ปอล เรโนเป็นนักกฎหมายและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (Third French Republic ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๔๐)* ระหว่างวันที่ ๒๑ มีนาคม - ๑๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เป็นรองหัวหน้าพรรคพันธมิตรประชาธิปไตย (Democratic Alliance) และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* รวมทั้งได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวงตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๐ จนถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เขามีชื่อเสียงโดดเด่นจากผลงานการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและการดำเนินนโยบายต่อต้านเยอรมนีอย่างแข็งขันในช่วงก่อนเกิดและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒
เรโนเกิดเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ ที่เมืองบาร์เซลลอนแนต (Barcelonnette) บิดาเป็นนักธุรกิจที่มั่งคั่งจากการทำอุตสาหกรรมผ้า เขาเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne) ในกรุงปารีส หลังสำเร็จการศึกษาเรโนประกอบอาชีพทนายความและเข้าสู่ชีวิตการเมืองตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๙ โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกจากเขตบาส-แอลป์ (Basses-Alps) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๔ และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๔๐ เขาได้รับเลือกตั้งในฐานะผู้แทนกรุงปารีสมาโดยตลอด แม้ว่าในครั้งแรกที่เขาได้รับเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เรโนจะเป็นสมาชิกของกลุ่มอนุรักษนิยม “บลูฮอริซัน” (Blue Horizon) ในพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Bloc) แต่ต่อมาไม่นานเขาก็ย้ายไปสังกัดพรรคพันธมิตรประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคการเมืองกลาง-ขวาที่ได้เข้าร่วมรัฐบาลผสมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ หลายครั้ง และยังได้เป็นรองหัวหน้าพรรคนี่ด้วย
เรโนเข้าร่วมรัฐบาลครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๓๐ โดยได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมรวมทั้งได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้นๆ ในปีเดียวกันแต่เนื่องจากเขามีความเห็นขัดแย้งกับสมาชิกพรรคเดียวกันในเรื่องเศรษฐกิจการคลัง การต่างประเทศ และการป้องกันประเทศ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาจึงไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลใดเลยจนถึง ค.ศ. ๑๙๓๘ เรโนมักมีนโยบายที่ไม่เหมือนผู้อื่น เขาจึงมักถูกโดดเดี่ยวในทางการเมืองอยู่เสมอ ในสมัยที่เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเรโนต้องการนำเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม มาใช้และเสนอให้มีการลดค่าเงินฟรังก์เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ (Great Depression)* ที่ขยายตัวเข้ามาในฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๑ เช่นเดียวกับที่เรมง ปวงกาเร (Raymond Poincaré)* เคยกระทำมาแล้วในทศวรรษ ๑๙๒๐ แต่สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคไม่เห็นด้วย เขาจึงไม่ได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อมาเป็นเวลานาน แม้ว่า ปีแยร์ เอเตียน ฟลองแดง (Pierre Etienne Flandin) หัวหน้าพรรคจะเห็นด้วยกับนโยบายปกป้องเศรษฐกิจเสรีของเขาก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เรโนยังได้กล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนการลดค่าเงินฟรังก์อีกครั้ง ทำให้เขาถูกขบวนการปฏิบัติการฝรั่งเศส (Action Française)* ซึ่งเป็นพวกขวาจัดโจมตีอย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่าคำพูดของเขาเป็นการก่อกวนให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง ทั้งยังเรียกร้องให้จับตัวเขาไปจำคุก
ในด้านการต่างประเทศและการป้องกันประเทศก็เช่นเดียวกัน ในทศวรรษ ๑๙๒๐ โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลงใหม่ ๆ เรโนมีนโยบายที่ค่อนข้างผ่อนปรนต่อเยอรมนีในเรื่องการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝรั่งเศส ในขณะที่หลาย ๆ คนทั้งในรัฐบาลและในแวดวงการเมืองไม่พอใจต่อเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* เนื่องจากเห็นว่าสนธิสัญญาดังกล่าวลงโทษเยอรมนีน้อยเกินไป คนเหล่านี้จึงสนับสนุนฝรั่งเศสให้ใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อเยอรมนีซึ่งเป็นนโยบายที่ตรงข้ามกับนโยบายของเรโน อย่างไรก็ดี นับแต่ ค.ศ. ๑๙๓๓ เป็นต้นมา เรโนก็เริ่มมีนโยบายแข็งกร้าวต่อเยอรมนีและสนับสนุนการเป็นพันธมิตรอย่างใกล้ชิดกับอังกฤษ รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสหภาพโซเวียตเพื่อถ่วงดุลอำนาจเยอรมนี นโยบายดังกล่าวแตกต่างจากนักการเมืองฝ่ายขวาส่วนใหญ่ของฝรั่งเศสในสมัยนั้น นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้มีการเสริมสร้างกำลังกองทัพให้ทันสมัยเพื่อต่อต้านการรุกรานของเยอรมนีที่กำลังแข็งแกร่งขึ้นทุกที เรโนอยู่ในกลุ่มนักการเมืองเพียงไม่กี่คนที่สนับสนุนทฤษฏีของชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* ที่ให้ฝรั่งเศสเพิ่มพูนกำลังพลและปรับปรุงวิธีการรบให้ทันสมัยโดยเน้นที่การสร้างยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่เป็นเครื่องเหล็ก เครื่องจักรกล และเครื่องบินรบที่มีประสิทธิภาพแทนการพึ่งพิงยุทธวิธีการตั้งรับอยู่กับที่โดยการสร้างแนวมาจิโน (Maginot Line)* แนวปราการระยะทางยาวทางด้านตะวันออกที่ฝรั่งเศสกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่เพื่อป้องกันการรุกรานจากเยอรมนีซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและนักการเมืองส่วนใหญ่ในขณะนั้น
อย่างไรก็ดี เรโนก็ยังคงมีความต้องการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่เสมอ ในช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๓๐ เขาจึงพยายามอีกครั้งในการเสนอให้มีการใช้นโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง เพื่อนำพาประเทศออกจากภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งที่การผ่อนปรนและยกเลิกกฎเกณฑ์และระเบียบทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ เรื่องที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางธุรกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ รวมทั้งลดเวลาทำงานของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมจากสัปดาห์ละ ๔๐ ชั่วโมงตามกฎหมายที่รัฐบาลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้นให้น้อยลงด้วย เพราะเขาเชื่อว่าวิธีการนี่จะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะเรียกนักลงทุนให้หันกลับมาลงทุนในประเทศด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้น ทั้งยังจะทำให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้และขยายตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี รัฐบาลพรรคแนวร่วมประชาชน (Popular Front) ที่มีเลอง บลูม (Léon Blum)* เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ทำตามข้อเสนอของเรโนและยังคงเดินหน้าในการสร้างกฎระเบียบที่เข้มงวดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่อไปจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งยังถูกโจมตีจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างรุนแรง รัฐบาลบลูมจึงต้องลาออกทั้งคณะในวันที่ ๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ หลังดำรงตำแหน่งเพียง ๒๘ วัน (๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ - ๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘) การเปลี่ยนรัฐบาลครั้งนี้ทำให้ข้อเสนอทางเลือกโดยเฉพาะข้อเสนอของเรโนได้รับความสนใจจากรัฐบาลหลังสมัยบลูมมากขึ้น
หลังบลูมหมดอำนาจแล้ว เอดูอาร์ ดาลาดีเย (Edouard Daladier)* ก็ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ ๓ ในช่วงนี้เขาแต่งตั้งเรโนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรโนจึงได้เข้ามามีบทบาทในรัฐบาลอีกครั้งแต่วิกฤตการณ์ซูเดเทนลันด์ (Sudetenland Crisis)* ที่เกิดขึ้นหลังเขาเข้ารับตำแหน่งไม่นานก็ทำให้เรโนมีความเห็นขัดแย้งกับสมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคพันธมิตรประชาธิปไตยอีกครั้ง เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* ของอังกฤษและฝรั่งเศสและคัดค้านการที่ประเทศทั้งสองทอดทิ้งเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* ให้ตกอยู่ในมือของเยอรมนีโดยไม่ให้ความช่วยเหลือ ในขณะที่ฟลองแดงมีความเห็นว่าการยอมให้เยอรมนีขยายอิทธิพลออกไปทางด้านตะวันออกอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตซึ่งจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของฝรั่งเศสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรโนแสดงการคัดค้านโดยนำเรื่องนี้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชน ส่วนฟลองแดงก็พยายามกดดันรัฐบาลให้ยอมรับข้อเรียกร้องของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party-NSDAP; Nazi Party)* ที่ต้องการบีบบังคับเชโกสโลวะเกียให้ยกซูเดเทนลันด์ให้แก่เยอรมนี เรโนจึงลาออกจากพรรคพันธมิตรประชาธิปไตยมาเป็นนักการเมืองอิสระ แต่เขาก็ยังได้รับการสนับสนุนจากดาลาดีเยอยู่ ฉะนั้น ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๘ เมื่อดาลาดีเยปลดปอล มาร์ชองโด (Paul Marchandeau) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เขาเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้และดำเนินนโยบายอ่อนเกินไปออกจากตำแหน่ง เรโนจึงได้ดำรงตำแหน่งแทนระหว่างปลาย ค.ศ. ๑๙๓๘ ถึงต้น ค.ศ. ๑๙๔๐ ในช่วงที่เรโนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขาได้สร้างความแข็งแกร่งให้แก่กำลังกองทัพโดยสนับสนุนดาลาดีเยให้ซื้อเครื่องบินรบที่ทันสมัยจากสหรัฐอเมริกาผ่านชอง มอนเน (Jean Monnet)* ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ และในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ หลังกองทัพนาซียึดครองเชโกสโลวะเกียแล้ว และมีทำทีว่าสงครามในยุโรปอาจเกิดขึ้นในไม่ช้า เรโนยังร่วมมือกับดาลาดีเยเร่งเร้าให้มอนเนรีบแก้ไขอุปสรรคการจัดซื้อเครื่องบินจากสหรัฐอเมริกา ให้ได้ในขณะเดียวกันเขาก็ได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมอย่างรวดเร็วและแข็งขันและรัฐบาลก็สามารถยุติการนัดหยุดงานประท้วงของฝ่ายค้านได้ภายในเวลา ๑ วัน ในการแสดงสุนทรพจน์ต่อชุมชนเศรษฐกิจครั้งหนึ่งเรโนกล่าวยํ้าถึงความสำคัญของเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมว่า ฝรั่งเศสมีชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและเพื่อทำให้เศรษฐกิจระบบนี่ดำเนินต่อไปได้จึงจำเป็นต้องเชื่อฟังกฎระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎเกี่ยวกับผลกำไรการเสี่ยงของปัจเจกบุคคล ตลาดเสรี และความเจริญเติบโต ที่เกิดจากการแข่งขัน
การปฏิรูปของเรโนประสบความสำเร็จอย่างสูงและมีการดำเนินงานตามโครงการใหญ่ ๆ หลายโครงการโดยไม่ได้มีการตัดทอนค่าใช้จ่ายในด้านการป้องกันประเทศลงรายได้ของประเทศเพิ่มจาก ๓๗ พันล้านฟรังก์ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ มาเป็น ๔๘ พันล้านฟรังก์ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การขยายตัวของการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ก้าวกระโดดจากร้อยละ ๗๖ เป็นร้อยละ ๑๐๐ ระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ - พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ อย่างไรก็ดี ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เล็กน้อย เรโนก็ไม่สามารถมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจของฝรั่งเศสต่อไปได้เพราะเขาต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำสงครามได้ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอลงอย่างมาก
ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ มาจนถึงต้น ค.ศ. ๑๙๔๐ หลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว นักการเมืองฝ่ายขวาของฝรั่งเศสหลายคนก็ยังไม่ค่อยแน่ใจเกี่ยวกับทิศทางของสงคราม เพราะมีความเชื่อว่าการคุกคามส่วนใหญ่จะมาจากสหภาพโซเวียตมากกว่ามาจากเยอรมนี นอกจากนี้ การโจมตีฟินแลนด์ของสหภาพโซเวียตในสงครามฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๔๐ (Winter War of 1940) หรือสงครามรัสเซีย-ฟินแลนด์ (Russo-Finnish War)* ยังทำให้นักการเมืองเหล่านั้นเชื่อมั่นในทฤษฎีนี้มากขึ้นและลดความวิตกกังวลที่มีต่อภัยคุกคามจากทางด้านเยอรมนี ดาลาดีเยจึงปฏิเสธที่จะส่งกองทัพไปช่วยเหลือชาวฟินน์ที่ถูกสหภาพโซเวียตรุกรานในขณะที่สงครามกับเยอรมนีก็กำลังดำเนินอยู่ อย่างไรก็ดี ข่าวการทำสัญญาสงบศึก (Armistice) ระหว่างสหภาพโซเวียตกับฟินแลนด์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ก็ทำให้ฟลองแดงและปีแยร์ ลาวาล (Pierre Laval)* เปิดประชุมสภานิติบัญญัติโดยเป็นการประชุมลับโดยทันที และไม่ยอมรับการกระทำของดาลาดีเย ทำให้รัฐบาลดาลาดีเยหมดอำนาจลงในวันที่ ๑๙ มีนาคม และในวันที่ ๒๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เรโนที่หลายคนเชื่อมั่นว่ามีนโยบายต่อต้านเยอรมนีอย่างแข็งขันก็ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๑๘ ของฝรั่งเศสพร้อมกับได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย
แม้ว่าเรโนจะได้รับความนิยมมากขึ้นทุกทีแต่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรโดยการออกเสียงครั้งเดียว เขากลับได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส (SFIO) มากกว่าครึ่ง ในขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ในพรรคของเขางดออกเสียง โดยรวมรัฐบาลเรโนได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมากจากพรรคฝ่ายซ้าย แต่ถูกต่อต้านจากพรรคฝ่ายขวาส่วนใหญ่ รัฐบาลของเขาจึงขาดเสถียรภาพ เนื่องจากนักการเมืองกลุ่มขวาเรียกร้องให้ฝรั่งเศสโจมตีสหภาพโซเวียตไม่ใช่เยอรมนี นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรยังบีบบังคับให้เขาแต่งตั้งดาลาดีเยผู้ซึ่งเรโนเชื่อว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อความอ่อนแอของฝรั่งเศสเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันชาติและสงคราม (Ministry of National Defence and War) ในรัฐบาลของเขาด้วย การดำเนินงานชิ้นแรก ๆ ของเรโนหลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่สำคัญชิ้นหนึ่งคือการลงนามในปฏิญญาร่วมกับนายกรัฐมนตรีอาร์เทอร์ เนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Arthur Neville Chamberlain)* แห่งอังกฤษเพื่อให้คำมั่นว่าฝรั่งเศสและอังกฤษจะไม่แยกกันลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ นอกจากนี้ เรโนยังเชื่อว่าสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะไม่ยืดเยื้อและเห็นด้วยกับทฤษฏีการขยายสงครามออกไปทางคาบสมุทรบอลข่าน หรือยุโรปเหนือ เขาจึงสนับสนุนอังกฤษในการรบทางเรือระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีในยุทธการที่นอร์เวย์ (Battle of Norway)* ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ซึ่งยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายพันธมิตร ในทันทีที่รู้ข่าวการถอนทัพเรือของอังกฤษออกจากนอร์เวย์ในวันที่ ๒๖ เมษายนเรโนก็เดินทางไปกรุงลอนดอนโดยด่วนเพื่อหว่านล้อมให้อังกฤษยืนหยัดต่อสู้ในนอร์เวย์ต่อไป
อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ หลังเรโนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ถึง ๒ เดือน กองทัพนาซีก็เริ่มดำเนินการโจมตีฝรั่งเศสโดยยกกองทัพเข้ามาทางเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก และมีท่าทีว่าจะยกเข้ามาถึงกรุงปารีสได้ในไม่ช้า ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม เมื่อกองทัพรถถังแพนเซอร์ของเยอรมนีตีฝ่าวงล้อมของกองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษเข้ามาจนประชิดพรมแดนของฝรั่งเศสแล้วเรโนก็ได้โทรศัพท์ไปถึงเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษเพื่อขอความช่วยเหลือโดยกล่าวด้วยข้อความที่รู้จักกันแพร่หลายว่า “เราพ่ายแพ้แล้ว เราถูกโจมตี เราแพ้สงคราม แนวหนัาถูกตีแตกแล้ว กองทัพข้าศึกเข้ามาใกล้จะถึงเมืองเซดอง (Sédan)” ต่อมาเรโนยังได้แต่งตั้งเดอโกลซึ่งเขาสนับสนุนมาโดยตลอด และเป็นผู้หนึ่งในการบัญชาการทัพที่ต่อสู้กับกองทัพนาซีมาอย่างได้ผลในช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๔๐ เป็นผู้บัญชาการกองทัพและรองปลัดกระทรวงป้องกันประเทศ ระหว่างวันที่ ๑๐ พฤษภาคม จนถึงวันที่ ๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เรโนปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง และได้ขอให้โรแบร์ ชูมอง (Robert Schuman)* จากพรรคขบวนการประชาชนริพับลิกัน (Popular Republican Movement-MRP) ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในกิจการด้านเยอรมนีเข้ามาช่วยเหลือรวมทั้งต้องยอมให้จอมพล อองรี-ฟิลิป เปแตง (Henri-Philippe Pétain)* วีรบุรุษแห่งสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งมีอายุมากแล้วเข้ามาร่วมรัฐบาล เพื่อรับมือกับสงครามและใช้ความสามารถทั้งหมดที่มีอยู่ต่อสู้กับกองทัพนาซี นอกจากนี้ ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เขายังได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาส่งกำลังทางอากาศมาสนับสนุนฝรั่งเศสในการทำสงครามตอบโต้กับกองทัพนาซีด้วย แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบ
อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ รัฐบาลเรโนก็จำต้องทิ้งกรุงปารีสเพื่อปล่อยให้เป็นเมืองเปิดและย้ายไปตั้งอยู่ที่เมืองบอร์โด (Bordeaux) เพื่อใช้เป็นฐานบัญชาการรบและควบคุมสถานการณ์ที่กำลังยํ่าแย่ลงทุกทีในขณะนั้นแม้ว่าเปแตงจะได้แนะนำเรโนให้ยอมแพ้และลงนามในสัญญาสงบศึกกับเยอรมนี แต่เขาก็ยังยืนกรานที่จะต่อสู้ต่อไป นอกจากนี้ เมื่อกรุงปารีสแตกและตกเป็นเขตยึดครองของกองทัพนาซีในวันที่ ๑๔ มิถุนายนแล้วเปแตงยังกดดันเรโนให้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพโดยแยกจากมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรอื่น ๆ แต่เขาก็ยังคงปฏิเสธและชิงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเปิดทางให้เปแตงและพรรคพวกเข้ามาบริหารประเทศในท่ามกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เรโนได้รับข้อเสนอของเชอร์ชิลล์และมอนเนให้จัดตั้งสหภาพอังกฤษ-ฝรั่งเศส (Anglo-French Union) เพื่อร่วมมือกันต่อต้านการรุกรานของเยอรมนีอย่างมีประสิทธิภาพผ่านทางเดอ โกล แม้ว่าเรโนจะนำแผนดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนั้นแต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุม ทั้งยังไม่ได้รับการสานต่อในรัฐบาลเปแตงแต่ประการใด แผนนี้จึงถูกทอดทิ้งโดยปริยาย
หลังการลงนามในสัญญาสงบศึกระหว่างฝรั่งเศสภายใต้การนำของเปแตงกับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน แล้ว ในวันที่ ๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เรโนก็ถูกจับเป็นอาชญากรสงครามในข้อหาต่อต้านกองทัพนาซีและไม่ร่วมมือกับรัฐบาลวิชี (Vichy Government)* รัฐบาลหุ่นเชิดของนาซี โดยเปแตงเป็นผู้ออกคำสั่ง แต่เนื่องจากเปแตงไม่ต้องการดำเนินการไต่สวนและตัดสินคดีในฝรั่งเศสเขาจึงส่งตัวเรโนไปรับการไต่สวนในเยอรมนี หลังจากนั้นเรโนก็ถูกคุมขังในค่ายกักกันในเยอรมนีและออสเตรียจนสิ้นสงคราม เขาได้รับการปล่อยตัวโดยกองทัพฝ่ายพันธมิตรจากที่คุมขังใกล้เมืองวอกล์ (Worgl) ออสเตรีย เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ซึ่งเป็นวันที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในยุโรปยุติลง
ในช่วงหลังสงครามเรโนได้กลับคืนสู่ชีวิตทางการเมืองอีกครั้ง โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๕๔ เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดต่าง ๆ ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๔ (Fourth French Republic) อีก ๓ ครั้ง คือ ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและการเศรษฐกิจ (Ministry of Finance and Economic Affairs) ค.ศ. ๑๙๕๐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความสัมพันธ์กับอาณานิคมและตะวันออกไกล (Ministry of Relations with Partner States and the Far East) และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๕๔ เป็นรองนายกรัฐมนตรีแต่ความพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของเขา ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ และ ๑๙๕๓ ในช่วงที่ฝรั่งเศสประสบมรสุมทางการเมืองอย่างหนักก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยทั่วไป เรโนมีนโยบายสนับสนุนกระบวนการบูรณาการยุโรป (European integration) ร่วมกับนักยุโรปนิยม (Europeanist) ร่วมสมัยกับเขาหลายคนไม่ว่าจะเป็นการประชุมเพื่อจัดตั้งสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๙ การจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and steel Community-ECSO* ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ หรือแม้แต่การจัดตั้งประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรปหรืออีดีซี (European Defense Community-EDC)* ในต้นทศวรรษ ๑๙๕๐ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จก็ตามนอกจากนี้ ในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ (Fifth French Republic) เมื่อเดอ โกลเพื่อนเก่าของเขากลับมามีอำนาจอีกครั้งเรโนก็ให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลเดอ โกลเป็นอย่างดีทั้งยังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาการยกร่างรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ด้วย ต่อมา เขายังได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกหลายตำแหน่งแต่ใน ค.ศ. ๑๙๖๒ เรโนก็เริ่มมีปัญหาขัดแย้งกับเดอ โกล เนื่องจากเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเดอ โกลที่จะยกเลิกระบบคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college system) โดยหันมาใช้ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงแทนเขาจึงลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง และใช้ชีวิตในปั้นปลายอย่างสงบด้วยการเขียนหนังสือ
ในด้านชีวิตส่วนตัว เรโนสมรสครั้งแรกกับชีนอองรี-โรแบร์ (Jeanne Henri-Robert) บุตรสาวของทนายความก่อนเข้าสู่ชีวิตการเมืองเล็กน้อย ทั้งสองมีบุตรด้วยกันหลายคน ต่อมา ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เรโนก็เป็นม่าย เขาสมรสอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๔๙ ขณะอายุ ๗๑ ปี และมีบุตรอีก ๓ คน
ปอล เรโนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๖ ที่เมืองเนยยี-ซูร์-แซน (Neuilly-sur-Seine) ขณะอายุ ๘๘ ปี เขามีผลงานเขียนและบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการเมือง การป้องกันประเทศ และการต่างประเทศของฝรั่งเศสทิ้งไว้เป็นมรดกหลายเรื่อง งานเขียนเรื่องสำคัญของเขาที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว ได้แก่ Courage de la France (ค.ศ. ๑๙๓๙) Le problème militaire français (ค.ศ. ๑๙๔๕) La France a sauvé l’Europe (ค.ศ. ๑๙๔๗) Au coeur de la mêlée, La politique étrangère du gaullisme (ค.ศ. ๑๙๖๔) และ Mémoires (ค.ศ. ๑๙๖๐-๑๙๖๓).