การประชุมที่เมืองเมสซีนาบนเกาะซิซิลีในอิตาลีเป็นการประชุมระหว่างประเทศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตก อิตาลีและกลุ่มประเทศ เบเนลักซ์ (Benelux)* ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งทั้งหกของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and Steel Community - ECSC)* ระหว่างวันที่ ๑-๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๕ เพื่อพิจารณาการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี (European Economic Community - EEC)* และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม (European Atomic Energy Community - EURATOM)* ผลของการประชุมคือการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกอีซีเอสซีทั้ง ๖ ประเทศขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีปอล-อองรี สปาก (Paul-Henri Spaak)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมเป็นประธานเพื่อทำหน้าที่เจรจาและจัดทำรายละเอียดของประชาคมทั้งสองซึ่งปรากฏผลในรายงานสปาก (Spaak Report) ที่นำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาโรม (Treaties of Rome)* ๒ ฉบับเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ นับเป็นความสำเร็จในการบูรณาการยุโรป (European integration) ในขั้นที่ ๒
การประชุมที่เมืองเมสซีนาเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสำเร็จในการจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปใน ค.ศ. ๑๙๕๒ และความล้มเหลวของการจัดตั้งกองทัพร่วมยุโรปหรือประชาคมป้องกันยุโรปหรืออีดีซี (European Defence Community - EDC)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิดหลังการเริ่มดำเนินงานของประชาคมถ่านหินและ เหล็กกล้ายุโรปได้ไม่นาน ยาน วิลเลม เบเยิน (Jan Willem Beyen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เสนอแผนเบเยิน (Beyen Plan) ต่อรัฐบาลชาติสมาชิกอีซีเอสซีอีก ๕ ประเทศให้ขยายการบูรณาการประชาคมออกไปเพื่อครอบคลุมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วนในลักษณะตลาดร่วมยุโรป (European Common Market) แทนการทดลองบูรณาการเฉพาะภาคอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กกล้าเท่านั้น เพราะเห็นว่าจะได้ประโยชน์แก่การค้าของยุโรปตะวันตกมากขึ้น ทั้งยังจะช่วยลดนโยบายปกป้องทางการค้าของสมาชิกบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศสและอิตาลี ซึ่งเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อสินค้าของเนเธอร์แลนด์อย่างมาก นอกเหนือจากตลาดในเยอรมนีตะวันตกซึ่งทวีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง แผนเบเยินยังเสนอให้มีการลดหย่อนภาษีศุลกากรของชาติสมาชิกทั้ง ๖ ชาติทีละขั้นตอนเพื่อจะให้บรรลุความเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) อย่างสมบูรณ์ภายในเวลาที่กำหนด ทั้งยังเสนอการจัดตั้งสถาบันเหนือรัฐ (supranational authority) ขึ้นเช่นเดียวกับ "High Authority" หรือคณะกรรมาธิการของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ดูแลและบังคับบัญชาการดำเนินการลดหย่อนภาษีศุลกากรดังกล่าว แต่ข้อเสนอของเนเธอร์แลนด์ไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาติสมาชิกอื่นแต่ประการใด แม้แต่เบลเยียมซึ่งเป็นภาคีสมาชิกสหภาพศุลกากรเบเนลักซ์ (Benelux Customs Union) ด้วยกัน เนเธอร์แลนด์จึงต้องระงับข้อเสนอดังกล่าวไว้ก่อน
