แนวมาจิโนเป็นแนวปราการป้อมปืนถาวรขนาดใหญ่ของฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณแคว้นอัลซาส-ลอร์แรน (Alsace-Lorraine)* ตรงชายแดนด้านตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณที่ติดต่อกับเยอรมนีและอิตาลี มีความยาว ๓๑๔ กิโลเมตร จุดประสงค์สำคัญของการสร้างแนวมาจิโนก็คือเพื่อป้องกันการรุกรานจากเยอรมนีที่อาจรุกเข้ามาตามเส้นทางเดิมที่เคยใช้ใน สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* แนวปราการดังกล่าวสร้างขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ และมาแล้วเสร็จในช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๓๐ ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ อองเดร ลุย-เรอเน มาจิโน (Andre Louis-René Maginot) ผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้การก่อสร้างเกิดขึ้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เกิดขึ้นเยอรมนีกลับเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพ โดยยกเข้ามาโจมตีทางด้านหลังของแนวมาจิโนซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สุด แนวมาจิโนจึงถูกตีแตกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐
ความคิดที่จะสร้างแนวปราการเพื่อป้องกันพรมแดนทางด้านตะวันออกมีขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลง เนื่องจากฝรั่งเศสได้สูญเสียทรัพยากรทาง เศรษฐกิจและกำลังพลเป็นจำนวนมากในระหว่างสงครามโดยเฉพาะในด้านกำลังพลมีจำนวนทหารที่ล้มตาย บาดเจ็บ และสูญหายไปกว่า ๕,๐๐๐,๐๐๐ คน หรือราวร้อยละ ๗๓ ของยอดรวมของการระดมพลทั้งหมดสถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ายอดทหารเกณฑ์ในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ จะลดลงไปอย่างมาก เพราะเยาวชนรุ่นใหม่จะเติบโตไม่ทันอายุครบเกณฑ์ทหาร ส่วนเยอรมนีแม้จะเป็นฝ่ายแพ้สงครามแต่ก็มีประชากรถึง ๗๐ ล้านคน ในขณะที่ ฝรั่งเศสมีเพียง ๔๐ ล้านคนเท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้ฝรั่งเศสเป็นรองเยอรมนีในเรื่องกำลังพลในกรณีที่เกิดสงครามในอนาคต นอกจากนี้เศรษฐกิจของฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามก็อ่อนแอลงอย่างมาก ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการบูรณะฟื้นฟูประเทศในด้านต่าง ๆ เป็นเงินจำนวนมหาศาล ฝรั่งเศสจึงไม่สามารถหางบประมาณมาทุ่มเทเพื่อการป้องกันประเทศแต่เพียงอย่างเดียวได้ในขณะเดียวกันชาวฝรั่งเศสทั้งฝ่ายการเมืองและกองทัพยังมีความเห็นว่าสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* เป็นเพียงสนธิสัญญาสงบศึก (Armistice)* ชั่วคราว อาจเกิดสงครามครั้งใหม่ขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะสนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ได้ให้การค้ำประกันความปลอดภัยทางด้านพรมแดนที่ติดต่อกับเยอรมนีอย่างเพียงพอโดยเฉพาะบริเวณไรน์แลนด์ (Rhineland) แม้ว่าในขณะนั้นบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไรน์ทางด้าน เยอรมนีเป็นเขตปลอดทหารลึกเข้าไปในเขตแดนเยอรมนีถึง ๘๐ กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถทำหน้าที่เป็นเขตกันชนได้เป็นอย่างดี และเยอรมนีเองก็ถูกลดกำลังกองทัพลงเหลือเพียงแค่ ๑๐๐,๐๐๐ นาย ในขณะที่ป้อมค่ายต่าง ๆ ต้องถูกรื้อถอนเกือบทั้งหมด และแม้ว่าฝรั่งเศสจะได้แคว้นอัลซาส-ลอร์แรนที่เสียให้แก่เยอรมนีใน ค.ศ. ๑๘๗๑ กลับคืนมาแล้วก็ตาม แต่ป้อมที่เมืองเมตซ์ (Metz) สตารสบูร์ก (Strasbourg) และตียงวิลล์ (Thionville) ก็ยังใช้การไม่ได้ในทันที ส่วนแนวปราการเซเร เดอ รีวีแยร์ (Séré de Riviéres) ที่สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๘๘๐ ก็อยู่ห่างจากแนวพรมแดนใหม่ลึกเข้ามาในประเทศหลายกิโลเมตร โดยอยู่ห่างจากกรุงปารีสเพียง ๒๕๐ กิโลเมตรเท่านั้น อีกทั้งบรรดาป้อมค่ายต่าง ๆ ตามแนวพรมแดนดังกล่าวก็ทรุดโทรม อาวุธยุทโธปกรณ์ก็เกือบใช้การไม่ได้ ทำให้อัลซาส-ลอร์แรนซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไปจนตลอดแนวแม่น้ำโมแซล (Moselle) ไม่มีแนวป้องกันอย่างเพียงพอ
สภาพดังกล่าวทำให้กองทัพเริ่มคิดหาวิธีป้องกันประเทศที่มีประสิทธิภาพ และสามารถประหยัดทั้งกำลังคนและงบประมาณในเวลาเดียวกัน โดย ประเมินสถานการณ์ว่าเยอรมนีจะโจมตีฝรั่งเศสจากทางด้านแคว้นอัลซาส-ลอร์แรน ความคิดดังกล่าวได้กลายเป็นนโยบายหลักของประเทศที่นายกรัฐมนตรีชอช เกลมองโซ (Georges Clémanceau)* ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และได้หารือกับบุคคลสำคัญในกองทัพอย่างเป็นทางการหลายครั้ง อย่างไรก็ดี ภายในกองทัพความคิดในการป้องกันประเทศก็ยังมีความแตกต่างกันเป็น ๒ แนวทางหลัก คือ แนวทางแรกเป็นของจอมพล แฟร์ดินอง ฟอช (Ferdinand Foch)* อดีตอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการแห่งกองทัพบกที่มีชื่อเสียงและผู้บัญชาการรบในกองทัพสัมพันธมิตรระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ เขามีความเชื่อในทฤษฎีรุกเข้าโจมตีก่อนตามแบบการรบเดิมที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* จนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ เขาจึงเสนอว่าฝรั่งเศสควรเป็นฝ่ายรุกเข้าโจมตีก่อนในทุกสถานการณ์ หากตั้งรับอยู่กับที่ก็จะตกเป็นฝ่ายที่ถูกโจมตีและพ่ายแพ้ในที่สุด แนวทางที่ ๒ เป็นของจอมพล โชแซฟ ชาก-เซแซร์ ชอฟร์ (Joseph Jacques-Césaire Joffre)* วีรบุรุษแห่งยุทธการที่แม่น้ำมาร์น (Battle of the Marne)* ซึ่งเสนอว่าฝรั่งเศสไม่มีกำลังพลและ ทรัพยากรมากพอที่จะยกทัพไปรุกรานศัตรูก่อนได้ จึงควรเป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่า โดยการสร้างแนวปราการติดอาวุธที่แข็งแกร่งขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดกำลังพลแล้วยังจะสามารถยับยั้งข้าศึกไว้ได้เพื่อประวิงเวลาให้กองทัพของพันธมิตรมาช่วยได้ทัน แนวความคิดของเขาได้รับการสนับสนุนจากจอมพล อองเดร-ฟิลิปเปแตง (André-Philippe Pétain)* วีรบุรุษในสงครามโลกครั้งที่ ๑ รวมทั้งบรรดาบุคคลระดับสูงในกองทัพเป็นส่วนใหญ่ เพราะต่างตระหนักในสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่นอกจากนี้ ยุทธการที่แวร์เดิง (Battle of Verdun) ในช่วง ๑๐ เดือนระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๖ ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมความคิดในการสร้างแนวปราการถาวรเพื่อเป็นแนวป้องกันประเทศ โดยที่นายพลหลายคนหลงลืมไปว่าใน ค.ศ. ๑๙๑๘ กองทัพเยอรมันก็สามารถตีฝ่าแนวสนามเพลาะที่แวร์เดิงได้แม้ว่าแวร์เดิงจะมีป้อมค่ายล้อมรอบอยู่ก็ตาม
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ กองทัพได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นชุดหนึ่ง โดยมีนายพลชอฟร์เป็นประธานทำหน้าที่ศึกษาธรรมชาติของการสร้างแนวปราการเพื่อการป้องกันประเทศทางพรมแดนด้านตะวันออก รายงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ชื่อ Notes on the General Organization of National Territory เสนอให้สร้างแนวปราการเป็นกำแพงถาวรในเขตต่าง ๆ จากทะเลเหนือลงมาจนถึงเทือกเขาแอลป์ เพื่อทำหน้าที่ปกป้องกองทัพในสนามรบที่อยู่ด้านหลังแนวปราการติดอาวุธดังกล่าวให้สามารถเคลื่อนย้ายและรอคอยการโจมตีที่เหมาะสมได้เป็นอย่างดี ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เมื่อจอมพล เปแตงได้รับแต่งตั้งเป็นจเรทหารแห่งกองทัพบก ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บัญชาการทัพในกรณีที่เกิดสงครามขึ้นเขากลับเขียนรายงานคัดค้านข้อเสนอของคณะกรรมาธิการชุดนี้ มีใจความสำคัญสรุปได้ว่าเขาเชื่อมั่นในยุทธศาสตร์ของสนามรบที่จัดเตรียมไว้แล้วในยามสงบ มากกว่า ซึ่งหมายถึงการรบในแนวสนามเพลาะที่สร้างติดต่อกันไปเป็นแนวยาวตลอดแนวพรมแดนโดยเฉพาะจากแนวพรมแดนด้านตะวันตกของแม่น้ำไรน์ และจากแม่น้ำไรน์จนถึงเมืองตียงวิลล์บนฝั่งแม่น้ำโมแซลเท่านั้นไม่จำเป็นต้องสร้างแนวป้องกันเข้าไปประชิดพรมแดนเบลเยียม เพราะว่าการป้องกันพรมแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือจะกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจากภายใน ของประเทศเบลเยียมที่มีระบบการป้องกันประเทศมั่นคงอยู่แล้ว รายงานดังกล่าวมีความสำคัญมาก เพราะได้กลายเป็นพื้นฐานของแผนยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศสสืบต่อมาจนถึง ค.ศ.๑๙๔๐ อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้ก็ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางและเผ็ดร้อนระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนชอฟร์ และเปแตง ซึ่งก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ในขณะนั้น
ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๒ หลังจากที่มาจิโนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามในรัฐบาล เรมง ปวงกาเร (Raymond Poincaré)* แล้ว เขานำปัญหาการป้องกันพรมแดนขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจังอีกครั้งเนื่องจากเขาเป็นผู้หนึ่งที่เชื่อว่าสนธิสัญญาแวร์ซายไม่ได้ให้การค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยทางพรมแดนด้านตะวันออกดีพอ จำเป็นต้องทำให้แนว พรมแดนทางด้านนี้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อีกประการหนึ่งในขณะนั้นฝรั่งเศสซึ่งตระหนักว่าเยอรมนีอาจไม่สามารถจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามได้ตามกำหนดของสนธิสัญญาแวร์ซาย ก็คิดที่จะยึดครองแคว้นรูร์ (Ruhr) ของเยอรมนีเพื่อบีบบังคับให้เยอรมนีจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามตามเงื่อนไข ทำให้เกิดความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ในส่วนรวมที่จะต้องเตรียมพร้อมในเรื่องการป้องกันประเทศ นอกจากนี้ บรรพบุรุษของมาจิโนยังเป็นชาวเมืองราวิญญีซูร์ลอร์แนง (Ravigny-surL’Ornain) ในแคว้นลอร์แรนซึ่งเคยถูกเยอรมนีโจมตีและยึดครอง อีกทั้งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ มาจิโนเองก็เป็นวีรบุรุษสงครามที่ได้ผ่านการรบอย่างโชกโชนในสมรภูมิที่แวร์เดิงจนได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่าซึ่งทำให้เขาเดินไม่ปรกติตลอดชีวิต เขาจึงมีความเจ็บแค้นเยอรมนีเป็นการส่วนตัว และเมื่อเขาเดินทางกลับไปเยี่ยมแคว้นลอร์แรนหลังสงครามโลกยุติลง สภาพบ้านเมืองที่ถูกทิ้งระเบิดเผาทำลายและทรุดโทรมอย่างหนักก็ทำให้ มาจิโนถึงกับตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่ยอมให้ลอร์แรนถูกเยอรมนีโจมตีอีก เขามักกล่าวย้ำถึงความบกพร่องของสนธิสัญญาแวร์ซายอยู่เสมอและพยายามผลักดันให้แผนป้องกันพรมแดนด้านตะวันออกเป็นเรื่องเร่งด่วน ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ กระทรวงสงครามจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อการป้องกันพรมแดนขึ้นเพื่อทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการป้องกันพรมแดนคณะกรรมาธิการชุดนี้มุ่งเน้นไปที่การสร้างป้อมปราการเป็นแนวป้องกันประเทศแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้พิจารณาหรือแสวงหายุทธศาสตร์ทางเลือกอื่นใดมาทดแทน
อย่างไรก็ดีใน ค.ศ.๑๙๒๔ ก่อนมาจิโนพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม คณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อการป้องกันพรมแดนก็ได้เสนอรายงานสรุปได้ว่า ฝรั่งเศสจำเป็นต้องสร้างแนวปราการถาวรทางด้านตะวันออกที่มีความแข็งแกร่งทั้งด้านการก่อสร้างและกำลังกองทัพ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ ๒ ประการคือ เพื่อหยุดยั้งหรือประวิงเวลาข้าศึกในกรณีที่มีการโจมตีโดยไม่รู้ตัว ฝรั่งเศสจะได้ระดมพลและเคลื่อนย้ายกำลังกองทัพเพื่อการตอบโต้ได้ทัน และทำหน้าที่เป็นฐานทัพอันแข็งแกร่งเพื่อขับไล่ข้าศึกไม่ให้โจมตีเข้าไปถึงภายในประเทศซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องความยาวของแนวปราการซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้งกันอยู่ระหว่าง กลุ่มที่สนับสนุนความคิดของชอฟร์ที่ต้องการให้สร้างด้านบนไปจนจดทะเลเหนือและด้านล่างจดเทือกเขาแอลป์ กับกลุ่มที่สนับสนุนความคิดของเปแตงที่ให้สร้างทางเหนือถึงลักเซมเบิร์กเท่านั้นไม่จำเป็นต้องขยายเข้าไปประชิดเบลเยียม เกี่ยวกับเรื่องนี้เปแตงยังได้ย้ำอีกหลายครั้งว่า แนวพรมแดนฝรั่งเศส-เบลเยียมถูกกั้นไว้อย่างดีแล้วด้วยป่าอาร์เดน (Ardennes) ที่เป็นที่ ราบสูงและเป็นป่าลึกอันหนาทึบยากแก่ศัตรูที่จะตีฝ่าเข้ามาโจมตีถึงฝรั่งเศสได้จึงไม่เป็นอันตรายสำหรับฝรั่งเศสนอกจากนี้ ถัดจากป่าอาร์เดนลงมาก็เป็นที่ราบฟลานเดอร์ (Flanders) ซึ่งเป็นที่ลาดชัน การสร้างป้อมค่ายและอาคารใต้ดินเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งจะทำให้ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงมากเพื่อแก้ปัญหานี้ อนึ่ง ภายในเบลเยียมก็มีแนวป้องกันจากแม่น้ำเมิส (Meuse)
จนถึงคลองอัลแบร์ (Albert) ที่ได้จัดทำไว้อย่างดีแล้ว อีกทั้งใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ฝรั่งเศสยังได้ลงนามในความตกลงเป็นพันธมิตรกับเบลเยียมไว้ด้วย การสร้างป้อมค่ายประชิดพรมแดนจะแสดงว่าขาดความไว้วางใจเบลเยียม [ในเวลาต่อมา ปอล แปงเลอเว (Paul Painlevé) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามสืบต่อจากมาจิโนใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ก็เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะจะเป็นการสร้างป้อมค่ายตรงหน้าประเทศเพื่อนบ้าน] นอกจากนี้การสร้างแนวปราการผ่านที่ราบระหว่างฝรั่งเศสกับเบลเยียมยังอาจเป็นการทำลายแหล่งอุตสาหกรรมอันกว้างขวางในบริเวณนั้นด้วย
ด้วยเหตุผลทางด้านทางด้านภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจดังกล่าวจึงดูเหมือนว่าแนวคิดของเปแตงถูกต้อง เพราะหากจะป้องกันทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือจริง ๆ คงต้องใช้ทหารและทรัพยากรอย่างมหาศาล ฉะนั้นมาจิโนจึงทำหน้าที่เป็นคนกลางตัดสินให้สร้างแนวปราการโดยเริ่มต้นจากชายแดนฝรั่งเศสสวิตเซอร์แลนด์ที่เมืองบาเซิล (Basel) มุ่งตรงขึ้นมาทางตะวันออกเฉียงเหนือจนสิ้นสุดที่เมืองโลแตร์ (Lauter) บริเวณที่อยู่ติดกับชายแดนลักเซมเบิร์ก อย่างไรก็ดี การสร้างแนวปราการก็ยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีต้องรอมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๗ โครงการก่อสร้างจึงได้รับอนุมัติจากสภากลาโหมหลังผ่านการอภิปรายและชี้แจงหลายครั้ง แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีงบประมาณพอที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างได้ทันที มาจิโนซึ่งขณะนั้นพ้นจาก ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามแล้ว และดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายกองทัพในรัฐสภา (Parliamentary Army Commission) จึงพยายามผลักดันให้คณะกรรมาธิการอนุมัติการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกองทัพที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ทำให้ได้เงินมาจำนวนหนึ่งนอกจากนี้แปงเลอเวยังได้จัดสรรงบประมาณกองทัพที่ยังไม่ได้ใช้มาสมทบอีกก้อนหนึ่งทำให้สามารถเริ่มการก่อสร้างแนวปราการในช่วงทดลองได้ ๒ ช่วงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๘ ทั้งมาจิโนและแปงเลอเวได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการผลักดันให้การก่อสร้างเกิดขึ้นได้ แม้ว่าทั้งสองจะเป็นศัตรูทางการเมืองต่อกันก็ตาม
นอกจากนี้ในวันที่ ๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๗ รัฐบาลยังได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการก่อสร้างแนวปราการในภูมิภาคต่าง ๆ ขึ้นแทนที่คณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อการป้องกันพรมแดนที่หมดหน้าที่ลง มีนายพลเบลอากเกอะ (Belhague) ผู้ตรวจการใหญ่ฝ่ายวิศวกรรมของกองทัพเป็นประธาน คณะกรรมาธิการดังกล่าวมีหน้าที่ออกแบบ กำหนดโครงสร้าง สำรวจพื้นที่อำนวยการ และดูแลก่อสร้างแนวปราการทั้งระบบ การก่อสร้างในระยะทดลองไม่ได้เริ่มในแนวพรมแดนช่วงที่ติดต่อกับเยอรมนี แต่เริ่มในช่วงที่ติดต่อกับอิตาลีที่ มักรู้จักกันในชื่อแนวอัลไพน์ (Alpine Line) เพราะฝรั่งเศสเห็นว่าลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ของอิตาลีเป็นอันตรายคุกคามสันติภาพมากกว่าเยอรมนีในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* การก่อสร้างในขั้นทดลองเสร็จสิ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๖ โดยได้ตัดทอนช่วงอัลซาสตอนบนออกไป และมีการทดสอบการใช้งานหลายครั้ง
ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ มาจิโนได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามอีกครั้ง เขาจึงผลักดันการก่อสร้างแนวปราการอย่างเต็มรูปแบบ แม้ว่าขณะนั้นฝรั่งเศสเริ่มประสบปัญหาทางเศรษฐกิจการเงินแล้ว และสภานิติบัญญัติก็มีแนวโน้มที่จะตัดทอนงบประมาณของกองทัพลง แต่เขาก็ได้พยายามเสนอของบประมาณการก่อสร้างจากรัฐสภาโดยอ้างเหตุผลและความจำเป็นต่าง ๆ เช่นการเลื่อนกำหนดการถอนทหารออกจากไรน์แลนด์จาก ค.ศ. ๑๙๓๖ ตามสนธิสัญญาแวร์ซายมาเป็น ค.ศ. ๑๙๓๐ ตามสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaties of Locarno)* ค.ศ. ๑๙๒๕ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมถึง ๖ ปี จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างแนวปราการอย่างเต็มรูปแบบให้เร็วขึ้น เขายังย้ำปัญหาการเกณฑ์กำลังพลซึ่งจะถึงจุดต่ำสุดในกลางทศวรรษ ๑๙๓๐ และความจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อของประชาชนชาวฝรั่งเศสจากสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นซึ่งจะทำให้การพัฒนาประเทศช้าลง นอกจากนี้ เขายังได้หาเสียงสนับสนุนจากนักการเมืองกลุ่มต่าง ๆ โดยเน้นความรักชาติในหมู่นักการเมืองฝ่ายขวา และการสร้างงานให้แก่แรงงานฝรั่งเศสในหมู่นักการเมืองฝ่ายซ้าย ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ มาจิโนยังได้แสดงสุนทรพจน์ครั้งสำคัญในสภานิติบัญญัติโดยย้ำถึงความสำคัญของการจัดตั้งแนวปราการดังกล่าวตอนหนึ่งว่า "เราคงไม่อาจใฝ่ฝันที่จะสร้างกำแพงขนาดมหึมาสำหรับฝรั่งเศสซึ่งมีราคาแพงมากได้ก็จริง แต่เราก็ยังมีทางเลือกที่จะแสวงหาวิธีการอื่นที่ทรงพลังและยืดหยุ่นได้จากการจัดการป้องกันประเทศที่ ตั้งอยู่บนหลักการของการใช้ประโยชน์จากพื้นที่และสภาพภูมิประเทศโดยการสร้างป้อมปราการที่ติดต่อกันตลอดแนวสำหรับการยิงตอบโต้ได้ทุกทิศทาง" แม้มาจิโนจะถูกต่อต้านจากนักการเมืองหลายฝ่าย เช่น นักการเมืองกลุ่มนิยมสันติภาพ (pacifist) ที่เห็นว่าสงครามคงไม่เกิดขึ้นเร็ว รวมทั้งนักการเมืองพรรคสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์เป็นต้น แต่ในที่สุด ในวันที่ ๑๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๐ รัฐสภาก็อนุมัติงบประมาณในวงเงิน ๓,๓๐๐ ล้านฟรังก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างแนวปราการด้านตะวันออกในช่วง ๔ ปีแรก การก่อสร้างแนวปราการทั้งระบบจึงเริ่มขึ้นในต้น ค.ศ. ๑๙๓๐ โดยแบ่งการก่อสร้างออก เป็น ๓ ระยะ และกำหนดให้แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ภายใน ค.ศ. ๑๙๔๐
การก่อสร้างในระยะแรกก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มาจิโนได้เดินทางไปตรวจการก่อสร้างในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๐ และแสดงความพอใจในผลงานแต่เขาก็ไม่มีโอกาสเห็นผลสำเร็จของการก่อสร้างแนวปราการนี้ เนื่องจากมาจิโนได้ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ ๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๒ หลังการป่วยด้วยไข้ไทฟอยด์เพียงไม่กี่วัน อย่างไรก็ดีใน ค.ศ. ๑๙๓๕ รัฐบาลก็อนุมัติให้ใช้ชื่อแนวปราการนี้ว่า "แนวมาจิโน" เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาแม้ว่าเอดูอาร์ แอร์รีโอ (Edouard Herriot)* จะคัดค้านว่าควรใช้ชื่อ "แนวแปงเลอเว" มากกว่า แต่ข้อเสนอนี้ก็ตกไป ด้วยเหตุผลว่ามาจิโนเป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่ ได้ต่อสู้ทั้งทางการเมืองและการจัดหางบประมาณเพื่อทำให้การก่อสร้างในช่วงแรกเกิดขึ้นได้ แนวมาจิโนจึงเป็นชื่อแนวปราการนี้สืบต่อมา
การขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party-NSDAP; Nazi Party)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ รวมทั้งท่าทีที่แข็งกร้าวของฮิตเลอร์ในการดำเนินการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายในเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการทหารด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางด้านฝรั่งเศส ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ นายพลมักซีม เวกอง (Maxime Weygand) และนายพลโมรีซ กาเมอแลง (Maurice Camelin) ได้เสนอของบประมาณเพื่อขยายแนวปราการออกไปจนถึงชายแดนเบลเยียมแต่ถูกคัดค้านจากเปแตงซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามในขณะนั้น อย่างไรก็ดี เปแตงก็ยังอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่โครงการก่อสร้างแนวปราการที่กำลังดำเนินอยู่อีกจำนวนหนึ่งต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เมื่อเบลเยียมประกาศความเป็นกลางพร้อมกับเนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์ก ระบบพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศสกับเบลเยียมก็ยุติลง ฝรั่งเศสจึงตัดสินใจให้ขยายแนวปราการต่อไปจนประชิดพรมแดนเบลเยียม แต่เป็นแนวป้องกันธรรมดาที่ประกอบด้วยรั้วลวดหนามและสนามเพลาะ รวมทั้งฐานยิงต่อสู้ข้าศึกเท่านั้น ไม่ได้เป็นปราการถาวรที่ประกอบด้วยป้อมค่ายและห้องใต้ดินในระบบและมาตรฐานเดียวกันกับแนวมาจิโนเดิม ทั้งยังก่อสร้างไม่เสร็จจน ค.ศ. ๑๙๔๐ เพราะความจำกัดในด้านงบประมาณ และความเชื่อในหลักยุทธศาสตร์เดิม แนวปราการในช่วงนี้จึงเป็นจุดอ่อนที่สุดของแนวมาจิโน ในขณะเดียวกันหลังการยึดครองไรน์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ฮิตเลอร์ยังได้สั่งให้สร้างแนวซิกฟรีด (Siegfried Line) หรือกำแพงตะวันตกขึ้นในบริเวณพรมแดนด้านตะวันตกส่วนที่ติดต่อกับฝรั่งเศสเพื่อเป็นการตอบโต้การสร้างแนวมาจิโนและเป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาในการโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเยอรมนี แต่การสร้างแนวดังกล่าวก็มีส่วนทำให้ฝรั่งเศสเร่งสร้างแนวมาจิโนให้เสร็จโดยเร็ว
ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ การก่อสร้างแนวมาจิโนรวมทั้งการบรรจุกำลังพลและบุคลากรประจำป้อมก็เสร็จสิ้นลงและและอยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ แนวมาจิโนนี้นับเป็นแนวปราการใหญ่ที่สุดที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมที่ทันสมัย และมีระบบซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา ประกอบด้วยอาคารที่สร้างขึ้นโดยแยกออกจากกันและมีการออกแบบแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ตั้งเรียงรายตลอดแนวลดหลั่นกันตาม ลักษณะของพื้นที่และสภาพภูมิประเทศ อาคารทั้งหมดมีถึงกว่า ๕๐๐ หลัง ในจำนวนนี้เป็นป้อมขนาดใหญ่ที่บรรจุปืนใหญ่และกำลังพลได้กว่า ๑,๐๐๐ นายจำนวน ๔๕ ป้อม และป้อมขนาดเล็กรองลงมาที่บรรจุกำลังพล ได้ ๕๐๐ และ ๒๐๐ นาย ตั้งสลับอยู่ระหว่างป้อมใหญ่อีก ๙๗ ป้อม ป้อมเหล่านี้เป็นป้อมที่แข็งแกร่งสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กกล้า มีความหนาและแข็งแรง ทนทาน สามารถต้านทานการระดมยิงจากปืนใหญ่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ภายในป้อมและอาคารต่าง ๆ ยังมีห้องใต้ดินลดหลั่นลึกลงไปหลายชั้นใช้เป็นห้องปฏิบัติการรบ คลังสรรพาวุธ โรงพยาบาล โรงงานไฟฟ้าหน่วยบริการสาธารณูปโภค โกดังเก็บของ ที่พักผ่อนทหาร ที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ ราว ๓๕๐ ห้อง ทั้งยังมีอุโมงค์ใต้ดินเป็นระยะทางยาวเชื่อมต่อระหว่างป้อมค่ายและ อาคารต่าง ๆ หลายช่วง ช่วงละกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร โดยมีทางรถไฟใต้ดินสำหรับการคมนาคมติดต่อและการขนส่งยุทธสัมภาระตลอดแนวปราการ และทางเดินใต้ดินก็มีการติดเครื่องปรับอากาศสำหรับกองทัพเป็นแนวยาวด้วย ส่วนทางด้านหน้ายังมีฐานปืนใหญ่คล้ายเรือรบที่จอดอยู่บนพื้นดิน รถถังและป้อมตรวจการตั้งอยู่เป็นระยะ ๆ ถัดออกมายังมีขวากเหล็กกันรถถังที่มีความ แข็งแกร่งรวมทั้งหลุมพรางและกับระเบิดจัดตั้งอยู่เรียงรายเป็นแนวลึกด้วย โดยมีรั้วลวดหนามกั้นอยู่รอบนอกซึ่งอยู่ห่างจากแนวพรมแดนประมาณ ๒๐ กิโลเมตร แนวมาจิโนจึงเป็นเสมือนสิ่งมหัศจรรย์สำหรับยุคนั้น นอกจากนั้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙ -๑๙๔๐ ยังมีการก่อสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จสมบูรณ์ ภูมิภาคที่มีแนวป้องกันที่แข็งแกร่งที่สุดคือบริเวณเมืองเมตซ์ โลแตร์ และแคว้นอัลซาส
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ แนวปราการมาจิโนกลับไม่มีโอกาสได้ทดสอบความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพในการสู้รบโดยตรงตามแผนที่วางไว้ เพราะหลังจากที่ฮิตเลอร์ประสบความสำเร็จในการโจมตีโปแลนด์ด้วยยุทธวิธีแบบสายฟ้าแลบ (blitzkrieg) จนสามารถยึดโปแลนด์ได้ในเวลาเดือนเดียวเขาจึงสั่งให้กองทัพนาซีบุกโจมตีฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* โดยใช้แผนซีเชลชนิทท์ (Sichelschnitt) ซึ่งต้องใช้กำลังพลรวมกันถึง ๓ กองทัพโดยให้กองทัพแรกเข้าโจมตีทางเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม กองทัพที่ ๒ มุ่งหน้าไปทางแนวมาจิโน ส่วนกองทัพที่ ๓ ให้บุกเข้าโจมตีระหว่างกลางของ ๒ กองทัพแรกตรงข้ามกับป่าอาร์เดนเพื่อทำให้ข้าศึกตั้งรับไม่ทันในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ กองทัพนาซีกลุ่มที่ ๑ ก็เปิดฉากโจมตีเนเธอร์แลนด์แบบสายฟ้าแลบซึ่งทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องยอมแพ้ภายในเวลา ๔ วัน จากนั้นก็มุ่งตรงเข้าสู่เบลเยียมซึ่งเป็นจุดที่กองทัพเยอรมันปะทะกับกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันกองทัพนาซีกลุ่มที่ ๒ ซึ่งประกอบด้วยทหารกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ นายพร้อมด้วยรถถังจำนวน ๑,๕๐๐ คันก็บุกเข้าโจมตีลักเซมเบิร์ก เบลเยียมและมุ่งตรงตีฝ่าเข้าไปในป่าอาร์เดนได้อย่างง่ายดาย โดยได้รับการต่อต้าน เพียงเล็กน้อย เนื่องจากกองทัพฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ในบริเวณนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนทางอากาศ และไม่มีความแข็งแกร่งพอที่จะตอบโต้กองทัพเยอรมันได้ ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ กองทัพนาซีจึงยึดป่าอาร์เดนไว้ได้ในขณะที่ กองทัพฝรั่งเศสเริ่มหมดแรง
อย่างไรก็ดีทั้งกองทัพกลุ่มที่ ๑ และกลุ่มที่ ๒ ยังคงมุ่งหน้าบุกโจมตีต่อไปจนถึงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม กองทัพทั้งสองจึงได้มาพบกันตรงหน้าเมืองดันเคิร์ก (Dunkirk) และต่อจากนั้นกองทัพเยอรมันก็โจมตีพรมแดนเบลเยียมผ่านเข้ามาในฝรั่งเศสทางด้านหลังของ
แนวมาจิโนบริเวณเมืองดินอง (Dinant) และเซดอง (Sédan) ที่อยู่ตรงเหนือสุดของแนวพรมแดนฝรั่งเศสเบลเยียมและเป็นจุดอ่อนที่สุดของแนวปราการนี้ กองทัพเยอรมันได้รับการต้านทานน้อยมาก เพราะนายพลกาเมอแลงผู้บัญชาการทัพฝ่ายฝรั่งเศสก็ชราและอ่อนล้า ทั้งยังยึดติดกับการรบแบบเก่าโดยไม่เข้าใจยุทธวิธีการรบสมัยใหม่ที่เคลื่อนที่เร็วและใช้กำลังทางอากาศสนับสนุนการโจมตีทางภาคพื้นดินดังที่กองทัพนาซีกำลังดำเนินการอยู่ นอกจากนี้บรรดาป้อมต่าง ๆ ที่บรรจุกำลังรบเต็มอัตราก็อยู่ห่างไกลเกินไป และไม่ได้รับคำสั่งโดยทันที จึงทำให้ไม่มีโอกาสได้ทำการสู้รบเพื่อต่อต้านการโจมตีของกองทัพเยอรมันโดยตรง ดังนั้นในวันที่ ๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ กองทัพเยอรมันจึงตีแนวมาจิโนในบริเวณนี้แตกและยึดครองได้อย่างง่ายดายแม้ว่าจะได้รับการตอบโต้อย่างประปรายจากป้อมบางป้อมของแนวมาจิโนก็ตาม ในที่สุดเมื่อฝรั่งเศสลงนามในสัญญาสงบศึกกับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ แล้ว กองทหารฝรั่งเศสที่ประจำการอยู่ที่แนวมาจิโนก็ต้องยอมแพ้แก่เยอรมนีและถูกจับเป็นเชลยศึก
ระหว่างการยึดครองฝรั่งเศส กองทัพนาซีได้ส่งทหารเยอรมันมาประจำการที่แนวมาจิโนและใช้ป้อมหลายแห่งเป็นคลังสรรพาวุธ และโรงงานใต้ดิน นอกจากนี้หลังการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรที่หาดนอร์มองดี (Normandy) ในวันดีเดย์ (D-Day)* เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ แล้ว กองทัพนาซียังได้ใช้ป้อมค่ายของแนวมาจิโนเป็นแนวต้านทานและตอบโต้การโจมตีของฝ่ายพันธมิตรเพื่อชิงพื้นที่กลับคืน ทำให้กองทัพของฝ่ายพันธมิตรต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะตีฝ่าแนวมาจิโนนี้ออกไปได้
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ฝรั่งเศสก็ได้แนวมาจิโนคืน รัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงสภาพให้ทันสมัยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในกองทัพ โดยปรับปรุงป้อมบางแห่งเพื่อต่อต้านการโจมตีของอาวุธนิวเคลียร์ด้วย อย่างไรก็ดีแนวมาจิโนเริ่มลดความสำคัญลงและไมได้อยู่ในความสนใจของรัฐบาลฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๙ หลังจากฝรั่งเศสยกเลิกข้อผูกพันทางทหารที่มีต่อองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO)* ในทศวรรษ ๑๙๗๐ ป้อมปราการและอาคารหลายแห่งได้ถูกประมูลขายให้แก่เอกชนซึ่งบางแห่งเอกชนเยอรมันได้ซื้อไป ในขณะที่อีกหลายส่วนถูกทอดทิ้งให้รกร้างและหักพัง ได้มีผู้นำป้อมปราการเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในทางต่าง ๆ กันเช่น เป็นพิพิธภัณฑ์ อนุสาวรีย์ สถานเริงรมย์ แหล่งท่องเที่ยว หรือแม้แต่ฟาร์มเพาะเห็ด เป็นต้น แต่โดยรวมแล้วแนวปราการมาจิโนยังคงเป็นสถานที่ซึ่งมีผู้สนใจใคร่รู้และต้องการศึกษาความสามารถทางวิศวกรรมแห่งยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จึงเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยี่ยมชมเสมอ.