Metaxas, Ioannis (1871-1941)

พลเอก ยออานนีส เมทากซาส (๒๔๑๔-๒๔๘๔)

​     ​​ยออานนีส เมทากซาส เป็นนายกรัฐมนตรีกรีกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๔๑ เขาเป็นนักการเมืองและนายพลหัวอนุรักษนิยมที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จปกครองประเทศ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขาเป็นหัวหน้าคณะเสนาธิการทหารกองทัพกรีกที่สนับสนุนให้กรีซดำเนินนโยบายเป็นกลางหรือสนับสนุนเยอรมนีและพระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ (Constantine I ค.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๑๗ และ ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๒)*

ก็ทรงเห็นด้วย แต่นโยบายดังกล่าวขัดแย้งกับอีลิวเทริออส เวนิเซลอส (Eleuthérios Venizélos) นายกรัฐมนตรีซึ่งสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ภายหลังสงครามโลก กรีซเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เมทากซาสซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคกษัตริย์นิยม (Monarchist Party) พยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยอัญเชิญพระเจ้าจอร์จที่ ๒ (George II ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๔, ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๔๑ และ ค.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๔๗) ให้กลับมาครองบัลลังก์แต่ประสบความล้มเหลว ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เมทากซาสก่อรัฐประหารและสถาปนาระบบเผด็จการฟาสซิสต์ (Fascism)* ขึ้นปกครองประเทศ
     เมทากซาสเกิดที่หมู่เกาะอีทากี (Ithákí) เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ค.ศ. ๑๘๗๑ หลังจากเรียนจบจากโรงเรียนนายทหาร เขาได้เข้าร่วมในกองทัพกรีกใน ค.ศ. ๑๘๙๐ เมทากซาสได้ปฏิบัติหน้าที่นายทหารครั้งแรกในสงครามระหว่างกรีซกับตุรกี (Greco-Turkish War ค.ศ. ๑๘๙๗) หลังจากนั้น เขาถูกส่งไปอบรมดูงานการทหารระดับสูงที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี เมื่อเดินทางกลับประเทศก็ได้เข้าร่วมในคณะเสนาธิการและมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยใน ค.ศ. ๑๙๐๓ ต่อมาเขาเข้าร่วมรบในสงครามบอลข่าน (Balkan Wars)* ครั้งแรกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๑๓ หลังสงครามเขาได้รับยศพันเอกและเป็นหัวหน้าคณะเสนาธิการใน ค.ศ. ๑๙๑๓ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นเมทากซาสซึ่งฝักใฝ่เยอรมนีได้เลื่อนยศเป็นนายพลเอก และเป็นรองผู้บัญชาการกองทัพบกกรีกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๕-๑๙๑๗ เขายังทำหน้าที่ประสานการติดต่อระหว่างพระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง เมื่อบัลแกเรียยกกำลังทัพเข้ายึดด่านป้องกันชั้นนอกของกรีซ เมทากซาสไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ที่จะตอบโต้แต่สั่งโยกย้ายนายทหารที่สนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรหรือกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* ซึ่งประกอบด้วยฝรั่งเศส รัสเซีย และอังกฤษออกจากกองทัพ เขาเห็นว่ากรีซควรเข้าข้างเยอรมนีหรือดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่นโยบายดังกล่าวขัดแย้งกับความคิดของเวนิเซลอสนายกรัฐมนตรีซึ่งสนับสนุนฝ่ายประเทศความตกลงไตรภาคี
     เวนิเซลอสซึ่งในขณะนั้นเป็นที่นิยมของประชาชนเพราะเขาสามารถนำเกาะครีต (Crete) มารวมกับกรีซได้สำเร็จและได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ กราบทูลแนะนำให้พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ ทรงสนับสนุนฝ่ายความตกลงไตรภาคี เขาคาดหวังว่าสงครามโลกที่เกิดขึ้นจะทำให้ จักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกีล่มสลายและจะเปิดโอกาสให้กรีซรวบรวมดินแดนเพิ่มเติมคือมาซิโดเนีย (Macedonia)* เทรซ (Thrace) หมู่เกาะอีเจียน (Aegean Islands) และเมืองสมีร์นา (Smyrna) หรืออิซมีร์ (Izmir) แต่พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยเพราะในขณะนั้นพระราชวงศ์กรีกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* โดยพระมเหสีทรงเป็นพระขนิษฐาของไกเซอร์ วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* แห่งเยอรมนี พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ ทรงประสงค์จะสนับสนุนฝ่ายมหาอำนาจกลาง หรือเพียงแต่ดำเนินนโยบายเป็นกลางในสงครามตามแนวความคิดของเมทากซาส เวนิเซลอสจึงลาออกในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ เมื่อพระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ ทรงปฏิเสธที่จะส่งกองทัพเข้าช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรในการรบที่ช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)* การแบ่งเป็นฝ่ายในการเลือกนโยบายสงครามของประเทศเริ่มรุนแรงขึ้น ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ กลุ่มทหารที่จงรักภักดีต่อเวนิเซลอสได้ก่อรัฐประหารขึ้นที่ซาโลนิกา และเวนิเซลอสประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลของตนขึ้น
     ส่วนเมทากซาสซึ่งไม่พอใจนโยบายของเวนิเซลอสก็ขอลาออกจากราชการ แต่พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ ทรงยับยั้งไว้ และฝ่ายนิยมกษัตริย์ก็สนับสนุนเขา ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ เมทากซาสพยายามกราบทูลพระองค์ให้เสด็จออกจากกรุงเอเธนส์ไปประทับที่ภาคเหนือของประเทศและเตรียมจัดตั้งกองทัพสนับสนุนกษัตริย์ รวมทั้งจัดตั้งหน่วยรบแบบกองโจรเพื่อเข้าสู่สงครามในฐานะพันธมิตรฝ่ายมหาอำนาจกลาง ตลอดจนโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล ประเทศสัมพันธมิตรได้ส่งกองทัพพร้อมด้วยทหารชาวครีตอีก ๖๐,๐๐๐ คนมาช่วยเหลือเวนิเซลอสจนมีชัยชนะต่อกองกำลังของเมทากซาส ทั้งบีบบังคับให้พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ สละราชย์โดยข่มขู่ว่าจะส่งกำลังทางเรือเข้าทำลายกรีซ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ จึงต้องยอมสละราชบัลลังก์ในเดือน มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ให้แก่เจ้าชายอะเล็กซานเดอร (Alexander) พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรสนับสนุนให้เป็นกษัตริย์องค์ต่อมาและเสด็จออกนอกประเทศ เวนิเซลอสซึ่งได้อำนาจเด็ดขาดจึงประกาศสงครามกับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ส่วนเมทากซาสได้ลี้ภัยไปอยู่ที่เกาะคอร์ซิกา (Corsica) และถูกพิจารณาคดีใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ด้วยข้อหาทรยศต่อชาติแต่ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เขาก็ได้รับการอภัยโทษ
     หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง รัฐบาลของเวนิเซลอสไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนเพราะเขานำประเทศเข้าสู่สงครามซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่ประเทศ เวนิเซลอสจึงพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๐ ในต้นเดือนธันวาคมชาวกรีกลงประชามติสนับสนุนให้พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ กลับมาครองราชย์อีกครั้งหนึ่งเนื่องจากพระเจ้า อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ สวรรคตอย่างกะทันหันในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ในต้นทศวรรษ ๑๙๒๐ กรีกทำสงครามกับตุรกีอีกครั้งเนื่องจากมุสตาฟา เคมาล อะตาเติร์ก (Mustapha Kemal Atatürk)* ผู้นำตุรกีไม่ยอมรับข้อตกลงในสนธิสัญญาแซฟวร์ (Treaty of Sèvres)* ซึ่งตุรกีต้องสูญเสียเมืองท่าสมีร์นาและเขตปริมณฑลให้แก่กรีซ เคมาลจึงส่งกองทัพเข้ายึดเมืองสมีร์นาคืนได้สำเร็จในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๒ ความพ่ายแพ้ดังกล่าวทำให้พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ ทรงถูกบีบให้สละราชย์อีกครั้งโดยยกราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายจอร์จ (George) พระราชโอรสองค์โตโดยทรงเฉลิมพระนามว่า พระเจ้าจอร์จที่ ๒ ในช่วงเวลาเดียวกัน เมทากซาสก็เดินทางกลับเข้าประเทศและเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้งโดยจัดตั้งพรรคความคิดเสรี (Party of Free Opinion) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๓
     อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ชาวกรีกได้ลงประชามติล้มล้างระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เมทากซาสได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี แต่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในก็ทำให้เกิดการปฏิวัติและการก่อรัฐประหารอีกหลายครั้ง และต่อมาเมทากซาสก็ถูกเนรเทศอีกครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ ด้วยข้อหา บ่อนทำลายความมั่นคง แต่ในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๕ ฝ่ายนิยมกษัตริย์สามารถจัดตั้งระบบการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้และอัญเชิญพระเจ้าจอร์จที่ ๒ ให้กลับมาครองราชย์อีกครั้งหนึ่ง เมทากซาสจึงเดินทางกลับเข้าประเทศในต้น ค.ศ. ๑๙๓๖ ตามพระประสงค์ของพระเจ้าจอร์จที่ ๒ ซึ่งทรงไม่วางพระทัยในสถานการณ์ทางการเมืองภายในทั้งหวาดเกรงการก่อจลาจลของฝ่ายคอมมิวนิสต์และการก่อรัฐประหารเขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี
     ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ กรรมกรตามเมืองต่าง ๆ ชุมนุมนัดหยุดงานทั่วไปโดยมีพรรคคอมมิวนิสต์หนุนหลังเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแนวร่วมประชาชนขึ้น เมทากซาสซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าจอร์จที่ ๒ จึงประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ ๔ สิงหาคม ด้วยข้ออ้างการเกิดสภาวะอนาธิปไตยและให้เลื่อนการประชุมรัฐสภาออกไปโดยไม่มีกำหนดทั้งแก้ไข รัฐธรรมนูญบางข้อเพื่อให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารมากขึ้นขณะเดียวกันเขาดำเนินการปราบปรามกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายอย่างเด็ดขาด กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็ถูกจับขังคุกและกว่า ๑๕,๐๐๐ คนถูกเนรเทศออกนอกประเทศ นอกจากนี้ เขายังควบคุมสื่อมวลชนอย่างเข้มงวดและห้ามการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น เขาปกครองประเทศในนามของรัฐบาลกษัตริย์ตามแนวทางของลัทธิฟาสซิสต์ และประกาศสถาปนาจักรวรรดิกรีกขึ้นโดยเรียกชื่อว่า "สมัยอารยธรรมเฮเลนิกที่ ๓" (Third Hellenic Civilization) ซึ่งสืบทอดความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองจากอาณาจักรกรีกโบราณและจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) เมทากซาสดำรงตำแหน่งอาคิกอส (Archigos) หรือผู้นำที่เทียบกับตำแหน่งฟือเรอร์ (Führer)* ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๔๕)* หรือดูเช (Duce) ของเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๔๕)* เขายังจัดตั้งองค์การยุวชนแห่งชาติ (National Youth Organization) โดยยึดองค์การยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth)* เป็นแบบ เด็กชายทุกชนชั้นจะถูกอบรมเป็นทหาร เด็กผู้หญิงจะได้รับการฝึกเป็นแม่บ้านที่ดีของทหาร มีการเน้นอุดมการณ์ด้านครอบครัว ศาสนา ระเบียบสังคม และความมั่นคง
     แม้เมทากซาสจะปกครองประเทศในระบอบเผด็จการ แต่เขาก็พยายามพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและมั่นคง เขาสนับสนุนการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรด้วยการลดภาษีและกำหนดราคาผลผลิตให้สูงขึ้น รวมทั้งสร้างงานสาธารณะต่าง ๆ เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เขาเพิ่มค่าแรงให้แก่กรรมกรและปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ดำเนินการปฏิรูปกองทัพให้เข้มแข็งและทันสมัยเพื่อให้เป็นกองทัพอันดับหนึ่งในคาบสมุทรบอลข่าน นอกจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เขายังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศ และใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีกตำแหน่งด้วย
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เกิดขึ้น แม้เมทากซาสจะเคยนิยมเยอรมนี แต่เขาก็ดำเนินนโยบายสนับสนุนฝ่ายพันธมิตรเนื่องจากตระหนักถึงภัยคุกคามของอิตาลี และคาดหวังว่ากองกำลังทางเรือของฝ่ายพันธมิตรในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจะช่วยคุ้มกันกรีซจากการรุกราน ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ มุสโสลีนีผู้นำอิตาลีอ้างสิทธิ์เข้ายึดครองกรีซเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และส่งกำลังทหารจากแอลเบเนีย (Albania) ซึ่งอิตาลียึดครองได้ในต้นเดือน เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เข้ารุกรานกรีซเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เมทากซาสจึงประกาศสงครามกับอิตาลีและต่อต้านการโจมตีอย่างเหนียวแน่นจนสามารถ รุกไล่กองทัพอิตาลีถอยกลับเข้าไปในแอลเบเนีย ทั้งยึดครองพื้นที่บางส่วนของแอลเบเนียไว้ได้ เยอรมนีซึ่งเป็นพันธมิตรอิตาลีจึงเข้าช่วยเหลือโดยส่งกองทัพบุกโจมตีป้อมปราการที่เรียกกันว่า "ป้อมเมทากซาส" เป็นแนวป้องกันที่เมทากซาสสร้างขึ้นในมาซิโดเนียตะวันออก แต่หลังการยืนหยัดต่อสู้ได้ ๓ เดือน เยอรมนีก็ยึดครองกรีซได้ ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑
     ขณะที่การรบกำลังดำเนินอยู่ นายพลยออานนีสเมทากซาสซึ่งล้มป่วยตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๔๐ ถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงเอเธนส์ (Athens) เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ก่อนที่ กองทัพเยอรมนีจะบุกโจมตีประเทศรวมอายุได้ ๗๐ ปี.



คำตั้ง
Metaxas, Ioannis
คำเทียบ
พลเอก ยออานนีส เมทากซาส
คำสำคัญ
- อะตาเติร์ก, มุสตาฟา เคมาล
- องค์การยุวชนฮิตเลอร์
- สนธิสัญญาแซฟวร์
- สมัยอารยธรรมเฮเลนิกที่ ๓
- องค์การยุวชนแห่งชาติ
- คอนสแตนตินที่ ๑, พระเจ้า
- จอร์จที่ ๒, พระเจ้า
- มหาอำนาจกลาง
- เมทากซาส, ยออานนีส
- เวนิเซลอส, อีลิวเทริออส
- ฟาสซิสต์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- อีทากี, หมู่เกาะ
- สงครามระหว่างกรีซกับตุรกี
- ครีต, เกาะ
- คอร์ซิกา, เกาะ
- กลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี
- ดาร์ดะเนลส์, ช่องแคบ
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- สมีร์นา, เมือง
- เทรซ, แคว้น
- มาซิโดเนีย
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
- สงครามบอลข่าน
- อีเจียน, หมู่เกาะ
- ดูเช
- โฮเฮนซอลเลิร์น, ราชวงศ์
- ไบแซนไทน์, จักรวรรดิ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ฟือเรอร์
- เอเธนส์, กรุง
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1871-1941
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๑๔-๒๔๘๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อัธยา โกมลกาญจน
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf