จูเซปเป มัซซีนี เป็นนักชาตินิยมชาวอิตาลี เขาเป็นผู้จัดตั้งขบวนการอิตาลีหนุ่ม (Young Italy หรือ Giovine Italia) ขึ้น เพื่อสร้างกระแสการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy)* หรือ "รีซอร์จีเมนโต" (Resorgimento) แนวคิดทางการเมืองของเขาคือการรวมชาติอิตาลีและจัดตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐเขามีบทบาทในการเคลื่อนไหวของนักชาตินิยมและนักสาธารณรัฐนิยมชาวอิตาลีอย่างมากในช่วงต้นทศวรรษ ๑๘๓๐ ถึงปลายทศวรรษ ๑๘๔๐
และเป็นผู้นำสูงสุดผู้หนึ่งในการปกครองสาธารณรัฐโรม (Republic of Rome) ที่สถาปนาขึ้นระหว่างเหตุการณ์การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* มัซซีนีต่อต้านระบอบ การปกครองแบบกษัตริย์และแนวคิดการรวมชาติอิตาลีที่มีราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Kingdom of Piedmont-Sardinia)* เป็นผู้นำ ดังนั้นเขาจึงไม่ยอมรับความสำเร็จของการรวมชาติอิตาลีและการสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลี (Kingdom of Italy)ที่ เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๖๑ และพยายามต่อต้านตลอดชีวิต
มัซซีนีเกิดเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๐๕ ณ เมืองเจนัว (Genoa) ในอดีตสาธารณรัฐลิกูเรียน (Ligurian Republic มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๗ - พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๕) ในคาบสุมทรอิตาลี ซึ่งในขณะนั้นได้ถูกจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ประกาศยุบและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)* โดยอยู่ในเขตปกครองของจังหวัดแอปเพนนินส์ (Apennins) แชน (Gênes) และมอนเตนอตเต (Montenotte) ครอบครัวของเขามีฐานะดีและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป บิดาชื่อจาโกโม มัซซีนี (Giacomo Mazzini) มีอาชีพเป็นแพทย์ ในเยาว์วัย มัซซีนีมีสุขภาพอ่อนแอแต่ก็เป็นเด็กที่ฉลาดเฉลียวและชอบเรียนหนังสือ เขาได้รับการศึกษาเบื้องต้นและการอบรมอย่างเข้มงวดจากนักบวชที่นิยมในลัทธิแจนเซน (Jansenism) ซึ่งทำให้เขาเป็นคนเคร่งศาสนา แต่ขณะเดียวกันก็กลับทำให้เขาเป็นพวกต่อต้านนักบวชด้วย
ขณะมัซซีนีมีอายุได้ ๑๐ ปี สงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ได้สิ้นสุดลงและที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ได้พิจารณาให้ยึดเมืองเจนัวคืนจากฝรั่งเศสและให้รวมเข้ากับราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย เขาจึงกลายเป็นพลเมืองปีดมอนต์ อย่างไรก็ดี คำตัดสินของที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนาดังกล่าวได้สร้างความผิดหวังให้แก่มัซซีนีอย่างมากในเวลาต่อมา เพราะเขามีความคิดฝังใจว่าที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนาน่าจะฟื้นฟูสาธารณรัฐลิกูเรียนและให้สิทธิชาวเจนัวในการปกครองแบบสาธารณรัฐ ดังนั้น การที่เมืองเจนัวต้องตกอยู่ใต้การปกครองของราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาดิเนียจึงทำให้เขาต่อต้านราชวงศ์ซาวอย (Savoy) และต้องการล้มล้างระบอบการปกครองแบบกษัตริย์
มัซซีนีได้เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเจนัว โดยเลือกศึกษากฎหมายเป็นวิชาเอกแต่ขณะเดียวกันเขาก็เรียนวิชาปรัชญาและวิชาแพทยศาสตร์ควบคู่ไปด้วย และสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๘๒๗ ขณะมีอายุ ๒๒ ปี มัซซีนีเป็นนักอ่านและมีใจรักงานวรรณกรรมอย่างมาก เขาสะสมผลงานอมตะของนักเขียน กวี และนักแต่งบทละครชาติต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงอาทิ โยฮันน์ วอล์ฟกัง ฟอน เกอเท (Johann Wolfgang von Goethe ค.ศ. ๑๗๔๙-๑๘๓๒) จอร์จ กอร์ดอน ไบรอน บารอนไบรอนที่ ๖ (George Gordon Byron, 6th Baron Byron ค.ศ. ๑๗๘๘-๑๘๒๔) เซอร์วอลเตอร์สกอตต์ (Sir Walter Scott ค.ศ. ๑๗๗๑-๑๘๓๒) ดันเตอาลีกีเอรี (Dante Alighieri ค.ศ. ๑๒๖๕-๑๓๒๑) อูโกฟอสโกโล (Ugo Foscolo ค.ศ. ๑๗๗๘-๑๘๒๗) และ อาเลสซานโดร ฟรันเซสโก ตอมมาโซ อันโตนีโอ แมนโซนี (Alessandro Francesco Tommaso Antonio Manzoni ค.ศ. ๑๗๘๕-๑๘๗๓) เป็นต้น ซึ่งมีจำนวนรวมกันกว่า ๑๐๐ เล่ม อย่างไรก็ดี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะรวมชาติอิตาลีจึงทำให้เขาจำใจต้องยุติความปรารถนาที่ จะเป็นนักเขียนและอุทิศตนให้แก่ขบวนการรวมชาติอิตาลี
ในปีที่สำเร็จการศึกษานั้น มัซซีนีได้เข้าร่วมใน สมาคมคาร์โบนารี (Carbonari)* ซึ่งเป็นสมาคมลับของชาวอิตาลีที่ยึดอุดมการณ์เสรีนิยมและสนับสนุนระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ พวกคาร์โบนารีซึ่งได้รับแรงดลใจจากเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution)* หรือการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐ (Revolution of 1830)* ในฝรั่งเศสจึงลุกฮือในรัฐต่าง ๆ แต่ถูกปราบปรามได้ มัซซีนีถูกจับกุมด้วยและส่งตัวไปคุมขังที่เมืองซาโวนา (Savona) เป็นเวลา ๓ เดือนระหว่างปลาย ค.ศ. ๑๘๓๐ - ต้น ค.ศ. ๑๘๓๑ ความล้มเหลวของสมาคมคาร์โบนารีที่ขาดผู้นำที่เข้มแข็งและการจัดตั้งองค์กรที่มีประสิทธิภาพจึงทำให้มัซซีนีปลีกตัวออกจากสมาคม หลังจากที่ได้รับอิสรภาพและเดินทางไปลี้ภัยในฝรั่งเศส มัซซีนีก็ได้จัดตั้งขบวนการอิตาลีหนุ่มขึ้น ณ เมืองมาร์เซย์ (Marseille) ในเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๑ ในเวลาอันสั้น สมาชิกของสมาคมคาร์โบนารีจำนวนมากก็ได้หันมาเป็นสมาชิกของ ขบวนการอิตาลีหนุ่ม ก่อให้เกิดการขยายตัวและการจัดตั้งสาขาของขบวนการลับนี้ไปทั่วอิตาลี โดยมีเป้าหมาย ในการรวมชาติอิตาลีและจัดตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้น แนวคิดการจัดตั้งขบวนการอิตาลีหนุ่มดังกล่าวนี้ก็ได้รับการเผยแพร่ไปยังดินแดนอื่น ๆ ด้วยก่อให้เกิดขบวนการเยอรมันหนุ่ม (Young Germany) ขบวนการโปแลนด์หนุ่ม (Young Poland) ขบวนการสวิสหนุ่ม (Young Switzerland) และขบวนการยุโรป หนุ่ม (Young Europe หรือ Giovane Europa) ในที่สุดด้วย
ความสำเร็จของขบวนการอิตาลีหนุ่มนอกจากจะมาจากแนวคิดในการจัดตั้งให้เป็นการเคลื่อนไหวระดับชาติแทนระดับท้องถิ่นที่มีการดำเนินงานและการวางแผนอย่างแยบยลแล้ว บุคลิกภาพ รูปร่างอันสง่างามท่วงทีในการเจรจา ความองอาจและความกระตือรือร้นตลอดจนวิสัยทัศน์ของมัซซีนีก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับขบวนการเป็นอย่างมาก มัซซีนีได้ใช้สาขาต่าง ๆ ของขบวนการอิตาลีหนุ่มที่จัดตั้งในเมืองต่าง ๆ ในอิตาลีเป็นแหล่งกระจายข่าวและเรียกร้องให้พวกชาตินิยมอิตาลีร่วมมือกันลุกฮือเพื่อขับไล่บรรดาพระราชวงศ์ที่ปกครองรัฐต่าง ๆ ออกจากบัลลังก์รวมทั้งกำจัดอำนาจของจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* ที่แผ่อิทธิพลเข้าปกครองดินแดนบางส่วนของอิตาลีด้วย อย่างไรก็ดี ความล้มเหลวในการปลุกระดมทหารให้ก่อรัฐประหารในราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียใน ค.ศ. ๑๘๓๒ มีผลให้มัซซีนีถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในขณะที่เขายังคงพำนักลี้ภัยในเมืองมาร์เซย์ ต่อมามัซซีนีได้ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งได้รับแรงกดดันจากคณะผู้แทนของราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียขับออกนอกประเทศ เขาจึงไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๓๓ มัซซีนีได้ส่งจดหมายไปถวายพระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ต (Charles Albert ค.ศ. ๑๘๓๑-๑๘๔๙)* กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียให้ทรงเป็นผู้นำในการรวมชาติอิตาลีและทำสงครามกับออสเตรีย แม้พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ตจะมีอุดมการณ์ชาตินิยม แต่พระองค์ก็ไม่ทรงยินยอมให้มัซซีนีและขบวนการอิตาลีหนุ่มเข้าไปมีบทบาทในปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ในทางตรงกันข้าม พระองค์ทรงใช้มาตรการลงโทษกับกลุ่มชาตินิยมดังกล่าว ดังนั้น เมื่อมัซซีนีเข้าไปมีส่วนในการยุยงให้กองทัพและประชาชนก่อกบฏในเมืองเจนัวและลอมบาร์ดี (Lombardy) ใน ค.ศ. ๑๘๓๓ และการลุกฮือของพวกชาตินิยมในซาวอยใน ค.ศ. ๑๘๓๔ เขาก็ถูกตัดสินประหารชีวิตอีกนับครั้งไม่ถ้วน โดยที่เขายังคงลี้ภัยอยู่ภายนอกประเทศและไม่มีโอกาสกลับมาสู้คดีและแก้ข้อกล่าวหา
ใน ค.ศ. ๑๘๓๔ มัซซีนียังได้จัดตั้งขบวนการยุโรปหนุ่มขึ้นที่กรุงเบิร์น (Berne) เพื่อรวมกำลังของเสรีชนในนานาประเทศยุโรปให้เป็นปึกแผ่น โดยมุ่งมั่นจะให้อิตาลีมีบทบาทเป็นผู้นำของขบวนการนี้ อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวของเขาได้ถูกฝรั่งเศสต่อต้าน ประกอบกับแรงกดดันจากรัฐบาลปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย จึงทำให้มัซซีนีถูกขับออกจากสวิตเซอร์แลนด์ และต้องลี้ภัยในดินแดนต่าง ๆ เป็นเวลาหลายปี จนในที่สุด ในต้น ค.ศ. ๑๘๓๗ เขาก็เดินทางไปลี้ภัย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และอาศัยอยู่ที่นี่เกือบตลอดชีวิต แม้จะมีฐานะยากจน แต่มัซซีนีก็อุทิศตนเองเพื่อการศึกษาโดยเปิดโรงเรียนให้เด็ก ๆ ชาวอิตาลี ส่วนตัวของเขาเองก็มุมานะ เรียนภาษาอังกฤษจนสามารถเขียนภาษาอังกฤษได้ดีและสามารถส่งบทความไปลงพิมพ์ในวารสาร Edinburgh วารสาร Westminster และหนังสืออื่น ๆ ได้นอกจากนี้มัซซีนียังเขียนจดหมายเพื่อแสดงความคิดเห็นและจุดยืนในความคิดทางการเมืองของเขาอีกจำนวนมาก ซึ่งตลอดชีวิตของเขามีจดหมายรวมกันมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ฉบับและหนังสือรวมบทความกว่า ๑๐๐ เล่ม
ที่กรุงลอนดอน มัซซีนีได้มีโอกาสรู้จักกับทอมัส คาร์ไลล์ (Thomas Carlyle)* นักคิดและนักเขียนคนสำคัญของอังกฤษและเจน เวลช์ (Jane Welsh) ภรรยา ทั้งสองได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน คาร์ไลล์แสดงความเห็นใจและสนับสนุนมัซซีนีในอุดมการณ์ชาตินิยมและแนวคิดการรวมชาติอิตาลีของเขา นอกจากนี้ เขายังได้เขียนบทความแสดงความชื่นชมมัซซีนีในหนังสือพิมพ The Times ว่ามัซซีนีเป็นบุคคลอัจฉริยะและเป็นผู้มีคุณธรรมที่หายาก ทั้งยังสมควรจะได้รับการเชิดชูและขนานนามว่า "ผู้เสียสละเพื่อความชอบธรรม" (martyr souls) อย่างแท้จริง แต่สำหรับคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* ซึ่งลี้ภัยในอังกฤษในช่วงระยะเวลาเดียวกันได้วิจารณ์มัซซีนีว่าเป็น "ประชาชนของโบสถ์ประชาธิปไตยที่ลี้ภัย" (People of the Democratic Church in exile) และเป็นนักสร้างวลีที่ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงของพวกชาวนาอิตาลีเลย ส่วนมัซซีนีซึ่งไม่สนใจลัทธิสังคมนิยม (Socialism)* มากนักก็ให้คำจำกัดความมากซ์ว่าเป็น "บุรุษผู้เฉียบแหลมแต่อัจฉริยะถูกละลายหายไป" (a man of a cute but dissolvent genius) และเป็นนักเทศน์ให้ผู้คนเกิดความเกลียดชังกันมากกว่าจะก่อให้เกิดความ ร่วมมือกัน
ในทศวรรษ ๑๘๔๐ ขณะพำนักในอังกฤษและประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ โดยออกหนังสือชื่อ L’ Apostolato Populare นั้น มัซซีนีได้กลายเป็นเสมือนนักบุญของพวกชาตินิยมอิตาลี เขาสามารถทำให้พวกชาตินิยมดังกล่าวเชื่อว่าการรวมชาติอิตาลีเป็นพระบัญญัติของพระเป็นเจ้า ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๔๗ มัซซีนีได้มีหนังสือถึงสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ (Pius IX ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๘๗๘)* ซึ่งเพิ่งทรงได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำของการรวมชาติอิตาลี แต่ถูกปฏิเสธ ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ไปทั่วยุโรป มัซซีนีได้ถือโอกาสเดินทางกลับอิตาลีและเข้าร่วมกับฝ่ายปฏิวัติที่เมืองมิลานในเดือนมีนาคมหลังจากสามารถขับไล่กองทัพออสเตรียออกจากเมืองได้สำเร็จ มัซซีนีพยายามรณรงค์ ให้พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ตเป็นผู้นำในการรวมชาติอิตาลีแต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะพระองค์ยังคงไม่ประสงค์ที่จะร่วมมือกับเขาและพวกก่อการปฏิวัติ ในเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ หลังจากกองทัพออสเตรียสามารถยึดเมืองมิลานคืนมาได้ มัซซีนีก็หนีออกนอกประเทศไปสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง แต่ต่อมาในเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๙ เมื่อพวกชาตินิยมสามารถยึดกรุงโรมและประกาศจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐโรม ทั้งยุบอำนาจปกครองของสันตะปาปา มัซซีนีจึงได้รับเชิญให้ร่วมเป็น ๑ ใน ๓ ของคณะผู้บริหารสูงสุด (Triumvirate) ของสาธารณรัฐโรม อย่างไรก็ดี ในเวลาไม่ช้าสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ ก็ทรงเรียกร้องให้ออสเตรียฝรั่งเศส และสเปนเข้าปราบปรามพวกกบฏ ดังนั้นเจ้าชายชาร์ล หลุยส์ นโปเลียน [Charles Louis Napoleon* หรือต่อมาคือจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๑-๑๘๗๐)*]* พระภาติยะ (หลานลุง) ของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศสจึงส่งกองทัพมาช่วย กองทัพออสเตรียและเนเปิลส์ได้ร่วมมือกันกับฝรั่งเศสปะทะกับกองทัพของจูเซปเป การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi)* ผู้นำคนสำคัญของฝ่ายปฏิวัติและเป็นสมาชิกคนสำคัญของขบวนการอิตาลีหนุ่มและสหายของมัซซีนีจนแตกพ่ายอย่างยับเยิน ในเดือนกรกฎาคมกองทัพฝรั่งเศสก็สามารถเคลื่อนพลเข้ายึดโรมและฟื้นฟูอำนาจของสันตะปาปาได้ ส่วนมัซซีนีก็สามารถหลบหนีไปสวิตเซอร์แลนด์ได้ก่อนจะเดินทางกลับไปพำนักในกรุงลอนดอน
แม้มัซซีนีจะประสบความล้มเหลวในการรักษาสาธารณรัฐโรมให้ยั่งยืนได้ แต่เขาก็สามารถต้านกำลังทัพของฝรั่งเศสได้เป็นเวลาหลายเดือน นับเป็นจุดสูงสุดของความสำเร็จในชีวิตของเขาในฐานะนักปฏิวัติ นอกจากนี้ การรวมพลังของชาวอิตาลีชาตินิยมอย่างแข็งขันยังเป็นเครื่องพิสูจน์ให้แก่นานาประเทศเห็นถึงความปรารถนาและความพยายามสูงสุดของชาวอิตาลีที่ต้องการรวมชาติและทำให้ปัญหาอิตาลีเป็นที่ประจักษ์มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ในทศวรรษ ๑๘๕๐ มัซซีนีก็ยังคงทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจในการเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดการรวมชาติอิตาลีต่อไป ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ และ ค.ศ. ๑๘๕๓ เขามีบทบาทในการวางแผนให้ชาวเมืองมันตูอา (Mantua) และเมืองมิลานก่อกบฏขึ้น แต่ประสบความล้มเหลวเพราะขาดการเตรียมการที่รัดกุมและความร่วมมือระหว่างฝ่ายต่าง ๆ อิทธิพลของมัซซีนีจึงเริ่มตกต่ำลงและทำให้เพื่อน ๆ นักปฏิวัติของเขารวมทั้งการีบัลดี ตีจาก นอกจากนี้ การลี้ภัยอยู่นอกประเทศที่ห่างไกลจากแผ่นดินอิตาลีก็ทำให้มัซซีนีไม่สามารถเห็นปัญหาว่า "คนธรรมดาทั่วไป" ในอิตาลีส่วนใหญ่ต่างไม่ได้มีความสนใจในเรื่องชาตินิยม หรือเรื่องสาธารณรัฐนิยมมากนัก และคนอีกจำนวนมากก็เห็นว่าการรวมชาติอิตาลีจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากภายนอกด้วย แต่มัซซีนีก็ปฏิเสธที่จะยอมรับแนวคิดประการหลังนี้ ใน ค.ศ. ๑๘๕๗ เขาจึงเดินทางเข้าไปอิตาลีอย่างลับ ๆ เพื่อเคลื่อนไหวให้เกิดการลุกฮือใน เมืองเจนัว เลกออร์น (Leghorn) และเนเปิลส์ แต่ต้องผิดหวังอีกครั้งและเดินทางกลับกรุงลอนดอนในที่สุด
ขณะที่มัซซีนีกำลังสูญเสียความเป็นผู้นำในการรวมชาติอิตาลีดังกล่าว ชาวอิตาลีชาตินิยมต่างก็หันไปให้ความสำคัญแก่ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียซึ่งมี เคานต์คามิลโล เบนโซ ดี คาวัวร์ (Camillo Benso di Cavour)* เป็นอัครเสนาบดีและมีแนวคิดที่จะรวมชาติอิตาลีและขยายพระราชอำนาจปกครองของราชวงศ์ซาวอยไปทั่วดินแดนอิตาลี ในที่สุด คาวัวร์ก็ประสบความสำเร็จในการชักจูงให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ อดีตประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสที่รับสถาปนาเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France)* ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ ร่วมทำสงครามกับออสเตรียทั้งยังก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและผนึกกำลังของชาวอิตาลีชาตินิยมเพื่อล้มล้างเจ้าผู้ครองนครในรัฐต่าง ๆ ด้วย ในที่สุดดินแดนต่าง ๆ ในอิตาลี [ยกเว้นวินีเชีย (Venetia) และกรุงโรมที่ ออสเตรียและสันตะปาปายังคงมีอำนาจปกครองอยู่ตามลำดับ] ก็สามารถรวมตัวเข้ากับราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย และสถาปนาเป็น "ราชอาณาจักรอิตาลี" ได้ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ อย่างไรก็ดี ความสำเร็จดังกล่าวกลับสร้างความผิดหวังเป็นอันมากให้แก่มัซซีนี เพราะเขาต้องการให้อิตาลีปกครองในระบอบสาธารณรัฐมากกว่า ดังนั้น นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในอีก ๑๑ ปีต่อมามัซซีนีก็ไม่เคยลดละที่จะรณรงค์ให้ชาวอิตาลีลุกฮือขึ้นต่อต้านองค์ประมุขของราชวงศ์ซาวอยและเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ มัซซีนีจึงกลายเป็น "บุคคลอันตราย" และไม่สามารถเดินทางกลับอิตาลีได้อย่างเปิดเผย
ในช่วงท้ายของชีวิต แม้มัซซีนีจะได้รับอภัยโทษประหารใน ค.ศ. ๑๘๖๖ แต่เขาก็ยังคงมีคดีอื่น ๆ ติดตัวและต้องใช้ชีวิตในต่างแดนเป็นส่วนใหญ่โดยเดินทางไปมาระหว่างกรุงลอนดอนกับเมืองลูกาโน (Lugano) ในสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เขาได้ลอบเดินทางกลับมาเมืองเจนัวและเมืองมิลาน ใน ค.ศ. ๑๘๗๐ ขณะที่มัซซีนีกำลังจะเดินทางข้ามไปยังเกาะซิซีลี (Sicily) อดีตเพื่อนคนหนึ่งของเขาก็แอบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจทราบ มัซซีนีจึงถูกจับกุมและต้องโทษขังเป็นเวลาหลายเดือนซึ่งทำให้สุขภาพที่อ่อนแอของเขาทรุดโทรมลงอีก
มัซซีนีมีชีวิตอยู่จนได้เห็นการรวมชาติอิตาลีอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. ๑๘๗๐ เมื่อเกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* และรัฐบาลอิตาลีถือโอกาสเข้ายึดครองโรม และประกาศจัดตั้งเป็นเมืองหลวงของประเทศ แต่สำหรับมัซซีนีแล้ว การยึดครองกรุงโรมซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกโดยพละกำลังและความสำเร็จของการรวมชาติอิตาลีโดยอาศัยมือต่างชาติ [รวมทั้งการยึดครองเวนีเชียจากออสเตรีย ระหว่างที่ออสเตรียทำสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeks’ War ค.ศ. ๑๘๖๖)* กับปรัสเซีย] เป็นเรื่องน่าละอายและไร้ศักดิ์ศรี เขาได้ต่อต้านและกล่าวประณามการยึดครองกรุงโรมว่า "ข้าพเจ้าคิดที่จะปลุกจิตวิญญาณของอิตาลีแต่สิ่งที่ประสบต่อหน้ากลับกลายเป็นซากศพแทน"
มัซซีนีถึงแก่กรรมด้วยความผิดหวังขณะหลบซ่อนตัวอยู่ที่เมืองปีซา (Pisa) ทางตอนใต้ของอิตาลี และใช้ชื่อปลอมว่า "นายแพทย์บราวน์" (Dr.Brown) รวมอายุ ๖๗ ปี แม้รัฐบาลอิตาลีจะจัดงานศพเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในฐานะที่เคยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างกระแสการรวมชาติอิตาลี แต่หนังสือพิมพ์อิตาลีบางฉบับก็ให้คำวิจารณ์เขาอย่างรุนแรงว่าเป็น "ศัตรูอันตรายต่อเสรีภาพและเอกภาพของอิตาลี" ทั้งยังเป็นคนที่ "พยายามอย่างบ้าคลั่งที่จะแบ่งแยกประเทศ" ส่วนสื่อนอกประเทศกลับให้คำชมเขาว่า "เกิดมาเป็นผู้นำ" และเป็น "วีรบุรุษที่สำคัญที่สุด กล้าหาญที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดของอิตาลี" แต่ในงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ชาวอิตาลีเองในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ก็ยังวิเคราะห์มัซซีนีว่าเป็นเพียง "ผู้ก่อการร้าย" บทบาทและความสำคัญของมัซซีนีในประวัติศาสตร์การรวมชาติอิตาลีจึงคงป็นข้อถกเถียงและโต้แย้งที่ยังหาข้อสรุปอย่างชัดเจนไม่ได้.