เนสเตอร์ อิวาโนวิช มัคโนเป็นนักชาตินิยมชาวยูเครนและผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตย (anarchist) ซึ่งเน้นอำนาจและความรุนแรงในการต่อต้านอำนาจรัฐทุกรูปแบบ ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑ มัคโนเป็นผู้นำขบวนการชาวนาในแถบยูเครนใต้ต่อต้านกองทัพเยอรมันที่บุกโจมตียูเครน และทำสงครามกองโจรต่อต้านอำนาจการปกครองของนายพลอันตอน อิวาโนวิช เดนีกิน (Anton Ivanovich Denikin)* ผู้นำกองทัพรัสเซียขาวในแถบลุ่มน้ำวอลกา (Volga) ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ เขาร่วมมือกับกองทัพแดง (Red Army)* ต่อสู้กับกองทัพรัสเซียขาวของนายพลปีเตอร์ นีโคเลวิช แรงเกล (Peter Nikolaevich Wrangel) แต่หลังจากนายพลแรงเกลพ่ายแพ้ต่อฝ่ายโซเวียต
กองทัพแดงก็เริ่มใช้นโยบายรุนแรงเพื่อปราบปรามกบฏชาวนา กองกำลังของมัคโนถูกโจมตีแตกกระจัดกระจายในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ มัคโนต้องหนีลี้ภัยไปโรมาเนีย
มัคโนมีชื่อจริงว่ามิคเนนโค (Mikhnenko) เกิดในครอบครัวชาวนายากจนใน ค.ศ. ๑๘๘๙ ที่หมู่บ้านกูเลีย-โปเล (Guliai-Pole) จังหวัดเอคาเตริโนสลาฟ (Ekaterinoslav) ในยูเครน บิดาเสียชีวิตในขณะที่เขายังเป็นทารก มัคโนและพี่น้องซึ่งเป็นชายอีก ๒ คนจึงเติบโตท่ามกลางความข้นแค้นลำเค็ญ ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ เขาถูกจับด้วยข้อหาปล้นสะดมและทำร้ายเจ้าหน้าที่ ตำรวจ จนเสียชีวิตและมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มปฏิวัติหัวรุนแรงเขาถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ศาลลดโทษให้เนื่องจากอายุยังน้อยโดยให้จำคุกที่นครมอสโกตลอดชีวิต ระหว่างถูกคุมขัง เขาล้มป่วยด้วยวัณโรคและได้รับการดูแลเอาใจใส่จากปีเตอร์ มาริน-อาร์ชีนอฟ (Peter Marin-Arshinov) นักอนาธิปไตยซึ่งเป็นสานุศิษย์ของมีฮาอิล อะเล็กซานโดรวิช บาคูนิน (Mikhail Alexandrovich Bakunin)*ผู้นำลัทธิอนาธิปไตย (Anarchism)* ปีเตอร์ยังสอนให้มัคโนอ่านและเขียนหนังสือและศึกษาทฤษฎีการเมืองอนาธิปไตย เขาจึงดื่มด่ำกับอุดมการณ์อนาธิปไตยและชื่นชมปีเตอร์ โครโปกิน (Peter Kropotkin) นักอนาธิปไตยชาวรัสเซีย
หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ รัฐบาลเฉพาะกาลได้นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง มัคโนจึงได้รับอิสรภาพและเขากลับไปใช้ชีวิตที่หมู่บ้านเกิด ความรู้ทางการเมืองและบุคลิกภาพความเป็นผู้นำทำให้เขาได้รับเลือกเป็นผู้นำสหภาพแรงงานและช่างไม้และเป็นผู้นำองค์กรสภาโซเวียตท้องถิ่น ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๑๗ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในกรุงเปโตรกราดอันเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของกรรมกรและทหารบางกลุ่มที่เรียกร้องให้พรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ยึดอำนาจทางการเมือง (แต่ประสบกับความล้มเหลวในเวลาต่อมา) ข่าวการจลาจลดังกล่าวทำให้ชาวนาในชนบทก่อการเคลื่อนไหวด้วย มัคโนจึงจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมกรที่ยากไร้ และชาวนายากจนที่ไม่มีที่ดินของตนเอง กองกำลังของมัคโนเข้าโจมตีเจ้าที่ดินท้องถิ่น เผาทำลายคฤหาสถ์ โรงนา โรงน้ำตาลและยึดที่ดินและทรัพย์สินของเจ้าที่ดินและนายทุนมาแบ่งสรรกัน เขากลายเป็นผู้นำชาวนาที่ ได้รับความนิยมชมชอบสูงและเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในแถบรัสเซียตอนใต้
เมื่อรัสเซียลงนามในสนธิสัญญาเบรส-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* กับเยอรมนีในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งทำให้รัสเซียถอนตัว ออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ได้สำเร็จและทำให้เยอรมนีมีอำนาจสูงสุดในยุโรปตะวันออก เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีได้เข้ายึดครองยูเครนหรือรัสเซียตอนใต้ มัคโนหลบหนีโดยเดินทางขึ้นเหนือไปยังนครมอสโก เขามีโอกาสพบและแลกเปลี่ยนความเห็นกับปีเตอร์ โครโปกินวีรบุรุษที่เขาชื่นชอบและหารือทางการเมืองกับวลาดีมีร์ เลนิน (Vladinir Lenin)* และเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ด้วย ฝ่ายโซเวียตได้สัญญาว่าจะให้การสนับสนุนแก่เขาทั้งทางด้านการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยมีเงื่อนไขว่าเขาจะต้องเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลยูเครน และสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ยูเครนในการยึดอำนาจทางการเมือง มัคโน จึงกลับไปยังหมู่บ้านเกิดอีกครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ และเริ่มรวบรวมชาวนาจัดตั้งเป็นกองกำลังขึ้น เขาใช้ยุทธวิธีสงครามกองโจรในการโจมตีทั้งกองทัพฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ที่ยึดครองยูเครน และกองทัพของนายพลปัฟโล สโคโรปัดสกี (Pavlo Skoropadsky) ผู้บัญชาการกองทัพยูเครนที่สนับสนุนเยอรมนี ชัยชนะของมัคโนในการรบทำให้ชาวนาเข้ามาร่วมในกองกำลังของเขามากขึ้น โดยที่ชาวนามักเรียกเขาว่าบัตโค (Bat’ko) ซึ่งมีความหมายว่า ‘พ่อเล็ก’ (little father)
การปราชัยของเยอรมนีในสงครามเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ทำให้เยอรมนีต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก (Armistice)* กับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายนที่เมืองกงเปียญ (Compiégne) ซึ่งห่างจากกรุงปารีสประมาณ ๘๐ กิโลเมตร เมื่อเยอรมนีถอนกำลังออกจากยูเครน มัคโนจึงทุ่มกำลังทั้งหมดโจมตีรัฐบาลชุดใหม่ของยูเครนที่จัดตั้งขึ้นซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าคณะกรรมการอำนวยการยูเครน (Directory-Ukraine) คณะกรรมการอำนวยการยูเครนซึ่งมีเซมอน เปตลูย์รา (Symon Petlyura) เป็นผู้นำได้ทำความตกลงกับโจเซฟ ปิลซุดสกี (Josef Pilsudski)* ผู้นำชาตินิยมโปแลนด์เพื่อร่วมมือกันต่อต้านรัสเซีย ปิลซุดสกีสัญญาว่าจะสนับสนุนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนยูเครน (Ukraine People’s Republic) และการประกาศเอกราชของยูเครน ความตกลงดังกล่าวมีส่วนทำให้โปแลนด์ประกาศสงครามกับรัสเซียใน ค.ศ. ๑๙๑๙ และทำให้มัคโนร่วมมือกับกองทัพแดงในการโค่นอำนาจของคณะกรรมการอำนวยการยูเครน ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กองทัพรัสเซียขาวซึ่งมีนายพลเดนีกินเป็นผู้บังคับบัญชาก็เคลื่อนกำลังเข้าโจมตีกองทัพแดงด้านยูเครนตะวันออก มัคโนมีบทบาทสำคัญในการนำทัพของเขาดักซุ่มโจมตีกองลำเลียงเสบียงของฝ่ายรัสเซียขาวและยึดชุมทางรถไฟสายสำคัญซึ่งทำให้กองทัพของฝ่ายรัสเซียขาวถูกตัดขาดจากฐานกำลังหนุนจนทำให้เดนีกินต้องถอนกำลังออกจากยูเครนตะวันออกในที่สุด
นอกจากการทำสงครามต่อต้านเปตลูย์ราและฝ่ายรัสเซียขาวแล้ว มัคโนยังดำเนินการจัดตั้งรัฐอนาธิปไตยอิสระขึ้นที่ภูมิภาคบ้านเกิด เขาจัดการประชุมใหญ่ระหว่างสภาโซเวียตภูมิภาคของชาวนาและคนงานหลายครั้งจนนำไปสู่การจัดตั้งสภาทหารภูมิภาคแห่งชาวนา (Regional Military Council of Peasants) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๙ และมีกองทัพก่อการปฏิวัติแห่งยูเครน (Revolutionary Insurgent Army of Ukraine) เป็นฐานอำนาจการปกครอง มัคโนสนับสนุนการจัดตั้งคอมมูนอนาธิปไตยของชาวนาและองค์การโซเวียตท้องถิ่นที่ไม่สังกัดพรรคบริหารปกครองชุมชนอย่างอิสระและรณรงค์ให้องค์กรท้องถิ่นเหล่านี้เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐทุกรูปแบบ เขาออกกฎหมายให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชนเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง เขาสนับสนุนให้กรรมกรควบคุมบริหารอุตสาหกรรมอย่างเป็นอิสระจากการควบคุมของโซเวียตท้องถิ่น และอื่น ๆ ขณะเดียวกันมัคโนก็สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับองค์การอนาธิปไตยกลุ่มต่าง ๆ ในเวลาอันสั้นระบอบมัคโน (Makhnovshchina) ที่มีกองทัพเป็นฐานกำลังก็มีอำนาจเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในรัสเซียตอนใต้
เมื่อรัฐบาลโซเวียตเริ่มใช้นโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม(War Communism)* ด้วยการบังคับเกณฑ์ชาวนาให้ส่งผลผลิตส่วนเกินทางเกษตรให้แก่ศูนย์กลางพรรค และบังคับชาวนาให้เข้าร่วมในระบบการผลิตแบบนารวม (collectivization) ชาวนาจึงเริ่มก่อกบฏขึ้นและมีชาวนาจำนวนไม่น้อยหันมาสมทบกับกองกำลังของมัคโน มัคโนจึงหันมาโจมตีฝ่ายโซเวียตและขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวโจมตีศูนย์บัญชาการของ โซเวียตในยูเครนตลอด ค.ศ. ๑๙๒๐ การโจมตีของมัคโนเปิดโอกาสให้กองทัพโปลซึ่งทำสงครามกับกองทัพแดงสามารถตั้งรับการรุกของกองทัพแดงไว้ได้และเริ่มเป็นฝ่ายรุกจนกองทัพแดงพ่ายแพ้ สหภาพโซเวียตจึงขอเปิดการเจรจาสงบศึกกับโปแลนด์ และทั้งสองฝ่ายได้ลงนาม ในสนธิสัญญารีกา (Treaty of Riga)* เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ในช่วงที่ โซเวียตเปิดการเจรจากับโปแลนด์อยู่นั้น กองทัพฝ่ายรัสเซียขาวซึ่งมีนายพล ปีเตอร์ แรงเกล เป็นผู้บังคับบัญชา และมีฐานกำลังอยู่ที่แหลมไครเมียพยายามเจรจากับมัคโนเพื่อให้ร่วมมือกันต่อต้านโซเวียต แต่มัคโนปฏิเสธเพราะกองทัพของแรงเกลมักปล้นสะดมและทำร้ายชาวนาในพื้นที่ที่ยึดครอง มัคโนจึงหันมาสนับสนุนกองทัพแดงในการทำสงครามกับฝ่ายรัสเซียขาว
หลังการลงนามในสนธิสัญญารีกากับโปแลนด์รัฐบาลโซเวียตก็ทุ่มกำลังทั้งหมดจากแนวรบด้านโปแลนด์ต่อสู้กับกองทัพรัสเซียขาวของนายพลแรงเกลในไครเมีย และได้รับการหนุนช่วยจากกองทัพชาวนาของมัคโนด้วย กองทัพแรงเกลปราชัยอย่างยับเยินในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๐ ทำให้สงครามกลางเมืองในรัสเซียสิ้นสุดลง หลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายรัสเซียขาว กองทัพแดงก็หันมาปราบปรามกบฏชาวนา กองกำลังของมัคโนก็ถูกโจมตีจนแตกกระจัดกระจายในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ มัคโนต้องลี้ภัยหนีไปยังโรมาเนีย โปแลนด์ และฝรั่งเศสตามลำดับ เขายึดอาชีพเป็นกรรมกรโรงงานและมีชีวิตอย่างลำเค็ญ
ในช่วงที่พักอาศัยอยู่ที่กรุงปารีส มัคโนเริ่มเขียนบันทึกความทรงจำซึ่งต่อมาพิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ และ ค.ศ. ๑๙๓๗ รวม ๓ เล่ม บันทึกความทรงจำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาพและเรื่องราวการต่อสู้ที่มีสีสันของฝ่ายอนาธิปไตยในประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ มัคโนสนับสนุนการพยายามจัดตั้งองค์กรอนาธิปไตยของปีเตอร์ มาริน-อาร์ชีนอฟซึ่งเป็นครูของเขาในรัสเซีย แต่การดำเนินงานของเขาก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ เขาเดินทางกลับมาสหภาพโซเวียตแต่ก็อยู่ได้ไม่นานนักและกลับไปใช้ชีวิตในฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง เนสเตอร์ อีอาโนวิช มัคโน ถึงแก่กรรมอย่างยากไร้และเดียวดายที่กรุงปารีสใน ค.ศ. ๑๙๓๔ รวมอายุได้ ๔๕ ปี.