ยาน มาซาริกเป็นนักการทูตและรัฐบุรุษของประเทศเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* เขาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเชโกสโลวะเกียประจำกรุงลอนดอนระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๕-๑๙๓๘ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลผลัดถิ่นของเชโกสโลวะเกียที่กรุงลอนดอนและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* มาซาริกเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประเทศจนวาระสุดท้ายของชีวิต
มาซาริกเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ค.ศ. ๑๘๘๙ ที่กรุงปราก (Prague) เป็นบุตรของทอมาช การ์ริก มาซาริก (Tomáš Garrigue Masaryk)* ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเชโกสโลวะเกีย กับชาร์ลอตต์ การ์ริก (Charlotte Garrigue) นักศึกษาวิชาดนตรีชาวอเมริกัน เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปรากและมหาวิทยาลัยเวียนนา เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๐๗ และอยู่ที่นั่นจนถึง ค.ศ. ๑๙๑๓ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขากลับประเทศและเข้าร่วมในกองทัพของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire; Austria-Hungary)* หลังสงครามสิ้นสุดและมีการจัดตั้งประเทศเชโกสโลวะเกียขึ้น เขาทำงานที่ กระทรวงการต่างประเทศและไปประจำที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และกรุงลอนดอน ตามลำดับเขาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเชโกสโลวะเกียประจำกรุงลอนดอนระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๕-๑๙๓๘ และลาออกเพื่อประท้วงความตกลงแห่งเมืองมิวนิก (Munich Agreement)* ที่มหาอำนาจตะวันตก คือ ฝรั่งเศสและอังกฤษยินยอมให้เยอรมนีผนวกแคว้นซูเดเทน (Sudeten) ดินแดนภาคตะวันตกของเชโกสโลวะเกีย จากนั้นเขาเดินทางไปสอนหนังสือที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา ๑ ปี
เมื่อประธานาธิบดีเอดุอาร์ด เบเนช (Eduard Beneš)* จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่ กรุงลอนดอนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาซาริกได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เขามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ รัฐบาลพลัดถิ่นเชโกสโลวะเกียได้รับการยอมรับจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ขณะเดียวกันมาซาริกได้ปลุกปลอบใจชาวเช็กในประเทศที่อยู่ภายใต้การยึดครองของ กองทัพนาซี โดยการออกอากาศทางบรรษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษหรือบีบีซี (British Broadcasting Corporation- BBC)* จากกรุงลอนดอนซึ่งทำให้เขาได้รับความนิยมจากชาวเช็กมาก ต่อมาได้มีการรวบรวมคำกล่าวปลุกใจของเขาและพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษชื่อว่า Speaking to My Country
เมื่อสงครามสิ้นสุดลงมาซาริกกลับประเทศและเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลผสม เขาคาดหวังว่าประเทศเชโกสโลวะเกียจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างยุโรปตะวันตกกับยุโรปตะวันออก ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังสงคราม เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ พรรคคอมมิวนิวสต์ได้คะแนนเสียงมากที่สุด เคลเมนต์ กอตต์วัลด์ (Klement Gottwald)* ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศ มาซาริกพยายามขัดขวางการผูกขาดอำนาจของพวกคอมมิวนิสต์ในรัฐบาล ทั้งที่เขาสนับสนุนนโยบายผูกมิตรกับสหภาพโซเวียต เขาต้องผิดหวังมากเมื่อสภาพโซเวียตคัดค้านการที่เชโกสโลวะเกียขอเข้าร่วมแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* ในการรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๘ เคลเมนต์กอตต์วัลด์ยึดอำนาจในรัฐบาล โดยการปลดบุคคลสำคัญในรัฐบาลและแต่งตั้งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าดำรงตำแหน่งแทน รัฐมนตรี ๑๑ คนซึ่งมาจาก ๓ พรรคการเมืองอื่นจึงประท้วงด้วยการลาออก แต่ประธานาธิบดีเบเนชขอร้องให้มาซาริกคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อไป ในวันที่ ๑๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ มีผู้พบศพมาซาริกบริเวณสนามใต้หน้าต่างที่เปิดกว้างอยู่ของอาคารกระทรวงการต่างประเทศ ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามาซาริกกระโดดหน้าต่างหรือถูกโยนลงมา แต่รัฐบาลประกาศเป็นทางการว่ายาน มาซาริกกระทำอัตวินิบาตกรรม เขาถึงแก่กรรมขณะอายุ ๕๙ ปี
ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เมื่อเกิดเหตุการณ์ฤดูใบไม้ผลิแห่งปราก (Prague Spring)* มีการรื้อฟื้นคดีของยานมาซาริกเพื่อสืบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของเขา แต่การสืบคดีต้องยุติลงในเวลาอันสั้น เนื่องจากสหภาพโซเวียตส่งกองทัพขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (WarsawTreaty Organization)* เข้าปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยในเชโกสโลวะเกีย.