สันนิบาตคอมมิวนิสต์เป็นสมาคมเล็ก ๆ ของปัญญาชนชาวเยอรมันลี้ภัยในกรุงปารีสที่ รับแนวคิดมาจากสันนิบาตผู้รักความเป็นธรรม (League of the Just) ซึ่งจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๔ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้าและช่างฝีมือรวมประมาณ ๕๐ คน ซึ่งประชุมหารือกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๘๓๙ สมาชิกส่วนหนึ่งแยกตัวไปจัดตั้งสมาคมใหม่ที่กรุงลอนดอนและเรียกชื่อว่าสมาคมการศึกษาของกรรมาชนคอมมิวนิสต์ (Communist Workers’ Education Association) มีจุดมุ่งหมายร่วมมือกันส่งเสริมกิจการที่เป็นประโยชน์แก่สมาชิกและไม่มีลักษณะปฏิวัติ ใน ค.ศ. ๑๘๔๕ คาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* นักคิดสังคมนิยมมีโอกาสรู้จักและเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมตามคำแนะนำของฟรีดริช เองเงิลส์ (Friedrich Engels)* เพื่อนสนิท เขาประทับใจการดำเนินงานของสมาคมและนำแนวนโยบายมาจัดตั้งสมาคมกรรมาชน เยอรมัน (German Workers’ Association) ขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์โดยยึดแนวนโยบายคล้ายกัน สมาคมนี้มีคณะกรรมาธิการประจำที่กรุงปารีสด้วย ใน ค.ศ. ๑๘๔๗ มีการจัดประชุมใหญ่ผู้แทนสมาคมกรรมาชนเยอรมันประจำกรุงบรัสเซลส์ ลอนดอน และปารีสขึ้นที่กรุงลอนดอน และในการประชุมครั้งนี้มีมติให้เปลี่ยนชื่อสมาคมเป็น "สันนิบาตคอมมิวนิสต์"
แนวคิดการจัดตั้งสันนิบาตผู้รักความเป็นธรรมเป็นผลสืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวทางความคิดของขบวนการบาเบิฟที่มีฟรองซัว บาเบิฟ (François Babeuf)* เป็นผู้นำ ขบวนการบาเบิฟมีจุดมุ่งหมายจะจัดตั้งองค์กรหรือสมาคมตามแนวความคิดสังคมนิยม เพื่อสร้างสาธารณรัฐแห่งความเสมอภาค (Republic of Equals) ขึ้นแต่ประสบกับความล้มเหลว ฟิลิป มีเชล บูโอนารอตตี (Philippe Michel Buonarotti)* นักก่อการปฏิวัติชาวอิตาลีซึ่งต่อมาเปลี่ยนสัญชาติเป็นชาวฝรั่งเศสและลุย บลองกี (Louis Blanqui) ปัญญาชนสังคมนิยมชาวฝรั่งเศสที่เคยเป็นสานุศิษย์ของบาเบิฟและเป็นสมาชิกสมาคมลับชาบอนเนอรี (Charbonnerie) ที่เลียนแบบสมาคมคาโบนารี (Carbonari)* ของชาวอิตาลีได้พยายามเคลื่อนไหวจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐขึ้นในฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘)* แต่ประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ตาม แนวความคิดของคนทั้งสองมีอิทธิพลต่อกลุ่มปัญญาชนลี้ภัยชาวเยอรมันที่ พักอยู่ ณ กรุงปารีสและช่างฝีมือและปัญญาชนสาธารณรัฐนิยมชาวฝรั่งเศสพวกเขาจึงผลักดันการจัดตั้งสมาคมขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๔ และใช้ชื่อว่า สันนิบาตผู้รักความเป็นธรรม โดยมีวัตถุประสงค์จะเผยแพร่แนวความคิดสังคมนิยมและโค่นอำนาจรัฐบาลฝรั่งเศส แต่การขาดผู้นำที่สามารถและไม่มีแนวทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนทั้งยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากกรรมกรซึ่งไม่เข้าใจทั้งวัตถุประสงค์และนโยบายของสมาคมก็ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองล้มเหลว
ความล้มเหลวของการดำเนินงานทางการเมืองทำให้สมาชิกจำนวนหนึ่งถอนตัวออกและไปจัดตั้งชมรมหรือสมาคมของตนเอง วิลเฮล์ม วิตลิง (Wilhelm Weitling) นักสังคมนิยมยูโทเปีย (utopian socialist) หรือสังคมนิยมแบบเพ้อฝัน ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งจึงแยกตัวไปตั้งสมาคมขึ้นใหม่ที่กรุงลอนดอน โดยเรียกชื่อว่าสมาคมการศึกษาของกรรมาชนคอมมิวนิสต์ สมาคมดังกล่าวรับสมาชิกเฉพาะชาวเยอรมันเท่านั้นและมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองวิตลิงปรับแนวความคิดของรอเบิร์ต โอเวน (Robert Owen)* ลุดวิก ฟรอยเออร์บัค (Ludwig Freuerbach) และนักคิดสังคมนิยมอื่น ๆ เป็นนโยบายการดำเนินงานซึ่งเน้นการช่วยเหลือร่วมมือกันระหว่างสมาชิกและส่งเสริมกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้น สมาคมประสบความสำเร็จในการดำเนินงานและต่อมามีการขยายสาขาของสมาคมขึ้นในประเทศต่าง ๆ โดยศูนย์กลางอยู่ที่กรุงลอนดอนบรัสเซลส์ และปารีส
ใน ค.ศ. ๑๘๔๓ และ ค.ศ. ๑๘๔๕ มากซ์ซึ่งมาเยือนกรุงลอนดอนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคม เขาชื่นชอบรูปแบบการดำเนินงานและแนวนโยบายของสมาคม เมื่อกลับไปกรุงบรัสเซลส์ มากซ์จึงโน้มน้าวเพื่อนนักสังคมนิยมคนอื่น ๆ ให้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมขึ้นได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๔๖ โดยใช้ชื่อว่า สันนิบาตผู้รักความเป็นธรรม เพื่อเป็นการรำลึกถึงประวัติความเป็นมาและการสืบสานต่อทางอุดมการณ์ อย่างไรก็ตามสันนิบาตผู้รักความเป็นธรรมยังมีชื่อเรียกอีกชื่อว่าสมาคมกรรมาชนเยอรมันซึ่งเป็นชื่อเรียกที่มีลักษณะเป็นกลางเพื่อให้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในทางสากลต่อมา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๖ สันนิบาตแห่งกรุงลอนดอนจัดประชุมใหญ่ครั้งแรกของผู้แทนสันนิบาตระหว่างประเทศขึ้นที่กรุงลอนดอนเพื่อพิจารณาร่างหลักนโยบาย ระเบียบการ ตลอดจนปัญหาภายในองค์การและอื่น ๆ มากซ์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้เนื่องจากมีปัญหาด้านการเงิน แต่เขาก็เสนอข้อคิดเห็นผ่านเองเงิลส์เพื่อนคู่คิดซึ่งเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนจากปารีส เองเงิลส์จึงมีบทบาทสำคัญในการชี้นำความคิดเรื่องนโยบายและโครงการปฏิบัติงานของสันนิบาต
ผลสำคัญของการประชุมใหญ่ครั้งนี้คือการมีมติให้จัดตั้ง "สันนิบาตคอมมิวนิสต์" ระหว่างประเทศขึ้นชื่อสันนิบาตคอมมิวนิสต์เริ่มใช้อย่างเป็นทางการในการเปิดประชุมใหญ่ผู้แทนสันนิบาตครั้งที่ ๒ ซึ่งกำหนดขึ้นในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๗ เองเงิลส์กับมากซ์ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมให้เขียนร่างหลักการของสันนิบาตที่กำหนดสถานภาพ บทบาท และแนวนโยบายเพื่อนำมาพิจารณาในการประชุมที่จะมีขึ้น ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เปลี่ยนคำขวัญจาก "ทุกคนเป็นพี่น้องกัน" (All Men are Brothers) เป็น "ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคีกัน!" (Working Men of All Countries, Unite!) นอกจากนี้ ยังให้จัดทำหนังสือพิมพ์การเมืองระดับประเทศชื่อ Kommunistische Zeitschrift เผยแพร่โดยคาร์ล ชัพเพอร์ (Karl Schapper) ผู้แทนสันนิบาตฝรั่งเศสเป็นบรรณาธิการ แต่หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเผยแพร่ได้เพียงฉบับเดียวในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๔๗ ก็ปิดตัวลง
การประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ของผู้แทนสันนิบาตคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศมีขึ้น ณ โรงแรมเรด ไลออน (Red Lion) กรุงลอนดอน ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ถึง ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๗ ที่ประชุมได้พิจารณาและรับรองร่างเอกสารทางการเมือง เรื่อง "หลักการลัทธิคอมมิวนิสต์" (Principle of Communism) ที่เองเงิลส์เป็นผู้ร่างและมากซ์แก้ไขปรับปรุง หลักการลัทธิคอมมิวนิสต์มีวัตถุประสงค์ที่จะโค่นอำนาจของชนชั้นกระฎุมพีและสถาปนาอำนาจการปกครองของชนชั้นกรรมาชีพ และการวางรากฐานของแนวทางการสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคที่ปราศจากชนชั้นและการมีกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังให้คำอธิบายว่าด้วยอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์และนโยบายของลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อขบวนการกรรมกรและการก่อการปฏิวัติ ที่ประชุมเห็นชอบกับหลักการและวัตถุประสงค์ทั้งให้ประกาศเป็นหลักการของสันนิบาตในชื่อว่าแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)* มากซ์กับเองเงิลส์ยังได้รับมอบหมายจากที่ประชุมให้นำฉบับร่างแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ไปแก้ไขให้สมบูรณ์ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติก่อนเผยแพร่ต่อไป ต้นฉบับที่คนทั้งสองร่วมกันแก้ไขเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๔๘ และมีความหนาเพียง ๒๓ หน้า แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ทำให้แนวความคิดสังคมนิยมยูโทเปียหมดบทบาทลง และหลักการลัทธิมากซ์หรือแนวความคิดสังคมนิยมที่ เป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific Socialism) มีความสำคัญขึ้นแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกที่กรุงลอนดอนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๘ ก่อนหน้าการเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* ไม่กี่สัปดาห์
การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ ไม่เพียงทำให้พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองและฝรั่งเศสเปลี่ยนรูปการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐเท่านั้น แต่ยังทำให้แนวความคิดปฏิวัติขยายตัวไปทั่วยุโรปจนกลายเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* อีกด้วย สมาชิกของสันนิบาตคอมมิวนิสต์ได้เข้าร่วมต่อสู้ในการปฏิวัติที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นที่กรุงปารีส เวียนนา และเบอร์ลิน แต่ฝ่ายปฏิวัติก็มีชัยชนะ เพียงระยะเวลาอันสั้นเพราะรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมได้และกวาดล้างฝ่ายปฏิวัติอย่างราบคาบ สมาชิกของสันนิบาตคอมมิวนิสต์จำนวนมากถูกจับขังและบ้างก็หนีลี้ภัยไปอยู่ที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา กรุงลอนดอนในเวลาต่อมาจึงกลายเป็นที่ชุมนุมรวมตัวของสมาชิกเพื่อพยายามผลักดันการเคลื่อนไหวขึ้นใหม่ แต่ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในกลุ่มคณะกรรมาธิการกลางของสันนิบาตเกี่ยวกับยุทธวิธีการต่อสู้ปฏิวัติก็ทำให้ความเป็นเอกภาพของสันนิบาตสิ้นสุดลง ใน ค.ศ. ๑๘๕๒สันนิบาตคอมมิวนิสต์ก็ล่มสลาย อย่างไรก็ตาม แนวความคิดและอุดมการณ์ของสันนิบาตคอมมิวนิสต์ก็ยังมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของกรรมกรในประเทศต่าง ๆ และเป็นแรงผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑ (First International)* ขึ้นในเวลาต่อม