องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอเป็นองค์การระหว่างประเทศในระบบพันธมิตรทางทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น (Cold War)* สหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศบริวารในยุโรปตะวันออกอีก ๗ ประเทศจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ โดยการลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาวอร์ซอ (Treaty of Warsaw)* หรือกติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact)* ซึ่งมีชื่อเต็มว่าสนธิสัญญาแห่งมิตรภาพ ความร่วมมือ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Treaty of Friendship, Cooperation and Mutual Assistance) ณกรุงวอร์ซอประเทศโปแลนด์วัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งองค์การนี้คือเพื่อป้องกันการรุกรานขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization–NATO)* และต่อต้านการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตก ตลอดจนตอบโต้การเสริมสร้างกำลังกองทัพของฝ่ายตะวันตกในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๕๐ รวมทั้งเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเอกภาพของค่ายคอมมิวนิสต์ให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสหภาพโซเวียตอย่างมั่นคง องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอยุติลงอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๙๙๑ หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น
หลังการแบ่งแยกเยอรมนีออกเป็น ๒ ประเทศใน ค.ศ. ๑๙๔๙ แล้ว มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของค่ายคอมมิวนิสต์หลายครั้ง โดยเฉพาะการที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศนโยบายในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ว่าจะอนุญาตให้เยอรมนีตะวันตกมีกองทัพติดอาวุธและอาจนำเยอรมนีตะวันตกเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตในอนาคต ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางด้านกำลังกองทัพให้แก่ฝ่ายตะวันตก เพราะเกรงว่าเหตุการณ์ทำนองเดียวกันกับสงครามเกาหลีที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันอาจเกิดขึ้นได้กับเยอรมนีซึ่งอยู่ในสภาพแบ่งแยกเช่นเดียวกับเกาหลีอย่างไรก็ดี การประกาศนโยบายดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลทั้งแก่สหภาพโซเวียตและพันธมิตรของเยอรมนีตะวันตกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะฝรั่งเศสเพราะต่างหวาดวิตกว่าเยอรมนีตะวันตกจะกลับมามีความเข้มแข็งทางด้านกำลังกองทัพอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของยุโรปในระยะยาวส่วนสหภาพโซเวียตก็ยังเห็นว่าการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของเยอรมนีตะวันตกไม่เพียงทำให้ฝ่ายตะวันตกมีกำลังกองทัพเหนือกว่าตนเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของค่ายคอมมิวนิสต์ด้วยเพราะในอดีตเยอรมนีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกมากกว่าสหภาพโซเวียตทั้งยังเคยรุกรานดินแดนเหล่านี้หลายครั้ง ฉะนั้นสหภาพโซเวียตจึงเริ่มหาทางป้องกันไม่ให้นโยบายของสหรัฐอเมริกาบรรลุผล
อย่างไรก็ดี ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ฝรั่งเศสก็ได้ช่วยแก้ไขปัญหานี้ โดยเสนอแผนเปลอวอง (Pleven Plan)* ต่อรัฐสภาฝรั่งเศสเพื่อจัดตั้งประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรปหรืออีดีซี (European Defence Community–EDC)* หรือกองทัพยุโรป (European Force) ขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ๖ ประเทศ ที่เป็นสมาชิกของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and Steel Community–ECSC)* เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการอนุญาตให้เยอรมนีตะวันตกมีกองทัพติดอาวุธและเข้าเป็นสมาชิกนาโต แต่การจัดตั้งอีดีซีก็ไม่ได้ทำให้สหภาพโซเวียตนิ่งนอนใจ เพราะการจัดตั้งองค์การดังกล่าวที่มีเยอรมนีตะวันตกเป็นสมาชิกก็ยังเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพทางด้านกำลังกองทัพของฝ่ายตะวันตกอยู่ดี ด้วยเหตุนี้หลังการลงนามในสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris)* เพื่อจัดตั้งอีดีซีเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๒ แล้ว สหภาพโซเวียตจึงเสนอต่อฝ่ายตะวันตกให้มีการรวมเยอรมนีทั้ง ๒ ประเทศเข้าด้วยกัน โดยจัดตั้งรัฐบาลผสมของ ๒ ประเทศขึ้นก่อนเพื่อให้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั่วไปและให้เยอรมนีที่รวมกันแล้วนี้เป็นกลางในกิจการระหว่างประเทศ แต่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวเพราะไม่ต้องการให้สหภาพโซเวียตเข้าไปควบคุมการเลือกตั้งในเยอรมนี ทั้งยังยืนกรานไม่ให้เยอรมนีที่รวมกันแล้วเป็นกลาง และให้มีเสรีภาพในการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศอย่างเช่นอีดีซี รวมทั้งสามารถมีกองทัพติดอาวุธของตนเองได้ สหภาพโซเวียตจึงต้องระงับการดำเนินการในเรื่องนี้ไป เนื่องจากในขณะนั้นปัญหาการป้องกันประเทศยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะสหภาพโซเวียตยังมีอำนาจบังคับใช้กองทัพของประเทศบริวารในยุโรปตะวันออกได้อย่างเต็มที่แม้ว่าจะเป็นช่วงปลายสมัยโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* แล้วก็ตาม
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๔ หลังการประชุมระหว่าง ๔ มหาอำนาจที่กรุงเบอร์ลิน (Berlin Conference)ระหว่างวันที่ ๒๕ มกราคม–๑๘ กุมภาพันธ์ สิ้นสุดลง เยอรมนีตะวันตกได้เสนอขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตต่อสหรัฐอเมริกา ทำให้สหภาพโซเวียตวิตกกังวลมากขึ้นในเดือนมีนาคมเวียเชสลัฟ โมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหภาพโซเวียตจึงได้เสนอเรื่องการรวมเยอรมนีต่อฝ่ายตะวันตกอีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับข้อเสนอครั้งแรก แต่ได้เพิ่มข้อตกลงว่าจะให้มีการถอนทหารของ ๔ มหาอำนาจที่ทำการยึดครองเยอรมนีอยู่ออกไปทั้งหมดเพื่อให้เยอรมนีเป็นกลางอย่างแท้จริง แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกปฏิเสธอย่างแข็งขันอีกครั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ ๓ มหาอำนาจคือ จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) แห่งสหรัฐอเมริกา แอนโทนี อีเดน (Anthony Eden)* แห่งอังกฤษ และชอร์ช บีโดล (Georges Bidault)* แห่งฝรั่งเศสปัญหาเยอรมนีจึงยังคงไม่ได้รับการแก้ไข
อย่างไรก็ดี โมโลตอฟก็ยังไม่เลิกล้มความพยายามในเวลาต่อมาเขาได้เสนอต่อมหาอำนาจตะวันตกให้มีการจัดทำ “สนธิสัญญากลางว่าด้วยความมั่นคงร่วมกันในยุโรป” (General European Treaty on Collective Security in Europe) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทุกประเทศในยุโรปลงนามร่วมกัน โดยไม่มีเงื่อนไขในเรื่องระบอบการปกครองและระบบสังคมของประเทศเหล่านั้นซึ่งในที่นี้โมโลตอฟหมายรวมถึงเยอรมนีทั้งสองด้วยแต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกปฏิเสธอย่างแข็งขันอีกครั้งทั้งจากประเทศที่สนับสนุนและคัดค้านการจัดตั้งอีดีซีบางประเทศถึงกับยืนยันว่าไม่สามารถรับข้อเสนอนี้ได้ เพราะสนธิสัญญาดังกล่าวกีดกันสหรัฐอเมริกาออกจากระบบการป้องกันยุโรป โมโลตอฟจึงเสนอให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้โดยสหภาพโซเวียตขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเป็นการแน่นอนว่าข้อเสนอของเขาถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากฝ่ายตะวันตก
ความล้มเหลวของอีดีซีในรัฐสภาฝรั่งเศสในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ ทำให้ปัญหาการจัดตั้งระบบความมั่นคงร่วมของยุโรปตะวันตกและการติดอาวุธให้แก่เยอรมนีตะวันตกผ่อนคลายไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพราะความล้มเหลวนี้ทำให้สนธิสัญญาบอนน์ (Treaty of Bonn) ที่จะให้อธิปไตยอย่างสมบูรณ์แก่เยอรมนีตะวันตกถูกรั้งรอการให้สัตยาบันไปก่อนแต่พอมาถึงเดือนตุลาคม ปัญหาดังกล่าวก็กลับคืนสู่ระเบียบวาระที่เป็นความสนใจของยุโรปอีกครั้งเมื่อแอนโทนี อีเดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้จัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศขึ้นที่กรุงลอนดอนโดยได้เชิญสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนีตะวันตก อิตาลี และชาติสมาชิกทั้งห้าขององค์การสนธิสัญญาบรัสเซลส์หรือบีทีโอ (Brussels Treaty Organization–BTO)* ซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์ก เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาการจัดตั้งระบบความมั่นคงร่วมของยุโรปตะวันตกแทนที่อีดีซี ในการนี้อีเดนได้เสนอให้นำบีทีโอที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๘ ซึ่งได้หยุดปฏิบัติการในด้านการป้องกันยุโรปมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๐ ขึ้นมาฟื้นฟูใหม่ให้มีประสิทธิภาพและเปลี่ยนชื่อเป็นสหภาพยุโรปตะวันตกหรือดับเบิลยูอียู (Western European Union–WEU)* ทั้งยังเสนอให้เชิญเยอรมนีตะวันตกและอิตาลีเข้าเป็นสมาชิกด้วย ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากที่ประชุมอย่างเป็นเอกฉันท์ การดำเนินงานเพื่อจัดตั้งดับเบิลยูอียูจึงเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ในเดือนเดียวกันเยอรมนีตะวันตกยังได้รับเชิญให้ลงนามในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty) ค.ศ. ๑๙๔๙ เพื่อเข้าเป็นสมาชิกนาโตซึ่งมีผลให้เยอรมนีตะวันตกได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ หลังได้รับอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในวันที่ ๕ พฤษภาคมปีเดียวกัน ทั้งยังได้รับอนุญาตให้มีกองทัพติดอาวุธของตนเองด้วย
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากทางด้านสหภาพโซเวียตทันที เพราะเห็นว่าเป็นการคุกคามต่อสันติภาพและความปลอดภัยของค่ายคอมมิวนิสต์โดยตรง นอกจากนี้ความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในประเทศบริวารบางประเทศในยุโรปตะวันออก รวมทั้งประสบการณ์จากการแย่งชิงอำนาจในคณะผู้บริหารร่วมภายในสหภาพโซเวียตหลังอสัญกรรมของสตาลินใน ค.ศ. ๑๙๕๓ ก็ทำให้นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตซึ่งในขณะนั้นสามารถรวบอำนาจเบ็ดเสร็จได้แล้วตระหนักว่าค่ายคอมมิวนิสต์จำเป็นต้องจัดตั้งองค์การทางทหารของตนขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถป้องกันการรุกรานของฝ่ายตะวันตกได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้เป็นเครื่องมือควบคุมบรรดาประเทศบริวารรวมทั้งผู้ที่ต่อต้านสหภาพโซเวียตให้อยู่ในอำนาจตนได้อย่างมีเอกภาพในเวลาเดียวกันด้วยด้วยเหตุนั้นในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ สหภาพโซเวียตจึงได้เชิญประเทศบริวาร ๗ ประเทศ ได้แก่ แอลเบเนีย บัลแกเรีย เชโกสโลวะเกีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันหรือเยอรมนีตะวันออก ฮังการี โปแลนด์ และโรมาเนียไปประชุมร่วมกันที่กรุงวอร์ซอประเทศโปแลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาหาทางจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหารที่เป็นองค์การกลางของฝ่ายคอมมิวนิสต์ การเจรจายุติลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาแห่งมิตรภาพ ความร่วมมือ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของผู้แทนทั้ง ๘ ประเทศองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอจึงเกิดขึ้นในวันเดียวกันโดยประกอบด้วยภาคีสมาชิกผู้ก่อตั้ง ๘ ประเทศ
ข้อความในอารัมภบทของสนธิสัญญาวอร์ซอได้ระบุถึงจุดมุ่งหมายของการจัดตั้งองค์การนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า การฟื้นฟูกำลังทหารและการต่อต้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกับการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนใหม่ในยุโรปของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นสาเหตุให้มีการก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอขึ้น เนื่องจากภาคีสมาชิกต่างเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของค่ายคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นชาติสมาชิกทั้ง ๘ ประเทศขององค์การนี้จึงสัญญาว่าจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกรณีที่ประเทศหนึ่งประเทศใดถูกรุกราน ทั้งยังให้สัญญาว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่เข้าไปแทรกแซงในกิจการภายในของกันและกันและจะเคารพในอธิปไตยของแต่ละชาติสมาชิกรวมทั้งความเป็นอิสระทางการเมืองของภาคีสมาชิกทั้งปวง ซึ่งล้วนสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและหลักการของกฎบัตร (Charter) แห่งสหประชาชาติ (United Nations)* นอกจากนี้ ในมาตรา ๗ ของสนธิสัญญายังได้ห้ามภาคีสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายเฉพาะของสหภาพโซเวียตในการจัดตั้งองค์การนี้เป็นอย่างดี
ส่วนในด้านโครงสร้าง องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอมีลักษณะเป็นองค์การทางการเมืองและการทหารซึ่งประกอบด้วยองค์กรหลัก ๒ องค์กร คือคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาทางการเมือง (Political Consultative Committee) และกองบัญชาการผสมของกองทัพร่วม (Joint Command of the Armed Forces) ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๕ และ ๖ แห่งสนธิสัญญา คณะกรรมาธิการที่ปรึกษาทางการเมืองมีหน้าที่พิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามเป้าหมายของสนธิสัญญา และมีอำนาจจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ ที่จำเป็น ในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาทางการเมืองที่กรุงปราก (Prague) ประเทศเชโกสโลวะเกียในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๖ คณะกรรมาธิการจึงได้จัดตั้งสำนักเลขาธิการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของชาติสมาชิกขึ้นที่กรุงมอสโก พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมาธิการนโยบายต่างประเทศเพื่อประสานนโยบายต่างประเทศระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาทางการเมืองอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๖–๑๙๖๕ มีการประชุมเพียง ๗ ครั้งเท่านั้นซึ่งส่วนใหญ่ประชุมกันที่กรุงมอสโก วัตถุประสงค์สำคัญของการประชุมคือ เพื่อแสดงให้โลกเสรีเห็นว่าสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอมีความเข้มแข็งและพร้อมพรักที่จะเผชิญหน้ากับโลกเสรีทุกเวลา และเพื่อเป็นการหยั่งเสียงว่าภาคีสมาชิกจะยังมีความจงรักภักดีต่อสหภาพโซเวียตหรือไม่
ส่วนกองบัญชาการผสมของกองทัพวอร์ซอประกอบด้วยกองบัญชาการทหารสูงสุด (Supreme Commander of the Unified Armed Forces) และคณะเสนาธิการทหารกองทัพผสม (Chief of Combined Staff of the Unified Armed Forces) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงมอสโก ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพวอร์ซอจะต้องเป็นนายทหารโซเวียตระดับสูงในระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมคนที่ ๑ ของสหภาพโซเวียต และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชาติสมาชิกเป็นรองผู้บัญชาการ กองบัญชาการผสมนี้มีหน้าที่บังคับบัญชากองทัพร่วมขององค์การที่ชาติสมาชิกส่งไปประจำรวมทั้งควบคุมดูแลกองทัพแห่งชาติของประเทศสมาชิกด้วย ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการตัดสินใจทั้งหมดในเรื่องที่เกี่ยวกับการทหาร และการใช้กำลังกองทัพขององค์การ ส่วนหัวหน้าคณะเสนาธิการทหารของกองบัญชาการผสมก็จะต้องเป็นนายทหารเสนาธิการโซเวียตในระดับรองหัวหน้าคณะเสนาธิการทหารคนที่ ๑ ของกองทัพสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกัน นอกจากนี้สหภาพโซเวียตยังเป็นผู้แต่งตั้งนายทหารในตำแหน่งสูงทุกตำแหน่งในกองทัพองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ ด้วยเหตุนั้น แม้ว่าโดยทางทฤษฎีองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอจะถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นระบบพันธมิตรทางทหารที่เป็นระบบความมั่นคงร่วมซึ่งจะต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างชาติสมาชิกก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติสหภาพโซเวียตเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดที่ครอบงำกองทัพขององค์การและของชาติสมาชิกในทุก ๆ เรื่อง การที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากอุดมการณ์ของสหภาพโซเวียตที่เชื่อว่าในฐานะผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์ ตนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะเข้าไปปกป้องและแทรกแซงในประเทศคอมมิวนิสต์ทุกประเทศให้พ้นจากภัยคุกคามของฝ่ายตะวันตก และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากความทรงจำของสหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ที่ถูกกองทัพนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* โจมตีอย่างยับเยินจนทำให้สหภาพโซเวียตสูญเสียทรัพยากรและผู้คนจำนวนมหาศาลซึ่งมากกว่าประเทศที่เข้าร่วมสงครามในยุโรปทั้งหมด สหภาพโซเวียตจึงจำเป็นต้องแสวงหาวิธีป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพโดยตนเข้าไปครอบงำในกิจการด้านการทหารและการเมืองทั้งหมดขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มสมรรถภาพของภาคีสมาชิกในด้านการป้องกันการรุกราน ใน ค.ศ. ๑๙๕๕ สหภาพโซเวียตได้อนุญาตให้เยอรมนีตะวันออกซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งขององค์การมีกองทัพติดอาวุธของตนเอง และได้จัดให้มีการฝึกร่วมซึ่งเป็นการซ้อมรบแทบทุกปีโดยเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๑ ส่วนใหญ่เป็นการฝึกกำลังทางเรือในทะเลบอลติก โดยได้เชิญประเทศที่มิได้เป็นภาคีสมาชิกบางประเทศอย่างเช่น ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์เดนมาร์ก เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในบางครั้ง อย่างไรก็ดี ในการซ้อมรบแต่ละครั้งสหภาพโซเวียตจะเป็นผู้คัดสรรประเทศภาคีให้เข้าร่วมไม่เกิน ๔ ประเทศโดยสหภาพโซเวียตเข้าร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะถือว่าตนมีบทบาทสำคัญที่สุดในองค์การนี้และมีส่วนรับผิดชอบมากที่สุดด้วย
ในด้านภาคีสมาชิกนั้น ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๓ สาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย (Mongolian People’s Republic) ได้ขอเข้าร่วมในองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๙ แห่งสนธิสัญญาที่ระบุว่าองค์การเปิดรับสมาชิกจากประเทศที่รักสันติทุกประเทศโดยไม่คำนึงถึงระบอบการปกครองและระบบทางสังคม หากประเทศเหล่านั้นปฏิบัติตามเงื่อนไขขององค์การอย่างครบถ้วน อย่างไรก็ดี เนื่องจากเจตนารมณ์ในการจัดตั้งและบทบัญญัติอื่น ๆ ในสนธิสัญญาฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อนำไปใช้กับภาคีสมาชิกที่เป็นชาติยุโรปเท่านั้น จึงได้มีการจัดทำพิธีสารพิเศษ (special protocol) ขึ้นเพื่อรับมองโกเลียเข้าเป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์ และเนื่องจากสหภาพโซเวียตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เกิดความแตกแยกระหว่างกันขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๖๖ องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอจึงได้ส่งกองทัพโซเวียตไปประจำในมองโกเลียด้วย
อย่างไรก็ดี นับแต่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๕๕ องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอยังไม่เคยใช้กองทัพของตนต่อสู้กับกองทัพนาโตตามวัตถุประสงค์เบื้องต้นของการจัดตั้งเลย เพราะในช่วงสงครามเย็นทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตรวมทั้งมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกอื่น ๆ พยายามใช้นโยบายและกลยุทธ์ในการสกัดกั้นการขยายอำนาจของแต่ละฝ่ายมาโดยตลอดโดยไม่มีการใช้กำลังกองทัพในกรณีที่เกิดความขัดแย้งแต่ประการใด แต่สหภาพโซเวียตได้ใช้กองทัพขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอปราบปรามการกระด้างกระเดื่องและการจลาจลในประเทศบริวารหลายครั้งครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเกิดการลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ในครั้งนั้นสหภาพโซเวียตได้ส่งกองทัพวอร์ซอเข้าไปทำการปราบปรามรัฐบาลอิมเร นอจ (Imre Nagy)* ที่แสดงท่าทีว่าต้องการเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตตามวิถีทางของตนและประกาศว่า ฮังการีจะถอนตัวออกจากกติกาสัญญาวอร์ซอ โดยอ้างว่าการปราบปรามดังกล่าวเป็นกิจการภายในของค่ายคอมมิวนิสต์และเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาวอร์ซอ สหภาพโซเวียตไม่เพียงแต่ปลดนอจออกจากอำนาจและแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของยานอช คาดาร์ (János Kádar)* ที่สหภาพโซเวียตไว้วางใจมากกว่าขึ้นแทนที่เท่านั้น หากแต่ยังได้ส่งกองทัพวอร์ซอถึง ๑๕ กองพลบุกเข้ายึดกรุงบูดาเปสต์เมืองหลวงของฮังการีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๖ เพื่อทำการปราบปรามชาวฮังการีกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน ที่สนับสนุนการเรียกร้องเสรีภาพของนอจจนกลายเป็นจลาจลครั้งใหญ่ที่ขยายตัวออกไปทั่วประเทศ ในช่วงเวลา ๔ วัน กองทัพวอร์ซอได้ปราบปรามประชาชนอย่างทารุณและนองเลือดทำให้มีผู้ล้มตายถึง ๒,๕๐๐ คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนนอจและสหายอีกหลายคนที่ร่วมมือกับเขาก็ถูกจับกุมและประหารชีวิตในที่สุด เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สหภาพโซเวียตสามารถควบคุมฮังการีและรัฐบริวารอื่น ๆ ในยุโรปตะวันออกไว้ได้อย่างมั่นคงสืบต่อมาเป็นเวลานาน แม้ว่าจะถูกประณามจากนานาชาติอย่างกว้างขวางก็ตาม
ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ สหภาพโซเวียตได้ใช้กองทัพวอร์ซอปราบปรามการจลาจลครั้งใหญ่ในรัฐบริวารเป็นครั้งที่ ๒ ในเหตุการณ์ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก (Prague Spring)* ในเชโกสโลวะเกีย เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ตามแนวทางประชาธิปไตยของอะเล็กซานเดอร์ ดูบเชก (Alexander Dubček)* ผู้นำเชโกสโลวะเกียซึ่งเริ่มดำเนินมาตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘ การปฏิรูปดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างมากทั้งจากประชาชนในประเทศและจากประเทศตะวันตกที่คาดหวังว่าเชโกสโลวะเกียจะกลับมามีประชาธิปไตยอีกครั้ง แต่สหภาพโซเวียตและสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซออื่น ๆ โดยเฉพาะโปแลนด์และเยอรมนีตะวันออกกลับต่อต้าน เพราะเกรงว่าเชโกสโลวะเกียจะเลิกล้มการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ แม้ว่าดูบเชกจะได้ย้ำหลายครั้งว่าการปฏิรูปของเขาไม่ได้เป็นการทำลายล้างระบอบสังคมนิยมแต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีมนุษยธรรม (Socialism with a human face) อย่างไรก็ดี สหภาพโซเวียตก็ปล่อยให้การปฏิรูปดังกล่าวดำเนินต่อไป โดยคอยระแวดระวังและหาทางควบคุมให้อยู่ในของเขตจำกัด ต่อมาเมื่อโครงการปฏิรูปขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางจนเกินกว่าที่สหภาพโซเวียตจะยอมรับได้ สหภาพโซเวียตจึงตัดสินใจใช้กองทัพขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอเข้าไปหยุดยั้งและปราบปรามขบวนการปฏิรูปโดยทันทีเพราะเห็นว่าเป็นการคุกคามต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบคอมมิวนิสต์ ทั้งยังหวาดวิตกว่าประเทศบริวารอีกหลายประเทศจะตามอย่างเชโกสโลวะเกีย ในคืนวันที่ ๒๐–๒๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ สหภาพโซเวียตได้ส่งกองทัพวอร์ซอซึ่งประกอบด้วยกองทัพโซเวียต บัลแกเรีย โปแลนด์ และฮังการีประมาณ ๓๕๐,๐๐๐–๔๐๐,๐๐๐ คน และรถถังกว่า ๒,๐๐๐ คัน บุกเข้ายึดครองเชโกสโลวะเกียและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง พร้อมทั้งจับกุมและสังหารผู้ประท้วงหลายคนอย่างทารุณรวมทั้งดูบเชกผู้นำการปฏิรูปก็ถูกสังหารในเวลาต่อมา เหตุการณ์การจลาจลในฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปรากจึงยุติลง แม้ว่าจะมีการประท้วงอย่างประปรายเกิดขึ้นต่อมาอีกหลายเดือนก็ตาม
เหตุการณ์ในเชโกสโลวะเกียทำให้เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตตระหนักว่าการใช้กองทัพแต่เพียงอย่างเดียว ในการปราบปรามการประท้วงและการต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ในอนาคตคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการเมืองเข้าช่วยด้วยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๘ เขาจึงประกาศหลักการเบรจเนฟ (Brezhnev Doctrine)* หรือ “หลักการอธิปไตยในขอบเขตจำกัด” (Limited Sovereignty) ต่อที่ประชุมกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ณ ประเทศโปแลนด์เพื่อแสดงท่าทีที่ชัดเจนของสหภาพโซเวียตที่มีต่อการพัฒนาหรือการปฏิรูปทางการเมืองในประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก หลักการเบรจเนฟมีสาระสำคัญว่า สหภาพโซเวียตจะยอมให้ประเทศต่าง ๆ มีการพัฒนาระบอบสังคมนิยมตามที่ต้องการได้ แต่หากการพัฒนาเหล่านั้นเป็นการนำไปสู่หรือมีแนวโน้มใช้ในทางทุนนิยมหรือมีผลกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพของค่ายคอมมิวนิสต์ สหภาพโซเวียตจำเป็นต้องส่งกองทัพองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอเข้าไปช่วยเหลือโดยทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีการร้องขอจากประเทศนั้น ๆนอกจากนี้เบรจเนฟยังได้ย้ำว่า “ประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งมวลจำเป็นต้องเข้าไปปฏิบัติการเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อใดก็ตามที่มีพลังอันเป็นปรปักษ์ต่อการพัฒนาประเทศสังคมนิยมเกิดขึ้น” หลักการเบรจเนฟจึงกลายเป็นกฎใหม่ที่ใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับประเทศภาคีสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอจนองค์การนี้ยุติลง และไม่มีการส่งกองทัพครั้งใหญ่เข้าไปปราบปรามความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในประเทศบริวารดังเช่นเชโกสโลวะเกียอีกเลย
อย่างไรก็ดี การปราบปรามเชโกสโลวะเกียใน ค.ศ. ๑๙๖๘ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความอ่อนแอขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ เพราะในปีเดียวกันแอลเบเนียและโรมาเนียซึ่งให้การสนับสนุนการปฏิรูปของดูบเชก และไม่ได้ส่งกองทัพไปร่วมในการปราบปรามเชโกสโลวะเกียก็เริ่มเคลื่อนไหว โดยแอลเบเนียซึ่งยุติการสนับสนุนทางด้านกองทัพมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๑ เมื่อสหภาพโซเวียตเกิดความขัดแย้งกับจีนได้ขอลาออกจากสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการ ขณะที่โรมาเนียประกาศว่าจะถอนตัวออกจากองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ และขอให้สหภาพโซเวียตถอนกองทัพออกจากเขตแดนของตน อย่างไรก็ดี องค์การนี้ก็ยังดำรงอยู่อีกหลายปี ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๘๕ มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตคนใหม่ได้ต่ออายุสนธิสัญญาวอร์ซอออกไปอีก ๕๐ ปี พร้อมทั้งปรับปรุงการบริหารงานในบางเรื่องขององค์การให้ดีขึ้น เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในประเทศยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะในช่วงที่มีเหตุการณ์วุ่นวายต่อต้านนีโคไล เชาเชสกู (Nicolae Ceausescu)* ผู้นำโรมาเนีย สหภาพโซเวียตไม่ได้ใช้กองกำลังเข้าไปปราบปรามในกลุ่มประเทศดังกล่าว เนื่องจากกอร์บาชอฟสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเหล่านี้ องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอจึงหมดความสำคัญลงไปและยุติบทบาทลงโดยพฤตินัย หลังการรวมเยอรมนีครั้งใหม่ (Reunification of Germany) เยอรมนีตะวันออกก็ได้ลาออกจากสมาชิกภาพใน ค.ศ. ๑๙๙๐ ปีต่อมาในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอได้ประชุมเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๑ ที่ประเทศฮังการีก็ได้ประกาศว่าจะยุติการใช้กติกาสัญญาวอร์ซอ และในที่สุดในวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ ประธานาธิบดีวาซลาฟ ฮาเวล (Vàclav Havel)* แห่งเชโกสโลวะเกียก็ได้ประกาศยกเลิกสนธิสัญญาแห่งมิตรภาพความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเป็นทางการ องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอซึ่งมีอายุ ๓๖ ปี จึงได้ยุบเลิกลงอย่างถาวร.