Mollet, Guy (1905-1975)

นายกี มอลเล (๒๔๔๘-๒๕๑๘)

​​​​​​    กี มอลเล เป็นรัฐบุรุษและนักการเมืองฝ่ายซ้าย คนสำคัญของฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เขาเป็นผู้นำพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส (French Socialist Party - SFIO) ที่มีบทบาทสำคัญในการชี้นำแนวทางของพรรค เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ และดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลชุดต่าง ๆ หลายตำแหน่ง ระหว่างที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ฝรั่งเศสประสบวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญถึง ๒ ครั้ง คือ วิกฤตการณ์ที่เกิดจากปัญหาการเรียกร้องเอกราชของแอลจีเรีย (Algeria) และวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis) ซึ่งทำให้เขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในการตัดสินใจกำหนดนโยบายของประเทศและต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย อย่างไรก็ ดีความล้มเหลวในการแก้


ปัญหาในครั้งนั้นก็มีส่วนทำให้ฝรั่งเศสต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยหันมามุ่งเน้นบทบาทในยุโรปมากขึ้น
     มอลเลเกิดเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ที่เมืองแฟลร์เดอลอร์น (Flers-de-l’ Orne) ในแคว้นนอร์มองดี (Normandy) ประเทศฝรั่งเศส บิดาเป็นช่างทอผ้า มารดาเป็นช่างตัดเสื้อซึ่งต่อมาเป็นคนดูแลอาคารของธนาคารออมสินในเมืองแฟลร์ แม้ว่าครอบครัวจะยากจนแต่มอลเลก็เป็นเด็กที่ ขยันหมั่นเพียรและเรียนดี เขาจึงสามารถศึกษาจนจบระดับปริญญาตรีในสาขาวรรณคดีอังกฤษจากมหาวิทยาลัยที่เมืองเลออาฟร์ (Le Havre) โดยอาศัยทุนการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วมอลเลก็ประกอบอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนมัธยมในเมืองอาราส (Arras) เขามีความสนใจการเมืองในแนวทางสังคมนิยมมาตั้งแต่อายุยังน้อย จึงเริ่มเข้าสู่ชีวิตการเมืองโดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรเยาวชนสังคมนิยม (Jeunesses Socialistes) ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ และเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสอย่างเต็มตัวใน ค.ศ. ๑๙๒๓ การที่มอลเลมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองของพรรคอย่างแข็งขัน ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจและการยอมรับจากเพื่อนร่วมอาชีพและสมาชิกพรรคฝ่ายซ้ายในแถบที่เขาอาศัยอยู่อย่างกว้างขวาง ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เขาได้เป็นผู้ช่วยเลขานุการขององค์กรเยาวชนสังคมนิยมของเมืองปาเดอกาเล (Pas-de-Calais) และก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เล็กน้อยมอลเลก็ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการของสหภาพวิชาชีพครูสังคมนิยม (Fédération de l’ Enseignement) ของเมืองอาราส
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นในเดือน กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ มอลเลเข้าเป็นทหารเสนารักษ์ ในกองทัพบก แต่ถูกกองทัพนาซีเยอรมันที่เข้ายึดครองฝรั่งเศสจับเป็นเชลยในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เขาถูกคุมขังอยู่ในเยอรมนีจนถึง ค.ศ. ๑๙๔๒ จึงได้รับการปล่อยตัว จากนั้นก็ได้เข้าร่วมงานใต้ดินกับขบวนการต่อต้านนาซีของฝรั่งเศส (French Resistance) โดยได้เป็นหัวหน้ากลุ่มต่อต้านนาซีสาขาเมืองอาราสและใช้ชื่อรหัสลับว่า "ลาบูล" (La boule) ในช่วงที่ทำงานต่อต้านอยู่นั้นมอลเลต้องเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ บ่อยครั้ง ทั้งยังถูกจับกุมและถูกนำตัวไปไต่สวนโดยพวกเกสตาโป (Gestapo)* ถึง ๓ ครั้ง แต่เขาก็สามารถเอาชีวิตรอดมาได้ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ มอลเลเดินทางกลับเมืองอาราสและได้เป็นเลขานุการของสำนักงานคณะกรรมการปลดปล่อยฝรั่งเศส (Comité Départementale de libération) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองนี้
     ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงไม่นาน มอลเลได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองอาราส และในเวลาใกล้เคียงกันเขาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจากเมืองปาเดอกาเลเป็นครั้งแรกด้วยมอลเลทำงานทางการเมืองในระดับชาติอย่างแข็งขันจึงได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมาธิการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ ๔ ของฝรั่งเศส (Fourth French Republic) ซึ่งประกาศใช้ในเดือนตุลาคม ค.ศ.๑๙๔๖ ทั้งยังได้รับเลือกตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสสืบต่อจากเลอง บลูม (Léon Blum)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งเขาได้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๙ อย่างไรก็ดี มอลเลก็สามารถทำงานในตำแหน่งหน้าที่ทั้งสามนี้พร้อม ๆ กันได้เป็นเวลาหลายปี
     หลัง ค.ศ. ๑๙๔๖ เป็นต้นมา มอลเลยังดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองในรัฐบาลหลายครั้งคือระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ - มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมของเลอง บลูมและระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๕๖ เป็นผู้แทนของรัฐบาลฝรั่งเศสในการประชุมสมัชชาที่ปรึกษา (Consultative Assembly) ของสภาแห่งยุโรป (Council of Europe)* โดยเขาได้รับเลือกเป็นประธานของสมัชชาและประธานของกลุ่มสังคมนิยมในสภาดังกล่าวหลายสมัย ในสมัยที่ เรอเน เปลอวอง (René Pleven)* เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ - มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ มอลเลยังได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของยุโรป ทั้งยังได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดต่อมาในช่วงสั้น ๆ นอกจากนี้ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๒-๑๙๕๖ เขายังได้เป็นสมาชิกรัฐสภาของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and Steel Community - ECSC)*
     มอลเลซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งฝรั่งเศสมีบทบาทเป็นอย่างมากในการเสริมสร้างความ นิยมและความแข็งแกร่งให้แก่พรรค เขาได้ปรับปรุงกลไกการดำเนินงานของพรรคเพื่อให้พรรคสามารถเข้าไปควบคุมการปฏิบัติงานของสมาชิกพรรคในสภาผู้แทนราษฎรได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างพันธมิตรกับพรรคฝ่ายซ้ายอื่น ๆ เพื่อให้พรรคสังคมนิยมได้มีโอกาสเข้าร่วมรัฐบาล ในระยะแรกที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงใหม่ ๆ มอลเลสนับสนุนการสร้างพันธมิตรระหว่างพรรคสังคมนิยมกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส (French CommunistParty) เนื่องจากเขาเคยมีประสบการณ์ทำงานร่วมกันมากับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในสมัยต่อต้านนาซี จึงพิจารณาว่าพรรคสังคมนิยมกับพรรคคอมมิวนิสต์น่าจะทำงานร่วมกันได้ เขาจึงคัดค้านการเข้าร่วมรัฐบาลผสมของพรรคสังคมนิยมโดยไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ร่วมอยู่ด้วยอย่างรุนแรง แต่ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๐ เป็นต้นมามอลเลกลับเปลี่ยนจุดยืนนี้ โดยหันมาต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผยและไม่ยอมร่วมมือด้วย ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใน สงครามเย็น (Cold War)* ทั้งในและนอกยุโรปใน ขณะนั้น อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนท่าทีของมอลเลดังกล่าวนี้ก็มีผลให้พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสปรับแนวนโยบายของพรรคเป็นสายกลาง โดยหันมาร่วมมือกับพรรคฝ่ายซ้ายอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์มากขึ้นกว่าในระยะแรก เพื่อแผ้วทางให้พรรคสังคมนิยมได้มีโอกาสเข้าร่วมรัฐบาลบ่อยครั้ง
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๕๖ มอลเลจึงร่วมมือกับปีแยร์มองแดส-ฟรองซ์ (Pierre Mendès-France)* หัวหน้าพรรคสังคมนิยมหัวรุนแรง (Radical Socialist Party) จัดตั้งแนวร่วมพรรคการเมืองกลางซ้าย (centre-left) ระหว่างพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสกับพรรคสังคมนิยมหัว รุนแรงในชื่อพรรคแนวร่วมริพับลิกัน (Republican Front) และได้ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป ส่งผลให้เขาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสมแนวร่วมฝ่ายซ้ายเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๕๖
     ปัญหาใหญ่แรกสุดที่รัฐบาลมอลเลต้องเผชิญในทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง คือปัญหาการเรียกร้องเอกราชของแอลจีเรียอาณานิคมของฝรั่งเศสในแอฟริกาเหนือซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ทั้งนี้เนื่องจากฝรั่งเศสยังต้องการที่จะปกครองแอลจีเรียต่อไป ทั้ง ๆ ที่มีนโยบายให้สิทธิปกครองตนเองแก่อาณานิคมแห่งอื่น ๆ ในแอฟริกาแล้วตั้งแต่หลังการพ่ายแพ้ที่เดียนเบียนฟู (Dien Bien Phu) ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ เพราะแอลจีเรียเป็นอาณานิคมที่มีความสำคัญที่สุดในแอฟริกาทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ (Front de la Lébération Nationale - FLN) ของ ชาวแอลจีเรียรักชาติจึงดำเนินการต่อสู้แบบกองโจรกับกองทัพฝรั่งเศส เพื่อเรียกร้องเอกราชของแอลจีเรียตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ ๑๙๕๔ เรื่อยมา ขณะที่ทางด้านกองทัพเองก็พยายามรักษาเกียรติภูมิของชาติโดยการใช้อิทธิพลเข้าไปแทรกแซงไม่ให้รัฐบาลยินยอมให้เอกราชแก่แอลจีเรีย ปัญหาแอลจีเรียจึงกลายเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลชุดต่าง ๆ สำหรับมอลเลนั้นในตอนแรกก็เห็นด้วยกับการให้เอกราชแก่แอลจีเรียเช่นเดียวกับนักการเมืองฝ่ายซ้ายคนอื่น ๆ จึงมีนโยบายที่จะเจรจากับผู้นำขบวนการชาตินิยมแอลจีเรียอย่างสันติ แต่ด้วยแรงกดดันจากกองทัพและเสียงเรียกร้องจากชาวฝรั่งเศสที่ไปตั้งรกรากอยู่ที่นั่นทำให้มอลเลกลับเปลี่ยนท่าทีเมื่อเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยมีความเห็นว่าจำเป็นต้องเอาชนะขบวนการชาตินิยมเหล่านั้นให้ได้อย่างเด็ดขาดก่อนที่การเจรจาจะเกิดขึ้น ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจทุ่มเทส่งกองทัพเข้าไปปราบปรามขบวนการกู้ชาติในแอลจีเรียอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่สามารถยุติสงครามได้ การตัดสินใจดังกล่าวจึงส่งผลเสียแก่รัฐบาลเป็นอย่างมาก เพราะทำให้แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติแอลจีเรียทวีการต่อต้านฝรั่งเศสอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งยังทำให้ความนิยมในรัฐบาลมอลเลลดลงไปมาก เนื่องจากเขาได้ขึ้นภาษีเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในกองทัพในยามที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนชาวฝรั่งเศสโดยทั่วไป ทั้งยังถูกโจมตีจากพวกฝ่ายซ้ายด้วยกันด้วย ปัญหานี้จึงกลายเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่บีบบังคับให้รัฐบาลมอลเลต้องหมดอำนาจลงในเวลาต่อมา
     ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ มอลเลต้องประสบกับมรสุมทางการเมืองระหว่างประเทศครั้งสำคัญในวิกฤตการณ์คลองสุเอซ เนื่องจากฝรั่งเศสได้ร่วมมือกับอังกฤษและอิสราเอลโจมตีและยึดครองบริเวณคลองสุเอซเพื่อตอบโต้การที่ประธานาธิบดียะมาล อับดุล นัสเซอร์ (Gamal Abdl Nasser) แห่งอียิปต์ประกาศยึดคลองสุเอซ (Suez Canal) ซึ่งเป็นคลองนานาชาติให้เป็นคลองแห่งชาติในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๖ อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทคลองสุเอซจึงสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลที่เคยได้รับมาเป็นเวลานาน แม้ว่ารัฐบาลอียิปต์จะสัญญาว่าจะจ่าย เงินชดเชยให้ก็ตาม แต่ประเทศทั้งสองก็เห็นว่าไม่คุ้มกันโดยเฉพาะอังกฤษเกรงว่าจะต้องพลอยสูญเสียอิทธิพลทางการเมืองในตะวันออกกลางไปด้วย ทั้งยังกลัวว่าอียิปต์อาจร่วมมือกับกลุ่มชาติอาหรับตัดเส้นทางขนส่งน้ำมันไปยังยุโรปด้วย ซึ่งจะทำให้ตนต้องสูญเสียผลประโยชน์มากขึ้น ส่วนฝรั่งเศสนั้นนอกจากไม่พอใจการกระทำของนัสเซอร์ในเรื่องคลองสุเอซแล้ว รัฐบาลมอลเลยังเชื่อว่าอียิปต์เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านอาวุธแก่กลุ่มกบฎกู้ชาติแอลจีเรียซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่จึงตัดสินใจร่วมมือกับอังกฤษและอิสราเอลซึ่งเป็นศัตรูกับกลุ่มชาติอาหรับอยู่แล้วโจมตีอียิปต์ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ โดยกองทัพอิสราเอลเริ่มโจมตีก่อนและอีก ๒ วันต่อมากองกำลังของอังกฤษและฝรั่งเศสก็ทิ้งระเบิดและโจมตีบริเวณคลองสุเอซ พร้อมทั้งยึดครองอาณาบริเวณทางด้านเหนือโดยปิดล้อมเมืองท่าพอร์ตเสด (Port Said) ไว้ได้ในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ขณะที่กองทัพอิสราเอลก็สามารถยึดครองคาบสมุทร ไซนาย (Sinai) ไว้ได้เช่นเดียวกัน
     ปฏิบัติการร่วมทางทหารของชาติทั้งสามก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและถูกประณามจากสังคมนานาชาติอย่างรุนแรง ทั้งยังทำให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเข้าไปแทรกแซงทั้งในและนอกองค์การสหประชาชาติ ในองค์การสหประชาชาตินั้น เมื่อกรณีคลองสุเอซถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) ในวันที่ ๓๐ ตุลาคมอภิมหาอำนาจทั้งสองได้ร่วมกันเสนอญัตติเรียกร้องให้อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอลหยุดยิงโดยทันที แต่ญัตติดังกล่าวถูกยับยั้ง (veto) โดยอังกฤษและฝรั่งเศส กรณีคลองสุเอซจึงถูกโอนเข้าสู่การพิจารณาในสมัชชาใหญ่ (General Assembly) ซึ่งมติหยุดยิงนี้ผ่านไปได้ด้วยคะแนน เสียง ๖๔ ต่อ ๕ ทำให้รัฐบาลของชาติทั้งสามต้องยอมรับการหยุดยิงพร้อมทั้งถอนทหารออกจากบริเวณคลองและยอมให้กองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ (UN Peace-Keeping Force) เข้าไปดูแลบริเวณคลองสุเอซแทน ความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายต่างประเทศในเรื่องนี้ นอกจากทำให้ฝรั่งเศสภายใต้การนำของรัฐบาลมอลเลต้องสูญเสียเกียรติภูมิในวงการเมืองระหว่างประเทศอย่างน่าอัปยศแล้ว ยังชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่าฝรั่งเศสยังคงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอภิมหาอำนาจอยู่ ส่วนมอลเลเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างกว้างขวางและถูกโจมตีจากสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างรุนแรง ฉะนั้นเมื่อข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสังคมในขณะที่งบประมาณของประเทศกำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรงไม่ผ่านการยอมรับของรัฐสภา รัฐบาลมอลเลจึงต้องลาออกทั้งคณะในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๗
     อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา ๑๖ เดือนที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น มอลเลก็ยังมีผลงานที่นับได้ว่าประสบความสำเร็จ คือ การให้อำนาจการปกครองตนเองบางส่วนแก่อาณานิคมของฝรั่งเศสที่อยู่ทางตอนใต้ของเขตสะฮารา และการตัดสินใจสร้างกองทัพติดอาวุธนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่การป้องกันตนเองในอนาคต นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทสำคัญผลักดันให้การเจรจาจัดทำสนธิสัญญาโรม (Treaties of Rome)* ทั้ง ๒ ฉบับสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีโดยเร็วจนมีการลงนามจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community - EEC)* และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป (European Atomic Energy Community - EURATOM)* โดยชาติสมาชิกทั้ง ๖ ประเทศในวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ ก่อนการพ้นจากตำแหน่งของเขาเกือบ ๒ เดือน ความสำเร็จในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปซึ่งพัฒนามาเป็นประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community EC)* และสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union - EU)* ในเวลาต่อมานั้น ไม่เพียงแต่เป็นการวางรากฐานที่สำคัญให้แก่การสร้างเอกภาพของยุโรป และทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นผู้นำในกระบวนการรวมยุโรปร่วมกับเยอรมนีตะวันตกเท่านั้น หากแต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของฝรั่งเศสที่ หันมามุ่งเน้นการเสริมสร้างบทบาทผู้นำยุโรปของตนโดยการลดบทบาทนอกยุโรปลงภายหลังความล้มเหลวในกรณีคลองสุเอซใน
     วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๘ มอลเลได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลปีแยร์ แฟลงแลง (Pierre Pflimlin) ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศเพื่อพยุงฐานะของสาธารณรัฐที่ ๔ ไว้ในขณะที่การเมืองภายในกำลังระส่ำระสายด้วยปัญหาสงครามในแอลจีเรียซึ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที และต่อมาในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน เขาก็ได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* ชุดแรก แต่ต้องลาออกไปในเดือน มกราคม ค.ศ. ๑๙๕๙ เนื่องด้วยความขัดแย้งในเรื่องงบประมาณ
     อย่างไรก็ดี มอลเลก็ยังคงทำงานในด้านการเมืองต่อไป ทั้งในฐานะผู้แทนราษฎรจากปาส์เดอกาเลส์ซึ่งเขาได้รับเลือกตั้งสืบต่อมา และในฐานะผู้นำพรรคสังคมนิยม โดยการทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์และให้การสนับสนุนแก่ฟรองซัว มิตแตร์รอง (Francois Mitterand)* ในการเลือกตั้งเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๖๕ ในบั้นปลายแห่งชีวิตแม้ว่ามอลเลจะได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญหลายตำแหน่งในพรรคฝ่ายค้านของฝรั่งเศส แต่เขาก็ไม่สามารถกลับมาจัดตั้งรัฐบาลได้อีกเลย กี มอลเลถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ ขณะมีอายุได้ ๗๐ ปี.



คำตั้ง
Mollet, Guy
คำเทียบ
นายกี มอลเล
คำสำคัญ
- ประชาคมยุโรป
- สุเอซ, คลอง
- โกล, ชาร์ล เดอ
- สนธิสัญญาโรม
- นอร์มองดี, แคว้น
- พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส
- ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
- แฟลร์เดอลอร์น, เมือง
- มอลเล, กี
- ขบวนการต่อต้านนาซีของฝรั่งเศส
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- วิกฤตการณ์คลองสุเอซ
- เกสตาโป
- บลูม, เลอง
- ปาเดอกาเล, เมือง
- พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส
- สภาแห่งยุโรป
- เปลอวอง, เรอเน
- ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป
- สงครามเย็น
- มองแดส-ฟรองซ์, ปีแยร์
- นัสเซอร์, ยะมาล อับดุล
- แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ
- มิตแตร์รอง, ฟรองซัว
- ไซนาย, คาบสมุทร
- สหภาพยุโรป
- แฟลงแลง, ปีแยร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1905-1975
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๔๘-๒๕๑๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf