Little Entente

กลุ่มความตกลงอนุภาคี

​​​​     กลุ่มความตกลงอนุภาคีเป็นระบบพันธมิตรทางทหารของประเทศยุโรป ๓ ประเทศ ประกอบด้วยเชโกสโลวะเกีย ยูโกสลาเวีย และโรมาเนีย จัดตั้งขึ้นโดยการลงนามในอนุสัญญาทวิภาคีหลายฉบับในช่วง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๒ มีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านการรุกรานของฮังการีที่สูญเสียดินแดนให้แก่ประเทศทั้งสามตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาตรียานง (Treaty of Trianon ค.ศ. ๑๙๒๐)* และเพื่อป้องกันการฟื้นคืนราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ซึ่งหมดอำนาจลงพร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ฝรั่งเศสซึ่งต้องการค้ำประกันบูรณภาพทางดินแดนด้านที่ติดต่อกับเยอรมนีก็ได้สนับสนุนระบบพันธมิตรนี้โดยลงนามในความตกลงแบบทวิภาคีกับประเทศภาคีสมาชิกทั้งสามเช่นเดียวกัน กลุ่มความตกลงอนุภาคีหมดความสำคัญลงโดยปริยายใน ค.ศ. ๑๙๓๘ และสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๙
     ความคิดที่จะจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหารในกลุ่มประเทศที่แยกตัวออกจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* เกิดขึ้นครั้งแรกในระหว่างการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference) ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ในการประชุมครั้งนี้มีการจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพฉบับต่าง ๆ กับประเทศที่แพ้สงคราม เช่น สนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* สนธิสัญญาแซงต์แชร์แมง (Treaty of Saint Germain)* และสนธิสัญญาตรียานง สนธิสัญญาดังกล่าวแม้จะมีเงื่อนไขที่เป็นบทลงโทษให้มหาอำนาจผู้แพ้สงครามต้องให้เอกราชแก่ชนชาติต่าง ๆ  ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของตนก่อนสงครามยุติลง ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้แทนของประเทศเกิดใหม่เหล่านั้นก็ตาม แต่ก็ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในปัญหาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศเหล่านั้นภายหลังเอกราชเอดูอาร์ด เบเนช (Eduard Beneš)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเชโกสโลวะเกียซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยเป็นบุคคลแรกที่ตระหนักถึงความสำคัญและข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เขาเห็นว่ารัฐต่าง ๆ ที่สถาปนาขึ้นใหม่ควรรวมกลุ่มกันในระบบพันธมิตรทาง ทหารเพื่อร่วมมือกันต่อต้านการกลับคืนสู่อำนาจของมหาอำนาจในจักรวรรดิเดิม และรักษาสถานภาพตามสนธิสัญญาไว้ให้ได้ ในทันทีที่การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* สิ้นสุดลง เบเนช ก็เริ่มดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งระบบพันธมิตรดังกล่าวขึ้น
     ประเทศที่เบเนชต้องการนำเข้ามารวมกลุ่มกับเชโกสโลวะเกีย คือ ยูโกสลาเวีย [ในขณะนั้นชื่อราชอาณาจักรแห่งเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (Kingdom of Serbs, Croats and Slovenes) เปลี่ยนชื่อเป็นยูโกสลาเวียใน ค.ศ. ๑๙๒๙] และโรมาเนีย เนื่องจากประเทศทั้งสามเคยอยู่ในอาณาจักรฮังการีเดิมและได้รับเอกราชภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาตรียานงเช่นเดียวกัน ทั้ง ๓ ประเทศต่างเกรงภัยคุกคามบูรณภาพทางดินแดนจากฮังการี ฉะนั้นในระหว่างที่เขากลับไปกรุงปารีสอีกครั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เบเนชจึงถือโอกาสเปิดการเจรจากับผู้แทนของยูโกสลาเวียเพื่อเตรียมการจัดทำอนุสัญญาเป็นพันธมิตรระหว่างกันอนุสัญญาฉบับนี้ได้รับการลงนามอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลเชโกสโลวะเกียและยูโกสลาเวียในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยมีสาระสำคัญว่า ในกรณีที่ประเทศคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกฮังการีโจมตี อีกฝ่ายหนึ่งจะเข้าช่วยเหลือโดยทันที นอกจากนี้ ในเดือน มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๐ เบเนชยังเจรจาเป็นพันธมิตรกับโรมาเนียด้วย แม้ว่ารัฐบาลโรมาเนียจะเห็นด้วยในหลักการแต่ยังสงวนท่าทีไม่ยอมลงนามในความตกลงใด ๆ กับเชโกสโลวะเกียระบบพันธมิตรของ ๓ ประเทศ จึงยังไม่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. ๑๙๒๐
     อย่างไรก็ดี ความพยายามของจักรพรรดิชาลส์ (Charles)* ที่ ต้องการกลับมาฟื้นฟูระบอบกษัตริย์และพระราชอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์กในฮังการีเมื่อเดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ แต่ประสบความล้มเหลวก็มีส่วน ช่วยทำให้เกิดกลุ่มความตกลงอนุภาคีขึ้นอย่างเป็นทางการ เพราะในปีเดียวกันนั้นโรมาเนียได้ตัดสินใจลงนามในอนุสัญญาร่วมมือป้องกันกับเชโกสโลวะเกียที่กรุงบูคาเรสต์ในวันที่ ๒๓ เมษายน และต่อมาในวันที่ ๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๑ ยูโกสลาเวียก็ได้ลงนามในอนุสัญญาอีกฉบับหนึ่งกับโรมาเนียที่กรุงเบลเกรดอนุสัญญาทั้ง ๒ ฉบับมีอายุ ๒ ปี และมีสาระสำคัญเช่นเดียวกันกับอนุสัญญาฉบับที่เชโกสโลวะเกียทำกับยูโกสลาเวียเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ เว้นแต่ในฉบับหลังได้เพิ่มมาตราเกี่ยวกับความร่วมมือป้องกันในกรณีที่ประเทศคู่สัญญาถูกบัลแกเรียโจมตี นอกจากนี้ ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ เชโกสโลวะเกียและยูโกสลาเวียยังลงนามร่วมกันในอนุสัญญาที่มีขอบข่ายกว้างขึ้นกว่าเดิมอีกฉบับหนึ่งที่กรุงเบลเกรด อนุสัญญาทวิภาคีเหล่านี้ทำให้เกิดการสถาปนากลุ่มความตกลงอนุภาคีของ ๓ ประเทศขึ้นอย่างสมบูรณ์ ในอนุสัญญาดังกล่าวนอกจากมีการระบุถึงความร่วมมือทางทหารในการป้องกันบูรณภาพทางดินแดนแล้วยังเน้นความร่วมมือและการปฏิบัติตามจุดมุ่งหมายขององค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* อย่างเคร่งครัด ทั้งยังระบุว่าสมาชิกกลุ่มความตกลงอนุภาคีจะให้ความร่วมมือในการกำหนดนโยบายต่างประเทศที่มีต่อฮังการีด้วย
     เมื่อข่าวการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชน ประเทศทั้งสามก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากสื่อมวลชน พรรคฝ่ายค้านภายในประเทศ และบรรดาประเทศยุโรปอื่น ๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจในจุดมุ่งหมายและบทบาทที่ชัดเจนของกลุ่มความตกลงอนุภาคีนี้ หนังสือพิมพ์ในฮังการีถึงกับล้อเลียนพันธมิตรดังกล่าวโดยนำไปเปรียบเทียบกับความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* ระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซียและอังกฤษ ใน ค.ศ. ๑๙๐๙ ซึ่งเป็นค่ายมหาอำนาจที่ผนึกกำลังกันต่อสู้กับฝ่ายเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้วเรียกชื่อกลุ่มว่า กลุ่มความตกลงอนุภาคี ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชื่อของกลุ่มอันเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
     อย่างไรก็ดี แม้กลุ่มความตกลงอนุภาคีจะจัดตั้งขึ้นโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมหาอำนาจ แต่ฝรั่งเศสก็ให้ความสนใจมาตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่าสนธิสัญญาแวร์ซายไม่ได้ให้การค้ำประกันความปลอดภัยของตนอย่างเพียงพอโดยเฉพาะความปลอดภัยทางพรมแดนด้านเยอรมนี จึงต้องการแสวงหามิตรจากทั้งด้านยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกเพื่อสร้างดุลแห่งอำนาจใหม่แทนที่รัสเซียพันธมิตรเดิม ฝรั่งเศสยังเห็นว่ากลุ่มประเทศเหล่านั้นจะทำให้เยอรมนีต้องเผชิญศึกสองด้านในกรณีที่เยอรมนีเปิดฉากรุกรานฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงเห็นสมควรผูกมิตรและช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านั้นมีความเข้มแข็ง ฉะนั้นใน ค.ศ. ๑๙๒๔ หลังความล้มเหลวในการยึดครองแคว้นรูร์ (Ruhr Occupation) ฝรั่งเศสจึงเริ่มดำเนินนโยบายผูกมิตรกับกลุ่มความตกลงอนุภาคี โดยการลงนามในความตกลงเป็นพันธมิตรกับเชโกสโลวะเกียในวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๔ ที่กรุงปารีสความตกลงฉบับนี้ไม่มีการกำหนดอายุและต่อมาในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๖ ฝรั่งเศสยังได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยมิตรภาพและความช่วยเหลือกับโรมาเนียที่ กรุงปารีสเช่นเดียวกัน ความตกลงดังกล่าวมีอายุ ๑๐ ปี (และได้ต่ออายุอีก ๑๐ ปีในเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๖) ทั้งยังได้ลงนามในความตกลงทำนองเดียวกันกับยูโกสลาเวียในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๗ แต่เป็นความตกลงที่มีอายุเพียง ๕ ปี ซึ่งก็ได้รับการต่ออายุอีก ๒ ครั้งในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ ความตกลงทั้ง ๓ ฉบับกำหนดให้ประเทศคู่สัญญามีการปรึกษาหารือกันในเรื่องนโยบายต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงและการป้องกันประเทศ นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังสัญญาจะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศคู่สัญญาด้วย ด้วยเหตุนี้ฝรั่งเศสจึงถูกนำเข้าไปร่วมและผูกพันกับกลุ่มความตกลงอนุภาคีอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันฝรั่งเศสยังได้สนับสนุนให้ประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกอื่น ๆ รวมตัวเป็นพันธมิตรกันด้วยกลุ่มความตกลงอนุภาคีมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับโปแลนด์ผ่านทางความตกลงพันธมิตรระหว่างโรมาเนียกับโปแลนด์ฉบับ ค.ศ. ๑๙๒๑ และมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศพันธมิตรตามความตกลงบอลข่าน (Balkan Entente) ฉบับ ค.ศ. ๑๙๓๔ ที่ประกอบด้วยยูโกสลาเวียโรมาเนีย กรีซ และตุรกี
     ระหว่างทศวรรษ ๑๙๒๐-๑๙๓๐ กลุ่มประเทศความตกลงอนุภาคีได้พยายามกระชับความสัมพันธ์และระบบความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ ประเทศทั้งสามได้ขยายอายุอนุสัญญาทวิภาคีจากเดิม ๒ ปี เป็น ๕ ปี และให้มีการต่ออายุอนุสัญญาทุกฉบับโดยอัตโนมัติเมื่อหมดอายุลงเว้นแต่ในกรณีที่คู่สัญญาประเทศใดประเทศหนึ่งบอกเลิกสัญญาเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมหารือกันเป็นประจำ และในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ ก็ได้ลงนามร่วมกันในอนุสัญญาว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางทหารอีกฉบับหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านการรุกรานจากฮังการี อย่างไรก็ดี ความพยายามในการขยายขอบข่ายความร่วมมือภายในกลุ่มความตกลงอนุภาคีให้ครอบคลุมไปถึงด้านเศรษฐกิจกลับไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจและการค้าของประเทศทั้งสามมีลักษณะแข่งขันกันเองมากกว่าที่จะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อีกทั้งความพยายามของเชโกสโลวะเกียซึ่งถูกกระตุ้นโดยฝรั่งเศสให้มีการทำความตกลงเพื่อผูกมัดยูโกสลาเวียกับโรมาเนียให้เข้าสู่สงครามร่วมกับตนในกรณีที่เชโกสโลวะเกียถูกประเทศใดก็ตามโจมตีก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากอีก ๒ ประเทศ ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสามในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ จึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
     การขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)*  ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือนาซี (National Socialist German Worker's Party - NSDAP; Nazi)* ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ก็มีผลให้กลุ่มความตกลงอนุภาคีมีความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเข้มแข็งและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของระบบพันธมิตรอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๓ เชโกสโลวะเกียยูโกสลาเวีย และโรมาเนียได้ลงนามร่วมกันในกติกาสัญญาว่าด้วยองค์การ (Pact of Organization) หรือระบบของกลุ่มความตกลงอนุภาคี (Little Entente System) ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ กติกาสัญญาฉบับนี้ทำให้ระบบพันธมิตรของกลุ่มความตกลงอนุภาคีเปลี่ยนโครงสร้างเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยองค์กรบริหารงานต่าง ๆ ที่จำเป็นเช่นเดียวกับองค์การสันนิบาตชาติฉะนั้นในเวลาต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งองค์กรหลัก ๆ ขึ้น ได้แก่ คณะมนตรีถาวร (Permanent Council) ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศภาคีสมาชิกทั้งสามหรือผู้แทนเป็นสมาชิกประจำทำหน้าที่ประชุมหารือร่วมกันปีละ ๓ ครั้ง สำนักเลขาธิการคณะมนตรีถาวร (Secretariat of the Permanent Council) ที่มีเจ้าหน้าที่และพนักงานปฏิบัติงานประจำและมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ ประสานงานกับองค์การสันนิบาตชาติ และคณะมนตรีเศรษฐกิจ (Economic Council) เพื่อประสานงานและทำงานด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเป็นต้น
     อย่างไรก็ดี กลุ่มความตกลงอนุภาคีก็ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อต่อต้านเยอรมนี เพราะความตกลงเป็นพันธมิตรทางทหารของทั้ง ๓ ประเทศเจาะจงเพียงฮังการีและบัลแกเรียเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ เช่น เยอรมนี ทั้งโปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในกลุ่มรัฐที่สถาปนาขึ้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็ไม่ได้เข้าร่วมในระบบพันธมิตรด้วย นอกจากนี้ ประเทศภาคีสมาชิกก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างแท้จริงแต่ละประเทศมักดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นเอกเทศ จึงมักขัดแย้งกันในเรื่องต่าง ๆ หลังเยอรมนี เข้ายึดครองแคว้นไรน์แลนด์ (Rhineland) ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ กลุ่มความตกลงอนุภาคีก็มีความแตกแยกทางนโยบายอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเชโกสโลวะเกียเรียกร้องให้พันธมิตรอีก ๒ ประเทศเข้าช่วยเหลือในวิกฤตการณ์ซูเดเทนลันด์ (Sudetenland Crisis) ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ซึ่งเยอรมนีต้องการยึดซูเดเทนลันด์ (Sudetenland) จากเชโกสโลวะเกียก็ถูกประเทศพันธมิตรปฏิเสธ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อฮังการีถือโอกาสเข้ายึดดินแดนจากเชโกสโลวะเกียหลังการประชุมที่เมืองมิวนิก (Munich Conference) ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ยูโกสลาเวียและโรมาเนียก็ไม่ได้นำกองทัพเข้าช่วยเหลือเชโกสโลวะเกียตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อเชโกสโลวะเกียต้องสูญเสียซูเดเทนลันด์ให้แก่เยอรมนีตามความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* เชโกสโลวะเกียจึงประกาศยกเลิกข้อผูกพันต่าง ๆ ตามกติกาสัญญาว่าด้วยองค์การของกลุ่มความตกลงอนุภาคี นอกจากนี้ การที่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นมหาอำนาจในระบบพันธมิตรไม่ได้สนับสนุนกลุ่มความตกลงนี้อย่างแท้จริงโดยดำเนินนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* ร่วมกับอังกฤษและให้ความร่วมมือกับเยอรมนีในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการเข้าร่วมประชุมที่เมืองมิวนิกและการทำความตกลงมิวนิกในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาของเชโกสโลวะเกียโดยไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับเชโกสโลวะเกียแต่ประการใดจึงเท่ากับเป็นการบีบบังคับให้เชโกสโลวะเกียต้องมอบซูเดเทนลันด์แก่เยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๓๘ โดยไม่รักษาสัญญาที่จะค้ำประกันบูรณภาพทางดินแดนและความเป็นเอกราชทางการเมืองของประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกตามที่ระบุไว้ในความตกลงฉบับต่าง ๆ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ฮังการีเข้ามารุกรานเชโกสโลวะเกียด้วย
     ระบบพันธมิตรของกลุ่มความตกลงอนุภาคีสิ้นสุดลงเมื่อเชโกสโลวะเกียประกาศยกเลิกข้อผูกพันต่าง ๆ ในความตกลงทุกฉบับใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๙ ยูโกสลาเวียและโรมาเนียต่างก็ยอมรับว่ากลุ่มความตกลงอนุภาคีสิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางกา



คำตั้ง
Little Entente
คำเทียบ
กลุ่มความตกลงอนุภาคี
คำสำคัญ
- ซูเดเทนลันด์
- ความตกลงมิวนิก
- การประชุมที่เมืองมิวนิก
- กติกาสัญญาว่าด้วยองค์การ
- ความตกลงบอลข่าน
- ความตกลงไตรภาคี
- การยึดครองแคว้นรูร์
- สันนิบาตชาติ
- เบเนช, เอดูอาร์ด
- เซิร์บ โครแอต และสโลวีน,ราชอาณาจักร
- ชาลส์, จักรพรรดิ
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สนธิสัญญาตรียานง
- สนธิสัญญาแซง-แชร์แมง
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- กลุ่มความตกลงอนุภาคี
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- ระบบของกลุ่มความตกลงอนุภาคี
- ไรน์แลนด์, แคว้น
- วิกฤตการณ์ซูเดเทนลันด์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf