อัลฟงส์-มารี-ลุย เดอ ปรา เดอ ลามาร์ตีน เป็นนักการเมืองและกวีที่มีชื่อเสียงคนสำคัญในขบวนการจินตนิยม (Romanticism) ของฝรั่งเศส เขาเป็นนักพูดที่มีชื่อในรัฐสภาและเป็นกระบอกเสียงของประชาชนที่ยากจน หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ แต่พ่ายแพ้ต่อเจ้าชายชาร์ล หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Charles Louis Napoleon Bonaparte)* ลามาร์ตีนซึ่งมีภาระหนี้สินมากจึงเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและหันมาเขียนกวีนิพนธ์และวรรณกรรมเพียงอย่างเดียว
ลามาร์ตีนเกิดเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๐ ที่เมืองมากง (Macon) เขาเป็นบุตรชายคนแรกและคนเดียวของปีแยร์ ลามาร์ตีน (Pierre Lamartine) ขุนนางชั้นผู้น้อยซึ่งเป็นนายทหารประจำกองทัพบกที่สนับสนุนราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* บิดาถูกจำคุกในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส
ช่วงที่เรียกว่า สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror)* แต่โชคดีที่รอดพ้นจากการถูกประหารด้วยเครื่องกิโยตีน เมื่ออายุได้ ๔ ขวบ ครอบครัวซึ่งรวมน้องสาวของเขา ๕ คน ได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองมีลี (Milly) ลามาร์ตีนจึงเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบในชนบท เขาเรียนหนังสือที่บ้าน และในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๐๑ ได้ไปศึกษาต่อที่สถาบันปูปีเย (Institut Puppier) ที่เมืองลียง (Lyon) อีก ๒ ปี ต่อมาก็เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยแบลเล (Belley) ของพวกเยซูอิต (Jesuit) เมื่อสำเร็จการศึกษาเขาไม่สามารถหางานทำได้เพราะในช่วงสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* พวกที่สนับสนุนราชวงศ์บูร์บงมักถูกกีดกันในทางสังคม เขาจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือ เตร็ดเตร่เที่ยวเล่นไปตามชนบทที่สวยงาม จนกระทั่งใน ค.ศ. ๑๘๑๑ บิดาได้ส่งเขาไปอยู่ที่อิตาลี ซึ่ง ณ ที่นั้น เขาเริ่มสนใจทางด้านศาสนา
หลังการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ราชวงศ์บูร์บงได้กลับมาปกครองฝรั่งเศสอีกครั้งโดยมีพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๒๔)* เป็นประมุขลามาร์ตีนกลับเข้ามารับราชการในกองทหารรักษาพระองค์ แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เสด็จหนีจากเกาะเอลบา (Elba) และ ปกครองฝรั่งเศสอีกครั้งในช่วงสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ต้องลี้ภัยไปประทับที่เบลเยียม ส่วนลามาร์ตีนก็หนีไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ในช่วงการฟื้นฟูอำนาจราชวงศ์บูร์บงครั้งที่ ๒ เขากลับมาฝรั่งเศสและลาออกจากกองทัพและหันมาสนใจการประพันธ์โดยเฉพาะกวีนิพนธ์ ในกลาง ค.ศ. ๑๘๑๖ ลามาร์ตีนไปพักฟื้นสุขภาพที่เมืองตากอากาศเอกซ์-เล-แบง (Aix-Les-Bains) และได้พบรักกับชูลี ชาร์ล (Julie Charles) ที่ริมทะเลสาบบูร์เช (Bourget) ชูลีรู้จักผู้คนในแวดวงสังคมชั้นสูงจำนวนมากและเธอได้ใช้ความสัมพันธ์ดังกล่าวช่วยให้ลามาร์ตีนซึ่งต้องการทำงานด้านการทูตได้งานที่ต้องการในเวลาต่อมา ในปลาย ค.ศ. ๑๘๑๗ ชูลีล้มป่วยและถึงแก่กรรม ลามาร์ตีนได้เขียนกวีนิพนธ์หลายชิ้นบรรยายความอาลัยรักและความทรงจำอย่างไพเราะและซาบซึ้งโดยเฉพาะกวีนิพนธ์ชื่อ "Le Lac" และ "Le Crucifix"
ใน ค.ศ. ๑๘๒๐ ลามาร์ตีนแต่งงานกับมาเรีย แอนน์ เบิร์ช (Maria Ann Birch) สตรีสาวชาวอังกฤษซึ่งเป็นญาติกับตระกูลเชอร์ชิลล์ (Churchill) ในปีเดียวกันเขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการทูตประจำเนเปิลส์และระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๑-๑๘๒๕ ประจำฟลอเรนซ์ ในช่วงเวลาดังกล่าวเขารวมผลงานกวีนิพนธ์เป็นเล่มเผยแพร่ครั้งแรกในชื่อ Les Méditations หนังสือรวมกวีนิพนธ์เล่มนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก และทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของกวีสมัยใหม่แนวจินตนิยม ใน ค.ศ. ๑๘๒๑ เขาได้บุตรชายแต่ทารกน้อยก็มีชีวิตเพียงปีเดียว ในปีต่อมาเขาได้บุตรสาวอีกคนหนึ่งซึ่งตั้งชื่อว่าจูเลีย (Julia) แต่เสียชีวิตเมื่ออายุ ๑๐ ปี ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๓-๑๘๓๐ ลามาร์ตีนอุทิศเวลาให้กับงานกวีนิพนธ์และสามารถรวมผลงานจัดพิมพ์เป็นเล่มขึ้นได้หลายเรื่อง เช่น Nouvelles Méditations Poétiques และ La Mort de Socrates ( ค.ศ. ๑๘๒๓) Le Dernier chant du pèlerinage d’ Harold ( ค.ศ. ๑๘๒๕) และ Harmonies poétiques et religieuses ( ค.ศ. ๑๘๓๐) กวีนิพนธ์เหล่านี้สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาใน ฐานะผู้นำด้านกวีนิพนธ์และต่อมามีส่วนทำให้เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสภาของฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๒๙ ใน ค.ศ. ๑๘๒๘ เขาลาออกจากราชการและหันมาทำงานด้านกวีนิพนธ์
หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๓๐ (French Revolution of 1830)* พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe)* แห่งราชสกุลออร์เลออง (Orléans) ได้ขึ้นครองบัลลังก์ฝรั่งเศส การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้ลามาร์ตีนหันมาสนใจการเมืองอีกครั้งหนึ่งและลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ แต่พ่ายแพ้ ในปลายปีเดียวกันบุตรสาวของเขาก็เสียชีวิตซึ่งทำให้เขาขมขื่นมาก ลามาร์ตีนจึงเดินทางไปตะวันออกกลางใน ค.ศ. ๑๘๓๓ เพื่อหวังจะได้รับแรงบันดาลใจทางการเมืองและเพื่อให้ลืมความโศกเศร้า ในระหว่างที่อยู่ในตะวันออกกลาง เขาได้รับเลือกเป็นผู้แทนเข้าสู่สภา ลามาร์ตีนจึงได้เดินทางกลับประเทศและเป็นนักการเมืองเต็มตัว ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๓-๑๘๔๘ เขามีบทบาทโดดเด่นในฐานะนักวาทศิลป์ที่ต่อสู้เรียกร้องการปฏิรูปสังคมเพื่อสามัญชนและคนยากไร้ นอกจากเป็นนักการเมืองอิสระที่ไม่สังกัดพรรคที่ประชาชนชื่นชมรักใคร่แล้ว เขายังหันมาสร้างสรรค์งานประพันธ์และพิมพ์เผยแพร่ผลงานหลายเล่ม งานเขียนเล่มสำคัญคือ Histoire des Girondins (ค.ศ. ๑๘๔๗) ที่วิเคราะห์กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* และหลังการปฏิวัติ หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายอย่างมาก
เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ ฝรั่งเศสเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ (Second French Republic)* ลามาร์ตีนได้รับเลือกเป็นผู้นำของคณะรัฐบาลชั่วคราวเพื่อเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย (๒๔ กุมภาพันธ์ - ๑๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๔๘) แต่ปัญหาความวุ่นวายทางสังคมที่นำไปสู่การใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์วันนองเลือดเดือนมิถุนายน (Bloody June Days) ค.ศ. ๑๘๔๘ ทำให้ลามาร์ตีนสูญเสียความนิยมจากประชาชนโดยเฉพาะกรรมกรและมวลชนที่ยากจนในการลงสมัครเป็นประธานาธิบดีแข่งกับชาร์ล หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ เขาพ่ายแพ้และต้องยุติอาชีพทางการเมืองลงพร้อมกับหนี้สินจำนวนมากซึ่งส่วนหนึ่งใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งและอีกส่วนหนึ่งให้แก่บรรดาน้องสาวจากการที่เขาได้รับมรดกในฐานะทายาทชายคนเดียวของตระกูล
ลามาร์ตีนกลับไปใช้ชีวิตในชนบทและทำงานหนักเพื่อหาเงินมาชำระหนี้สิน แม้เขาจะเขียนและพิมพ์หนังสือออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถจ่ายหนี้ได้หมด งานเขียนเล่มสำคัญระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๐-๑๘๖๐ คือ Histoire de la Restauration (ค.ศ. ๑๘๕๑-๑๘๕๒) Histoire des Constituants (ค.ศ. ๑๘๕๔) Civilisateur ( ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๕๕) และ Cours familier de littérature (ค.ศ. ๑๘๕๖-๑๘๖๙) ใน ค.ศ. ๑๘๖๐ เทศบาลนครปารีสได้จัดหาบ้านในกรุงปารีสให้ลามาร์ตีนซึ่งยากจนได้อยู่อาศัย ภรรยาคู่ชีวิตที่ถึงแก่กรรมใน ค.ศ. ๑๘๖๓ ทำให้เขาสูญเสียกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ หลัง ค.ศ. ๑๘๖๓ เขาเริ่มหลงลืมและเกิดอาการภาวะสมองขาดเลือดหลายครั้ง เขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๖๙ ด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก รวมอายุได้ ๗๙ ปี.