ราชวงศ์โรมานอฟเป็นราชวงศ์ที่สืบต่อจากราชวงศ์วาแรนเจียน (House of Varangian) เป็นราชวงศ์ที่ ๒ และราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองจักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire) ซึ่งปกครองระหว่าง ค.ศ. ๑๖๑๓-๑๙๑๗ ตลอดช่วงเวลากว่า ๓๐๐ ปี ราชวงศ์โรมานอฟมีบทบาทสำคัญในการสร้างและพัฒนารัสเซียจากการเป็นประเทศในกลุ่มชาติยุโรปตะวันออกที่ล้าหลังให้เป็นมหาอำนาจตะวันตกสมาชิกของราชวงศ์โรมานอฟที่ได้เป็นประมุขของรัสเซียมีทั้งสิ้น ๑๘ พระองค์ เป็นซาร์ ๑๔ พระองค์ และซารีนา ๔ พระองค์ ราชวงศ์โรมานอฟล่มสลายหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวปฏิวัติของขบวนการปฏิวัติลัทธิมากซ์ (Marxism)* และสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)*
ก่อนราชวงศ์โรมานอฟมีอำนาจปกครองรัสเซีย รัสเซียได้ผ่านประวัติศาสตร์อันยาวนานของการจัดตั้งจักรวรรดิโดยเริ่มจากรูริค (Rurik) ผู้นำของพวกวาแรนเจียน (Varangian) ซึ่งเป็นอนารยชนเผ่ากอท (Goth) เผ่าหนึ่งจากสแกนดิเนเวียเข้ารุกรานอาณาจักรของพวกสลาฟตะวันออกใน ค.ศ. ๘๖๒ จนสามารถยึดครองเมืองสำคัญ ๆ ได้ และสถาปนาราชวงศ์วาแรนเจียนขึ้นปกครองที่นครนอฟโกรอด (Novgorod) ต่อมาใน ค.ศ. ๘๘๒ ราชวงศ์วาแรนเจียนสามารถจัดตั้งอาณาจักรขึ้นเป็นปึกแผ่นเรียกว่า อาณาจักรเคียฟ (Kiev) อย่างไรก็ตามอาณาจักรเคียฟได้ล่มสลายลงในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ เพราะเจ้านครต่างแย่งชิงอำนาจกันและพยายามแยกตัวเป็นอิสระ ใน ค.ศ. ๑๒๒๓ พวกมองโกส (Mongol) หรือตาตาร์ (Tatar) ก็เข้ารุกรานและสามารถปกครองรัสเซียเป็นเวลากว่า ๒ ศตวรรษ
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เจ้าผู้ครองนครมอสโกซึ่งสืบสายจากราชวงศ์วาแรนเจียนได้รับสิทธิพิเศษจากประมุขของพวกมองโกลในรัสเซียหรือข่านแห่งคาซาน (Khan of Kazan) ให้มีอำนาจในการพิพากษากรณีพิพาทระหว่างเจ้าผู้ครองนครรัฐรัสเซียอื่น ๆ รวมทั้งอำนาจในการรวบรวมบรรณาการ เจ้านครมอสโกจึงเป็นที่เกรงขามของเจ้าผู้ครองนครรัฐอื่น ๆ จนต้องเข้ามาสวามีภักดิ์ด้วยในสมัยของอีวานที่ ๓ (Ivan III) หรืออีวานมหาราช (Ivan the Great ค.ศ. ๑๔๖๒-๑๕๐๕) นครมอสโกประกาศตนเองเป็นเอกราชจากมองโกสและรวมนครอื่น ๆ เข้ากับมอสโกจัดตั้งเป็นอาณาจักรมัสโควี (Muscovy) ขึ้นทั้งมีการสถาปนานครมอสโกเป็นเมืองหลวงใน ค.ศ. ๑๔๘๐ อีวานที่ ๓ ทรงใช้พระอิสริยยศนำหน้าพระนามว่า “ซาร์” (Tsar) ต่อมาพระราชโอรสคือ อีวานที่ ๔ (Ivan IV ค.ศ. ๑๕๓๓-๑๕๘๔) ก็ทรงเป็นประมุของค์แรกของรัสเซียที่ได้รับคำประกาศพระอิสริยยศอย่างเป็นทางการว่า “ซาร์แห่งรัสทั้งปวง” (Tsar of All Rus)
ซาร์อีวานที่ ๔ ทรงอภิเษกสมรสกับอะนัสตาเซียโรมานอฟ (Anastasia Romanov) ธิดาของโรมานอฟ ซาฮาริน-ยูรีวิช (Romanov Zakharin-Yurivich) ซารีนา อะนัสตาเซียเป็นพระมเหสีที่ซาร์ทรงรักใคร่ที่สุด เมื่อพระนางสวรรคตอย่างมีปริศนาใน ค.ศ. ๑๕๖๐ ซึ่งเข้าใจกันว่าทรงถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ ชาร์อีวานที่ ๔ ซึ่งทรงมีพระนิสัยโหดร้ายและนิยมความรุนแรงเพราะในวัยเยาว์ทรงเคยเผชิญกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ในการแย่งชิงอำนาจระหว่างพระราชมารดากับพระประยูรญาติทางฝ่ายพระราชบิดาจนเป็นเหตุให้พระราชมารดาสวรรคต ก็ทรงมีพระสติคลุ้มคลั่ง พระองค์ทรงมีพระนิสัยโหดร้ายมากขึ้นทั้งยังทรงปกครองบ้านเมืองอย่างกดขี่และเป็นเผด็จการมากขึ้นด้วย ทรงลงโทษประชาชนที่ก่อกบฏรวมทั้งพระราชโอรสองค์โตที่ขัดพระทัยจนบาดเจ็บสาหัสและสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงได้รับสมญานามว่า ซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหด (Ivan the Terrible)
หลังซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหดสวรรคตใน ค.ศ. ๑๕๘๔ รัสเซียก็เผชิญกับวิกฤตการณ์ภายในราชสำนักสืบเนื่องจากปัญหาการสืบราชบัลลังก์ เพราะซาร์เฟโอดอร์ที่ ๑ (Feodor I ค.ศ. ๑๕๘๔-๑๕๙๘) พระราชโอรสองค์รองทรงมีพระสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ตํ่ากว่าปรกติ บอริส โกดูนอฟ (Boris Godunov) พระเชษฐาของพระมเหสีในซาร์เฟโอดอร์ที่ ๑ จึงขึ้นปกครองในฐานะผู้สำเร็จราชการต่อมาเมื่อซาร์เฟโอดอร์ที่ ๑ สวรรคตใน ค.ศ. ๑๕๙๘ สภาแผ่นดินหรือสภาเซมสกีโซบอร์ (Zemski Sober) และสภาขุนนางหรือสภาโบยาร์ (Boyars Council) ก็สนับสนุนให้บอริส โกดูนอฟเถลิงอำนาจเป็นซาร์ (ค.ศ. ๑๕๙๘-๑๖๐๕) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัสเซียเลือกซาร์ด้วยวิธีการดังกล่าว การขึ้นสู่อำนาจของซาร์บอริส โกดูนอฟ จึงเป็นการเริ่มต้นสมัยแห่งความยุ่งยาก (Time of Troubles) ครั้งที่ ๑ ในประวัติศาสตร์รัสเซียเพราะมีผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์จำนวนมากซึ่งรวมทั้งตระกูลโรมานอฟที่เป็นราชินิกุลในสายซารีนาอะบัสตาเชีย พระราชมารดาของซาร์เฟโอดอร์ที่ ๑ ด้วย
ปัญหาการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของฝ่ายต่าง ๆ รุนแรงและเข้มข้นมากขึ้น มีการอ้างสิทธิของ “ดิมีตรีตัวปลอม” (False Dmitri) ซึ่งอ้างตัวเป็นพระราชโอรสองค์เล็กในซาร์อีวานที่ ๔ เพื่อแย่งชิงบัลลังก์ (โดยข้อเท็จจริง เจ้าชายดิมีตรีสิ้นพระชนม์ไปแล้วใน ค.ศ. ๑๕๙๑ ด้วยพระอาการลมชักและถูกมีดในพระหัตถ์ปาดพระศอ) ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองและสังคม จนท้ายที่สุดหลังจากซาร์บอริส โกดูนอฟสวรรคตใน ค.ศ. ๑๖๐๕ ดิมีตรีตัวปลอมก็ได้รับอัญเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติ (ค.ศ. ๑๖๐๕-๑๖๐๖) แต่ปกครองได้ไม่นานก็ถูกจับกุมและประหารชีวิต และการขึ้นครองบัลลังก์ของวาซีลี ขุยสกี (Vasily Shuisky) ขุนนางระดับสูงหรือโบยาร์ (boyar) อย่างไรก็ตาม มีการอ้างสิทธิในบัลลังก์ของดิมีตรีตัวปลอมอื่น ๆ อีก และก่อให้เกิดการจลาจลวุ่นวายไปทั่วแผ่นดิน รวมทั้งการสิ้นอำนาจของวาซีลี ชุยสกีใน ค.ศ. ๑๖๑๐ ระหว่าง ค.ศ. ๑๖๑๐-๑๖๑๓ รัสเซียตกอยู่ในภาวะขาดผู้นำหรือช่วงว่างระหว่างรัชกาล (interregnum) ทั้งเผชิญกับการคุกคามจากสวีเดนและโปแลนด์ แต่ประชาชนผนึกกำลังกันต่อต้านการรุกรานไว้ได้
ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๖๑๓ ปัญหาการขาดผู้นำและความไม่สงบภายในทำให้สภาแผ่นดินซึ่งประกอบด้วยขุนนาง พ่อค้า ประชาชน และชาวนาพร้อมใจกันเลือกไมเคิล โรมานอฟ (Michael Romanov) ราชินิกุลซึ่งมีศักดิ์ชั้นพระนัดดาของซารีนาอะนัสตาเซีย พระมเหสีในซาร์อีวาน
ราชวงศ์โรมานอฟหรืออดีตตระกูลโรมานอฟมีบรรพบุรุษร่วมกับขุนนางรัสเซียอื่น ๆ อีกกว่า ๒๐ ตระกูล บรรพบุรุษร่วมกันที่สามารถสืบค้นได้คือ อันเดรย์ โคบีลา (Andrei Kobyla) ซึ่งเป็นขุนนางในสมัยอาณาจักรมัสโควีกล่าวกันว่า โคบีลาได้อพยพจากปรัสเซียมายังมอสโกในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ เนื่องจากเจ้าชายกลันดา-คัมบีลา (Glanda-Kambila) ผู้บิดาได้ก่อกบฏขึ้น เมื่อตั้งถิ่นฐานในรัสเซียแล้ว ใน ค.ศ. ๑๒๘๗ โคบีลาได้หันมานับถือนิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ “โคบีลา” ในภาษารัสเซียหมายถึงม้าเพศเมีย ซึ่งทำให้ลูกหลานของเขามีชื่อเล่นเป็นชื่อสัตว์ต่าง ๆ ด้วย เช่น ม้าและสัตว์บ้านอื่น ๆ เฟโอดอร์ (Feodor) บุตรชายคนหนึ่งของโคบีลาก็มีชื่อเล่นว่า คอชกา (Koshka) หรือแมว ต่อมาลูกหลานของคอชกาได้นำชื่อเขามาเป็นชื่อสกุลเรียกว่า “คอชกิน” (Koshkin) หลังจากนั้นผู้สืบสายโลหิตต่อ ๆ มาได้เปลี่ยนเป็นซาฮาริน (Zakharin) และได้แยกออกเป็น ๒ สาย คือ คอชกิน-ซาฮาริน (Koshkin-Zakharin) และซาฮาริน-ยูรีวิช (Zakharin-Yurivich)
ในรัชสมัยซาร์อีวานที่ ๔ หรือซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหดผู้สืบสกุลสายซาฮาริน-ยูรีวิช มีโรมานอฟ ซาฮาริน-ยูรีวิช เป็นผู้นำ ซึ่งต่อมาได้นำชื่อต้นคือโรมานอฟมาใช้เป็นชื่อสกุล และอะนัสตาเซีย ธิดาได้สมรสกับซาร์อีวานที่ ๔ การอภิเษกสมรสดังกล่าวจึงเปิดโอกาสให้ตระกูลโรมานอฟเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในราชสำนัก ในสมัยของซาร์บอริส โกดูนอฟ เฟโอดอร์ โรมานอฟ (Feodor Romanov) พระภาติยะ (หลานอา) ในซารีนาอะนัสตาเซียและมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของซาร์เฟโอดอร์ที่ ๑ จึงกลายเป็น “คู่แข่ง” และ “บุคคลอันตราย” ต่อราชบัลลังก์ ขุนนางโบยาร์ จำนวนมากที่ไม่ยอมรับอำนาจและการอ้างสิทธิของการเป็นทายาทที่สืบสายโลหิตของซาร์บอริส โกดูนอฟซึ่งมีฐานะเป็นเพียงพระเชษฐาของพระมเหสีในซาร์เฟโอดอร์ที่ ๑ เท่านั้น จึงหันไปสนับสนุนเฟโอดอร์ โรมานอฟที่มีความสัมพันธ์เป็นพระญาติร่วมสายโลหิตกับซาร์เฟโอดอร์ที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๖๐๐ กลุ่มของซาร์บอริส โกดูนอฟจึงกำจัดเฟโอดอร์ โรมานอฟด้วยข้อหาใช้มนต์ดำ (necromancy) และพยายามที่จะปลงพระชนม์ซาร์บอริส โกดูนอฟ เฟโอดอร์ โรมานอฟพร้อมภริยาจึงถูกบังคับให้ออกบวชทั้งคู่และให้ไปใช้ชีวิตในอารามและสำนักชีที่อยู่ห่างไกล เฟโอดอร์ โรมานอฟได้รับชื่อใหม่หรือศาสนฉายาว่า ฟีลาเรต (Filaret)
รัสเซียได้กลับคืนสู่ภาวะปรกติอีกครั้งหนึ่งเมื่อไมเคิล โรมานอฟได้รับเลือกเป็นซาร์ การได้รับเลือกดังกล่าวมาจากเหตุผลหลายประการคือ เขามีความเกี่ยวดองกับราชวงศ์เก่าโดยเป็นสมาชิกของราชินิกุลในซารีนา อะนัสตาเซียที่ประชาชนรัสเซียต่างชื่นชอบและจงรักภักดีเป็นหลานปู่ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงของนีกีตา โรมานอฟ (Nikita Romanov - เชษฐาของซารีนาอะนัสตาเซีย) ซึ่งกล้าหาญที่จะปกป้องประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อความโหดร้ายของซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหด และเป็นบุตรชายของฟีลาเรตที่เป็นผู้นำของตระกูลโรมานอฟซึ่งเป็นที่ยอมรับของพวกทหารคอสแซค (Cossack)* ในสมัยแห่งความยุ่งยาก อีกทั้งการถูกเนรเทศและต่อมาถูกโปแลนด์จองจำในคุกของฟีลาเรตก็ทำให้ตระกูลโรมานอฟได้รับความเห็นใจ โดยส่วนตัวไมเคิล โรมานอฟเองก็เป็นเด็กหนุ่มที่อายุเพียง ๑๖ ปี ซึ่งจะไม่เป็นภัยต่อสถานภาพและความมั่นคงตลอดจนการใช้อำนาจของพวกโบยาร์ อีกทั้งเขาก็ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีพันธสัญญาที่จะไปภักดีต่อทั้งราชสำนักโปแลนด์และ “พวกจอมปลอม” ที่พยายามอ้างสิทธิในราชบัลลังก์รัสเซีย นอกจากนี้ เขายังเป็นบุคคลที่อัครบิดรเฮียร์มเกิน (Hermgen) ผู้เป็นประมุขสูงสุดของนิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ในรัสเซียทรงให้การสนับสนุนด้วย ไมเคิล โรมานอฟได้รับการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๖๑๓ เฉลิมพระนาม ซาร์ไมเคิล และนับว่าพระองค์ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โรมานอฟซึ่งเป็นราชวงศ์ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์รัสเซียเป็นอย่างมาก
ในช่วง ๗๐ ปีแรก (ค.ศ. ๑๖๑๓-๑๖๘๒) ของการประดิษฐานราชวงศ์โรมานอฟ รัสเซียได้เริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ในรัชกาลของซาร์ไมเคิล (ค.ศ. ๑๖๓๑-๑๖๔๕) ซาร์อะเล็กเซย์ (Alexei ค.ศ. ๑๖๔๕-๑๖๗๖) และซาร์เฟโอดอร์ที่ ๒ (Feodor II ค.ศ. ๑๖๗๖-๑๖๘๒) ระบบเศรษฐกิจ สังคม การปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี อันสืบทอดจากอาณาจักรมัสโควีเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยราชสำนักรัสเซียรับความเจริญของยุโรปตะวันตกเข้ามาเผยแพร่และดัดแปลงให้เข้ากับสังคมรัสเซียอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีที่กดขี่สตรีตามความนิยมของตะวันออก ปรับปรุงยุทธวิธีการรบและอาวุธ การใช้ทหารอาชีพแทนขุนนางและส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยต้อนรับช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ จากยุโรปตะวันตกที่ลี้ภัยการเมืองและศาสนาซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปศาสนาและสงครามศาสนาในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตก ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ได้รับเสรีภาพในการนับถือศาสนาจากประเทศยุโรปตะวันตกจึงพากันเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนของชาติต่าง ๆ ในกรุงมอสโก แต่ขณะเดียวกันรัสเซียก็มีการออกกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของชาวนาและทาสติดที่ดิน (serf) ตลอดจนชาวเมืองมากขึ้น ทั้งชาวเมืองก็หมดอิสรภาพที่จะเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยได้ และมีสภาพไม่ต่างจากทาสติดที่ดิน ทำให้สถาบันทาสติดที่ดินหยั่งรากฝังลึกในสังคมรัสเซียจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ทางการเมืองและสังคมในเวลาต่อมา นับว่าเป็นการสวนกระแสกับสังคมตะวันตก เช่น อังกฤษและฝรั่งเศสที่ระบบทาสติดที่ดินได้หมดสิ้นไปจากสังคมแล้ว
ในต้นรัชกาล ซาร์ไมเคิลตกอยู่ใต้อำนาจของสภาแผ่นดินจนกระทั่งหลังจากฟีลาเรต พระราชบิดาพระชนมายุ ๖๖ พรรษา ซึ่งถูกโปแลนด์คุมขังและได้รับการปล่อยตัวเสด็จกลับมายังรัสเซีย ฟีลาเรตได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครบิดรแห่งมอสโกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๑๙ และยังทรงมีฐานะเป็น “เวลีกี โกซูดาร์” (Veliki Gosudar) หรือ “เจ้าเหนือหัวองค์ที่ ๒” ก็สามารถลิดรอนอำนาจของสภาแผ่นดินได้ขณะเดียวกัน ในช่วงก่อนหน้านี้เขาก็สามารถยุติปัญหากับโปแลนด์และการอ้างสิทธิในบัลลังก์ของ “ดิมีตรีตัวปลอมคนที่ ๒” ได้ ฐานะของราชวงศ์โรมานอฟจึงมั่นคงมีการส่งเสริมการค้าและอุตสาหกรรมแบบตะวันตก รัสเซีย กลายเป็นแหล่งลี้ภัยและแสวงหาเสรีภาพทางศาสนาของพวกเยอรมัน ดัตช์ ไอริช สกอต และอังกฤษ ผู้อพยพจำนวนนับพันได้นำความรู้และวิทยาการจากตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ เช่น การหล่อโลหะ การทำเครื่องหนัง การก่อสร้าง การทำนาฬิกา เครื่องแก้ว และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ผู้อพยพได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานทางตะวันออกของกรุงมอสโก เรียกว่า “หมู่บ้านชาวเยอรมัน” (German Suburb) ซาร์ไมเคิลยังพระราชทานกฎบัตรแก่บริษัทการค้าต่างประเทศให้มาตั้งที่ทำการในรัสเซียโดย ได้รับสิทธิไม่ต้องเสียภาษีอากรใด ๆ
ส่วนในด้านการต่างประเทศ รัสเซียซึ่งมีสวีเดนเป็นพันธมิตรได้ก่อสงครามกับโปแลนด์ในปลาย ค.ศ. ๑๖๓๒ ซึ่งเป็นช่วงที่ยุโรปกำลังเผชิญกับสงครามสามสิบปี (Thirty Years’ War ค.ศ. ๑๖๑๘-๑๖๔๘) ส่วนพวกตาตาร์ ในแหลมไครเมีย (Crimean Tatars) ก็ร่วมมือกับโปแลนด์ขณะที่สงครามกำลังดำเนินอยู่ในขั้นแตกหัก ฟีลาเรต ทิวงคตและทำให้รัสเซียต้องยุติสงคราม แม้รัสเซียต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเพื่อแลกกับการยกเลิกการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์รัสเซียของโปแลนด์ แต่โปแลนด์ก็ยอมรับซาร์ไมเคิลเป็นประมุขของรัสเซียซึ่งทำให้สถานภาพของราชวงศ์โรมานอฟแข็งแกร่งขึ้น
ในรัชสมัยซาร์อะเล็กเซย์ได้มีการยกเลิกธรรมเนียมเตเรม (Terem) ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติในราชสำนักตะวันออกที่ห้ามสตรีสูงศักดิ์ออกสมาคมภายนอกหรือได้รับการศึกษาสตรีจะถูกกักบริเวณให้อยู่แต่เฉพาะในที่รโหฐานและเรียนรู้หน้าที่ของกุลสตรี เช่น การดูแลบ้านการเย็บปักลักร้อยการปรุงอาหาร และอื่น ๆ เท่านั้น และไม่สามารถพบปะบุรุษได้จนกว่าจะสมรส ซาร์อะเล็กเซย์ทรงกระทำเป็นตัวอย่างในการ “ปลดปล่อย” สตรีให้มีอิสรเสรีภาพมากขึ้นโดยทรงพาพระมเหสีและพระราชธิดาออกสู่สังคมและให้ร่วมงานในพระราชพิธีต่าง ๆ นอกเขตพระราชฐาน การยกเลิกธรรมเนียมดังกล่าวนับเป็นการเปิดโอกาสให้สตรีรัสเซียสูงศักดิ์ได้รับสิทธิเสรีภาพ และเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้นจนสามารถก้าวมาเป็นผู้นำและมีบทบาทสูงของประเทศได้
นอกจากนี้ ซาร์อะเล็กเซย์ยังทรงพยายามที่จะปฏิรูปศาสนาในรัสเซียโดยการชำระหนังสือคำสอนและศาสนพิธีพระองค์ได้แต่งตั้งนีคอน ไมนอฟ (Nikon Minov) อัครมุขนายกแห่งนอฟโกรอด (Archbishop of the Metropolitan of Novgorod) ให้เป็นประมุขของศาสนจักรรัสเซียหรืออัครบิดรและมีฐานะเป็น “เจ้าเหนือหัวคนที่ ๒” อีกด้วยแต่แผนการดังกล่าวได้ถูกพวกหัวเก่า (Raslokmik - Old Believer) ต่อต้าน แม้แต่เครื่องพิมพ์ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมใหม่ก็ถูกปฏิเสธว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายและการแก้พระคัมภีร์ที่เป็นพระวจนะของพระเป็นเจ้าก็เป็นการกระทำของพวกนอกรีต การต่อต้านดังกล่าวได้ลุกลามเป็นศาสนเภทและการก่อกบฏ มีการปราบปรามอย่างรุนแรง พวกหัวเก่าได้หนีไปอาศัยในแถบเทือกเขายูรัล (Ural) และกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่ต่อต้านซาร์และวัฒนธรรมตะวันตกที่ทรงพลังที่สุดด้วย ทั้งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในประวัติศาสตร์รัสเซียจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ระหว่างการนำประเทศไปสู่ความเจริญแบบตะวันตกกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมแบบตะวันออก ต่อมา เมื่ออัครบิดรนีคอนพยายามจะสร้างศาสนจักรรัสเซียให้มีอำนาจเหนืออาณาจักรจึงถูกปลดจากอำนาจ นับว่าเป็นการสิ้นสุดอำนาจอิสระของอัครบิดรแห่งกรุงมอสโกและทำให้รัฐเข้าควบคุมศาสนจักรได้
นอกจากนี้ ซาร์ยังได้ออกกฎหมายเรียกว่า “อูโลเจนี” (Ulozhenie) เพื่อควบคุมสังคม ทำให้ชาวนาหมดสิทธิที่จะย้ายที่อยู่อาศัยอย่างอิสระและตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับพวกทาสติดที่ดิน ชาวนาอิสระจึงกลายเป็นทาสติดที่ดินด้วย นับเป็นปัญหาสังคมที่เรื้อรังของรัสเซีย และเป็นปราการที่กีดขวางความก้าวหน้าของประเทศ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันสังคมของยุโรปตะวันตกได้มีชนชั้นกลางมากขึ้นและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ในรัสเซียประชากรกว่าร้อยละ ๙๐ มีฐานะเป็นทาสติดที่ดินจนถึง ค.ศ. ๑๘๖๑ เมื่อมีการออกพระราชกฤษฎีกาปลดปล่อยทาสติดที่ดิน (Edict of Emancipation of Serfs)* ปัญหาความเหลื่อมลํ้าในสังคมจึงเริ่มบรรเทาลงได้บ้าง
ใน ค.ศ. ๑๖๘๑ ซึ่งตรงกับรัชสมัยซาร์เฟโอดอร์ที่ ๓ รัสเซียได้ทำสัญญาสงบศึกกับจักรวรรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* ซึ่งทำให้สงครามตุรกี (Turkish War) ที่ดำเนินมาเป็นระยะ ๆ สิ้นสุดลง พวกเติร์กยอมรับอำนาจของรัสเซียในนครเคียฟซึ่งเป็นนครประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ หลังจากนั้นรัสเซียก็หันมาปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก ซาร์เฟโอดอร์ที่ ๓ ทรงให้ยกเลิกธรรมเนียมการผูกขาดสืบทอดยศทหารของพวกขุนนางในกองทัพรัสเซียที่เรียกว่า เมสต์นีเชสโตร (mestnichestro) ซึ่งแต่เดิมทายาทของนายทหารและผู้บังคับบัญชากองทัพจะสืบทอดยศทหารและหน้าที่ของบรรพบุรุษในกองทัพรัสเซีย การยกเลิกการสืบทอดยศทหารดังกล่าวซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถเข้ารับราชการทหารและสามารถไต่เต้าถึงระดับนายทหารและผู้บังคับบัญชากองทัพได้ มิใช่เป็นการสืบทอดในสายเลือดก่อให้เกิดทหารอาชีพอันเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงกองทัพรัสเซียให้มีประสิทธิภาพในเวลาต่อมาด้วย
เมื่อซาร์เฟโอดอร์ที่ ๓ สวรรคตโดยปราศจากรัชทายาท อัครบิดร องคมนตรีและขุนนางต่างสนับสนุนให้แกรนด์ดุ๊กปีเตอร์ พระราชโอรสในซาร์อะเล็กเซย์ที่ประสูติจากซารีนานาตาลยา นารีชกิน (Natalya Naryshkin) พระมเหสีองค์ที่ ๒ ขึ้นเป็นประมุข แต่แกรนค์ดัชเชสโซเฟีย (Sophia) พระราชธิดาที่ประสูติจากพระมเหสีองค์แรก นำทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์หรือสเตรลซี (Strelsy) เข้ายึดอำนาจและแต่งตั้งให้พระอนุชาร่วมพระอุทรคือแกรนด์ดุ๊กอีวานที่พิการและอ่อนแอเป็นซาร์อีวานที่ ๕ (Ivan V ค.ศ. ๑๖๘๒-๑๖๙๖) และให้ร่วมปกครองกับซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ โดยพระนางกุมอำนาจการปกครองทั้งหมดและว่าราชการหลังบัลลังก์ที่จัดทำเป็นพิเศษ เป็นพระราชบัลลังก์คู่ให้แก่ซาร์ทั้ง ๒ พระองค์ประทับนั่งร่วมกันนับเป็นราชนารีพระองค์แรกที่ปกครองรัสเซียอย่างแท้จริงซาร์ปีเตอร์ทรงถูกกีดกันไม่ให้อยู่ในราชสำนักเครมลิน (Kremlin) และให้ไปประทับนอกเมืองซึ่งทำให้พระองค์มีโอกาสได้เรียนและได้เล่นอย่างอิสระ โปรดที่จะเกณฑ์เด็กชาวบ้านมาเล่นเป็นทหาร วางแผนการรบและต่อสู้กันนับเป็นการวางรากฐานของการเป็นนักรบให้แก่พระองค์ด้วยนอกจากนี้ยังมีโอกาสเสด็จเยี่ยมเยียนหมู่บ้านชาวเยอรมันทำให้ทรงสนพระทัยในความเจริญก้าวหน้าของยุโรปตะวันตกอย่างมาก ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๖๘๙ ตระกูลนาริชกินสามารถยึดอำนาจจากแกรนด์ดัชเชสโซเฟียได้ และบังคับให้พระองค์ไปประทับ ณ สำนักชีตลอดพระชนม์ชีพ ส่วนซาร์ปีเตอร์และพระประยูรญาติก็ได้อำนาจการปกครองรัสเซียอย่างแท้จริงโดยมีอำนาจเหนือซาร์อีวานที่ ๕ ซึ่งดำรงพระอิสริยยศซาร์ต่อไปจนสวรรคตใน ค.ศ. ๑๖๙๖
นับแต่ขึ้นครองราชสมบัติ ซาร์ปีเตอร์ทรงเห็นว่าถ้ารัสเซียจะเป็นประเทศมหาอำนาจได้ก็ต้องสร้างรัสเซียให้มีวัฒนธรรมและความเจริญก้าวหน้าเยี่ยงชาติตะวันตกในขณะนั้น ระหว่าง ค.ศ. ๑๖๙๖-๑๖๙๘ ซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ จึงได้ติดตามคณะราชทูตไปยังยุโรปตะวันตก และได้ทรงเรียนรู้ความเจริญก้าวหน้าต่าง ๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงรัสเซียให้ทันสมัยเช่นชาติตะวันตก โดยเฉพาะกองทัพเรือพระองค์ทรงปลอมพระองค์เป็นคนงานเพื่อเรียนรู้การต่อเรือ ณ เมืองซานดัม (Zaandam) และกรุงอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ในเนเธอร์แลนด์ ตลอดจนแสวงหาความรู้อื่น ๆ ทั้งยังสนพระทัยในความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นปรากฏการณ์ในยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (The Age of Scientific Revolution) ที่กำลังดำเนินอยู่ในอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พระองค์จะทรงมีโอกาสได้พัฒนารัสเซียตามแนวทางของตะวันตก พวกทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ซึ่งเป็นพวกนิยมแนวความคิดของพวกหัวเก่าได้ก่อการกบฏขึ้นเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและการรับอารยธรรมตะวันตกที่ได้เข้ามาเผยแพร่ในรัสเซีย ซาร์ปีเตอร์ ขณะประทับในออสเตรียจึงทรงรีบเสด็จกลับรัสเซียในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๖๙๘ และทรงใช้วิธีการรุนแรงในการปราบกบฏทันที พวกกบฏจำนวนนับพันคนถูกนำไปเผาทั้งเป็น บ้างถูกเฆี่ยนตีด้วยแส้จนตาย ฟันจามด้วยขวาน หรือถูกตัดคอด้วยขวาน จึงมีผู้กล่าวในเวลาต่อมาว่าซาร์ปีเตอร์ทรงใช้วิธีการของอนารยชนสร้างรัสเซียให้เป็นอารยประเทศ
ในการปฏิรูปประเทศ ซาร์ปีเตอร์ทรงนำลัทธิพาณิชยนิยมของตะวันตกมาใช้โดยห้ามนำสินค้าต่างประเทศเข้ารัสเซียและเร่งส่งเสริมสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศ รวมทั้งเปิดประเทศต้อนรับช่างผู้ชำนาญงานสาขาต่าง ๆ จากประเทศในยุโรปตะวันตกให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและลงทุนในรัสเซีย ทรงละเว้นภาษีแก่โรงงานอุตสาหกรรมเอกชน จัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงและให้มีการผูกขาดการค้าในสินค้าบางประเภท มีการแบ่งเขตการปครองและเลิกยศขุนนางระดับสูงที่เรียกว่า “โบยาร์” และให้ใช้ยศ “เคานต์” และ “บารอน” แบบยุโรปตะวันตก มีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลต่าง ๆ และเหรียญตราแบบตะวันตก ทั้งส่งขุนนางหนุ่ม ๆ ไปศึกษาในต่างประเทศ ทรงบังคับให้ชนชั้นขุนนางโกนหนวดเคราและให้แต่งกายแบบตะวันตกทั้งประกาศให้ชาวรัสเซียแต่งกายแบบตะวันตก ทรงจัดตั้งโรงเรียนสามัญขึ้นเป็นครั้งแรก และให้นำปฏิทินจูเลียน (Julian Calender) ของพวกโปรเตสแตนต์มาใช้แทนปฏิทินแบบเก่าที่นับปีตั้งแต่การสร้างโลกซึ่งมีปีศักราชมากกว่าปฏิทินตะวันตก ๖,๕๐๘ ปี โดยในปฏิทินใหม่ให้ถือเอา วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๐๐ เป็นวันเริ่มต้นปีและศักราชใหม่ของรัสเซีย ทั้งใน ค.ศ. ๑๖๙๙ ซาร์ปีเตอร์ก็ทรงคิดประดิษฐ์ธงชาติตามแบบอย่างชาติตะวันตกประกอบด้วยแถบสีขาวนํ้าเงิน แดงในแนวนอน เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวรัสเซียและของภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศซึ่งธงสามสีดังกล่าวนี้ก็ได้ใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันยกเว้นในช่วงระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๙๑ ที่รัสเซีย เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม
ในขณะเดียวกัน ซาร์ปีเตอร์ก็ทรงดำเนินนโยบายสร้างกองทัพให้แข็งแกร่งและมุ่งเปิด “หน้าต่างสู่ทะเล” (window to the sea) ทั้งในทะเลบอลติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนให้ได้เพื่อให้เรือสินค้าหรือกองทัพเรือสามารถแล่นเข้าออกได้ตลอดทั้งปี ดังนั้น ในเวลาไม่ช้ารัสเซียจึงก่อสงครามกับจักรวรรดิออตโตมันเพื่อช่วงชิงหน้าต่างสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระองค์ต้องเสด็จไปเรียนรู้ “ศาสตร์” ใหม่ ๆ ของชาติตะวันตก) ส่วนการขยายอำนาจสู่ทะเลบอลติกในตอนเหนือ รัสเซียประสบความสำเร็จภายหลังการทำสงครามกับสวีเดนในสงครามเหนือครั้งยิ่งใหญ่ (Great Northern War) ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๐๙-๑๗๒๑ ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยสนธิสัญญานูสตัด (Treaty of Nystad) สวีเดนยินยอมยกดินแดนฝั่งทะเลบอลติกให้กับรัสเซีย สงครามครั้งนี้ทำให้รัสเซียกลายเป็นชาติมหาอำนาจในการทหารที่มีส่วนคุมโชคชะตาของทวีปยุโรปและมีสถานภาพเป็น “จักรวรรดิ” อย่างภาคภูมิ ในปีเดียวกันนั้น ซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ ก็ทรงได้รับการสถาปนาเป็น “จักรพรรดิแห่งชาวรัสเซียทั้งปวง” (Emperor of all Russians) และรับการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” นับว่าพระองค์ทรงเป็นประมุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวิติศาสตร์ของรัสเซีย ทั้งในรัชสมัยของพระองค์เองและรัชสมัยต่อ ๆ มา ซึ่งต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ แม้รัสเซียจะล้มล้างระบอบการปกครองแบบกษัตริย์แต่พระองค์ก็ทรงเป็นซาร์พระองค์เดียวที่ได้รับการยกย่องและถวายพระเกียรติอย่างสูง ประมุขของรัสเซียซึ่งแต่เดิมทรงมีฐานะเป็นเพียง “เจ้าชายแห่งมัสโควี” (Grand Prince of Muscovy) และถูกจัดอันดับในการเรียงพระเกียรติยศในบัญชีรายพระนามของพระประมุขของประเทศในยุโรปในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Treaty of Westphalia) ค.ศ. ๑๖๔๘ หลังสงครามสามสิบปีสิ้นสุดลงให้อยู่ในลำดับรองสุดท้ายสูงกว่าเจ้าชายแห่งทรานซิลเวเนีย (Prince of Transylvania) เพียงพระองค์เดียวก็ได้รับการยกย่องให้มีพระเกียรติยศสูงทัดเทียมกษัตริย์ของประเทศมหาอำนาจยุโรปด้วย
ซาร์ปีเตอร์มหาราชทรงใช้ดินแดนต่าง ๆ บนชายฝั่งทะเลบอลติกเป็นเมืองท่าเพื่อติดต่อกับประเทศยุโรปและโปรดให้สร้างกองทัพเรือประจำการเพื่อป้องกันกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) นครหลวงใหม่ที่โปรดให้สร้างขึ้นใน ค.ศ. ๑๗๐๒ โดยใช้สถาปนิกชาวสวิสและอิตาลีเป็นผู้ออกแบบ ในเวลาต่อมา กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบีร์กจึงเป็นสัญลักษณ์ของซาร์ปีเตอร์มหาราชในการสร้างรัสเซียให้เป็นชาติตะวันตกและเจริญทัดเทียมอารยประเทศตะวันตก ประมุของค์ต่อ ๆ มาก็ได้สร้างและพัฒนาปรับปรุงกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กให้กลายเป็น “มหานคร” ที่งดงามแห่งหนึ่งของยุโรปจนได้ชื่อว่าเป็น “อัญมณีประดับยอดมหามงกุฎ” (top crown jewelry) ของราชวงศ์โรมานอฟ
ซาร์ปีเตอร์มหาราชมีพระราชโอรสและพระราชธิดาหลายพระองค์ ซึ่งประสูติแด่พระมเหสี ๒ พระองค์ แด่พระราชโอรสทุกพระองค์สิ้นพระชนม์ก่อน ปัญหาการสืบราชสมบัติจึงเป็นประเด็นสำคัญในปลายรัชกาล ใน ค.ศ. ๑๗๒๒ ซาร์ปีเตอร์มหาราชทรงออกพระราชโองการ ค.ศ. ๑๗๒๒ (Decree of 1722) ที่ให้อำนาจแก่ซาร์ ในการเลือกรัชทายาทได้ แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ใน ค.ศ. ๑๗๒๕ โดยยังไม่ได้กำหนดองค์รัชทายาท รัสเซีย จึงเข้าสู่ “สมัยแห่งความยุ่งยากครั้งที่ ๒” หรือที่เรียกกันว่า “ยุคปฏิวัติวังหลวง” (Era of Palace Revolution) กินระยะเวลา ๓๗ ปี และสิ้นสุดลงเมื่อซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช (Catherine II the Great ค.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๙๖)* เสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๗๖๒ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ จักรวรรดิรัสเซียต้องประสบกับความวุ่นวายทางการเมืองอันเนื่องมาจากการไร้เสถียรภาพในระบบการสืบราชสันตติวงศ์ และการแย่งชิงราชสมษัติระหว่างเจ้านายในราชวงศ์โรมานอฟสายซาร์อีวานที่ ๕ และซาร์ปีเตอร์มหาราช ซึ่งทำให้กลุ่มนายทหารราชองครักษ์กลายเป็นกลไกสำคัญในการเลือกพระประมุข ขณะเดียวกันพวกขุนนางตระกูลสำคัญ ๆ และข้าราชสำนักที่เป็นคนโปรด (court favorite) ชู้รัก (court lover) และคนต่างชาติ (ชาวเยอรมัน) ก็ผลัดเข้ามามีอำนาจในการปกครองบริหารประเทศและอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ ส่วนพระประมุขก็ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นครองราชสมบัติเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๖ พระองค์ด้วยกันตามแต่กลุ่มของ ขุนนางที่ได้อำนาจจะให้การสนับสนุนทั้งนี้ เป็นราชนารีถึง ๔ พระองค์ (สามพระองค์ทรงมีฐานะซารีนา ส่วนอีกพระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการ) และมีอำนาจการปกครองรวมกัน ๓๔ ปี จากระยะเวลาทั้งหมด ๓๗ ปีของสมัยแห่งความยุ่งยากครั้งที่ ๒ จึงทำให้ช่วงระยะเวลาดังกล่าวรวมกับสมัยซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราชอีก ๓๔ ปี รวมกันประมาณ ๗๐ บีมีซึ่อเรียกว่า “ยุคซารีนา” (Age of Tsarinas)
ประมุขชองราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองรัสเซียในช่วงระยะเวลา ๓๗ ปีของสมัยแห่งความยุ่งยากครั้งที่ ๒ นี้ประกอบด้วยซารีนาแคเทอรีนที่ ๑ (Catherine I ค.ศ. ๑๗๒๕-๑๗๒๗) พระมเหสีในซาร์ปีเตอร์มหาราช ซาร์ปีเตอร์ที่ ๒ (Peter II ค.ศ. ๑๗๒๗-๑๗๓๐) พระราชนัดดา (หลานตา) ในซาร์ปีเตอร์มหาราช ซารีนาแอนนา (Anna ค.ศ. ๑๗๓๐-๑๗๔๐) พระราชธิดาในซาร์อีวานที่ ๕ ซาร์อีวานที่ ๖ (Ivan VI ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๔๑) พระราชปนัดดา (เหลน) ในซาร์อีวานที่ ๕ ซึ่งขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุเพียง ๒ เดือนเท่านั้นโดยมีเจ้าหญิงแอนนา เลโอโปลดอฟนา (Anna Leopoldovna) พระราชมารดาเป็นผู้สำเร็จราชการซารีนาเอลิซาเบท (Elizabeth ค.ศ. ๑๗๔๑-๑๗๖๑) พระราชธิดาในซาร์ปีเตอร์มหาราชกับซารีนาแคเทอรีนที่ ๑ และซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ (Peter III ค.ศ. ๑๗๖๑-๑๗๖๒) พระราชนัดดา (หลานตา) ในซาร์ปีเตอร์มหาราช
ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ รัชสมัยของซารีนาเอลิซาเบทมีความมั่นคงและยาวนานกว่ารัชสมัยใดรวม ๒๐ ปี ถือได้ว่าเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างรัชสมัยซาร์ปีเตอร์มหาราชกับซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช ซารีนาเอลิซาเบททรงยึดอำนาจจากซาร์อีวานที่ ๖ และทรงดำเนินนโยบายการสรัางรัสเซียให้เป็นมหาอำนาจตะวันตกตามแนวทางของซาร์ปีเตอร์มหาราช แม้จะมีคนโปรดและชู้รัก แต่ก็ไม่ยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใดก้าวก่ายพระราชอำนาจ ทรงปฏิรูประบบการเงินและทำให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ ทรงส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดตั้งธนาคารเพื่อเป็นแหล่งกู้เงิน ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและโลหะเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว จนในต้นทศวรรษ ๑๗๖๐ รัสเซียสามารถผลิตเหล็กแท่งในปริมาณมากกว่าประเทศอังกฤษที่เป็นประเทศผู้นำการปฏิวัติอุตสาหกรรมในขณะนั้นขณะเดียวกันรัสเซียก็มุ่งกลับไปสนใจความเจริญของชาติตะวันตกอย่างจริงจัง และนำแนวคิดต่าง ๆ ทั้งในด้านศิลปวิทยาการ สังคม และวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือสร้างความเจริญให้กับรัสเซีย ราชสำนักรัสเซียได้หันไปรับวัฒนธรรมฝรั่งเศสแทนเยอรมัน มีการจ้างชาวอิตาลีให้ออกแบบและปรับปรุงพระราชวังต่าง ๆ ตามแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมในสมัยนั้น เช่น พระราชวังฤดูหนาว (Winter Palace) และพระราชวังแคเทอรีน (Catherine Palace) แม้จะใช้จ่ายพระราชทรัพย์จำนวนมหาศาลแต่ความงดงามอลังการของพระราชวังก็เป็นสัญลักษณ์ให้เห็นถึงอำนาจบารมีและรสนิยมของพระองค์ว่าทัดเทียมกับพระมหากษัตริย์องค์อื่น ๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันตก ส่วนนโยบายการสืบสานอำนาจของรัสเซียให้เป็นมหาอำนาจตะวันตก รัสเซียได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย (War of Austrian Succession ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๔๘) และในสงครามเจ็ดปี (Seven Years’ War ค.ศ. ๑๗๔๖-๑๗๖๓) อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สงครามเจ็ดปีจะสิ้นสุดลง ซารีนาเอลิซาเบทก็เสด็จสวรรคตขณะมีพระชนมายุ ๕๒ พรรษา
ในการแก้ไขปัญหาการสืบราชสมบัติซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญของรัสเซีย ซารีนาเอลิซาเบททรงรับเจ้าชายคาร์ลปีเตอร์ อูลริชแห่งโฮลชไตน์-กอททอร์พ (Carl Peter Ulrich of Holstein-Gottorp) พระราชภาคิไนย (หลานน้า) ให้มาประทับด้วยในพระราชวังใน ค.ศ. ๑๗๔๒ และสถาปนาให้เป็นรัชทายาท พร้อมกับพระราชทานพระนามใหม่ในภาษารัสเซียว่า ปีเตอร์ เฟโอโดรวิช (Peter Feodrovich) และใน ค.ศ. ๑๗๔๕ ก็ทรงจัดการให้ปีเตอร์ เฟโอโดรวิช อภิเษกสมรสกับโซเฟีย ออกุสตา เฟรเดริคาแห่งอันฮัลท์-แซบสต์ (Sophia Augusta Fradericka of Anhalt-Zerbst) ซึ่งเป็นเจ้าหญิงเยอรมันในแคว้นเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในดินแดนเยอรมันและพระราชทานพระนามใหม่ให้ว่า “แคเทอรีน อะเล็กเซเยฟนา” (Catherine Alexeyevna) ตามพระนามของพระราชมารดาของซารีนา ต่อมาเจ้าหญิงแคเทอรีนก็ได้รับสถาปนาเป็นซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๗๖๒
ซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ ทรงเป็นสมาชิกของราชวงศ์โฮลชไตน์-กอททอร์พ (Holstein-Gottorp) การขึ้นครองราชบัลลังก์รัสเซียของพระองค์นั้นโดยประเพณีแล้วถือว่าเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์โรมานอฟ และเป็นการประดิษฐานราชวงศ์ใหม่ แต่ด้วยพระองค์ทรงเป็นพระราชนัดดา (หลานตา) ในซาร์ปีเตอร์มหาราชซึ่งเป็นซาร์ที่ยิ่งใหญ่และเป็นผู้นำความเจริญมาสู่รัสเซีย พระองค์จึงทรงหันมาใช้พระนามของราชวงศ์โรมานอฟทำให้ราชวงศ์โรมานอฟสามารถสืบราชวงศ์ต่อไปได้ ดังนั้น จึงมีการเรียกราชวงศ์โรมานอฟนับแต่ซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ ว่า “ราชวงศ์โฮลชไตน์-กอททอร์พ-โรมานอฟ” (Holstein-Gottorp-Romanov) ด้วย
ซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาทเป็นเวลา ๒๐ ปีนับตั้งแต่ซารีนาเอลิซาเบท พระมาตุฉา (น้า) ทรงรับพระองค์มาอุปการะ แต่พระองค์ก็ทรงเกลียดทุกอย่างที่เป็นรัสเซีย และไม่ใฝ่พระทัยในการศึกษาทรงสนุกสนานกับการเล่นจัดกองทัพตุ๊กตาทหาร หรือ เอามหาดเล็กมาหัดทหารมากกว่า นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็น “โรคคลั่งปรัสเซีย” (Prussophilia) และชื่นชมในพระเจ้าเฟรเดอริคที่ ๒ มหาราช (Frederick II the Great ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๘๖) จนมีผลกระทบต่อนโยบายการต่างประเทศและผลประโยชน์ของรัสเซียเป็นอย่างมากขณะที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ รัสเซียอยู่ระหว่างการทำสงครามกับปรัสเซียในสงครามเจ็ดปี และกำลังจะได้รับชัยชนะแต่พระองค์ก็สั่งให้ทหารรัสเซียถอนทัพทันทีทำให้พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชทรงรอดพ้นจากความอัปยศแต่ในทางตรงกันข้ามก็สร้างความโกรธแค้นให้กับทหารรัสเซียผู้รักชาติเป็นอันมาก นอกจากนี้ ซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ ยังทรงบังคับให้ทหารรัสเซียใส่เครื่องแบบทหารแบบปรัสเซียและนำระเบียบวินัยทหารของปรัสเซียมาใช้กับกองทัพรัสเซียอีกด้วยอย่างไรก็ตาม ซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ ก็ทรงครองราชย์ได้เพียง ๖ เดือนเท่านั้น พระองค์ถูกกลุ่มทหารองครักษ์จำนวนหนึ่งเข้าจับกุมและปลงพระชนม์อย่างทารุณ โดยซารีนาแคเทอรีนพระมเหสีทรงรับรู้และให้ความเห็นชอบ การสวรรคตของพระองค์ใน ค.ศ. ๑๗๖๒ นับเป็นการสิ้นสุดของสมัยแห่งความยุ่งยากครั้งที่ ๒ ด้วย
ซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราชทรงเป็นราชนารี องค์ที่ ๓ ที่ปกครองจักรวรรดิรัสเซีย และเป็นซารีนาพระองค์เดียวที่ได้รับการถวายพระราชสมัญญามหาราชทรงมีชาติกำเนิดเป็นชาวเยอรมัน แต่ทรงอุทิศตนให้แก่รัสเซีย ทั้งทรงเลื่อมใสแนวคิดของนักปรัชญาเมธี (philosophe) ในยุคภูมิธรรม (Age of Enlightenment) และนำแนวคิดต่าง ๆ มาปรับปรุงรัสเซียให้ทันสมัยและสร้างความเป็นธรรมแก่สังคม ทรงดำเนินนโยบายสร้างรัสเซียให้เป็นชาติตะวันตกและเป็นมหาอำนาจของยุโรปและได้รับการยกย่องให้เป็นมหาราชจากนโยบายการขยายอำนาจและดินแดนของรัสเซียต่อจากซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ มหาราช เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. ๑๗๙๖ รัสเซียมีเมืองท่าสู่ทะเลดำและสามารถเปิด “หน้าต่างสู่ทะเล” ทางเมดิเตอร์เรเนียนได้สำเร็จ ทั้งสามารถสร้างกองทัพเรือที่มีแสนยานุภาพและได้ครอบครองดินแดน ๒ ใน ๓ ของโปแลนด์ซึ่งเป็นศัตรูเก่าจนทำให้โปแลนด์ถูกแบ่งแยกและลบหายไปจากแผนที่ของยุโรปตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๙๕ จนถง ค.ศ. ๑๙๑๘
ในรัชสมัยซาร์ปอล (Paul ค.ศ. ๑๗๙๖-๑๘๐๑) พระราชโอรสพระองค์ดำเนินการล้มล้างมาตรการและผลงานต่าง ๆ ของพระราชมารดาเป็นต้นว่า การลดบทบาทของหน่วยทหารที่จงรักภักดีต่อซารีนา การปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและซารีนาการยกเลิกแผนการส่งทหารไปร่วมรบในสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)* และอื่น ๆ พระองค์ทรงยกเลิกพระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๗๒ ที่ซาร์มีพระราชอำนาจและสิทธิที่จะเลือกผู้หนึ่งผู้ใดในการสืบสันตติวงศ์ได้และออกพระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๙๗ (Decree of 1797) ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์โดยให้สิทธิเฉพาะแก่พระราชวงศ์ฝ่ายชายและให้ตัดสิทธิของพระราชธิดาและเชื้อสายของพระราชธิดาทั้งหมดกฎหมายดังกล่าวทำให้รัสเซียมีระบบการสืบสันตติวงศ์ที่มั่นคงและทำให้ประเทศปลอดจากภาวะการช่วงชิงบัลลังก์ที่บั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาล ส่วนในด้านการต่างประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๘-๑๗๙๙ รัสเซียเป็นพันธมิตรกับอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ต่อต้านฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม เมื่อนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ก่อรัฐประหารเดือนบรูแมร์ (Coup d’ État Brumaire)* ในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๙๙ เพื่อล้มล้างการปกครองแบบคณะกรรมการอำนวยการ (Directory)* และจัดตั้งการจัดการปกครองในระบบกงสุล (Consulate System)* ขึ้น ซาร์ปอลซึ่งทรงชื่นชมนโปเลียนอย่างมากในฐานะนายทหารในอุดมคติจึงทรงหันมาฟื้นสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสและต่อต้านอังกฤษแทนและมีแผนการส่งกองทัพรัสเซียเข้าโจมตีอินเดียที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ประเทศ ขณะเดียวกัน ซาร์ปอลก็ทรงสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะนายทหารที่มักถูกลบหลู่เกียรติยศ ใน ค.ศ. ๑๘๐๑ พระองค์จึงทรงถูกลอบปลงพระชนม์ และแกรนด์ดุ๊ก อะเล็กซานเดอร์พระราชโอรสองค์โตก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นซาร์องค์ใหม่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชโองการ ค.ศ. ๑๗๙๗ เฉลิมพระนามซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)* ประมุขของรัสเซียนับตั้งแต่ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เป็นต้นมา จนถึงซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗)* ซึ่งเป็นซาร์องค์สุดท้ายของรัสเซียต่างยังคงยึดมั่นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยซาร์เป็นศูนย์กลางของอำนาจก่อให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มชนต่าง ๆ ในสังคมจนนำไปสู่การก่อตัวของขบวนการปฏิวัติ การก่อกบฏและแผนลอบปลงพระชนม์ซึ่งบั่นทอนความมั่นคงของราชวงศ์และนำไปสู่การสิ้นสุดของราชวงศ์โรมานอฟในท้ายที่สุด
เมื่อซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เสด็จขึ้นครองราชย์ ใน ค.ศ. ๑๘๐๑ รัสเซียกำลังเผชิญกับการขยายอำนาจของฝรั่งเศสและต้องรบกับฝรั่งเศสในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* แต่ก็ไม่อาจต่อต้านอิทธิพลของฝรั่งเศสได้จนต่อมาต้องยอมทำสนธิสัญญาทิลซิท (Treaty of Tilsit)* เพื่อให้ความร่วมมือและเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๐๗ อย่างไรก็ตามเมื่อรัสเซียถอนตัวจากการปฏิบัติตามระบบภาคพื้นทวีป (Continental System)* ของฝรั่งเศสในการต่อต้านอังกฤษ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงยกกำลังบุกโจมตีมอสโก ใน ค.ศ. ๑๘๑๒ แต่ประสบความล้มเหลว ต่อมา กองทัพมหาอำนาจยุโรปได้รวมตัวกันทำสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔ (Fourth Coalition War) โดยมีรัสเซียเป็นแกนนำยาตราทัพเข้ากรุงปารีส จักรพรรดินโปเลียนจำต้องยอมแพ้ โดยไม่มีเงื่อนไขในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๑๔ และทรงถูกเนรเทศให้ไปประทับที่เกาะเอลบา (Elba) ชัยชนะครั้งนี้ทำให้รัสเซียได้รับการยกย่องและการยอมรับว่าเป็นประเทศมหาอำนาจของยุโรป
ในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* เพื่อฟื้นฟูสถานภาพของยุโรปและแบ่งผลประโยชน์ระหว่างประเทศมหาอำนาจรวมทั้งการสร้างดุลแห่งอำนาจขึ้นใหม่ รัสเซียก็มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำกลุ่มอนุรักษนิยมที่ต่อต้านแนวความคิดเสรีนิยมและชาตินิยมเพื่อพยายามรักษาสถานะเดิมของยุโรปก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* ไว้ รัสเซียให้การสนับสนุนแนวนโยบายของเจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิช (Klemens Fürst von Metternich)* เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรีย (ต่อมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี) ในการปราบปรามพวกเสรีนิยมในประเทศต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็เพิกเฉยที่จะปฏิรูปการเมืองและสังคมรัสเซียตามข้อเรียกร้องของปัญญาชน ทั้งมุ่งขยายอำนาจและสร้างความยิ่งใหญ่ของรัสเซียในต่างแดนโดยเฉพาะในจักรวรรดิออตโตมัน ความพยายามของรัสเซียในการเข้ายึดครองคาบสมุทรบอลข่านจึงนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองกับมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ ในปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐
ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์หลังซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ สวรรคตในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๒๕ ได้นำไปสู่การเกิดกบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญหรือที่เรียกกันต่อมาว่ากบฏเดือนธันวาคม (Decembist Revolt)* การก่อกบฏมีจุดมุ่งหมายหลักที่จะล้มเลิกระบบทาสติดที่ดินและการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย แต่ประสบความล้มเหลว ผลกระทบที่สำคัญของกบฏเดือนธันวาคมคือหลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ซาร์นิโคลัสที่ ๑ (Nicholas I ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๕๕)* ทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการจลาจลและการกบฏขึ้นในรัสเซียได้อีก พระองค์ทรงจัดตั้งกองตำรวจลับเพื่อสอดส่องและควบคุมประชาชน และต่อต้านการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมทุกรูปแบบ รวมทั้งสร้างรัสเซียให้เป็นรัฐวินัยเพื่อบังคับประชาชนให้ปฏิบัติตามระเบียบและเชื่อมั่นในผู้มีอำนาจสูงกว่า ขณะเดียวกัน รัสเซียก็ร่วมมือกับออสเตรียและปรัสเซียในการเข้าแทรกแซงเพื่อปราบปรามการกบฏและการปฏิวัติในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจนทรงได้รับสมญานามว่า “ตำรวจแห่งยุโรป” (Gendarme of Europe) ในปลายรัชสมัยของซาร์นิโคลัสที่ ๑ รัสเซียได้ก่อสงครามกับตุรกีในสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)* ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกระหว่างประเทศมหาอำนาจยุโรปหลังจากว่างเว้นการสงครามมาเป็นเวลาเกือบ ๔๐ ปี รัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องหมดบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ในช่วงที่ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรงมุ่งขยายอำนาจของรัสเซียในต่างประเทศและควบคุมสังคมของรัสเซียอย่างเข้มงวดนั้น ปัญญาชนก็เริ่มรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐและระบบซาร์มากขึ้นโดยแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มสลาฟนิยม (Slavophiles) กับกลุ่มตะวันตกนิยม (Westernizers) ปัญญาชนทั้ง ๒ กลุ่มต่างเรียกร้องการปฏิรูปสังคมเพื่อปลดปล่อยทาสติดที่ดินให้เป็นอิสระและการทอนอำนาจอัตตาธิปไตยของซาร์ รวมทั้งการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นแม้การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะประสบความสำเร็จไม่มากนัก แต่แนวความคิดของปัญญาชนทั้ง ๒ กลุ่มก็มีอิทธิพลต่อขบวนการปฏิวัติรัสเซียที่ก่อตัวขึ้นในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ อะเล็กซานเดอร์ เฮอร์เซน (Alexander Herzen)* นักคิดคนสำคัญของกลุ่มตะวันตกนิยมได้ปรับแนวความคิดของพวกสลาฟนิยมเข้ากับแนวทางปฏิวัติเป็นแนวความคิดสังคมนิยมรัสเซียที่เรียกกันว่านารอดนิค (Narodnik)* หรือรัสเซียปอปปูลิสต์ (Russian Populism)* ต่อมา นิโคไล เชียร์นีเชฟสกี (Nikolai Chernyshevsky)* มีฮาอิส บาคูนิน (Mikhail Bakunin)* และปัญญาชนปฏิวัติคนอื่น ๆ ก็นำแนวความคิดสังคมนิยมของเฮอร์เซนไปเผยแพร่และพัฒนาต่อจนกลายเป็นแนวความคิดที่ยอมรับกันทั่วไปในหมู่ปัญญาชนรัสเซีย ที่ฝักใฝ่ในการปฏิวัติในช่วงทศวรรษ ๑๘๖๐-๑๘๗๐
ความพ่ายแพ้ในสงครามไครเมีย ค.ศ. ๑๘๔๖ ทำให้รัสเซียหันมาพัฒนาปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมประเทศตะวันตก ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II ค.ศ. ๑๘๕๕-๑๘๘๑)* ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชสมบัติก่อนสงครามไครเมียสิ้นสุดลง จึงทรงเริ่มปฏิรูปสังคมด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาปลดปล่อยทาสติดที่ดินใน ค.ศ. ๑๘๖๑ และทรงปฏิรูปทางด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศาล กองทัพ การคลัง และอื่น ๆ ซึ่งทำให้รัชสมัยของพระองค์ได้ชื่อว่า “ยุคแห่งเสรีนิยม” อย่างไรก็ตามผลการปฏิรูปก็เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจอัตตาธิปไตยให้มั่นคง เพราะสถาบันซาร์ยังคงมีอำนาจเด็ดขาด ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปยังคงยากจนแร้นแค้นและขุนนางเจ้าของที่ดินก็ยังครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศทั้งมีชีวิตที่สุขสบาย นอกจากนี้ รัสเซียยังคงล้าหลังอย่างมากในด้านอุตสาหกรรม ส่วนด้านเกษตรกรรมชาวนายังขาดความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี และไม่มีทุนทรัพย์ ที่จะปรับปรุงผืนดินและวิธีการผลิตให้ดีขึ้น ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ รัสเซียยังถูกคุกคามด้วยทุพภิกขภัย อย่างต่อเนื่อง จำนวนผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ส่วนรัฐบาลก็ยังเก็บภาษีชาวนาอย่างหนักทั้งขึ้นภาษีสุราซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนในอัตราที่สูงความไม่พอใจของประชาชนจึงเกิดขึ้นทั่วไป กลุ่มปัญญาชนที่ต่อต้านรัฐบาลและซาร์จึงเคลื่อนไหวปลุกระดมทางการเมืองทุกรูปแบบเพื่อผลักดันการปฏิวัติให้เกิดขึ้น และในท้ายที่สุดก็หันมาใข้วิธีการรุนแรงและการก่อการร้ายมีการลอบสังหารบุคคลสำคัญในแวดวงรัฐบาลและลอบปลงพระชนม์ซาร์หลายครั้งจนสามารถปลงพระชนม์ซาร์ อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ ได้สำเร็จโดยโซเฟีย เปรอฟสกายา (Sophia Perovskaya)* แกนนำผู้ปฏิบัติงานใต้ดินของกลุ่มเจตจำนงประชาชน (People’s Will) ให้สัญญาณด้วยการทิ้งผ้าเช็ดหน้าแก่สหายให้โยนระเบิดใส่รถม้าพระที่นั้งเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๘๑ ซึ่งทำให้ซาร์ได้รับบาดเจ็บและพระเพลาข้างหนึ่งขาดและเสด็จสวรรคต
การสวรรคตอย่างน่าอเนจอนาถของพระราชบิดาทำให้ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (Alexander III ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๘๙๔)* ทรงดำเนินนโยบายที่เข้มงวดในการปกครองและยกเลิกการปฏิรูปต่าง ๆ ตลอดจนนำแนวความคิดการสร้างรัสเซียให้เป็นรัฐวินัยกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎเฉพาะกาลเกี่ยวกับมาตรการรักษาความมั่นคงของรัฐ ให้อำนาจรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการปราบปรามการลุกฮือของประชาชนและการรักษาความสงบ กฎเฉพาะกาลทำให้การเคลื่อนไหวปฏิวัติหยุดนิ่งและนักปฏิวัติจำนวนหนึ่งหนีออกนอกประเทศ กลุ่มนักปฏิวัติเหล่านี้ซึ่งมีเกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov)* เป็นผู้นำได้หันไปรับแนวความคิดลัทธิมากซ์ซึ่งมีอิทธิพลต่อขบวนการสังคมนิยมยุโรปในขณะนั้นและนำกลับมาเผยแพร่ในประเทศ ลัทธิมากซ์จึงเริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นในขบวนการปฏิวัติรัสเซีย และการเคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคปฏิวัติแนวทางลัทธิมากซ์ก็ขยายตัวและเติบโตขึ้นในรัสเซียจนสามารถจัดตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party-RSDLP)* หรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่าพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ขึ้นได้สำเร็จในต้นทศวรรษ ๑๙๐๐
ในด้านการต่างประเทศ รัสเซียสนับสนุนแนวนโยบายของเจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีแห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ด้วยการร่วมลงนามในสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund - League of the Three Emperors)* กับจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* เพื่อกีดกันให้ฝรั่งเศสอยู่อย่างโดดเดี่ยวและป้องกันไม่ให้แสวงหา พันธมิตรเพื่อแก้แค้นเยอรมนีในการทำลายเกียรติภูมิของชาติในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* ความร่วมมือระหว่างมหาอำนาจทั้งสามในรูปของสันนิบาตสามจักรพรรดิเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๓-๑๘๗๘ และ ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๘๘๗ หลัง ค.ศ. ๑๘๘๗ รัสเซียขัดแย้งกับออสเตรีย-ฮังการี ในปัญหาตะวันออกจึงไม่ต่ออายุสัญญา แต่กระนั้นรัสเซียก็ร่วมมือกับเยอรมนีทำสัญญาลับคือสนธิสัญญาประกันพันธไมตรี (Reinsurance Treaty)* ใน ค.ศ. ๑๘๘๗ แต่ต่อมาเมื่อรัสเซียล่วงรู้ว่าเยอรมนีทำสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๗๙ (Dual Alliance 1879)* กับออสเตรีย-ฮังการีโดยเยอรมนีจะไม่รักษาความเป็นกลางในกรณีที่รัสเซียก่อสงครามกับออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียจึงผูกไมตรีกับฝรั่งเศสและร่วมกันทำสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ (Dual Alliance 1894)* เพื่อคานอำนาจเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี และเพื่อตอบโต้การรวมตัวระหว่างเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี กับอิตาลีในสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance ค.ศ. ๑๘๘๒)* ต่อมาอังกฤษก็ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับรัสเซียและฝรั่งเศสซึ่งทำให้เกิดการขยายตัวของภาคีสมาชิกสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ เป็นกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มหาอำนาจยุโรปจึงแบ่งออกเป็น ๒ ค่าย
เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ เสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ พระองค์ทรงดำเนินนโยบายต่าง ๆ ตามรอยซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ พระบิดาด้วยการปกครองประเทศอย่างเข้มงวด และปกป้องรักษาอำนาจอธิปไตยของซาร์รวมทั้งปราบปรามการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างเด็ดขาด นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดการต่อต้านพระองค์อย่างมาก และยิ่งเมื่อรัสเซียพ่ายแพ้ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* ความไม่พอใจของประชาชนก็ยิ่งขยายตัวในวงกว้าง กลุ่มปัญญาชนเสรีนิยมหัวก้าวหน้าที่มีปาเวล นีโคลาเยวิช มิลยูคอฟ (Pavel Nikolayevich Milyukov)* เป็นผู้นำก็ร่วมมือกับกลุ่มการเมืองอื่น ๆ เรียกร้องการปฏิรูปทางสังคมและการเมือง กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายก็เคลื่อนไหวปลุกระดมการต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ มีการชุมนุมนัดหยุดงานทั่วไปและมีการเดินขบวนอย่างสันติในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อถวายฎีกาต่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ ให้ทรงปฏิรูปการเมืองและสังคมแต่ล้มเหลว ทหารได้ระดมยิงใส่กลุ่มผู้เดินขบวนจนนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่าวันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* บาทหลวงเกออร์กี กาปอน (Georgi Gapon)* ผู้นำการเดินขบวนประกาศว่าไม่มีซาร์อีกต่อไป การจลาจลและการต่อต้านรัฐบาลได้ขยายตัวไปทั่วประเทศจนเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ในเดือนตุลาคม
การปฏิวัติที่เกิดขึ้นทำให้แกนนำนักปฏิวัติที่ลี้ภัยนอกประเทศ เช่น วลาดีมีร์ อิลยิช เลนิน (Vladimir Illyich Lenin)* ยูลี มาร์ตอฟ (Yuly Martov)* และเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* เดินทางกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ตาม ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงหาทางควบคุมสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองตามคำทูลแนะนำของเคานต์เซียร์เกย์ ยูเลียวิช วิตเต (Sergey Yulyevich Witte)* เสนาบดี โดยประกาศ “แถลงการณ์เดือนตุลาคม” (October Manifesto) เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ สัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้งและจัดตั้งสภาดูมา (Duma)* ขึ้นเพื่อปกครองในระบอบประชาธิปไตย นับเป็นการเริ่มต้นสมัยการปกครองแบบประชาธิปไตยของจักรวรรดิรัสเซียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖ ถึงต้น ค.ศ. ๑๙๑๗ และทำให้การเคลื่อนไหวปฏิวัติหมดบทบาทและเสื่อมอิทธิพลทางการเมืองอย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยรัสเซียก็ไม่พัฒนาก้าวหน้ามากนักเพราะซาร์นิโคลัสที่ ๒ ไม่ทรงสนับสนุนและมักหลีกเลี่ยงการดำเนินงานร่วมกับสภาดูมา ทั้งยังทรงยึดอำนาจในการเลือกและปลดเสนาบดีอยู่อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ สภาดูมาก็ไม่เข้มแข็งและมักขัดแย้งกันจนไม่สามารถผลักดันการออกกฎหมายที่สำคัญได้
ใน ค.ศ. ๑๙๑๓ รัสเซียจัดงานเฉลิมฉลองครบ รอบวาระ ๓๐๐ ปี (tercentenary) แห่งการประดิษฐานราชวงศ์โรมานอฟ งานพิธีเริ่มขึ้นเมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ เสด็จไปเมืองคอสโตรมาซึ่งเป็นสถานที่ที่ไมเคิล โรมานอฟ ได้รับการสถาปนาเป็นซาร์ จากนั้นพระองค์และพระราชวงศ์ก็เสด็จเมืองสำคัญต่าง ๆ ก่อนกลับถึงกรุงมอสโก มีการเฉลิมฉลองทั่วประเทศและมีงานเลี้ยงและงานเต้นรำต่อเนื่องกันเกือบทั้งปี นับเป็นงานเฉลิมฉลองใหญ่ครั้งสุดท้ายในจักรวรรดิรัสเซีย ในวโรกาสสำคัญครั้งนี้ คาร์ล กุสตาโววิช ฟาแบร์เช (Carl Gustavovich Fabergé) นายช่างประจำราชสำนักได้ประดิษฐ์ “ไข่ฉลอง ๓๐๐ ปีราชวงศ์โรมานอฟ” (Romanov Tercentenary Egg) ถวายซาร์นิโคลัสที่ ๒ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงและยิ่งใหญ่ของราชวงศ์โรมานอฟ ไข่ดังกล่าวตั้งบนขาตั้งทองคำที่เป็นตรานกอินทรี ๒ เศียรซึ่งเป็นตราประจำราชวงศ์ ไข่ฟองนอกประกอบด้วยภาพซาร์ไมเคิล โรมานอฟ และผู้สืบทอดราชบัลลังก์จนถึงซาร์นิโคลัสที่ ๒ ส่วนไข่ฟองในลงยาสีน้ำเงินมีภาพแผนที่ลายทองคำแสดงเขตแดนของรัสเซียตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๑๓-๑๙๑๓ ปัจจุบันไข่ฉลอง ๓๐๐ ปี ราชวงศ์โรมานอฟเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ยุทโธปกรณ์แห่งชาติที่พระราชวังเครมลิน (State Armoury Museum of the Kremlin)
อย่างไรก็ตาม การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่สืบเนื่องจากนักบวชเกรกอรี รัสปูติน (Gregory Rasputin)* ซึ่งมีอิทธิพลเหนือซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna)* พระมเหสีในซาร์นิโคลัสที่ ๒ เข้าก้าวก่ายในงานบริหารราชการแผ่นดินทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์โจมตีอย่างมาก สงครามที่ยืดเยื้อและความพ่ายแพ้ของกองทัพรัสเซียอย่างต่อเนื่องได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม และการเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ในกรุงเปโตรกราด (Petrograd) ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองไว้ได้และพระองค์ทรงถูกกดดันจากกองทัพและสภาดูมาจนจำต้องยอมประกาศสละราชบัลลังก์แก่พระอนุชาแกรนด์ดุ๊กไมเคิล อะเล็กซานโดวิช (Michael Alexandovich) แต่แกรนด์ ดุ๊กไมเคิลทรงปฏิเสธและมอบอำนาจการปกครองให้แก่ เจ้าชายเกรกอรี ลวอฟ (Gregory Lvov)* นายกรัฐมนตรีรัฐบาลเฉพาะกาล การปฏิเสธราชบัลลังก์ดังกล่าวมีผลให้ราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองรัสเซียกว่า ๓๐๐ ปี ถึงกาลอวสาน รัสเซียปกครองแบบทวิอำนาจระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลกับสภาโซเวียต (Soviet) และสภาโซเวียตกดดันรัฐบาลเฉพาะกาลไม่ยอมให้พระราชวงศ์ลี้ภัยออกนอกประเทศ พระราชวงศ์ทั้งหมดลูกควบคุมตัวและกักบริเวณที่พระราชวังอะเล็กซานเดอร์ที่ซาร์สโกเอ เซโล (Tsarskoe Selo) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ อะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* ผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาลส่งพระราชวงศ์ไปควบคุมที่เมืองโตบอลสศ์ (Tobolsk) ในไซบีเรียตะวันตกจนถึงเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๘ และต่อมาย้ายไปควบคุมไว้ที่เมืองเยคาเตรินบุร์ก (Yekaterinburg) ณ บ้านอีปาตีฟในไซบีเรีย
ในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ พรรคบอลเชวิคตัดสินใจยึดอำนาจทางการเมืองและนำไปสู่การปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ในกรุงเปโตรกราดในวันที่ ๒๕ ตุลาคม (๗ พฤศจิกายนตามปฏิทินตะวันตก) รัฐบาลเฉพาะกาลถูกโค่นอำนาจและรัสเซียซึ่งถอนตัวออกจากสงครามโลกได้สำเร็จในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์โดยเรียกชื่อประเทศว่าสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (Russian Soviet Federative Socialist Republic-REFSR) หลังการยึดอำนาจทางการเมือง เลนินผู้นำของพรรคบอลเชวิคซึ่งใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (บอลเชวิค) [The Russian Communist Party (Bolshevik)] ได้สั่งให้เชกา (Cheka)* หรือหน่วยตำรวจลับประจำเมืองเยคาเตรินบุร์กปลงพระชนม์ซาร์นิโคลัสที่ ๒ พร้อมพระราชวงศ์ทุกพระองค์ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของระบอบเก่าเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มกษัตริย์นิยมเคลื่อนไหวที่จะคืนอำนาจแก่ราชวงศ์โรมานอฟ การสั่งการดังกล่าวมีผลให้พระราชวงศ์ทั้งหมดถูกปลงพระชนม์ด้วยการระดมยิงอย่างเผาขนในกลางดึกของคืนวันที่ ๑๖-๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ณ ห้องใต้ดินของบ้านอีปาตีฟ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับโบสถ์อีปาตีฟที่ซาร์ไมเคิลปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โรมานอฟได้รับคำกราบทูลให้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๖๑๓ พระศพทั้งหมดถูกนำไปเผาทำลายและฝังบริเวณเหมืองร้างในป่าคอปตากี (Koptyaki) นอกเมืองเยคาเตรินบุร์กประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เรื่องราวของราชวงศ์โรมานอฟที่เริ่มต้นที่โบสถ์อีปาตีฟจึงจบลงที่บ้านอีปาตีฟอันเป็นชื่อเดียวกันอย่างน่าประหลาดใจ นอกจากนี้ ในวันรุ่งขึ้นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ ซึ่งถูกควบคุมไว้ที่เมืองอะลาปาเอฟสค์ (Alapaevsk) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเยคาเตรินบุร์กไม่มากนักก็ถูกประหารทั้งหมดด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่รัสเซียและเยอรมนีกำลังเจรจาหารือเกี่ยวกับการทำสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk ค.ศ. ๑๙๑๘)* และกองทัพแดง (Red Army)* กำลังเป็นฝ่ายเพลี่ยงพลั้งกองทัพฝ่ายรัสเซียขาว กองทัพฝ่ายรัสเซียขาวได้ช่วยให้ซารีนามาเรีย เฟโอโดรอฟนา (Maria Feodorovna)* พระราชมารดาซาร์นิโคลัสที่ ๒ และแกรนด์ดัชเชสออลกา อะเล็กซานดรอฟนา (Olga Alexandrovna) กับแกรนด์ดัชเชสเซเนีย อะเล็กซานดรอฟนา (Xenia Alexandrovna) พระภคินีของซาร์นิโคลัสที่ ๒ รวมทั้งพระประยูรญาติจำนวนหนึ่งเสด็จหนีออกจากรัสเซียไปประเทศยุโรปตะวันตกได้
หลังสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตหรือสหภาพโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republics-USSR)* ล่มสลายใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin)* แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) สั่งให้มีการค้นหาหลุมลับในป่าคอปตากีอย่างเป็นทางการระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ มีการขุดพบโครงกระดูกที่เข้าใจกันว่าเป็นของพระราชวงศ์ในบริเวณดังกล่าว รัฐบาลรัสเซียให้ดำเนินการตรวจสอบส่วนของกะโหลกและโครงกระดูกที่ขุดพบประมาณ ๘๐๐ ชิ้นซึ่งเชื่อว่าเป็นของพระราชวงศ์ที่ถูกปลงพระชนม์และใช้เวลาเกือบ ๒ ปีจนได้ข้อสรุปว่าเป็นโครงกระดูกของศพ ๙ ศพ โครงกระดูกดังกล่าวถูกนำไปตรวจสอบดีเอ็นเอ (DNA-deoxyribonucleie acid) และผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ คณะผู้เชี่ยวชาญของรัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาสามารถสกัดสารพันธุกรรมของพระราชวงศ์ได้เพียงร้อยละ ๙๘.๕ เท่านั้น จึงสันนิษฐานว่าเป็นของซาร์นิโคลัสที่ ๒ พระมเหสี และพระราชธิดา ๓ พระองค์ส่วนที่เหลือเป็นของข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด โครงกระดูกที่ค้นพบทั้งหมดไม่มีชิ้นส่วนของกระดูกของแกรนด์ดัชเชสอะนัสตาเซีย (Anastasia)* พระราชธิดาองค์เล็กกับซาเรริชอะเล็กเซย์ (Tsarevich Alexei)* พระราชโอรส รัฐบาลรัสเซียยังใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อหาข้อสรุปว่าจะนำโครงกระดูกทั้งหมดไปบรรจุไว้ที่เมืองเยคาเตรินบุร์กหรือนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และในกลาง ค.ศ. ๑๙๙๘ ก็ได้ข้อสรุปที่จะบรรจุไว้ ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
ต่อมา ในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๘ รัฐบาลรัสเซียจัดพิธีบรรจุพระบรมอัฐิและพระอัฐิของซาร์นิโคลัสที่ ๒ และพระราชวงศ์รวมทั้งกระดูกของข้าราชบริพารที่ซื่อสัตย์ ๔ คน ซึ่งเป็นแพทย์ นางกำนัล มหาดเล็กและพนักงานต้นเครื่อง ในหอสวดมนต์เซนต์แคเทอรีน (St. Catherine Chapel) ภายในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ และเซนต์ปอล (St. Peter and Paul Cathedral) นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สมาชิกราชวงศ์โรมานอฟทั้งในและนอกประเทศกว่า ๕๐ คนมาร่วมในงานพิธีดังกล่าวด้วย อีก ๒ ปีต่อมา ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๐ สภาคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ได้สถาปนาซาร์นิโคสัสที่ ๒ ซารีนาอะเล็กซานดรา พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๕ พระองค์เป็นนักบุญด้วยเหตุผลที่ว่าทุกพระองค์ทรงถูกเหยียบยํ่า ให้ร้าย และทุกข์ระทมแต่ก็ทรงยืนหยัดอย่างองอาจในความทุกข์ทรมานร่วมกัน โดยไม่ทรงยอมแยกพระองค์ออกจากประชาชนและแผ่นดินรัสเซีย การสถาปนาราชวงศ์โรมานอฟเป็นนักบุญนับเป็นการฟื้นฟูพระเกียรติยศอันสูงสุดของราชวงศ์โรมานอฟที่ทำให้องค์สมาชิกของราชวงศ์เป็น “บุคคลสำคัญของประเทศ” ทั้งทางศาสนาและการเมืองอีกครั้งหลังจากที่พระราชวงศ์ทรงถูกลบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศเป็นเวลากว่า ๘๐ ปี
ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๗ นักโบราณคดีชาวรัสเซียขุดค้นพบหลุมลับใหม่อีกหลุมหนึ่งในป่าคอปตากีบริเวณที่ไม่ห่างจากหลุมลับที่เคยขุดพบใน ค.ศ. ๑๙๙๑ มากนัก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทั้ง ๒ หลุมมีความเกี่ยวโยงกันในหลุมประกอบด้วยเศษกระดูกแตกหักกว่า ๔๐๐ ชิ้น และอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์เหมือนกระดูกที่พบในหลุมแรก ทั้งกระดูกส่วนใหญ่มีร่องรอยของการถูกเผาทำลายนอกจากเศษกระดูกจำนวนมากแล้ว มีเศษชิ้นส่วนภาชนะที่บรรจุกรดกำมะถัน เศษขี้เถ้า กระสุนปืน แถบโลหะจากกล่องไม้ และอื่น ๆ มีความพยายามแยกแยะเศษกระดูกที่พบซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นกระดูกมนุษย์หรือสัตว์โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างละเอียดและต่อมาพบว่าเป็นเศษกระดูกมนุษย์ จากนั้นมีการนำเศษกระดูกไปตรวจสอบดีเอ็นเอและพบว่าตรงกับทั้งของซาร์นิโคลัสที่ ๒ และซารีนาอะเล็กซานดรา ดีเอ็นเอที่พบยังพิสูจน์ได้ว่าเป็นของเด็กชายและผู้หญิงรุ่นสาวซึ่งเป็นพี่น้องกันในปลายเดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๐๘ นักนิติวิทยาศาสตร์จึงประกาศว่าเศษกระดูกที่พบเป็นของซาเรวิชอะเล็กเซย์และแกรนด์ดัชเชสอะนัสตาเซีย ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน หน่วยงานอิสระนอกประเทศในสหรัฐอเมริกาที่ทางการรัสเซียขอความร่วมมือในการตรวจสอบซํ้าเพื่อยืนยันผลการพิสูจน์ดีเอ็นเอก็มีความเห็นเช่นเดียวกันและให้คำอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่ากระดูกที่แตกหักเป็นจำนวนมากเป็นผลจากการที่ศพถูกหั่นเป็นชิ้น ๆ ก่อนถูกทำลาย ผลการพิสูจน์ดังกล่าวทำให้เรื่องราวที่เป็นปริศนาในประวัติศาสตร์ทั้งของซาเรวิชอะเล็กเซย์และแกรนด์ดัชเชสอะนัสตาเซียกระจ่างชัดขึ้น คณะกรรมาธิการแห่งรัฐรัสเซีย (Russian state Commission) และสภาคริสตจักรแห่งมอสโกยอมรับผลการตรวจสอบ และจะร่วมกันพิจารณาหารือวันเวลาที่จะบรรจุพระอัฐิของพระราชวงศ์ทั้ง ๒ พระองค์ต่อไป.