คาร์ล มากซ์ เป็นนักปฏิวัติและนักทฤษฎีสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นนักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ และเพื่อนร่วมงานที่ไกล้ชิดของฟรีดริช เองเงิลส์ (Friedrich Engels)* นักเขียนและนักสังคมนิยมที่มีชื่อเสียง งานเขียนจำนวนมากของมากซ์ได้วางรากฐานของการสร้างระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ขึ้นในหลายประเทศในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้นำขบวนการปฏิวัติจำนวน มาก เช่น โรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)*
วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* เลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* เหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) และ เช กูวารา (Che Guvara) หลังมากซ์เสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๘๓ แนวความคิดของเขาที่เรียกกันทั่วไปว่า "ลัทธิมากซ์" (Marxism) เป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างกว้างขวางในขบวนการสังคมนิยมยุโรป งานเขียนเล่มสำคัญที่สุดของมากซ์คือ ทุน (Das Kapita - Capital)* ซึ่งมี ๓ เล่ม และแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)* ซึ่งเขียนร่วมกับเองเงิลส์
คาร์ล มากซ์เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่มีฐานะที่เมืองเทรียร์ (Trier) แคว้นไรน์ (Rhine) ในปรัสเซียเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๑๘ เขามีพี่น้องรวม ๙ คน แต่เสียชีวิตในวัยเยาว์ ๕ คน และมีเขาเป็นลูกผู้ชายเพียงคนเดียว ไฮน์ริช มากซ์ (Heinrich Marx) บิดาเป็นทนายความและสืบสายตระกูลมาจากรับไบ (rabbi) ในศาสนายูดาห์ เขาเป็นคนแรกของตระกูลที่แยกตัวออกจากชุมชนยิว และศึกษาวิชาทางโลก ทั้งชื่นชมเหล่านักปรัชญาเมธี (philosophes) ของยุคภูมิธรรม (Enlightenment) โดยเฉพาะวอลแตร์ (Voltaire) และอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ส่วนเฮนรีเอตา (Henrietta) มารดาก็มาจากครอบครัวรับไบในฮอลแลนด์ แต่ไม่มีการศึกษามากนักทั้งไม่สามารถเขียนภาษาเยอรมันได้ถูกต้องหรือพูดภาษาเยอรมันได้ชัดเจน มารดาจึงมีอิทธิพลต่อมากซ์น้อยมากในขณะที่มากซ์ใกล้ชิดกับบิดาและซึมซับความรู้เรื่องหนังสือและแนวความคิดของเหล่านักคิดภูมิธรรมคนสำคัญ ๆ ก่อนมากซ์เกิด ๑ ปี บิดาเปลี่ยนศาสนามา นับถือนิกายลูเทอร์ (Lutheran) เนื่องจากใน ค.ศ. ๑๘๑๗ ปรัสเซียออกกฎหมายจำกัดสิทธิทางสังคมของพลเมืองยิวในแคว้นไรน์ เพราะพวกยิวเคยสนับสนุนจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napolean I)* ในช่วงสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* เมื่อแคว้นไรน์ถูกโอนเป็นของปรัสเซียตามข้อตกลงในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* พลเมืองยิวจึงถูกลงโทษ ไฮน์ริช มากซ์ซึ่งไม่ต้องการสูญเสียงานอาชีพและสถานภาพทางสังคมจึงเปลี่ยนศาสนาและให้ลูก ๆ รับศีลล้างบาป นอกจาก บิดาแล้ว มากซ์ยังได้รับการถ่ายทอดความรู้จากลุดวิก ฟอน เวสต์ฟาเลิน (Ludwig von Westphalen) เพื่อนของบิดา เวสต์ฟาเลนแนะนำให้มากซ์รู้จักงานของเชกสเปียร์ (Shakespeare) เซร์บันเตส (Cervantes) และแนวความคิดของแซง-ซีมง (Saint-Simon) นักสังคมนิยมชาวฝรั่งเศสที่มีบทบาทสำคัญในขณะนั้น การชี้แนะดังกล่าวมีส่วนทำให้มากซ์สนใจเรื่องกวีนิพนธ์และการเมืองทั้งเริ่มเขียนบทกวีด้วย
หลังสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายที่เมืองเทรียร์ ใน ค.ศ. ๑๘๓๕ มากซ์เข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบอนน์ (Bonn) ตามคำแนะนำของบิดาและพบรักกับเยนนี ฟอน เวสต์ฟาเลิน (Jenny von Westphalen) เพื่อนนักเขียนเก่าซึ่งเป็นธิดาของบารอน ฟอน เวสต์ฟาเลินซึ่งเป็นชนชั้นผู้ดีที่โดดเด่นในเมืองเทรียร์ มากซ์ซึ่งเป็นชายรูปงามเขียนกลอนเกี้ยวเยนนีจนเธอตอบรักและในเวลาต่อมายอมหมั้นหมายกับเขาในช่วงศึกษาที่ บอนน์ มากซ์ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียนชอบดื่ม สูบบุหรี่จัด และเที่ยวเตร่ ทั้งยังสร้างหนี้สินและทะเลาะวิวาทจนบาดเจ็บจากการท้าดวลดาบ บิดาซึ่งทราบเรื่องจึงย้ายเขาไปเรียนที่ มหาวิทยาลัยเบอร์ลินและยอมรับผิดชอบเรื่องหนี้สินของมากซ์ การย้ายมหาวิทยาลัยครั้งนี้นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในชีวิตของมากซ์ เขากลับเนื้อกลับตัวและเอาใจใส่ต่อการเรียนทั้งหันมาสนใจวิชาปรัชญาและประวัติศาสตร์แทนวิชากฎหมาย ตลอดจนเรียนภาษาละตินและกรีกจนมีความรู้ดี นอกจากนี้ เขายังเรียนภาษาต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น อังกฤษ สเปน อิตาลี ดัตช์
ที่เบอร์ลิน มากซ์เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มเฮเกลหนุ่ม (Young Hegel) ซึ่งเป็นกลุ่มนักปรัชญาหนุ่ม ๆ ที่หัวรุนแรงและต่อต้านศาสนา สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มคือบรูโน เบาเออร์ (Bruno Bauer) และมักซ์ ชเตียร์เนอร์ (Max Stirner) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพวกเฮเกลฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงที่มักวิพากษ์โจมตีศาสนาและต่อต้านระบบอัตตาธิปไตย บุคคลเหล่านี้มีอิทธิพลทางความคิดต่อมากซ์อย่างมาก และทำให้เขาทุ่มเทศึกษาปรัชญาอย่างจริงจังทั้งปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่ใส่ใจกับอะไรทั้งสิ้น ขณะเดียวกันเขาก็ทำตัวเช่นเพื่อนสมาชิกคนอื่น ๆ ด้วยการไปมั่วสุมตามโรงเบียร์และซาลง (salon) เพื่อถกเถียงโต้แย้งเรื่องปรัชญา นอกจากนี้ มากซ์ซึ่งเชื่อมั่นในตนเองสูงก็มักดูถูกเหยียดหยามคนอื่น ๆ ที่อยู่นอกแวดวงของตนรวมทั้งคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากพวกตนด้วย มากซ์คาดหวังว่าจะยึดอาชีพเป็นอาจารย์สาขาปรัชญาเพราะเบาเออร์ซึ่งได้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยบอนน์สัญญาว่าจะช่วยหาตำแหน่งให้เขา แต่ต่อมาเบาเออร์ถูกไล่ออก ใน ค.ศ. ๑๘๔๒ เพราะทัศนะต่อต้านศาสนาและความเป็นเสรีนิยมของเขา ความหวังของมากซ์ที่จะสอนหนังสือก็จบสิ้นลง ในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ที่เบอร์ลินบิดาของมากซ์เสียชีวิตลงใน ค.ศ. ๑๘๓๘ มากซ์ต้อง เลี้ยงดูตนเองและมีส่วนทำให้เขาย้ายไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเยนา (Jena) และสำเร็จการศึกษา ใน ค.ศ. ๑๘๔๑ ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง "On the Differ-ence between the Natural Philosophy of Democritus and Epicurus"
หลังสำเร็จการศึกษามากซ์หันมายึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์ด้วยการเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์สังคมและใน ค.ศ. ๑๘๔๒ ก็อพยพไปอยู่ที่เมืองโคโลญ (Cologne) เขาได้รู้จักกับโมเสส เฮสส์ (Moses Hess) นักสังคมนิยมหัวรุนแรงและทำให้เขาได้เข้าร่วมประชุมกับกลุ่มของเฮสส์ซึ่งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของกรรมกรและชาวนาด้วยระบบสังคมนิยมเขาเริ่มสนใจปัญหาความยากจนและการถูกเอารัดเอา เปรียบของชนชั้นระดับล่างของสังคม มากซ์จึงหันมาสนใจปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจรวมทั้งแนวคิดสังคมนิยมแทนปัญหากฎหมาย เฮสส์ยังช่วยให้มากซ์ได้งานเป็นนักเขียนประจำของหนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยมที่นักธุรกิจอุตสาหกรรมสนับสนุน ภายในเวลาอันสั้น มากซ์ก็ได้เป็นบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวแต่บทความที่มีเนื้อหารุนแรงของเขาเกี่ยวกับความทุกข์ยากของชาวไร่องุ่นและสภาพทางสังคม รวมทั้งการปกป้องเสรีภาพของสิ่งพิมพ์และอื่น ๆ ทำให้หนังสือพิมพ์ถูกสั่งปิดในต้น ค.ศ. ๑๘๔๓ มากซ์ซึ่งถูกทางการเพ่งเล็งจึงตัดสินใจหนีไปแสวงโชคที่กรุงปารีส ก่อนเดินทางไปฝรั่งเศส เขาแต่งงานกับเยนนีคู่หมั้นสาวในกลาง ค.ศ. ๑๘๔๓ ท่ามกลางการต่อต้านของครอบครัวฝ่ายหญิงที่เห็นว่าเขามีฐานะต่ำต้อย ครอบครัวมากซ์มาถึงกรุงปารีสในปลาย ค.ศ. ๑๘๔๓ และมากซ์ได้รับการทาบทามจากกลุ่มผู้อพยพชาวเยอรมันและกลุ่มนักสังคมนิยมฝรั่งเศสให้เป็นบรรณาธิการวารสารการเมือง Deutsch-Französische Jahrbücher ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะประสานแนวความคิดสังคมนิยมฝรั่งเศสเข้ากับแนวความคิดกลุ่มเฮเกลหัวรุนแรงชาวเยอรมัน มากซ์ได้ใช้วารสารดังกล่าวเป็นสื่อโจมตีรัฐบาลปรัสเซียด้วย แต่วารสารออกได้เพียงฉบับเดียวก็ปิดตัวลง
ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๓-๑๘๔๕ ขณะพำนักอยู่ที่กรุงปารีส มากซ์ไม่เพียงมีโอกาสได้ศึกษาแนวความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของสำนักต่าง ๆ และทฤษฎีสังคมนิยมหลากหลายเท่านั้น เขายังได้คลุกคลีกับชนชั้นกรรมกรอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรกด้วย แม้เขาจะตกใจกับชีวิตอันแร้นแค้นและยากลำบากของกรรมกรแต่เขาก็ดื่มด่ำประทับใจในมิตรภาพของผู้คนที่ยากไร้เหล่านั้นและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะช่วยปลดปล่อยพวกเขาจากระบบที่กดขี่ขูดรีด และยังผูกมิตรและใกล้ชิดกับนักปฏิวัติหัวรุนแรงหลายคน บุคคลที่ เขาสนใจเป็นพิเศษคือ มีฮาอิล อะเล็กซานโดรวิช บาคูนิน (Mikhail Alexandrovich Bakunin)* นักอนาธิปไตยชาวรัสเซียและปีแยร์-โชแซฟ ปรูดง (Pierre-Joseph Proudhon)* นักสังคมนิยมชาวฝรั่งเศส นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๘๔๔ มากซ์ยังได้พบกับฟรีดริช เองเงิลส์ซึ่งเคยเขียนบทความให้หนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung ที่เขาเคยเป็นบรรณาธิการการ พบกันครั้งนี้ได้นำไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์และมิตรภาพอันยาวนานของคนทั้งสอง ในเวลาอันสั้นเองเงิลส์กลายเป็นเพื่อนสนิทและคู่คิดทางปัญญาของมากซ์ เขายังทำให้มากซ์ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นถึงสภาพที่แท้จริงและความยากลำบากของชีวิตชนชั้นกรรมาชีพเพราะเองเงิลส์เป็นบุตรชายของเจ้าของโรงงานทอผ้าที่มีกิจการทั้งในแคว้นไรน์และอังกฤษ มากซ์จึงเปลี่ยนจากการเป็นนักเสรีนิยมหัวรุนแรงมาเป็นนักสังคมนิยมในที่สุด
ในกลาง ค.ศ. ๑๘๔๔ มากซ์และเองเงิลส์ร่วมกันร่างงานเขียนชิ้นแรกเรื่อง The German Ideology ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการวิพากษ์ทรรศนะต่าง ๆ ทางปรัชญาของฝ่ายซ้ายกลุ่มเฮเกล (Left-Hegelians) และโจมตีข้อบกพร่องด้านปรัชญาของลุดวิก ฟอยเออร์บัค (Ludwig Feuerbach) นักปรัชญาที่เลื่องชื่อในขณะนั้น งานเขียนเรื่องนี้ซึ่งจัดพิมพ์ที่กรุงบรัสเซลส์ในเวลาต่อมาถือเป็นตำราแบบฉบับที่สำคัญเล่มหนึ่งของสำนักลัทธิมากซ์ งานเขียนอีกชิ้นที่สำคัญของมากซ์ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคือ Economic and Philosophical Manuscripts สาระหลักของเรื่องคือการให้อรรถาธิบายเรื่องความ แปลกแยก (alienation) ในสังคมทุนนิยมโดยกรรมกรถูกทำให้แปลกแยกจากผลิตผลที่ เป็นแรงงานของตนทั้งแปลกแยกจากตนเองและแปลกแยกจากคนอื่น ๆ เพราะในสังคมทุนนิยม มนุษย์เป็นเพียงวัตถุสิ่งของ การแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นได้ในสังคมคอมมิวนิสต์เพราะ กรรมกรสามารถพัฒนาศักยภาพของตนในฐานะมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ ทัศนะทางการเมืองที่รุนแรงของมากซ์ทำให้เขาถูกตำรวจเฝ้าจับตาการเคลื่อนไหวและเมื่อข้อเขียนต่อต้านพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ (Frederick William IV)* แห่งปรัสเซีย ตีพิมพ์ใน Vorwaerts หนังสือพิมพ์สังคมนิยมเยอรมัน รัฐบาลฝรั่งเศสที่มีฟรองซัว-ปีแยร์-กีโยม กีโซ (François-Pierre-Guillaume Guizot)* เป็นผู้นำซึ่งถูกปรัสเซียกดดันให้ดำเนินการกับชาวเยอรมันลี้ภัยจึงสั่งปิดวารสารที่มากซ์เป็นบรรณาธิการและเนรเทศเขาออกจากฝรั่งเศสในต้น ค.ศ. ๑๘๔๕ มากซ์เดินทางไปพักพิงที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
ใน ค.ศ. ๑๘๔๕ มากซ์มีโอกาสมาเยือนกรุงลอนดอนพร้อมกับเองเงิลส์และได้เข้าร่วมในกิจกรรมของสมาคมการศึกษาของกรรมกรคอมมิวนิสต์ (Communist Workers’ Education Association) ซึ่งมีวิลเฮล์ม ไวท์ลิง (Wilhelm Weitling) เป็นผู้นำ เมื่อกลับไปกรุงบรัสเซลส์ มากซ์โน้มน้าวเพื่อนนักสังคมนิยมคนอื่น ๆ ให้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมขึ้นโดยใช้แนวนโยบายของสมาคมการศึกษาของกรรมกรคอมมิวนิสต์เป็นแนวทางการดำเนินงาน และให้ชื่อสมาคมว่าสันนิบาตผู้รักความเป็นธรรม (League of the Just) หรือที่เรียกกันทั่วไปอีกชื่อว่า สมาคมกรรมกรเยอรมัน (German Workers’ Association) สมาคมกรรมกรเยอรมันซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักจะเชื่อมโยงและติดต่อผู้นำสังคมนิยมในประเทศ ต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้เข้าเป็นเครือสมาชิกของสันนิบาตแห่งกรุงลอนดอน ต่อมา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๖ สันนิบาตแห่งกรุงลอนดอนได้จัดประชุมใหญ่ระหว่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกโดยมีผู้แทนสันนิบาตจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมด้วย มติสำคัญประการหนึ่งของการประชุม คือการให้เปลี่ยนชื่อเป็นสันนิบาตคอมมิวนิสต์ (League of the Communist)* มากซ์กับเองเงิลส์ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่ให้เขียนร่าง หลักนโยบายของสันนิบาตซึ่งได้นำมาพิจารณาในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ของผู้แทนสันนิบาตคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ ที่กรุงลอนดอนในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๗
หลักนโยบายของสันนิบาตที่มากซ์และเองเงิลส์ให้ชื่อว่า "หลักการลัทธิคอมมิวนิสต์" (Principle of Communism) มีวัตถุประสงค์ที่จะโค่นอำนาจของชนชั้นกระฎุมพีและระบบทุนนิยมเพื่อสถาปนาอำนาจการปกครองชนชั้นกรรมาชีพ การสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคที่ปราศจากชนชั้น การไม่มีกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล ตลอดจนแนวนโยบายของลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อขบวนการกรรมกรและการก่อการปฏิวัติ ที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ มีมติเห็นชอบกับร่างหลักนโยบายดังกล่าวแต่ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "แถลงการณ์คอมมิวนิสต์" และให้มากซ์กับเองเงิลส์นำไปปรับแก้ให้สมบูรณ์อีกครั้งก่อนเผยแพร่ แถลงการณ์คอมมิวนิสต์พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกที่กรุงลอนดอนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๘ ก่อนหน้าการเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* ได้ไม่กี่สัปดาห์ แม้แถลงการณ์คอมมิวนิสต์จะไม่มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติที่เกิดขึ้น แต่ในเวลาต่อมาก็กลายเป็นคู่มือการปฏิวัติของกรรมกรและปัญญาชนสังคมนิยม
ในช่วงที่ชาวปารีสก่อการปฏิวัติโค่นอำนาจพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe)* แห่งราชวงศ์ออร์เลออง (Orléans) มากซ์กลับไปฝรั่งเศสเพื่อมีส่วนร่วมในการปฏิวัติที่เกิดขึ้น แต่เมื่อการปฏิวัติขยายตัวไปยังประเทศต่าง ๆ จนเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ทั่วยุโรป มากซ์ได้กลับไปดินแดนเยอรมันเพื่อร่วมเคลื่อนไหวด้วย เขาทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Neue Rheinische Zeitung ที่เมืองโคโลญอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อรัฐบาลประเทศต่าง ๆ สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมได้ทั้งกวาดล้างฝ่ายปฏิวัติอย่างราบคาบ หนังสือพิมพ์ที่มากซ์เป็นบรรณาธิการถูกสั่งปิดและเขาถูกเนรเทศอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ ในระยะแรกมากซ์กลับไปอยู่ที่กรุงปารีสอีกครั้งหนึ่งเป็นช่วงสั้น ๆ แต่ความผันผวนทางการเมืองและสังคมในกรุงปารีสที่สืบเนื่องจากการประกาศยุบโรงงานแห่งชาติ (National Workshops) ของรัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งนำไปสู่การก่อจลาจลของกรรมกร และการเกิดเหตุการณ์วันนองเลือดเดือนมิถุนายน (Bloody June Days) มากซ์ถูกบีบจากรัฐบาล ฝรั่งเศสให้เลือกว่าจะออกไปอยู่ที่หัวเมืองหรือเดินทางออกนอกประเทศ เขาเลือกเดินทางออกนอกประเทศและไปพักอาศัยที่กรุงลอนดอนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ การเดินทางครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นวันและคืนอันยาวนานแห่งชีวิตเนรเทศที่แทบจะไม่ได้หลับนอนตราบจนเขาสิ้นชีวิต
มากซ์เข้าร่วมกิจกรรมกับสันนิบาตคอมมิวนิสต์ในกรุงลอนดอนและรณรงค์การเคลื่อนไหวก่อการปฏิวัติเป็นเวลากว่าปี แต่ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในแนวทางการเคลื่อนไหวต่อสู้ในสันนิบาตคอมมิวนิสต์ และสถานการณ์ทางการเมืองที่สงบมีผลให้แนวทางปฏิวัติของมากซ์ไม่เป็นที่ยอมรับ เขาจึงปลีกตัวออกจากสันนิบาตคอมมิวนิสต์ และใน ค.ศ. ๑๘๕๒ หันมาเคลื่อนไหวต่อสู้ปกป้องสมาชิกนักคอมมิวนิสต์ ๑๑ คนที่ถูกจับและกำลังถูกพิจารณาคดีในโคโลญ ในช่วงเวลาเดียวกันมากซ์ได้เขียนจุลสารขนาดยาววิเคราะห์เหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ และผลกระทบของการปฏิวัติรวม ๒ เรื่อง คือ The Class Struggle in France และ The 18th Brumaire of Louis Bonaparte การเคลื่อนไหวของมากซ์ทำให้รัฐบาลปรัสเซียพยายามกดดันให้รัฐบาลอังกฤษเนรเทศเขาออกนอกประเทศ แต่ลอร์ดจอห์น รัสเซลล์ (John Russell) นายกรัฐมนตรีอังกฤษซึ่งยึดมั่นในเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดเห็นปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม
ในช่วงที่มากซ์อยู่ที่กรุงลอนดอน แนวความคิดทางการเมืองของมากซ์ซึ่งเป็นแนวความคิดสังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์ (scientific socialism) ที่เรียกกันทั่วไปว่าลัทธิมากซ์ก็เริ่มเป็นที่รับรู้และยอมรับกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป สาระสำคัญของลัทธิมากซ์คือหลักวิภาษวิธี (dialectic) และปรัชญาวัตถุนิยม (materialism) การศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษย์โดยใช้วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (historical materialism) การต่อสู้ทางชนชั้น (class struggle) และมูลค่าส่วนเกิน (surplus value) จุดเด่นของลัทธิมากซ์คือการเป็นทฤษฎีที่ ไม่เพียงสามารถอธิบายโลกและสังคมที่เป็นอยู่ (ระบบทุนนิยมที่กำลังเสื่อมโทรม) แต่ยังมีจุดมุ่งหมายจะเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมโดยการปฏิวัติตลอดจนมีแนวทางปฏิบัติที่ ชัดเจน นอกจากนี้ ยังเป็นทฤษฎีที่ชี้ให้เห็นบทบาทและพลังความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพในทางประวัติศาสตร์และการเน้นความสำคัญของคนระดับล่างที่จะรวมกำลังกันเพื่อสร้างสังคมสังคมนิยมที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ลัทธิ มากซ์ก็ไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคที่มีมนุษยธรรมรวมทั้งสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนในสังคมนิยม
ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๐-๑๘๖๔ มากซ์มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นและทุกข์ยาก ก่อนย้ายภูมิลำเนามาที่อังกฤษ ครอบครัวมากซ์มีบุตรสาว ๒ คนและบุตรชาย ๑ คน แต่บุตรชายที่เกิดในอังกฤษเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด เพราะทนอากาศหนาวไม่ได้เนื่องจากครอบครัวถูกไล่ออกจากห้องเช่าขนาดสองห้องนอนที่ตำบลเชลซี (Chelsea) เนื่องจากค้างค่าเช่าจนต้องขายแม้ที่นอนและหมอน มากซ์ย้ายไปเช่าที่พักราคาถูกแถวโซโห (Soho) เป็นเวลากว่า ๖ ปีก่อนย้ายไปอยู่ในทำเลที่ดีขึ้นเพราะได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากเองเงิลส์เพื่อนสนิทช่วงที่อยู่โซโหตำรวจทำรายงานเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของเขาว่า ห้องที่มากซ์อยู่ไม่มีเครื่องเรือนที่สะอาดแม้แต่ชิ้นเดียว ทุกอย่างโสโครกเต็มไปด้วยฝุ่น เก้าอี้ขาหัก ส่วนเก้าอี้ที่มี ๔ ขาให้ลูก ๆ ใช้เล่นทำกับข้าวและใช้รับแขกแต่ก็สกปรกจนใครที่นั่งลงไปแทบต้องทิ้งกางเกงตัวนั้นเลยทีเดียว มากซ์ซึ่งมีชีวิตอย่างปัญญาชนอิสระก็มักนั่งทั้งคืนและนอนทั้งวันในเสื้อผ้าชุดเดิมและปล่อยปละละเลยตัวเอง ฟรานซิสกา (Franziska) บุตรสาวคนที่ ๕ ที่ เกิดใน ค.ศ. ๑๘๕๑ เสียชีวิตลงใน ค.ศ. ๑๘๕๒ และอีก ๓ ปีต่อมาเอดการ์ (Edgar) บุตรชายคนที่ ๓ ซึ่งเป็นบุตรชายที่เหลืออยู่คนเดียวและมากซ์รักมากก็เสียชีวิต นอกจากนี้ ภรรยาก็ล้มป่วยเป็นฝีดาษซึ่งทำให้เธอหูหนวกและสูญเสียความงามและกลายเป็นคนสิ้นหวังท้อแท้ต่อชีวิต เธอยังจับได้ว่ามากซ์มีความสัมพันธ์กับสาวใช้ประจำตัวที่ครอบครัวของเธอส่งมาช่วยทำงานบ้านทั้งต่อมายังมีบุตรนอกสมรสด้วยกัน ๑ คน ชีวิตคู่ระหว่างมากซ์กับภรรยาจึงเย็นชาและไร้ความสุขอย่างไรก็ตาม ฐานะการเงินของมากซ์เริ่มดีขึ้น เมื่อบรรณาธิการหนังสือสังคมนิยม New York Daily Tribune เสนอให้มากซ์เขียนบทความในฐานะเป็นผู้สื่อข่าวประจำเกี่ยวกับยุโรปสัปดาห์ละ ๒ ชิ้น โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ ๑ ปอนด์สเตอร์ลิงต่อบทความ มากซ์เขียนบทความให้หนังสือพิมพ์ดังกล่าวรวมกว่า ๕๐๐ เรื่องเป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปีโดยบทความดังกล่าวนี้เองเงิลส์เขียนในชื่อของมากซ์ ประมาณ ๑๐๐ ชิ้น ต่อมา เขายังเขียนให้ New American Encyclopaedia ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แนวสังคมนิยมอีกฉบับหนึ่งในสหรัฐอเมริกาด้วย ในช่วงเวลาเดียวกัน มากซ์ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐-๑๙.๐๐ น. ของทุกวันที่ห้องอ่านหนังสือของบริติชมิวเซียม (British Museum) เพื่อศึกษาค้นคว้าจากหนังสือและเอกสารจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับการวิเคราะห์ระบบทุนนิยม ซึ่งเขาตั้งใจจะเขียนเป็นหนังสือรวม ๖ เล่มคือ ทุน ที่ดิน ค่าแรงและแรงงาน รัฐการค้า ตลาดโลก และวิกฤตการณ์ แต่โครงงานดังกล่าวก็เกินกำลังของเขาและเขียนออกมาได้เพียง ๒ เล่มเท่านั้น โดยรวมประเด็นต่าง ๆ ไว้ทั้งหมด
ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ มากซ์ใช้ข้อมูลที่ค้นคว้าพิมพ์หนังสือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เล่มแรกเรื่อง A Contribution to the Critique of Political Economy ออกเผยแพร่ซึ่งเนื้อหาสำคัญว่าด้วยโครงสร้างส่วนบน (superstructure) ของสังคมซึ่งประกอบด้วยกฎหมาย ศาสนา ศิลปะ การเมือง และปรัชญาที่ถูกกำหนดโดยโครงสร้างส่วนล่าง (substructure) หรือเศรษฐกิจ และสภาพความเป็นอยู่ทางสังคมเป็นปัจจัยกำหนดจิตสำนึกและความนึกคิดของมนุษย์ แม้หนังสือจะได้รับความสนใจน้อยมาก แต่ก็เป็นงานพื้นฐานของโครงร่างหนังสือเรื่องทุนเล่มสำคัญที่เขาเขียนขึ้นในเวลาต่อมา ในต้นทศวรรษ ๑๘๖๐ มากซ์ประสบกับปัญหาด้านการเงินอีกครั้งเพราะงานประจำที่ เขียนให้ New York Daily Tribune ยุติลง เขาเริ่มมีหนี้สินอีกครั้ง เองเงิลส์ได้ส่งเงินมาให้เดือนละ ๕ ปอนด์แต่ ก็ช่วยได้ไม่มากนัก มากซ์ยังได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากแฟร์ดีนานด์ ลัสซาลล์ (Ferdinand Lassalle)* นักสังคมนิยมชาวเยอรมันที่ มั่งคั่งลัสซาลล์ ชวนให้มากซ์กลับไปเยอรมนีเพื่อเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สังคมนิยมที่ เขาคิดจัดทำขึ้นแต่มากซ์ ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวเพราะเขาไม่ไว้วางใจขบวนการสังคมนิยมของลัสซาลล์ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาล ปรัสเซียและออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดี
ใน ค.ศ. ๑๘๖๔ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกรรมกรเริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการก่อตั้งสมาคมผู้ใช้แรงงานสากล (International Workingmen’s Association) ขึ้นที่ กรุงลอนดอนเพื่อให้เป็นองค์การกลางของกรรมกรประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในการจะผนึกกำลังและประสานงานการเคลี่อนไหวทางการเมืองที่กระจัดกระจายของกรรมกรประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกันมากซ์มีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อตั้งสมาคมผู้ใช้แรงงานสากล เพราะเขาซึ่งเป็นทั้งกรรมการบริหารและเลขานุการสื่อสารประจำเยอรมนีได้รับเลือกจากที่ ประชุมใหญ่ให้เป็นผู้ร่างหลักนโยบายทางการเมือง และร่างสุนทรพจน์พิธีเปิดในการสถาปนาสมาคมผู้ใช้แรงงานสากล หลักนโยบายทางการเมืองและสุนทรพจน์พิธีเปิดของมากซ์ซึ่งที่ประชุมใหญ่เห็นชอบนับเป็นเอกสารทางการเมืองที่สำคัญชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของขบวนการกรรมกร เนื้อหาว่าด้วยการวิเคราะห์ยุคปฏิกิริยาที่ยังมีอยู่ทั่วไปในยุโรปหลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ และการเชิดชูกฎหมายแรงงานที่กำหนดชั่วโมงการทำงานของกรรมกรไม่เกินวันละ ๑๐ ชั่วโมง เน้นการสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมกรทุกรูปแบบและสนับสนุนการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กรรมกรและการปฏิบัติการทางการเมืองที่กรรมกรต้องดำเนินการโดยยึดหลักสันติภาพ ประชาธิปไตย และ การรวมพลังสมานสามัคคีของกรรมกรทั่วโลกเพื่อปลดปล่อยกรรมกรจากแอกแห่งการกดขี่ของระบบทุนนิยมและมุ่งสร้างความสามัคคีของกรรมกรทั่วโลกเพื่อทำให้ลัทธิสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ (Proletarian Internationalism) เป็นที่ยอมรับกันในขบวนการสังคมนิยมแนวความคิดดังกล่าวจึงทำให้สมาคมผู้ใช้แรงงานสากลมีชื่อที่นิยมเรียกกันในเวลาต่อมาว่า องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑ (First International ค.ศ. ๑๘๖๔-๑๘๗๖)* หรือที่เรียกสั้นๆว่าสากลที่ ๑ ปีศาจคอมมิวนิสต์ที่มากซ์เคยกล่าวถึงใน ค.ศ. ๑๘๔๘ ว่าจะลุกขึ้นมาหลอกหลอนยุโรปจึงได้ปรากฏรูปร่างที่ชัดเจนขึ้น
มากซ์ทุ่มเทกำลังใจและกายให้กับการดำเนินงานของสากลที่ ๑ และผลักดันให้เกิดการก่อตั้งเครือข่ายของสากลที่ ๑ ขึ้นตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วยุโรปจนสากลที่ ๑ มีบทบาทเป็นที่ยอมรับกันในขบวนการกรรมกรและ ใน ค.ศ ๑๘๖๙ ก็มีสมาชิกราว ๘๐๐,๐๐๐ คน ขณะเดียวกันมากซ์ก็พยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางความคิดภายในสากลที่ ๑ และประสบความสำเร็จในการขับกลุ่มลัทธิอนาธิปไตย (Anarchism)* ซึ่งมีมีฮาอิลบาคูนินเป็นผู้นำออกจากองค์การได้ สมาชิกกลุ่มลัทธิอนาธิปไตยจึงจัดตั้งองค์การกรรมกรขึ้นใหม่เพื่อแข่งขันกับองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑ ปัญหาการก่อกวนของกลุ่มลัทธิอนาธิปไตยและความขัดแย้งภายในองค์การที่เป็นเสมือนคลื่นใต้น้ำระหว่างสมาชิกกลุ่มแนวความคิดต่าง ๆ เช่น กลุ่มลัทธิปรูดง (Proudhonism) กลุ่มลัทธิบลองกี (Blanquism) และอื่น ๆ ทำให้มากซ์ในท้ายที่สุดเสนอที่ประชุมใหญ่ในการประชุมที่กรุงเฮก (Hague) เนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๗๒ ให้ย้ายสำนักงานกลางขององค์การที่กรุงลอนดอนไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มากซ์หวังว่าการย้ายองค์การออกไปนอกทวีปยุโรปชั่วคราวจะทำให้ปัญหาทางการเมืองต่าง ๆ คลี่คลายลง แต่เขาก็คาดการณ์ผิดเพราะความขัดแย้งระหว่างกรรมกรไม่ได้จบสิ้นลงทั้งสากลที่ ๑ ก็ไม่มีโอกาสกลับมาดำเนินงานในทวีปยุโรปอีกและต้องยุบลงใน ค.ศ. ๑๘๗๖
การอุทิศตนทำงานในสากลที่ ๑ ทำให้มากซ์มีเวลาให้กับงานศึกษาค้นคว้าไม่มากนัก งานเขียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองของเขาเป็นไปอย่างเชื่องช้าร่างต้นฉบับหนา ๘๐๐ หน้าเกี่ยวกับทุน ค่าจ้างแรงงานการค้าระหว่างประเทศ รัฐและตลาดโลกซึ่งตั้งชื่อว่า Grundrisse เขียนเสร็จใน ค.ศ. ๑๘๕๗ (แต่ยังไม่ได้รับการขัดเกลาและจัดพิมพ์เป็นเล่มจนถึงใน ค.ศ. ๑๙๔๑) มากซ์จึงพยายามหาเวลาค้นคว้าและวิจัยต่อและใน ค.ศ. ๑๘๖๗ เขาก็สามารถจัดพิมพ์ ทุน เล่มแรกของหนังสือชุดรวม ๓ เล่มใหญ่ออกเผยแพร่ได้ ทุนเล่ม ๑ มีเนื้อหาว่าด้วยการวิเคราะห์รูปแบบการผลิตในระบบทุนนิยมและการก่อตัวของสิ่งที่เรียกว่า "ทุน" ตลอดจนเสนอแนวคิดความคิดพื้นฐานว่าด้วยวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ แม้หนังสือจะไม่ได้รับความสนใจอย่างมากทันทีตามที่มากซ์คาดหวังไว้แต่ในเวลาอันสั้นจำนวนผู้อ่านก็เพิ่มมากขึ้นและสมาชิกส่วนใหญ่ขององค์การสากลที่ ๑ ก็อ่านกันอย่างกว้างขวาง ในช่วง ๑๐ ปีแรกหลังการจัดพิมพ์ ทุน หนังสือก็ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และอิตาลี ต่อมา หลังมรณกรรมของมากซ์ใน ค.ศ. ๑๘๘๓ เองเงิลส์ได้รวบรวมร่างงานเขียนต่าง ๆ ของมากซ์มาเรียบเรียงเขียนทุนเล่มที่ ๒ และเล่มที่ ๓ ออกเผยแพร่ ใน ค.ศ. ๑๘๘๕ และ ค.ศ. ๑๘๙๔ ตามลำดับ วงการปัญญาชนสังคมนิยมในเวลาต่อมาจึงยกย่องให้เกียรติแก่เองเงิลส์ว่าเขาได้สร้างงานอมตะที่เป็นเสมือน อนุสาวรีย์ซึ่งไม่มีวันจะถูกโค่นล้มหรือทำลายได้ให้แก่ คาร์ล มากซ์ ผู้เป็นปิยมิตรของเขา
ชื่อเสียงและบทบาททางการเมืองของมากซ์เป็นที่รู้จักและยอมรับกันมากขึ้นในยุโรปเมื่อเกิดเหตุการณ์คอมมูนแห่งปารีส (Commune of Paris)* ใน ค.ศ. ๑๘๗๑ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* มากซ์และองค์การสากลที่ ๑ เคลื่อนไหวสนับสนุนอย่างเต็มกำลังให้คอมมูนแห่งปารีสยืนหยัดต่อสู้กับรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งมีอาดอล์ฟ ตีเย (Adolphe Thiers)* เป็นผู้นำ ในช่วงที่มีการปราบปรามอย่างรุนแรงและนองเลือด มากซ์ได้เขียนจุลสารที่เลื่องชื่อเรื่อง The Civil War in France ปกป้องเกียรติภูมิและชื่อเสียงของคอมมูน แม้เขาจะขวัญเสียและทุกข์ระทมกับความพ่ายแพ้ของปารีสคอมมูนแต่มากซ์ก็ยังสรุปข้อผิดพลาดในแนวทางการต่อสู้ของคอมมูนแห่งปารีสเพื่อเป็นบทเรียนให้แก่ขบวนการต่อสู้ของกรรมกรในประเทศต่าง ๆ โดยชี้แนะว่าในการต่อสู้เพื่ออำนาจรัฐใหม่จำเป็นต้องบดขยี้ทำลายกลไกอำนาจรัฐเก่าให้สิ้นซาก และชนชั้นกรรมาชีพต้องสถาปนาอำนาจเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ (Dictatorship of the Proletariat) ขึ้นเพื่อปกครองในช่วงของการเปลี่ยนผ่านของการสร้างสังคมใหม่ตามแนวทางสังคมนิยม
หลังความพ่ายแพ้ของคอมมูนแห่งปารีสและการย้ายสำนักงานขององค์การสากลที่ ๑ ไปสหรัฐอเมริกา มากซ์เริ่มล้มป่วยและมีสุขภาพทรุดโทรม แม้เขาจะยังคงอ่านหนังสืออย่างมากและเรียนภาษารัสเซียกับภาษาเติร์กแต่เขาก็แทบจะไม่สามารถผลักดันงานเขียนสำคัญ ๆ เรื่องใดออกมาได้อีก ใน ค.ศ. ๑๘๗๕ กลุ่มสานุศิษย์ของเขาและของแฟร์ดีนานด์ ลัสซาลล์ได้รวมตัวกันจัดตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party - SPD)* ขึ้น ในการประชุมใหญ่ที่เมืองโกทา (Gotha) วิลเฮล์ม ลีบคเนชท์ (Wilhelm Liebknecht)* และแฟร์ดีนานด์ เอากุสท์เบเบิล (Ferdinand August Bebel) ผู้นำกลุ่มแนวทางลัทธิมากซ์ประกาศยอมรับแนวทางปฏิวัติของมากซ์ แต่ก็จะเน้นแนวทางการต่อสู้ทางเศรษฐกิจและการเมืองในกรอบของกฎหมายทั้งจะร่วมมือกับนายทุนซึ่งรัฐสนับสนุน มากซ์เขียนบันทึกวิจารณ์แนวนโยบายของพรรคเอสพีดีอย่างรุนแรงเพราะเห็นว่าเป็นการถูกครอบงำโดยพวกลัสซาลเลียน (Lassalleans) ซึ่งยึดแนวทางสังคมนิยมแบบชาตินิยมและไม่ยอมรับวิธีการก่อการปฏิวัติ เขาเสนอแนะแนวความคิดด้านทฤษฎีและการปฏิบัติที่ควรจะเป็นของขบวนการสังคมนิยม บันทึกกล่าวในเวลาต่อมาถูกรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือเรื่อง The Critique of the Gotha Program และนับเป็นงานเขียนเรื่องสำคัญชิ้นสุดท้ายของเขา
ในช่วง ๖-๗ ปีสุดท้ายของชีวิต แม้มากซ์จะมีสุขภาพย่ำแย่ แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาและครอบครัวก็สุขสบายมากขึ้นเพราะเองเงิลส์ได้ขายกิจการโรงงานสิ่งทอทั้งหมดซึ่งเป็นมรดกจากบิดาและอพยพมาอยู่ที่กรุงลอนดอนเพื่อใช้ชีวิตอิสระและดูแลมากซ์ ทั้งแบ่งเงินมรดกที่ได้จ่ายเป็นเงินรายปีให้แก่มากซ์ แม้เองเงิลส์จะพบมากซ์ไม่บ่อยนักแต่คนทั้งสองก็เขียนจดหมายติดต่อกันแทบทุกวัน มากซ์กลายเป็นนักสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงและนักสังคมนิยมจากทั่วยุโรปติดต่อขอคำปรึกษาจากเขาและบ้างมาเยี่ยมเยือนเขา ในจดหมายที่เขาติดต่อกับเวรา ซาซูลิช (Vera Zasulich)* ผู้นำคนหนึ่งของขบวนการรัสเซียปอปปูลิสต์ (Russian Populism)* หรือขบวนการนารอดนิค (Narodnik)* มากซ์ยอมรับความเป็นไปได้ของแนวทางการสร้างสังคมนิยมในรัสเซียโดยมีคอมมูนหรือชุมชนหมู่บ้านของชาวนา (Mir) เป็นพื้นฐานและรัสเซียไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเป็นทุนนิยม นอกจากนี้ นักสังคมนิยมเยอรมันรุ่นใหม่ เช่นเอดูอาร์ด แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein)* และคาร์ลเคาท์สกี (Karl Kautsky)* ก็แวะมาเยือนเขาและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับขบวนการสังคมนิยมประชาธิปไตย เยอรมัน ชูล เกด (Jules Guesde) นักสังคมนิยมฝรั่งเศสผู้นำกลุ่มสหพันธ์แรงงานสังคมนิยมฝรั่งเศส (French Socialist Worker’s Federation) ก็ยังมาปรึกษามากซ์เกี่ยวกับแนวนโยบายของกลุ่มด้วย
ในช่วง ๒-๓ ปีสุดท้ายของชีวิต มากซ์ใช้เวลาส่วนใหญ่เดินทางไปฟักฟื้นสุขภาพตามเมืองน้ำแร่ (spa) ทั่วยุโรปรวมทั้งเดินทางไปที่แอลเจียร์ (Algiers) ด้วยแต่สุขภาพของเขาก็ไม่ดีขึ้นทั้งเจ็บหนักด้วยโรคตับ การเสียชีวิตของภรรยาด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๘๑ นำมาซึ่งความโศกเศร้าและอีก ๒ ปีต่อมาบุตรสาวคนโตที่เป็นภรรยาของผู้นำสังคมนิยมฝรั่งเศสก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๐๓ อีก ๒ เดือน ต่อมา มากซ์ซึ่งไม่สามารถฟื้นตัวจากความโศกเศร้าได้ ก็เสียชีวิตด้วยปอดบวมบนเก้าอี้นวมในห้องหนังสือก่อนวันเกิดครบ ๖๕ ปีเพียง ๒ เดือน
ศพของคาร์ล มากซ์ถูกนำไปฝังที่สุสานไฮเกต (Highgate) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นเสมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เหล่าปัญญาชนสังคมนิยมและกรรมาชีพทุกมุมโลกเดินทางมาเคารพฟรีดริช เองเงิลส์ เพื่อนร่วมงานและคู่คิดทางปัญญาที่ใกล้ชิดของมากซ์กล่าวคำอาลัยสรรเสริญเขาว่ามากซ์เป็นนักปฏิวัติ และเป็นผู้ค้นพบกฎทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ ๒ กฎคือ กฎว่าด้วยวิวัฒนาการประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์และกฎว่าด้วยการเคลื่อนไหวของสังคมกระฎุมพี มากซ์เป็นคนที่ถูกใส่ร้ายและเกลียดชังมากที่สุดในยุคสมัยของเขา แต่กระนั้นเขาก็ตายท่ามกลางความอาลัยรัก การยกย่องเทิดทูน และความโศกเศร้าของเหล่าสหายกรรมาชีพนับล้าน ๆ คนในดินแดนทุก ๆ ส่วนของยุโรป และสหรัฐอเมริกา ชื่อของเขารวมทั้งผลงานจะยังคงอยู่ทุกกาลสมัย.