Wakefield, Edward Gibbon (1796–1862)

นายเอดเวิร์ด กิบบอน เวกฟีลด์ (พ.ศ. ๒๓๓๘–๒๔๐๕)

 เอดเวิร์ด กิบบอน เวกฟีลด์ เป็นนักเขียนชาวอังกฤษและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในฐานะนักส่งเสริมการบริหารจัดการอาณานิคม แม้เขาจะมีประวัติอาชญากรรมเพราะถูกศาลตัดสินในข้อหาลักพาและล่อลวงหญิงสาวจนต้องรับโทษจองจำเป็นเวลา ๓ ปีแต่งานเขียนของเขาที่เขียนขึ้นระหว่างรับโทษซึ่งสะท้อนแนวคิดในการบริหารจัดการอาณานิคมและเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ทฤษฎีการจัดการอาณานิคม” (Theory of Colonization) หรือ “ทฤษฎีการตั้งถิ่นฐานของเวกฟีลด์” (Wakefield Theory of Settlement) ก็เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลอังกฤษแนวคิดนี้ส่งเสริมให้ชาวอาณานิคมมีอิสระ สนับสนุนผู้อพยพที่มีทุนและมีแผนการใช้ที่ดินเพื่อผลกำไรให้ไปตั้งถิ่นฐานในอาณานิคมได้เท่านั้น ก่อให้เกิดการจัดตั้งอาณานิคมเซาท์ออสเตรเลีย (South Australia) ขึ้นทั้งเป็นอาณานิคมเดียวในออสเตรเลียที่ก่อกำเนิดขึ้นโดยเสรีชนเท่านั้นและไม่มีการใช้แรงงานนักโทษในการจัดตั้งอาณานิคมเหมือนที่อื่น ๆ ในดินแดนออสเตรเลียนอกจากนี้ เวกฟีลด์ยังมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการตั้งถิ่นฐานในแคนาดาและส่งเสริมการจัดตั้งอาณานิคมในนิวซีแลนด์อีกด้วย

 เวกฟีลด์เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๖ ณ กรุงลอนดอน ในครอบครัวผู้มีฐานะ เป็นบุตรชายคนที่ ๒ ของเอดเวิร์ด (Edward) และซูซานนา (Susanna) เวกฟีลด์มีพี่น้องรวม ๙ คน เวกฟีลด์ได้รับการศึกษาระดับต้น ณ โรงเรียนเวสต์มินสเตอร์ (Westminster) และจบการศึกษาที่โรงเรียนมัธยมปลายเอดินบะระ (Edinburgh) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ สำนักกฎหมายเกรส์อินน์ (Gray’s Inn) ที่มีชื่อเสียงได้ตอบรับเขาเข้าทำงาน แต่เวกฟีลด์เลือกที่จะทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการติดตามคณะทูตอังกฤษที่เดินทางไปกรุงตูริน (Turin) นครหลวงของราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Kingdom of Piedmont-Sardinia)* ใน ค.ศ. ๑๘๑๔ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวสารประจำสำนักพระราชวัง (King’s Messenger) มีหน้าที่ในการนำส่งเอกสารทางการทูตไปยังปลายทางในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนักการทูตในเวลาต่อมา ในเดือนมิถุนายนค.ศ. ๑๘๑๖เวกฟีลด์มีโอกาสเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับเอลิซา แอนน์ ฟรานซิส (Eliza Ann Frances) วัย ๑๗ ปี สตรีในตระกูลสูงและทายาทหญิงที่มั่งคั่ง ทั้งสองได้หนีตามกันไปใช้ชีวิตคู่ด้วยกันในสกอตแลนด์ ท้ายที่สุดมารดาของฝ่ายหญิงต้องยินยอมรับรองการแต่งงานของคนทั้งสองและให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบด้วย โดยครอบครัวฝ่ายหญิงได้มอบเงินสินสมรส (dowry) จำนวน ๗๐,๐๐๐ ปอนด์แก่ทั้งสองหลายคนเห็นว่าทั้งคู่มีความเหมาะสมกัน และด้วยเงินสินสมรสก้อนใหญ่ก็ทำให้ฐานะทางการเงินของเวกฟีลด์ดีขึ้นทันตา และสามารถนำเขาเข้าไปสู่สังคมชั้นสูงและแวดวงการเมืองได้ง่ายขึ้น หลังเรื่องอื้อฉาวยุติ เวกฟีลด์พาภรรยาเดินทางไปใช้ชีวิตในอิตาลีในฐานะภรรยานักการทูต ทั้งสองมีบุตรชายหญิงด้วยกัน ๒ คน ซูซาน พริสซิลลา (นินา) [Susan Priscilla (Nina)] บุตรสาวคนโตเกิดในปลาย ค.ศ. ๑๘๑๗ ส่วนเอดเวิร์ด เจอร์ริงแฮม (Edward Jerringham) บุตรชายมีอายุได้เพียง ๑๐ วันเมื่อเอลิซาเสียชีวิตในวันที่ ๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๒๐

 แม้มรณกรรมของเอลิซาจะทำให้เวกฟีลด์ได้รับแบ่งผลประโยชน์จากกองมรดกเป็นค่าใช้จ่ายประจำไปตลอดชีพ แต่ก็เป็นจำนวนไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการและความทะเยอทะยานของเขาได้ ใน ค.ศ. ๑๘๒๖ เวกฟีลด์จึงวางแผนลักพาตัวเอลเลน เทอร์เนอร์ (Ellen Turner) สาวน้อยวัย ๑๕ ปี ธิดาของวิลเลียม เทอร์เนอร์ (William Turner) มหาเศรษฐีแห่งเมืองพอตต์ชริงลีย์ (Pott Shringley) มณฑลเชสเชียร์ (Cheshire) ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการผ้าพิมพ์ลายดอก (calico printing) และโรงทอผ้าจำนวนมาก โดยให้คนรับใช้ของเขาล่อลวงเธอจากโรงเรียนประจำว่ามารดาป่วยเป็นอัมพาตและต้องการพบเธอ ทั้งต่อมาเวกฟีลด์ยังหลอกเธออีกว่ากิจการของบิดาจะถูกธนาคารยึด ทั้งเสนอแก้ไขปัญหาให้ว่าเธอจะต้องแต่งงานกับเขาโดยธนาคารจะถ่ายโอนทรัพย์สินบางส่วนให้เธอ ซึ่งตามกฎหมายแล้วก็คือจะให้สิทธิในการดูแลทรัพย์สินเหล่านั้นแก่เขาในฐานะสามี และจะทำให้ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ มั่นคงปลอดภัย โดยมีวิลเลียม เวกฟีลด์ (William Wakefield) น้องชายร่วมสมคบในแผนการครั้งนี้ด้วย เวกฟีลด์และเอลเลนได้เข้าพิธีแต่งงานกันที่เมืองเกรตนากรีน (Gretna Green) ตั้งอยู่ ณ พรมแดนสกอตแลนด์ซึ่งมีกฎหมายสมรสไม่เข้มงวดเท่าในอังกฤษ โดยมีเดวิด แลง (David Laing) ช่างตีเหล็กเป็นผู้ประกอบพิธีแต่งงานให้หลังจากนั้นเขาได้พาเธอหนีต่อไปยังฝรั่งเศส

 ขณะพำนักในฝรั่งเศส เวกฟีลด์พยายามติดต่อกับบิดามารดาของเอลเลนว่าทั้งคู่ได้แต่งงานกันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และหวังว่าพวกเขาจะให้อภัยเช่นเดียวกับบิดามารดาของเอลิซาภรรยาคนแรกของเขา แต่นายและนางเทอร์เนอร์กลับเข้าขอความช่วยเหลือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและมีการออกหมายจับเขา เวกฟีลด์และวิลเลียมน้องชายถูกนำตัวขึ้นศาลที่เวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ (Westminster Hall) ในกรุงลอนดอนและถูกศาลตัดสินจำคุกคนละ ๓ ปีเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๒๗ เวกฟีลด์ถูกส่งกลับไปรับโทษในคุกเมืองนิวเกต (New Gate) ส่วนวิลเลียมถูกส่งไปที่แลงคาสเตอร์ แคสเซิล (Lancaster Castle) ทั้งรัฐสภายังประกาศให้การสมรสระหว่างเวกฟีลด์กับเอลเลนเป็นโมฆะอีกด้วย อีก ๒ ปีต่อมา เอลเลนได้แต่งงานใหม่กับทอมัสลี (Thomas Legh) เพื่อนบ้านที่มั่งคั่ง เธอเสียชีวิตเมื่ออายุ ๑๙ ปี ขณะคลอดบุตร (สาว) คนแรก

 ขณะที่เวกฟีลด์ถูกตัดสินรับโทษอยู่นั้นเป็นช่วงเวลาที่ออสเตรเลีย [หรือมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “นิวเซาท์เวลส์” (New South Wales) ซึ่งเป็นอาณานิคมที่อังกฤษเข้ายึดครองใน ค.ศ. ๑๗๘๘ โดยจัดตั้งเป็น “นิคมนักโทษ” (penal colony) และยึดครองแต่เฉพาะดินแดนทางตะวันออก] กำลังขยายตัวและอังกฤษได้ยึดครองส่วนที่เหลือทั้งหมดหรือในส่วนที่เป็น “นิวฮอลแลนด์” (New Holland – ดินแดนทางตะวันตก) ทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๒๙ และจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นอาณานิคมผู้ตั้งถิ่นฐาน (settler colony) อีกแห่งเรียกว่า “อาณานิคมเวสเทิร์นออสเตรเลีย” (Western Australia) ทั้งรัฐบาลอังกฤษยังมีนโยบายส่งเสริมเสรีชนอพยพเข้าไปอยู่อาศัยในออสเตรเลีย นับเป็นการเปลี่ยนนโยบายแต่แรกที่จะส่งแต่นักโทษไปรับโทษและอยู่อาศัยเท่านั้น ณ คุกที่นิวเกต เวกฟีลด์พบกับนักโทษผู้หนึ่งซึ่งถูกศาลตัดสินให้ไปรับโทษที่ออสเตรเลียเป็นครั้งที่ ๒ทำให้เขาเกิดความสนใจในออสเตรเลียโดยเฉพาะนโยบายการกระตุ้นให้เสรีชนไปตั้งถิ่นฐานที่นั่น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๒๙ ผลงานเรื่อง Sketch of a Proposal for Colonizing Australia ซึ่งไม่เปิดเผยนามของเขาได้พิมพ์เผยแพร่และได้รับการต้อนรับอย่างดี จนมีการพิมพ์ซ้ำในหนังสือพิมพ์ Morning Chronicle ระหว่างวันที่ ๒๑ สิงหาคม–๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๒๙ ในชื่อเรื่องใหม่ว่า A Letter from Sydney, the Principal Town of Australia และรวมเป็นเล่มในชื่อเดียวกันออกเผยแพร่ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันโดยมีรอเบิร์ต เกาเจอร์ (Robert Gouger) เป็นบรรณาธิการ หลังจากนั้นเวกฟีลด์ก็มีหนังสือทั้งที่เขียนในเรือนจำและนอกเรือนจำออกมาเผยแพร่อีก เช่น Punishment of Death in the Metropolis (ค.ศ. ๑๘๓๑) The Swing Unmasked, or the Cause of Rural Incendiarism (ค.ศ. ๑๘๓๑) The Hangman and the Judge (ค.ศ. ๑๘๓๓) Popular Politics (ค.ศ. ๑๘๓๗)

 A Letter from Sydney สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาต่าง ๆ ของการตั้งอาณานิคมในออสเตรเลียเขาไม่เคยไปใช้ชีวิตในออสเตรเลียเลย แต่ก็เขียนได้ดีมากจนใคร ๆ คิดว่าหนังสือเขียนโดยผู้ที่พำนักในซิดนีย์จริง ๆ เขาได้เสนอแนวคิดต่าง ๆ ในการจัดตั้งและการจัดการอาณานิคมอย่างมีระบบ จนกล่าวได้ว่าเป็นการเสนอ “ทฤษฎีการจัดการอาณานิคม” ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ทฤษฎีการตั้งถิ่นฐานของเวกฟีลด์” เมื่อ A Letter from Sydney พิมพ์เผยแพร่นั้น อาณานิคมเวสเทิร์นออสเตรเลียกำลังดำเนินการแจกที่ดินแบบให้เปล่าแก่ผู้อพยพ เวกฟีลด์ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเด่นและข้อด้อยของนิวเซาท์เวลส์ เช่น การแจกที่ดินแบบให้เปล่าแก่ผู้อพยพ การขาดแคลนแรงงาน การใช้แรงงานนักโทษ และเสนอให้มีการจัดตั้งอาณานิคมอย่างมีระบบขึ้น โดยมีผู้อพยพเป็นแกนนำให้ยกเลิกการแจกที่ดินให้แก่ผู้อพยพแต่ควรจะเป็น “การจำหน่าย” มากกว่าและใน “ราคาพอเพียง” (sufficient price) ซึ่งหมายถึงราคาที่เหมาะสม เที่ยงตรง และสมดุลระหว่างการใช้ที่ดิน แรงงาน และทุน ที่ดินควรขายให้แก่ผู้ที่สามารถซื้อเป็นเจ้าของได้เท่านั้น ส่วนคนทั่วไปที่เป็นแรงงานก็ควรจะทำงานหนักและมัธยัสถ์สักระยะเวลาหนึ่งจนสามารถมีทุนรอนที่จะซื้อที่ดินเป็นของตัวเองได้ และเลื่อนฐานะตัวเองเป็นเจ้าของที่ดินและว่าจ้างแรงงาน (จากอังกฤษ) มาทำหน้าที่ที่ตนเคยทำต่อไปสำหรับทุนหมายถึงต้นทุนของรัฐบาลที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้อพยพซึ่งรัฐบาลจะได้จากการขายที่ดิน และยังจะเป็นการช่วยลดอัตราคนว่างงานและความยากจนในอังกฤษได้อีกด้วย การนำแรงงานเข้าอาณานิคมใหม่ก็ต้องระมัดระวังอย่างเคร่งครัดให้มีอัตราส่วนที่สมดุลระหว่างแรงงานกับการใช้ที่ดิน หากปฏิบัติตามนี้ก็จะสามารถพัฒนาที่ดิน ขยายชุมชน และจะไม่ขาดแคลนแรงงานอีก ทั้งชุมชนก็จะเข้มแข็งและการเมืองก็สามารถพัฒนาจนก่อให้เกิดการตั้ง “รัฐบาลที่รับผิดชอบต่อสภา” ได้ในที่สุดด้วย

 ทฤษฎีการตั้งถิ่นฐานของเวกฟีลด์เป็นที่สนใจของนักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๓๐ พวกเขาก็ได้มีการจัดตั้งสมาคมเพื่ออาณานิคมแห่งชาติ(National Colonization Society) ขึ้นเพื่อรณรงค์ให้รัฐบาลเห็นชอบกับแผนการการจัดตั้งอาณานิคมของเวกฟีลด์ อย่างไรก็ดีแม้รัฐบาลอังกฤษยังไม่คล้อยตามในทันที แต่ก็มีผลให้มีการยกเลิกการให้ที่ดินแบบให้เปล่าแก่ผู้อพยพที่นิวเซาท์เวลส์ใน ค.ศ. ๑๘๓๑แม้จะผิดหวังแต่เวกฟีลด์ซึ่งพ้นโทษแล้วและผู้สนับสนุนเขาก็ยังดำเนินการเรียกร้องต่อไปให้รัฐบาลอังกฤษจัดตั้ง “อาณานิคมแม่แบบ” (model colony) ขึ้นในตอนใต้ของออสเตรเลีย ซึ่งในขณะนั้นกัปตันชาลส์ สจวร์ต (Charles Sturt) ได้ส่งข่าวมายังอังกฤษว่าเขาได้พบผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ในบริเวณปากแม่น้ำเมอร์เรย์ (Murray) และอ่าวเซนต์วินเซนต์ (Gulf of St. Vincent) ที่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานอย่างไรก็ดีในที่สุดใน ค.ศ. ๑๘๓๓ หลังจากมีการจัดตั้งสมาคมเซาท์ออสเตรเลีย (South Australian Association) ขึ้นแทนสมาคมเพื่ออาณานิคมแห่งชาติ โดยมีนักการเมืองจำนวนมากให้การสนับสนุนและวิ่งเต้นให้มีการออกพระราชบัญญัติจัดตั้งอาณานิคมในออสเตรเลียใต้ รัฐบาลอังกฤษจึงยินยอมเสนอร่างพระราชบัญญัติให้รัฐสภาพิจารณา

 ใน ค.ศ. ๑๘๓๔ รัฐสภาก็ได้ออกพระราชบัญญัติการจัดตั้งอาณานิคมในออสเตรเลียตอนใต้หรืออาณานิคมเซาท์ออสเตรเลีย โดยกำหนดให้ฝ่ายบริหารมี ๒ ตำแหน่ง คือ “ข้าหลวง” (governor) และ “ผู้ว่าการมณฑล” (commissioner) โดยผู้ว่าการมณฑลต้องมีถิ่นพำนักในอาณานิคม มีหน้าที่ในการควบคุมการจำหน่ายที่ดินและการกำหนดจำนวนของผู้อพยพ ทั้งรัฐบาลอังกฤษยังแต่งตั้งคณะกรรมาธิการอาณานิคมขึ้นด้วย โดยมีหน้าที่จำหน่ายจัดหาทุนให้ได้อย่างต่ำ ๒๐,๐๐๐ ปอนด์ เพื่อใช้เป็นกองทุนค้ำประกันและต้องขายที่ดินให้ได้เป็นจำนวนเงิน ๓๕,๐๐๐ ปอนด์ ก่อนการตั้งอาณานิคมจะดำเนินการได้ห้ามจัดส่งหรือใช้แรงงานนักโทษ และเมื่อประชากรมีจำนวนครบ ๕๐,๐๐๐ คน ก็ให้มีการปฏิรูปการปกครองโดยให้จัดตั้งรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อสภาได้

 อย่างไรก็ดี แม้ทฤษฎีหรือแนวคิดของเวกฟีลด์จะถูกนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม แต่เขาซึ่งเป็นอดีตนักโทษก็ไม่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการอาณานิคม ทั้งยังผิดหวังที่คณะกรรมาธิการกำหนดราคาขายที่ดินเอเคอร์ละ ๑๒ ชิลลิง แทนเอเคอร์ละ ๒๐ ชิลลิง ซึ่งเขาเห็นว่าจำนวนเงิน ๒๐ ชิลลิงเป็น “ราคาพอเพียง” ดังนั้น เวกฟีลด์จึงถอนตัวออกจากกระบวนการจัดตั้งอาณานิคมเซาท์ออสเตรเลียและไม่เข้าไปเกี่ยวข้องอีกเลย

 อาณานิคมเซาท์ออสเตรเลียหรือเรียกอีกชื่อว่า “มณฑลเซาท์ออสเตรเลีย” จัดตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม มีกัปตันจอห์น ไฮนด์มาร์ช (John Hindmarsh) นายทหารเรือนอกราชการเป็นข้าหลวงคนแรก และเจมส์ เฮอร์เทิล ฟิชเชอร์ (James Hurtle Fisher) นักการเมืองพรรคทอรี (Tory)* เป็นผู้ว่าการมณฑลคนแรก โดยชุมชนแห่งแรกได้จัดตั้งขึ้น ณ บริเวณที่เป็นที่ตั้งของเมืองแอดิเลดในปัจจุบัน [Adelaide ตั้งตามพระนามของสมเด็จพระราชินีแอดิเลด พระมเหสีในพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ (William IV ค.ศ. ๑๘๓๐–๑๘๓๗)*]

 ในระยะแรกของการจัดตั้ง อาณานิคมเซาท์ออสเตรเลียเผชิญปัญหาต่างๆทั้งการขาดแคลนอาหารภาวะการว่างงาน และการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรเพราะผู้ซื้อ (เกษตรกร) ต้องใช้เวลารอเป็นระยะเวลาอันยาวนานสำหรับทางการในการสำรวจที่ดินและออกเอกสารสิทธิ์ในการใช้ที่ดิน แต่กระนั้นก็มีผู้อพยพต่างทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เช่น ใน ค.ศ. ๑๘๓๖ มีเรือกว่า ๖๐ ลำ นำผู้อพยพใหม่กว่า ๖,๐๐๐ คน เข้าเทียบท่า

 ในทศวรรษ ๑๘๔๐ สถานการณ์ต่าง ๆ ในอาณานิคมเซาท์ออสเตรเลียคลี่คลายขึ้นเป็นลำดับนอกจากการค้นพบแร่เงิน ตะกั่ว และทองแดง จนสามารถทำเหมืองกันได้ที่บริเวณเมืองเกลนออสมอนด์ (Glen Osmond) คาพุนดา (Kapunda) และเบอร์รา (Burra) แล้ว การเพาะปลูกข้าวสาลีตามทฤษฎีของเวกฟีลด์ที่จำกัดการใช้ที่ดินและแรงงานให้เหมาะสมแก่เกษตรกรที่มีทุนและการจำกัดจำนวนของที่ดินก็ทำให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก และมากกว่าอาณานิคมอื่น ๆ อีกด้วย จึงนับว่าอาณานิคมเซาท์ออสเตรเลียมีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จมากกว่าอาณานิคมเวสเทิร์นออสเตรเลียในระยะเวลาไล่เลี่ยกันที่จัดตั้งขึ้นด้วยแนวคิดเดียวกันให้เป็นอาณานิคมของชุมชนเสรี อีกทั้งยังเป็นอาณานิคมเดียวในออสเตรเลียที่ปลอดการใช้แรงงานนักโทษในการพัฒนาอาณานิคมอย่างแท้จริงอีกด้วย

 นอกจากจะมีส่วนร่วมในแผนการจัดตั้งอาณานิคมเซาท์ออสเตรเลีย ซึ่งตลอดชีวิตของเวกฟีลด์เขาก็ไม่มีโอกาสเดินทางไปออสเตรเลียเลย เวกฟีลด์ยังมีส่วนร่วมในการวางโครงสร้างการบริหารและจัดการอาณานิคมแคนาดาและนิวซีแลนด์อีกด้วย ใน ค.ศ. ๑๘๓๗ หลังจากเกิดการจลาจลต่อต้านรัฐบาลอังกฤษในเขตโลเวอร์แคนาดา (Lower Canada) และไวส์เคานต์ เมลเบิร์น (Viscount Melbourne)* นายกรัฐมนตรีพรรควิก (Whig)* ในขณะนั้นได้ส่งจอห์น จอร์จ แลมบ์ตัน เอิร์ลที่ ๑ แห่งเดอรัม (John George Lambton, 1ˢᵗ Earl of Durham)* นักการเมืองคนสำคัญของพรรคและอดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำจักรวรรดิรัสเซียไปเป็นผู้สำเร็จราชการและผู้ตรวจการอาณานิคมอังกฤษในอเมริกาเหนือเวกฟีลด์ก็มีโอกาสเดินทางร่วมคณะไปด้วยโดยเขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวของลอร์ดเดอรัม แม้จะไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการเพราะรัฐบาลอังกฤษปฏิเสธที่จะให้มีการแต่งตั้งเขาเนื่องจากเขามีภูมิหลังเป็นอดีตนักโทษแต่เวกฟีลด์ก็มีส่วนสำคัญในการจัดทำรายงานเดอรัม (Durham Report)* (แต่ไม่มีชื่อของเขาปรากฏ) ควบคู่กับลอร์ดเดอรัมและชาลส์ บุลเลอร์ (Charles Buller) ในการวางมาตรการป้องกันการแยกตัวของอาณานิคมและดำเนินการให้อาณานิคมเปลี่ยนสภาพเป็น “อาณาจักร” (dominion) ในเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations)* ที่มีอิสรภาพอย่างสมบูรณ์ (full independence) ทั้งนำทฤษฎีการตั้งถิ่นฐานของเวกฟีลด์มาใช้ด้วย ได้แก่ การส่งเสริมให้อาณานิคมปกครองตนเองและมาตรการใช้ที่ดินสาธารณะและการบริหารจัดการกับผู้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐาน

 ส่วนในนิวซีแลนด์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๓๘เวกฟีลด์ได้จัดตั้งบริษัทนิวซีแลนด์ (New Zealand Company) ซึ่งเป็นบริษัทการค้าเพื่อการตั้งถิ่นฐานในนิวซีแลนด์ ในปลาย ค.ศ. ๑๘๓๙ วิลเลียมน้องชายของเวกฟีลด์ได้ครอบครองที่ดินตอนกลางเกือบทั้งหมดของนิวซีแลนด์และจัดตั้งอาณานิคมที่พอร์ตนิโคลสัน (Port Nicholson) หรือเมืองเวลลิงตัน (Wellington) นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดตั้งเมืองนิวพลีมัท (New Plymouth) เมืองเนลสัน (Nelson) และเมืองวังกานูอี (Wanganui) และเวกฟีลด์ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างชุมชนที่ไครสต์เชิร์ช (Christchurch) และโอตาโก (Otago) อีกด้วย อย่างไรก็ดี “การจัดซื้อ” ที่ดินจำนวนมหาศาลดังกล่าวได้ถูกเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอาณานิคมไต่สวนและประกาศเป็นโมฆะ

 ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ เมื่อรัฐบาลอังกฤษได้มอบอำนาจให้แก่รัฐสภานิวซีแลนด์ที่จัดตั้งขึ้นนั้น เวกฟีลด์มีบทบาทในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ในปีเดียวกันนั้น เขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจากเขตฮัตต์แวลลีย์ (Hutt Valley) และได้รับเลือกตั้งติดต่อกัน ๒ วาระ ในคืนวันที่ ๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๕ หลังจากเขาเกษียณตัวเองจากการเป็นผู้แทนราษฎรของเขตฮัตต์แวลลีย์เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ค.ศ. ๑๘๕๕ เวกฟีลด์ได้ล้มป่วยด้วยไข้รูมาติก (rheumatic fever) และอาการปวดประสาท (neuralgia) ซึ่งต่อมาทำให้เขาละทิ้งบทบาททางการเมืองทั้งหมดและไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะ

 เวกฟีลด์ถึงแก่กรรมที่เมืองเวลลิงตันในนิวซีแลนด์เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๖๒ รวมอายุได้ ๖๖ ปี ทฤษฎีการตั้งถิ่นฐานของเวกฟีลด์เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปและถือว่าเป็น “พิมพ์เขียว” ในการวางนโยบายการบริหารจัดการอาณานิคมของอังกฤษในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙.



คำตั้ง
Wakefield, Edward Gibbon
คำเทียบ
นายเอดเวิร์ด กิบบอน เวกฟีลด์
คำสำคัญ
- เครือจักรภพ
- ทฤษฎีการจัดการอาณานิคม
- ทฤษฎีการตั้งถิ่นฐานของเวกฟีลด์
- พรรคทอรี
- พรรควิก
- รายงานเดอรัม
- เวกฟีลด์, เอดเวิร์ด กิบบอน
- เวลส์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1796–1862
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๓๘–๒๔๐๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-