Lausanne, Treaty of (1923)

สนธิสัญญาโลซาน (๒๔๖๖)

​​​     ​​​สนธิสัญญาโลซาน ค.ศ. ๑๙๒๓ เป็นสนธิสัญญาสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ระหว่างสาธารณรัฐตุรกีกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งลงนามกันเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นผลจากการประชุมที่เมืองโลซาน (Lausanne Conference) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๓ เพื่อแก้ไขสนธิสัญญาแซฟวร์ (Treaty of Sèvres)* ที่รัฐบาลจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกีได้ทำไว้กับฝ่ายสัมพันธมิตรใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ในฐานะประเทศผู้แพ้สงคราม เนื่องจากรัฐบาลตุรกีของมุสตาฟา เคมาล อะตาเติร์ก (Mustapha Kemal Atatürk)* ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไม่ยอมรับสนธิสัญญาแซฟวร์เพราะเห็นว่าเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและกดขี่ตุรกีมากเกินไป จึงได้ร้องขอต่อฝ่ายสัมพันธมิตรให้จัดทำสนธิสัญญาขึ้นใหม่ สนธิสัญญาโลซานมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากกว่าสนธิสัญญาแซฟวร์และให้การรับรองสาธารณรัฐตุรกีรวมทั้งกำหนดเขตแดนของตุรกีในปัจจุบันด้วย
     ตุรกีได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๔ โดยอยู่ในฝ่ายมหาอำนาจกลาง(Central Powers)* ร่วมกับเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และบัลแกเรีย เนื่องจากตุรกีต้องการดินแดนที่สูญเสียไปในสงครามครั้งก่อน ๆ กลับคืนมา ในช่วงแรก ๆ ของสงครามกองทัพตุรกีมีท่าทีว่าจะทำการรบได้ผล แต่ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ จนถึงปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ กองทัพตุรกีกลับพ่ายแพ้กองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศก็เสื่อมโทรมลงทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ฉะนั้นเมื่อมีสัญญาณว่ากองทัพของฝ่ายมหาอำนาจกลางจะแพ้สงครามอย่างแน่นอน ตุรกีจึงประกาศยอมแพ้และลงนามในความตกลงหยุดยิงมูดรอส (Mudros Armistice) กับผู้แทนของฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ และหลังการจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซาย (Versailles) ในกรุงปารีสสิ้นสุดลง ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ตุรกีก็ได้รับเชิญให้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่เมืองแซฟวร์ (Sèvres) ประเทศฝรั่งเศสโดยมีสุลต่านเมห์เมดที่ ๖ (Mehmed VI) แห่งจักรวรรดิออตโตมันเป็นผู้แทนสนธิสัญญาดังกล่าวซึ่งได้ชื่อตามเมืองที่ลงนามเป็นสนธิสัญญาที่มีเงื่อนไขลงโทษจักรวรรดิออตโตมันอย่างรุนแรงกว่าสนธิสัญญาสันติภาพที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทำกับออสเตรีย ฮังการี และบัลแกเรียทั้งในเรื่องการสูญเสียดินแดนต่าง ๆ เป็นจำนวนมากซึ่งทำให้ดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันในยุโรปถูกลดลงจนเหลือแต่ดินแดนรอบ ๆ กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) เท่านั้น การจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม การลดกำลังกองทัพ การควบคุมการคลัง การเข้าไปควบคุมดูแลตุรกีโดยคณะกรรมาธิการนานาชาติของฝ่ายสัมพันธมิตร และการเสียสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งการที่ตุรกีจะต้องปรับปรุงแก้ไขระบบการศาลของตนให้ทันสมัยด้วย แต่เนื่องจากสุลต่านเมห์เมดทรงต้องการรักษาราชบัลลังก์ไว้พระองค์จึงทรงยอมลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้โดยดี
     บทลงโทษอย่างรุนแรงดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ประชาชนชาวตุรกีจนกลายเป็นแรงสนับสนุนขบวนการชาตินิยมตุรกีซึ่งเคมาลเป็นผู้นำให้ก่อการปฏิวัติล้มล้างการปกครองในระบอบราชาธิปไตยของสุลต่านได้เป็นผลสำเร็จ และสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีขึ้นแทนที่จักรวรรดิออตโตมันอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ อย่างไรก็ดีรัฐบาลใหม่ของตุรกีที่อังโกรา [ (Angora) ปัจจุบันคือกรุงอังการา (Ankara)] ได้ประกาศไม่ยอมรับข้อตกลงหยุดยิงมูดรอสและสนธิสัญญาแซฟวร์ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๐ แต่ในขณะนั้นรัฐบาลใหม่ของคณะปฏิวัติยังไม่มีพลังต่อรองมากพอ และการจัดตั้งสาธารณรัฐก็ยังไม่เสร็จสิ้นทั้งยังต้องติดพันอยู่กับการทำสงครามกรีก-ตุรกี (Greco-Turkish War) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๙ ยิ่งกว่านั้นในช่วง ค.ศ. ๑๙๒๒ กองทัพเติร์กยังต้องพยายามรุกไล่กองทัพกรีกที่ยกพลขึ้นบกที่เมืองท่าสเมอร์นา [ (Smyrna) ปัจจุบันคือเมืองอิซมีร์ (Izmir)] และพยายามผลักดันกองทัพร่วมของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประจำการอยู่ที่ช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)* ให้ออกไปจาก ดินแดนตุรกี จนกระทั่งตุรกีได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดและมีการลงนามในอนุสัญญามูดันยา (Mudanya Convention) กับกรีซเพื่อยุติสงครามในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ โดยกรีซตกลงคืนดินแดนเทรซตะวันออก (Eastern Thrace) และเอดีร์เน (Edirne) ให้แก่ตุรกีรัฐบาลสาธารณรัฐตุรกีของอะตาเติร์กจึงเป็นที่ยอมรับของมหาอำนาจและมีพลังต่อรองมากขึ้นในการขอเจรจาทำสนธิสัญญาฉบับใหม่แทนสนธิสัญญาแซฟวร์
     ในที่สุดมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้จัดการประชุมระหว่างประเทศขึ้นที่เมืองโลซานระหว่างวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๒ ถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๓ แต่การประชุมหยุดลงชั่วคราวและเริ่มประชุมใหม่ตั้งแต่วันที่ ๒๓ เมษายน - ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเจรจาจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพฉบับใหม่ และยุติข้อขัดแย้งระหว่างตุรกีกับกรีซ การประชุมยุติลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาโลซานซึ่งตุรกียอมรับเพราะมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขสนธิสัญญาแซฟวร์
     สนธิสัญญาฉบับนี้มีเนื้อความหลักว่า ตุรกีได้รับสิทธิปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ ฝ่ายสัมพันธมิตรยกเลิกการเข้าควบคุมตุรกีในด้านการทหารและการเงินตลอดจนได้ยกเลิกค่าปฏิกรรมสงครามส่วนใหญ่ยกเว้นหนี้รายสำคัญของอดีตจักรวรรดิออตโตมัน นอกจากนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรยังยกเลิกสิทธิพิเศษและสัมปทานทางการค้าและสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในด้านการศาลของชาวต่างชาติ (มหาอำนาจยุโรป) ในตุรกี โดยมีข้อแม้ว่าตุรกีจะต้องปฏิรูปด้านการศาลให้สอดคล้องกับระบบสากล นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรดินแดนที่ตุรกีต้องมอบให้แก่ประเทศผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ ๑ ตามสนธิสัญญาแซฟวร์ คือ ตุรกีต้องให้การรับรองว่าหมู่เกาะโดเดคานีส (Dodecanese) เป็นของอิตาลีขณะที่หมู่เกาะอีเจียน (Aegean) เป็นของกรีซ ส่วนในเอเชียนั้นตุรกีจะต้องสละดินแดนในคาบสมุทรอาหรับทั้งหมดโดยอังกฤษจะได้ไซปรัส ปาเลสไตน์ เมโสโปเตเมียและทรานส์จอร์แดนเป็นดินแดนในอาณัติ และฝรั่งเศสจะได้ซีเรียเป็นดินแดนในอาณัติ ขณะที่ฮิญาซ (Hejaz) กับดินแดนในคาบสมุทรอาระเบียบริเวณทะเลแดงรวมถึงอียิปต์และซาอุดีอาระเบียจะได้รับเอกราช ในการนี้ตุรกีจะได้รับคืนดินแดนต่าง ๆ ในยุโรป ได้แก่ เทรซตะวันออกซึ่งรวมถึงเมืองเอดีร์เน สเมอร์นา เกาะแรบบิท (Rabbit) อิมรอซ (Imroz) และโบซจาดา (Bozcaada) อาร์เมเนีย (Armenia) และคูร์ดิสถาน (Kurdistan) ซึ่งรวมถึงดินแดนในเขตคาร์ (Kar) และ อาร์ดาฮาน (Ardahan) ซึ่งสหภาพโซเวียตได้ให้การรับรองว่าเป็นของตุรกีตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๑
     ตุรกียังต้องถอนทหารออกจากบริเวณช่องแคบดาร์ดะแนลและบอสฟอรัส (Bosphorus)* และเปิดให้มีการเดินเรือรวมทั้งเรือรบได้โดยเสรี บริเวณช่องแคบดาร์ดะแนลและบอสฟอรัสจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมาธิการขององค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ในวันเดียวกันฝ่ายสัมพันธมิตรกับตุรกียังได้ลงนามในอนุสัญญาสเตรตส์ (Straits Convention) ซึ่งระบุให้ช่องแคบดาร์ดะแนลและบอสฟอรัสเปิดให้เดินเรือได้โดยเสรี ยกเว้นในยามสงครามอนุญาตให้รัฐบาลตุรกีปิดช่องทางเดินเรือผ่านช่องแคบทั้งสองได้ เพื่อป้องกันตนเองและรักษาความเป็นกลาง ตุรกีจะต้องทำให้ชายแดนตุรกีที่ติดกับกรีซและบัลแกเรียในบริเวณเทรซ (Thrace) เป็นเขตปลอดทหารเพื่อประกันว่าจะไม่มีการละเมิดอธิปไตยของประเทศทั้งสอง ทั้งต้องยอมรับพันธกิจในการให้ความคุ้มครองแก่ชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นของตุรกี ในการนี้ตุรกีกับกรีซยังได้บรรลุข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนประชากรเชื้อชาติของตนที่ตกค้างอยู่ในดินแดนของแต่ละฝ่ายหลังการจัดสรรดินแดนและกำหนดอาณาเขตของทั้งสองประเทศแล้วด้วย
     แม้ว่าสนธิสัญญาโลซานจะสามารถยุติความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรกับสาธารณรัฐตุรกีและทำให้การจัดระเบียบใหม่ในบริเวณคาบสมุทรบอลข่านจนถึงคาบสมุทรอาหรับหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นผลสำเร็จ แต่ผลของการจัดระเบียบใหม่ภายใต้สนธิสัญญาโลซานได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้เพราะการสิ้นสุดของจักรวรรดิออตโตมันและการเกิดประเทศเล็ก ๆ ขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากมีผลกระทบต่อดุลแห่งอำนาจของมหาอำนาจในยุโรปอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ การล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันยังเปิดโอกาสให้มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร คือ อังกฤษและฝรั่งเศส เข้าไปสร้างอิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าวซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ควบคุมเส้นทางเดินเรือสำคัญจากยุโรปสู่เอเซียและเป็นแหล่งน้ำมันอันเป็นทรัพยากรสำคัญของโลก ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาระหว่างตุรกีกับกรีซก็ไม่เป็นการถาวรเพราะประเทศทั้งสองยังคงมีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องดินแดนและชนกลุ่มน้อยระหว่างกันอยู่จนถึงปัจจุบัน

 



คำตั้ง
Lausanne, Treaty of
คำเทียบ
สนธิสัญญาโลซาน
คำสำคัญ
- เมห์เมดที่ ๖, สุลต่าน
- อะตาเติร์ก, มุสตาฟา เคมาล
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สันนิบาตชาติ
- แวร์ซาย, พระราชวัง
- สงครามกรีก-ตุรกี
- อนุสัญญามูดันยา
- สเมอร์นา, เมืองท่า
- อีเจียน, หมู่เกาะ
- อังการา, กรุง
- ดาร์ดะเนลส์, ช่องแคบ
- แซฟวร์, เมือง
- คอนสแตนติโนเปิล, กรุง
- มหาอำนาจกลาง
- การประชุมที่เมืองโลซาน
- อนุสัญญาสเตรตส์
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- ความตกลงหยุดยิงมูดรอส
- อิซมีร์, เมือง
- สนธิสัญญาโลซาน ค.ศ. ๑๙๒๓
- สนธิสัญญาแซฟวร์
- โดเดคะนีส, หมู่เกาะ
- บอสฟอรัส
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1923
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๖๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf