Mendès-France, Pierre (1907-1982)

นายปีแยร์ มองแดส-ฟรองซ์ (๒๔๔๙-๒๕๒๕)

​     ​​​​ปีแยร์ มองแดส-ฟรองซ์ เป็นรัฐบุรุษ นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ และนักการเมืองสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส เขาเป็นหัวหน้าพรรคสังคมนิยมหัวรุนแรง (Radical Socialist Party) ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๔-๑๙๕๕ และดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ที่สำคัญหลายตำแหน่งตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐที่ ๓ (Third French Republic)* จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)*

บทบาทที่โดดเด่นของมองแดส-ฟรองซ์ในระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีคือ ความสามารถในการเจรจาระหว่างประเทศจนทำให้ฝรั่งเศสสามารถถอนตัวจากสงครามอินโดจีน (Indochina War) ได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๕๔ ในปีเดียวกันนั้นยังทำให้สนธิสัญญาจัดตั้งกองทัพยุโรปหรือประชาคมป้องกันยุโรปหรืออีดีซี (European Defence Community - EDC)* ไม่ผ่านการให้สัตยาบันในรัฐสภาฝรั่งเศสรวมทั้งการเริ่มดำเนินนโยบายให้เอกราชแก่ตูนีเซีย (Tunisia) และโมร็อกโก (Morocco) ในแอฟริกาเหนือนอกจากนี้ เขายังมีความสามารถทางด้านเศรษฐกิจการคลังระหว่างประเทศซึ่งมีผลงานเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์หลายเรื่อง
     มองแดส-ฟรองซ์เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ที่กรุงปารีส ในครอบครัวชาวโปรตุเกสเชื้อสายยิว เขาศึกษาทางด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปารีสจนได้รับปริญญาเอกสาขาวิชากฎหมาย ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ โดยเสนอวิทยานิพนธ์ว่าด้วยการฟื้นฟู ทางด้านเศรษฐกิจการคลังของฝรั่งเศสในสมัยรัฐบาล เรมง ปวงกาเร (Raymond Poincaré)* ซึ่งเขาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของ ฝรั่งเศสอันเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายปรับค่าเงินฟรังก์ไว้อย่างน่าสนใจ ในปีเดียวกันนั้นมองแดส-ฟรองซ์สอบได้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาของกรุงปารีสขณะมีอายุ ๒๑ ปี และเป็นทนายความและเนติบัณฑิตที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น
     มองแดส-ฟรองซ์เป็นคนหนุ่มหัวก้าวหน้าที่ฉลาดเฉียบแหลมและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เขาสนใจการเมืองและเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมาตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยปารีส ทั้งเคยเข้าร่วมกิจกรรมในขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาสังคมนิยมในถิ่นการ์ติเยลาแตง (Quartier Latin) และใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคสังคมนิยมหัวรุนแรง โดยการชักชวนของเอดูอาร์ แอร์รีโย (Edouard Herriot)* หัวหน้าพรรคสังคมนิยมหัวรุนแรงที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี การเข้าสู่ชีวิตทางการเมืองอย่างเต็มตัวของมองแดส-ฟรองซ์นี้ทำให้เขารู้จักนักการเมืองระดับชาติอีกหลายคนและมีโอกาสแสดงความคิดเห็นทางการเมืองให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๙ มองแดส-ฟรองซ์ย้ายไปประกอบอาชีพทนายที่เมืองลูวีเย (Louviers) ในเขตเออเร (Euré) เขาจึงทำงานทางการเมืองให้กับเขตเออเรนี้ไปพร้อม ๆ กัน ในปีต่อมามองแดส-ฟรองซ์ได้รับรางวัลชมเชยจากการเขียนบทความเรื่อง La banquedes règlements Internationaux ซื่งเป็นการศึกษาปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดตั้งสหรัฐแห่งยุโรป (United States of Europe) อันเป็นหัวข้อที่ปัญญาชนชาวยุโรปกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่อย่างกว้างขวางในเวลานั้นชื่อของมองแดส-ฟรองซ์จึงเป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากขึ้น
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ มองแดส-ฟรองซ์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเออเรสมัยแรกแม้ว่าเขาจะเป็นผู้แทนที่มีอายุน้อยที่สุดของฝรั่งเศสแต่เขาก็ได้แสดงความสามารถจนเป็นที่ยอมรับในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างรวดเร็ว มองแดส-ฟรองซ์ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อแนวคิดทางเศรษฐกิจการเมืองใหม่ ๆ ที่ตรงข้ามกับแนวคิดของนักการเมืองอนุรักษนิยม และในการเสนอผลงานทางด้านเศรษฐกิจครั้งแรกของเขาต่อสภาผู้แทนราษฎรใน ค.ศ. ๑๙๓๔ มองแดส-ฟรองซ์เป็นที่สนใจและชื่นชมของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายซ้ายเป็นอย่างมาก ทำให้เขาเจริญก้าวหน้าในอาชีพทางการเมืองอย่างรวดเร็ว มองแดส-ฟรองซ์ถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มผู้แทนหนุ่มหัวก้าวหน้า หรือกลุ่ม "เติร์กหนุ่ม" (jeunes turcs) รุ่นเดียวกับชากเกเซร์ (Jacques Kayser) กาสตง แบร์เชอรี (Gaston Bergery) ปีแยร์ โก (Pierre Cot) และชอง เซ (Jean Zay) เป็นต้น และในระยะเดียวกันนี้มองแดส-ฟรองซ์ได้สมรสกับลีลี ซีคูแรล (Lily Cicurel) ใน ค.ศ. ๑๙๓๓
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ มองแดส-ฟรองซ์ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองลูวีเยอีกตำแหน่งหนึ่งและใน ปีต่อมาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากเขตเออเรเป็นสมัยที่ ๒ ในปีเดียวกันนี้เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงคนเดียวในรัฐสภาที่ ออก เสียงคัดค้านการส่งนักกีฬาฝรั่งเศสไปร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ กรุงเบอร์ลินในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๓๖ โดย มีเยอรมนีในสมัยนาซีเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ด้วย ความสามารถทางด้านเศรษฐกิจการคลังของมองแดส-ฟรองซ์ก็ทำให้เลอง บลูม (Léon Blum)* เลือกเขาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลผสมสมัยที่ ๒ ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๘ มองแดส-ฟรองซ์และชอร์ชโบรี (Georges Boris) ได้ ร่วมกันเสนอแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อรัฐสภา แต่แผนนี้ยังไม่ทันได้ถูกนำไปใช้รัฐบาลบลูมก็หมดอำนาจเสียก่อน
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นในเดือน กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ มองแดส-ฟรองซ์เข้าเป็นนักบินในกองทัพอากาศ แต่ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ หลังจากที่ฝรั่งเศสยอมแพ้แก่กองทัพนาซีและจัดตั้งรัฐบาลวีชี (Vichy Government)* ขึ้นมาปกครองประเทศแล้ว เขาก็ถูกจับกุมที่เมืองคาซาบลังกา (Casablanca) ในโมร็อกโกพร้อมกับเพื่อนร่วมงานอีก ๒-๓ คนในข้อหาละทิ้งหน้าที่และต่อต้านรัฐบาลใหม่ เขาถูกส่งตัวไปคุมขังอยู่ในค่ายกักกันนักโทษในเยอรมนีจนถึงเดือน มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ จึงสามารถหลบหนีออกมาได้ และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ มองแดส-ฟรองซ์ก็เดินทางต่อไปยังอังกฤษเพื่อร่วมงานกับขบวนการฝรั่งเศสเสรี (Free French Movement)* ซึ่งขณะนั้นมี ศูนย์กลางอยู่ที่กรุงลอนดอน เขาเป็นนักบินในกองทัพอากาศฝรั่งเศสเสรีอยู่จนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ จึงถูกนายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* หัวหน้ารัฐบาลพลัดถิ่นฝรั่งเศสเรียกตัวไปประจำที่กรุงแอลเจียร์ (Algiers) เมืองหลวงของแอลจีเรีย (Algeria) เพื่อให้เป็นรัฐมนตรีการคลัง (Commissioner for Finance) ของรัฐบาลพลัดถิ่นและในปีต่อมาเขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสเสรีไปร่วมประชุมทางด้านการเงินระหว่างประเทศที่เบรตตันวูดส์ (Bretton Woods) ในสหรัฐอเมริกา
     หลังการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรที่นอร์มองดี (Normandy) ในวันดีเดย์ (D-Day)* เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ แล้ว ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนายพลเดอ โกลและบรรดาสมาชิกขบวนการฝรั่งเศสเสรีก็เดินทางกลับสู่มาตุภูมิ และนายพลเดอ โกลก็จัดตั้งรัฐบาลผสมเฉพาะกาลประกอบด้วยพรรคและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ขึ้นบริหารประเทศทันที มองแดส-ฟรองซ์ ซึ่งเป็นผู้แทนของพรรคสังคมนิยมหัวรุนแรงได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติ (Minister of National Economy) ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการบูรณะฟื้นฟูประเทศและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการคลังที่ตกต่ำอย่างหนักในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มองแดส-ฟรองซ์เสนอให้รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดโดยการควบคุมการเงินของประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อมุ่งลดภาวะเงินเฟ้อ แต่ประธานาธิบดีเดอ โกลและผู้ร่วมรัฐบาลคนอื่น ๆ ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเรอเน เปลอวอง (René Pleven)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีความเห็นว่าฝรั่งเศสควรใช้นโยบายเสรีทางการเงินซึ่งตรงข้ามกับนโยบายของมองแดส-ฟรองซ์ ดังนั้น เมื่อเดอ โกลสนับสนุนเปลอวอง เขาจึงลาออกจากตำแหน่งในเดือน เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ อย่างไรก็ดี มองแดส-ฟรองซ์ยังคงได้รับความเชื่อถือในความสามารถทางด้านเศรษฐกิจการคลังระหว่างประเทศอยู่ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ เขาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสในคณะกรรมการอำนวยการของธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะฟื้นฟูและการพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development-IBRD) หรือธนาคารโลก (World Bank) และเป็นผู้แทนของฝรั่งเศสในกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund - IMF)* ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และใน ค.ศ. ๑๙๔๗ เขายังได้เป็นผู้แทนของรัฐบาลฝรั่งเศสในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations’ Economic and Social Council - ECOSOC) ด้วย
     หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ ๔ ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ แล้ว มองแดส-ฟรองซ์ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเออเรในปีเดียวกัน และใน ค.ศ. ๑๙๔๗ ก็ได้เป็นหัวหน้าพรรคสังคมนิยมหัวรุนแรง หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ พรรคสังคมนิยมหัวรุนแรงเสียคะแนนนิยมลงไปมาก และผู้แทนของพรรคก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในรัฐสภาในจำนวนมากกว่าร้อยละ ๑๐ เพียงเล็กน้อย แต่พรรคภายใต้การนำของมองแดส-ฟรองซ์ก็สามารถเข้าไปมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลผสมชุดต่าง ๆ ที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาบริหารประเทศ และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๓ มองแดส-ฟรองซ์ได้พยายามจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคสังคมนิยมหัวรุนแรงเป็นแกนนำขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรมากพอ อย่างไรก็ดี ในปีเดียวกันเขาก็ยังได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านการคลังของรัฐสภา มองแดส-ฟรองซ์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ใช้ความรู้ความสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มแข็งและรุนแรง จนมีบทบาทโดดเด่นในรัฐสภา เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายทางเศรษฐกิจการเมืองและวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะนโยบายการทุ่มกำลังทัพฝรั่งเศสเข้าไปรบในสงครามอินโดจีนนั้น มองแดส-ฟรองซ์คัดค้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๐ โดยมีความเห็นว่าฝรั่งเศสควรถอนตัวออกจากสงครามครั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่อย่างหนักหน่วง และเพื่อช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศลงในเวลาเดียวกันด้วย นโยบายของมองแดส-ฟรองซ์ในเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองสังคมนิยมอย่างกว้างขวาง
     อย่างไรก็ดี สงครามอินโดจีนซึ่งเริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๖ ก็ได้ดำเนินมาจนถึงจุดแตกหักใน ค.ศ. ๑๙๕๔ เมื่อกองทัพฝรั่งเศสประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่เดียนเบียนฟู (Dien Bien Phu) เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม และในวันที่ ๘ พฤษภาคมสหประชาชาติก็ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศขึ้นที่นครเจนีวาสวิตเซอร์แลนด์เพื่อพิจารณาปัญหาสันติภาพในอินโดจีนการประชุมดำเนินมาจนถึงกลางเดือนมิถุนายนก็ต้อง หยุดชะงักลง เพราะบรรดาผู้แทนรัฐบาลที่เกี่ยวข้องไม่สามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้ ในขณะเดียวกันชาวฝรั่งเศสก็เริ่มหมดความอดทน รัฐบาลโชแซฟ ลานีแอล (Joseph Laniel) จึงต้องลาออกทั้งคณะ เพื่อเปิดโอกาสให้มองแดส-ฟรองซ์ซึ่งคุมเสียงข้างมาก ในสภาจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศ และในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๔ มองแดส-ฟรองซ์ได้ให้สัญญากับประชาชนชาวฝรั่งเศสว่าเขาจะจัดการกับปัญหาการสร้างสันติภาพในอินโดจีนให้สำเร็จภายในเวลา ๑ เดือน มิฉะนั้นเขาจะลาออก ดังนั้นทันทีที่เขาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๘ มิถุนายนแล้ว เขาจึงเร่งดำเนินการตามสัญญาในการนำฝรั่งเศสออกจากสงครามอินโดจีนโดยเร็ว ตามที่เขาเคยยืนยันอย่างหนักแน่นต่อรัฐสภาเพื่อขออนุมัติการถอนตัวครั้งนั้นตอนหนึ่งว่า "ฝรั่งเศสไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากต้องถอนตัวออกจากอินโดจีนอย่างสิ้นเชิง" มองแดส-ฟรองซ์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาอย่างท่วมท้นด้วยคะแนนเสียง ๔๗๑ ต่อ ๑๔ เสียง ต่อจากนั้นเขาก็ใช้ความสามารถทางการทูตดำเนินการเจรจาต่อรองกับบรรดาผู้นำประเทศที่มีอิทธิพลในปัญหาอินโดจีนทั้งโดยเปิดเผยและโดยทางลับ จนในที่สุดในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ สหประชาชาติก็ได้เปิดการประชุมระหว่างประเทศขึ้นที่นครเจนีวาอีกครั้งหนึ่งและในวันรุ่งขึ้นผู้แทนประเทศต่าง ๆ ก็ได้ลงนามในความตกลงเจนีวา (Geneva Agreement) ซึ่งมีสาระสำคัญในเรื่องการหยุดยิงของคู่กรณีการถอนตัวของฝรั่งเศสออกจากอินโดจีน การแบ่งเวียดนามออกเป็น ๒ ส่วนโดยมีเส้นขนานที่ ๑๗ เป็นเส้นแบ่ง รวมทั้งการกำหนดขั้นตอนในการให้เอกราชแก่ เวียดนาม กัมพูชา และลาว เป็นต้น แม้ว่าความตกลงนี้จะไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาอินโดจีนที่ถาวร แต่ก็มีความสำคัญต่อฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก เพราะทำให้สามารถถอนตัวออกมาจากสงครามอินโดจีนซึ่งสู้รบกันมาเป็นเวลานานถึง ๘ ปีได้สำเร็จ เป็นการแก้ปัญหาอันเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียทรัพยากรและ กำลังทัพจำนวนมหาศาล ทั้งยังสามารถรักษาเอกภาพของชาติไว้ ได้มองแดส-ฟรองซ์จึงได้รับยกย่องในความสำเร็จครั้งนี้เป็นอย่างมาก แม้ว่าเขาจะถูกต่อต้านจากนักการเมืองอนุรักษนิยมและพวกคาทอลิกบางกลุ่มก็ตาม
     ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งในขณะนั้นที่มองแดส-ฟรองซ์เร่งแก้ไขคือการเรียกร้องเอกราชของอาณานิคมฝรั่งเศสในแอฟริกาเหนือ เขาเปิดการเจรจากับผู้นำชาตินิยมตูนีเซียและโมร็อกโกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ เพื่อยุติการจลาจลที่เกิดขึ้นและเตรียมการให้เอกราชแก่ประเทศทั้งสองซึ่งบรรลุผลใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถควบคุมอาณานิคมเหล่านี้ไว้ได้อีกต่อไป อย่างไรก็ดี มองแดส-ฟรองซ์ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาแอลจีเรียซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๗ ได้ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ หัวหน้าขบวนการชาตินิยมแอลจีเรียได้พยายามต่อรองเพื่อเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสหลายครั้ง ในตอนแรกมองแดส-ฟรองซ์มีนโยบายที่จะให้เอกราชแก่แอลจีเรียต่อจากตูนีเซียและโมร็อกโก แต่การที่แอลจีเรียมีสถานะพิเศษในรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ ๔ และมีความสำคัญต่อฝรั่งเศสทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งยังมีชาวฝรั่งเศสจำนวนนับล้านคนไปตั้งรกรากอยู่ที่นั่น ประกอบกับได้รับแรงกดดันอย่างหนักหน่วงจากกองทัพหลังการพ่ายแพ้ที่เดียนเบียนฟู ก็ทำให้มองแดส-ฟรองซ์ตัดสินใจที่จะให้ฝรั่งเศสปกครองแอลจีเรียต่อไป การเจรจาจึงประสบความล้มเหลว และชาวแอลจีเรียชาตินิยมจึงรวมตัวกันเป็นแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ (Front de la Libération Nationale - FLN) ทำการสู้รบแบบกองโจรต่อกองทัพฝรั่งเศสตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๔ ซึ่งต่อมาได้ขยายตัวเป็นสงครามแอลจีเรีย (Algerian War)* ที่ฝรั่งเศสต้องทุ่มเทกำลังทัพจำนวนมหาศาลเข้าไปสู้รบเป็นเวลานาน ส่วนมองแดส-ฟรองซ์เองก็ถูกโจมตีจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยว่าเขาปิดฉากสงครามในอินโดจีนเพียงเพื่อเปิดสงครามครั้งใหม่ในแอลจีเรียปัญหาแอลจีเรียจึงทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลมองแดส-ฟรองซ์เริ่มสั่นคลอนมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๔
     ในช่วงเดียวกันมองแดส-ฟรองซ์ยังต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในและระหว่างประเทศอย่างรุนแรงในเรื่องการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) เพื่อจัดตั้งประชาคมป้องกันยุโรปหรืออีดีซี ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมาเป็นเวลานาน เป็นที่ทราบกันดีว่าฝรั่งเศสในสมัยรัฐบาลเรอเน เปลอวองเสนอแผนการจัดตั้งอีดีซีขึ้นมาใน ค.ศ. ๑๙๕๑ เพื่อแก้ปัญหาการติดอาวุธให้แก่กองทัพเยอรมนีตะวันตกตามแผนการของสหรัฐอเมริกาโดยการนำเยอรมนีตะวันตกเข้าร่วมในโครงการจัดตั้งกองทัพร่วมยุโรปเสียเอง แทนการปล่อยให้สหรัฐอเมริกาติดอาวุธและนำเยอรมนีตะวันตกเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization NATO)* ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสยังไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในขณะนั้น อย่างไรก็ดี หลังการลงนามในสนธิสัญญาปารีสฉบับดังกล่าวโดยสมาชิกทั้ง ๖ ประเทศใน ค.ศ. ๑๙๕๒ แล้ว ฝรั่งเศสกลับลังเลที่จะให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาฉบับนี้ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งกว่านั้นหลังเหตุการณ์ที่ เดียนเบียนฟูแล้วกองทัพและการเมืองภายในของฝรั่งเศสเองก็แตกแยก ในขณะที่ชาวฝรั่งเศสบางกลุ่มก็เริ่มวิตกกังวลถึงการที่เยอรมนีตะวันตกอาจเข้ามามีอำนาจเหนือกองทัพฝรั่งเศสในอีดีซี หากปล่อยให้อีดีซีเกิดขึ้น มองแดส-ฟรองซ์จึงจำเป็นต้องเลือกที่จะรักษาเอกภาพของชาติไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่เขาสนับสนุนกระบวนการการรวมยุโรป ในตอนแรกมองแดส-ฟรองซ์ได้แก้ปัญหานี้โดยการเจรจาต่อรองกับผู้นำชาติสมาชิกอีดีซีในกลุ่มเบเนลักซ์ (Benelux)* ก่อน เพื่อขอให้ปรับเงื่อนไขบางประการในเรื่องที่เกี่ยวกับกองทัพในสนธิสัญญาปารีสที่ได้ลงนามไปแล้ว แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เขาจึงจำเป็นต้องนำร่างสนธิสัญญาฉบับนี้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาตัดสินว่าจะให้สัตยาบันหรือไม่ ผลปรากฏว่าในการลงมติเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ สนธิสัญญาปารีสไม่ผ่านการให้สัตยาบันด้วยคะแนน เสียง ๓๑๖ ต่อ ๒๖๔ เสียง และงดไม่ออกเสียง ๔๓ เสียง การจัดตั้งอีดีซีจึงถูกล้มเลิกไป และเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่ามองแดส-ฟรองซ์เป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มที่สนับสนุนกองทัพยุโรปในฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี มองแดส-ฟรองซ์ก็ยังสามารถรักษาภาพลักษณ์ของฝรั่งเศสที่มีต่อความร่วมมือในยุโรปไว้ได้ โดยสนับสนุนการจัดตั้งสหภาพยุโรปตะวันตก (Western European Union - WEU) ภายใต้การนำของอังกฤษซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๙๕๕ พร้อมทั้งสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตของเยอรมนีตะวันตกเป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการป้องกันยุโรปไปได้ในระดับหนึ่ง
     แม้ว่ามองแดส-ฟรองซ์จะเป็นผู้นำที่มีความสามารถในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในยามที่ประเทศประสบวิกฤตการณ์หลายด้านในเวลาเดียวกันและมีส่วนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ฝรั่งเศสก็ตาม แต่นโยบายในบางเรื่องของเขาก็สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มการเมืองกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนชาวฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะนโยบายแอฟริกาเหนือและนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้รัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลมองแดส-ฟรองซ์จนต้องลาออกทั้งคณะในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๕ รวมเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น ๗ เดือน ๑๗ วัน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๕๖ มองแดส-ฟรองซ์ร่วมมือกับกี มอลเล (Guy Mollet)* หัวหน้าพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสจัดตั้งแนวร่วมรีพับลิกัน (Front Républicain) และได้ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป เขาจึงได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลกี มอลเล ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๖ แต่ลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันเนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องการให้เอกราชแก่แอลจีเรีย
     จากนั้นมองแดส-ฟรองซ์ก็หันมามุ่งพัฒนาพรรคสังคมนิยมหัวรุนแรงให้เป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่มีส่วนสร้างสรรค์การเมืองของฝรั่งเศสให้มีความทันสมัย ทั้งนี้เพื่อเรียกคะแนนนิยมให้กลับคืนมาเหมือนในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง กับสมาชิกพรรคในปีกขวาที่นำโดยเอดกา โฟร์ (Edgar Faure) ซึ่งเคยร่วมมือกันคัดค้านนโยบายเศรษฐกิจการเมืองของเขามาแล้วตั้งแต่สมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีมองแดส-ฟรองซ์จึงลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคใน ค.ศ. ๑๙๕๗ แล้วไปเป็นผู้นำพรรคสหภาพพลังประชาธิปไตย (Union of Democratic Forces) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากที่ประธานาธิบดีเดอ โกล กลับคืนสู่อำนาจใน ค.ศ. ๑๙๕๘ แล้ว เขายังพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ทำให้เขาสูญเสียที่นั่งในรัฐสภาเป็นเวลาหลายปี ทั้งยังถูกขับออกจากพรรคสังคมนิยมหัวรุนแรงใน ค.ศ. ๑๙๕๙ อีกด้วยเนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ที่สนับสนุนเดอ โกลไม่พอใจการที่เขาไปจัดตั้งพรรคสหภาพพลังประชาธิปไตยขึ้นมาเพื่อต่อต้านเดอ โกล
     อย่างไรก็ดี มองแดส-ฟรองซ์ก็ยังคงรักษาอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายไว้อย่างเคร่งครัดและยังไม่ยอมวางมือจากการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๖๐ เขาเข้าร่วมกับพรรคสหสังคมนิยม (United Socialist Party - PSU) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเล็ก ๆ ของกลุ่มปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่มีแนวนโยบายต่อต้านเดอ โกล ทั้งยังให้การสนับสนุนแก่ ฟรองซัว มิตแตร์รอง (François Mitterrand)* ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับเดอ โกลใน ค.ศ. ๑๙๖๕ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๖๗ มองแดส-ฟรองซ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเมืองเกรอโนเบลอ (Grenoble) แต่ต้องสูญเสียภรรยาซึ่งถึงแก่กรรมลงในปีเดียวกัน นอกจากนี้ เขายังร่วมมือกับนักศึกษาก่อการจลาจลในกรุงปารีสในเหตุการณ์เดือน พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ ด้วย และต่อมาไม่นานเขาต้องสูญเสียที่นั่งในรัฐสภาไปหลังชัยชนะอย่างท่วมท้นของเดอ โกลในการเลือกตั้งทั่วไปในปีเดียวกัน ทำให้บทบาท ทางการเมืองของเขาลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังไม่สามารถรวบรวมผู้ที่ต่อต้านประธานาธิบดี เดอ โกลให้เป็นกลุ่มทางการเมืองที่เข้มแข็งได้ อย่างไรก็ดี เขาก็ยังช่วย รณรงค์หาเสียงให้แก่กาสตง เดอแฟร์ (Gaston Defferre) ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. ๑๙๖๙ และหลังจากที่ฟรองซัว มิตแตร์รองจัดตั้งพรรคสังคมนิยม (Socialist Party) ขึ้นมาใหม่ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ แล้วมองแดส-ฟรองซ์ก็ยังให้การสนับสนุนแก่มิตแตร์รองในการเลือกตั้งประธานาธิบดีตลอดมาจนกระทั่งมิตแตร์รองได้เป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๘๑ โดยที่ตัวเขาเองไม่ได้พยายามที่จะกลับเข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองอีกเลย
     มองแดส-ฟรองซ์สมรสใหม่กับมารี-แกลร์ เดอ เฟลอรีเยอ (Marie-Claire de Fleurieu) ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ และอำลาจากชีวิตทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๗๓ เนื่องจากมีปัญหาทางด้านสุขภาพหลังการเจ็บป่วยครั้งใหญ่ใน ค.ศ. ๑๙๗๒ ในระยะหลังมองแดส-ฟรองซ์ดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวจากสาธารณชน และใช้เวลาส่วนใหญ่อุทิศให้กับการเขียนและการจัดพิมพ์หนังสือทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองอันเป็นงานที่เขารักและได้ ทำมาเป็นเวลานาน มองแดส-ฟรองซ์ได้รับยกย่องว่าเป็นทั้งนักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญผู้หนึ่งของฝรั่งเศส เขามีผลงานเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษจำนวนมาก นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ และ ๑๙๗๗ เขายังมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพระหว่างยิวกับอาหรับในตะวันออกกลางอย่างไม่เป็นทางการอีกด้วย โดยทำหน้าที่เป็นคนกลางจัดให้มีการเจรจาลับและการพบปะระหว่างผู้แทนของฝ่ายอิสราเอลกับปาเลสไตน์ตามคำขอร้องของทั้ง ๒ ฝ่าย
     ปีแยร์ มองแดส-ฟรองซ์ถึงแก่อสัญกรรมขณะเขียนหนังสือที่โต๊ะทำงาน ณ บ้านพักในกรุงปารีสเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ ขณะมีอายุ ๗๖ ปี รัฐบาลฝรั่งเศสได้แสดงความไว้อาลัยเขาด้วยการประกอบพิธีศพให้อย่างสมเกียรติ ชื่อของเขายังได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อมหาวิทยาลัย สถานศึกษา สถาบันวิชาการทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองหลายแห่ง และทุนการศึกษา เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ปีแยร์ มองแดส-ฟรองซ์รัฐบุรุษคนสำคัญผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ.



คำตั้ง
Mendès-France, Pierre
คำเทียบ
นายปีแยร์ มองแดส-ฟรองซ์
คำสำคัญ
- สมัยสาธารณรัฐที่ ๓
- สงครามแอลจีเรีย
- ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะฟื้นฟูและการพัฒนา
- แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ
- ลานีแอล, โชแซฟ
- ความตกลงเจนีวา
- เฟลอรีเยอ, มารี-แกลร์ เดอ
- คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ
- แอลเจียร์, กรุง
- แอลจีเรีย
- วันดี-เดย์
- เปลอวอง, เรอเน
- รัฐบาลวิชี
- โบรี, ชอร์ช
- บลูม, เลอง
- แบร์เชอรี, กาสตง
- นอร์มองดี
- เซ, ชอง
- ซีคูแรล, ลีลี
- คาซาบลังกา, เมือง
- โกล, ชาร์ล เดอ
- โก, ปีแยร์
- ขบวนการฝรั่งเศสเสรี
- เกเซร์, ชาก
- แอร์รีโย, เอดูอาร์
- กลุ่มเติร์กหนุ่ม
- เออเร, เขต
- สหรัฐแห่งยุโรป
- ลูวีเย, เมือง
- สงครามอินโดจีน
- ปวงกาเร, เรมง
- การ์ติเยลาแตง
- ตูนิเซีย
- ประชาคมป้องกันยุโรป
- กองทัพร่วมยุโรป
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- มองแดส-ฟรองซ์, ปีแยร์
- กลุ่มเบเนลักซ์
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- มอลเล, กี
- สหภาพยุโรปตะวันตก
- โฟร์, เอดกา
- เดอแฟร์, กาสตง
- เกรอโนเบลอ, เมือง
- สนธิสัญญาปารีส
- มิตแตร์รอง, ฟรองซัว
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1907-1982
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๔๙-๒๕๒๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf