรั่งเศสสนับสนุนเชโกสโลวะเกีย อย่างไรก็ตาม เชโกสโลวะเกียปฏิเสธข้อเรียกร้องของฮิตเลอร์และในวันที่ ๒๓ กันยายน รัฐบาลเช็กชุดใหม่ซึ่งมีนายพลแยน ซิโรวี (Jan Syrový) เป็นนายกรัฐมนตรีก็ประกาศระดมพลทั่วประเทศ สหภาพโซเวียตประกาศสนับสนุนรัฐบาลเช็กและเตรียมส่งกำลังทหารเข้าช่วยเหลือ แต่ประธานาธิบดีเบเนชพยายามหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามและยังหวังความสนับสนุนจากอังกฤษและฝรั่งเศส เบเนชพยายามหาทางออกด้วยการประวิงเวลาที่จะตอบรับคำขาดของเยอรมนี
ในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศกำลังใกล้จะถึงจุดแตกหัก ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกาและเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามในยุโรปก็เสนอแนะให้ฮิตเลอร์จัดการประชุม ๔ ประเทศมหาอำนาจขึ้นในเยอรมนีเพื่อหาทางแก้ไขความขัดแย้งเรื่องซูเดเทนลันด์ ฮิตเลอร์ยอมรับข้อเสนอและในวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ สามวันก่อนการประชุมที่กำหนดขึ้น ฮิตเลอร์กล่าวปราศรัยที่กรุงเบอร์ลินยืนยันความชอบธรรมของการรวมซูเดเทนลันด์เข้ากับจักรวรรดิไรค์ และแจ้งแก่เชมเบอร์เลนว่าหากเยอรมนีได้ซูเดเทนลันด์ เยอรมนีจะไม่เรียกร้องดินแดนอื่นใดในยุโรปอีกต่อไป เชมเบอร์เลนจึงบินมาเยอรมนีเป็นครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน และนำไปสู่การประชุมที่เมืองมิวนิกเมื่อเวลา ๑๒.๔๕ นาฬิกาของวันที่ ๒๙ กันยายน ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยฮิตเลอร์ ดาลาดีเย เชมเบอร์เลน มุสโสลีนี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแต่ละฝ่าย เช่น คอนสแตนติน ไฟรแฮร์ ฟอน นอยรัท (Constantin Freiherre von Neurath)* โยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอฟ (Joachim von Ribbentrop)* และแฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Goering)* จากเยอรมนี เคานต์กาเลียซโซ เชียโน (Galeazzo Ciano)* จากอิตาลี และดักลาส ฮูม (Douglas Home)* จากอังกฤษ สหภาพโซเวียตและเชโกสโลวะเกียไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม ผู้นำ ๔ ชาติมหาอำนาจต่างมีมติเห็นชอบในความตกลงเรื่องซูเดเทนลันด์และร่วมลงนามกันในความตกลงมิวนิกอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา ๑.๐๐ นาฬิกาของวันที่ ๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ แต่เอกสารที่เผยแพร่จะเป็นวันที่ ๒๙ กันยายน
ความตกลงมิวนิกซึ่งเป็นชัยชนะทางการทูตครั้งใหญ่ของเยอรมนีมีสาระสำคัญที่สรุปได้คือ ซูเดเทนลันด์ จะถูกแบ่งออกเป็น ๔ เขต ซึ่งกองกำลังเช็กต้องถอนตัว ออกจากพื้นที่ในวันที่ ๑ ตุลาคม และกองทัพเยอรมันจะเข้ายึดครองอย่างค่อยเป็นค่อยไประหว่างวันที่ ๑-๗ ตุลาคม อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลีจะกำหนดเขตยึดครองที่ ๕ ซึ่งเป็นเขตสุดท้ายและให้เยอรมนีเข้ายึดครองได้ภายในวันที่ ๑๐ ตุลาคม มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากอังกฤษ อิตาลีฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยมีผู้แทนจากเชโกสโลวะเกียเข้าร่วมในการประชุมด้วยเพื่อดูแลรายละเอียดของการถอนกำลังและการเคลื่อนกำลังที่จะไม่สร้างความเสียหายด้านทรัพย์สินและกระทบต่อประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศจะจัดการลงประชามติเรื่องการรวมเข้ากับจักรวรรดิไรค์ในดินแดนที่มีชาวเยอรมันอาศัยอยู่น้อย (แต่ในทางปฏิบัติไม่เคยเกิดขึ้น) คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศจะกำหนดแนวพรมแดนใหม่ระหว่างเช็กกับสโลวักโดยอังกฤษและฝรั่งเศสจะร่วมค้ำประกันเยอรมนีและอิตาลีจะยังไม่ค้ำประกันแนวพรมแดนใหม่จนกว่าปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวโปลและฮังการีในเชโกสโลวะเกียจะได้รับการแก้ไขภายในเวลา ๓ เดือน ซึ่งหมายถึงพื้นที่ส่วนเทเชน (Teschen) และบางส่วนของสโลวาเกีย (Slovakia) ทางตอนใต้ต้องยกให้แก่โปแลนด์และฮังการีตามลำดับ หากยังไม่สามารถตกลงกันได้ภายในเวลาที่กำหนดจะมีการประชุมกันอีกครั้ง หลังการลงนามความตกลงรัฐบาลเช็กต้องถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากพื้นที่ที่กำหนดภายใน ๔ สัปดาห์ และต้องปล่อยนักโทษการเมืองชาวซูเดเทนเยอรมันทั้งหมด
หลังการลงนามในความตกลงมิวนิก เชมเบอร์เลนได้พบกับฮิตเลอร์อีกครั้งก่อนบินกลับอังกฤษ เขาขอให้ฮิตเลอร์สัญญาว่าจะไม่ถล่มกรุงปราก และเสนอแนะความร่วมมือระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีในการแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙)* และปัญหาที่เกี่ยวกับสหภาพโซเวียต เขาสามารถทำให้ฮิตเลอร์ยอมลงนามในความตกลงเพิ่มเติมระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีโดยทั้ง ๒ ประเทศจะไม่ทำสงครามซึ่งกันและกัน เมื่อเชมเบอร์เลนกลับถึงอังกฤษ เขากล่าวสุนทรพจน์ "สันติภาพที่มีเกียรติ…สันติภาพในสมัยของเรา" (Peace with Honour…Peace in Our Time) พร้อมกับชูแผ่นกระดาษความตกลงโบกไปมาท่ามกลางประชาชนที่มารอรับเขาอย่างยินดีปรีดาที่สนามบินเฮสตันแอโรโดรม (Heston Aerodrome) ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน แต่ในเวลาต่อมาความตกลงสันติภาพนี้ก็ไร้ซึ่งเกียรติและชื่อเสียง
แม้ในระยะแรกความตกลงมิวนิกจะเป็นที่ชื่นชมของประชาชนอังกฤษส่วนใหญ่เพราะต่างเข้าใจว่าสงครามจะไม่เกิดขึ้น แต่นักการเมืองหลายคนซึ่งรวมทั้งวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* และ แอนโทนี อีเดน (Anthony Eden)* วิจารณ์โจมตีความตกลงมิวนิกว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ไร้ศักดิ์ศรีของรัฐบาลอังกฤษ และเป็นความพ่ายแพ้ที่ปราศจากสงครามทั้งเป็นการสูญเสียการสนับสนุนจากกองทัพเช็กซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกองกำลังทัพกองหนึ่งที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป โจเซฟ สตาลิน (Josef Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตก็ไม่พอใจกับความตกลงมิวนิกอย่างมากเพราะสหภาพโซเวียตไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยและเห็นว่าอังกฤษและฝรั่งเศสเพียงใช้สหภาพโซเวียตข่มขู่เยอรมนีแต่ก็ไม่ได้ยอมรับสถานภาพความเป็นมหาอำนาจของโซเวียต สตาลินยังขุ่นเคืองที่ประเทศพันธมิตรตะวันตกไม่กล้าท้าทายต่อการคุกคามของเยอรมนีทั้งยอมสละพันธมิตรให้แก่เยอรมนีซึ่งทำให้โซเวียตหวาดวะแวงว่าประเทศตะวันตกจะปฏิบัติกับสหภาพโซเวียตในลักษณะ เดียวกันโดยปล่อยให้คอมมิวนิสต์กับฟาสซิสต์เข่นฆ่ากันเองและประเทศตะวันตกจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทั้ง ๒ ฝ่ายในภายหลัง ความกลัวดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของสตาลินในการยอมทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Nonaggression Pact)* หรือกติกาสัญญาริบเบนทรอฟ-โมโลตอฟ (Ribbentrop-Molotov Pact)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ประธานาธิบดีเบเนชแห่งเชโกสโลวะเกียก็ไม่พอใจกับความตกลงมิวนิกเพราะเป็นการเปิดทางให้โปแลนด์และฮังการีเข้ายึดครองดินแดนเชโกสโลวะเกียในเวลาต่อมาทั้งทำให้เชโกสโลวะเกียสูญเสียดินแดนส่วนที่มีป้อมปราการและเป็นแนวป้องกันพรมแดนทางตอนใต้แก่เยอรมนีด้วย ประธานาธิบดีเบเนชจึงตอบโตด้วยการลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ และในเดือนต่อมา เอมิล ฮาชา (Emil Hácha)* ได้เข้าดำรงตำแหน่งสืบแทน ส่วนเยอรมนี ฝ่ายผู้นำกองทัพและนักการทูตต่างพอใจในความตกลงมิวนิกเพราะตระหนักว่าเยอรมนียังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่สงครามและทำให้เยอรมนีมีเวลาเตรียมการอีกระยะหนึ่ง แม้ฮิตเลอร์จะเดือดดาลที่ต้องออมชอมและยอมลงนามในความตกลงมิวนิกเพราะเห็นว่าเขาเป็นเสมือนนักการเมืองชนชั้นกลางที่อ่อนแอซึ่งถูกฝ่ายกองทัพและนักการทูตบีบให้ปฏิบัติตาม แต่ก็พอใจที่รู้ว่าประเทศตะวันตกไม่พร้อมที่จะก่อสงคราม
ความตกลงมิวนิกเปิดทางให้เยอรมนีสามารถกำหนดแนวนโยบายยุทธศาสตร์ทางทหารในยุโรปซึ่งทำให้ฮิตเลอร์กลายเป็นผู้มีอำนาจควบคุมยุโรปกลางในที่สุด ต่อมาในวันที่ ๑๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ เยอรมนีก็ละเมิดความตกลงมิวนิกด้วยการยาตราทัพสู่กรุงปรากและเข้ายึดครองโบฮีเมียและโมเรเวียซึ่งเป็นดินแดนส่วนที่เหลือของเชโกสโลวะเกีย ในวันรุ่งขึ้น ฮิตเลอร์ออกกฎหมายจัดตั้งรัฐในอารักขา (Protectorate) ขึ้นโดยระบุว่าดินแดนใหม่ที่ได้มาต้องรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไรค์ ซึ่งมีนัยว่าสาธารณรัฐเชโกสโลวะเกียได้ถูกลบหายจากแผนที่ โบฮีเมียและโมเรเวียจะยังคงความเป็นอธิปไตยไว้ได้ก็ต่อเมื่อดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของเยอรมนีตามที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ สโลวาเกียซึ่งกลับเป็นรัฐอิสระอีกครั้งและสนับสนุนเยอรมนี ก็ถูกเยอรมนีครอบครองอีก ๑ สัปดาห์ต่อมาการยึดครองเชโกสโลวะเกียทำให้เชมเบอร์เลนตระหนักถึงความล้มเหลวของนโยบายเอาใจอักษะประเทศและการหักหลังของฮิตเลอร์ ลอร์ดเอดเวิร์ด ฮาลิแฟกซ์ (Edward Halifax)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจึงโน้มน้าวเชมเบอร์เลนให้ยกเลิกนโยบาย เอาใจอักษะประเทศและหันมาต่อต้านฮิตเลอร์ อังกฤษจึงรื้อฟื้นการเกณฑ์ทหาร (Conscription)* และออกพระราชบัญญัติราชการทหารแห่งชาติ (National Ser-vice Act) นอกจากนี้ อังกฤษและฝรั่งเศสก็เริ่มระดมพลแต่ก็ไม่ได้มีปฏิบัติการใด ๆ เกิดขึ้น
ต่อมาในวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เยอรมนีก็บุกโจมตีโปแลนด์ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* อย่างไรก็ตาม ความตกลงมิวนิกในส่วนที่เป็นความตกลงเพิ่มเติมระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีสิ้นสุดอย่างเป็นทางการภายหลังจากที่รัฐบาลเช็กพลัดถิ่นที่กรุงลอนดอนร่วมมือกับหน่วยข่าวกรองอังกฤษสนับสนุนขบวนการใต้ดินเช็กในเชโกสโลวะเกียวางแผนสังหารไรน์ฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน ไฮดริช (Reinhard Tristan Eugen Heydrich)* ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานกลางความมั่นคงจักรวรรดิไรค (Reich Security Main Office - RSHA) และรองผู้พิทักษ์จักรวรรดิไรค์แห่งโบฮีเมียและโมเรเวีย (Deputy Reich Protector of Bohemia and Moravia) ใน ค.ศ. ๑๙๔