Moscow Conference (1943, 1947)

การประชุมที่กรุงมอสโก (๒๔๘๖, ๒๔๙๐)

​​​     การประชุมที่กรุงมอสโก ค.ศ. ๑๙๔๓ เป็นการประชุมครั้งสำคัญครั้งแรกในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศของฝ่ายพันธมิตรซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียต ระหว่างวันที่ ๑๙-๓๐ ตุลาคม เพื่อหารือการเอาชนะเยอรมนีและตกลงกันว่าด้วยความมั่นคงทั่วไปของยุโรปเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ส่วนการประชุมที่กรุงมอสโก ค.ศ. ๑๙๔๗ เป็นการประชุมครั้งที่ ๔ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ สหรัฐอเมริกาสหภาพโซเวียต และฝรั่งเศส เพื่อหารือเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมที่นครนิวยอร์ก ค.ศ. ๑๙๔๖ ว่าด้วยการร่างสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศที่พ่ายแพ้ในสงครามและปัญหาเยอรมนี
     การประชุมที่กรุงมอสโก ค.ศ. ๑๙๔๓ เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมผู้แทนฝ่ายพันธมิตรครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ค.ศ. ๑๙๔๑ ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ กำลังดำเนินอยู่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือร่วมกันที่จะเอาชนะฝ่ายอักษะและหาแนวทางที่จะธำรงไว้ซึ่งสันติภาพอันถาวรตลอดจนการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างชาติ หลังการประชุมที่กรุงลอนดอนไม่นานนักก็มีการออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างประธานาธิบดี แฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกา กับเซอร์วินสตัน เลนเนิร์ด สเปนเซอร์ เชอร์ชิลล์ (Winston Leonard Spencer Churchill)* เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ซึ่งมีชื่อเรียกว่ากฎบัตรแอตแลนติก (Atlantic Charter)* ประเทศมหาอำนาจพันธมิตรยังตกลงร่วมกันทำสงครามต่อไปจนกว่าจะได้ชัยชนะและจะหารือร่วมกันเป็นระยะ ๆ ความตกลงดังกล่าวได้นำไปสู่การประชุมที่กรุงมอสโกระหว่างวันที่ ๑๙-๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓
     ผู้แทนของประเทศพันธมิตรที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ คอร์เดลล์ ฮัลล์ (Cordell Hull) แห่งสหรัฐอเมริกา รอเบิร์ต แอนโทนี อีเดน (Robert Anthony Eden)* แห่งอังกฤษ และเวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* แห่งสหภาพโซเวียต การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือเพื่อร่างสนธิสัญญาสันติภาพกับอิตาลี ฮังการี โรมาเนีย บัลแกเรีย และฟินแลนด์ ตลอดจนการพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมาธิการตะวันออกไกลของ ๑๑ มหาอำนาจ (11-power Far Eastern Commission) และสภาพันธมิตร ๔ มหาอำนาจเพื่อญี่ปุ่น (4-power Allied Council for Japan) ขึ้น ที่ประชุมได้ร่วมลงนามใน "ประกาศร่วมสี่ชาติ" (Joint-Four-Nations Declaration) ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ประกาศกรุงมอสโก (Moscow Declaration) เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ รวมทั้งหมด ๔ ฉบับ ฉบับแรกว่าด้วยความมั่นคงทั่วไป ฉบับที่ ๒ เกี่ยวกับออสเตรีย ฉบับที่ ๓ เกี่ยวกับอิตาลีและฉบับสุดท้ายเกี่ยวกับการทารุณกรรม (Statement on Atrocities) ของเยอรมนี
     ในการลงนามประกาศฉบับแรกว่าด้วยความมั่นคงทั่วไปนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาขอให้จีนซึ่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมมีส่วนลงนามด้วยเนื่องจากเป็นพันธมิตรสงคราม สหภาพโซเวียตปฏิเสธในชั้นต้น แต่เมื่อสหรัฐอเมริกายังคงยืนยันโดยอังกฤษสนับสนุน สหภาพโซเวียตจึงยินยอมในที่สุด เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงมอสโกจึงเป็นผู้ลงนามแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนสาระสำคัญของประกาศว่าด้วยความมั่นคงทั่วไปซึ่งมี ๗ ข้อ สรุปได้ว่าประเทศภาคีทั้ง ๔ ประเทศจะร่วมกันทำสงครามและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงจะใช้มาตรการอันจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูละเมิดข้อตกลงในการยอมแพ้ จะจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นอย่างเร่งด่วนเท่าที่จะทำได้ จะร่วมมือปรึกษาหารือซึ่งกันและกันเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ จะไม่ใช้กำลังทหารในดินแดนของประเทศอื่นภายหลังที่การรบยุติลง และจะร่วมกันหารือวางกฎเกณฑ์การมีอาวุธในครอบครองภายหลังสงคราม
     ในประกาศเกี่ยวกับออสเตรีย จีนไม่ได้ร่วมลงนามด้วยเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นการลงนามเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต สาระสำคัญว่าด้วยการร่วมปลดปล่อยออสเตรียจากการยึดครองของเยอรมนีและให้ถือว่าการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ เป็นโมฆะ ส่วนประกาศเกี่ยวกับอิตาลีนั้น จีนก็ไม่ได้ร่วมลงนามด้วยเช่นกันสาระสำคัญคือการจะกำจัดลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ให้สิ้นซากและเปิดโอกาสให้ชาวอิตาลีได้สถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้น ตลอดจนให้ปลดปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด
     ในประกาศฉบับสุดท้ายเกี่ยวกับการทารุณกรรมของเยอรมนี ผู้ที่ลงนามคือประธานาธิบดีรูสเวลต์แห่งสหรัฐอเมริกา เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรี อังกฤษ และโจเซฟ สตาลิน (Josef Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียต ผู้นำประเทศมหาอำนาจทั้งสามร่วมประกาศในนามสหประชาชาติ ๓๒ ประเทศ โดยกล่าวว่าเมื่อมีการลงนามสงบศึกกับรัฐบาลประเทศใด ๆ ก็ตามที่เยอรมนีจัดตั้งขึ้น นายทหารเยอรมัน พลเมืองเยอรมันและสมาชิกพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party - NSDAP; Nazi Party)* ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทารุณกรรม การสังหารหมู่ และการเข่นฆ่าจะถูกส่งตัวไปรับโทษในประเทศที่ตนทำทารุณกรรมนั้น ๆ นอกจากการออกประกาศกรุงมอสโกทั้ง ๔ ฉบับแล้ว ทั้ง ๓ ประเทศมหาอำนาจยังยืนยันแผนการยกพลขึ้นบกที่ฝรั่งเศสและการจะขอให้สวีเดนยินยอมให้ฝ่ายพันธมิตรจัดตั้งฐานทัพขึ้นในประเทศ
     ความสำเร็จของการประชุมที่กรุงมอสโก ค.ศ. ๑๙๔๓ ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานของความตกลงและร่วมมือกันต่อไปภายหลังสงครามสิ้นสุดลงเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ สื่อมวลชนใน ๓ ประเทศพันธมิตรต่างสดุดียกย่องการประชุมครั้งนี้อย่างมากทั้งคาดหวังว่าภายหลังสงครามยุติลง นานาประเทศจะปลอดพ้นจากสงครามและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
     ส่วนการประชุมที่กรุงมอสโก ค.ศ. ๑๙๔๗ นั้นเป็นการประชุมที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงและเป็นการประชุมครั้งที่ ๔ ของคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝ่ายพันธมิตร การประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และฝรั่งเศสที่นครนิวยอร์ก ค.ศ. ๑๙๔๖ การประชุมที่นิวยอร์กเป็นการร่างสนธิสัญญาสันติภาพกับอิตาลี ฮังการี โรมาเนีย บัลแกเรีย และฟินแลนด์ และก่อนปิดการประชุม ที่ประชุมมีมติให้มีการประชุมระหว่างผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศครั้งต่อไปที่กรุงมอสโกเพื่อพิจารณาสนธิสัญญาสันติภาพที่ จะทำกับเยอรมนีและออสเตรีย
     ก่อนการประชุมที่กรุงมอสโก มีการจัดประชุมกันขึ้นก่อนที่กรุงลอนดอนในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๗ เพื่อพิจาณาข้อคิดเห็นของประเทศพันธมิตรเล็ก ๆ ที่ร่วมทำสงครามกับเยอรมนี ผู้แทนประเทศพันธมิตรเล็ก ๆ ที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เชโกสโลวะเกีย โปแลนด์ ยูโกสลาเวีย และประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ผู้แทนประเทศดังกล่าวต่างเสนอความต้องการของตนและบ้างก็เรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามและดินแดน บ้างเรียกร้องให้กวาดล้างลัทธินาซีอย่างสิ้นซาก และบ้างขอสิทธิในการมีส่วนร่วมในการพิจารณาสัญญาสันติภาพและอื่น ๆ อังกฤษสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสสนับสนุนข้อเรียกร้องของประเทศพันธมิตรเล็ก ๆ เกือบทั้งหมด แต่สหภาพโซเวียตคัดค้านโดยยืนยันให้ปฏิบัติตามความตกลงเดิมด้วยการให้ ๔ ประเทศมหาอำนาจพันธมิตรเป็นผู้ร่างสัญญา เมื่อร่างสัญญาและจัดตั้งรัฐบาลกลางของเยอรมนีเสร็จแล้วก็จะเชิญประเทศเล็ก ๆ เข้าร่วมประชุมอีกครั้งก่อนที่ประเทศมหาอำนาจทั้งสี่จะประชุมทำสัญญาฉบับสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง ข้อเสนอของสหภาพโซเวียตไม่เป็นที่ยอมรับกัน ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้นำประเด็นดังกล่าวไป ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาที่กรุงมอสโก
     การประชุมที่กรุงมอสโกระหว่างวันที่ ๑๐ มีนาคม-๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๗ ซึ่งใช้เวลาเกือบ ๗ สัปดาห์ มีเรื่องพิจารณาที่เป็นข้อโต้แย้งกันหลายเรื่อง เช่น ปัญหาการแบ่งเยอรมนี การเรียกค่าปฏิกรรมสงคราม การล้มเลิกลัทธินาซี การจัดตั้งรัฐบาลเยอรมนีใหม่ และปัญหาออสเตรีย ที่ประชุมไม่สามารถตกลงกันได้เด็ดขาด ยกเว้นเรื่องดินแดนของปรัสเซียซึ่งส่วนใหญ่สหภาพโซเวียตและโปแลนด์ได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนแล้ว ดังนั้น ในวันสุดท้ายของการประชุมคือวันที่ ๒๕ เมษายนที่ ประชุมจึงมีมติให้เลื่อนการประชุมไปประชุมกันอีกเป็นครั้งที่ ๕ ที่กรุงลอนดอนในเดือน พฤศจิกายน ปีเดียวกัน และให้ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาปัญหาเยอรมนีต่อไปจนกว่าจะถึงการประชุมครั้งหน้า ตลอดจนให้ตั้งอนุกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาปัญหาที่เป็นข้อโต้แย้งต่าง ๆ เกี่ยวกับสัญญาออสเตรียโดยเฉพาะประเด็นเรื่อง "สินทรัพย์เยอรมัน" (German Assets) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าปฏิกรรมสงคราม
     การประชุมที่กรุงมอสโก ค.ศ. ๑๙๔๓ ได้มีส่วนวางรากฐานของความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระหว่างประเทศ และทำให้เกิดการประชุมครั้งสำคัญอีกหลายครั้งในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะสิ้นสุดลงกล่าวคือ การประชุมที่ดัมบาร์ตันโอกส์ (Dumbarton Oaks Conference ๒๑ สิงหาคม - ๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๔)* การประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference ๔ - ๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕)* และการประชุมที่พอทสดัม (Potsdam Conference ๑๗ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕)* ส่วนการประชุมที่กรุงมอสโก ค.ศ. ๑๙๔๗ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่าง ๓ ประเทศพันธมิตรตะวันตกกับสหภาพโซเวีย



คำตั้ง
Moscow Conference
คำเทียบ
การประชุมที่กรุงมอสโก
คำสำคัญ
- การประชุมที่ดัมบาร์ตันโอกส์
- ฮัลล์, คอร์เดลล์
- การประชุมที่ยัลตา
- ลัทธิฟาสซิสต์
- อีเดน, รอเบิร์ต แอนโทนี
- สตาลิน, โจเซฟ
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- รูสเวลต์, แฟรงกลิน เดลาโน
- ประกาศกรุงมอสโก
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน เลนเนิร์ด สเปนเซอร์
- การประชุมที่กรุงมอสโก
- กฎบัตรแอตแลนติก
- การประชุมที่พอทสดัม
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1943, 1947
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๘๖, ๒๔๙๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf