Washington Conference (1921)

การประชุมที่กรุงวอชิงตัน (พ.ศ. ๒๔๖๔)

การประชุมที่กรุงวอชิงตัน หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า การประชุมที่กรุงวอชิงตันเพื่อจำกัดอำนาจทางทะเล (Washington Naval Conference; Conference on Naval Limitation) เป็นการประชุมระหว่างประเทศตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๑ ถึงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๒ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (Washington D.C.) สหรัฐอเมริกา วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้คือเพื่อหาข้อตกลงเรื่องการจำกัดการแข่งขันด้านการสร้างอาวุธและเรือรบระหว่างชาติมหาอำนาจ เพื่อสร้างสันติภาพในมหาสมุทรแปซิฟิกผลสำคัญของการประชุมคือการลงนามในสนธิสัญญาหลายฉบับ ประกอบด้วยสนธิสัญญาจำกัดอำนาจทางทะเลระหว่าง ๕ มหาอำนาจ (Five-Power Naval Limitation Treaty)สนธิสัญญาระหว่าง ๔ มหาอำนาจ (Four-Power Treaty) และสนธิสัญญาระหว่าง ๙ มหาอำนาจ (Nine-Power Treaty) อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้สนธิสัญญาเหล่านี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนักและการแข่งขันด้านการเสริมสร้างอาวุธก็ปะทุขึ้นใหม่ในทศวรรษ ๑๙๓๐

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)*สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจคู่กับอังกฤษและฝรั่งเศส และเริ่มแสดงแสนยานุภาพด้วยการแข่งขันกันสร้างเรือรบและอาวุธเป็นจำนวนมากจนอังกฤษวิตกว่าอิทธิพลของตนในฐานะมหาอำนาจทางทะเลจะถดถอยลง การสร้างเรือรบและอาวุธของญี่ปุ่นทำให้สหรัฐอเมริกาวิตกว่านโยบายเปิดประเทศ (Open Door Policy) ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ เพื่อรักษาดุลอำนาจของประเทศมหาอำนาจในจีนจะถูกทำลายลงทั้งเกรงว่าสนธิสัญญาพันธไมตรีอังกฤษ-ญี่ปุ่น (Anglo Japanese Alliance ค.ศ. ๑๙๐๒) เพื่อต่อต้านรัสเซียซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ อาจได้รับการต่ออายุเป็นครั้งที่ ๒ อันจะทำให้อังกฤษต้องสนับสนุนญี่ปุ่นในกรณีที่เกิดการกระทบกระทั่งกับสหรัฐอเมริกาในน่านน้ำแปซิฟิก

 ประธานาธิบดีวอร์เรนกามาเลียลฮาร์ดิง (Warren Gamaliel Harding) จึงผลักดันให้เปิดการประชุมระหว่างประเทศขึ้นเพื่อรักษาสันติภาพในเขตมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเชิญอังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี จีน เบลเยียม โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์เข้าร่วมประชุมที่กรุงวอชิงตันการประชุมเริ่มต้นเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๑ มีชาลส์ อีแวนส์ ฮิวส์ (Charles Evans Hughes) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ในการประชุมครั้งนี้ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่นต่างมีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดของตนเองกล่าวคือสหรัฐอเมริกาต้องการจำกัดการขยายอำนาจทางทะเลของญี่ปุ่นเพื่อบีบบังคับญี่ปุ่นให้ยอมรับนโยบายเปิดประเทศ ส่วนอังกฤษต้องการจำกัดการสร้างอาวุธและเรือรบทั้งของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องการให้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยอมรับอิทธิพลของตนในจีนโดยเฉพาะในแมนจูเรีย (Manchuria) และมองโกเลีย (Mongolia) เป้าหมายที่แตกต่างกันมีส่วนทำให้การเจรจาเกือบจะไม่บรรลุผล แต่ในที่สุดก็ประนีประนอมกันได้โดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศสลงนามในสนธิสัญญาระหว่าง ๔ มหาอำนาจเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ สาระสำคัญของสนธิสัญญากำหนดว่าเมื่อประเทศภาคีสนธิสัญญาตั้งแต่๒ประเทศขึ้นไปขัดแย้งกันในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับดุลอำนาจในมหาสมุทรแปซิฟิก ให้ภาคีสนธิสัญญาที่ขัดแย้งนั้นนำปัญหามาหารือกับประเทศภาคีสนธิสัญญาที่เหลือและให้ทุกประเทศเคารพสิทธิของประเทศภาคีสนธิสัญญาอื่น ๆ ที่มีเหนืออาณานิคมของตนในเขตมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนี้ยังให้ยกเลิกสนธิสัญญาพันธไมตรีอังกฤษ-ญี่ปุ่น

 หลังการลงนามในสนธิสัญญาระหว่าง๔มหาอำนาจที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการลดจำนวนเรือรบในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๒ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่นฝรั่งเศส และอิตาลีร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาจำกัดอำนาจทางทะเลระหว่าง ๕ มหาอำนาจซึ่งกำหนดให้ประเทศภาคีสนธิสัญญายุติการสร้างเรือรบขนาดใหญ่เป็นเวลา ๑๐ ปี กำหนดจำนวนเรือรบของชาติภาคีสนธิสัญญาไว้ที่อัตราส่วน ๕ : ๕ : ๓ : ๑.๗๕ : ๑.๗๕ คือ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษมีเรือรบในจำนวน ๕๒๕,๐๐๐ ตัน ญี่ปุ่น ๓๑๕,๐๐๐ ตัน ส่วนฝรั่งเศสและอิตาลี ๑๗๕,๐๐๐ ตันโดยใช้อัตรา ๑ ตันเท่ากับ ๑.๐๑๖ กิโลกรัม และเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดต้องมีน้ำหนักไม่เกิน ๓๕,๐๐๐ ตัน และติดอาวุธปืนที่มีความยาวไม่เกิน ๑๖ นิ้วให้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษมีเรือบรรทุกเครื่องบินได้ไม่เกิน ๑๓๕,๐๐๐ ตัน ญี่ปุ่นไม่เกิน ๘๑,๐๐๐ ตัน ส่วนฝรั่งเศสและอิตาลีไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ ตันโดยเรือบรรทุกเครื่องบินต้องมีขนาดไม่เกิน ๒๗,๐๐๐ ตันต่อลำ และห้ามสร้างเรือชนิดอื่น ๆ เกินลำละ ๑๐,๐๐๐ ตัน สนธิสัญญามีผลให้สหรัฐอเมริกา อังกฤษและญี่ปุ่นต้องยุติโครงการสร้างเรือรบจำนวน ๒๖ ลำ ๒๔ ลำ และ ๑๖ ลำ ตามลำดับ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยังยอมรับเงื่อนไขจะไม่สร้างฐานทัพเรือในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกเพิ่ม สนธิสัญญาจำกัดอำนาจทางทะเลระหว่าง ๕ มหาอำนาจกำหนดให้หมดอายุลงใน ค.ศ. ๑๙๔๖ หรือหากประเทศภาคีใดประเทศหนึ่งขอถอนตัวก็จะสิ้นสุดลง๒ปีหลังจากนั้น สนธิสัญญาฉบับนี้ได้รับสัตยาบันเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ และถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในสนธิสัญญาขององค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๔

 วัตถุประสงค์สำคัญของสหรัฐอเมริกาในการประชุมครั้งนี้อีกประการหนึ่งคือการจะปกป้องนโยบายเปิดประเทศของตน สหรัฐอเมริกาจึงโน้มน้าวประเทศที่เข้าร่วมประชุมทั้ง ๘ ประเทศ ให้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาระหว่าง ๙ มหาอำนาจเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๒ ซึ่งกำหนดให้ทุกประเทศรับรองความเป็นเอกราชของจีนและสิทธิของทุกประเทศที่จะไปค้าขายกับจีนได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งญี่ปุ่นสัญญาจะคืนมณฑลชานตง (Shandong) และเจียวโจว (Jiaozhou) ให้แก่จีนด้วย ต่อมามีการประชุมว่าด้วยการจำกัดการสร้างเรือรบอีก ๓ ครั้ง ได้แก่ การประชุมที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๗ การประชุมที่กรุงลอนดอนในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๐ และการประชุมที่กรุงลอนดอนในเดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ แต่ก็ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเมื่อญี่ปุ่นถอนตัวจากสนธิสัญญาจำกัดอำนาจทางทะเลระหว่าง ๕ มหาอำนาจใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เพราะต้องการขยายอิทธิพลเข้าไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจึงต้องหันมาเพิ่มการสร้างเรือรบในกองทัพมากขึ้น

 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในต้นเดือนธันวาคมค.ศ. ๑๙๔๑ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีซึ่งเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นจึงประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาจึงได้เข้าร่วมสงครามในยุโรปและนำไปสู่ช่วงสมัยการเป็นพันธมิตรอันยิ่งใหญ่ (Grand Alliance ค.ศ. ๑๙๔๑–๑๙๔๕)* ระหว่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียตในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกาและนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* ของอังกฤษเห็นชอบที่จะร่วมหารือเรื่องการวางแผนการรบร่วมกันและนำไปสู่การประชุมที่วอชิงตันครั้งที่ ๑ (The First Washington Conference) ระหว่างวันที่ ๒๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑–๑๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ที่ประชุมตกลงกันว่าจะต้องกำจัดรัฐบาลนาซี (Nazi) ในเยอรมนีก่อนที่จะจัดการกับญี่ปุ่นในด้านแปซิฟิกกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษจะเพิ่มการโจมตีทางอากาศเหนือเมืองสำคัญของเยอรมนี ส่วนในการรบภาคพื้นดิน ทวีปแอฟริกาตอนเหนือถูกกำหนดให้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการบุกโจมตีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษพร้อมด้วยประเทศพันธมิตรอื่นอีก ๒๔ ประเทศ ได้ร่วมกันประกาศ “คำประกาศสหประชาชาติ” เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒โดยจะร่วมกันหาหนทางทำลายจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* และสร้างสันติภาพอันถาวรให้เกิดขึ้นบนโลกทั้งจะไม่แยกกันทำสนธิสัญญาสันติภาพกับมหาอำนาจอักษะ (Axis Powers)* ตลอดจนให้สหรัฐอเมริกาส่งทหารไปสนับสนุนกองทัพอังกฤษในแอฟริกาเหนือในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ที่ประชุมยังตกลงให้จัดตั้งกองเสนาธิการร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ (Combined Chiefs of Staff–CCS) ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจในเรื่องการวางแผนยุทธศาสตร์ขั้นสุดท้ายขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ โดยมีศูนย์บัญชาการที่กรุงวอชิงตัน

 ในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๒ เมื่อกองทัพเยอรมันเคลื่อนกำลังเข้าไปยังเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) โดยผ่านเมืองสตาลินกราดซึ่งนำไปสู่ยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจึงหารือกันอีกครั้งในการประชุมที่กรุงวอชิงตันครั้งที่ ๒ (The Second Washington Conference) ระหว่างวันที่ ๑๙–๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๒ เพื่อพิจารณาเรื่องการเปิดแนวรบด้านที่ ๒ ใน ฝรั่งเศสเพื่อช่วยสนับสนุนสหภาพโซเวียตในแนวรบด้านตะวันออก แต่อังกฤษยังไม่เห็นด้วย ทั้ง ๒ ประเทศจึงตกลงให้เปิดการรุกในพื้นที่รอบทะเลเมดิเตอร์-เรเนียนเพื่อยกพลขึ้นบกที่อิตาลีและกดดันเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีเสียก่อนสหรัฐอเมริกาจึงแต่งตั้งนายพลดไวต์ เดวิด ไอเซนฮาวร์ (Dwight David Eisenhower) เป็นผู้บัญชาการสูงสุดสำหรับการรบในภาคพื้นยุโรปเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๒ การรุกรอบพื้นที่เมดิเตอร์เรเนียนเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ เมื่อกองกำลังผสมอังกฤษ-อเมริกันยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งโมร็อกโก (Morocco) และแอลจีเรีย (Algeria) และเปิดฉากตีโต้ข้าศึกในแอฟริกาเหนือ มีการปะทะกันอย่างดุเดือดในยุทธการที่เมืองเอลอะลาเมนครั้งที่ ๒ (Second Battle of El-Alamein) เมืองเล็ก ๆ ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในอียิปต์ กองทัพเยอรมันในการบัญชาการของจอมพล แอร์วิน รอมเมิล (Erwin Rommel)* พ่ายแพ้อย่างยับเยิน

 ชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรในแอฟริกาเหนือทำให้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเปิดการประชุมหารือกันอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๔๓ เป็นการประชุมที่กรุงวอชิงตันครั้งที่ ๓ (The Third Washington Conference) หรือที่เรียกว่า การประชุมไทรเดนต์ (Trident Conference) ระหว่างวันที่ ๑๒–๒๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ เป็นการประชุมตกลงเรื่องแผนการบุกอิตาลีโดยกำหนดเผด็จศึกอิตาลีให้ได้ภายใน ค.ศ. ๑๙๔๓ สหรัฐอเมริกาจะเพิ่มการทิ้งระเบิดเหนือเยอรมนีและส่งทหารไปยังอังกฤษเพื่อเตรียมความพร้อมในการยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งฝรั่งเศสในวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศทำให้ต้องเลื่อนปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งฝรั่งเศสออกไปเป็นวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ หรือวันดีเดย์ (D-Day)*.



คำตั้ง
Washington Conference
คำเทียบ
การประชุมที่กรุงวอชิงตัน
คำสำคัญ
- การประชุมที่กรุงวอชิงตัน
- การประชุมที่กรุงวอชิงตันครั้งที่ ๒
- การประชุมที่กรุงวอชิงตันครั้งที่ ๓
- การประชุมที่กรุงวอชิงตันเพื่อจำกัดอำนาจทางทะเล
- การประชุมไทรเดนต์
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- นาซี
- แนวรบด้านที่ ๒
- พันธมิตรอันยิ่งใหญ่
- มหาอำนาจอักษะ
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่เมืองเอลอะลาเมน
- ยุทธการที่เมืองเอลอะลาเมนครั้งที่ ๒
- ยุทธการที่สตาลินกราด
- รอมเมิล, จอมพล แอร์วิน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาจำกัดอำนาจทางทะเลระหว่าง ๕ มหาอำนาจ
- สนธิสัญญาระหว่าง ๔ มหาอำนาจ
- สนธิสัญญาระหว่าง ๙ มหาอำนาจ
- สหประชาชาติ
- สหภาพโซเวียต
- สันนิบาตชาติ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1921
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-