วิลเฮล์ม ลีบเนชท์เป็นนักสังคมนิยม นักหนังสือพิมพ์ และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดี (German Social Democratic Party - SPD)* เขาเป็นเพื่อนสนิททั้งของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* และฟรีดริช เองเงิลส์ (Friedrich Engels)* นักคิดและนักทฤษฎีสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงลีบเนชท์มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการจัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)*
ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๙ และตลอดชีวิตของเขา ลีบเนชท์เคลื่อนไหวต่อสู้ให้แนวคิดสังคมนิยมเป็นที่ยอมรับในเยอรมนีแต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก
ลีบเนชท์เกิดในครอบครัวข้าราชการที่มีฐานะเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๒๖ ที่ เมืองกีสเซิน (Giessen) แม้บิดาจะเสียชีวิตขณะเขาอายุได้ ๖ ปี แต่ มารดาก็เอาใจใส่เลี้ยงดูเขาอย่างดี ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๒-๑๘๔๒ เขาศึกษาระดับชั้นมัธยมที่โรงเรียนที่ มีชื่อเสียงของเมืองกีสเซิน และต่อมาเข้าศึกษาด้านนิรุกติศาสตร์เทววิทยา และปรัชญาที่ มหาวิทยาลัยกีสเซิน มาร์บูร์ก (Marburg) และเบอร์ลินตามลำดับ ระหว่างที่ศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน เขาเริ่มสนใจแนวความคิดสังคมนิยมและชอบอ่านงานเขียนของแซงต์ ซีมง (Saint Simon) นักสังคมนิยมชาวฝรั่งเศส รวมทั้งสนใจปัญหาการต่อสู้ของขบวนการกรรมกร หลังสำเร็จการศึกษาเขาสมัครไปสอนหนังสือชั้นมัธยมที่โรงเรียนในสวิตเซอร์แลนด์ และขณะเดียวกันก็ศึกษาต่อด้านนิติศาสตร์ แต่เรียนไม่สำเร็จเพราะหันไปเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวลัทธิมากซ์
เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* ซึ่งเป็นการปฏิวัติของประชาชนชาวฝรั่งเศสเพื่อล้มล้างรัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe)* แห่งราชวงศ์ออร์เลออง (Orléans) ลีบเนชท์เดินทางไปกรุงปารีสเพื่อเข้าร่วมการปฏิวัติแต่การปฏิวัติได้สิ้นสุดลงก่อนที่เขาจะเดินทางไปถึง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ขยายตัวไปทั่วยุโรปจนกลายเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ก็เปิดโอกาสให้เขาได้มีส่วนร่วมในการปฏิวัติ เขาเดินทางกลับดินแดนเยอรมันและร่วมเคลื่อนไหวปฏิวัติที่กรุงเวียนนา และที่อื่น ๆ อีกหลายครั้งตลอดช่วง ค.ศ. ๑๘๔๘ ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๔๘ เขาและกุสตาฟ ฟอนสตรูฟ (Gustav von Struve) ผู้นำกลุ่มสังคมนิยม พยายามยึดอำนาจที่เมืองบาเดิน (Baden) เพื่อจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐแต่ประสบความล้มเหลว ลีบเนชท์ถูกจับและถูกจำคุก ๘ เดือน หลังจากได้รับอิสรภาพในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ เขาเดินทางไปเมืองซูริก สวิตเซอร์แลนด์ และเข้าเป็นสมาชิกสมาคมกรรมกรแห่งนครเจนีวา (Worker’s Association of Geneva) ซึ่งทำให้เขามีโอกาสพบและรู้จักกับฟรีดริช เองเงิลส์ นักสังคมนิยมชาวเยอรมันที่เป็นเพื่อนร่วมงานและคู่คิดที่ใกล้ชิดของคาร์ล มากซ์เองเงิลส์แนะนำเขาให้เข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตคอมมิวนิสต์ (League of the Communist)*
ลีบเนชท์พักอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้นเพราะในปลาย ค.ศ. ๑๘๔๙ เขาถูกเนรเทศด้วยข้อหาก่อการเคลื่อนไหวยุยงกรรมกรให้เข้าร่วมในแนวทางปฏิวัติ เขาเดินทางไปพำนักอยู่ที่กรุงลอนดอนระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๐-๑๘๖๒ และเข้าร่วมกิจกรรมของสันนิบาตคอมมิวนิสต์ทั้งสนิทกับมากซ์จนกลายเป็นเพื่อนสนิททั้งของมากซ์และเองเงิลส์ ในช่วงที่อยู่กรุงลอนดอนเขาทำงานเลี้ยงชีพเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Augsburg Gazette ใน ค.ศ. ๑๘๖๒ รัฐบาลปรัสเซียให้นิรโทษกรรมแก่นักโทษการเมืองที่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ลีบเนชท์จึงเดินทางกลับไปกรุงเบอร์ลิน และยึดอาชีพเป็นนักเขียนประจำหนังสือพิมพ์ North German Gazette และระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๔-๑๘๖๕ เขาทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสาร The Social Democrat ขณะเดียวกันก็เข้าเป็นสมาชิกสมาคมกรรมกรเยอรมันทั่วไป (General German Workers’ Association) ซึ่งมีแฟร์ดีนานด์ ลัสซาลล์ (Ferdinand Lassalle)* นักสังคมนิยมเป็นผู้นำ ในเวลาอันสั้นลีบเนชท์สร้างชื่อเสียงให้ตนเองในฐานะเป็นนักคิดสังคมนิยมที่ต่อต้านนโยบายควบคุมสังคมและเศรษฐกิจของออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๙๘)* อัครมหาเสนาบดีแห่งปรัสเซีย เขายังคัดค้านแนวทางการรวมชาติเยอรมนี (Unification of Germany)* ที่มีปรัสเซียเป็นผู้นำของบิสมาร์คด้วย การต่อต้านดังกล่าวมีผลให้เขาถูกเนรเทศออกจากกรุงเบอร์ลิน และต้องอพยพไปอยู่ที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig)
ในช่วงที่อยู่เมืองไลพ์ซิก ลีบเนชท์สนิทสนมกับเอากุสท์ เบเบิล (August Bebel) นักปลุกระดม และนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมคนสำคัญ คนทั้งสองร่วมกันเผยแพร่แนวความคิดสังคมนิยมโดยใช้หนังสือพิมพ์ Democratic Weekly เป็นสื่อและได้สมาชิกเข้าร่วม ขบวนการจำนวนไม่น้อย ใน ค.ศ. ๑๘๖๗ กลุ่มผู้ใช้แรงงานเลือกลีบเนชท์เป็นผู้แทนของตนในสภาไรค์ชตากเขาสร้างชื่อเสียงให้ตนเองในฐานะเป็นกระบอกเสียงของมวลชนที่ยากไร้ซึ่งถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบและเป็นผู้นำพรรคประชาชนแซกซัน (Saxon People’s Party) ที่ต่อต้านแนวทางสังคมนิยมของลาซาลซึ่งเรียกร้องการปฏิรูปสังคมตามวิถีทางรัฐสภา ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๖๙ มีการประชุมใหญ่ของผู้แทนนักสังคมนิยมที่เมืองไอเซอนัค (Eisenach) และผลสำคัญประการหนึ่งของการประชุมครั้งนี้คือทั้งลีบเนชท์และเบเบิลร่วมกันจัดตั้งพรรคแรงงานประชาธิปไตยสังคม (Social Democratic Labour Party) ขึ้น โดยมีนโยบายเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง นอกจากนี้ ลีบเนชท์ยังนำพรรคแรงงานประชาธิปไตยสังคมเข้าเป็นสมาชิกขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑ (First International)* ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงานและกรรมกรชาติต่าง ๆ ขณะเดียวกันเขาก็ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The People’s State ของพรรค ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นหนังสือพิมพ์สังคมนิยมแนวหน้าที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อปัญญาชนสังคมนิยมเยอรมัน
เมื่อเกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco- Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์โทรเลขจากเมืองเอมส์ (Ems Telegram)* ลีบเนคชท์เคลื่อนไหวคัดค้านสงครามและโจมตีแผนของบิสมาร์คในการใช้สงครามเพื่อสร้างกระแสชาตินิยมในดินแดนเยอรมันตลอดจนปฏิเสธที่จะลงคะแนน เสียงให้สภาไรค์ชตากสนับสนุนการก่อสงคราม หลังการรวมชาติเยอรมนีได้สำเร็จ เขาและบาเบิลถูกจับใน ค.ศ. ๑๘๗๒ ด้วยข้อหา "มีเจตนาจะทรยศ" (treasonable intentions) และถูกจำคุกเป็นเวลา ๒ ปีที่ป้อมฮูแบร์ทุสบูร์ก (Hubertusburg) ก่อนหน้าการถูกจับกุมไม่นานนักเขาได้บุตรชายคนแรกคือ คาร์ล ลีบเนชท์ (Karl Liebknecht)* ซึ่งต่อมาเป็นนักปฏิวัติสังคมนิยมที่มีชื่อเสียง หลังจากพ้นโทษ ลีบเนชท์ก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาไรค์ชตากอีกครั้งหนึ่งและดำรงตำแหน่งจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๕ มีการประชุมกลุ่มสังคมนิยมขึ้นที่เมืองโกทา (Gotha) ผลของการประชุมครั้งนี้ซึ่งต่อมาเรียกว่า "การประชุมเพื่อความเป็นเอกภาพ" (unity conference) คือ ทั้งลีบเนชท์และลาซาลเห็นชอบที่จะรวมพรรคแรงงานประชาธิปไตยสังคมกับสมาคมกรรมกรเยอรมันทั่วไปจัดตั้งเป็นพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งเยอรมนี (Socialist Workers’ Party of Germany) ขึ้น มีการประกาศ "แถลงการณ์โกทา" (Gotha Manifesto) เสนอนโยบายล้มล้างระบบสังคมที่เป็นอยู่โดยเน้นแนวทางการต่อสู้เพื่อเสรีภาพด้านเศรษฐกิจและการเมืองในกรอบของกฎหมายและสร้างความร่วมมือกับนักธุรกิจอุตสาหกรรม การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองและสังคม การปฏิรูประบบการเลือกตั้งและกำหนดวันเลือกตั้งให้เป็นวันอาทิตย์หรือวันหยุดและอื่น ๆ นโยบายการประนีประนอมดังกล่าวถูกมากซ์วิพากษ์โจมตีอย่างรุนแรงในงานนิพนธ์เรื่อง Critique of the Gotha Programme ( ค.ศ. ๑๘๗๕) เพราะเห็นว่าเบี่ยงเบนจากแนวความคิดลัทธิมากซ์ ลีบเนชท์ซึ่งเป็นบรรณาธิการ Vörwarts หนังสือพิมพ์การเมืองของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งเยอรมนีพยายามโต้แย้งความคิดเห็นของมากซ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ และยืนยันความเชื่อมั่นของพรรคในลัทธิมากซ์ บทบาทของลีบเนชท์ในการเผยแพร่แนวความคิดสังคมนิยมอย่างเข้มแข็งมีส่วนทำให้ขบวนการสังคมนิยมในจักรวรรดิเยอรมนี (German Empire)* ขยายตัวและมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม บิสมาร์คไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเมืองของฝ่ายสังคมนิยม และไม่พอใจที่ผู้แทนสังคมนิยมในสภาไรค์ชตากมักต่อต้านแนวนโยบายของรัฐบาล บิสมาร์คจึงใช้เหตุการณ์การพยายามลอบปลงพระชนม์ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ (William I)* ถึง ๒ ครั้งในเวลาเดือนเศษเป็นข้ออ้างผลักดันกฎหมายต่อต้านพวกสังคมนิยม (Anti-Socialist Law) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจตำรวจในการกวาดล้างหนังสือและสิ่งพิมพ์แนวสังคมนิยมทุกประเภทและยึดทรัพย์ขององค์การหรือสมาคมที่ ต้องสงสัยว่าเป็นภัยต่อรัฐรวมทั้งปราบปรามการชุมนุม การยุบเลิกสหภาพแรงงานและสมาคมทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพวกสังคมนิยม กฎหมายฉบับนี้ได้รับการต่ออายุ ทุก ๆ ๒ ปีจนถึง ค.ศ. ๑๘๙๐
ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๘-๑๘๙๐ ลีบเนชท์พยายามเคลื่อนไหวในสภาไรค์ชตากเพื่อล้มเลิกกฎหมายต่อต้านสังคมนิยมแต่ก็ประสบความล้มเหลว ประมาณว่าในช่วงที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จำนวนนักสังคมนิยมและผู้ที่สนับสนุนฝ่ายสังคมนิยม ๑,๕๐๐ คนถูกจับขังและตัดสินโทษให้ทำงานหนัก และจำนวนไม่น้อยถูกเนรเทศออกนอกประเทศ แต่ผลที่สำคัญประการหนึ่งคือ สมาชิกของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายแนวสังคมนิยมยังคงได้รับเลือก เข้าสู่สภาไรค์ชตาก และจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้พวกสังคมนิยมก็มีมากขึ้นจาก ๔๓๗,๑๕๘ คนใน ค.ศ. ๑๘๗๕ เป็น ๑,๔๒๗,๙๒๘ คนใน ค.ศ. ๑๘๙๐ และผู้แทนฝ่ายสังคมนิยมในสภาไรค์ชตากก็เพิ่มขึ้นเกือบ ๔ เท่าจาก ๙ คนเป็น ๓๕ คน ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* ซึ่งขึ้นครองราชย์ ใน ค.ศ. ๑๘๘๘ ทรงยกเลิกกฎหมายต่อต้านพวกสังคมนิยมเพราะพระองค์คาดหวังจะได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย การยกเลิกดังกล่าวทำให้พระองค์ทรงขัดแย้งกับบิสมาร์คและพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งเยอรมนีซึ่งกลายเป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นอย่างถูกกฎหมายก็มีสถานภาพโดดเด่นในวงการเมืองเยอรมนีอย่างรวดเร็ว ในการประชุมใหญ่ของพรรคที่เมืองแอร์ฟูร์ท (Erfurt) ใน ค.ศ. ๑๘๙๑ มีการเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่เป็นพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าพรรคเอสพีดี
ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ ซึ่งเป็นวาระครบ ๑๐๐ ปีของการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution ค.ศ. ๑๗๘๙)* มีการประชุมใหญ่ของนักสังคมนิยมชาวยุโรปประเทศต่าง ๆ ที่กรุงปารีสเพื่อผนึกกำลังและเสริมสร้างความสามัคคีของขบวนการสังคมนิยม ในการประชุมใหญ่ครั้งนี้ ลีบเนชท์เดินทางไปร่วมประชุมด้วยและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้จัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ เพื่อสืบสานแนวทางขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๐๐ ลีบเนชท์เป็นกระบอกเสียงและผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันในการเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองตามแนวทางสังคมนิยม ใน ค.ศ. ๑๘๙๖ เขาถูกกลั่นแกล้งและถูกจำคุกสั้น ๆ เป็นเวลา ๔ เดือน ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในบั้นปลายชีวิตเขายังคงแข็งขันในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองและการประชุมระหว่างประเทศของกลุ่มสังคมนิยมจนถึงเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๐
วิลเฮล์ม ลีบเนชท์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ ที่เมืองชาร์ลอทเทนบูร์ก (Charlottenburg) ใกล้กรุงเบอร์ลินขณะอายุ ๗๔ ปี และมีประชาชนกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คนมาร่วมงานพิธีศพของเขา.