Rommel, Erwin Johannes Eugen (1891-1944)

จอมพลแอร์วิน โยฮันเนส ออยเกิน รอมเมิล (พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๘๗)

 จอมพล แอร์วิน โยฮันเนส ออยเกิน รอมเมิล เป็นนายทหารอาชีพที่มีผลงานโดดเด่นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* โดยเฉพาะในการทำสงครามแบบเคลื่อนที่เร็วและการจู่โจมทำลายล้างแบบคาดไม่ถึง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับศัตรูอย่างมากมาย ผลงานของเขาเป็นที่ประจักษ์ในปฏิบัติการรบในโรมาเนียและอิตาลีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ และการรบในสมรภูมิหลายแห่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เช่น ยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* ค.ศ. ๑๙๔๐ การรบในแอฟริกาตอนเหนือ (Northern African Campaigns)* ค.ศ. ๑๙๔๒-๑๙๔๓ และปฏิบัติการในวันดี-เดย์ (D-Day ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔)* รอมเมิลมีผลงานถูกใจอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีจนได้รับการเลื่อนขั้นและตำแหน่งอย่างรวดเร็วเขาจึงเป็นนายทหารที่มีศัตรูมากและถูกขัดขวางในการปฏิบัติการบ่อยครั้ง ท้ายสุดเขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในการคบคิดเดือนกรกฎาคม (July Conspiracy)* หรือแผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม (July Bomb Plot)* ที่จะสังหารฮิตเลอร์ด้วยระเบิด และถูกบีบให้กระทำอัตวินิบาตกรรม

 รอมเมิลเกิดเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๑ ที่เมืองไฮเด็นไฮม์ (Heidenheim) ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองอุล์ม (Ulm) ในราชอาณาจักรเวือร์ทเทมแบร์ก (Kingdom of Württemberg) [ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)] เขาเป็นบุตรของแอร์วิน รอมเมิล ซึ่งเป็นครูใหญ่โรงเรียนมัธยมในเมืองอาเลิน (Aalen) และ เฮเลเนอ ฟอน ลุซ (Helene von Luz) มีพี่น้องเป็นชาย ๓ คน และหญิง ๑ คน รอมเมิลเป็นบุตรชายคนที่ ๒ ชีวิตวัยเด็กของเขาไม่มีอะไรตื่นเต้น เป็นชีวิตที่เขาเขียนในภายหลังว่า “มีความสุขอย่างเงียบ ๆ” แต่พออายุได้ ๑๔ ปี เขาจึงค้นพบว่าเขามีหัวทางช่างและอยากจะเป็นวิศวกรเขากับเพื่อนสนิทคนหนึ่งได้ร่วมกันทำเครื่องร่อนที่สามารถบินได้จริง แม้จะเพียงระยะใกล้แต่ก็เป็นงานประดิษฐ์ที่เขาภูมิใจและคิดอยากจะสร้างโอกาสให้กับตัวเอง จึงสมัครเป็นทหารใน ค.ศ. ๑๙๑๐ และถูกส่งไปเข้าโรงเรียนนายร้อยที่เมืองดานซิก (Danzig)* หรือกดานสก์ (Gdansk)* เขาเรียนจบเป็นนายทหารปลาย ค.ศ. ๑๙๑๑ และภายในต้น ค.ศ. ๑๙๑๒ ก็ได้ติดยศร้อยโทประจำกองกำลังติดอาวุธขนาดเบาแห่งรัฐเวือร์ทเทมแบร์ก

 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ รอมเมิลถูกส่งไปประจำการในหน่วยรบพิเศษบนเทือกเขาแอลป์ (Alpen-korps) ซึ่งปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่ในแถบภูเขาสูงตามชายแดน เขามีโอกาสสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองในด้านความกล้าหาญ ความเป็นผู้นำ การตัดสินใจรวดเร็วในการใช้ยุทธวิธีเพื่อความได้เปรียบของสถานการณ์ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากความสับสนของศัตรู รอมเมิลประสบความสำเร็จในแนวรบทั้งด้านฝรั่งเศส โรมาเนีย และอิตาลีจากปฏิบัติการอันน่าทึ่งในยุทธการต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุทธการที่อีซอนโซ (Battle of Isonzo) และยุทธการที่ลอนกาโรเน (Battle of Longarone) มีผลงานในการร่วมจับกุมนายทหารอิตาลีจำนวน ๑๕๐ คนและพลทหารอีก ๙,๐๐๐ คนเป็นเชลยศึก พร้อมอาวุธเป็นจำนวนมากชื่อเสียงเกียรติคุณที่รอมเมิลได้รับระหว่างสงครามทำให้เขาได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก ทั้งยังได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้น ๑ และชั้น ๒ (Iron Cross, First and Second Class) และเหรียญสูงสุดของปรัสเซียอีกด้วย

 นอกจากจะโชคดีในหน้าที่การงานแล้ว รอมเมิลยังโชคดีในเรื่องความรักอีกด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ เขาได้แต่งงานกับลูซีอา มารีอา มอลลิน (Lucia Maria Mollin) หญิงสาวที่เขารักตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยที่ดานซิก ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกัน ๑ คน ชื่อมันเฟรด รอมเมิล (Manfred Rommel) ซึ่งต่อมาได้เป็นนายกเทศมนตรีนครชตุทท์การ์ท (Stuttgart) สำหรับชีวิตการทำงานในช่วงหลังสงครามเป็นชีวิตที่เงียบสงบแต่สร้างสรรค์ รอมเมิลถูกส่งไปสอนหนังสือในโรงเรียนทหารราบที่เมืองเดรสเดิน (Dresden) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๓ จึงเป็นโอกาสดีที่ทำให้เขามีเวลารวบรวมความคิดและประสบการณ์ระหว่างสงครามเขียนตำราว่าด้วยการรบและยุทธวิธีสำหรับเป็นคู่มือให้ครูฝึก ตำราเล่มแรกของเขาเรื่อง Combat tasks for platoon and company: A manual, for the offcer instruction ได้รับการตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ และหลังจากนั้นก็ตีพิมพ์อีกหลายครั้งจนถึง ค.ศ. ๑๙๔๕ โดยมีการแก้ไขปรับปรุงเป็นระยะ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๘ รอมเมิลได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการสถาบันสงครามแห่งพอทสดัม (Potsdam War Academy) เขาได้เขียนบันทึกการทำสงครามชื่อ Infantry Attacks ซึ่งตีพิมพ์ ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นตำราทางการทหารที่ได้รับการยกย่องอย่างมาก ทำให้รอมเมิลกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจนฮิตเลอร์เองก็อยากรู้จัก

 การได้พบฮิตเลอร์ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party-NSDAP; Nazi Party)* ทำให้ชีวิตการเป็นทหารอาชีพของรอมเมิลเริ่มเปลี่ยนไปโดยมีการเมืองเข้ามาแทรก รอมเมิลถูกย้ายเข้าสังกัดกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบประสานงานกับยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth)* และศูนย์บัญชาการกีฬาทหาร (Headquarters of Military Sports) เพื่อจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนในด้านต่าง ๆ ที่คล้ายกับการฝึกทหาร แต่ก็มีวัตถุประสงค์แอบแฝงที่จะเตรียมเยาวชนให้เป็นกองกำลังรับใช้ทางการเมือง หน้าที่ผู้ประสานงานทำให้รอมเมิลต้องเดินทางไปเยี่ยมและทำกิจกรรมตามศูนย์ยุวชนฮิตเลอร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ความเป็นนักการทหารและมีบุคลิกผู้นำทำให้รอมเมิลได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชอบของเยาวชนขณะเดียวกันก็มีผู้นำเยาวชนบางคนอิจฉาเขาและไม่อยากเห็นเขาประสบความสำเร็จจึงปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือทำให้การทำงานของเขาติดขัดและไม่ราบรื่นเท่าที่ควรแม้กระนั้น รอมเมิลก็สามารถจัดระบบการฝึกทั่วประเทศให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพด้วยการเพิ่มจำนวนครูฝึกขยายกิจกรรมการฝึก และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะรองรับการฝึกให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจจนเขาได้รับเหรียญวอร์ ริบบอนส์ (war ribbons) ขั้นสูงสุดทั้งยังได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ขณะที่ยังคงตำแหน่งผู้บัญชาการที่พอทสดัมด้วย

 อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ รอมเมิลได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการสถาบันสงครามที่วิเนอร์นอยชตัดท์ (Wiener Neustadt) แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เขาถูกเรียกตัวไปบัญชาการ “หน่วยองครักษ์พิทักษ์อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันฟือเรอร์ (Führer)* ขณะเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษไปเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* และเมเมิล (Memel) ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี ระหว่างการเดินทางรอมเมิลมีโอกาสได้รู้จักและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับโยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbels)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภูมิปัญญาและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Ministry for Public Enlightenment and Propaganda) ซึ่งทำให้การปฏิบัติงานของรอมเมิลจากนี้ไปได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ มากขึ้น

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ รอมเมิลรับผิดชอบศูนย์บญชาการติดตามพิทักษ์ฟือเรอร์ระหว่างการสู้รบในโปแลนด์ เขามีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับฮิตเลอร์และสังเกตการณ์การปฏิบัติการทำงทหารในแนวรบด้านนั้น ซึ่งมีจุดอ่อนที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ ดังนั้นเมื่อเขาเดินทางกลับเบอร์ลิน จึงทำเรื่องขอออกรบและขอบัญชาการหน่วยรถหุ้มเกราะหรือแพนเซอร์ (panzer) มีนายทหารระดับสูงหลายนายไม่เห็นด้วยกับคำร้องขอของเขา เพราะเห็นว่าเขายังขาดประสบการณ์ด้านรถหุ้มเกราะแต่ก็มีประสบการณ์มากในการรบบนเขา อย่างไรก็ดี ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๐ เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบกองพลแพนเซอร์ที่ ๗ (7ᵗʰ Panzer Division) ที่จะเข้าร่วมในแผนการบุกกลุ่มประเทศแผ่นดินตํ่า (Low Countries) และฝรั่งเศสซึ่งจะเริ่มในเดือนพฤษภาคมของปีเดียวกัน

 จากบทเรียนความพ่ายแพ้ในโปแลนด์ รอมเมิลได้ปรับปรุงยุทธวิธีสำหรับการรบด้วยกองกำลังรถหุ้มเกราะซึ่งแม้จะอุ้ยอ้ายอยู่บ้าง แต่ก็สามารถทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อการบุกจุ่โจมเป็นไปได้อย่างหนักแน่น แม่นยำ และรวดเร็วเกินความคาดหมายได้ ประกอบกับตัวเขาเองเป็นคนช่างคิดและจอมวางแผน เขาจึงมีความสามารถเป็นพิเศษในการแก้ปัญหาและปรับแผนการรบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กองพลแพนเซอร์ที่ ๗ ของเขามีผลงานโดดเด่นและเป็นที่เกรงขามทั้งแก่กองทัพศัตรูและกองทัพฝ่ายเดียวกันกองพลของเขาจึงได้รับการขนานนามในเวลาต่อมาว่า “กองพลผี” (Gespenster- Ghost Division) เนื่องมาจากชื่อเสียงของการบุกโจมตีอย่างรวดเร็วจนบางครั้งมองไม่เห็นตัวและเคลื่อนที่เร็วถึง ๓๒๐ กิโลเมตรภายใน ๑ วันเกินความคาดหมายของทุกฝ่าย ภายในเวลา ๒ เดือน ระหว่างพฤษภาคม-มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ รอมเมิลและกองพลแพนเซอร์ของเขาประสบความสำเร็จอย่างงดงามในยุทธการที่อาร์ราส (Battle of Arras) ในเบลเยียมการรบทางภาคตะวันตกที่นำไปสู่การถอนทัพที่ดันเคิร์ก (Evacuation of Dunkirk)* ของฝ่ายพันธมิตรและยุทธการที่ฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เขาได้รับอิสริยาภรณ์กางเขนเหล็กชั้นสูงสุด (Knight’s Cross of the Iron Cross with Oak Leaves, Swords and Diamonds)

 อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงและความสำเร็จของรอมเมิลก็สร้างปัญหาให้กับเขาพอควร โดยเฉพาะในความสัมพันธ์กับเพื่อนทหารระดับเดียวกันที่เห็นว่าชัยชนะของรอมเมิลบ่อยครั้งเกิดจากการปฏิบัติการลํ้าเส้นโดยไม่คำนึงถึงแผนปฏิบัติการที่กำหนดขึ้นไว้ร่วมกัน เป็นการสร้างวีรกรรมเพื่อตัวเอง ทั้ง ๆ ที่การปฏิบัติการแต่ละครั้งหน่วยอื่น ๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน อย่างไรก็ดี รอมเมิลก็โชคดีที่ฮิตเลอร์ถูกใจการปฏิบัติการของเขาและพร้อมจะให้การสนับสนุนในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๑ เขาได้เลื่อนยศเป็นพลตรีและได้บังคับบัญชากองกำลังรถหุ้มเกราะซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น “กองทัพน้อยแห่งแอฟริกา” (Afrika Korps - African Corps) โดยเข้าประจำการในลิเบียเพื่อช่วยอิตาลีทำสงครามกับอังกฤษในแอฟริกาตอนเหนือซึ่งเป็นช่วงที่อิตาลีกำลังอยู่ในฐานะเสียเปรียบอย่างหนัก ทหารอิตาลีลูกอังกฤษจับเป็นเชลยถึง ๑๓๐,๐๐๐ คน พร้อมกับรถหุ้มเกราะลูกยึดเกือบ ๔๐๐ คัน ทำให้อิตาลีอยู่ในภาวะล่อแหลมที่กำลังจะเสียลิเบียและอาณานิคมในแอฟริกาตอนเหนือในการปฏิบัติการครั้งนี้รอมเมิลจะต้องอยู่ภายใต้ศูนย์บัญชาการของอิตาลีที่ลิเบีย ซึ่งเห็นว่ายุทธวิธีตั้งรับที่มีประสิทธิภาพเท่านั้นจะช่วยให้อาณานิคมของอิตาลีในแอฟริการอดพันจากการถูกอังกฤษยึดครองได้ แต่รอมเมิลไม่เห็นด้วย เขานำกองกำลังของเขาปฏิบัติการรุกรบและจู่โจมกองทัพอังกฤษด้วยการเคลื่อนที่เร็วแบบสายฟ้าแลบ ภายในเวลาเพียง ๓ เดือนระหว่างปลายเดือนมีนาคม-มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เขาก็สามารถขับไล่กองทัพอังกฤษออกจากเมืองสำคัญหลายเมืองจนทำให้ลิเบียปลอดภัย แต่เขาก็ทำให้แม่ทัพฝ่ายอิตาลีไม่พอใจที่เขาไม่ปฏิบัติการตามแผนและทำให้หน่วยเหนือในเยอรมนีไม่พอใจเช่นกัน ในปีเดียวกันรอมเมิลได้เลื่อนยศเป็นพลโท

 ชื่อเสียงและเกียรติคุณของรอมเมิลยิ่งใหญ่จนทำให้กองกำลังของเขาดูเป็นเอกเทศอยู่เหนือการบังคับบัญชาของกองทัพอิตาลีและแม้แต่หน่วยเหนือของเขาเองระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๒ เขาประสบความสำเร็จในการสู้รบกับอังกฤษในแอฟริกาตอนเหนือหลายครั้งในฐานะผู้นำกองทัพ เขาได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่ามีความเป็นทหารอาชีพที่ปราดเปรื่องและมีความสามารถสูงจนได้รับการขนานนามว่า “จิ้งจอกทะเลทราย” (Desert Fox) ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ขณะอายุ ๕๐ ปี เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นจอมพลแห่งกองทัพเยอรมันและยังเป็นจอมพลที่หนุ่มที่สุดและมีผลงานโดดเด่นที่สุดในปฏิบัติการทุกแนวรบ ในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๔๒ ความพยายามของอังกฤษประสบผลในการขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรเพื่อทำการรบในแอฟริการตอนเหนือให้ได้ชัยชนะ การผนึกกำลังกันของฝ่ายพันธมิตรทำให้สามารถหยุดยั้งการรุกรบของรอมเมิลและฝ่ายอักษะโดยรวมได้ในหลายพื้นที่ และเมื่อรอมเมิลประสบปัญหาความเป็นเอกภาพในการบัญชาการรบกับกองทัพอิตาลีและปัญหาการขาดแคลนยุทธปัจจัย ซึ่งหน่วยเหนือปฏิเสธที่จะส่งเสริมมาให้ทำให้กองกำลังของเขาอยู่ในฐานะเสียเปรียบและประสบความปราชัยในการรบในแอฟริกาตอนเหนือในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ เมื่อเขาส่งมอบความรับผิดชอบกองกำลังในแอฟริกาให้กับพลเอก ฮันส์-ยูร์เกิน ฟอน อารอม (Hans-Jurgen von Arom) แล้วเขาก็บินกลับเยอรมนีและขอลาป่วยระยะยาว

 ในเดือนกรกฎาคมรอมเมิลถูกเรียกตัวกลับเข้าประจำการเป็นแม่ทัพกองทัพกลุ่มอี (Army Group E) เพื่อเตรียมการป้องกันกรีซโดยคาดว่าฝ่ายพันธมิตรจะบุกยึดกรีซในอีกไม่ช้า เมื่อเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นตามคาดเขาจึงได้รับมอบหมายให้บัญชาการกองทัพกลุ่มบี (Army Group B) เพื่อวางแผนการป้องกันอิตาลีตอนเหนือหลังการโค่นล้มเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลี ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ เขาได้ย้ายศูนย์บัญชาการกองทัพกลุ่มนี้จากมิวนิก (Munich) ไปอยู่ที่ทะเลสาบการ์ดา (Garda) ในอิตาลีตอนเหนือซึ่งทำให้การปฏิบัติการของเขาประสบผลอย่างดี แต่ในเดือนพฤศจิกายนเขาก็ได้รับคำสั่งให้ย้ายกองทัพกลุ่มบีของเขาไปประจำการที่นอร์มองดี (Normandy) เพื่อเตรียมการป้องกันชายฝั่งทะเลของฝรั่งเศสจากการบุกของฝ่ายพันธมิตรซึ่งคาดว่าจะต้องเกิดขึ้นในไม่ช้า

 แม้จะมีเวลาเตรียมตัวไม่มากนัก แต่รอมเมิลก็พยายามอย่างดีที่สุด เขาออกสำรวจสถานที่ตลอดแนวชายฝั่งทะเลจากเนเธอร์แลนด์ถึงสเปน และเห็นว่านอร์มองดีน่าจะเป็นสถานที่เป้าหมายแท้จริงของฝ่ายพันธมิตรในการยกพลขึ้นบกเพื่อปลดปล่อยยุโรป แต่การป้องกันชายฝั่งน่าจะทำตลอดแนวจากเนเธอร์แลนด์ถึงสเปนเป็นแนว “กำแพงแอตแลนติก” (Atlantic Wall) เขาวางกับระเบิดนับล้าน ๆ ตัวพร้อมทั้งทำกับดักรถหุ้มเกราะนับพัน ๆ แห่งตลอดแนวชายฝั่งและที่ว่างในชนบท รวมทั้งสร้างสิ่งกีดขวางในท้องไร่ท้องนาเพื่อสกัดกั้นการลงจอดของเครื่องบิน ซึ่งได้รับฉายาว่า “หน่อไม้ของรอมเมิล” (Rommel’s asparagus) นอกจากคำนึงถึงยุทธวิธีการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรและแนวการตั้งรับของฝ่ายอักษะแล้ว รอมเมิลยังไม่ลืมประสบการณ์อันขมขื่นของเขาในการรบในแอฟริกาตอนเหนือใน ค.ศ. ๑๙๔๓ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนยุทธปัจจัยและความเสียเปรียบในการรบทางอากาศ เขาจึงสนใจเป็นพิเศษในการวางแผนการส่งกำลังบำรุงไม่ให้แนวหน้าเกิดความขาดแคลน และให้หน่วยรถหุ้มเกราะกระจายตัวเป็นกลุ่มย่อมเพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายไปยังจุดต่าง ๆ และขณะเดียวกันต้องสร้างกำแพงป้องกันการถูกโจมตีทางอากาศด้วยอย่างไรก็ตามการเตรียมการป้องกันของรอมเมิลก็มีผู้ไม่เห็นด้วยหลายคนโดยเฉพาะจอมพล แกร์ด ฟอน รุนชเตดท์ (Gerd von Runstedt) ที่ต้องการเห็นการตั้งรับอยู่ใกล้ปารีสหรืออยู่บนภาคพื้นดินมากกว่าตามชายฝั่งทะเล ฉะนั้นเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นในวันดี-เดย์ ฮิตเลอร์จึงประนีประนอมด้วยการใช้แผนของทั้งรอมเมิลและรุนชเตดท์ ทำให้การปฏิบัติการขาดเอกภาพและนำไปสู่ความปราชัยในท้ายที่สุด

 ชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรในวันดี-เดย์ทำให้รอมเมิลเชื่อว่าสงครามจะยุติลงในไม่ช้า พร้อมกับความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะซึ่งผู้นำของเยอรมนีจะต้องยอมรับความจริง และหาทางให้การสูญเสียมีน้อยที่สุด และในเวลาที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด จะมีทางทำอะไรได้บ้างเพื่อกอบกู้ประเทศให้พ้นจากความหายนะ รอมเมิลจึงถูกเพื่อนในกลุ่มไครเซา (Kreisau Circle) ดึงเข้าไปให้ร่วมรับรู้แผนสังหารฮิตเลอร์ ซึ่งแม้จะมีมาเป็นระยะก่อนหน้านี้แล้ว เช่น แผนสังหารซึ่งเกสตาโป (Gestapo)* จับได้และเรียกว่า ชวาร์เซคาเพลเลอ (Schwarze Kapelle - Black Orchestra) ก็ยังไม่เคยประสบผลสำเร็จแผนสังหารครั้งล่าสุดที่รอมเมิลมีส่วนรับรู้เป็นแผนวางระเบิด เดือนกรกฎาคม เพื่อสังหารฮิตเลอร์ด้วยระเบิดในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผู้ร่วมขบวนการและผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากถูกจับ และถูกทรมานก่อนถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร รอมเมิล เองก็ถูกนำขึ้นศาลทหารซึ่งตัดสินให้ขับเขาออกจากกองทัพและให้ขึ้นศาลประชาชนเพื่อพิจารณาความผิดอื่น ๆ ด้วย แต่ฮิตเลอร์เห็นว่าการพิจารณาโทษรอมเมิลในฐานะเป็นผู้ทรยศต่อผู้นำในขณะที่สงครามยังไม่ยุติอาจทำให้ทหารในบังคับบัญชาของเขาเสียขวัญ จึงขอให้ดำเนินการเป็นความลับ ให้รอมเมิลเลือกที่จะขึ้นศาลประชาชนหรือปลิดชีพตัวเองอย่างเงียบ ๆ ซึ่งรอมเมลเลือกอย่างหลัง

 ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ หลังจากอธิบายสถานการณ์ให้ภรรยาและบุตรชายฟังแล้ว จอมพล แอร์วิน โยดันเนส ออยเกิน รอมเมิลได้เดินทางออกจากบ้านพร้อมพลขับ และถือคทาจอมพลติดตัวไปด้วย เมื่อรถจอดพลขับได้เดินลงจากรถ เมื่อเขากลับมาพร้อมคนอีก ๒ คนภายใน ๑๐ นาที ก็พบจอมพล รอมเมิลฟุบอยู่บนเบาะเสียชีวิตด้วยการดื่มยาพิษ ทางการได้ประกาศการเสียชีวิตของเขาว่าเกิดจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และกำหนดให้วันที่ ๑๔ ตุลาคม วันเดียวกันเป็นวันไว้อาลัยรอมเมิลอย่างเป็นทางการ ได้มีการจัดพิธีฝังศพเขาอย่างเต็มยศตามแบบทหารโดยมีจอมพล รุนชเตดท์เป็นตัวแทนของฟือเรอร์ ความลับเกี่ยวกับการเสียชีวิตด้วยวัยเพียง ๕๒ ปี ของจอมพล รอมเมิลถูกเปิดเผยระหว่างการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials)* ค.ศ.๑๙๔๔ ๑๙๔๙.



คำตั้ง
Rommel, Erwin Johannes Eugen
คำเทียบ
จอมพลแอร์วิน โยฮันเนส ออยเกิน รอมเมิล
คำสำคัญ
- กลุ่มไครเซา
- กองทัพน้อยแห่งแอฟริกา
- กองพลผี
- การคบคิดเดือนกรกฎาคม
- การถอนทัพที่ดันเคิร์ก
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- การรบในแอฟริกาตอนเหนือ
- กำแพงแอตแลนติก
- เกสตาโป
- เชโกสโลวะเกีย
- แผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- ฟือเรอร์
- มอลลิน, ลูซีอา มารีอา
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- ยุทธการที่ลอนกาโรเน
- ยุทธการที่อาร์ราส
- ยุทธการที่อีซอนโซ
- ยุวชนฮิตเลอร์
- รอมเมิล, จอมพล แอร์วิน โยฮันเนส ออยเกิน
- รุนชเตดท์, จอมพล แกร์ด ฟอน
- โรมาเนีย
- วันดี-เดย์
- ศาลประชาชน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- หน่วยรบพิเศษบนเทือกเขาแอลป์
- หน่วยองครักษ์พิทักษ์อดอล์ฟ ฮิตเลอร์
- อารอม, พลเอก ฮันส์-ยูร์เกิน ฟอน
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1891-1944
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๘๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-