คูร์ท โยเซฟ วัลด์ไฮม์ เป็นเลขาธิการคนที่ ๔ ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๒–๑๙๘๑ เป็นนักการทูต นักกฎหมายและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชาวออสเตรีย และเป็นประธานาธิบดีของออสเตรียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๖–๑๙๙๒ ในช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๘๕ ชื่อของวัลด์ไฮม์ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปในระดับนานาชาติ เมื่อเขาถูกฝ่ายตรงข้ามและสื่อโจมตีว่าเป็นอดีตนาซีในกองทัพของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* หัวหน้าพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Worker’s Party; Nazi Party)* ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ซึ่งทำให้เกิด “กรณีเรื่องวัลด์ไฮม์” (Waldheim Affair) ขึ้น แต่เขาก็ผ่านพ้นปัญหานี้ไปได้และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
วัลด์ไฮม์เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ที่เมืองซังท์อันเดร-เวอร์แดร์น (Sankt Andrä-Wördern) ชนบทเล็ก ๆ ใกล้กรุงเวียนนา บิดาซึ่งมีอาชีพเป็นผู้ตรวจการโรงเรียนเป็นชาวเยอรมันเชื้อสายเช็ก Czech) ได้เปลี่ยนชื่อจากวาตสลาวิค (Václavik) ในภาษาเช็ก เป็นวัทซลาวิค (Watzlawick) ในภาษาเยอรมันใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ล่มสลายลงพร้อม ๆ กับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* หลังจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาแล้ว วัลด์ไฮม์ถูกเกณฑ์เป็นทหารในกองทัพออสเตรียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๗ และจากนั้นก็ได้เข้าศึกษาในวิทยาลัยการทูต (Consular Academy) ในกรุงเวียนนาจนสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ช่วงแรกที่ศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยการทูต วัลด์ไฮม์ยังไม่ได้สนใจการเมืองและไม่ได้เป็นสมาชิกหรือยึดติดกับอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคหนึ่งพรรคใดโดยเฉพาะ แม้ว่าบิดาจะเป็นสมาชิกพรรคสังคมคริสเตียน (Christian Social Party) ของออสเตรียและมีบทบาทอย่างแข็งขันในพรรคนี้ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๘ หลังการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ไม่นานวัลด์ไฮม์ขณะอายุ ๒๐ ปี ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตนักศึกษาสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน (National Socialist German Students’ League) ซึ่งเป็นสาขาของพรรคนาซี หลังจากนั้นเขายังได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของหน่วยเอสเอ (SA)* ด้วย
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ วัลด์ไฮม์ถูกเกณฑ์เป็นทหารในกองทัพนาซีใน ค.ศ. ๑๙๔๑ และถูกส่งไปรบในแนวรบด้านตะวันออก โดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยรบ ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เขาได้รับบาดเจ็บจากการรบจึงถูกส่งตัวกลับแนวหลังเพื่อรักษาตัวและพักฟื้นชั่วระยะหนึ่ง หลังจากนั้น เขาก็กลับเข้าประจำการในกองทัพอีกครั้งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๒–๑๙๔๕ อย่างไรก็ดี เรื่องการกลับเข้าประจำการในกองทัพครั้งหลังนี้ได้กลายเป็นประเด็นปัญหาโต้แย้งนานาชาติในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของวัลด์ไฮม์ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๕–๑๙๘๖ เพราะในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาชื่อ In the Eye of the Storm ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ วัลด์ไฮม์กล่าวว่าหลังปลดประจำการจากสมรภูมิในแนวรบด้านตะวันออกใน ค.ศ. ๑๙๔๑ แล้ว เขาไม่ได้กลับเข้ารับราชการทหารในกองทัพอีกเลย แต่ได้ใช้เวลาหลังจากนั้นศึกษาวิชากฎหมายต่อที่มหาวิทยาลัยเวียนนา (University of Vienna) จนจบการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๔๕ รวมทั้งได้แต่งงานกับเอลิซาเบท ริทเชล (Elisabeth Ritschel) ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ด้วย ซึ่งต่อมามีบุตรด้วยกัน ๓ คนแต่หลักฐานและพยานต่าง ๆ ที่ถูกนำมาเปิดเผยในช่วงที่มีการโต้แย้งกันนั้นกลับระบุว่า หลังการพักรักษาตัวแล้ว วัลด์ไฮม์ได้กลับเข้าประจำการในกองทัพนาซีจนถึง ค.ศ. ๑๙๔๕ ซึ่งเขาได้รับยศร้อยตรี ส่วนเรื่องการแต่งงานใน ค.ศ. ๑๙๔๔ และสำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเวียนนาใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เป็นเรื่องจริง
ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงวัลด์ไฮม์ได้รับการปล่อยตัวโดยยอมแพ้แก่กองทัพอังกฤษที่มณฑลคารินเทีย (Carinthia) ซึ่งเขาให้การว่าเขาได้หนีจากการบังคับบัญชาของนายพลอะเล็กซานเดอร์ เลือร์ (Alexander Löhr) แห่งกองทัพเยอรมันกลุ่มอี (German Group E) ที่กำลังทำการเจรจากับอังกฤษอยู่ และไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเวียนนาจนจบการศึกษา ต่อมาวัลด์ไฮม์ได้เข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ และใน ค.ศ. ๑๙๔๘ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเลขานุการเอกของสำนักงานผู้แทน (Legation) ออสเตรียในกรุงปารีส ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๑–๑๙๕๖ เขากลับมาประจำกระทรวงการต่างประเทศในกรุงเวียนนา ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๕๖ หลังออสเตรียได้รับอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ซึ่งเป็นผลจากการทำสนธิสัญญารัฐออสเตรีย (Austrian State Treaty ค.ศ. ๑๙๕๕)* กับมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตร เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำแคนาดาจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๐ จากนั้นได้กลับมาประจำกระทรวงอีกครั้ง ใน ค.ศ. ๑๙๖๔ วัลด์ไฮม์ได้เป็นผู้แทนถาวรของออสเตรียประจำองค์การสหประชาชาติซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาดำรงอยู่เป็นเวลา ๒ ปี
ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เมื่อพรรคประชาชนออสเตรีย (Austrian People‘s Party) ที่เขาสังกัดอยู่ได้เป็นรัฐบาลโดยมีบรูโน ไครสกี (Bruno Kreisky) เป็นนายกรัฐมนตรี วัลด์ไฮม์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงนั้นเขามีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของออสเตรียจากความเป็นกลางทางทหารอย่างเคร่งครัดตามเงื่อนไขของสนธิสัญญารัฐออสเตรีย ค.ศ. ๑๙๕๕ มาเป็นประเทศที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๗๐ เมื่อรัฐบาลพรรคประชาชนออสเตรียหมดอำนาจลง เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติเป็นครั้งที่ ๒ วัลด์ไฮม์อยู่ในตำแหน่งนี้ไม่นานก็ลาออกเพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๑ แต่เขาก็พ่ายแพ้แก่ฟรันซ์ โยนัส (Franz Jonas) นักการเมืองสังคมนิยมที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากกว่าเขา
อย่างไรก็ดีในวันที่๑มกราคมค.ศ. ๑๙๗๒ วัลด์ไฮม์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนที่ ๔ สืบต่อจากอู ถั่น (U Thant) การได้รับเลือกเป็นเลขาธิการครั้งนี้เขาได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากไครสกีซึ่งเคยทำงานร่วมกันมาทั้งในกระทรวงการต่างประเทศและในรัฐบาลที่ผ่านมา นอกจากนี้ บุคคลทั้งสองยังมีแนวคิดทางการเมืองโดยเฉพาะในเรื่องบทบาทของออสเตรียในเวทีโลกคล้าย ๆ กัน ในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์การสหประชาชาติ วัลด์ไฮม์ได้ทำหน้าที่สำคัญๆหลายเรื่องเช่นการจัดประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาที่กรุงซานตีอาโก (Santiago) ชิลีในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๗๒ การประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อมมนุษย์ที่กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) สวีเดน การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลครั้งที่ ๓ ที่กรุงคาราคัส (Caracas) เวเนซุเอลาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๔ การประชุมว่าด้วยประชากรโลกที่กรุงบูคาเรสต์โรมาเนียในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๔ และการประชุมว่าด้วยเรื่องอาหารโลกที่กรุงโรม อิตาลีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๔ นอกจากนี้เขายังได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนองค์การสหประชาชาติไปดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทในตะวันออกกลางด้วย อย่างไรก็ดี บทบาทของเขาในเรื่องนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จทั้งยังถูกบดบังจากความสามารถของเฮนรี คิสซินเจอร์ (Henry Kissinger) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น
ในวันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๗๒ อีดี อามิน (Idi Amin) ผู้นำเผด็จการอูกันดา (Uganda) ได้ส่งโทรเลขไปถึงวัลด์ไฮม์พร้อมกับส่งสำเนาไปให้ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) และโกลดา แมร์ (Golda Meir) ผู้นำอิสราเอลด้วยในโทรเลขดังกล่าวอามินยกย่องการสังหารหมู่นักกีฬาโอลิมปิกชาวยิวในนครมิวนิก (Munich) ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์จับตัวประกันนักกีฬาชาวยิวพร้อมกับตำรวจเยอรมันอีก๑คนโดยขบวนการกันยายนทมิฬ (Black September) ของปาเลสไตน์ (Palestine) ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๗๒ และกล่าวว่าเยอรมนีเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับเรื่องนี้เพราะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฮิตเลอร์ได้สังหารชาวยิวจำนวนกว่า ๖ ล้านคนนอกจากนี้ อามินยังได้เรียกร้องให้ขับอิสราเอลออกจากสมาชิกภาพขององค์การสหประชาชาติและขอให้ส่งประชากรชาวอิสราเอลไปให้อังกฤษรับผิดชอบเพราะอังกฤษมีความผิดในฐานะที่เป็นผู้จัดตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นโทรเลขดังกล่าวก่อให้เกิดการประท้วงจากนานาชาติโดยเฉพาะโฆษกองค์การสหประชาชาติได้ออกมาตอบโต้อามินในการแถลงข่าวประจำวันว่า ไม่ใช่หน้าที่ของเลขาธิการสหประชาชาติที่จะเป็นผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโทรเลขฉบับนี้ พร้อมกันนั้นเขายังย้ำว่าเลขาธิการประณามการกระทำทุกรูปแบบที่เป็นการแบ่งแยกเชื้อชาติและการฆ่าหมู่มนุษยชาติ
ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ วัลด์ไฮม์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติเป็นวาระที่ ๒ แม้ว่าจะมีการต่อต้านเขาบ้างก็ตาม วัลด์ไฮม์และจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันเขียนสารเพื่อส่งไปพร้อมกับนักบินอวกาศในชุด Voyager Golden Records ที่ขึ้นไปสำรวจอวกาศในปีนั้นนอกจากนี้ เขายังเป็นเลขาธิการสหประชาชาติคนแรกที่ได้เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๙๗๙ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๘๐ เมื่อเกิดกรณีลักพาตัวประกันชาวอเมริกันในอิหร่าน วัลด์ไฮม์ก็ได้เดินทางไปทำหน้าที่เจรจากับรัฐบาลอิหร่านที่กรุงเตหะราน (Tehran) เพื่อขอให้ปล่อยตัวประกันแต่อะยาตุลเลาะห์โคไมนี (Ayatollah Khomeini) ผู้นำอิหร่านไม่ยอมให้เขาเข้าพบ นอกจากนี้ ขณะที่อยู่ในกรุงเตหะรานมีข่าวเปิดเผยว่ามีผู้วางแผนจะสังหารเขา อย่างไรก็ดีวัลด์ไฮม์เดินทางกลับนครนิวยอร์กโดยสวัสดิภาพ เมื่อใกล้หมดวาระการดำรงตำแหน่งของเขา วัลด์ไฮม์และพอล แมกคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) นักดนตรีชาวอังกฤษอดีตสมาชิกวง The Beatles ยังได้จัดแสดงคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อช่วยเหลือชาวกัมพูชาพิการและผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากอันเป็นผลจากการทารุณกรรมของรัฐบาลกัมพูชาในสมัยพล พต (Pol Pot) ในปลาย ค.ศ. ๑๙๘๑ วัลด์ไฮม์สมัครรับเลือกเป็นเลขาธิการสหประชาชาติสมัยที่ ๓ เขาถูกผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) ใช้สิทธิยับยั้งใบสมัคร เขาหมดวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๑ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสืบต่อจากเขาคือฮาเวียร์ เปเรซ เด เกวยาร์ (Javier Pérez de Cuéllar) จากเปรู
ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ วัลด์ไฮม์ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีออสเตรียที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๖ ระหว่างการรณรงค์หาเสียงในช่วง ค.ศ. ๑๙๘๕ ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่รู้จักกันในชื่อ “กรณีเรื่องวัลด์ไฮม์” ซึ่งทำให้เขากลายเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่ออัลเฟรด วอร์ม (Alfred Worm) นักหนังสือพิมพ์สืบสวนสอบสวนเรื่องทางการเมืองของนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ของออสเตรียชื่อ Profil ได้เขียนบทความวิจารณ์ว่า วัลด์ไฮม์ละเว้นไม่เสนอความจริงหลายเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเขาในช่วง ค.ศ. ๑๙๓๘–๑๙๔๕ ในหนังสืออัตชีวประวัติที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาเผยแพร่ก่อนการรณรงค์หาเสียงไม่นานบทความนี้ได้ช่วยกระพือความสนใจของคนทั่วไปให้แสวงหาข้อเท็จจริงมากขึ้น นอกจากนี้หลังจากนั้นไม่นานสภายิวโลก (World Jewish Congress) ยังได้ออกมาแถลงการณ์เป็นการตอกย้ำบทความของวอร์มโดยกล่าวหาว่าวัลด์ไฮม์พูดเท็จเพราะไม่ได้บอกความจริงว่าเขาเป็นสมาชิกหน่วยเอสเอและเป็นทหารในกองทัพนาซีกลุ่มอีที่เข้าไปปฏิบัติการในเมืองซาโลนิกิ (Saloniki) กรีซในช่วง ค.ศ. ๑๙๔๒–๑๙๔๓ ซึ่งปรากฏอยู่ในแฟ้มของคณะกรรมาธิการสืบสวนอาชญากรรมสงครามของสหประชาชาติ (United Nations War Crime Commission) การที่สภายิวโลกรีบออกแถลงการณ์สนับสนุนวอร์มเพราะต้องการแก้แค้นวัลด์ไฮม์จากการที่เขามีนโยบายต่อต้านอิสราเอล และเข้าข้างปาเลสไตน์ในสมัยที่เขาเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาตินโยบายดังกล่าวไม่เพียงทำให้สภายิวโลกไม่พอใจอย่างมากเท่านั้น แต่ยังทำให้วัลด์ไฮม์มีศัตรูในองค์การสหประชาชาติเพิ่มขึ้นด้วย
วัลด์ไฮม์ตอบโต้การกล่าวหาเหล่านั้นว่าเป็นการกล่าวเท็จอย่างแท้จริงและเป็นการกระทำอันชั่วร้ายอย่างไรก็ดี ในที่สุดเขายอมรับว่ารู้เรื่องการสังหารหมู่มนุษยชาติของนาซี โดยกล่าวว่า “ใช่ ข้าพเจ้ารู้ และรู้สึกตกใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมาก แต่จะให้ข้าพเจ้าทำอย่างไร เพราะว่าข้าพเจ้าต้องเลือกระหว่างการยังคงทำหน้าที่ต่อไปกับถูกลงโทษ” ทั้งยังเสริมว่าเขาไม่เคยยิงเหยื่อหรือเคยเห็นเหยื่อแม้แต่เพียงรายเดียวนอกจากนี้ อดีตผู้บังคับบัญชาของวัลด์ไฮม์ในกองทัพยังออกมาให้การเพิ่มเติมว่าวัลด์ไฮม์ทำงานอยู่ที่โต๊ะในที่ทำงานตลอดเวลา ต่อมาไครสกีอดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรียเชื้อสายยิวยังได้ออกมาช่วยวัลด์ไฮม์ตอบโต้การกล่าวหาของสภายิวโลกว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ โดยกล่าวเพิ่มเติมว่าชาวออสเตรียคงไม่ยอมให้ชาวยิวนอกประเทศมาบอกเขาว่าใครควรจะเป็นประธานาธิบดีของเขาอย่างแน่นอน
สาเหตุส่วนหนึ่งของความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากการที่ออสเตรียปฏิเสธที่จะยอมรับต่อนานาชาติว่าออสเตรียมีบทบาทร่วมกับกองทัพนาซีในการดำเนินการประหัตประหารชาวยิวในสมัยที่ออสเตรียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ นอกจากนี้หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ออสเตรียยังปฏิเสธที่จะจ่ายเงินชดเชยให้แก่เหยื่อของนาซี อีกทั้งตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๐ เป็นต้นมายังปฏิเสธที่จะสอบสวนชาวออสเตรียที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่นาซีในระดับสูงด้วย รวมทั้งถือว่าศิลปวัตถุของชาวยิวที่ออสเตรียริบเอาไว้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังคงเป็นทรัพย์สมบัติของทางการออสเตรียต่อมา รัฐบาลออสเตรียเพิ่งคืนศิลปวัตถุดังกล่าวให้แก่เจ้าของเดิมเมื่อกรณีเรื่องวัลด์ไฮม์ยุติลงในช่วงหลังของทศวรรษ ๑๙๘๐
เนื่องจากกรณีเรื่องวัลด์ไฮม์ซึ่งเป็นการเปิดเผยเกี่ยวกับชีวิตของเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียงเล็กน้อย ทำให้มีการคาดเดาและวิเคราะห์ที่มาของกรณีดังกล่าวอย่างกว้างขวางทั้งในระดับรัฐบาลและในภาคเอกชน ฉะนั้นรัฐบาลออสเตรียจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นหลายคณะเพื่อสอบสวนประวัติของเขาอย่างเป็นทางการคณะกรรมการเหล่านี้ได้ตรวจสอบเอกสารทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเอกสารของหน่วยข่าวกรองสหรัฐอเมริกาและได้พบว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสนใจอดีตของวัลด์ไฮม์มานานแล้ว แต่ในขณะนั้นไม่ได้มีการนำมาเปิดเผยเพราะวัลด์ไฮม์ยังไม่ได้มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองอย่างไรก็ดี ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๗๑ หนังสือพิมพ์ออสเตรียที่เข้าข้างเยอรมันชื่อ Sulzberger Volkblatt ได้ตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับอดีตของวัลด์ไฮม์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ รวมทั้งกล่าวว่าเขาเคยเป็นสมาชิกหน่วยเอสเอด้วยแต่ในครั้งนั้นประชาชนเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรหรือไม่ได้มีผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ประการใด จึงไม่เกิดเป็นข่าวครึกโครมดังเช่นเหตุการณ์ใน ค.ศ. ๑๙๘๕
ในช่วงที่เกิดกรณีเรื่องวัลด์ไฮม์ยังได้มีการเปิดเผยว่าประวัติของวัลด์ไฮม์ในช่วงสงคราม และสิ่งที่ปกปิดในหนังสือชีวประวัติที่เขาเขียนขึ้นเอง เป็นสิ่งที่อภิมหาอำนาจทั้งสองรู้มาก่อนที่เขาจะได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ ทั้งยังมีข่าวลือว่า ในช่วงที่เขาทำงานในองค์การสหประชาชาติ เคจีบี (KGB)* ได้ข่มขู่ว่าจะเปิดเผยความลับของเขาด้วย เรื่องนี้หนังสือพิมพ์Washington Post ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๖ ได้นำมาตีพิมพ์เปิดเผยในรูปของบทความซึ่งให้รายละเอียดค่อนข้างชัดเจน ทำให้กรณีเรื่องวัลด์ไฮม์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ
คณะกรรมการชุดสำคัญสุดที่รัฐบาลออสเตรียได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนชีวประวัติของวัลด์ไฮม์ คือ คณะกรรมาธิการนักประวัติศาสตร์นานาชาติ (International Commission of Historians) ซึ่งได้ทำงานต่อมาจนค.ศ. ๑๙๘๘หลังวัลด์ไฮม์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ตีพิมพ์ “รายงานวัลด์ไฮม์” (Waldheim Report) ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๘ โดยเปิดเผยว่า ไม่พบหลักฐานว่าวัลด์ไฮม์ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่มนุษยชาติของนาซีแต่ประการใด แม้จะมีหลักฐานว่าเขาอาจรู้เรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามเหล่านั้นก็ตามทั้งนี้เพราะตำแหน่งหน้าที่ของเขาเล็กเกินกว่าที่จะเข้าไปมีบทบาทต่อต้านหรือร่วมมือกับการสังหารหมู่ชาวยิวในยูโกสลาเวีย (Yugoslavia) และในกรีซ
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการนักประวัติศาสตร์นานาชาติยังได้เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหน้าที่ของเขาในกองทัพเยอรมันกลุ่มอีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๒–๑๙๔๕ ว่า วัลด์ไฮม์ได้ทำหน้าที่ต่างๆดังนี้ เป็นล่ามและนายทหารติดต่อในหน่วยที่ ๕ อัลไพน์ (อิตาลี) [5ᵗʰ Alpine Division (Italy)] ระหว่างเดือนเมษายน–พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ เป็นนายทหารติดต่อระดับ ๒ (02 officer) ในกลุ่มต่อสู้ตะวันตก (Kampgruppe West) ในบอสเนีย (Bosnia) ในเดือนมิถุนายน–สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ เป็นล่ามในกลุ่มนายทหารติดต่อประจำกองทัพที่ ๙ อิตาลี (Italian 9ᵗʰ Army) ในกรุงติรานา (Tirana) ในช่วงต้นฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๒ เป็นนายทหารระดับ ๑ (01 officer) ของกรมทหารติดต่อเยอรมันในกองทัพอิตาลีที่ ๑๑ (Italian 11ᵗʰ Army) และในกองทหารกลุ่มที่ ๕ ใต้ (Army Group South) ในกรีซระหว่างเดือนกรกฎาคม–ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ และเป็นนายทหารระดับ ๓ (03 officer) ในกองทัพกลุ่มอี (Army Group E) ในเมืองอาร์คซาลี (Arksali) โคซอฟสกามิโตรวิกา (Kosovska Mitrovica) และซาราเยโว (Sarajevo) ระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓–มกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕
หลักฐานชิ้นเดียวกันนี้ยังได้เปิดเผยว่า ในช่วง ค.ศ. ๑๙๔๓ วัลด์ไฮม์ได้ทำหน้าที่เป็นนายทหารฝ่ายการใช้ยุทโธปกรณ์ในกองทัพกลุ่มอี ซึ่งมีนายพลเลือร์เป็นผู้บังคับบัญชา ประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเกี่ยวกับประวัติของวัลด์ไฮม์ในช่วงนี้เป็นอย่างมากก็คือบทบาทของเขาในปฏิบัติการโคซารา (Operation Kozara) ในมณฑลใกล้เคียงยูโกสลาเวียใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ซึ่งตามการไต่สวนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่๒ พบว่านักโทษพลเรือนจำนวนมากถูกสังหารโดยการใช้ปืนยิงเป็นประจำในสถานที่ที่อยู่ห่างจากที่ทำงานของวัลด์ไฮม์เพียง ๒๐๐–๓๐๐ หลาเท่านั้น และประมาณ ๓๕ กิโลเมตรจากค่ายกักกันเยนเซโนวัคซ์ (Jensenovac) แต่ใน ค.ศ. ๑๙๘๖ วัลด์ไฮม์ให้การปฏิเสธว่าเขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการสังหารหมู่พลเรือนดังกล่าว โดยอ้างว่าเขาเพียงแต่ทำหน้าที่เป็นล่ามและเสมียนเท่านั้น ไม่ได้รู้เรื่องการสังหารหมู่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ของกองทัพนาซีในมณฑลใกล้เคียงยูโกสลาเวียแต่ประการใด เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาเพียงแต่รู้ว่ามีเรื่องน่าสะพรึงกลัวเกิดขึ้นเท่านั้นแต่ไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเพราะไม่มีอำนาจหน้าที่
วัลด์ไฮม์ยังปฏิเสธว่าเขาไม่รู้ว่ามีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในบอสเนียในขณะที่สงครามระหว่างกองทัพนาซีกับกองทัพยูโกสลาเวียภายใต้การนำของยอซีป บรอซหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* กำลังรบกันอย่างดุเดือดใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ด้วย แต่จากหลักฐานของเอลี โรเซนเบาม์ (Eli Rosenbaum) กล่าวว่าใน ค.ศ. ๑๙๔๔ วัลด์ไฮม์เป็นผู้ตรวจสอบและอนุมัติแผ่นปลิวโฆษณาชวนเชื่อที่โจมตีพวกยิวที่จะนำไปโปรยในแนวหลังของกองทัพสหภาพโซเวียตซึ่งมีข้อความตอนท้ายว่า “พอแล้วสงครามยิว ฆ่ายิว เปิดตัวกันเลย” (enough of the Jewish war, kill the Jews, come over) ฉะนั้น เขาต้องรู้เรื่องการสังหารหมู่มนุษยชาติของนาซีเป็นอย่างดี และมีหลักฐานยืนยันว่าชื่อของวัลด์ไฮม์ยังปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อนายทหารที่ได้รับการเชิดชูเกียรติของกระทรวงสงครามของนาซีในฐานะผู้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติการทางทหาร โดยระบุว่าเขาได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ ๒ (Iron Cross 2ᶰᵈ Class) จากกองทัพนาซีและเหรียญ “Medal of the Crown of King Zvonimir” ซึ่งเป็นเหรียญเงินรูปกิ่งโอ๊กจากรัฐอิสระโครเอเชีย (Independent State of Croatia)ซึ่งเป็นรัฐหุ่นเชิดของนาซีในระหว่างสงคราม และอีกหลายปีต่อมาในช่วงที่เขารณรงค์หาเสียงเพื่อรับเลือกเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ เขายังได้รับอิสริยาภรณ์สูงสุดจากตีโตผู้นำยูโกสลาเวียด้วย
อย่างไรก็ดี ไซมอน ไวเซนทัล (Simon Wiesenthal)* กรรมการในสภายิวโลกได้ออกมาตอบโต้ความน่าเชื่อถือของรายงานวัลด์ไฮม์เกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวยิวในเมืองซาโลนิกิกรีซว่า เนื่องจากที่ทำงานของวัลด์ไฮม์อยู่ห่างจากซาโลนิกิเพียง ๘ กิโลเมตร และในช่วงหลายสัปดาห์ชาวยิวซึ่งเป็นประชากรประมาณ ๑ ใน ๓ ของเมืองนี้ได้ถูกส่งไปเข้าค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ที่เมืองเอาช์วิทซ์ (Auschwitz) ในโปแลนด์เป็นระยะๆฉะนั้นเขาจึงไม่เชื่อว่าวัลด์ไฮม์ไม่รู้เห็นในเรื่องนี้ และแม้ว่าวัลด์ไฮม์จะปฏิเสธเรื่องเกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวยิวแต่เขาก็ปกปิดเรื่องการรับราชการทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ อยู่ดี
กรณีเรื่องวัลด์ไฮม์ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ยืดเยื้อมาจนต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ เพราะว่าใน ค.ศ. ๑๙๙๔ วิกเตอร์ ออสตรอฟสกี (Victor Ostrovsky) อดีตเจ้าหน้าที่องค์การข่าวกรองของอิสราเอล (Mossad) ได้กล่าวอ้างในหนังสือของเขาชื่อ The Other Side of Deception ไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับบทบาทของวัลด์ไฮม์ในเรื่องการสังหารหมู่ชาวยิวของฮิตเลอร์ว่า องค์การมอสซาดได้เข้าไปตรวจสอบแฟ้มประวัติของวัลด์ไฮม์ในองค์การสหประชาชาติ ขณะที่เขาเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ จึงได้ค้นพบข้อเท็จจริงบางประการและเอกสารเหล่านี้ต่อมาเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Nethanyahu) ผู้นำอิสราเอลได้ค้นพบเช่นเดียวกัน จึงก่อให้เกิดกรณีเรื่องวัลด์ไฮม์ขึ้นในช่วง ค.ศ. ๑๙๘๖ ออสตรอฟสกียังกล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีเรื่องวัลด์ไฮม์ได้รับแรงผลักดันจากการที่วัลด์ไฮม์วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของอิสราเอลในสงครามกับเลบานอนในช่วงนั้น ทำให้อิสราเอลไม่พอใจจึงสนับสนุนให้เกิดการเปิดโปงความลับของวัลด์ไฮม์ขึ้นอย่างไรก็ดี การเปิดเผยของออสตรอฟสกีก็ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นเช่นเดียวกันเพราะออสตรอฟสกีไม่ได้อ้างถึงแหล่งที่มาของข้อมูลหนังสือเขา หรือได้รับการยืนยันจากผู้ใดทำให้เขาถูกวิจารณ์ว่าหนังสือเรื่องนี้เป็นนวนิยายมากกว่าเรื่องจริง แต่การทำงานของออสตรอฟสกีในองค์การมอสซาดเป็นเรื่องจริงที่ได้รับการยืนยันเมื่อรัฐบาลอิสราเอลพยายามยับยั้งการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ของเขาใน ค.ศ. ๑๙๙๔ แต่ไร้ผล
ส่วนวัลด์ไฮม์นั้นเขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๘๖ ใน ค.ศ. ๑๙๘๗ ทั้งตัวเขาและเอลิซาเบทภรรยามีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่ถูกจับตามองและห้ามเข้าสหรัฐอเมริกา ทั้งสองยังคงอยู่ในสถานภาพนี้ตลอดช่วงสมัยที่วัลด์ไฮม์เป็นประธานาธิบดี เมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ แล้ว วัลด์ไฮม์ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกเลย ใน ค.ศ. ๑๙๙๔ เขาได้รับอิสริยาภรณ์ไพอัสที่ ๙ (Order of Pius IX) จากสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ ๒ (John PaulII)นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เขาได้รับจากองค์การศาสนจักร นอกเหนือจากการเชิดชูเกียรติจากสถาบันต่าง ๆ ทั้งก่อนหน้าและหลังจากนั้น
คูร์ท โยเซฟ วัลด์ไฮม์ ถึงแก่อสัญกรรม ณ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่๑๔มิถุนายนค.ศ. ๒๐๐๗ ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวขณะอายุ๘๘ปีรัฐบาลได้ประกอบพิธีศพให้แก่เขาอย่างสมเกียรติที่มหาวิหารเซนต์สตีเฟน (St. Stephen’s Cathedral) ร่างของเขาถูกฝังไว้ณที่ฝังศพประธานาธิบดีในสุสานกลางกรุงเวียนนา ในสุนทรพจน์ ที่ประธานาธิบดีไฮนซ์ ฟิชเชอร์ (Heinz Fischer) แสดง ณ มหาวิหารเซนต์สตีเฟนเพื่อไว้อาลัยแก่เขา ฟิชเชอร์ได้กล่าวยกย่องวัลด์ไฮม์ไว้อย่างมากซึ่งมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า วัลด์ไฮม์เป็นชาวออสเตรียที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งซึ่งได้ถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่าได้ประกอบอาชญากรรมสงคราม ทั้ง ๆ ที่เขาก็มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศและทำงานเพื่อเสริมสร้างสันติภาพของโลก อย่างไรก็ดี ในพิธีศพของวัลด์ไฮม์ไม่มีผู้นำรัฐบาลหรือประมุขของประเทศต่าง ๆ ได้รับเชิญมาร่วมพิธี ทั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งเสียของเขาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มีแต่เพียงเจ้าชายฮันส์-อาดัมที่ ๒ (Hans-Adam II) ประมุขแห่งราชรัฐลิกเตนชไตน์ (Liechtenstein) และลุยส์ เดิร์นวัลเดอร์ (Luis Durnwalder) ผู้ว่าการรัฐทิโรลใต้ (South Tyrol) ของอิตาลีซึ่งมีความสนิทสนมกับวัลด์ไฮม์ ส่วนผู้วางหรีดไว้อาลัยมีเพียงผู้แทนรัฐบาลซีเรียและญี่ปุ่นเท่านั้น ในจดหมายของวัลด์ไฮม์ซึ่งยาว ๒ หน้ากระดาษ ที่สำนักข่าวสารออสเตรียนำออกมาตีพิมพ์เผยแพร่หลังการอสัญกรรมของเขาเพียง ๑ วัน วัลด์ไฮม์ยอมรับว่าเขาทำผิดในบางเรื่อง แต่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการสังหารหมู่มนุษยชาติและขอให้ผู้วิจารณ์ให้อภัยแก่เขาด้วย.