เซอร์ออสวาลด์ มอสลีย์ เป็นนักการเมืองชาวอังกฤษผู้ก่อตั้งสหภาพฟาสซิสต์แห่งอังกฤษ (British Union of Fascists - BUF) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก การบริหารประเทศของผู้นำรัฐบาลฟาสซิสต์ของอิตาลีและนาซี (Nazi) ของเยอรมนีในการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* มอสลีย์ยังคงสนใจการเมืองและเป็นผู้นำจัดตั้งขบวนการสหภาพ (Union Movement) ขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ประเทศในยุโรปรวมตัวกัน
มอสลีย์เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๖ ในย่านเมย์แฟร์ (Mayfair) ซึ่งเป็นย่านของชนชั้นสูงที่มั่งคั่งในกรุงลอนดอน ตระกูลของเขาสืบเชื้อสายมาจากพวกแองโกล-ไอริชเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่ร่ำรวยในมณฑลแสตฟฟอร์ดเชียร์ (Staffordshire) มอสลีย์เป็น
บุตรชายคนโตในจำนวนบุตรชาย ๓ คนของเซอร์ ออสวาลด์ มอสลีย์ บารอเนตมอสลีย์ที่ ๕ กับแคทารีน ม้อด เอดเวิดส์-ฮีทโคต (Katharine Maud Edwards- Heathcote) แต่ทั้งคู่แยกทางกันขณะที่มอสลีย์ยังเป็นเด็ก เขาได้รับการเลี้ยงดูจากมารดาและบารอเนตมอสลีย์ที่ ๔ ผู้เป็นปู่ มอสลีย์ซึ่งเพื่อนและญาติสนิทเรียกว่าทอม (Tom) เข้าเรียนที่วิทยาลัยวินเชสเตอร์ (Winchester College) และราชวิทยาลัยการทหารแซนด์เฮิสต์ (Royal Military Academy Sandhurst) เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้น เขาประจำอยู่ที่หน่วยแลนเซอร์ที่ ๑๖ (16th Lancers) แต่ไม่มีโอกาสปฏิบัติการอะไรนัก ความเบื่อหน่ายทำให้เขาย้ายไปเป็นผู้สังเกตการณ์ในหน่วยบินหลวง (Royal Flying Corps) ซึ่งเป็นองค์กรนำร่อง ของกองทัพอากาศอังกฤษ (Royal Air Force - RAF) ที่จัดตั้งขึ้นในเวลาต่อมา หลังการโยกย้ายไปประจำ ณ ที่แห่งใหม่ เขาได้รับบาดเจ็บที่ขาจากการที่เครื่องบินตกขณะที่อาการบาดเจ็บยังไม่หายสนิท มอสลีย์ก็ถูกโอนไปประจำการในสนามเพลาะในแนวรบด้านตะวันตกแผลจึงอักเสบขึ้นจากการติดเชื้อจนเขาสิ้นสติในช่วงยุทธการที่เมืองลู (Battle of Loos) ในฝรั่งเศสในเดือน กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในการรบรุกไล่เยอรมนี จากนั้นเขาได้รับอนุญาตให้กลับไปอังกฤษ ศัลยแพทย์จำต้องตัดขาของมอสลีย์ออกไป ๒ นิ้ว ซึ่งทำให้ต้องเดินกะเผลกไปตลอดชีวิตแม้จะมีรองเท้าที่ ตัดอย่างพิเศษก็ตาม
มอสลีย์ลาออกจากอาชีพทหารใน ค.ศ. ๑๙๑๖ และเข้าทำงานที่กระทรวงสรรพาวุธและกระทรวงการต่างประเทศตามลำดับ ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ภูมิหลังทาง ครอบครัวทำให้เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญสังกัดพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* จากเขตแฮร์โรว์ (Harrow) ด้วยวัยเพียง ๒๒ ปี ทำให้เขาเป็นสมาชิกสภาที่มีอายุน้อยที่สุด มอสลีย์แสดงทักษะด้านการอภิปรายในสภาที่ โดดเด่นในเวลารวดเร็ว วาทะของเขาแสดงพลังและความเชื่อมั่นในตนเองอย่างแรงกล้าแต่ภายในเวลาไม่นาน มอสลีย์ซึ่งมีเชื้อสายชาวไอริชก็ลาออกเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายต่อไอร์แลนด์ของรัฐบาลพรรคนี้ และการส่งหน่วยกำลังพิเศษที่เรียกว่า "แบล็กแอนด์แทนส์" (Black and Tans) ไปปราบปรามชาวไอริชชาตินิยม แต่ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ และ ๑๙๒๓ เขาก็ยังได้รับเลือกจากเขตแฮร์โรว์เข้าสภาอีกในฐานะผู้สมัครอิสระและทำหน้าที่ฝ่ายค้าน
ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ มอสลีย์สมัครเป็นสมาชิกพรรคแรงงาน (Labour Party)* ซึ่งเพิ่งได้อำนาจจัดตั้งรัฐบาลในเดือนมีนาคม เมื่อรัฐบาลล้มในเดือนตุลาคมมอสลีย์สมัครรับเลือกตั้งในเขตเบอร์มิงแฮม เลดีวูด (Birmingham Ladywood) เพราะคาดคิดว่าประชาชนในเขตแฮร์โรว์จะไม่ยอมรับเขาที่เข้าสังกัดพรรคแรงงานเขาไม่หวั่นที่ จะต้องต่อสู้กับเนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain)* จากพรรคอนุรักษนิยมในการลงสมัครในเขตนี้ ผลปรากฏว่าเขาพ่ายแพ้เพียง ๗๗ คะแนนเท่านั้น เมื่อไม่ได้เป็นสมาชิกสภา มอสลีย์ก็ใช้เวลา ๒ ปีต่อมาด้วยการเดินทางไปที่ ต่าง ๆ และพัฒนาแนวคิดของเขาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นเอกสารที่เรียกว่า ข้อเสนอเบอร์มิงแฮม (Birmingham Proposals) อันเป็นแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของเขาจนตลอดชีวิตใน ค.ศ. ๑๙๒๖ มีการเลือกตั้งซ่อมในเขตสเมทิก (Smethwick) ซึ่งเป็นเขตของพรรคแรงงานมอสลีย์จึงมีโอกาสได้รับเลือกตั้งเข้าสภาอีกครั้งหนึ่งอีก ๒ ปีต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เขาก็ได้รับการสืบทอดบรรดาศักดิ์เป็นบารอเนตมอสลีย์ที่ ๖
ในช่วงที่เป็นสมาชิกสภาอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์ (James Ramsay MacDonald)* ผู้นำพรรคแรงงานได้รับมอบหมายให้จัดตั้งรัฐบาลพรรคแรงงานเป็นครั้งที่ ๒ มอสลีย์คาดหวังอย่างมากว่าเขาจะได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ แต่การแสดงความทะนงเกินไปหลายครั้งหลายหนของเขาทำให้ผู้คนระอา จึงถูกกีดกันไม่ให้ร่วมในคณะรัฐมนตรีแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารแห่งดัชชีแลงคาสเตอร (Chancellor of the Duchy of Lancaster) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่แทบไม่มีบทบาทอะไร โดยมีศักดิ์เท่ากับรัฐมนตรีไม่สังกัดกระทรวงและมักจะมอบให้แก่ผู้ที่ ถูกกีดกันออกจากคณะรัฐมนตรี เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างและกินเวลานาน ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๐ มอสลีย์ซึ่งอยู่ในคณะทำงานแก้ไขปัญหาคนว่างงานได้เสนอบันทึกช่วยจำมอสลีย์ (Mosley Memorandum) ต่อรัฐบาลพรรคแรงงาน โดยเรียกร้องให้ตั้งพิกัดอัตราภาษีศุลกากรให้สูงเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศไม่ให้ถูกผลกระทบจากภาวะผันผวนของเงินตราภายนอก ให้โอนกิจการอุตสาหกรรมเป็นของรัฐและให้รัฐบาลพรรคแรงงานจัดทำโครงการโยธาเพื่อช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน คณะรัฐมนตรีปฏิเสธข้อเสนอของมอสลีย์ถึง ๒ ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเสนอมาตรการรุนแรงเกินไป เมื่อประจักษ์ว่าพรรคแรงงานไม่ไยดีต่อข้อเสนอของเขา มอสลีย์จึงลาออกจากพรรคและจัดตั้ง "พรรคใหม่" (New Party) ขึ้นซึ่งเป็นพรรคแนว ฟาสซิสต์ (Fascism)* มีสมาชิกสภาจากพรรคต่าง ๆ ทั้งอนุรักษนิยม และพรรคแรงงานให้การสนับสนุน ตลอดจนหนังสือพิมพ์ Daily Mirror และ Daily Mail ซึ่งฉบับหลังนี้เป็นหนังสือพิมพ์รายใหญ่ที่สุดของอังกฤษขณะนั้นแต่ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ที่จัดขึ้นโดยกะทันหัน มอสลีย์ก็ไม่สามารถทำให้ผู้สมัครคนใดของพรรคประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง รวมทั้งตัวเขาเองด้วย ยิ่งพรรคใหม่มีทัศนะไปในทางรุนแรงและอำนาจนิยมขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ที่เคยสนับสนุนก็พากันปลีกตัวไป
หลังพลาดจากการเลือกตั้ง มอสลีย์ได้เดินทางไปอิตาลีในปีนั้น เขาประทับใจในความสำเร็จของการบริหารประเทศของเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำรัฐบาลฟาสซิสต์ เมื่อกลับมาอังกฤษ จึงได้รวบรวมกลุ่มฟาสซิสต์ต่าง ๆ ในประเทศ เช่น พรรค British Fascisti จัดตั้งสหภาพฟาสซิสต์แห่งอังกฤษขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๒ โดยหวังให้เป็นพรรคตัวแทนของคนรุ่นหนุ่มสาวและความมีพลัง พรรคย้ำประเด็นหลัก ๒ ประเด็น คือ การทำ (Action) และการทำให้เสร็จ (Getting Things Done) ในปีเดียวกันนี้ มอสลีย์พิมพ์ The Greater Britain ผลงานเล่มแรกซึ่งเสนอแผนการฟื้นฟูอังกฤษด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในช่วง ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๒ มูลค่าสินค้าส่งออกของประเทศลดลงกว่าครึ่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมต่อเรือก็ต้องหยุดชะงัก สินค้ากว่า ๓ ล้าน ตันไม่สามารถระบายสู่ตลาดได้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มจาก ๑ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เป็น ๑.๕ ล้านคนในเดือน มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๐ และเป็น ๒.๕ ล้านคนเมื่อถึงสิ้นปีในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๒ เพิ่มขึ้นเป็น ๗ ล้านคน ซึ่งทำให้ประชากรถึง ๗ ล้านคนจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๕ ล้าน คนต้องยังชีพด้วยเงินสงเคราะห์จากรัฐเท่านั้น
การก่อตั้งสหภาพฟาสซิสต์ซึ่งอ้างว่าเคยมีสมาชิกสูงสุดถึง ๑๐๐,๐๐๐ คน ก็เพื่อการดำเนินงานตามหลักการของการอยู่โดดเดี่ยว หรือพึ่งตนเองในเขตจักรวรรดิอังกฤษ โดยอังกฤษจะค้าขายเฉพาะกับดินแดนในจักรวรรดิเพื่อแยกเศรษฐกิจของประเทศออกจากภาวะขึ้นลงของตลาดโลก การจะทำเช่นนั้นได้จะต้องปกป้องอุตสาหกรรมของประเทศจากการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่ผลิตโดยแรงงานราคาถูกของประเทศโลกที่สาม ดินแดนในจักรวรรดิอังกฤษจะต้องมุ่งผลิตอาหาร และวัตถุดิบ ขณะที่อังกฤษยังคงเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของจักรวรรดิ สหภาพฟาสซิสต์ไม่สนับสนุนการใช้แรงงานพื้นเมืองอย่างเอาเปรียบหรือทารุณดังเช่นการใช้แรงงานพื้นเมืองในโรงงานผลิตน้ำตาลในหมู่เกาะเวสต์อินดีส การค้าขายกับดินแดนนอก จักรวรรดิควรมีให้น้อยมากเพราะเขตจักรวรรดิจะมีทั้งอาหาร วัตถุดิบ แหล่งพลังงาน และความสามารถในการผลิตเพื่อเป็นการประกันการพึ่งตนเองได้ มอสลีย์เห็นว่าอุตสาหกรรมสำคัญของอังกฤษเสียหายมากในทศวรรษ ๑๙๒๐ และ ๑๙๓๐ เพราะการใช้แรงงานราคาถูกเพื่อตัดราคาสินค้าอังกฤษลงในตลาดโลก และการนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากแรงงานราคาถูกเข้ามาสู่ตลาดในประเทศ อุตสาหกรรมผลิตผ้าฝ้ายในมณฑลแลงคาเชียร์ (Lancashire) และอุตสาหกรรมทอผ้าขนสัตว์ในมณฑลยอร์กเชียร์ (Yorkshire) เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นอังกฤษส่งเครื่องจักรออกไปยังประเทศที่สามารถขูดรีดแรงงานราคาถูกในการผลิตสินค้าเข้ามาแข่งขันกับตนอย่างดุเดือด
เมื่อสหภาพฟาสซิสต์แสดงการต่อต้านยิวและคอมมิวนิสต์ และเผชิญหน้ากับกลุ่มปฏิปักษ์อย่างก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนชนชั้นสูงและชนชั้นกลางที่สนับสนุนสหภาพก็ลดลง ในการชุมนุมของพรรคที่อาคารโอลิมเปีย (Olympia) ในกลางกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ เกิดการโต้แย้งกันอย่างรุนแรงจากกลุ่มผู้ฟังจนทางพรรคต้องให้สมาชิกที่เรียกว่า พวกเชิร์ตดำ (Blackshirt) ใช้กำลังนำตัวผู้ก่อกวนขัดจังหวะการปราศรัยของพรรคออกไปจากห้องประชุมภาพดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดผลดีแก่สหภาพฟาสซิสต์ประกอบกับข่าวเหตุการณ์คืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives)* ที่เกิดขึ้นในเยอรมนีก็ทำให้สหภาพฟาสซิสต์สูญเสียการสนับสนุนของพลังมวลชนไปเกือบทั้งหมด การเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๙๓๕ สหภาพฟาสซิสต์จึงไม่ได้ที่นั่งเลย สหภาพฟาสซิสต์กลายเป็นพรรคต่อต้านยิวอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ในวันที่ ๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ อุดมการณ์ฟาสซิสต์กำลังขยายวงกว้างในยุโรป มอสลีย์วางแผนให้เหล่าเชิร์ตดำหลายพันคนเดินขบวนเข้าไปในเขตที่พำนักอาศัยของชาวยิวในย่านอีสต์เอนด์ (East End) ซึ่งเป็นถิ่นของผู้ใช้แรงงาน แต่เกิดการสะกัดกั้นโดยผู้คนจำนวนถึง ๓๐๐,๐๐๐ คนในย่านนั้นซึ่งมีทั้งชาวยิว พวกคอมมิวนิสต์ สมาชิกสหภาพแรงงาน สมาชิกพรรคแรงงาน และกรรมกรท่าเรือชาวไอริชคาทอลิกที่ถนนเคเบิล (Cable Street) ด้วยการตะโกนวลี "No pasaran" (ห้ามผ่าน) ซึ่งนำมาจากคำขวัญของสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War)* ในวันนั้น เมื่อชาวอีสต์เอนด์ได้ยินว่าตำรวจบอกให้กองพันเชิร์ตดำเดินเข้าสู่พื้นที่ทางถนนเคเบิล (Cable Street) ชาวบ้านในย่านนั้นก็พากันไปตั้งเครื่องกีดขวางถนนโดยคว่ำรถบรรทุกหลายคันและเอาท่อนไม้ ฟูกเก่า ๆ และหินปูถนนมากองสุมเพื่อขวางทาง พวกที่อาศัยอยู่ในห้องพักชั้นบน ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงไอริชคาทอลิกก็เทกระโถนปัสสาวะใส่หัวของตำรวจม้าซึ่งรัฐบาลส่งมาดูแลการเดินขบวน เด็ก ๆ ก็ขว้างก้อนหินเข้าใส่และปาถุงพริกไทยให้แตกใส่จมูกในที่สุดเซอร์ฟิลิป เกม (Philip Game) อธิบดีตำรวจต้องสั่งระงับการเดินขบวนของสหภาพฟาสซิสต์เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันอย่างรุนแรง เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่รู้จักต่อมาว่า ยุทธการ ณ ถนนเคเบิล การที่พรรคแสดงการต่อต้านยิวเกิดจากการรับอิทธิพลอุดมการณ์ของพรรคนาซี และมอสลีย์ก็เชื่อว่าความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจเกิดจากนักการเงินเชื้อชาติยิว ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ มีชาวยิวจำนวนมากหลบหนีจากการถูกคุกคามในรัสเซียและยุโรปตะวันออกเข้ามายังอังกฤษ และจำนวนไม่น้อยเข้าไปอาศัยในเขตอีสต์เอนด์ซึ่งทำให้กลายเป็นเป้า โจมตีของกลุ่มมอสลีย
สหภาพฟาสซิสต์ต่อต้านชาวยิวและใช้กลยุทธ์ข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม อีกทั้งยังมีองค์ประกอบต่าง ๆ ของพรรคตามแบบพรรคฟาสซิสต์ของอิตาลีและพรรคนาซี เยอรมันด้วยการที่สมาชิกสวมเครื่องแบบสีดำ มีการสร้างสัญลักษณ์อันมีธงของสหภาพเป็นสายฟ้าในวงกลมซึ่งมีความหมายถึงการดำเนินงานอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (action within unity) รวมทั้งเครื่องหมายระบุตำแหน่งหรือสังกัดพรรค มีเพลงประจำพรรคที่มีเนื้อหาและทำนองแบบ Horst-Wessel-Lied ของพรรคนาซี มีการออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ๒ ฉบับ คือ The Blackshirt และ Action นอกเหนือจากวารสาร British Union Quarterly และในการจัดชุมนุมของพรรค มีการสาดไฟส่องจ้าแบบในโรงละคร และการกล่าวแสดงความเคารพมอสลีย์อย่างพร้อมเพรียงกันว่า "Hail Mosley!" ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับ "Hi Hitler!" ชาวอังกฤษส่วนใหญ่จึงไม่ยอมรับ รัฐบาลจึงออกพระราชบัญญัติรักษาระเบียบสาธารณะ (Public Order Act) ขึ้นซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๗ โดยห้ามการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบทหาร และการสวมเครื่องแบบที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง แต่เพิ่มอำนาจให้ตำรวจมากขึ้นเพื่อป้องกันการเดินขบวนอย่างที่ผ่านมา
เมื่อใกล้จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ มอสลีย์ยังคงเสนอความคิดเกี่ยวกับการปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศในงานเขียน Tomorrow We Live ( ค.ศ. ๑๙๓๘) เขารณรงค์ให้อังกฤษคำนึงถึงกิจการภายในประเทศตน (Mind Britain's Business) เป็นหลัก เพราะเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศนั้นเกิดจากนักการเงินชาวยิวที่มีอิทธิพลไปทั่วโลก อังกฤษไม่ควรต้องทุ่มเทให้เปลืองตนเขาจึงไม่เห็นด้วยที่อังกฤษจะเข้าสู่สงครามเพื่อเหตุผล หรือประโยชน์ของคนอื่น การรณรงค์เพื่อสันติภาพของ มอสลีย์ในระยะแรกได้เสียงตอบรับดี แต่เมื่อนอรเวย์ถูกเยอรมนีโจมตีในยุทธการที่นอร์เวย์ (Battle of Norway)* ซึ่งเป็นการตัดเส้นทางทางทะเลของอังกฤษ ผู้คนพากันต่อต้านแนวคิดของเขาที่สนับสนุนเยอรมนีอย่างรุนแรงมอสลีย์เองก็เกือบจะถูกประทุษร้ายร่างกาย ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ มอสลีย์ถูกจับในข้อหาสนับสนุนนโยบายของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำของเยอรมนีซึ่งกำลังเป็นคู่สงครามของอังกฤษ โดยการบังคับใช้ระเบียบป้องกันประเทศ ๑๘ บี (Defence Regulation 18 B) ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจับกุมคุมขังบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะกระทำการเป็นภัยต่อประเทศโดยไม่ต้องนำตัวขึ้นไต่สวน วันต่อมาผู้นำคนสำคัญ ๆ ของสหภาพฟาสซิสต์อีก ๗๔๐ คน ก็ถูกจับกุมเช่นกัน
มอสลีย์ถูกคุมขังระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๔๓ สหภาพฟาสซิสต์ของเขาก็ถูกยุบลงในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ รวมทั้งสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ของสหภาพฯก็ต้องปิดตัวลง อย่างไรก็ดี แม้มอสลีย์และไดอานา (Diana) ภรรยาคนที่ ๒ ซึ่งเพิ่งคลอดบุตรชายจะถูกขังที่คุกฮอลโลเวย์ (Holloway) ในกรุงลอนดอนแต่เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็จัดให้ทั้งคู่ได้อยู่ในบ้านพักหลังหนึ่งในคุกแห่งนี้และมีนักโทษอื่น ๆ เป็นผู้รับใช้ในบ้านมอสลีย์ใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านงานเขียนเกี่ยวกับอารยธรรมคลาสสิก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ มอสลีย์ และภรรยาได้รับการปล่อยตัวเพราะมอสลีย์ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดดำอักเสบ (phlebitis) ฝ่ายตำรวจเห็นว่าสุขภาพของเขาจะสร้างปัญหามากเพราะแพทย์ให้ ความเห็นว่าหากปล่อยให้คุมขังต่อไป จะเป็นอันตราย ต่อสุขภาพของมอสลีย์ ดังนั้น หากเกิดการเสียชีวิตรัฐบาลก็จะถูกโจมตีและโยงไปถึงเรื่องการจับกุมโดยไมไต่สวน มอสลีย์ก็จะกลายเป็นวีรบุรุษซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้แก่พวกฟาสซิสต์ อย่างไรก็ดี แม้จะได้รับการปล่อยตัวจากคุก มอสลีย์และภรรยาก็ยังคงถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในเขตบ้านพักจนสงครามสิ้นสุดลง
การปล่อยตัวสามีภรรยาคู่นี้ออกจากคุกใน ค.ศ. ๑๙๔๓ นั้นมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน ในเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ หนังสือพิมพ์ New York Times เสนอข่าวว่าผู้คนจำนวนมากซึ่งเป็นผู้แทนกรรมกรถ่านหินจากมณฑลยอร์กเชียร์ (Yorkshire) ๑๔๐,๐๐๐ คน และจากภาคใต้ของเวลส์ (Wales) จำนวน ๑๐,๐๐๐ คน เดินทางโดยรถไฟเข้ากรุงลอนดอนและมีโทรเลขพร้อมรายชื่อของคนงานผลิตยุทธภัณฑ์ในเมืองเชฟฟิลด์ (Sheffield) จำนวน ๗๕,๐๐๐ คน ส่งถึงเชอร์ชิลล์เรียกร้องให้ปล่อยตัวมอสลีย์ ขณะเดียวกัน เมื่อข่าวการปล่อยตัวแพร่ออกไปก็มีปฏิกิริยาจากบางกลุ่ม คนสำคัญคือ เจสสิกา มิลฟอร์ด (Jessica Milford) น้องสาวของไดอานาเอง เธอเขียนคำประท้วงไปยัง San Francisco Chronicle ว่าการปล่อยตัวปรียบเสมือนการตบหน้ากลุ่มที่ต่อต้านฟาสซิสต์และเป็นการทรยศต่อผู้ที่เสียชีวิตไป แล้วเพื่อการต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ เธอกล่าวว่าทั้งคู่สมควรอยู่ในคุกมากกว่า
หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ผู้สนับสนุนเก่า ๆ ก็ชักชวนให้มอสลีย์กลับสู่การเมืองอีกใน ค.ศ. ๑๙๔๘ มอสลีย์จึงก่อตั้งขบวนการสหภาพ (Union Movement) ขึ้นแทนที่สหภาพฟาสซิสต์โดยเขาเป็นผู้นำจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๖ จุดประสงค์ก็เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศในยุโรป โดยการสร้างรัฐชาติหนึ่งเดียวที่ ครอบคลุมทั้งทวีปยุโรปและเรียกว่า Europe a Nation ขณะเดียวกัน มอสลีย์ก็รณรงค์ต่อต้านการอพยพของผู้คนจากประเทศสมาชิกเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations)* เข้ามาในอังกฤษและต้องการให้อังกฤษ เข้าเป็นสมาชิกในประชาคมยุโรป (European Community - EC)* โดยเขาเห็นว่าอังกฤษควรเข้าไปมีบทบาทนำ อย่างไรก็ตาม การประชุมของขบวนการสหภาพมักถูกก่อกวน ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ มอสลีย์จึงตัดสินใจย้ายไป อยู่ในไอร์แลนด์ช่วงหนึ่งก่อนไปพำนักถาวรที่ กรุงปารีสเพื่ออยู่ใกล้สหายสนิทคือดุ๊กแห่งวินด์เซอร์ Duke of Windsor หรืออดีตพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ (Edward VIII ค.ศ. ๑๙๓๖)* และพระชายาหรืออดีตนางวอลลิสซิมป์สัน (Wallis Simpson)
มอสลีย์เดินทางกลับมาอังกฤษเฉพาะช่วงสั้น ๆ เพื่อลงแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปในนามผู้สมัครจากพรรคขบวนการสหภาพ ใน ค.ศ. ๑๙๕๙ เขาสมัครรับเลือกตั้งในเขตเคนซิงตันนอร์ท (Kensington North) ในปีก่อนหน้านั้นเกิดเหตุการณ์จลาจลอันเนื่องมาจากเชื้อชาติในเขตนอตติงฮิลล์ (Notting Hill) ซึ่งทำให้มอสลีย์ครุ่นคิดถึงปัญหาผู้อพยพเข้าเมืองอีก เขาจึงรณรงค์ในเรื่องนี้แต่พ่ายแพ้การเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๙๖๖ เขากลับมาลงแข่งขันอีกครั้งและก็พ่ายแพ้เช่นกันเขาจึงถูกริบเงินมัดจำจากการลงสมัครทั้ง ๒ ครั้ง เพราะได้คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มอสลีย์เขียนอัตตชีวประวัติ My Life ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ และก็ปลีกตัวออกจากการเมืองนับแต่นั้นใน ค.ศ. ๑๙๗๗ ขณะที่ป่วยด้วยโรคพาร์คินสัน ผู้ที่สนับสนุนเขาก็ยังเสนอ ชื่อมอสลีย์เป็นอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว (Glasgow) ด้วย
ในด้านชีวิตส่วนตัวนั้น มอสลีย์สมรสครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ กับซินเทีย เคอร์เซิน (Cynthia Curzon) บุตรสาวคนที่ ๒ ของจอร์จ นาทาเนียล เคอร์เซิน, ลอร์ดเคอร์เซินแห่งเคเดิลสตันอุปราชแห่งอินเดีย (George Nathaniel Curzon, Lord Curzon of Kedleston, Viceroy of India) กับแมรี วิกตอเรีย เลเทอร์ (Mary Victoria Leiter) สตรีอเมริกันจากตระกูลนายพาณิชย์มั่งคั่ง งานสมรสของมอสลีย์เป็นงานสังคมโด่งดัง มีสมาชิกราชสกุลยุโรปหลายคนมาร่วมงาน รวมทั้งพระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๖)* และสมเด็จพระราชินีแมรี (Mary) ทั้งสองมีบุตรธิดาด้วยกัน ๓ คน เป็นชาย ๒ คน หญิง ๑ คน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทั้งมอสลีย์และซินเทียแสดงตนเป็นพวกนักสังคมนิยมเฟเบียน (Fabianism)*ที่แรงกล้า
มอสลีย์โด่งดังในเรื่องความเจ้าชู้กับอิสตรีหลายคน นับตั้งแต่ก่อนสมรส เขาเคยมีความสัมพันธ์ช่วงสั้น ๆ กับแมรี เจน เคอร์เซิน (Mary Jane Curzon) พี่สาวของซินเทีย ภายหลังสมรสแล้ว เขายังมีความสัมพันธ์กับเลดีอะเล็กซานดรา เมตคาล์ฟ (Lady Alexandra Metcalfe) ซึ่งเป็นน้องสาวของซินเทีย และกับเกรซ เคอร์เซิน (Grace Curzon) ภรรยาชาวอเมริกันคนที่ ๒ ของลอร์ดเคอร์เซิน ซินเทียเสียชีวิตด้วยโรค peritonitis ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ มอสลีย์ซึ่งเศร้าหมองตกลงใจสมรสใหม่กับไดอานา กินเนส มิตฟอร์ด (Diana Guinness Mitford) บุตรสาวของบารอนเรเดสเดล (Baron Redesdale) ซึ่งเป็นผู้มั่งคั่งคนหนึ่งที่สนับสนุนมอสลีย์ ไดอานามีสัมพันธ์กับมอสลีย์มานานและหย่าร้างกับสามี แต่มอสลีย์ไม่ยินยอมแต่งงานด้วยจนกระทั่งซินเทียเสียชีวิตลง มอสลีย์และไดอานาสมรสกันอย่างเงียบ ๆ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ในห้องรับแขกที่บ้านพักในกรุงเบอร์ลินของโจเซฟ เกิบเบิลส์ (Joeseph Gobbels)* ผู้นำระดับสูงของพรรคนาซีและลูกน้องคนสำคัญของฮิตเลอร์ และฮิตเลอร์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนแขกรับเชิญ ๖ คนที่ไปร่วมในพิธีด้วย ทั้งคู่มีบุตรชาย ด้วยกัน ๒ คน ไดอานาและยูนิตี ฟรีแมน มิตฟอร์ด (Unity Freeman-Mitford) น้องสาวมีความสนิทสนมเป็นอันดีกับฮิตเลอร์ซึ่งเรียกเธอทั้งสองว่า "นางฟ้า" ทั้งคู่พยายามโน้มน้าวให้ฮิตเลอร์ให้เงินของพรรคนาซีเป็นทุนแก่ขบวนการฟาสซิสต์ของมอสลีย์ขณะที่ เพิ่งจัดตั้งในอังกฤษและเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงจากเยอรมนีไปอังกฤษ ในที่สุดฮิตเลอร์ได้มอบเงินให้ ๕๐,๐๐๐ ปอนด์ หลังสงครามไดอานาและมอสลีย์ตั้งสำนักพิมพ์ Euphorion Books เพื่อพิมพ์ผลงานของนักเขียนฝ่ายขวา ไดอานายังเป็นบรรณาธิการวารสาร The European ที่เป็นแนวขวาจัดด้วย ไดอานามีชีวิตอีกยืนยาวหลังจากมอสลีย์เสียชีวิต เธอถึงแก่กรรมที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ รวมอายุ ๙๓ ปี
เซอร์ออสวอลด์ มอสลีย์, บารอเนตมอสลีย์ที่ ๖ ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๐ ขณะอายุ ๘๔ ปี ที่บ้านที่เมืองออร์เซ (Orsay) ใกล้กรุงปารีส และได้รับการประกอบพิธีศพที่นั่น เอกสารของเขาจำนวน ๕๐ กล่องได้เก็บรวบรวมไว้ในหมู่เอกสารชุดพิเศษที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม.