สนธิสัญญาประกันพันธไมตรีเป็นสนธิสัญญาลับระหว่างจักรวรรดิเยอรมันกับจักรวรรดิรัสเซีย ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีแห่งเยอรมนีเป็นผู้ริเริ่มขึ้น หลังจากสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund - League of the Three Emperors)* ซึ่งมีเยอรมนี รัสเซีย และออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* เป็นภาคีสนธิสัญญาสิ้นอายุลงใน ค.ศ. ๑๘๘๗ โดยไม่ได้รับการต่ออายุอีก สันนิบาตสามจักรพรรดิจัดตั้งขึ้นเพื่อโดดเดี่ยวฝรั่งเศสทางการทูตและป้องกันมิให้เยอรมนีต้องเผชิญกับศึก ๒ ด้านหากเข้าสู่สงครามกับฝรั่งเศสหรือรัสเซียทั้งนี้เพราะบิสมาร์คเกรงว่าฝรั่งเศสจะคิดแก้แค้นเยอรมนีหลังจากได้รับความอัปยศจากความพ่ายแพ้ในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* สนธิสัญญาประกันพันธไมตรีกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญคือให้เยอรมนีและรัสเซียเป็นกลางหากทั้ง ๒ ประเทศเข้าสู่สงครามกับประเทศที่ ๓ ยกเว้นกรณีเยอรมนีโจมตีฝรั่งเศสหรือรัสเซียโจมตีออสเตรีย-ฮังการี นับว่าเป็นความสำเร็จของบิสมาร์คอีกครั้งหนึ่งในการสร้างกลไกทางการทูตที่ซับช้อนเพื่อคานอำนาจกับออสเตรีย-ฮังการีซึ่งเยอรมนีได้ดำเนินการทางการทูตและทำสนธิสัญญาลับที่ยอกย้อนด้วย เมื่อสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีสิ้นสุดลงเป็นช่วงที่บิสมาร์คหมดอำนาจและพ้นจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีแล้ว จึงไม่ได้รับการต่ออายุอีก และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัสเซียกับฝรั่งเศส (และอังกฤษในเวลาต่อมา) ทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกันได้ จนเกิดการแบ่งค่ายของมหาอำนาจยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)*
หลังจากประสบความสำเร็จในการรวมชาติเยอรมัน (Unification of Germany) และมีชัยชนะในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย บิสมาร์คซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครมหาเสนาบดีผู้มีอำนาจสูงสุดและรับผิดชอบโดยตรงต่อไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๘๘๙)* ก็เริ่มตระหนักว่าเยอรมนีควรมีสถานภาพเป็น “รัฐที่อิ่มตัว” (saturated state) คือ ยกเลิกนโยบายเลือดและเหล็ก (blood and iron) และการเมืองที่เป็นจริง (Realpolitik)* ที่ใช้การทหารและสงครามในการสร้างอำนาจและอิทธิพลให้แก่ปรัสเซีย และทำให้ปรัสเซียเป็น “ผู้พิชิต” (conqueror) การก่อสงครามมิใช่เครื่องมือในการสร้างเสถียรภาพให้แก่จักรวรรดิเยอรมันแต่สันติภาพจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการจรรโลงและรักษา จักรวรรดิให้ยั่งยืนมั่นคงต่อไป อำนาจของเยอรมนีได้ก้าวมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขยายพรมแดนหรือแข่งขันกับมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ ในการแสวงหาอาณานิคม ซึ่งในขณะนั้นหลายประเทศเริ่มดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยม (Imperialism)* ในการเข้าไปมีอำนาจปกครองดินแดนที่อ่อนแอกว่า
อย่างไรก็ดี สำหรับเยอรมนี การรักษาสันติภาพและสร้างความมั่นคงให้จักรวรรดิอยู่ที่การหลีกเลี่ยงการแก้แค้นจากฝรั่งเศสที่ได้รับความอับอายในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย และต้องสูญเสียดินแดนที่สำคัญคือ แคว้นอัลซาซ-ลอร์แรน (Alsace-Lorraine)* ให้แก่เยอรมนี การป้องกันสงครามกับฝรั่งเศสในอนาคตจะกระทำได้ก็ด้วยการดำเนินนโยบายทางการทูตแบบใหม่ที่เรียกว่า “การเมืองระดับโลก” (Worldpolitik) ที่จะทำให้ฝรั่งเศสปราศจากพันธมิตรและต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ขณะเดียวกันเยอรมนีก็ต้องสร้างระบบพันธมิตรใหม่ขึ้น โดยเยอรมนีเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของบรรดามหาอำนาจยุโรปต่าง ๆ ยกเว้นฝรั่งเศส ดังนั้นใน ค.ศ. ๑๘๗๓ บิสมาร์ค จึงจัดตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิ (ครั้งที่ ๑) ขึ้นประกอบด้วยจักรพรรดิแห่งเยอรมนี รัสเซีย และออสเตรีย-ฮังการี ต่อมาหลังสันนิบาตสามจักรพรรดิ (ครั้งที่ ๑) ต้องสลายตัวลงจากการถอนตัวของรัสเซีย เยอรมนีจึงได้ปรับปรุงระบบพันธมิตรกับออสเตรีย-ฮังการีขึ้นใหม่ด้วยการทำสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ด๘๗๙ (Dual Alliance 1879)* ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันตนเองในกรณีที่ต้องทำสงครามกับฝรั่งเศส และใน ค.ศ. ๑๘๘๑ บิสมาร์คสามารถรื้อฟื้นสันนิบาตสามจักรพรรดิได้อีกครั้ง โดยให้สนธิสัญญาฉบับนี้มีอายุคราวละ ๓ ปี แต่เมื่อหมดอายุลงอีกใน ค.ศ. ๑๘๘๗ รัสเซียและออสเตรีย-ฮังการีซึ่งกำลังมีเรื่องขัดแย้งกันเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์ในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* จึงไม่ยินยอมต่ออายุสนธิสัญญาสันนิบาตสามจักรพรรดิ (ครั้งที่ ๒) สันนิบาตสามจักรพรรดิจึงสิ้นสุดลงโดยปริยาย
การถอนตัวของรัสเซียออกจากระบบพันธมิตรของบิสมาร์คหรือที่เรียกว่า ระบบบิสมาร์ค (Bismarkian System) ที่เยอรมนีเป็นศูนย์กลางของการทูตและการโดดเดี่ยวฝรั่งเศสทำให้บิสมาร์คหวั่นเกรงว่า รัสเซียอาจจะหันไปสร้างพันธไมตรีกับฝรั่งเศสได้ การเป็นมิตรระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศสจะเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงต่อเยอรมนี หากต้องเข้าสู่สงครามกับประเทศหนึ่งประเทศใดหรือทั้ง ๒ ประเทศ เพราะจะทำให้เยอรมนีต้องเผชิญกับศึก ๒ ด้าน ดังนั้น บิสมาร์คจึงดำเนินการทางการทูตชักชวนให้ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (Alexander III ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๘๙๔)* ทำสนธิสัญญาพันธไมตรีกับเยอรมนีต่อไป เขาประสบความสำเร็จเมื่อรัสเซียยินยอมทำสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีกับเยอรมนีในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๗ ซึ่งเท่ากับเยอรมนีได้รับการคํ้าประกันที่จะโดดเดี่ยวฝรั่งเศสทางการทูตต่อไป ทั้งยังมีพันธมิตรในกรณีที่ต้องเข้าสู่สงครามกับประเทศมหาอำนาจอื่นได้อีกด้วย สนธิสัญญาประกันพันธไมตรีระหว่างเยอรมนีกับรัสเซียกระทำขึ้น ณ กรุงเบอร์ลินโดยมีบิสมาร์คเป็นผู้แทนของจักรวรรดิเยอรมัน และเคานต์ ปอล ชูวาลอฟฟ์ (Paul Schouvaloff) อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำกรุงเบอร์ลินเป็นผู้แทนของจักรวรรดิรัสเซียร่วมลงนามในสนธิสัญญา
สนธิสัญญาประกันพันธไมตรีประกอบด้วยมาตราทั้งสิ้น ๖ มาตรา มีสาระสำคัญคือ ประเทศภาคีสนธิสัญญาตกลงกันว่า ในกรณีที่ภาคีสนธิสัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูก “ประเทศมหาอำนาจที่สาม” โจมตี อีกฝ่ายจะรักษาความเป็นกลางด้วยเมตตาธรรม (benevolent neutrality) และ จะจำกัดความขัดแย้งให้อยูในระดับท้องถิ่นเท่านั้น ยกเว้นในกรณีที่ภาคีสนธิสัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกออสเตรีย-ฮังการี หรือฝรั่งเศสโจมตี อีกฝ่ายจะเข้าร่วมในสงครามโดยเข้าข้างฝ่ายภาคีสนธิสัญญา เยอรมนียังให้การรับรองสิทธิที่มีมาในประวัติศาสตร์ของรัสเซียในคาบสมุทรบอลข่านและสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าไปมีอิทธิพลในบัลแกเรีย (Bulgaria) และอิสเทิร์นรูมีเลีย (Eastern Rumelia) และถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมของพรมแดนในคาบสมุทรบอลข่านภาคีสนธิสัญญาทั้ง ๒ ฝ่ายจะต้องยินยอมพร้อมใจกันในการร่วมป้องกันการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของพรมแดนในคาบสมุทรบอลข่านดังกล่าว สนธิสัญญาประกันพันธไมตรีฉบับนี้มีอายุ ๓ ปีนับตั้งแต่วันที่ภาคีสนธิสัญญาทั้ง ๒ ฝ่ายให้สัตยาบัน โดยให้ถือเป็นสนธิสัญญาลับ นอกจากนี้ยังมีพิธีสารต่อท้ายโดยกำหนดให้เยอรมนีสามารถให้คำแนะนำแก่รัสเซียในการจัดตั้งรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นใหม่ในบัลแกเรียโดยเยอรมนีต้องสัญญาที่จะไม่ให้ความเห็นชอบในการฟื้นฟูราชบัลลังก์ของเจ้าชายอะเล็กซานเดอร์แห่งบัทเทนบูร์ก (Alexander of Battenburg) เจ้าชายเยอรมันซึ่งทรงเป็นพระภาคีไนยในซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II ค.ศ. ๑๘๔๕-๑๘๘๑)* ให้กลับมาเป็นประมุขแห่งบัลแกเรียอีกทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงโน้มเอียงไปทางออสเตรีย-ฮังการีมากกว่ารัสเซีย นอกจากนี้ เยอรมนีจะประกาศตนเป็นกลางด้วยเมตตาธรรมในกรณีที่รัสเซียละเมิดข้อตกลงการใช้ช่องแคบบอสพอรัส (Bosporus)* และช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)* เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัสเซีย
นอกจากนี้ในปีเดียวกันนั้นบิสมาร์คยังให้การสนับสนุนอย่างลับ ๆ แก่อังกฤษ ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลีในการลงนามในข้อตกลงเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Agreement) โดยประเทศคู่สัญญาจะรักษาสถานะเดิมในคาบสมุทรบอลข่านและจะร่วมมือกันต่อต้านการขยายอำนาจและอิทธิพลของรัสเซียในดินแดนแถบนี่ด้วย จึงนับเป็นความสำเร็จของบิสมาร์คและเยอรมนีที่เป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังการทำสนธิสัญญาพันธไมตรีฉบับต่าง ๆ ที่จะทำให้เยอรมนีอยู่รอดปลอดภัยและเป็นการสร้างดุลแห่งอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจในยุโรปที่มีเยอรมนีเป็นผู้ควบคุมกลไกทางการทูต
ใน ค.ศ. ๑๘๘๘ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ เสด็จสวรรคตและไกเซอร์เฟรเดอริกที่ ๓ (Frederick III ค.ศ. ๑๘๘๘)* ได้สืบราชสมบัติ แต่ทรงครองราชบัลลังก์ได้เพียง ๓ เดือน เท่านั้นก็ประชวรสวรรคต พระราชโอรสคือไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๙)* จึงได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จักรพรรดิพระองค์ใหม่ทรงมีนโยบายทางการเมืองและการต่างประเทศที่แตกต่างจากบิสมาร์คเป็นอันมากทรงมีความชื่นชมในศักยภาพทางการทหารของจักรวรรดิและทรงเห็นว่าทหารและกองทัพเป็นผู้รวมชาติเยอรมันและสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่จักรวรรดิ หาใช่สมาชิกรัฐสภาไม่ด้วยแนวพระราชดำริดังกล่าวจึงทำให้พระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะใช้กำลังทหาร เพื่อขยายอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิเยอรมันไปทั่วโลก ซึ่งเป็นการขัดต่อแนวคิดและอุดมการณ์ ของบิสมาร์คที่พยายามจะหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งด้านผลประโยชน์และการแข่งขันกับมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ นอกจากนี้ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ยังทรงต้องการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองอีกด้วย โดยไม่มีพระราชประสงค์จะปล่อยให้บิสมาร์คเป็นผู้กำหนดนโยบายการปกครองและการต่างประเทศโดยตลอดตามลำพังดังที่เคยปฏิบัติมาในรัชสมัยไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ พระอัยกาความขัดแย้งระหว่างไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ กับบิสมาร์คถึงจุดแตกหักในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๐ เมื่อพระองค์ทรงพยายามลิดรอนอำนาจของบิสมาร์ค โดยโปรดให้เสนาบดีทุกคนต้องกราบบังคมทูลข้อราชการต่อพระองค์โดยตรงโดยไม่ต้องรอผ่านบิสมาร์คซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีก่อนพระราชบัญชาดังกล่าวจึงทำให้บิสมาร์คขอลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีแห่งจักรวรรดิเยอรมันเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๐ และถอนตัวออกจากการเมืองอย่างสิ้นเชิง
การสิ้นอำนาจของบิสมาร์คมีผลให้สถานการณ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนทิศทาง บรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศที่เยอรมนีเคยมีบทบาทเป็นผู้นำก็ค่อย ๆ สูญสิ้นไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๙๐ เมื่อสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีระหว่างเยอรมนีกับรัสเซียสิ้นสุดลง ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ และพลเอก เกออร์ก เลโอ กราฟ ฟอน คาพรีวี (Georg Leo Graf von Caprivi)* อัครมหาเสนาบดีคนใหม่ซึ่งไม่เข้าใจการดำเนินนโยบายทางการทูตที่ยอกย้อนของบิสมาร์ค จึงตอบปฏิเสธที่จะต่อสนธิสัญญาดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่รัสเซียยังคงประสงค์ที่จะให้คงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างประเทศทั้งสองต่อไป ทั้งไกเซอร์และคาพรีวีเห็นว่านโยบายทางการทูตเช่นนั้นได้ผูกมัดรัสเซียด้วยสนธิสัญญาลับทั้งกับออสเตรีย-ฮังการีและรัสเซีย รวมทั้งอังกฤษและอิตาลีซึ่งมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน อันจะนำความยุ่งยากมาสู่เยอรมนีได้นอกจากนี้ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงมั่นใจในความสัมพันธ์ในฐานะญาติสนิทระหว่างพระองค์กับซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศได้ด้วยพระองค์เอง ทั้งเยอรมนียังเกรงว่าความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัสเซียจะทำให้เยอรมนีกลายเป็นศัตรูกับอังกฤษไปด้วย เพราะอังกฤษเห็นว่าการที่รัสเซียพยายามขยายอำนาจและบทบาทเข้าไปในคาบสมุทรบอลข่านจะเป็นภัยต่อผลประโยชน์ของอังกฤษในตะวันออกกลาง
การปฏิเสธของเยอรมนีดังกล่าวทำให้รัสเซียซึ่งเห็นว่าเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีเป็นคนละฝ่ายกับตน หันไปผูกมิตรกับฝรั่งเศส ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๙๔ ทั้ง ๒ ประเทศก็ได้ ทำความตกลงฝรั่งเศส-รัสเซีย (Franco-Russian Entente) สนธิสัญญาฉบับนี้จึงนับเป็นการยุติการอยู่อย่างโดดเดี่ยวของฝรั่งเศสที่ดำเนินมากว่า ๒๐ ปี และทำให้รัสเซียเป็นพันธมิตรแรกของฝรั่งเศสที่มีสนธิสัญญาผูกมัดต่อกันใน ค.ศ. ๑๙๐๗ อังกฤษซึ่งไม่พอใจทั้งนโยบายการส่งเสริมกำลังทัพและการขยายแสนยานุภาพทางทะเลที่ก้าวร้าวและทะเยอทะยานของเยอรมนี ตลอดจนการแข่งขันในการแสวงหาอาณานิคม จึงยุตินโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว (Splendid Isolation)* และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสและรัสเซีย และกลายเป็นความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* การแบ่งค่ายของมหาอำนาจยุโรปจึงเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ไม่สามารถปรองดองกันได้และการเกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นจนนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๙๑๔
ความล้มเหลวของการต่อสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีใน ค.ศ. ๑๘๙๐ จึงนับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการแบ่งค่ายของมหาอำนาจยุโรป ซึ่งนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่นักประวิติศาสตร์จำนวนไม่น้อยเห็นว่าด้วยบรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปขณะนั้นสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีระหว่างเยอรมนีกับรัสเซียเป็นเพียงการชะลอให้ฝรั่งเศสต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวต่อไปได้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น.