Marshall Plan (1948-1952)

แผนมาร์แชลล์ (๒๔๙๑-๒๔๙๕)

​​​​​​     แผนมาร์แชลล์มีชื่อเป็นทางการว่าโครงการฟื้นฟูบูรณะยุโรปหรืออีอาร์พี (European Recovery Program - ERP) เป็นโครงการที่สหรัฐอเมริกาจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการแก่ประเทศในยุโรปตะวันตกรวม ๑๗ ประเทศในจำนวนเงินกว่า ๑๓,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับระยะเวลา ๔ ปี ( ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๕๒) โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นโครงการร่วมของประเทศผู้รับความช่วยเหลือในการดำเนินงานเพื่อการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจของยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* และใช้เป็นเครื่องมือสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น (Cold War)* ในเวลาเดียวกัน แผนดังกล่าวได้ชื่อตามจอร์จ ซี. มาร์แชลล์ (George C. Marshall) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาผู้เป็นต้นคิดในการให้ความช่วยเหลือนี้และถือว่าเป็นแผนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจของยุโรปตะวันตกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในยุโรปตะวันตกในกรอบขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปหรือโออีอีซี (European Economic Cooperation - OEEC)* ซึ่งเป็นพื้นฐานของความร่วมมือในการบูรณาการยุโรป (European Integration) ในเวลาต่อมา และยังช่วยรักษาการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตยในยุโรปตะวันตกให้คงอยู่ได้อย่างมั่นคง
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ยุโรปอยู่ในสภาพที่ได้รับความเสียหายจากสงครามอย่างหนักทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองรวมไปถึงทางด้านจิตใจของประชาชนโดยทั่วไปด้วยโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ สงครามในช่วงเวลา ๖ ปี ได้ทำลายเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้สงครามอย่างเท่าเทียมกันจนมิอาจประมาณได้นอกเหนือจากการสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลในระหว่างสงครามแล้ว ประชากรชาวยุโรปราว ๙ ล้านคน ต้องกลายเป็นผู้อพยพที่ไร้ที่อยู่อาศัย ในขณะที่เส้นทาง คมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ เมืองใหญ่ ๆ อันเป็นศูนย์กลางทางการค้าและธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งตึกรามอาคารบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่ทางการเกษตร ท่าเรือ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานตลอดจนเหมืองแร่และอื่น ๆ ถูกทำลายจนพังพินาศ ผลผลิตทางการเกษตรใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ต่ำกว่าผลผลิตใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ถึง ๑ ใน ๓ ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการทหารต้องปิดตัวลงทั้งหมด ความยากจนความ อดยากเพราะการขาดแคลนอาหารและความทุกข์ทรมานอันเป็นผลจากสงครามปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งในยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก ฉะนั้น ภารกิจเร่งด่วนของประเทศต่าง ๆ ในช่วง ๒-๓ ปี หลังสงคราม คือ การบูรณะฟื้นฟูประเทศให้สามารถดำเนินชีวิตตามปรกติได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งมีผลทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ ทั้งยังต้องนำเข้าวัสดุที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูอุตสาหกรรมและการบูรณะประเทศ (เช่นเหล็ก เหล็กกล้า ถ่านหิน เครื่องมือและเครื่องจักรอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ อิฐและซีเมนต์) จากสหรัฐอเมริกาในปริมาณสูง แต่ยุโรปก็ประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงเพราะขาดแคลนทั้งเงินสดและเงินคงคลังสำรอง เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในสภาพที่ ใกล้จะล้มละลาย ประเทศต่าง ๆ จึงต้องหันมาพึ่งพิงทั้งเงินกู้และเงินยืมจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลักหลังจากที่ได้กู้ยืมเงินในโครงการต่าง ๆ มาแล้วในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒
     นอกจากนี้ในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๔๖ ถึงต้น ค.ศ. ๑๙๔๗ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปยังถูกซ้ำเติมด้วยฤดูหนาวอันรุนแรงที่สุดในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนต้องดำเนินชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานยิ่งขึ้น และกระบวนการพัฒนา อุตสาหกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ก็ต้องประสบภาวะชะงักงันในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตกอยู่ในภาวะถดถอย สภาวการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างยิ่งแก่สหรัฐอเมริกา เพราะยุโรปนอกจากเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดแล้วยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาด้วย หากยุโรปไม่มีกำลังการซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกาย่อมหมายถึงผลกระทบอันรุนแรงต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาโดยรวมอีกทั้งรายงานฉบับต่าง ๆ ของผู้แทนสหรัฐอเมริกาในยุโรปก็เร่งเร้าให้รัฐบาลเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรปโดยเร็ว ฉะนั้นในช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๔๗ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มคิดหาวิธีที่ จะให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของยุโรปอย่างเป็นระบบและ เป็นโครงการระยะยาวมากกว่าการให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังที่ผ่านมา
     ในขณะเดียวกันสถานการณ์ทางการเมืองในยุโรปก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากสหภาพโซเวียตได้ขยายอิทธิพลและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เข้าไปในยุโรปตะวันออกอย่างรวดเร็วจนสามารถสถาปนารัฐบริวารได้เกือบทั้งหมดภายใน ค.ศ. ๑๙๔๗ ยังคงเหลือแตฮังการีและเชโกสโลวะเกียเท่านั้น ซึ่งก็มีท่าทีจะสามารถเข้าไปยึดครองได้ในไม่ช้า ในขณะเดียวกันเยอรมนีก็ถูกแบ่งแยกตามแนวตะวันตก-ตะวันออก เนื่องจากมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรยังทำความตกลงกันไม่ได้ในปัญหาการทำสนธิสัญญาสันติภาพและการรวมเขตยึดครองเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ สหภาพโซเวียตยังได้ให้การสนับสนุนแก่พรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันตกให้มีอำนาจมากขึ้นจนสามารถเข้าร่วมรัฐบาลได้ในหลายประเทศเช่น ในฝรั่งเศส และอิตาลี ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าสหภาพโซเวียตอาจขยายอิทธิพลและอุดมการณ์เข้าไปครอบงำยุโรปได้ทั้งทวีปภายในเวลาไม่นานนัก ยิ่งกว่านั้นใน ค.ศ. ๑๙๔๖ สหภาพโซเวียตยังได้เข้าไปแทรกแซงในสงครามกลางเมืองกรีซ (Greek Civil War)* และขยายอิทธิพลเข้าไปในตุรกีซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษ ทั้ง ๒ ประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวผลักดันให้สหรัฐอเมริกากำหนดนโนบายที่มีต่อสหภาพโซเวียตอย่างชัดเจนขึ้นด้วยความตระหนักในความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปช่วยปกป้องและธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตยของยุโรปให้ดำรงอยู่ต่อไป ในวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส ทรูแมน (Harry S Truman) จึงได้แถลงนโยบายซึ่งรู้จักกันทั่วไปในนาม "หลักการทรูแมน" (Truman Doctrine) ต่อสภาคองเกรสในการเข้าไปแทรกแซงในกิจการของยุโรปเพื่อสกัดกั้นการรุกรานของคอมมิวนิสต์ในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายที่ยินดีรับความช่วยเหลือทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการทหารจากสหรัฐอเมริกาพร้อมกันนั้นก็ได้ขออนุมัติจากสภาให้ความช่วยเหลือแก่กรีซและตุรกีในวงเงิน ๔๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
     อย่างไรก็ดี การตัดสินใจของสหรัฐอเมริกาที่จะให้ความช่วยเหลือภายใต้แผนมาร์แชลล์เพื่อเป็นการสานต่อหลักการทรูแมนก็เกิดขึ้นหลังการประกาศหลักการทรูแมนไม่นานนัก เนื่องจากได้มีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต ๔ มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรที่ยึดครองเยอรมนีที่ กรุงมอสโก ระหว่างกลางเดือนมีนาคม-ปลายเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๗ เพื่อพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการยึดครองและการรวมเยอรมนี ตลอดระยะเวลากว่า ๑ เดือนของการประชุมทั้งฝ่ายสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตไม่สามารถหาข้อยุติในเรื่องต่าง ๆ ได้ การประชุมจึงประสบความล้มเหลว นอกจากนี้ในวันที่ ๑๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๗ มาร์แชลล์ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของสหรัฐอเมริกายังได้เสนอความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตในการบูรณะพื้นฟูยุโรปตะวันตก เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อที่ประชุมด้วย แต่ท่าทีของโจเซฟ สตาลิน (Josef Stalin)* ผู้นำโซเวียตและเวียเชสลัฟ โมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ตอบโต้การอภิปรายอย่างรุนแรง ก็ทำให้มาร์แชลล์แน่ใจว่าสหภาพโซเวียตคงไม่ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการดำเนินโครงการใด ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อยุโรปตะวันตก และอาจรอเวลาให้สถานการณ์สุกงอมเพื่อใช้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจนี้เป็นเครื่องกรุยทางไปสู่ชัยชนะทางการเมืองในยุโรปทั้งทวีปในบั้นปลาย ซึ่งจะกลายเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาด้วย เขาจึงตัดสินใจว่าสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องเริ่มดำเนินการกอบกู้ยุโรปตะวันตกให้พ้นจากสภาพเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุดก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงไปกว่าที่เป็นอยู่ และการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นจากความคิดริเริ่ม การวางแผนและความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเองด้วย
     เมื่อกลับมาถึงกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. มาร์แชลล์ ก็เริ่มดำเนินการโดยทันที โดยได้พบกับจอร์จ เอฟ. เคนแนน (George F. Kennan) หัวหน้าคณะวางแผนทางด้านนโยบาย (Policy Planning Staff) ของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่ออธิบายให้เข้าใจถึงปัญหาและความจำเป็นของสหรัฐอเมริกาที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือยุโรปโดยเร็วที่สุดโดยไมต้องรอการอนุมัติจากสภาคองเกรสที่อาจเป็นอุปสรรคและทำให้เรื่องล่าช้า พร้อมทั้งเสนอเค้าโครงการให้ความช่วยเหลือโดยขอให้คณะวางแผนทางด้านนโยบายจัดทำแผนปฏิบัติการโดยด่วนโดยพยายามหลีกเลี่ยงอุปสรรคทั้งปวงที่ อาจเกิดขึ้น ต่อมาคณะวางแผนทางด้านนโนบายก็ได้เสนอรายงานในรูปแบบของบันทึกความจำต่อมาร์แชลล์ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นจากการศึกษาวิเคราะห์และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ของกระทรวงการต่างประเทศรวมทั้งรายงานฉบับแรกจากประสบการณ์ตรงของวิลเลียม แอล. เคลย์ตัน (William L. Clayton) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เสนอสภาพและปัญหาของยุโรปตั้งแต่ต้น ค.ศ. ๑๙๔๗ จึงมีสาระที่ค่อนข้างละเอียดซึ่งประกอบด้วยนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อสหภาพโซเวียตในสงครามเย็นในขณะนั้น รวมทั้งวัตถุประสงค์และแผนปฏิบัติการของการดำเนินงานตามโครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการบูรณะฟื้นฟูยุโรปที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนด้วย หลังจากนั้นมาร์แชลล์ยังได้ให้ส่งสำเนาเอกสารฉบับนี้ซึ่งถือเป็นเอกสารปกปิดไปยังบุคคลสำคัญในกระทรวงการต่างประเทศเพื่อพิจารณาด้วย พร้อมทั้งมีการประชุมหารือร่วมกันตลอดเวลา เพื่อให้แน่ใจว่าแผนนี้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     มาร์แชลล์เปิดเผยแผนให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรปตะวันตกดังกล่าวให้สาธารณชนทั่วไปรับทราบและเป็นการเสนอให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยุโรปเป็นครั้งแรกในสุนทรพจน์อันมีชื่อเสียงที่เขาแสดงในพิธีประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๗ โดยเริ่มสุนทรพจน์ด้วยการกล่าวถึงสภาพทั่วไปของยุโรปในขณะนั้น จากนั้นเขาก็ได้อธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ยุโรปจะต้องได้รับความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจจากภายนอกเพื่อแก้ไขวิกฤตการณอันรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นโดยกล่าวถึง ความต้องการอาหารและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากต่างประเทศโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาของยุโรปในช่วง ๓-๔ ปี ข้างหน้าซึ่งมีมากเกินกว่าที่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปในสภาพปัจจุบันจะสามารถชำระเงินได้ ยุโรปจึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภายนอกมิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับความล่มสลายทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองอย่างร้ายแรง ความหายนะนี้จะมีผลกระทบต่อโลกและประชาชนทั่วไปที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน ทั้งยังอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งคนทั้งหลายสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ฉะนั้นสหรัฐอเมริกาจึงมีเหตุผลที่จะกระทำในสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของยุโรปกลับคืนสู่สภาพที่เข้มแข็งดังเดิม เพราะหากปราศจากสิ่งนี้แล้วเสถียรภาพทางการเมืองและการค้ำประกันสันติภาพคงไม่อาจเกิดขึ้นได้และย้ำว่าความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกานี้มิได้เป็นการต่อต้านประเทศหรือลัทธิการเมืองใด ๆ หากแต่เป็นความช่วยเหลือเพื่อต่อต้านความหิวโหย ความยากไร้ ความสิ้นหวัง และความวุ่นวายไร้ระเบียบ
     นอกจากนั้นมาร์แชลล์ยังได้ประกาศว่าสหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ยุโรปทุกประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ประเทศเหล่านั้นจะต้องใช้เงินร่วมกันในลักษณะที่เป็นโครงการในระดับภูมิภาคหรือเป็นหน่วยเศรษฐกิจเดียวกันที่ ประเทศผู้รับจะต้องดำเนินงานและแบ่งปันทรัพยากรเพื่อการพัฒนาร่วมกัน เพราะโครงการนี้เป็นกิจกรรมของชาวยุโรปเองคงไม่เป็นการยุติธรรมหากสหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้กำหนด แต่เพียงฝ่ายเดียวว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรปในเรื่องใดและอย่างไร ยุโรปจำเป็นต้องจัดทำประมาณการและเสนอแผนขอความช่วยเหลือในเรื่องที่ต้องการมาก่อนและจะต้องเป็นการกระทำที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากสมาชิกส่วนใหญ่แม้ไม่ทั้งหมด สาระสำคัญของสุทรพจน์ดังกล่าวจึงเป็นการแถลงนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อยุโรปอย่างไม่เป็นทางการ ต่อมาสุนทรพจน์นี้ได้รับการรับรองอีกครั้งหนึ่งจากประธานาธิบดีทรูแมนซึ่งได้แถลงยืนยันต่อที่ประชุมระหว่างประเทศที่กรุงออตตาวา แคนาดาเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๑๙๔๗
     ข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วจากอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี โดยเฉพาะอังกฤษเมื่อเออร์เนสต์ เบวิน (Ernest Bevin)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รับทราบข่าวนี้ผ่าน ทางวิทยุกระจายเสียงของบริษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษหรือบีบีซี (British Broadcasting Corporation BBC)* ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ ๑๒ มิถุนายน เขาก็ได้ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศโดยทันที และเดินทางไปพบชอร์ช บีโดลต์ (Georges Bidault)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสที่กรุงปารีสในวันรุ่งขึ้น เพื่อหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับการรับความช่วยเหลือนี้ บีโดลต์ได้เสนอว่าควรมีการหารือร่วมกันกับสหภาพโซเวียตด้วย ดังนั้นผู้แทนของ ๓ มหาอำนาจจึงได้เปิดการประชุมร่วมกัน ณ กรุงปารีสในวันที่ ๒๗ มิถุนายน โดยมีผู้แทนของสหรัฐอเมริกาได้แก่เคลย์ตันและเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำกรุงปารีสและกรุงลอนดอนติดต่อประสานงานอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี การประชุมระหว่าง ๓ มหาอำนาจก็ยุติลงในเวลาไม่นานนัก เนื่องจากโมโลตอฟผู้แทนสหภาพโซเวียตไม่เห็นด้วยกับการรับความช่วยเหลือดังกล่าว เพราะไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขของสหรัฐอเมริกาที่ให้มีการประสานแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน รวมทั้งให้มีการให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ด้วยเกรงว่าความลับของสหภาพโซเวียตจะรั่วไหล เขาจึงอ้างว่า เงื่อนไขเหล่านี้เป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศผู้รับทั้งยังวิจารณ์ว่าสหรัฐอเมริกาใช้ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเครื่องมือสร้างจักรวรรดินิยมดอลลาร์ (dollar imperialism) ในยุโรป โมโลตอฟจึงไม่ยอมรับความช่วยเหลือในแผนมาร์แชลล์และถอนตัวจากที่ ประชุมในวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๗
     อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม เบวินและบีโดลต์ก็ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างผู้แทนของประเทศที่สนใจจะรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาภายใต้แผนมาร์แชลล์ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศเหล่านี้ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส สหราช อาณาจักร กรีซ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี ผู้แทนเขตยึดครองเยอรมนีตะวันตก ๒ เขต และเขตทริเอสเตเสรี (Free Territory of Trieste) ซึ่งปกครองโดยอังกฤษ-อเมริกัน อีก ๑ เขต ซึ่งล้วนเป็นประเทศในยุโรปตะวันตกทั้งสิ้น โดยไม่มีผู้แทนสหภาพโซเวียตร่วมด้วย สหภาพโซเวียตยังได้กีดกันประเทศบริวารในยุโรปตะวันออกรวมทั้งประเทศเป็นกลางอย่างฟินแลนด์ไม่ให้เข้าร่วมในโครงการนี้ นอกจากนี้ ก่อนและระหว่างการประชุมเจรจาจัดทำแผนของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกสื่อต่าง ๆ ในสหภาพโซเวียตยังได้โจมตีแผนมาร์แชลล์เป็นระยะ ๆ และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๙ สหภาพโซเวียตก็ได้จัดตั้งคณะมนตรีเพื่อความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหรือโคเมคอน (Council for Mutual Economic Assistance - COMECON)* ขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์เป็นการตอบโต้แผนมาร์แชลล์
     ที่ประชุมกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ๑๖ ประเทศ ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปหรือซีอีอีซี (Committee for European Economic Cooperation - CEEC)* ขึ้น โดยประกอบด้วยผู้แทนของทุกประเทศที่ เข้าร่วมประชุม เพื่อทำหน้าที่เจรจายกร่างแผนเสนอขอความช่วยเหลือตามเงื่อนไขของสหรัฐอเมริกา คณะกรรมาธิการใช้เวลาถึง ๒ เดือน การจัดทำแผนเพื่อการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ อย่างรอบด้านที่มีลักษณะใกล้เคียงกับแผนที่สหรัฐอเมริกาต้องการจึงแล้วเสร็จนับเป็นการประชุมเจรจาที่ยาวนานและยุ่งยากซับซ้อนเพราะแต่ละ ประเทศต่างก็มีความต้องการและผลประโยชน์ของชาติที่แตกต่างกัน เช่น ฝรั่งเศสมุ่งให้ความสนใจหลักอยู่ที่การกีดกันไม่ให้เขตยึดครองเยอรมนีมีการฟื้นฟูบูรณะใด ๆ อันจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของตน ส่วนกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* แม้จะได้รับความทุกข์ทรมานจากการโจมตีและการยึดครองของเยอรมนีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นก็ผูกติดกับเศรษฐกิจของเยอรมนีมาเป็นเวลานาน ทั้งยังรู้สึกว่าความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของตนขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเยอรมนี ในขณะที่อังกฤษมักยืนกรานในสถานะพิเศษของตนที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตกจึงกังวลกับจำนวนเงินที่จะได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ควรน้อยกว่าประเทศในภาคพื้นทวีป ส่วนสหรัฐอเมริกาเองก็พยายามผลักดันให้กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกเห็นความสำคัญของการค้าเสรีและการสร้างเอกภาพเพื่อต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ แม้จะกล่าวย้ำอยู่เสมอว่ายุโรปมีเสรีภาพในการกำหนดความต้องการของตนเองก็ตาม
     ในวันที่ ๒๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๗ คณะกรรมาธิการความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปก็ได้เสนอรายงานต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. รายงานฉบับนี้เป็นแผนขอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของยุโรป ๑๖ ประเทศและเขตยึดครองเยอรมนีตะวันตก ๒ เขตซึ่งซีอีอีซีเสนอขอเงินช่วยจำนวนรวม ๒๒,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับระยะเวลา ๔ ปีโดยเน้นที่วัตถุประสงค์สำคัญ ๔ ประการ คือ ๑) ความพยายามอย่างเข้มแข็งที่จะเพิ่มผลผลิตโดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรให้ได้ในระดับเดียวกันกับการผลิตในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ และจะเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมให้สูงกว่าระดับที่ผลิตใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ๒) การสร้างและรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของแต่ละประเทศ ๓) การจัดตั้งองค์การถาวรเพื่อดำเนินการบริหารงานรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาและประสานงานกับประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการในด้านการผลิต การพัฒนาทรัพยากร การค้า การคมนาคมขนส่ง และการเคลื่อนย้ายของบุคคล และ ๔) ความพยายามที่จะแก้ปัญหาการขาดดุลดอลลาร์ในแต่ละประเทศโดยการเพิ่มปริมาณการส่งออกเป็นหลักสำคัญ รายงานดังกล่าวยังย้ำถึงความต้องการนำเข้าสินค้าจากแหล่งภายนอกในช่วง ๔ ปี ซึ่งได้แก่ อาหารอาหารสัตว์และปุ๋ย เครื่องมือทางด้านอุตสาหกรรม พลังงานและการขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและถ่านหินเหล็กและเหล็กกล้า นอกจากนี้ ทั้ง ๑๖ ประเทศยังได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันดำเนินงานและจะเชิญชวนประเทศอื่น ๆ ให้เข้าร่วมในโครงการด้วย รวมทั้งจะใช้ความพยายามทุกวิถีทางในอันที่จะทำให้การฟื้นฟูบูรณะยุโรปบรรลุเป้าหมาย
     ฝ่ายบริหารและวางแผนของสหรัฐอเมริกาได้นำแผนนี้มาพิจารณาทบทวนและปรับปรุงอีกครั้งโดยใช้รายงานซึ่งเป็นผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ประธานาธิบดีทรูแมนแต่งตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๗ ได้แก่ คณะกรรมการแฮร์ริแมน คณะ กรรมการครุก และคณะกรรมการนูร์ส (Harriman, Krug, and Nourse committees) รวมทั้งรายงานฉบับอื่น ๆ ของฝ่ายบริหารประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อจัดทำคำเสนอขอต่อสภาคองเกรสซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควรอย่างไรก็ดี ในระหว่างนั้นได้เกิดความขาดแคลนอาหารและพลังงานอย่างหนักในฝรั่งเศส อิตาลีและออสเตรียในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ประธานาธิบดีทรูแมนจึงขอให้สภาคองเกรสเปิดประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือชั่วคราวแก่ประเทศเหล่านี้ สภาเปิดประชุมในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๗ และอีก ๑ เดือนต่อมาก็ได้อนุมัติเงินให้เปล่าจำนวน ๕๒๒ ล้าน ดอลลาร์ภายใต้โครงการความช่วยเหลือชั่วคราว (Interim Aid Program) แก่ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรียเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ทำให้ฝ่ายบริหารและสภาคองเกรสมีเวลาสำหรับการพิจารณาแผนของซีอีอีซีอย่างเต็มที่ และในร่างกฎหมายที่ประธานาธิบดีทรูแมนจะเสนอต่อสภาคองเกรสนั้น เขาได้ลดจำนวนเงินที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรปเป็น ๑๗,๐๐๐ ล้านดอลลารสหรัฐ
     ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ประธานาธิบดีทรูแมนได้นำร่างแผนมาร์แชลล์ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า "โครงการบูรณะฟื้นฟูยุโรป" เสนอต่อสภาคองเกรสซึ่งมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางและรุนแรงระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านแผนมาร์แชลล์เป็นเวลานานเกือบ ๔ เดือน ฝ่ายคัดค้านนำโดยวุฒิสมาชิกรอเบิร์ต เอ. แทฟต์ (Robert A. Taft) แห่งรัฐโอไฮโอ (Ohio) และอดีตประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมและได้ชื่อว่าเป็นพวกนิยมนโยบายอยู่โดดเดี่ยว (Isolationism) ที่สหรัฐอเมริกายึดถือมาเป็นเวลานาน กลุ่มนี้โจมตีแผนมาร์แชลล์อย่างรุนแรงว่าการให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรปในจำนวนเงินมหาศาลนอกจากจะทำให้สินค้าในสหรัฐอเมริกาขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นแล้วยังจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต้องตกต่ำลงไปด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าไปควบคุมเศรษฐกิจของรัฐบาลในที่สุด นอกจากนี้แทฟต์และ พันธมิตรยังแสดงความวิตกกังวลว่าแผนมาร์แชลล์ซึ่งนำสหรัฐอเมริกาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของยุโรปในขณะที่ยุโรปกำลังมีความตึงเครียดอยู่นี้อาจทำให้เกิดสงครามโลกครั้งใหม่ได้ ในขณะเดียวกันนักการเมืองฝ่ายซ้ายนำโดยเฮนรี เอ. วอลเลซ (Henry A. Wallace) ก็โจมตีว่ารัฐบาลกำลังใช้แผนมาร์แชลล์เป็นเครื่องมือแบ่งแยกโลกออกเป็น ๒ ขั้วระหว่างตะวันตกกับตะวันออก อย่างไรก็ดี การยึดครองเชโกสโลวะเกียของสหภาพโซเวียตในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๘ ก็ช่วยลดการต่อต้านจากฝ่ายค้านลงไปได้มาก
     ในขณะเดียวกัน ฝ่ายสนับสนุนแผนมาร์แชลล์ทั้งในและนอกสภาคองเกรสก็สามารถผนึกกำลังกันได้เป็นอย่างดี ทั้งในการตอบคำถามการอภิปรายในสภาและการให้ข้อมูลในการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ของรัฐสภาได้อย่างหนักแน่น รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวอเมริกันได้เข้าใจถึงหลักการและเหตุผลของการให้ความช่วยเหลือนี้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการของประธานาธิบดีหลายชุดทำหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มธุรกิจในภาคเอกชน สหภาพแรงงานที่สำคัญ ๆ และสมาคมการเกษตรในระดับผู้นำ รวมทั้งกลุ่มอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลในชุมชนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่ออธิบายให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้เข้าใจถึงวิธีการบริหารจัดการโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรปด้วยความระมัดระวังและให้ความมั่นใจว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีทรูแมนจึงได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมากจากภาคเอกชนที่ได้เข้ามาร่วมมือปกป้องแผนมาร์แชลล์ในฐานะที่เป็นนโยบายของประเทศที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่สหรัฐอเมริกาและยุโรปในเวลาเดียวกัน
     ในที่สุดในวันที่ ๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๘ สภาคองเกรสก็ได้ผ่านร่างแผนโครงการบูรณะฟื้นฟูยุโรปเป็นกฎหมายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Act - ECA) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับยุโรป [อยู่ในหมวด ๒ (Title II) ของกฎหมายการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ (Foreign Assistance Act)] ด้วยเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ๓๒๙ ต่อ ๗๔ เสียง และในสภาสูงหรือวุฒิสภา (Senate) ด้วยเสียงสนับสนุน ๖๙ ต่อ ๑๗ เสียง กฎหมายดังกล่าวระบุจะให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ยุโรปในระยะเวลา ๔ ปี ในวงเงินประมาณ ๑๓,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอนุมัติเงิน ๕,๐๐๐ ล้าน ดอลลาร์สหรัฐสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในระยะ ๑๒ เดือน แรกของการดำเนินงานตามแผน นอกจากนี้ยังได้กำหนดเงื่อนไขที่สำคัญ ๒ ประการ คือการจัดตั้งเขตเสรีทางการค้าในยุโรป และจัดตั้งองค์การเพื่อบริหารการใช้เงินตามแผนมาร์แชลล์ขึ้นอย่างเป็นการถาวรในยุโรป ในวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๘ ผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมแผนมาร์แชลล์ทั้ง ๑๖ ประเทศและผู้แทนเขตยึดครองเยอรมนีตะวันตกจึงได้ลงนามในความตกลงร่วมกันกับสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดตั้งองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปหรือโออีอีซีขึ้น โดยมีสำนักงานใหญ่ ณ กรุงปารีสทำหน้าที่แทนคณะกรรมาธิการเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปหรือซีอีอีซี ซึ่งสลายตัวลงโดยปริยาย
     นอกจากนี้ สภาคองเกรสยังได้อนุมัติให้จัดตั้งสำนักงานบริหารความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Administration - ECA) ขึ้นในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในฐานะตัวแทนของสหรัฐอเมริกาผู้มีอำนาจเต็มในการจัดสรรเงินและจัดส่งความช่วยเหลือให้แก่ยุโรปพร้อมทั้งทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานและการกำหนดนโยบายร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศตลอดจนประสานงานกับโออีอีซีและประเทศผู้เข้าร่วมโครงการโดยมีพอล จี. ฮอฟแมน (Paul G. Hoffman) ประธานบรรษัทผลิตรถยนต์สตูดเบเกอร์ (Studebaker Automative Corporation) เป็นหัวหน้า และดับเบิลยู. เอเวอเรลล์ แฮร์ริแมน (W. Averell Harriman) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการธุรกิจและการธนาคารเป็นผู้แทนพิเศษประจำกรุงปารีสอีซีเอยังส่งคณะผู้แทนไปประจำทุกประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งยังมีการแต่งตั้งและคัดสรรบุคคลผู้มีความ เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการต่างประเทศเข้ามาร่วมงานด้วย อีซีเอจึงถือเป็นที่รวมของ "มันสมองที่ดีที่สุด" ของสหรัฐอเมริกาในเครือข่ายของการดำเนินงานเพื่อความร่วมมือกับยุโรป
     ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตกได้รับเงินช่วยเหลือภายใต้แผนมาร์แชลล์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ เงินช่วยเหลือนี้ประกอบด้วยเงินให้เปล่า เงินกู้เงินยืม และเงินช่วยเหลือสมทบ ซึ่งส่วนใหญ่ถึง ๗ ใน ๘ ของความช่วยเหลือทั้งหมดเป็นเงินให้เปล่า ประเทศที่ เข้าร่วมโครงการมีทั้งหมด ๑๖ ประเทศและเขตยึดครอง เยอรมนีตะวันตก ๒ เขต ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๙ ได้รวมเป็นประเทศเดียวกันในชื่อสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตก และได้รับความช่วยเหลือภายใต้แผนมาร์แชลล์ในฐานะที่ เป็นประเทศเดียวกัน ฉะนั้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๙ จึงมีประเทศที่รับความช่วยเหลือในแผนนี้ ๑๗ ประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจะได้รับความช่วยเหลือในจำนวนเงินที่แตกต่างกันตามความจำเป็น เช่น อังกฤษได้รับในจำนวน ๓,๒๙๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ไอซ์แลนด์ได้รับเพียง ๔๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นต้น ประเทศต่าง ๆ ใช้เงินช่วยเหลือนี้ส่วนใหญ่ในการซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกา โดยเหตุที่ประเทศเหล่านี้ได้ใช้เงินทุนสำรองต่างประเทศไปจนหมดในระหว่างสงคราม เงินช่วยจากแผนมาร์แชลล์จึงเป็นเงินเพียงแหล่งเดียวที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ใช้ซื้อสินค้านำเข้า ซึ่งในระยะแรกเป็นการซื้ออาหาร พลังงานและสินค้าที่ขาดแคลนและจำเป็นต่อการบูรณะฟื้นฟูประเทศรวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นกิจการด้านพลเรือนเป็นส่วนใหญ่ แต่ในระยะหลังเนื่องจากแรงกดดันจากสภาคองเกรสและการเกิดสงครามเกาหลี (Korean War) ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ แผนมาร์แชลล์ได้เพิ่มจำนวนเงินที่จะใช้ในการก่อสร้างและการบูรณะฟื้นฟูกิจการและอุตสาหกรรมทางด้านการทหารมากขึ้น จากวงเงิน ๑๓,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐที่สภาคองเกรสอนุมัติใน ค.ศ. ๑๙๔๘ ประเทศต่าง ๆ ได้ใช้เงินตั้งแต่เริ่มแผนจนถึงกลาง ค.ศ. ๑๙๕๑ เป็นจำนวนเกือบ ๑๒,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
     แผนมาร์แชลล์ยังให้เงินช่วยเหลือสมทบอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอีซีเอกำหนดให้ประเทศที่ รับความช่วยเหลือใช้เงินนี้ร้อยละ ๖๐ ในการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม ซึ่งภาคเอกชนสามารถกู้ยืมเงินจากรัฐบาล ไปใช้ในกิจการดังกล่าวได้เงินช่วยเหลือสมทบจึงมี บทบาทอย่างมากในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมของยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะในเยอรมนีตะวันตกในช่วง ค.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๕๐ ร้อยละ ๔๐ ของการลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหินใช้เงินช่วยเหลือสมทบจากแผนมาร์แชลลและเมื่อมีการใช้คืนแล้วรัฐบาลก็สามารถนำเงินดังกล่าวไปให้กลุ่มเอกชนอื่น ๆ กู้ยืมต่อไปได้ ส่วนอีกร้อยละ ๔๐ ที่เหลือนั้นรัฐบาลประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ในการจ่ายหนี้คืน การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน หรือนำไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่มิใช่เป็นโครงการทางด้านอุตสาหกรรม ฝรั่งเศสได้ใช้เงินช่วยเหลือสมทบนี้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนมอนเน (Monnet Plan) และใช้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการลดการขาดดุลงบประมาณโดยนำเข้าเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของรัฐโดยไม่ได้นำไปใช้ต่อดังเช่นเยอรมนีตะวันตก ส่วนอังกฤษได้ใช้เงินช่วยเหลือสมทบนี้ช่วยธนาคารแห่งอังกฤษ (Bank of England) ซึ่งกำลังจะล้มละลายใช้หนี้สาธารณะระยะสั้น ขณะที่เนเธอร์แลนด์ใช้เงินดังกล่าวแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและใช้จ่ายอุดหนุนในโครงการถมทะเลเพื่อขยายพื้นที่ รวมทั้งจัดหาและสร้างบ้านราคาถูกให้แก่คนงานโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนอิตาลีก็ได้นำเงินนี้ช่วยสนับสนุนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ หลายโครงการ รวมทั้งนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานด้วย
     ความช่วยเหลืออีกประเภทหนึ่งที่ยุโรปตะวันตกได้รับประโยชน์มาก ได้แก่ ความช่วยเหลือทางวิชาการที่แผนมาร์แชลล์ให้ทุนแก่วิศวกร อุตสาหกร และนักวิชาการชาวยุโรปไปศึกษาดูงานในโรงงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่และสถานประกอบการต่าง ๆ ตลอดจนสถาบันการศึกษาชั้นสูงในสหรัฐอเมริกาเพื่อนำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ กลับมาใช้ในยุโรป ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็ได้ส่งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันมาช่วยงานด้านต่าง ๆ ในยุโรปเป็นจำนวนมาก เช่น การให้ความช่วยเหลือทางด้านเกษตรกรรมสมัยใหม่ในตุรกี โครงการสร้างเขื่อนลิมแบร์ก (Limberg Dam) ในออสเตรีย โครงการขยายโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำในกรีซ และโครงการพัฒนาระบบรัฐประศาสนศาสตร์ในอิตาลีและกรีซ เป็นต้น ในไตรมาสที่ ๒ ของ ค.ศ. ๑๙๕๑ อีซีเอส่งผู้เชี่ยวชาญไปปฏิบัติงานในประเทศต่าง ๆ ภายใต้แผนมาร์แชลล์จำนวน ๓๗๒ คนและให้ความช่วยเหลือแก่คณะทำงานเพื่อเพิ่มผลผลิตจำนวน ๑๔๕ คณะซึ่งประกอบด้วยผู้แทนในสาขาต่าง ๆ กว่า ๑,๐๐๐ คน การให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการนี้มีส่วนช่วยทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมตลอดจนการบูรณะฟื้นฟูยุโรปบรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น และยังเปิดโอกาสให้ชาวยุโรปและชาวอเมริกันได้แลกเปลี่ยนความรู้และเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาร่วมกันด้วย
     สงครามเกาหลีนับเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติแผนมาร์แชลล์ ในช่วง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๕๐ การโจมตีแผนมาร์แชลล์จากพวกริพับลิกันและอนุรักษนิยมไม่มีพลังมากนัก เพราะพรรคเดโมแครตมีเสียงส่วนใหญ่ใน ๒ สภา ทำให้นโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีทรูแมนผ่านไปได้ด้วยดี แต่หลังเกิดสงครามเกาหลีพวกที่เคยสนับสนุนทรูแมนหันมาสนับสนุนการใช้เงินในกองทัพและการเข้าไปควบคุมเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่วน พวกอนุรักษนิยมก็ถือโอกาสโจมตีนโยบายมาร์แชลล์ของทรูแมน ด้วยเหตุนั้นตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๕๐ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มเปลี่ยนนโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ โดยให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือทางด้าน การทหาร สำหรับแผนมาร์แชลล์ก็เช่นเดียวกัน นอกจากมีการเพิ่มการลงทุนทางด้านการทหารแล้วยังเน้นการให้เงินเพื่อช่วยพัฒนากองทัพและการป้องกันประเทศของยุโรปตะวันตกมากกว่ากิจการทางด้านพลเรือน อย่างไรก็ดี ในระยะเดียวกันอีซีเอได้รายงานต่อสภา คองเกรสว่าการเพิ่มพูนผลผลิตเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือภายใต้แผนมาร์แชลล์สามารถเพิ่มการผลิตทางด้านการทหารให้มากขึ้นได้ และในขณะเดียวกันก็จะเพิ่มมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรให้สูงขึ้นด้วย อีซีเอจึงได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตกและดินแดนโพ้นทะเลของประเทศเหล่านั้น
     ใน ค.ศ. ๑๙๕๑ เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากการใช้เงินในกองทัพและการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ มากเกินไป ทำให้ต้องขึ้นภาษี เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ ภาวะเงินเฟ้อและงบประมาณเริ่มขาดดุล สภาคองเกรสและมหาชน จึงไม่สนับสนุนนโยบายต่างประเทศของทรูแมนสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ฐานะของกลุ่มแทฟต์และพวกอนุรักษนิยมเข้มแข็งขึ้นและโจมตีแผนมาร์แชลล์มากขึ้นโดยอ้างว่าประเทศในยุโรปไม่ได้ช่วยตัวเองอย่างเต็มที่หากช่วยต่อไปจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหายนะประกอบกับผลการประชุมผู้แทนสหรัฐอเมริกาใน องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO)* ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ รวมทั้งรายงานของบรรดาผู้แทนในตำแหน่งต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาในยุโรปต่างก็สรุปว่าการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจะต้องเป็นรองความต้องการทางทหารซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ปัจจุบันที่สำคัญกว่า นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องการให้โออีอีซีเป็นหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจที่ขึ้นกับนาโตด้วย ใน ขณะเดียวกันในการเลือกตั้งครึ่งเทอมของวุฒิสมาชิกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๐ พรรคริพับลิกันก็ได้ที่นั่งในสภาคองเกรสมากขึ้นด้วย ทรูแมนและฝ่ายบริหารของเขาจึงต้องต่อสู้กับฝ่ายค้านในรัฐสภาถึง ๒ ด้านซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิไปจนถึงฤดูใบไม้ร่วงของ ค.ศ. ๑๙๕๑ ด้านแรกเป็นการต่อสู้ในเรื่องจำนวนเงินและรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการทหารที่จะให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสำหรับปีงบประมาณต่อไป โดยทรูแมนเสนอขอเพียง ๘,๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับความช่วยเหลือทุกภูมิภาคซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นเงินให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ๒,๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลือเป็นการให้ความช่วยเหลือทางทหารทั้งหมด ทั้งยังพยายามอธิบายว่าในจำนวน ๒,๕๐๐ ล้านดอลลาร์นี้เป็นการให้ความ ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการป้องกันประเทศด้วย ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้แผนมาร์แชลล์ถูกโจมตี แต่ทรูแมนก็พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงเพราะสภาคองเกรสตัดจำนวนเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจาก ๒,๕๐๐ ล้าน ดอลลาร์เหลือเพียง ๑,๔๔๐ ล้านดอลลาร์ และเงินจำนวนนี้จะถูกจัดสรรให้แก่ยุโรปตะวันตกเพียงประมาณกว่า ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์เล็กน้อยเท่านั้น
     ส่วนด้านที่ ๒ เป็นการต่อสู้เพื่อการคงอยู่ของสำนักงานบริหารความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งทรูแมนก็พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงเช่นเดียวกันเพราะในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายความมั่นคงร่วมกัน (Mutual Security Act) ซึ่งเป็นกฎหมายให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารแก่ต่างประเทศและได้อนุมัติให้แต่งตั้งองค์กรบริหารความมั่นคงร่วมกันหรือเอ็มเอสเอ (Mutual Security Agency - MSA) เพื่อทำหน้าที่แทนสำนักงานบริหารความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอ็มเอสเอนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมแทนที่จะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียวดังเช่นอีซีเอ และจะมีหน้าที่รับผิดชอบในการประสานความร่วมมือการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศทั้งหมดนอกจากนี้สภาคองเกรสยังได้กำหนดว่าหลังจากผู้อำนวยการคนใหม่ของเอ็มเอสเอเข้ารับตำแหน่งภายใน ๖๐ วันอีซีเอจะต้องปิดตัวลง แฮร์ริแมนซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งผู้แทนพิเศษประจำกรุงปารีสของอีซีเอได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการคนแรกและเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ ฉะนั้นสำนักงานบริหารความร่วมมือทางเศรษฐกิจจึงปิดตัวลงในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๑
     อย่างไรก็ดี ยุโรปตะวันตกยังคงได้รับความช่วยเหลือภายใต้แผนมาร์แชลล์ผ่านทางเอ็มเอสเอต่อมาจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๒ ความช่วยเหลือดังกล่าวจึงยุติลงอย่างสมบูรณ์ แผนมาร์แชลล์ถือได้ว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในทาง เศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ของประเทศในยุโรปตะวันตกทั้ง ๑๗ ประเทศเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ ๑๕-๒๕ อัตราการผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๕ ขณะที่อัตราการผลิตในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐ ซึ่งสูงกว่าระดับที่ผลิตได้ ในระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอกจากนี้มาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรชาวยุโรปก็ดีขึ้นกว่าในระยะที่สงครามโลกยุติลงใหม่ ๆ เป็นอย่างมาก ยุโรปก้าวขึ้นสู่ระยะเวลาแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ แผนมาร์แชลล์ได้ช่วยฟื้นฟูและเร่งกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในยุโรปตะวันตกให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรมเหล็กกล้า จนทำให้ยุโรปตะวันตกฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้สำเร็จ และหลายประเทศก็ได้เป็นผู้นำทางอุตสาหกรรมตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๕๐
     นอกจากนั้นการริเริ่มให้มีการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจร่วมกันตลอดจนการประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศยุโรปตะวันตกภายในกรอบขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปยังถือเป็นการวางรากฐานให้แก่การพัฒนากระบวนการบูรณาการยุโรปตะวันตกในเวลาต่อมาด้วย เพราะบทบาทของสหรัฐอเมริกาโดยผ่านแผนมาร์แชลล์ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศยุโรปเห็นความจำเป็นที่จะต้องลดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาโดยหันมาร่วมมือกันดำเนินการบูรณาการด้วยตนเอง แต่ยังทำให้เกิดการจัดตั้งสถาบันและกลไกต่าง ๆ ทั้งในและนอกกรอบโออีอีซีที่กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเป็นพื้นฐานของการบูรณาการยุโรปในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การจัดตั้งสหภาพการชำระเงินยุโรป (European Payment Union-EPU) ในโออีอีซีก็เป็นพื้นฐานของระบบการเงินยุโรป (European Monetary System - EMS) ที่ประชาคมยุโรป (European Community - EC)* จัดตั้งขึ้นในปลายทศวรรษ ๑๙๗๐ และแม้แต่ความคิดริเริ่มของปีแยร์ แพลงแลง (Pierre Plimlin) แห่งฝรั่งเศสและซิกโก แมนโชลต์ (Sicco Mansholt) แห่งเนเธอร์แลนด์ที่จัดประชุมร่วมกันกับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการเกษตรของประเทศสมาชิกโออีอีซีอื่น ๆ อีก ๑๕ ประเทศเพื่อจัดตั้งองค์การตลาดทางด้านการเกษตรยุโรป (Organization of European Agricultural Markets) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๒ ก็เป็นที่มาของแผนแมนโชลต์ (Mansholt Plan) ซึ่งเป็นแผนจัดตั้งนโยบายร่วมด้านการเกษตร (Common Agricultural Policy - CAP) ของประชาคมยุโรปในทศวรรษ ๑๙๗๐ เช่นกัน โออีอีซีและแผนมาร์แชลล์จึงเป็นทั้งแรงกระตุ้นและห้องทดลองให้กับกระบวนการบูรณาการยุโรปที่ เกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๕๐
     เงื่อนไขของสหรัฐอเมริกาที่ให้จัดตั้งองค์การถาวรของยุโรปขึ้นเพื่อบริหารการใช้เงินในแผนมาร์แชลล์เป็นประโยชน์แก่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปอย่างมากเพราะเป็นครั้งแรกที่ยุโรปสามารถร่วมมือกันได้ในลักษณะองค์การระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดองค์การแรกของยุโรปหลังสงครามโลก ทั้งยังเป็นที่รวมของบรรดาผู้บริหาร นักวิชาการ และนักนิยมยุโรป (Europeanist) ที่เด่นดังและสามารถที่สุดแห่งยุค เช่น ปอล-อองรี สปาก (Paul-Henri Spaak)* แห่งเบลเยียม โรแบร์ มาร์โชแลง (Robert Marjolin) แห่งฝรั่งเศสซึ่งเป็นเลขาธิการคนแรกของโออีอีซี ปอล ฟาน ซีลันด์ (Paul van Zeeland) และเดิร์ค สติคเคอร์ (Dirk Stikker) แห่งเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งรอเบิร์ต แอนโทนี อีเดน (Robert Anthony Eden)* แห่งอังกฤษ เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ได้ทำงานร่วมกันกับผู้แทนสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดและแข็งขัน และได้พยายามใช้เงินช่วยเหลือภายใต้แผน มาร์แชลล์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแม้จะมีความเห็นแตกต่างกันในหลาย ๆ เรื่องก็ตาม นับเป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับยุโรปอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ทำให้นโยบายอยู่โดดเดี่ยวของสหรัฐอเมริกาต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิงนอกจากนี้บุคคลเหล่านี้ยังได้ใช้โออีอีซีเป็นเวทีกลางสำหรับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของยุโรปด้วย
     แผนมาร์แชลล์ก็ประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันตกเพราะความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ มีส่วนช่วยลดความตึงเครียดทางสังคมจนทำให้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ลดความนิยมในหมู่ประชาชนลง ไปมาก พรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันตกก็ค่อย ๆ ถูกลดอิทธิพลลงไปจนกลายเป็นพรรคเสียงข้างน้อยในรัฐสภาและไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลดังเช่นในฝรั่งเศสและอิตาลีในช่วงหลังแผนมาร์แชลล์ยุติลง เป็นต้น ในขณะที่รัฐบาลฝ่ายขวาในกรีซก็สามารถปราบปรามกองกำลังคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองได้สำเร็จ ส่วนในอีกหลายประเทศการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเมือง แผนมาร์แชลล์จึงมีส่วนช่วยทำให้ยุโรปตะวันตกสามารถรักษาการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตยไว้ได้อย่างมั่นคง
     อย่างไรก็ดี แผนมาร์แชลล์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจากพวกคอมมิวนิสต์ พวกฝ่ายซ้าย และนักประวัติศาสตร์ในสำนักลัทธิแก้ (Revisionist School) ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ และ ๑๙๗๐ บุคคลเหล่านี้วิจารณ์ว่าแผนมาร์แชลล์ เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจการเมืองของสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าไปสร้างจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจในยุโรปตะวันตก โดยพยายามทำให้ยุโรปตะวันตกเป็นตลาดเสรีขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าและทุนข้ามชาติจากสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีผู้วิจารณ์ว่าแผนมาร์แชลล์เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและทำให้ยุโรปตะวันตกกับยุโรปตะวันออกต้องแบ่งแยกออกจากกันชัดเจนยิ่งขึ้นทั้ง ยังทำให้แต่ละฝ่ายแสวงหาวิธีและเครื่องมือทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารมาต่อสู้กันอย่างเปิดเผย ซึ่งกลายเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ ทำให้ยุโรปตกอยู่ในภาวะตึงเครียดและทำให้ปัญหาสำคัญ ๆ ที่ตกค้างมาจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ แก้ไม่ได้หรือแก้ไขได้ยากยิ่งขึ้นเช่นปัญหาการทำสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนีและปัญหาการรวมประเทศของเยอรมนี เป็นต้น ดังนั้นนักประวัติศาสตร์ในกลุ่มนี้จึงมักรวมเอาความช่วยเหลือภายใต้แผนมาร์แชลล์นี้เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการขยายตัวของสงครามเย็นในยุโรป
     อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของแผนมาร์แชลล์จะเป็นเช่นใด แต่คุณประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนการสร้างสันติภาพให้แก่ยุโรปก็เป็นสิ่งที่คนทั่วไปยอมรับและยกย่อง ด้วยเหตุนั้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ จอร์จ ซี. มาร์แชลล์ ผู้เป็นต้นคิดแผนนี้จึงได้รับรางวัลโนเบล (Noble Prize) สาขาสันติภาพ และต่อมาก็มีปัญญาชนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าควรมีการฟื้นฟูแผนช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย เช่น หลังการล่มสลายของการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกในต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ ก็มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้จัดตั้ง "แผนมาร์แชลล์สำหรับยุโรปตะวันออก" (Marshall Plan for Eastern Europe) ขึ้นและก็มีผู้เสนอให้จัดตั้งแผนมาร์แชลล์สำหรับแอฟริกาเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันแผนมาร์แชลล์จึงกลายเป็นชื่อเรียกของโครงการใหญ่ ๆ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจหรือสังคมโดยเฉพา



คำตั้ง
Marshall Plan
คำเทียบ
แผนมาร์แชลล์
คำสำคัญ
- แผนมอนเน
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- ฮอฟฟ์แมน, พอล จี.
- แฮร์ริแมน, ดับเบิลยู. เอเวอเรลล์
- ซิกโก แมนโชลต์
- ประชาคมยุโรป
- แผนมาร์แชลล์
- การบูรณาการยุโรป
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป
- สงครามเย็น
- สงครามกลางเมืองกรีซ
- มาร์แชลล์, จอร์จ ซี.
- ทรูแมน, แฮร์รี เอส
- หลักการทรูแมน
- สตาลิน, โจเซฟ
- บรรษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษหรือบีบีซี
- อีเดน, รอเบิร์ต แอนโทนี
- เคลย์ตัน, วิลเลียม แอล.
- โมโลตอฟ, เวียเชสลัฟ
- สปาก, ปอล-อองรี
- องค์การตลาดทางด้านการเกษตรยุโรป
- บีโดลต์, ชอร์ช
- เบวิน, เออร์เนสต์
- กลุ่มประเทศเบเนลักซ์
- ตรีเอสเตเสรี, เขต
- คณะกรรมาธิการเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปหรือซีอีอีซี
- คณะมนตรีเพื่อความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหรือโคเมคอน
- ฮูเวอร์, เฮอร์เบิร์ต
- นโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว
- โครงการความช่วยเหลือชั่วคราว
- แฟลงแลง, ปีแยร์
- วอลเลซ, เฮนรี เอ.
- กฎหมายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
- แทฟต์, รอเบิร์ต เอ.
- สำนักงานบริหารความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
- สหภาพการชำระเงินยุโรป
- ซีลันด์, พอล ฟาน
- องค์กรบริหารความมั่นคงร่วมกัน
- ลิมแบร์ก, เขื่อน
- สติคเคอร์, เดิร์ค
- นโยบายร่วมด้านการเกษตร
- แผนแมนโชลต์
- มาร์โชแลง, โรแบร์
- เคนแนน, จอร์จ เอฟ.
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1948-1952
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๙๑-๒๔๙๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf