Lansbury, George (1859-1940)

นายจอร์จ แลนส์เบอรี (๒๔๐๑-๒๔๘๓)

​​     จอร์จ แลนส์เบอรีเป็นนักหนังสือพิมพ์อังกฤษและเป็นนักการเมืองแนวสังคมนิยมคริสเตียน (Christian Socialism) เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญในช่วง ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๑๒ และ ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๔๐ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงาน (Labour Party)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๕ แลนส์เบอรีเป็นผู้ใฝ่สันติด้วยเหตุนี้ในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เขาจึงไม่เห็นด้วยที่สันนิบาตชาติ (League of Nations)* จะใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่ออิตาลีจากการก่อสงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย (Italo-Ethiopian War ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๖)* ขณะเดียวกันก็พยายามหันเหผู้นำกลุ่มประเทศอักษะจากการดำเนินนโยบายก้าวร้าวเพราะมีทีท่าว่าจะนำไปสู่สงคราม แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

     แลนส์เบอรีเกิดในครอบครัวยากจนเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๕๙ ใกล้เมืองเฮลส์เวิร์ท (Halesworth) มณฑลซัฟฟอล์ก (Suffolk) ทางตะวันออกของอังกฤษ แต่ไปเติบโตในย่านอีสต์เอนด์ (East End) ของกรุงลอนดอนซึ่งเป็นเขตที่พำนักอาศัยของคนยากไร้และผู้ใช้แรงงาน และเป็นเขตที่รู้กันว่าเป็นแหล่งแออัดเสื่อมโทรมของเมืองหลวงอังกฤษ คนยากจนจำนวนมากได้พากันหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในเขตนี้ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เพราะมีการพัฒนาท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้า หลายคนเป็นพวกที่อพยพเข้ามาจากนอกประเทศ ได้แก่ ชาวยิว ชาวไอริช ชาวจีน และตามมาด้วยชาวอินเดียกับชาวปากีสถานในภายหลัง

(สภาพความเป็นอยู่ที่ยากแค้นของผู้คนในเขตนี้ทำให้อายุโดยเฉลี่ยของประชากรใน ค.ศ. ๑๘๔๐ คือ ๑๖ ปี โดยครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๕ ขวบ) ดังนั้นแลนส์เบอรีซึ่งทำงานเป็นกรรมกรรถไฟตั้งแต่อายุ ๑๔ ปีจึงตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าที่ออสเตรเลียจนสามารถประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าไม้ เขากลับมาอังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๘๕ และได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ต่อมาเขาได้ช่วยเผยแพร่อุดมการณ์ของสหพันธ์สังคมประชาธิปไตยหรือเอสดีเอฟ (Social Democratic Federation - SDF) ที่เฮนรี เมย์เออส์ ไฮนด์แมน (Henry Mayers Hyndman ค.ศ. ๑๘๔๒-๑๙๒๑) ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๑ สหพันธ์นี้เป็นกลุ่มสังคมนิยมที่ก่อตั้งไล่เลี่ยกับกลุ่มสังคมนิยมอื่น ๆ อีก ๒-๓ กลุ่มซึ่งล้วนก่อตั้งขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แต่กลุ่มนี้รับแนวทางของลัทธิมากซ์ (Marxism)* เป็นหลักการของสหพันธ์ใน ค.ศ. ๑๘๘๔ ทำให้ในที่สุดแลนส์เบอรีไม่อาจยอมรับแนวทางการยึดถือลัทธิมากซ์อย่างเคร่งครัดของสหพันธ์ จึงได้เลิกสนับสนุน
     หลังจากนั้น แลนส์เบอรีสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานซึ่งก่อตั้งเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๙๐๖ และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญจากเขตโบว์ (Bow) และบรอมเลย์ (Bromley) ในช่วง ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๑๒ ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่การเมืองระดับประเทศนั้น แลนส์เบอรีเคยมีบทบาทสำคัญในการบริหารส่วนท้องถิ่นของเขตโบว์และพอปลาร์ (Poplar) ซึ่งเป็นเขตที่พักอาศัยของคนยากจนในกรุงลอนดอนมาก่อน ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ เขาลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาสามัญเพื่อทำการรณรงค์อย่างจริงจังร่วมกับพวกที่ ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี (suffragette) ซึ่งมีเอมเมอลีน แพงก์เฮิสต์ (Emmeline Pankhurst ค.ศ. ๑๘๕๘-๑๙๒๘)* เป็นผู้นำ และในปีเดียวกันนี้เขาได้มีส่วนในการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Daily Herald ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับแรกที่มุ่งเป็นปากเสียงให้ผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๓ แลนส์เบอรีเป็นทั้งบรรณาธิการและนักเขียนคนสำคัญของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ซึ่งกลายเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรคแรงงานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๒
     แลนส์เบอรีเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมที่ต้องการปกป้องผู้อ่อนแอหรือผู้เสียผลประโยชน์ ในช่วง ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๐ เขาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีแห่งเขตพอปลาร์ ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เขายอมถูกจำคุกเพราะไม่ยินยอมให้ตัดทอนความช่วยเหลือกรรมกรที่ว่างงานและการที่เป็นผู้นำจัดตั้งขบวนการประท้วงของเขตพอปลาร์ (Poplarism) ขึ้น ขบวนการนี้เกิดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นของเขตพอปลาร์ไม่เห็นด้วยกับการจะขึ้นภาษีท้องถิ่นเพื่อส่งไปยังองค์กรต่าง ๆ และสภาบริหารที่กรุงลอนดอนเพราะจะทำให้ชาวบ้านในเขตพอปลาร์เดือดร้อน และต้องการให้เขตที่ร่ำรวยของกรุงลอนดอนให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณแก่เขตอีสต์เอนด์ที่ยากจนมากกว่า นอกจากการต่อสู้เพื่อคนยากจนและสิทธิสตรีแล้ว ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขายังสนับสนุนและแก้ต่างให้กับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ การแสดงออกของเขาครั้งนั้นนับเป็นการกล้าสวนกระแสอารมณ์ของชาวอังกฤษส่วนใหญ่ซึ่งกำลังฮึกเหิมที่จะเข้าสู่สงคราม ดังเช่น เอช. จี. เวลส์ (H.G. Wells) นักสังคมนิยมและนักเขียนนวนิยายโด่งดังแสดงทัศนะใน Daily News ฉบับวันที่ ๑๔ สิงหาคมว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกกระตือรือร้นกับการที่อังกฤษจะเข้าสู่สงครามครั้งนี้ที่เป็นการต่อต้านนโยบายทหารนิยมของเยอรมนี...ดาบทุกเล่มที่ชูขึ้นต่อเยอรมนีคือดาบที่ชูขึ้นเพื่อบันดาลความสงบสุข" ขณะที่สมาชิกพรรคแรงงานส่วนใหญ่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีเฮอร์เบิร์ต เฮนรี แอสควิท (Herbert Henry Asquith ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๙๒๘)* เป็นผู้นำในการที่อังกฤษจะเข้าสู่สงคราม แต่สมาชิกพรรคคนสำคัญ ๆ อย่าง เจมส์ แคร์ ฮาร์ดี (James Keir Hardie ค.ศ.๑๘๕๖-๑๙๑๕)* อาเทอร์ เฮนเดอร์สัน (Arthur Henderson ค.ศ. ๑๘๖๓-๑๙๓๕)* และแลนส์เบอรีกลับประกาศตนต่อต้านสงครามที่กำลังส่อเค้าว่าจะเกิดขึ้นโดยประกาศต่อหน้าฝูงชนจำนวนมากที่มาชุมนุม ณ จัตุรัสทราฟัลการ์ (Trafalgar Square) เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ การมีอุดมการณ์รักสงบของแลนส์เบอรีทำให้เขาไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญอีกจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๒๒
     ในช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคแรงงานซึ่งมีเจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์ (James Ramsay MacDonald ค.ศ. ๑๘๖๖-๑๙๓๗)* เป็นนายกรัฐมนตรีวาระที่ ๒ ( ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๑) แลนส์เบอรีได้รับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการแรงงานซึ่งเขาก็ทำหน้าที่ได้ดีจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เขาสามารถจัดหางานให้ผู้ตกงาน เปิดสวนสาธารณะหลายแห่งในกรุงลอนดอนและจัดตั้งสถานอาบน้ำสาธารณะในสวนสาธารณะไฮด์พาร์ก (Hyde Park) ด้วย ต่อมาเมื่ออังกฤษจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ (National Government) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๑ และแมกดอนัลด์ยังคงเป็นผู้นำรัฐบาลต่อไป แลนส์เบอรีอยู่ในกลุ่มสมาชิกข้างมากของพรรคแรงงานที่ไม่เห็นด้วยกับการที่แมกดอนัลด์ตกลงใจรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลแห่งชาติ เพราะการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลผสมเช่นนั้นจะทำให้พรรคแรงงานด้อยลงในสายตาของคนทั่วไปและไม่มีโอกาสแสดงศักยภาพของพรรคนัก การออกมาเป็นพรรคฝ่ายค้านจะดูมีคุณค่ามากกว่า ด้วยเหตุนี้สมาชิกพรรคแรงงานจึงไม่ยินยอมร่วมมือกับรัฐบาลผสมและให้แลนส์เบอรีเป็นผู้นำพรรคคนใหม่แทนแมกดอนัลด์ อีกทั้งพากันตำหนิแมกดอนัลด์อย่างรุนแรง แลนส์เบอรีจึงกลายเป็นผู้นำของพรรคฝ่ายค้านในสภาสามัญระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๓๕
     เมื่อสถานการณ์ระหว่างประเทศเพิ่มความตึงเครียดขึ้นทุกทีในช่วงเวลาก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะการดำเนินนโยบายก้าวร้าวของกลุ่มประเทศอักษะในการประชุมพรรคแรงงานเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.๑๙๓๕ แลนส์เบอรีไม่เห็นด้วยกับสมาชิกพรรคเท่าใดนักที่ลงมติเห็นชอบอย่างท่วมท้นที่จะให้สันนิบาตชาติใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่ออิตาลีที่ไปรุกรานเอธิโอเปีย เขาเห็นว่าการลงโทษอิตาลีอาจนำไปสู่สงครามได้ การมีอุดมการณ์แบบสังคมนิยมแนวคริสต์ซึ่งใฝ่สันตินอกจากจะทำให้สมาชิกพรรคส่วนใหญ่ไม่พอใจเขาแล้ว ยังทำให้สมาชิกหลายคนของสมัชชาสหภาพแรงงาน (Trade Union Congress - TUC) ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นฐานการเงินสำคัญของพรรคแรงงานไม่พอใจเขารวมทั้งเออร์เนสต์ เบวิน (Ernest Bevin ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๙๕๑)* ประธานสมัชชาด้วย แลนส์เบอรีจึงลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงานใน ค.ศ. ๑๙๓๕ เพื่อเปิดทางให้เคลเมนต์ ริชาร์ด แอตต์ลี (Clement Richard Attlee ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๖๗)* รองหัวหน้าพรรคซึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๕๑ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคแทน
    การมีอุดมการณ์ใฝ่สันติภาพทำให้ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ แลนส์เบอรีได้เดินทางไปพบอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* ผู้นำเยอรมนีและเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๔๕)* ผู้นำอิตาลีด้วยความที่เชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถโน้มน้าวให้ผู้นำฝ่ายอักษะหยุดยั้งนโยบายเชิงรุกซึ่งมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่สงคราม และเพื่อช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีให้ดีขึ้น แต่การกระทำของเขาก็ไม่ได้ก่อผลอันใดนัก
     จอร์จ แลนส์เบอรีผู้มีอุดมการณ์สังคมนิยมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนยากจนซึ่งเป็นพื้นเพเดิมของเขา และผู้ยึดมั่นในศาสนาคริสต์ซึ่งทำให้เขารักวิธีการแก้ปัญหาอย่างสันติเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ขณะอายุ ๘๑ ปี เขามีผลงานเขียนหนังสือเรื่อง My Life ใน ค.ศ. ๑๙๒๘.


เอมเมอลีน แพงก์เฮิสต์ ซึ่งเป็นภรรยาของทนายความหัวรุนแรงแห่งเมืองแมนเชสเตอร์จัดตั้งสหภาพทางสังคมและการเมืองของสตรี (Women’s Social and Political Union ) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๓ เพื่อรณรงค์ให้สตรีมีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้ง เธอถูกจำคุกบ่อยครั้ง ครั้งสำคัญคือใน ค.ศ. ๑๙๑๓ หลังจากเกิดระเบิดขึ้นที่บ้านของเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George ค.ศ. ๑๘๖๓-๑๙๔๕)* นักการ เมืองที่ โดดเด่นของพรรคเสรีนิยมซึ่งต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ เธอยังต่อสู้ด้วยการอดอาหารประท้วงจนทางการต้องใช้วิธีบังคับให้รับประทานอาหาร แพงก์เฮิสต์เสียชีวิตไปไม่นานก่อนที่สตรีอังกฤษอายุ ๒๑ ปีขึ้นไปทุกคนจะได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
เฮนรี เมย์เออส์ ไฮนด์แมน มีความคล้ายคลึงกับผู้นำกลุ่มสังคมนิยมส่วนใหญ่ของอังกฤษขณะนั้นจากการที่ล้วนถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มปัญญาชนแห่งชนชั้นกลาง ไฮนด์แมนเองได้รับการศึกษาจากทรินิตีคอลเลจ (Trinity College) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

คำตั้ง
Lansbury, George
คำเทียบ
นายจอร์จ แลนส์เบอรี
คำสำคัญ
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- แอตต์ลี, เคลเมนต์ ริชาร์ด
- ซัฟฟอล์ก, มณฑล
- สมัชชาสหภาพแรงงาน
- เบวิน, เออร์เนสต์
- สงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย
- แลนส์เบอรี, จอร์จ
- พรรคแรงงาน
- อีสต์เอนด์, ย่าน
- สันนิบาตชาติ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- เฮลส์เวิร์ท, เมือง
- แพงก์เฮิสต์, เอมเมอลีน
- พรรคเสรีนิยม
- ลัทธิมากซ์
- สหพันธ์สังคมประชาธิปไตยหรือเอสดีเอฟ
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- ไฮนด์แมน, เฮนรี เมย์เออส์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- แมกดอนัลด์, เจมส์ แรมเซย์
- สหภาพทางสังคมและการเมืองของสตรี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- แอสควิท, เฮอร์เบิร์ต เฮนรี
- ฮาร์ดี, เจมส์ แคร์
- เฮนเดอร์สัน, อาเทอร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1859-1940
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๐๑-๒๔๘๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf