ไมน์คัมพฟ์ เป็นหนังสือที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือนาซี (National Socialist German Workers’ Party NSDAP; Nazi)* เขียนขึ้นในช่วงที่ถูกจองจำที่คุกลันด์สแบร์กอัมเลช (Landsberg am Lech) เป็นหนังสือที่ได้ชื่อว่าเป็นคัมภีร์ของแนวความคิดลัทธินาซี (Nazism) ในเยอรมนี และเป็นคู่มือนโยบายทางการเมืองซึ่งฮิตเลอร์มุ่งหวังที่จะดำเนินการในอนาคต ชื่อดั้งเดิมของหนังสือคือ Four and a Half Years of Struggle against Lies, Stupidity and Cowardice แต่ผู้จัดพิมพ์เห็นว่ายาวเกินไปจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้กระชับและน่าอ่านขึ้นเป็น "ไมน์คัมพฟ์" หรือ "My Struggle" ในภาษาอังกฤษ ไมน์คัมพฟ์เป็นหนังสือชุด ๒ เล่มจบ เล่มแรกพิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ และเล่มหลังใน ค.ศ. ๑๙๒๘ แต่ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มเดียวกัน ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* หนังสือจำหน่ายได้ถึง ๕.๒ ล้านเล่ม และฉบับย่อของหนังสือถูกถ่ายทอดเป็นภาษายุโรปต่าง ๆ ๑๖ ภาษา ทั้งต่อมายังเป็นหนังสือที่หนุ่มสาวชาวเยอรมันที่จะเข้าพิธีสมรสต้องมีไว้เป็นสมบัติของครอบครัวอย่างน้อย ๑ เล่ม รายได้จากการจำหน่ายทำให้ฮิตเลอร์มีฐานะมั่งคั่ง
ไมน์คัมพฟ์เป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เมื่อฮิตเลอร์และนายพลเอริช ฟอน ลูเดนดอร์ฟฟ์ (Eric von Ludendorff)* ร่วมกันวางแผนก่อกบฏเพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* แต่ปัญหาการวางแผนที่ไม่รัดกุมและการประสานงานที่ไม่ดีพอทำให้การก่อกบฏซึ่งรู้จักกันดี ในชื่อกบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch)* หรือ กบฏที่เมืองมิวนิก (Munich Putsch)* ประสบความล้มเหลว ฮิตเลอร์ถูกตัดสินจำคุก ๕ ปีที่คุกลันด์สแบร์กอัมเลช ซึ่งเดิมเป็นปราสาทเก่าและตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองมิวนิก เขาได้รับสิทธิพิเศษในฐานะนักโทษการเมืองคนสำคัญโดยถูกขังในห้องคุกที่กว้างขวางมีหน้าต่างติดกับสวนทั้งมีเฟอร์นิเจอร์พร้อม และได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตอย่างอิสระในบริเวณคุกตอนกลางวันแต่ต้องกลับเข้ามานอนในห้องขังเวลากลางคืน นอกจากนี้ ฮิตเลอร์ยังสามารถแต่งเครื่องแบบพรรคนาซีและใช้เสื้อผ้าของตนเองได้และเก็บของขวัญที่ผู้เยี่ยมเยือนมอบให้รวมทั้งต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมได้โดยไม่มีการจำกัดเวลา ห้องขังของเขาจึงมักมีเพื่อนฝูง สมาชิกพรรค นักหนังสือพิมพ์มาเยี่ยมเยือนไม่ขาดระยะ และมักใช้เวลาพูดคุยกันยาวนาน และบางครั้งฮิตเลอร์ก็จัดประชุมพรรคและงานสังสรรค์ขึ้นด้วย หากไม่มีแขกมาเยี่ยมฮิตเลอร์ใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และปรัชญาการเมือง หนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเขามากคือหนังสืออัตชีวประวัติของเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) นักอุตสาหกรรมรถยนต์ชาวอเมริกันเรื่อง My Life and Work และ The International Jew หนังสือเล่มหลังฟอร์ดอ้างว่าพวกยิวคบคิดวางแผนที่จะยึดครองโลกและแสดงความคิดเห็นต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และสหภาพแรงงาน ฮิตเลอร์เห็นด้วยกับฟอร์ดอย่างมากและนำความคิดดังกล่าวมาขยายต่อในหนังสือของเขาในเวลาต่อมา เขาชื่นชอบฟอร์ดจนถึงกับมีภาพถ่ายของฟอร์ดที่ห้องทำงานด้วย
แม้ฮิตเลอร์จะมีชีวิตอิสระและสุขสบายในคุกแต่เขาก็หงุดหงิดและขุ่นเคืองกับสภาพแวดล้อม มักซ์ อัมนัน (Max Amnan) ผู้จัดการด้านธุรกิจของเขาจึงแนะให้เขาเขียนอัตชีวประวัติเพื่อระบายอารมณ์และความเครียด ฮิตเลอร์ไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว เพราะเขาขาดทักษะด้านการขีดเขียน แต่ก็เปลี่ยนความคิดในที่สุด เมื่อมีการเสนอให้เขาบอกเล่าเรื่องราวที่ต้องการสื่อโดยให้มีคนจดบันทึกและเรียบเรียงขึ้น พัสดีคุกยอมอนุญาตให้ เอมิล เมาริช (Emile Maurice) คนขับรถของฮิตเลอร์มาทำหน้าที่บันทึกและพักอยู่กับฮิตเลอร์ในคุก แต่เมาริชเก่งด้านการใช้กำลังและไม่ใช่นักเขียนที่มีฝีมือ รูดอลฟ์ เฮสส์ (Rudolf Hess)* ปัญญาชนจากมหาวิทยาลัยมิวนิกซึ่งชื่นชมและภักดีต่อฮิตเลอร์อย่าง มากและถูกคุมขังที่คุกเดียวกันกับฮิตเลอร์ จึงอาสาสมัครทำงานดังกล่าวและยังทำหน้าที่ เป็นเลขานุการส่วนตัวของฮิตเลอร์ด้วย แม้เฮสส์จะเรียบเรียงและขัดเกลาเรื่องที่บันทึกให้สละสลวย แต่เนื้อหาของหนังสือก็เข้าใจยากเพราะฮิตเลอร์มักย้ำความคิดกลับไปกลับมา และขาดความต่อเนื่อง หลายตอนสับสนและคลุมเครือทั้งสื่อความคิดไม่ชัดเจน ภาษาที่ ใช้ค่อนข้างห้วนและโผงผางซึ่งทำให้น่าเบื่อและอ่านยาก
ไมน์คัมพฟ์เล่มแรกซึ่งเขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๓-๑๙๒๔ พิมพ์เผยแพร่ที่เมืองมิวนิกเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ โดยสำนักพิมพ์ ฟรันซ์ เอแฮร์ (Franz Eher) ใช้ชื่อหนังสือว่า Eine Abrechnung (A Reckoning) เพื่ออุทิศให้แก่สมาชิกพรรคนาซีที่เสียชีวิตรวม ๑๓ คนในเหตุการณ์กบฏโรงเบียร์ เนื้อหาของหนังสือว่าด้วยชีวิตวัยเยาว์ของฮิตเลอร์และพัฒนาการทาง ความคิดของเขาที่ มีต่อการเมืองและแผ่นดินบ้านเกิดความเป็นมาของพรรคนาซี และแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรค หนังสือมียอดจำหน่ายครั้งแรก ประมาณ ๙,๔๐๐ เล่ม ส่วนเล่มที่ ๒ เขียนเสร็จใน ค.ศ. ๑๙๒๖ หลังจากที่ฮิตเลอร์ถูกปล่อยตัวใน ค.ศ. ๑๙๒๔ และกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบที่ เมืองแบร์ชเทสกาเดิน (Berchtesgaden) เพื่อคอยเวลาพ้นกำหนดการลงโทษเนื่องจากเขาถูกห้ามไม่ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในที่สาธารณะจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๘ หนังสือเล่ม ๒ ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เดียวกันใช้ชื่อว่า Nationalsozialistische Bewegung มีเนื้อหาว่าด้วยแนวความคิดทางการเมืองของพรรคนาซีและวัตถุประสงค์ตลอดจนแนวทางการสร้างชาติอารยันที่ยิ่งใหญ่ ชาวเยอรมันไม่ได้ให้ความสนใจหนังสือไมน์คัมพฟ์ทั้ง ๒ เล่มมากนักเพราะเห็นว่ามีเนื้อหาสับสนและยากแก่การเข้าใจ
ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ มีการนำไมน์คัมพฟ์มารวมพิมพ์เป็นเล่มเดียวกันและพิมพ์เผยแพร่ขนาดคัมภีร์ไบเบิลฉบับประชาชน จำหน่ายเล่มละ ๘ มาร์ค เพื่อให้แพร่หลายในวงกว้างซึ่งประสบความสำเร็จพอควร เพราะขายได้กว่า ๕๐,๐๐๐ เล่มใน ค.ศ. ๑๙๓๐ และ ๙๐,๐๐๐ เล่มใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เมื่อฮิตเลอร์ก้าวสู่อำนาจทางการเมืองในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาสั่งให้พิมพ์ไมน์คัมพฟ์ ๑,๐๐๐,๐๐๐ เล่มเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของพรรค และในเวลาอันสั้นไมน์คัมพฟ์ก็เป็นหนังสือขายดีที่มียอดจำหน่ายเกือบเท่าหนังสือคัมภีร์ไบเบิล ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒
หนังสือจำหน่ายได้ถึง ๕.๒ ล้าน เล่มสมาชิกพรรคและข้าราชการทุกคนต้องมีหนังสือคน ละ ๑ เล่ม และชาวเยอรมันถูกโน้มน้าวให้ใช้ไมน์คัมพฟ์เป็นของขวัญวันเกิดและในโอกาสต่าง ๆ ไมน์คัมพฟ์จึง เป็นคัมภีร์ของพรรคนาซี และเป็นพิมพ์เขียวของการสร้างจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ฮิตเลอร์อธิบายความเป็นมาของหนังสือไมน์คัมพฟ์แก่เหล่านายทหารว่าหากเขาไม่เข้าคุกก็คงจะไม่มีหนังสือเล่มนี้ และสาระของหนังสือมาจากประสบการณ์ชีวิตที่สรุปแนวความคิดหลักทางการเมืองทั้งหมดของเขา ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เยอรมนีกำลังปราชัยในสงคราม ไมน์คัมพฟ์มียอดจำหน่ายทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปสูงถึง ๑๐ ล้านเล่ม
ฮิตเลอร์ได้รับอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคของคนเชื้อชาติต่าง ๆ และความบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ของคนเชื้อสายเยอรมันซึ่งเป็นเผ่าอารยัน ตลอดจนการรวมคนเชื้อสายเยอรมัน (Pan- Germanism) มาจากนักคิดและปัญญาชนคนสำคัญที่เป็นชาวเยอรมันและชาวต่างชาติ เขาประมวลความคิดของโชแซฟ กงต์เดอโกบีโน (Joseph Comte de Gobineau) นักทฤษฎีด้านเชื้อชาติชาวฝรั่งเศสที่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ และเห็นว่าชนชาติผิวขาวเหนือกว่าชนชาติอื่น ๆ ทุกด้าน ไฮน์ริช ไทรท์ชเคอ (Heinrich Treitschke) ศาสตราจารย์สาขาประวัติศาสตร์ที่เชิดชูความยิ่งใหญ่ของรัฐชาติและความจำเป็นของการก่อสงครามเพื่อขยายดินแดนและเชิดชูความเหนือกว่าของรัฐ ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) วาทยกรชาวเยอรมันที่กล่าวถึงตำนานและวีรกรรมของชาวเยอรมันในการสร้างวัฒนธรรมชาติ และคาร์ล ลือเกอร์ (Karl Lueger) ผู้นำพรรคสังคมคริสเตียนที่ เสนอความคิดต่อต้านยิวและยกย่องคนเชื้อสายเยอรมันที่เป็นคริสเตียน ตลอดจนคาร์ล เฮาส์โฮเฟอร์ (Karl Haushofer) ศาสตราจารย์สาขาภูมิรัฐศาสตร์ที่ เสนอความคิดเกี่ยวกับการขยายดินแดนไปทางตะวันออก และชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)* ผู้เสนอแนวคิดว่าด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีและเหมาะสม เป็นต้น ดังนั้น แนวความคิดหลักของไมน์คัมพฟ์ที่ฮิตเลอร์เน้นครั้งแล้วครั้งเล่าคือเรื่องเชื้อชาติ ความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ และความเหนือกว่าของเชื้อชาติ
ฮิตเลอร์แบ่งมนุษยชาติออกเป็น ๓ ประเภท ประเภทแรกคือผู้สร้างวัฒนธรรม (Kulturbegründer) ได้แก่ เชื้อชาติอารยันหรือนอร์ดิก กับพวกอเมริกันเหนือชนชาติอารยันมีลักษณะโดดเด่น คือ ผิวสีอ่อน ผมสีทอง และนัยน์ตาสีฟ้า และเป็นชนชาติปกครอง (master race) ประเภทที่ ๒ คือผู้ที่สืบทอดวัฒนธรรม (Kulturträger) คือ ญี่ปุ่น และเชื้อชาติตะวันออกอื่น ๆ ที่รับอารยธรรมของพวกอารยัน ประเภทสุดท้ายคือผู้ทำลายวัฒนธรรม (Kulturzerstorer) คือพวกยิวและนิโกร ฮิตเลอร์เห็นว่าชนชาติอารยันหรือเยอรมันซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกต้องทำหน้าที่ปกครองชนชาติอื่น ๆ ที่ด้อยกว่าเป็นหน้าที่และสิทธิอันชอบธรรมของพวกอารยันที่จะปกครอง กดขี่ข่มเหง และกำจัดเชื้อชาติอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของเผ่าพันธุ์ตน เยอรมนีซึ่งมีพื้นที่แออัดจึงต้องการการขยายดินแดนไปทางตะวันออก (Lebennsraum-Living space) และเป็นสิทธิและหน้าที่ในการแย่งชิงดินแดนของชนชาติสลาฟ กวาดล้างและขับไล่พวกสลาฟโปล และเช็กออกไปเพื่อให้ชาวเยอรมันเข้าไปตั้งรกรากแทน สงครามคือการแสดงออกในพลังและอำนาจของ ชาติอารยันเพื่อปกป้องชาติพันธุ์ที่บริสุทธิ์ การขยายดินแดนและเพิ่มจำนวนประชากรเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของการต่อสู้เพื่อดำรงอยู่และเพื่อปกครองโลก
ฮิตเลอร์ยังเสนอแนะเป็นนัยว่าเยอรมนีจะเป็นชาติยิ่งใหญ่ได้หากได้ครอบครองพื้นที่ อันกว้างใหญ่ของยุโรปซึ่งหมายถึงดินแดนของรัสเซีย การจะครอบครองรัสเซียได้จำเป็นต้องสร้างพันธมิตรกับญี่ปุ่นเพื่อให้รัสเซียต้องเผชิญศึกสองด้าน และเปิดโอกาสให้เยอรมนีสามารถขยายอำนาจเข้ายึดครองดินแดนส่วนยุโรปของรัสเซียได้ง่าย โดยญี่ปุ่นก็สามารถครอบครองดินแดนชายฝั่งทะเล มองโกเลีย และพื้นที่ส่วนใหญ่ของไซบีเรียไมน์คัมพฟ์จึงให้กรอบความคิดของแนวทางการสร้างพันธมิตรที่จะเอื้อประโยชน์ต่อเยอรมนี และความจำเป็นของการสร้างความแข็งแกร่งทางทหารของเยอรมนีในแนวรบด้านตะวันตก นอกจากนี้ ฮิตเลอร์เน้นว่าชนชาติเยอรมันทั้งหมดต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในจักรวรรดิไรค์ซึ่งหมายถึงการดำเนินนโยบายการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ด้วย ขณะเดียวกันเยอรมนีต้องสร้างพันธมิตรกับอังกฤษและอิตาลีเพื่อกำจัดฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศสเป็นศัตรูของเยอรมนีและเป็นแหล่งพักพิงของพวกยิวต่างชาติ
ฮิตเลอร์เชื่ออย่างฝังใจว่าพวกยิวมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาไม่ชอบและเกลียดชังซึ่งรวมทั้งเรื่องศิลปะร่วมสมัย สิ่งลามกอนาจาร และ โสเภณี เป็นต้น ยิวเป็นพวกสันหลังยาวและไร้ค่าทั้งไม่มีวัฒนธรรม ส่วนหนุ่มยิวผมดำที่มีดวงตาฉายประกายของปีศาจร้ายก็มักจะคอยซุ่มเฝ้าผู้หญิงอารยันที่ไร้เดียงสาเพื่อหาจังหวะและโอกาสที่จะผสมเชื้อร้ายเข้าไปในสายเลือดเพื่อทำให้เป็นสายพันธุ์ที่ต่ำต้อย โดยมีจุดมุ่งหมายทำลายอารยธรรมและการเมืองของชาวอารยันให้ต่ำลงเพื่อสืบสายพันธุ์ตนเข้าแทนที่ ยิวจึงเป็นกาฝากที่เกาะติดร่างของผู้อื่นและพยายามสร้างอาณาจักรในรูปของชุมชนทางศาสนาขึ้นในรัฐที่ตนอาศัยอยู่ เพราะการป้องกันตัวของพวกยิวคือการติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่ฉลาดกว่าเพื่อฉกฉวยวัฒนธรรมของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง นอกจากนี้ ยิวยังนำพวกนิโกรหรือผิวสีมายังลุ่มแม่น้ำไรน์เพื่อมุ่งทำลายชาวเยอรมันด้วย
ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์ยังกล่าวหายิวว่ามีส่วนทำให้เยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เขาอ้างว่าพลเมืองยิวร้อยละ ๑ กำลังเข้ายึดครองเยอรมนีอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเข้าควบคุมธุรกิจอุตสาหกรรมชั้นนำและหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับทั้งคุมเสียงข้าง มากในพรรคการเมืองใหญ่ ๆ เช่น พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party - SPD)* การควบคุมทางสังคมและมีบทบาททางการเมืองของยิวดังกล่าวคือความหายนะของเยอรมนี เพราะประเทศกำลังถูกปกครองด้วยคนโง่ฮิตเลอร์เห็นว่ายิว ๑๐๐ คนยังไม่อาจเปรียบเทียบกับความเฉลียวฉลาดของคนเยอรมัน ๑ คนได้
ฮิตเลอร์เห็นว่ายิวคบคิดกับพวกคอมมิวนิสต์เพื่อยึดครองโลกและทำให้ชาวอารยันต้องกลายเป็นทาส เขายอมรับทัศนะของฟอร์ดที่ว่าร้อยละ ๗๕ ของพวกคอมมิวนิสต์เป็นยิว และอ้างหนังสือ The Protocols of the (Learned) Elders of Zion๑ ที่ว่ายิวมีแผนยึดครองและควบคุมโลกด้วยการเงิน ฮิตเลอร์กล่าวว่ายิวกับพวกคอมมิวนิสต์ที่เชื่อในลัทธิมากซ์ (Marxism)* ต่างร่วมมือกันจนมีชัยชนะในรัสเซียและกำลังขยายอำนาจคุกคามดินแดนส่วนที่เหลือของยุโรป การก่อการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์คือแผนปฏิบัติการล้างแค้นของยิวที่พยายามปกปิดความต่ำต้อยของตน และชัยชนะของพวกยิวคือจุดจบของมนุษยชาติ ผู้คนที่มีเชื้อชาติบริสุทธิ์ต้องไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของยิว ดังนั้น จิตวิญญาณของเยอรมันจะ "เกิดขึ้นใหม่" ได้หากพลเมืองเยอรมันสามารถรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ไว้ เยอรมนีจึงต้องสร้าง "รัฐทิวทอนิกของชาติเยอรมัน" (Teutonic State of the German Nation) ขึ้นด้วยการกวาดล้างทั้งยิวและคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซากและชัยชนะในการกำจัดพวกอมนุษย์แต่ละครั้งจะนำไปสู่ชัยชนะในบั้นปลายซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกจะงดงามและดีขึ้น
ไมน์คัมพฟ์ยังเสนอความคิดว่าด้วยรูปแบบประชาธิปไตยของเยอรมนีโดยประชาชนเลือกผู้นำอย่างอิสระ และการปกครองต้องเป็นไปตามลำดับชั้นเช่นสายบังคับบัญชาในกองทัพและมีผู้นำเพียงคนเดียวที่ตัดสินสั่งการสำหรับคนทั้งหมด สิทธิและหน้าที่ของปัจเจกชนต้องขึ้นต่อความคิดเห็นส่วนรวม รัฐเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจที่จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตซึ่งหมายถึงการมีระเบียบวินัย มีความเสียสละ และมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐมี ๗ ข้อคือ ต้องให้ "เชื้อชาติ" เป็นหลักนโยบายสำคัญ ต้องสร้างเชื้อชาติที่บริสุทธิ์ ต้องคุมกำเนิดพลเมืองที่อ่อนแอและที่เป็นโรคพันธุกรรม ต้องส่งเสริมการกีฬาในหมู่เยาวชนเพื่อให้มีความแข็งแกร่งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับชาติพันธุ์ใหม่ต้องให้กองทัพเป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญที่สุด ต้องเน้นการศึกษาอบรมเรื่อง "ความรู้ด้านเชื้อชาติ" ในโรงเรียน และต้องปลูกฝังความรักชาติและความภาคภูมิใจในชาติในหมู่ประชาชน รัฐเป็นเพียงวิธีการและเครื่องมือที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายของการเป็นรัฐชาติอารยันที่บริสุทธิ์
ในการสร้างรัฐที่บริสุทธิ์ให้สำเร็จนั้นต้องอาศัยผู้นำที่มีความสามารถ อุทิศตน และมีความรับผิดชอบสูงไมน์คัมพฟ์ได้เน้นบทบาทและหน้าที่ของผู้นำที่มีจิตสำนึกต่อประชาชนและเป็นผู้นำที่ได้รับการ"เลือกสรร" จากพระเป็นเจ้าให้มีบารมีเหนือคนอื่น ๆ ผู้นำจึงต้อง มีอำนาจสูงสุดและมีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชนทั้งเจตนารมณ์ของผู้นำซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคนทั้งชาติสามารถแสดงออกได้ด้วยการลงประชามติประชาชนคือที่ มาแห่งอำนาจของผู้นำหรือฟือเรอร์ (Führer)* และผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้นำจำนวนหนึ่งที่ทำหน้าที่บริหารควบคุมกลไกสำคัญของรัฐคือตัวเชื่อมระหว่างฟือเรอร์กับประชาชน ฮิตเลอร์กล่าวว่าการจะได้มาซึ่งผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไปนั้นยากยิ่งกว่าการงมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก ดังนั้น หลักการเป็นผู้นำ (Fuhrerprinzip - leadership principle) จึงต้องเน้นย้ำให้ประชาชนตระหนักและซึมซับอยู่ตลอดเวลาจนเชื่อมั่นโดยไม่มีข้อแม้ว่าผู้นำคือผู้มีอำนาจสูงสุดเฉกเช่นพระเป็นเจ้า
ไมน์คัมพฟ์ยังเสนอแนะความคิดว่าวิธีการที่ได้ผลที่สุดในการกำจัดเชื้อชาติด้อยคือการใช้แก๊สพิษสังหาร แนวความคิดดังกล่าวได้นำไปสู่การสร้างห้องรมแก๊สในค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ในเวลาต่อมา และเป็นที่มาของนโยบายการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย (Final Solution)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ด้วยนอกจากนี้ แนวความคิดการสร้างความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติในหนังสือจึงไม่เพียงทำให้ขบวนการต่อต้านชาวยิว (Anti-Semiticism)* มีบทบาทสำคัญขึ้นในสังคมเยอรมันเท่านั้น แต่ในเวลาต่อมายังทำให้ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* ผู้นำอันดับสองของพรรคนาซีคิดโครงการคัดสรร "พ่อและแม่พันธุ์" เพื่อสร้างเด็กอารยันที่สมบูรณ์แบบเพื่อเป็น "ชนชั้นปกครอง" ขึ้น รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ "น้ำพุแห่งชีวิต" (Lebensborn - Fountain of Life) เพื่อดูแลและเป็นที่พักของผู้หญิงอารยันที่เป็นแม่พันธุ์ด้วย
แนวความคิดสำคัญอีกประการหนึ่งที่ไมน์คัมพฟ์เน้นคือเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ ฮิตเลอร์ศึกษารูปแบบและวิธีการโฆษณาปลุกระดมของพวกลัทธิมากซ์ ศาสนจักรนิกายคาทอลิก การโฆษณาชวนเชื่อของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ ๑ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนแนวคิดจิตวิทยาของซิกมุนด์ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เขาอธิบายเทคนิคและกลวิธีการโฆษณาปลุกระดมเพื่อดึงอารมณ์และจิตใจของมวลชนให้คล้อยตามความคิดเห็นที่ชี้นำ รวมทั้งการให้มวลชนมีส่วนร่วมทางความคิดที่ชี้แนะด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหรือการแสดงที่มีสีสันตื่นเต้น มโหฬาร และงดงามตระการตาตลอดจนการชุมนุมเดินขบวนที่ยิ่งใหญ่ต่าง ๆ เป็นต้น ฮิตเลอร์กล่าวว่ากลุ่มคนมีลักษณะคล้ายผู้หญิงที่ต้องการให้มีคนควบคุม หัวใจของการโฆษณาชวนเชื่อคือการเข้าถึงจิตใจผู้ฟังด้วยการ "โกหกคำโต" (big lies) เพื่อให้เชื่อ เพราะมวลชนจะไม่สงสัยเรื่องการโกหกใหญ่ ๆ ยิ่งโกหกมากเท่าไหร่คนก็จะยิ่งเชื่อมากขึ้นเท่านั้นเนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ เป็นไปไม่ได้หากใครจะโกหกได้มากขนาดนั้นฮิตเลอร์สรุปว่า ความสำเร็จของการโฆษณาชวนเชื่อต้องอาศัยการย้ำแล้วย้ำอีกไม่จบสิ้น โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเรื่องเท่านั้นเพื่อให้เป็นที่สนใจของคนอยู่เสมอ แต่เรื่องนั้น ๆ ต้องย้ำต่อไปเรื่อย ๆ
ในส่วนที่เกี่ยวกับชีวิตของฮิตเลอร์นั้น ไมน์คัมพฟ์ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเท่าใดนักเพราะหนังสือต้องการสร้างภาพลักษณ์ของฮิตเลอร์ในแง่ดีโดยสะท้อนเรื่องราวการต่อสู้ที่ มีจุดมุ่งหมายของเขาเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่แก่เยอรมนี รายละเอียดหลายตอนในหนังสือไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น บิดาเป็นคนดุและเข้มงวดทั้งมักบังคับและเฆี่ยนตีบุตรให้ปฏิบัติตามคำสั่งสอน แต่ฮิตเลอร์กลับให้ภาพบิดาเป็นคนที่เอาใจใส่ดูแลบุตรและคอยชี้แนะ แนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเพื่อให้บุตรมีชีวิตที่ดีงามหรือในช่วงที่ฮิตเลอร์ใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญในกรุงเวียนนาฮิตเลอร์กลับกล่าวว่าเขาทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำด้วยการเป็นกรรมกร เป็นต้น นอกจากนี้ หนังสือยังเสนอเรื่องราวจิปาถะอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับฮิตเลอร์ เช่น งานอดิเรกปลูกต้นไม้และต่อยมวย
ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ไมน์คัมพฟ์ฉบับแปลภาษาอังกฤษโดยราล์ฟ แมนไฮม์ (Ralph Manheim) พิมพ์เผยแพร่ที่สหรัฐอเมริกาโดยสำนักพิมพ์โฮตัน มิฟฟลิน แอนด์คัมพานี (Houghton Mifflin and Company) ณ เมืองบอสตัน ยอดจำหน่ายค่อนข้างดีแต่ในเวลา อันสั้นหนังสือก็เริ่มถูกวิพากษ์โจมตี ออทโท โทลิชุส (Otto Tolischus) นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันสัญชาติอเมริกันเขียนสรุปวิจารณ์ไมน์คัมพฟ์ในหนังสือพิมพ์ New York Times ว่าเป็นหนังสือที่ผสมผสานระหว่างอัตชีวประวัติร้อยละ ๑๐ แนวความคิดทางการเมืองร้อยละ ๙๐ และอธิบายเทคนิคของการโฆษณาชวนเชื่อร้อยละ ๑๐๐ ในปีเดียวกันนั้นหนังสือพิมพ์ American Hebrew Jewish Tribune เรียกร้องให้งดจำหน่ายและเผยแพร่หนังสือโดยอ้างว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสมและมีอคติทางเชื้อชาติ ในปีรุ่งขึ้นองค์การคณะกรรมาธิการชาวยิวอเมริกัน (American Jewish Committee) ก็รณรงค์ให้กวาดล้างหนังสือ และกลุ่มปัญญาชนชาวยิวที่มีบทบาทในสังคมอเมริกันก็ทำจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เรียกร้องให้ห้ามจำหน่ายและเผยแพร่ไมน์คัมพฟ์ต่อสาธารณชน แต่การเคลื่อนไหวทางความคิดดังกล่าวประสบความล้มเหลวในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเชโกสโสวะเกียและโปแลนด์ก็ห้ามเผยแพร่ไมน์คัมพฟ์ด้วย
แม้ไมน์คัมพฟ์จะเปิดเผยความคิดและเจตนารมณ์ของฮิตเลอร์ก่อนที่เขาจะมีบทบาทและอำนาจในเยอรมนี และก่อนที่เยอรมนีจะก่อชนวนของสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* แต่ผู้นำของประเทศยุโรปหลายประเทศก็ไม่ได้สนใจต่อหนังสือไมน์คัมพฟ์เท่าใดนักและพยายามเพิกเฉยต่อท่าทีแข็งกร้าวของฮิตเลอร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนานาประเทศพยายามสร้างบรรยากาศของความร่วมมือเพื่อรักษาสันติภาพในยุโรป และดำเนินนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทและข้อขัดแย้งซึ่งอาจนำไปสู่สงคราม ขณะเดียวกันระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศก็เปิดโอกาสให้ฮิตเลอร์ใช้เป็นข้ออ้างในการไม่อนุญาตให้แปลต้นฉบับที่สมบูรณ์ไมน์คัมพฟ์ฉบับแปลภาษายุโรปต่าง ๆ จึงเป็นฉบับย่อซึ่งเนื้อหาสำคัญหลายส่วนถูกตัดออก ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ไมน์คัมพฟ์ฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสที่สมบูรณ์ถูกฮิตเลอร์เรียกร้องค่าเสียหายจากสำนักพิมพ์ด้วยข้ออ้างละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์และห้ามจัดพิมพ์เผยแพร่ ไมน์คัมพฟ์ฉบับแปลภาษาอังกฤษที่ฮิตเลอร์เห็นชอบจะตัดเนื้อหาเรื่องแนวความคิดการโจมตีฝรั่งเศสและนโยบายการรุกรานด้วยสงครามออกเพื่อปกปิดจุดมุ่งหมายที่สำคัญของฮิตเลอร์
อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เล็กน้อย เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียตได้เสนอให้มีการเพิ่มกำลังด้านยุทโธปกรณ์และงบประมาณทางทหาร โดยอ้างไมน์คัมพฟ์เป็นหลักฐานว่าเยอรมนีมีแผนจะขยายดินแดนด้วยรัฐบอลติก (Baltic States)* ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สำนักพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาก็จัดพิมพ์ฉบับแปลที่สมบูรณ์ของไมน์คัมพฟ์ออกเผยแพร่ ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือขายดีในช่วงระหว่างสงครามด้วย นอกจากนี้ ในช่วงที่พรรคนาซีเรืองอำนาจ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๔๒ เนชันแนลไรค์เชิร์ช (National Reich Church) ซึ่งเป็นนิกายประจำชาติที่ พรรคนาซีจัดตั้งขึ้นและกำหนดให้ใช้ไมน์คัมพฟ์แทนคัมภีร์ไบเบิลในการประกอบพิธีทางศาสนกิจต่าง ๆ ทั้งสั่งห้ามการจัดพิมพ์เผยแพร่ไบเบิลและสื่อสิ่งพิมพ์ของโรงเรียนศาสนาในวันอาทิตย์ทั้งหมด โบสถ์และวิหารทุกแห่งต้องอยู่ใต้การควบคุมของรัฐและให้กำจัดเครื่องหมายกางเขนและเครื่องรางทางศาสนารวมทั้งไบเบิลออกจากโบสถ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศทั้งให้ถือว่าไมน์คัมพฟ์เป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ที่สุดทางศาสนา
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ลิขสิทธิ์ของไมน์คัมพฟ์เป็นของรัฐบาวาเรีย (Bavaria)* ซึ่งไม่เพียงมีสิทธิในการห้ามจัดพิมพ์และเผยแพร่ไมน์คัมพฟ์ทั่วทั้งเยอรมนีเท่านั้นแต่ยังรวมถึงทุกประเทศทั่วโลกด้วย ยกเว้นสหรัฐอเมริกากับสหราชอาณาจักร รัฐบาวาเรียจึงอ้างกฎหมายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศห้ามการจัดพิมพ์เผยแพร่ไมน์คัมพฟ์ในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศในยุโรปก็ให้ความร่วมมือด้วยเป็นอย่างดีเนื่องจากเห็นว่าไมน์คัมพฟ์มีเนื้อหาต่อต้านเชื้อชาติและปลุกเร้าขบวนการต่อต้านชาวยิวขณะเดียวกันมีการเรียกร้องให้ร้านขายหนังสือในอินเทอร์เนต เช่น Barnes and Nobles และ Amazon เป็นต้น หยุดจำหน่ายไมน์คัมพฟ์แก่ประชาชนในประเทศของตน (ไมน์คัมพฟ์ที่เผยแพร่ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษคือฉบับแปลของราล์ฟ ไมน์ไฮม์ โดยได้ลิขสิทธิ์แปลจากฮิตเลอร์ใน ค.ศ. ๑๙๒๘) อย่างไรก็ตาม ในปลายทศวรรษ ๑๙๙๐ เป็นต้นมามีการเรียกร้องให้พิมพ์และเผยแพร่ไมน์คัมพฟ์ในประเทศต่าง ๆ ด้วยข้ออ้างสิทธิเสรีภาพการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตยซึ่งรัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะสกัดกั้น โดยพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพที่จะรับรู้และแสดงออกด้านความคิดเห็น ไมน์คัมพฟ์จึงกลายเป็นประเด็นโต้แย้งทางความคิดในหลายประเทศเกี่ยวกับเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ไมน์คัมพฟ์ฉบับภาษาอาหรับซึ่งเคยเป็นหนังสือต้องห้ามจัดก็พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในเขตเยรูซาเลมตะวันออกและในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลปาเลสไตน์ และเป็นหนังสือขายดีอันดับ ๖ ในช่วงเวลาอันสั้น ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ กรรมสิทธิ์หนังสือไมน์คัมพฟ์ที่รัฐบาวาเรียครองอยู่จะสิ้นสุดลงและนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางความคิดให้มีการทบทวน เรื่องการพิมพ์เผยแพร่ไมน์คัมพฟ์ในเยอรมนี
ไมน์คัมพฟ์ได้ชื่อว่าเป็นหนังสือที่ถูกห้ามจัดพิมพ์บ่อยครั้งมากที่สุด และเป็นหนังสือสำคัญที่เขย่าโลก เล่มหนึ่ง นอร์มัน คัสซิน (Norman Cousin) นักวิจารณ์ชาวอังกฤษกล่าวว่าไมน์คัมพฟ์เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลทางสังคมมากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เพราะทุก ๆ คำในหนังสือหมายถึงชีวิตที่ดับสูญ ๑๒๕ คน และทุก ๆ หน้าจำนวน ๔,๗๐๐ คน และทุก ๆ บทมีผู้คนเสียชีวิตกว่า ๑,๒๐๐,๐๐๐ คน พลังและอำนาจของไมน์คัมพฟ์อยู่ที่การเป็นหนังสือคัมภีร์ทางการเมืองของชาวเยอรมันและเป็นคู่มือของแนวนโยบายแห่งจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓-๑๙๔๕.