ต่อมา ในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ รัฐสภาฝรั่งเศสไม่ผ่านการให้สัตยาบันสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ฉบับ ค.ศ. ๑๙๕๒ ทำให้แผนจัดตั้งประชาคมป้องกันยุโรปของสมาชิกอีซีเอสซีทั้ง ๖ ประเทศไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังทำให้สนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมการเมืองยุโรป (European Political Community - EPC) ก็ไม่ผ่านการให้สัตยาบันด้วย ความล้มเหลวครั้งนี้มีความสำคัญมากเพราะทำให้เกิดการเร่งบูรณาการในขั้นตอนที่ ๒ ขึ้น เนื่องจากชาติสมาชิกต่างตระหนักว่าการเริ่มบูรณาการยุโรปโดยใช้วิธีทางการเมืองจะประสบความสำเร็จได้ยาก ควรแสวงหาวิธีอื่นที่จะผลักดันให้การบูรณาการดำเนินต่อไปได้ และเห็นว่าวิธีการทางเศรษฐกิจจะเหมาะสมที่สุดในต้น ค.ศ. ๑๙๕๕ ชอง มอนเน (Jean Monnet)* ประธานคณะกรรมาธิการของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปซึ่งเป็นผู้ยกร่างแผนชูมอง (Schuman Plan)* จึงได้เสนอแผนต่อรัฐบาลประเทศสมาชิกอีซีเอสซีให้ขยายการบูรณาการประชาคมครอบคลุมพลังงานทุกประเภทรวมทั้งการขนส่งและจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูสำหรับใช้ในกิจการพลเรือนขึ้น โดยผ่านทางปอลอองรี สปากแห่งเบลเยียม แต่ประเทศต่าง ๆ ไม่ได้ให้ ความสนใจต่อข้อเสนอนี้ เพราะไม่เห็นด้วยกับระบบการบูรณาการเฉพาะภาคส่วน (sectoral integration) ของมอนเน ยกเว้นฝรั่งเศสเท่านั้นที่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวด้วยความกระตือรือร้นโดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้มีการจัดตั้งยูราตอม ซึ่งได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในแวดวงอุตสาหกรรมและการเมืองระหว่างประเทศ
บรรยากาศดังกล่าวทำให้เบเยินรีบฉวยโอกาสเสนอแผนจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปของเขาต่อรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๕ เช่นเดียวกัน ข้อเสนอนี้ได้รับการตอบรับด้วยดีจากเยอรมนีตะวันตก แต่ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากภาคอุตสาหกรรมในฝรั่งเศสเพราะเกรงว่าการจัดตั้งตลาดร่วมจะทำให้อุตสาหกรรมของฝรั่งเศสไม่สามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมของเยอรมนีได้ แม้จะมีข้อลดหย่อนและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ฝรั่งเศสก็ตามและเหตุผลในข้อนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มอนเนไม่ได้เสนอการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจตั้งแต่แรก อย่างไรก็ดี สปากก็ยังไม่ละความพยายามที่จะทำให้ยูราตอมเกิดขึ้น ในกลางเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๕ เขาจึงเดินทางไปพบนายกรัฐมนตรีวิลเลม เดรส (Willem Drees) แห่งเนเธอร์แลนด์และโจเซฟ เบค (Joseph Bech) แห่งลักเซมเบิร์กเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องการบูรณาการยุโรปในที่สุดด้วยแรงกดดันจากเนเธอร์แลนด์ ทั้ง ๓ ประเทศก็ตกลงกันได้โดยสปากยินยอมให้รวมข้อเสนอของมอนเนกับข้อเสนอของเบเยินเข้าอยู่ในชุดเดียวกันในชื่อ"ข้อเสนอของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์" (Benelux Initiative) หรือ "บันทึกความจำเบเนลักซ์" (Benelux Memorandum) และได้ส่งให้รัฐบาลประเทศสมาชิกอีซีเอสซีพิจารณาในเดือนเดียวกัน ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ ก็มีการตีพิมพ์และเปิดเผยข้อเสนอชุดนี้อย่างเป็นทางการและนำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมที่เมืองเมสซีนาซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในต้นเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน
การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อที่ประชุมได้แต่งตั้งเรอเนเมเอ (René Mayer) อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปของอีซีเอสซีสืบต่อจากมอนเนซึ่งหมดวาระ ต่อจากนั้นที่ประชุมก็ได้มุ่งพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์เพียงเรื่องเดียว ซึ่งได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลาอันยาวนานตลอดการประชุมกว่าจะหาข้อสรุปได้ ปัญหาสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของการอภิปรายถกเถียงในที่ประชุมคือ ปัญหาการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปและปัญหาการจัดตั้งยูราตอม เพราะปัญหาทั้งสองมีความเกี่ยวพันกันและมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของชาติสมาชิกทุกประเทศโดยเฉพาะมหาอำนาจหลัก เช่น ฝรั่งเศส และเยอรมนีตะวันตก ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันอย่างมาก ฝรั่งเศสสนับสนุนโครงการยูราตอมมาแต่ต้นเพราะผู้นำฝรั่งเศสต้องการเข้าไปควบคุมแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ของยุโรปเพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งทางด้านพลเรือนและการทหาร เจตนารมณ์ในเรื่องนี้เป็นที่ ประจักษ์ชัดแก่บรรดาผู้แทนประเทศอื่น ๆ จึงเกิดความระแวงสงสัยและไม่สนับสนุนโครงการดังกล่าวเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ภายในฝรั่งเศสเองก็ยังมีหลายฝ่ายที่สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าภายในตลาดร่วมยุโรปและต้องการผลักดันให้เกิดตลาดร่วมยุโรปขึ้น ฉะนั้น เพื่อทำให้ยูราตอมเกิดขึ้นและเพื่อไม่ให้ฝรั่งเศสถูกโดดเดี่ยวจากชาติสมาชิกอื่นทั้งยังจะสามารถรักษาเสียงสนับสนุนจากบรรดานักนิยมยุโรป (Europeanist) ไว้ได้ ผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสจึงจำเป็นต้องสนับสนุนการจัดตั้งตลาดร่วมยุโรปเพื่อเชื่อมโยงไปสู่การจัดตั้งยูราตอมในคราวเดียวกัน
ส่วนเยอรมนีตะวันตกสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปมากกว่ายูราตอม แม้ว่าใน ตอนแรกภายในเยอรมนีจะมีความขัดแย้งระหว่างลุดวิก แอร์ฮาร์ด (Ludwig Erhard)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจกับวัลเทอร์ ฮัลชไตน์ (Walter Hallstein) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับปัญหาการเปิดเสรีทางการค้าและการจัดตั้งสหภาพศุลกากร เพราะแอร์ฮาร์ดสนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าและการลดหย่อนภาษีศุลกากรในระดับโลกผ่านความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าหรือแกตต์ (General Agreement on Tariffs and Trade - GATT)* มากกว่าการจัดตั้งตลาดร่วมยุโรปและสหภาพศุลกากรในระดับภูมิภาคตามข้อเสนอของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ในขณะที่ฮัลชไตน์สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าผ่านประชาคมเศรษฐกิจยุโรปอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีคอนราด อาเดเนาร์ (Konrad Adenauer)* ซึ่งดูแลกิจการต่างประเทศทั้งหมดสนับสนุนฮัลชไตน์เพราะเห็นว่าเยอรมนีจะได้รับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองเป็นอย่างมาก ทั้งยังต้องการนำเยอรมนีตะวันตกเข้าสู่เวทีการเมืองระหว่างประเทศและเข้าร่วมกิจกรรมของยุโรปตะวันตกอย่างแข็งขันด้วยการสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปจึงเป็นนโยบายหลักของเยอรมนีตะวันตก ฉะนั้นฮัลชไตน์จึงเป็นผู้นำของเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมดำเนินการเจรจาต่อรองกับฝรั่งเศสในเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประชาคมทั้งสองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยมีเนเธอร์แลนด์ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่จะได้ชื่อว่าเป็นนักนิยมยุโรปที่มีความเชื่อมั่นในระบบสหพันธ์นิยมก็ตาม แต่ บุคคลเหล่านี้ก็ยังไม่ต้องการให้การบูรณาการยุโรปเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไปในลักษณะของ "การก้าวกระโดด" จึงเลือกที่จะดำเนินการประชุมอย่างระมัดระวังเพื่อให้การบูรณาการเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ นอกจากนี้ หลังความล้มเหลวของการจัดตั้งประชาคมป้องกันยุโรปความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีก็ดีขึ้นมาก จนทำให้ประเทศทั้งสองต้องการรักษาระดับความสัมพันธ์นี้ไว้แต่ความไม่ไว้ใจของเยอรมนีที่มีต่อฝรั่งเศสในเรื่องความร่วมมือทางนิวเคลียร์และความไม่ไว้ใจของฝรั่งเศสที่มีต่อเยอรมนีที่พยายามผลักดันให้จัดตั้งตลาดร่วมยุโรปก็ฝังรากลึก จนทำให้ประเทศทั้งสองไม่สามารถแสวงหาคำตอบที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ และทำให้กลุ่มเบเนลักซ์ซึ่งเป็นประเทศเล็กเกิดความวิตกกังวล เพราะเกรงว่าข้อเสนอของตนจะประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับประชาคมป้องกันยุโรป
อย่างไรก็ดี บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศทั้งหลายต่างก็ไม่ต้องการให้การประชุมยุติลงโดยไม่มีการสรุป หลังชมการแสดงที่โรงละครทัวร์มินา (Taormina) อันเก่าแก่ของซิซิลีและงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ประเทศเจ้าภาพจัดให้เป็นเกียรติแก่ผู้เข้าประชุมแล้ว ในตอนดึกของคืนวันที่ ๒ มิถุนายน ผู้แทนของประเทศทั้งหกก็ได้ตัดสินใจที่จะให้กระบวนการบูรณาการยุโรปเดินหน้าต่อไป โดยลงมติให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีสปากเป็นประธานให้ ทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งประชาคมยุโรปทั้ง ๒ ประชาคมตามข้อเสนอของกลุ่มประเทศ เบเนลักซ์ อองตวน ปีเน (Antoine Pinay) ผู้แทนฝรั่งเศสก็ยังเป็นคนสุดท้ายที่ยอมลงมติด้วย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความสามารถของสปากที่ได้เจรจาเป็นการส่วนตัวกับปีเนจนเป็นผลสำเร็จ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากเหตุผลของฝรั่งเศสเองที่เห็นว่าการยับยั้งตลาดร่วมยุโรปจะเป็นการเร็วเกินไปหลังจากที่ได้ยับยั้งการจัดตั้งอีดีซีมาได้ไม่นาน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ออกปฏิญญาเมสซีนา (Messina Declaration) เพื่อใช้เป็นกรอบของการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการด้วย การประชุมจึงยุติลงด้วยดีในรุ่งอรุณของวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๕
หลังการประชุมที่เมืองเมสซีนาคณะกรรมาธิการที่มีสปากเป็นประธานก็ได้เริ่มดำเนินงานอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ -มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ โดยจัดประชุมส่วนใหญ่ที่กรุงบรัสเซลส์จนการจัดทำ "รายงานสปาก" ซึ่งเป็นผลการทำงานของคณะกรรมาธิการประสบความสำเร็จและตีพิมพ์ในเดือน เมษายน ค.ศ. ๑๙๕๖ ความสำเร็จของคณะกรรมาธิการชุดนี้เป็นหนี้บุญคุณสปากเป็นอย่างมากที่ใช้ความสามารถส่วนตัวทั้งในด้านการเร่งดำเนินงานและจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาประนีประนอมระหว่างผู้แทนรัฐบาลชาติสมาชิกของอีซีเอสซีทั้ง ๖ ประเทศอย่างแข็งขัน รายงานสปากประกอบด้วยเนื้อหา ๒ส่วนส่วนแรกซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดและมีความยาว ๘๔ หน้าเป็นรายละเอียดและโครงสร้างของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งสปากได้เปลี่ยนคำว่า "การสร้างยุโรป" (European construction) ในปฏิญญาเมสซีนา เป็น "การบูรณาการยุโรป" (European integration) ส่วนที่ ๒ ซึ่งมีความยาว ๒๔ หน้า เป็นรายละเอียดของการจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป สปากได้เสนอรายงานฉบับนี้ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศที่เมืองเวนิซในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน และนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมระหว่างรัฐบาลของชาติสมาชิกที่กรุงบรัสเซลส์ในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ เมื่อผ่านการรับรองแล้ว จึงมีการเจรจายกร่างสนธิสัญญาขึ้น ๒ ฉบับ โดยใช้รายงานดังกล่าวเป็นพื้นฐาน ฉบับแรกเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปและฉบับที่ ๒ เป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป ซึ่งได้รับการลงนามพร้อมกัน ณ กรุงโรม อิตาลี เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ สนธิสัญญาดังกล่าวจึงได้ชื่อสนธิสัญญาโรมทั้ง ๒ ฉบับ และเมื่อสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๕๘ ก็เกิดประชาคมยุโรปขึ้นใหม่อีก ๒ ประชาคม การประชุมที่เมืองเมสซีนาใน ค.ศ. ๑๙๕๕ จึงมีความสำคัญในประวัติศาสตร์การรวมยุโรปในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการบูรณาการยุโรปในขั้นที่ ๒ อันเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดของการจัดตั้งสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union)* ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบั