Mediterranean Agreements (1887)

ความตกลงเมดิเตอร์เรเนียน (๒๔๓๐)

​​​​     ความตกลงเมดิเตอร์เรเนียนเกิดขึ้น ๒ ครั้งใน ค.ศ. ๑๘๘๗ ครั้งแรกทำขึ้นในลักษณะการแลกเปลี่ยนเอกสาร (exchange of notes) ระหว่างอังกฤษกับอิตาลีเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ และต่อมาก็ได้ทำกับออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* และสเปนด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาสันติภาพและดุลยภาพในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งทะเลอีเจียนและทะเลดำด้วยความตกลงครั้งที่ ๒ ทำขึ้นในลักษณะสนธิสัญญาระหว่าง อังกฤษกับอิตาลีและออสเตรีย-ฮังการี เพื่อป้องกันไม่ให้ จักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกีที่กำลังอ่อนแอสละสิทธิ์การครอบครองคาบสมุทรบอลข่านและตะวันออกใกล้ ความตกลงทั้ง ๒ ครั้งถือเป็นความลับและมีเยอรมนีเป็นแรงผลักดันสำคัญ
     ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและอาณาเขตโดยรอบมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ยุโรปมาแต่โบราณ ได้สั่งสมอารายธรรมและความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมทั้งมีการแย่งชิงอำนาจและการยึดครองดินแดนต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเกาะเป็นเมืองชายฝั่งทะเลและลึกเข้าไปในคาบสมุทรหรือในแผ่นดินโดยรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก็มีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องในการแสวงหาอำนาจและแย่งชิงผลประโยชน์สเปนให้ความสนใจในการควบคุมเกาะตามแนวชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศและโดยเฉพาะการควบคุมเส้นทางเข้าออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติกโดยผ่านช่องแคบยิบรอลตา (Gibraltar)* ฝรั่งเศสนอกจากจะสนใจในการรักษาอำนาจเหนือดินแดนชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของประเทศแล้ว ยังสนใจที่จะขยายอิทธิพลเข้าไปในอียิปต์และแอฟริกาเหนือรวมถึงโมรอกโกและตริโปลี (Tripoli) ด้วย อิตาลีในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของฝรั่งเศสก็สนใจเข้ายึดครองดินแดนตามแนวชายแดน เช่น แคว้นซาวอย (Savoy) เมืองนีซ (Nice) และเกาะคอร์ซิกา (Corsica) ตลอดจนเมืองท่าและเมืองศูนย์กลางความเจริญในแอฟริกาเหนือเช่นเดียวกันกับฝรั่งเศส นอกจากนั้นอิตาลียังสนใจที่จะแผ่อิทธิพลเข้าไปในดินแดนชายฝั่งทะเลเอเดรียติกทางภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรบอลข่าน ขณะที่ออสเตรีย-ฮังการีก็มี นโยบาย "มุ่งสู่ตะวันออก" (Drive to the East) ซึ่งหมายถึงการมุ่งขยายอิทธิพลเข้าไปในคาบสมุทรบอลข่านเพื่อหาทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่นเดียวกับรัสเซียก็พยายามออกสู่ทะเลโดยผ่านคาบสมุทรบอลข่านทะเลดำ และช่องแคบบอสพอรัส (Bosporas)* กับดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)*
     สำหรับประเทศอังกฤษนั้น หลังจากได้ขยายอิทธิพลเข้าไปในดินแดนหลายส่วนของแอฟริกา อินเดียและตะวันออกไกลแล้ว ก็เห็นความสำคัญของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมากยิ่งขึ้น ทะเลแห่งนี้ได้กลายเป็นเส้นทางลัดสู่ดินแดนโพ้นทะเลด้านตะวันออก เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์หรือเส้นชีวิตของอังกฤษ ซึ่งทำให้เส้นทางเข้าออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจากช่องแคบยิบรอลตาไปถึงตะวันออกใกล้ อียิปต์ ซูดาน และทะเลแดงกลายเป็นความปรารถนาของอังกฤษที่จะเข้าไปควบคุมและแสวงหาผลประโยชน์ ส่วนเยอรมนีหลังจากประสบความสำเร็จในการรวมชาติและสามารถสถาปนาจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ใน ค.ศ. ๑๘๗๑ ก็ยังไม่สนใจการแสวงหาผลประโยชน์โดยตรงในเขตทะเล เมดิเตอร์เรเนียนและอาณาจักรโพ้นทะเล เพราะการดำเนินนโยบายของเจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดียังคงจำกัดขอบเขตอยู่ภายในภาคพื้นทวีปยุโรปเป็นหลัก หลังจากบิสมาร์คได้เริ่มสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวเยอรมันและจักรวรรดิใหม่ที่จะต้องยิ่งใหญ่และเป็นศูนย์กลางของยุโรปโดยเฉพาะในด้านการเมืองและการทูต เขาได้วางหลักการสันติภาพของยุโรปด้วยการจัดระบบรัฐ (state system) บนพื้นฐานของการสร้างพันธมิตรหรือกลุ่มพันธมิตร โดยมีเยอรมนีเป็นศูนย์กลางของอำนาจไม่ใช่ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือรัสเซียซึ่งอยู่ริมขอบทวีปยุโรปอีกต่อไป
     แม้ว่าประเทศมหาอำนาจจะพยายามรักษาสันติภาพและดุลยภาพในยุโรป นับแต่การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ค.ศ. ๑๘๑๕ โดยอาศัยวิธีการเจรจาต่อรองและปรึกษาหารือบนพื้นฐานของความร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe)* แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าประเทศริมขอบยุโรปที่มีอำนาจกว่ามักจะอยู่ในฐานะได้เปรียบในการเจรจาและจัดสรรผลประโยชน์ เมื่อเกิดจักรวรรดิเยอรมันขึ้น บิสมาร์คต้องการให้เยอรมนีมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดกติกาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดระยะเวลาที่เขาดำรงตำแหน่ง ๑๙ ปี เขาวางระบบรัฐที่ซับซ้อน จนได้รับการขนานนามว่า "ระบบบิสมาร์ค" (Bismarckian System) ซึ่งปรากฏชัดเจนในการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน (Congress of Berlin)* ค.ศ. ๑๘๗๘ บิสมาร์คในฐานะเจ้าภาพการประชุมได้ทำให้เยอรมนีเพิ่มบทบาทและอิทธิพลในทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศ เขาผลักดันให้มีการวางหลักการสันติภาพในยุโรปบนพื้นฐานของดุลแห่งอำนาจระหว่างกลุ่มพันธมิตรในแต่ละเขตผลประโยชน์ (sphere of interests) และเขตอิทธิพล (sphere of influence) โดยมีเยอรมนีทำหน้าที่เป็น "นายหน้าผู้ซื่อสัตย์" (honest broker) ในการดูแลจัดสรรผลประโยชน์และการรักษากติการะหว่างประเทศได้มีการจับคู่หรือจัดกลุ่มพันธมิตรเกิดขึ้นจำนวนมากหลังการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลินโดยเยอรมนีมีส่วนเกี่ยวข้องแต่อาจไม่ได้ร่วมลงนามในความตกลงหรือสนธิสัญญาหลายฉบับ
     ความตกลงเมดิเตอร์เรเนียนใน ค.ศ. ๑๘๘๗ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีบิสมาร์คเป็นผู้ริเริ่มให้ความคิดแต่คนที่มีบทบาทสำคัญและดำเนินการให้บรรลุผลคือรอเบิร์ต แกสคอยน์-เซซิล มาร์ควิสที่ ๓ แห่งซอลส์เบอรี (Robert Gascoyne-Cecil, 3rd Marquis of Salisbury)* นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๘๙๒ ได้มีการเจรจานำไปสู่ความตกลงร่วมกันอย่างลับ ๆ ระหว่างอังกฤษกับอิตาลีในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๘๗ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศทั้งสองและรักษาสันติภาพในเขตเมดิเตอร์เรเนียน โดยให้มีความพยายามร่วมกันที่จะรักษาสถานภาพเดิมในภูมิภาคดังกล่าว เพราะการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งหรือสงครามได้ ความตกลงนี้ไม่มีผลถึงความร่วมมือทางทหารแต่เป็นความร่วมมือในการเฝ้าระวังและรักษาผลประโยชน์ในเขตเมดิเตอร์เรเนียนเป็นสำคัญ แม้อิตาลี (รวมทั้งเยอรมนี) ประสงค์จะให้มีการลงนามในลักษณะการทำสนธิสัญญาแต่อังกฤษยังไม่พร้อมที่จะไปถึงขั้นนั้นจึงขอให้มีการลงนามร่วมกันในลักษณะการแลกเปลี่ยนเอกสาร ต่อมาในวันที่ ๒๔ มีนาคมของปีเดียวกันอังกฤษกับออสเตรีย-ฮังการี และในวันที่ ๔ พฤษภาคม อิตาลีกับสเปนก็ได้ลงนามในลักษณะเดียวกัน ในกรณีของอังกฤษกับออสเตรีย-ฮังการีได้มีการเน้นย้ำเป็นพิเศษเกี่ยวกับการรักษาสันติภาพและดุลยภาพภายใน เขตทะเลอีเจียนและทะเลดำด้วย
     ความตกลงเมดิเตอร์เรเนียนครั้งแรกนี้ แม้จะไม่มีผลผูกพันทางการทหารระหว่างคู่สัญญา และทำให้ดูเหมือนว่าจะไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าที่ควร แต่ในทางการทูตถือว่าเยอรมนีประสบผลสำเร็จอย่างงดงามในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่มีอิตาลีและออสเตรีย-ฮังการีซึ่งอยู่ในกลุ่มสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance)* ร่วมในการรักษาผลประโยชน์ในภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อยุโรป โดยมีอังกฤษซึ่งหลุดพ้นจากนโยบายโดดเดี่ยวเข้ามาร่วมเครือข่ายด้วย นอกจากนั้นความตกลงนี้ยังกีดกันไม่ให้ฝรั่งเศสและรัสเซียเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของเขตผลประโยชน์และเขตอิทธิพลในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเท่ากับแสดงให้เห็นถึงความพยายามของบิสมาร์คที่จะโดดเดี่ยวฝรั่งเศสและรัสเซียในการเมืองระหว่างประเทศของยุโรปด้วย
     อย่างไรก็ดี การโดดเดี่ยวฝรั่งเศสและรัสเซียพร้อมกันจะก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบการเมืองระหว่างประเทศของยุโรปได้ โดยเฉพาะหากฝรั่งเศสและรัสเซียเกิดตกลงใจจะร่วมมือเป็นพันธมิตรกัน บิสมาร์คจึงหาทางออกด้วยการดำเนินนโยบายทางการทูตประสานประโยชน์กับรัสเซีย ขณะเดียวกันก็พยายามไม่ให้ผิดใจกับออสเตรีย-ฮังการีซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของเยอรมนี แต่เป็นคู่แข่งสำคัญของรัสเซียในยุโรปตะวันออกและคาบสมุทรบอลข่าน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า สันนิบาตสามจักรพรรดิ (Driekaiserbund - League of the Three Emperors)* มีกำหนดสิ้นสุดอายุลงใน ค.ศ. ๑๘๘๗ และจะไม่มีการต่ออายุอีก บิสมาร์คจึงถือโอกาสนั้นทำสนธิสัญญาประกันพันธไมตรี (Reinsurance Treaty)* กับรัสเซียเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๗ ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งหรือสงครามในคาบสมุทรบอลข่าน ทะเลดำ และเส้นทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประเทศคู่สัญญาทั้งสองจะต้องรักษาความเป็นกลางหรือต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหาเพื่อรักษาสันติภาพและดุลยภาพในภูมิภาคดังกล่าว ทั้งนี้ความเป็นกลางไม่รวมถึงกรณีที่รัฐเซียขัดแย้งกับออสเตรียฮังการีหรือเยอรมนีขัดแย้งกับฝรั่งเศส สนธิสัญญานี้เป็นสัญญาลับเช่นเดียวกับความตกลงเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งยังเป็นการตลบหลังพันธมิตรด้วยการจัดสรรผลประโยชน์ที่ขัดกันระหว่างกลุ่มหรือเครือข่ายพันธมิตรอีกด้วย
     ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๘๗ หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีไม่นานได้เกิดวิกฤตการณ์ในบัลแกเรียอันมีผลให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับรัสเซีย ในฐานะพันธมิตรรัสเซียตามสนธิสัญญาที่พึ่งลงนามไปแล้ว เยอรมนีจะ ต้องให้การสนับสนุนรัสเซียหากสถานการณ์เลวร้ายเป็นสงครามระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับรัสเซีย ขณะเดียวกันเยอรมนีก็ต้องสนับสนุนออสเตรีย-ฮังการีตามข้อผูกพันในสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี เพื่อแก้ปัญหาความตกลงเชิงซ้อนนี้ บิสมาร์คตัดสินใจทาบทามฟรันเชสโก คริสปี (Francesco Crispi)* นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิตาลีระหว่าง ค.ศ ๑๘๘๗-๑๘๙๑ (สมัยแรก) ให้เป็นตัวเชื่อมในการเจรจากับออสเตรีย-ฮังการี โดยในชั้นแรกได้มีการลงนามในการแลกเปลี่ยนเอกสารระหว่าง ๒ ประเทศที่อิตาลีสัญญาจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ออสเตรียฮังการีในกรณีทำสงครามกับรัสเซีย และเมื่อการเจรจาดำเนินต่อมาโดยมีอังกฤษเข้าร่วมด้วย การเจรจาจึงนำไปสู่การลงนามในความตกลงเมดิเตอร์เรเนียนครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๘๗ ความตกลงนี้ทำในรูปสนธิสัญญาลับ มีเนื้อหาที่ปรับปรุงมาจากความตกลงครั้งแรกแต่ได้ทำให้เข้มแข็งขึ้น โดยทั้ง ๓ ประเทศ คือ อิตาลี ออสเตรีย-ฮังการี และอังกฤษตกลงที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อรักษาสันติภาพและดุลยภาพในคาบสมุทรบอลข่าน ทะเลดำ ช่องแคบและตะวันออกใกล้ด้วยวิธีการรักษาสถานภาพเดิมและจะไม่ยอมให้จักรวรรดิออตโตมันซึ่งกำลังอ่อนแอหรือเป็น "คนป่วยแห่งยุโรป" (The Sick Man of Europe) ต้องอยู่ในภาวะที่ถูกบีบใหต้องสละสิทธิ์การครอบครองและการควบคุมผลประโยชน์ของตนในดินแดนและน่านน้ำดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประเทศหรือกลุ่มประเทศใดแสวงหาประโยชน์จากความอ่อนแอของจักรวรรดิออตโตมันได้
     ความตกลงเมดิเตอร์เรเนียนครั้งที่ ๒ เป็นชัยชนะทางการทูตของบิสมาร์คอีกครั้งหนึ่ง เพราะแม้ว่าเยอรมนีจะไม่มีส่วนในการลงนามในความตกลงดังกล่าวแต่เยอรมนีก็สามารถทำให้เกิดความเคลื่อนไหวและความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรกลุ่มหนึ่งในการสกัดกั้นรัสเซียไม่ให้เข้ามาแทรกแซงกิจการของภูมิภาค ขณะที่เยอรมนีก็สามารถรักษาสัมพันธไมตรีกับรัสเซียตามข้อผูกพันสัญญาประกันพันธไมตรีไว้ได้
     ความตกลงเมดิเตอร์เรเนียนทั้ง ๒ ครั้งสะท้อนให้เห็นความสามารถของบิสมาร์คในเวทีการเมืองและการทูตของยุโรป ระบบบิสมาร์คมีความซับซ้อน เป็นความลับ และมีบิสมาร์คเป็นผู้วางแผนและควบคุมกติกาและการจัดสรรผลประโยชน์ ความซับซ้อนมีมากจนเกินกว่าจะมีใครสานต่อได้เมื่อสิ้นยุคของบิสมาร์คใน ค.ศ. ๑๘๙๐ ระบบจึงแตกสลายแต่ละประเทศตัดสินอนาคตของตนเองตามผลประโยชน์ของประเทศตนสนธิสัญญาหลายฉบับจึงถูกละเลยหรือสิ้นสภาพไปโดยปริยาย และความตกลงเมดิเตอร์เรเนียนก็สิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๘๙



คำตั้ง
Mediterranean Agreements
คำเทียบ
ความตกลงเมดิเตอร์เรเนียน
คำสำคัญ
- คริสปี, ฟรันเชสโก
- สันนิบาตสามจักรพรรดิ
- สนธิสัญญาประกันพันธไมตรี
- ซอลส์เบอรี, รอเบิร์ต แกสคอยน์-เซซิล มาร์ควิสที่ ๓ แห่ง
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- ความตกลงเมดิเตอร์เรเนียน
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน
- ความร่วมมือแห่งยุโรป
- ตริโปลี
- ดาร์ดะเนลส์, ช่องแคบ
- ซาวอย, แคว้น
- คอร์ซิกา, เกาะ
- นีซ, เมือง
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- บอสพอรัส, ช่องแคบ
- เยอรมัน, จักรวรรดิ
- ยิบรอลตาร์, ช่องแคบ
- ระบบบิสมาร์ค
- กลุ่มสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1887
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๓๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf