Macmillan, Maurice Harold, 1st Earl of Stockton (1894-1986)

ฮาโรลด์ มอริซ แมกมิลแลน เอิร์ลที่ ๑ แห่งสตอกตัน (๒๔๓๖-๒๕๒๙)

​​​     ฮาโรลด์ มอริซ แมกมิลแลนเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๗ ถึงตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๓ และผู้นำของพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ในช่วงที่วินสตัน เลนเนิร์ด สเปนเซอร์ เชอร์ชิลล์ (Winston Leonard Spencer Churchill)* ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๑-๑๙๕๕ เชอร์ชิลล์แต่งตั้งแมกมิลแลนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเขาประสบความสำเร็จในการบริหารงานอย่างมากโดยเฉพาะนโยบายการสร้างบ้านสวัสดิการปีละ ๓๐๐,๐๐๐ หลัง ต่อมาแมกมิลแลนยังได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๔-๑๙๕๕ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างเดือนเมษายนถึงธันวาคม ค.ศ ๑๙๕๕ ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ แมกมิลแลนพยายามผลักดันให้อังกฤษเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Communities - EC)* แต่ประสบความล้มเหลวเพราะ ประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle ค.ศ. ๑๙๕๘-๑๙๖๙)* แห่งฝรั่งเศสขัดขวางด้วยข้ออ้างว่าอังกฤษไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภาคพื้นทวีปยุโรปและยังไม่พร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศภาคพื้นทวีปยุโรป


     แมกมิลแลนเกิดในครอบครัวนักธุรกิจสำนักพิมพ์แมกมิลแลนแห่งลอนดอน (London Publishing House of Macmillan & Co.) ที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๙๔ เขาเป็นบุตรของมอริซ ครอว์ฟอร์ด แมกมิลแลน (Maurice Crawford Macmillan) ชาวสกอตแลนด์ และมารดาเป็นชาวอเมริกันชื่อ เฮเลน อาร์ตี เบลล์ (Helen Artie Belle) แมกมิลแลนเข้าศึกษาที่โรงเรียนอีตันและวิทยาลัยเบลยัลแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Balliol College, Oxford) แต่ยังไม่ทันเรียนจบก็ต้องไปรับราชการทหารในกรมทหารราบรักษาพระองค์ และเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขาได้รับบาดเจ็บจากการรบ ๓ ครั้งซึ่งทำให้เขาได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติในเวลาต่อมา
     หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๐ แมกมิลแลนถูกส่งไปเป็นองครักษ์ของดุ๊กที่ ๙ แห่งเดวอนเชียร์ (9th Duke of Devonshire) ข้าหลวงใหญ่ประจำแคนาดา ซึ่งทำให้ได้พบรักกับเลดี โดโรที คาเวนดิช (Lady Dorothy Cavendish) ธิดาของท่านข้าหลวง คนทั้งสองสมรสกันใน ค.ศ. ๑๙๒๐ หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับประเทศอังกฤษ แมกมิลแลนเข้าทำงานธุรกิจโรงพิมพ์กับแดเนียลพี่ชายระยะหนึ่ง ต่อมาเขาเบนความสนใจมาทำงานการเมือง เขาสมัครเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมและสนใจเรื่องการปฏิรูปสังคมกับเศรษฐกิจอย่างมาก แมกมิลแลนจึงถูกมองว่าเป็นพวกนิยมซ้ายในพรรค ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เขาสมัครรับเลือกตั้งที่เขตอุตสาหกรรมสตอกตันออนทีส (Stockton-on-Tees) แต่ไม่ได้รับเลือก อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาประสบความสำเร็จได้เป็นสมาชิกสภาสามัญและได้รับเลือกจากเขตนี้จนถึง ค.ศ. ๑๙๒๙ ซึ่งเขาพ่ายแพ้ แต่ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ เขาก็มีชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง การเป็นผู้แทนจากเขตอุตสาหกรรมสตอกตันทำให้แมกมิลแลนได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากของกรรมกรที่บางครั้งต้องถูกออกจากงานและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากไร้ เขาจึงพยายามหาทางช่วยเหลือด้วยการผลักดันรัฐสภาให้ออกกฎหมายช่วยเหลือกรรมกรให้มีงานทำ และเสนอแนวความคิดการปฏิรูปสังคมเพื่อให้รัฐบาลเข้าไปควบคุมด้าน เศรษฐกิจให้มากขึ้น
     ต่อมาเมื่ออาร์เทอร์ เนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Arthur Neville Chamberlain)* ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ สืบต่อจากแสตนลีย์ บอลด์วิน (Stanley Baldwin)* ซึ่งลาออกไปก่อนครบวาระเพราะวิกฤตการณ์สละราชสมบัติ (Abdication Crisis)* ของพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ (Edward VIII ค.ศ. ๑๙๓๖)* ทั้งบอลด์วินและเชมเบอร์เลนมีแนวนโยบายต่างประเทศที่คล้ายกันคือการดำเนินนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* เชมเบอร์เลนยังพยายามแก้ไขวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศโดยเสนอให้องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* รับรองอำนาจของอิตาลีในอะบิสซิเนียเพื่อแลกกับการให้อิตาลีถอนทหารออกจาก สงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙)* แต่อิตาลีไม่ยอมปฏิบัติตามและการใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่ออิตาลีก็ไม่ได้ผลแมกมิลแลนซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศทั้งของบอลด์วินและเชมเบอร์เลนมาตั้งแต่แรกพยายามคัดค้านแต่ไม่เป็นผล เขาจึงถอนตัวออกจากกิจกรรมพรรค ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๘ และใช้เวลาระหว่างนั้นเขียนหนังสือเกี่ยวกับแนวความคิดทางการเมืองหลายเรื่อง เช่น A Plea for a National Policy ( ค.ศ. ๑๙๓๓) และ The Middle Way ( ค.ศ. ๑๙๓๘)
     การที่แมกมิลแลนไม่เห็นด้วยกับนโยบายเอาใจอักษะประเทศ เขาจึงสนับสนุนเชอร์ชิลอยู่เบื้องหลังเพราะเชอร์ชิลล์ต่อต้านนโยบายดังกล่าวของเชมเบอร์เลนอย่างมากจนทำให้เขาเป็นที่เกลียดชังของรัฐบาลและรัฐสภา เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นและอังกฤษล้มเหลวที่จะช่วยเหลือเดนมาร์ก นอร์เวย์ เบลเยียม ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ให้รอดพ้นจากการยึดครอง ของเยอรมนี เชมเบอร์เลนจึงต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีและเปิดโอกาสให้เชอร์ชิลจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เชอร์ชิลล์ตั้งแมกมิลแลนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลาธิการ (parliamentary secretary to the Minister of Supply) และต่อมาเป็นปลัดกระทรวงอาณานิคม ในปลายเดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ แมกมิลแลนถูกส่งไปแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือในฐานะอัครราชทูต (minister resident) ประจำศูนย์บัญชาการกองกำลังพันธมิตรเมดิเตอร์เรเนียน (Allied Forces Headquarters, Mediterranean Command) แมกมิลแลนได้มีโอกาสรู้จักและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนายพลดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) แห่งสหรัฐอเมริกานายพลชาร์ล เดอ โกล และนายทหารระดับสูงฝ่ายพันธมิตรคนอื่น ๆ ซึ่งทำให้เขาได้พัฒนาความสามารถของตนเองในฐานะนักการเมืองในเวลาต่อมา
     เมื่อสงครามยุติลง แมกมิลแลนได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารอากาศในรัฐบาลรักษาการของเชอร์ชิลล์ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ในการเลือกตั้งทั่วไปหลังสงคราม เขาไม่ได้รับเลือกตั้งและต้องรอจนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมที่บรอมเลย์ (Bromley) เขาจึงได้รับเลือกเข้ามาใหม่ต่อมา เมื่อพรรคอนุรักษนิยมได้เป็นรัฐบาลในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ เชอร์ชิลแต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการเคหะและการปกครองท้องถิ่น การดำเนินนโยบายสร้างบ้านสวัสดิการปีละ ๓๐๐,๐๐๐ หลังสำเร็จตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๔ ทำให้เขาได้รับความนิยมและได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่อมาหลายกระทรวงคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ -๑๙๕๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างเดือนเมษายน-ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๕-๑๙๕๗ ในสมัยรัฐบาลเซอร์แอนโทนี อีเดน (Sir Anthony Eden)*
     เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๖ ที่สืบเนื่องจากกองทหารอิสราเอลบุกยึดแหลมไซนายกับฉนวนกาซา และบุกเข้า ไปใกล้จะถึงคลองสุเอซเพียง ๑๖ กิโลเมตร ฝ่ายอังกฤษกับฝรั่งเศสได้เข้าแทรกแซงโดยพยายามให้ทั้งอียิปต์กับอิสราเอลหยุดยิงแต่ไม่เป็นผล อังกฤษกับฝรั่งเศสจึงส่งกำลังทหารโจมตีกรุงไคโรโดยไม่รอการตัดสินใจของที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ซึ่งกำลังดำเนินการเจรจากับรัฐบาลอียิปต์ ทำให้สถานการณ์ร้ายแรงเกือบเป็นสงครามใหญ่ การใช้กำลังทหารของอังกฤษในวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis)* ค.ศ. ๑๙๕๖ ครั้งนี้ทำให้อังกฤษถูกวิพากษ์โจมตีทั้งภายในและภายนอกประเทศ และทำให้นายกรัฐมนตรีอีเดนต้องยอมมอบดินแดนที่ยึดครองได้บริเวณคลองสุเอซแก่องค์การสหประชาชาติ วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้สุขภาพของอีเดนซึ่งอ่อนแอมาก่อนทรุดโทรมมากจนแพทย์ต้องให้พักรักษาตัว เขาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๕๗ ริชาร์ด ออสเทน บัตเลอร์ (Richard Austen Butler)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมุรธาธร (Lord Privy Seal) และผู้นำพรรคอนุรักษนิยมในสภาสามัญเป็นผู้ที่ถูกคาดหมายว่าจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากอีเดน แต่การที่เขาสนับสนุนอีเดนในวิกฤตการณ์ ค.ศ. ๑๙๕๖ ทำให้เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีและมาร์ควิสที่ ๕ แห่งซอลส์เบอรี (5th Marquis of Salisbury) ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมในสภาขุนนางกราบทูลถวายคำปรึกษาต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ (Elizabeth II ค.ศ. ๑๙๕๒-)* ให้ทรงแต่งตั้งแมกมิลแลนเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
     แมกมิลแลนคาดว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งเพียงช่วงสั้น ๆ แต่ปรากฏว่าเขาดำรงตำแหน่งยาวนานกว่าที่คิดและประสบความสำเร็จในการธำรงไว้ทั้งพรรคการเมืองและความเชื่อมั่นในจริยธรรมของชาติ ทั้งในที่สุดยังได้รับการสนับสนุนให้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมด้วย หลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงปีเดียวเขาต้องรับใบลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึง ๓ คน แต่เขาก็ประสบความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจเพราะสามารถพยุงฐานะการเงินของประเทศไว้ได้และทำให้สินค้ามีราคาคงที่ ทั้งยังได้ทุ่มเทงบประมาณด้านการจัดสวัสดิการสังคม และทำให้มีเงินหมุนเวียนภายในประเทศจำนวนมาก แต่การใช้จ่ายจำนวนมหาศาลก็ทำให้ฝ่ายผู้เชี่ยวชาญการเงินเกิดความวิตกว่าอาจทำให้เกิดปัญหาการเงินขึ้นมาใหม่ ปีเตอร์ ทอร์นีย์ครอฟต์ (Peter Thorneycroft) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงประท้วงด้วยการลาออกเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๘ แมกมิลแลนไม่คัดค้านเพราะเขาเห็นด้วยกับทฤษฎีนีโอ-เคนส์ (Neo-Keynesian) ของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๔๖) ว่า รัฐบาลต้องเข้าไปจัดการเรื่องปัญหาคนว่างงานและนโยบายเศรษฐกิจมีความจำเป็นกว่าวินัยการเงิน เขาเน้นการสร้างความเชื่อมั่นแก่สังคมด้วยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่งคั่งแห่งชาติและช่วยแก้ปัญหาคนว่างงาน นโยบายเศรษฐกิจของแมกมิลแลนประสบความสำเร็จมากจนเขาได้รับฉายาว่า "ซูเปอร์แมก" (Supermac) ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๕๙ พรรคอนุรักษนิยมจึงมีชัยชนะอย่างท่วมท้นโดยได้รับเสียงส่วนใหญ่ในสภาถึง ๑๐๐ ที่นั่ง
     อย่างไรก็ตาม ในการบริหารประเทศหลัง ค.ศ. ๑๙๕๙ รัฐบาลแมกมิลแลนต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจหลายด้านซึ่งสืบเนื่องจากความมั่งคั่งของชาติทำให้เกิดความไม่สมดุลในการใช้จ่ายของประชาชน เกิดปัญหาคนว่างงาน และปัญหาการเคลื่อนย้ายของพลเมืองหลังสงครามเนื่องจากการออกกฎหมายการอพยพใน ค.ศ. ๑๙๖๒ (Commonwealth Immigration Act 1962) ทำให้มีประชากรจากประเทศเครือจักรภพอพยพเข้ามาจำนวนมาก ในด้านนโยบายต่างประเทศ แมกมิลแลนมุ่งสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศตะวันตกกับยุโรปตะวันออก เขาเดินทางไปสร้างสัมพันธ์กับนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* แห่งสหภาพโซเวียตที่กรุงมอสโกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๙ และต่อมาได้เดินทางเยือนประเทศเครือจักรภพรวมทั้งอินเดียนอกจากนี้ เขายังได้เดินทางไปแอฟริกาเพื่อแสดงสุนทรพจน์เกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปสังคมในสภานิติบัญญัติที่เคปทาวน์ของสหภาพแอฟริกาเรื่อง "ลมแห่งการเปลี่ยนแปลง" (Winds of Change) โดยยอมรับเรื่องการให้เอกราชแก่สหภาพแอฟริกาและความจำเป็นในการยกเลิกนโยบายการแบ่งแยกผิว แมกมิลแลนยังมุ่งฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกาซึ่งบาดหมางกันตั้งแต่ครั้งวิกฤตการณ์คลองสุเอซ ค.ศ. ๑๙๕๖ เขาสนับสนุนประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) แห่งสหรัฐอเมริกาในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธีที่คิวบา (Cuba Missile Crisis ค.ศ. ๑๙๖๒) และต่อมาร่วมทำความตกลงนัสเซา ค.ศ. ๑๙๖๒ (Nassau Agreement 1962) เรื่องการติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาในเรือดำน้ำของอังกฤษ ขณะเดียวกันเขาติดต่อกับคอนราด อาเดเนาร์ (Konrad Adenauer)* นายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตกและประธานาธิบดีเดอ โกล ของฝรั่งเศสเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ใกล้ชิดขึ้น
     แมกมิลแลนมุ่งมั่นที่จะนำอังกฤษเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรป เพราะเห็นว่าอังกฤษจะได้รับประโยชน์มากกว่าที่จะอยู่ในวงนอก แต่นโยบายดังกล่าวถูกคัดค้านจากพรรคแรงงาน (Labour Party)* อย่างมากเพราะเกรงว่าอังกฤษจะขาดความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของอังกฤษกับประเทศเครือจักรภพ นอกจากนี้ ประชาชนและเกษตรกรชาวอังกฤษทั่วไปก็เกรงว่าการเข้าเป็นสมาชิกจะบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งสินค้าก็จะมีราคาแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเดอ โกลแห่งฝรั่งเศสคัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรปของอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๖๓ อย่างมาก เพราะไม่พอใจที่ อังกฤษทำความตกลงนัสเซากับสหรัฐอเมริกา และไม่ต้องการให้อังกฤษเข้ามามีบทบาทชี้นำในประชาคมยุโรป ทั้งเกรงว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาจะมีส่วนทำให้การบริหารงานของประชาคมยุโรปมีความเป็นอิสระน้อยลง
     ใน ค.ศ. ๑๙๖๓ เกิดเรื่องอื้อฉาวกรณีโพรฟูโม (Profumo Affair) ที่สืบเนื่องจากจอห์น โพรฟูโม (John Profumo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมตกเป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องความสัมพันธ์กับคริสติน คีเลอร์ (Christine Keeler) โสเภณีสาวซึ่งมีความสัมพันธ์กับทูตทหารเรือชาวรัสเซียประจำกรุงลอนดอน สาธารณชนเกรงว่าความลับทางราชการอาจรั่วไหล โพรฟูโมจึงลาออกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๓ แต่กรณีโพรฟูโมก็ทำให้รัฐบาลของแมกมิลแลนเสียชื่อเสียงและสร้างความกดดันให้เขาไม่น้อย แม้แมกมิลแลนจะสามารถกอบกู้ชื่อเสียงของพรรคและรัฐบาลกลับคืนมาได้เมื่อสามารถทำความตกลงกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในการร่วมลงนามสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Test Ban Treaty)* ที่กรุงมอสโก เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๓ โดยห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศอวกาศ และใต้ผิวน้ำ แต่ไม่ได้ระบุห้ามการทดลองใต้ดินกระแสการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำพรรคก็ยังคงดำเนินอยู่ แมกมิลแลนซึ่งมีปัญหาสุขภาพและต้องผ่าตัดต่อมลูกหมากจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๓
     ต่อมา ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๖๔ แมกมิลแลนลาออกจากสมาชิกภาพของสภาสามัญ เขากลับไปทำงานที่สำนักพิมพ์แมกมิลแลนของครอบครัวและเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เขายังเขียนหนังสือหลายเล่มกล่าวคือ Winds of Change, 1914-1939 (ค.ศ. ๑๙๖๖) The Blast of War, 1939-1945 (ค.ศ. ๑๙๖๗) Tides of Fortune, 19451955 ( ค.ศ. ๑๙๖๙) Riding the Storm, 1956-1959 (ค.ศ. ๑๙๗๑) Pointing the Way, 1959-1961 (ค.ศ. ๑๙๗๒) At the End of the Day, 1961-1963 (ค.ศ. ๑๙๗๓) และ The Past Masters : Politics and Politicians, 1906-1939 (ค.ศ. ๑๙๗๕)
     ใน ค.ศ. ๑๙๘๔ ฮาโรลด์ มอริช แมกมิลแลน ได้รับฐานันดรศักดิ์เป็นเอิร์ลที่ ๑ แห่งสต็อกตันขณะมีอายุได้ ๙๐ ปี อีก ๒ ปีต่อมา เขาถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๖ รวมอายุ ได้ ๙๒ ปี.



คำตั้ง
Macmillan, Maurice Harold, 1st Earl of Stockton
คำเทียบ
ฮาโรลด์ มอริซ แมกมิลแลน เอิร์ลที่ ๑ แห่งสตอกตัน
คำสำคัญ
- เบลล์, เฮเลน อาร์ตี
- พรรคอนุรักษนิยม
- แมกมิลแลน, มอริซ ครอว์ฟอร์ด
- แมกมิลแลน, ฮาโรลด์ มอริซ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- เชมเบอร์เลน, อาร์เทอร์ เนวิลล์
- สนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์
- อาเดเนาร์, คอนราด
- กฎหมายการอพยพ ค.ศ. ๑๙๖๒
- อีเดน, เซอร์แอนโทนี
- เอลิซาเบทที่ ๒, สมเด็จพระราชินีนาถ
- องค์การสหประชาชาติ
- วิกฤตการณ์คลองสุเอซ
- บัตเลอร์, ริชาร์ด ออสเทน
- วิกฤตการณ์ขีปนาวุธที่คิวบา
- บรอมเลย์
- ทอร์นีย์ครอฟต์, ปีเตอร์
- ซอลส์เบอรี, มาร์ควิสที่ ๕ แห่ง
- เคนส์, จอห์น เมย์นาร์ด
- ไอเซนฮาวร์, ดไวต์ ดี.
- ทฤษฎีนีโอ-เคนส์
- เอดเวิร์ดที่ ๘, พระเจ้า
- องค์การสันนิบาตชาติ
- สงครามกลางเมืองสเปน
- บอลด์วิน, สแตนลีย์
- วิกฤตการณ์สละราชสมบัติ
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- เดวอนเชียร์, ดุ๊กที่ ๙ แห่ง
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน เลนเนิร์ด สเปนเซอร์
- โกล, ชาร์ล เดอ
- คาเวนดิช, เลดีโดโรที
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- ความตกลงนัสเซา ค.ศ. ๑๙๖๒
- กรณีโพรฟูโม
- เคนเนดี, จอห์น เอฟ.
- พรรคแรงงาน
- โพรฟูโม, จอห์น
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1894-1986
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๓๖-๒๕๒๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อัธยา โกมลกาญจน
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf