Manstein, Fritz Erich von (1887-1973)

จอมพล ฟริทซ์ เอริช ฟอน มันชไตน์ (๒๔๓๐-๒๕๑๖)

​     ฟริทซ์ เอริช ฟอน มันชไตน์ เป็นจอมพลผู้มีชื่อเสียงแห่งกองทัพนาซีในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เขามีผลงานโดดเด่นด้านวางแผนยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการในแนวหน้าโดยเฉพาะ

ในแนวรบด้านตะวันออก เป็นนายทหารเยอรมันที่กล้าแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* อย่างเปิดเผยโดยเฉพาะเรื่องยุทธการแนวรบด้านตะวันออกจนถูกปลดออกจากกองทัพในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง มันชไตน์ถูกพิจารณาคดีในฐานะอาชญากรสงครามใน ค.ศ. ๑๙๔๙ และถูกตัดสินจำคุก ๑๘ ปี แต่ได้รับการลดหย่อนโทษเหลือ ๑๒ ปีและพ้นโทษก่อนครบกำหนด ใน ค.ศ. ๑๙๕๓ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ หลังจากนั้นรัฐบาลเยอรมนีตะวันตกแต่งตั้งเขาเป็นที่ปรึกษาทางทหารและให้ร่วมจัดตั้งกองทัพบก
     มันชไตน์เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๘๗ ที่กรุงเบอร์ลิน เป็นบุตรคนที่ ๑๐ ของเอดูอาร์ด ฟอน เลวินสกี (Eduard von Lewinski) นายพลชาว ปรัสเซีย กับเฮเลเนอ ฟอน ชแปร์ลิง (Helene von Sperling) มีชื่อเมื่อแรกเกิดว่า ฟริทซ์ เอริช ฟอน เลวินสกี (Fritz Erich von Lewinski) แต่เนื่องจากเฮดวิก ฟอน ชแปร์ลิง (Hedwig von Sperling) น้องสาวของมารดาซึ่งแต่งงานกับนายพลเกออร์ก ฟอน มันชไตน์ (Georg von Manstein) ไม่มีบุตรจึงรับเขาเป็นบุตรบุญธรรมและให้ใช้นามสกุลมันชไตน์ เขาเติบโตมาในครอบครัวที่บรรพบุรุษฝ่ายชายเป็นนายพลหลายคน นอกจากบิดาทั้ง ๒ คนแล้ว ลุงและปู่ก็เป็นนายพลของกองทัพปรัสเซียมันชไตน์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* ซึ่งเป็นนายพลแห่งกองทัพบกและประธานาธิบดีของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* มันชไตน์สมรสกับยุททา ซีบิล ฟอน เลิช (Jutta Sibylle von Loesch เสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๙๖๖) บุตรสาวของเศรษฐีที่ดินชาวไซลีเซียใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ทั้งคู่มีบุตรธิดาด้วยกัน ๓ คนเป็นหญิง ๑ คนและ ชาย ๒ คน บุตรชายคนโตเสียชีวิตในสนามรบทางตอน เหนือของแนวรบด้านตะวันออกในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๒
     มันชไตน์เข้าศึกษาที่โรงเรียนในสตราสบูร์ก (Strasbourg) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๘๙๙ และโรงเรียนเตรียมทหารในพลอนกร็อบ-ลิชเทอร์เฟลด (Plon Grob-Lichterfelde) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๐๖ หลังสำเร็จการศึกษาเขาเข้าเป็นทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ (The Third Foot Guards Regiment) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๖ และต่อมาก็ได้รับยศเป็นร้อยโทในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ด้วย ความใฝ่รู้ เขาจึงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๓
     ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* มันชไตน์ร่วมปฏิบัติการในแนวรบด้านตะวันออกที่โปแลนด์ตอนเหนือใน ค.ศ. ๑๙๑๔ และได้รับบาดเจ็บสาหัสจนต้องพักรักษาตัวนาน ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๕ เขากลับมาปฏิบัติหน้าที่อีกครั้งในแนวรบด้านเซอร์เบียจนถึง ค.ศ. ๑๙๑๖ และได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก หลังจากนั้น เขาย้ายไปในแนวรบด้านตะวันตกที่เบลเยียมและฝรั่งเศสและได้ร่วมรบในยุทธการที่แวร์เดิง (Battle of Verdun)* ค.ศ. ๑๙๑๖ รวมทั้งในแนวรบด้านเอสโตเนียใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ด้วย นอกจากนี้ มันชไตน์ยังทำหน้าที่ นายทหารฝ่ายเสนาธิการกองทัพบกจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ หลังจากนั้น เขาอาสาสมัครไปประจำการอยู่ที่ชายแดนเบรสเลา (Breslau) จนถึง ค.ศ. ๑๙๑๙
     ในทศวรรษ ๑๙๒๐ มันชไตน์มีส่วนร่วมในการก่อตั้งกองทัพบก (Reichswehr) ของสาธารณรัฐไวมาร์ ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ เขาได้เลื่อนยศเป็นพันตรี และได้เข้าร่วมในคณะเสนาธิการซึ่งทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับกิจการทหารของต่างประเทศ เขาได้เลื่อนยศเป็นพันโท ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ และเป็นผู้บัญชาการกองพันจาเกอร์ (Jager Battalion) ในปีต่อมาได้เป็นพันเอก เมื่อพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* สามารถกำจัดพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้หมดจนทำให้พรรคนาซีกลายเป็นพรรคการเมืองเดียวในเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์ได้ยกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* และเริ่มดำเนินการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหาร มันชไตน์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายปฏิบัติการของคณะเสนาธิการทหาร (Head of Operations Branch of the Army General Staff) เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ เขาเสนอให้มีการพัฒนา ปืนกลหนักชตูร์มเกชุทซ์ (Sturmgeschutz) เพื่อใช้ยิงสนับสนุนการบุกของกองทหารราบและเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรถถังที่ทำหน้าที่นี้มาก่อนรวมทั้งพัฒนาปืนชตูเก (StuG) ซึ่งเป็นหนึ่งในอาวุธที่มีประสิทธิภาพมากของกองทัพนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต่อมามันชไตน์ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเสนาธิการที่มีพันเอก ลุดวิก เบค (Ludwig Beck) เป็นผู้บังคับบัญชาเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ และได้เลื่อนยศเป็นพลโทและเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๑๘ ประจำเมืองลีกนิทซ์ (Liegnitz) เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น มันชไตน์ได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาธิการคนสนิทของพลเอก เกิร์ด ฟอน รุนชเตดท์ (Gerd von Rundstedt) ผู้บัญชาการกองทัพบกภาคใต้ เขาไม่ค่อยกระตือรือร้นในการวางแผนบุกโปแลนด์เพราะเห็นว่าหากให้โปแลนด์เป็นประเทศกันชนระหว่างสหภาพโซเวียตกับเยอรมนีน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการบุกยึดโปแลนด์ทั้งวิตกว่าหากเยอรมนีบุกโปแลนด์ ประเทศฝ่ายพันธมิตรจะเข้าช่วยเหลือโปแลนด์ซึ่งทำให้เยอรมนีต้องเปิดศึก ๒ ด้านซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเยอรมนี อย่างไรก็ตาม หนึ่งสัปดาห์หลังเยอรมนีทำความตกลงลับกับสหภาพโซเวียตในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Nonaggression Pact)* เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ เยอรมนีก็บุกโปแลนด์เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ และในเวลาอันสั้นโปแลนด์ยอมแพ้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙
     มันชไตน์ได้รับมอบหมายให้วางแผนยุทธศาสตร์เป็นทางเลือกในการบุกฝรั่งเศสและประเทศในกลุ่มแผ่นดินต่ำ ร่วมกับกึนเทอร์ บลูเมนทริทท์ (Günther Blumentritt) และพลตรี เฮนนิง ฟอน เทรสโคว (Henning von Tresckow) เขาไม่เห็นด้วยกับการใช้แผนชลีฟเฟิน (Schlieffen Plan)* ซึ่งใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๔ เพราะเป็นยุทธวิธีที่ฝ่ายพันธมิตรจะคาดการณ์เอาไว้แล้ว ในฤดูใบไม้ร่วง มันชไตน์จึงพัฒนายุทธศาสตร์ใหม่ในการบุกฝรั่งเศสที่เรียกว่าปฏิบัติการซีเชลชนิทท์ (Sichelschnitt) หรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่าแผนมันชไตน์ (Manstein Plan) เขาเสนอให้ใช้กำลังทหารราบและทหารยานเกราะโดยเฉพาะหน่วยแพนเซอร์ (Panzer) ประสานการรบกับกองกำลังทางอากาศโจมตีฝรั่งเศสโดยใช้เส้นทางผ่านป่าอาร์เดน (Ardennes) ยึดสะพานข้ามแม่น้ำเมิส (Meuse) ก่อนที่จะเคลื่อนทัพต่อไปทางตะวันออกและตัดเส้นทางการเคลื่อนทัพของกองทัพฝรั่งเศสทางเหนือ ในตอนแรกแผนของเขาไม่ได้รับความเห็นชอบจากกองทัพ เขาจึงถูกย้ายจากกองบัญชาการของรุนชเตดท์ไปเป็นผู้บังคับบัญชากองร้อยที่ ๓๘ (the 38th Army Corps) ทางตะวันออก แต่ต่อมา ฮิตเลอร์ต้องการยุทธวิธีที่ก้าวหน้าในการบุกแนวรบด้านตะวันตก จึงให้แก้ไขปรับแผนการจู่โจมที่มีรหัสเรียกว่า "กล่องเหลือง" (Yellow Case) เข้ากับแผนมันชไตน์ แม้มันชไตน์และกองทหารของเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการบุกฝรั่งเศสมากนัก แต่ก็เป็นกองทหารกลุ่มแรกที่บุกข้ามแม่น้ำแซน (Seine) ได้ ชัยชนะของเยอรมนีในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* ค.ศ. ๑๙๔๐ ทำให้มันชไตน์ได้เลื่อนขั้นเป็นพลเอกและได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์กางเขน (The Knights’s Cross) ซึ่งสูงสุดเป็นลำดับที่ ๒ ของกองทัพเยอรมัน
     ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๑ มันชไตน์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับบัญชากองพลที่ ๑๑ และได้รับคำสั่งให้บุกคาบสมุทรไครเมียเพื่อยึดครองเมืองเซวัสโตโปล (Sevastopol) ซึ่งเป็นฐานทัพเรือที่สำคัญในทะเลดำและเป็นการเบิกทางในการบุกสหภาพโซเวียต แม้ว่ายุทธการนี้จะยากลำบากกว่าที่คาดการณ์ไว้ กองทัพนาซีก็สามารถขับไล่กองทัพโซเวียตและยึดครองคาบสมุทรไครเมียและเมืองเคียร์ช (Kerch) ได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม จากนั้น มันชไตน์ก็มุ่งโจมตีเมืองเซวัสโตโปล ซึ่งมีการป้องกันอย่างเข้มแข็งและสามารถยึดได้เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ทั้งจับเชลยสงครามได้ ๔๓๐,๐๐๐ คน ฮิตเลอร์โทรศัพท์แสดงความยินดีกับเขาและเลื่อนตำแหน่งให้เป็นจอมพล ในยุทธการที่นองเลือดครั้งนี้ ฝ่ายโซเวียตกล่าวหาว่าทหารนาซีสังหารทหารรัสเซียที่จับได้ไปเป็นจำนวนมาก แต่มันชไตน์โต้แย้งว่าการเสียชีวิตของทหารรัสเซียเกิดจากการฆ่าตัวตาย เพราะไม่ต้องการถูกจับเป็นเชลยศึกและไม่ใช่ปฏิบัติการของทหารเยอรมัน
     ความสำเร็จในการยึดครองเมืองเซวัสโตโปลทำให้มันชไตน์ได้รับการคาดหมายว่าเขาจะเป็นผู้นำกองทัพเยอรมันในการบุกยึดนครเลนินกราด (Leningrad) ได้ไม่ยาก เนื่องจากการปิดล้อมเลนินกราด (Siege of Leningrad)* ของกองทัพเยอรมันที่ดำเนินมาตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๔๑ ยังไม่สามารถเอาชนะการต่อสู้ของฝ่ายโซเวียตได้ แต่มันชไตน์กลับไม่ได้คิดเช่นนั้นเพราะในขณะที่ยุทธการที่เมืองสตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* กำลังดำเนินอยู่ ฮิตเลอร์ได้แต่งตั้งมันชไตนเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังกลุ่มแม่น้ำดอน (Army Group Don) ซึ่งตั้งขึ้นใหม่เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๒ และให้เขาเป็นผู้นำในแผนปฏิบัติการพายุฤดูหนาว (Winter Storm) เพื่อช่วยเหลือกองพลที่ ๖ ของฟรีดริช ฟอน เพาลุส (Friedrich von Paulus) ซึ่งถูกกองทัพรัสเซียปิดล้อมอยู่ในสตาลินกราด มันชไตน์ขอให้ฮิตเลอร์อนุมัติให้กองพลที่ ๖ ตีฝ่าวงล้อมทหารรัสเซียออกมาโดยทหารของเขาจะช่วยตีขนาบทหารรัสเซียอีกด้านหนึ่ง แต่ฮิตเลอร์ปฏิเสธคำขอของเขาและสั่งให้กองพลที่ ๖ ตั้งมั่นอยู่ในสตาลินกราดต่อไปแม้ว่าพวกเขากำลังขาดแคลนเชื้อเพลิงสำหรับรถถังและรถบรรทุกและเสบียงอาหาร ผู้นำกองทัพหลายคนเห็นว่าการตัดสินใจผิดพลาดของฮิตเลอร์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กองทัพนาซีต้องพ่ายแพ้ในยุทธการที่เมืองสตาลินกราดและส่งผลกระทบต่อการทำสงครามด้านตะวันออกของ เยอรมนี อย่างไรก็ตาม ในการโจมตีนครเลนินกราดแม้มันชไตน์ไม่สามารถยึดเมืองได้แต่เขาก็สามารถเอาชนะกองทัพแดง (Red Army)* ในสมรภูมิที่เมืองฮาร์คอฟ (Kharkov) และยึดเมืองได้สำเร็จ ในยุทธการที่เมืองคุสค์ (Battle of Kursk)* เพื่อบุกยึดกรุงมอสโก ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ มันชไตน์ไม่สามารถเอาชนะกองทัพแดงที่มีกำลังพลมากกว่าหลายเท่า เขาจึงสั่งให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ซึ่งนับว่าเป็นการท้าทายคำสั่งของฮิตเลอร์ที่ไม่ให้กองทัพนาซีหน่วยใดก็ตามถอนกำลังออกจากพื้นที่ที่ได้ยึดไว้แล้ว
     มันชไตน์ไม่เห็นด้วยกับยุทธวิธีในการทำสงครามด้านแนวรบตะวันออกของฮิตเลอร์อย่างเปิดเผยฮิตเลอร์ต้องการให้ทำสงครามแบบตั้งฐานที่มั่น แต่มันชไตน์สนับสนุนให้ทำสงครามแบบยืดหยุ่นและใช้กองทหารเคลื่อนที่เร็ว เขาวิจารณ์ว่าฮิตเลอร์ควรยุติการควบคุมกำหนดยุทธศาสตร์การทำสงครามด้านแนวรบตะวันออกและปล่อยให้เป็นหน้าที่ ของทหารอาชีพทั้งควรมีการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของแนวรบตะวันออก ฮิตเลอร์ปฏิเสธข้อเสนอของมันชไตน์หลายครั้งเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้บทบาททางการทหารของตนลดน้อยลง นอกจากนี้ คนสนิทของฮิตเลอร์ อาทิ เช่นจอมพล แฮร์มัน เกอริง (Hermann Göring)* และ จอมพล ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* ก็หวาดระแวงว่าข้อเสนอของมันชไตน์จะทำให้พวกเขาสูญเสียความสำคัญไป พวกเขาจึงเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความจงรักภักดีของมันชไตน์ต่อฟือเรอร์ (Führer)* และกล่าวหาว่าเขาเป็นแม่ทัพที่ชอบยอมจำนนและไม่สมควรที่จะเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพ ข้อกล่าวหาเหล่านี้กอรปกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายครั้ง มีส่วนทำให้ฮิตเลอร์ปลดมันชไตน์จากการเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพในเดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ และบังคับให้เขายุติบทบาททางทหาร อย่างไรก็ตาม มันชไตน์เป็นที่รู้จักและจดจำกันในฐานะนายทหารเยอรมันจำนวนเพียงไม่กี่คนที่กล้าแสดงความไม่เห็นด้วยกับฮิตเลอร์อย่างเปิดเผย
     หลังจากถูกปลดออกจากตำแหน่ง มันชไตน์ไปรักษาตาที่คลินิกในเบรสเลาและพักฟื้นใกล้ ๆ กับเมืองเดรสเดน ต่อมา เขาได้รับการติดต่อจากพลตรี เฮนนิง ฟอน เทรสโคว์และนายทหารคนอื่น ๆ ให้เข้าร่วมในแผนลอบสังหารฮิตเลอร์ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ แต่เขาปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในแผนสังหารที่เรียกกันว่าแผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม (July Bomb Plot)* หรือการคบคิดเดือนกรกฎาคม (July Conspiracy)* เพราะเห็นว่าเขายังมีพันธะหน้าที่ของทหารอยู่ นอกจากนี้ เขาเกรงว่าหากฮิตเลอร์เสียชีวิต อาจจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม มันชไตน์ก็ไม่ได้ทรยศต่อเพื่อนทหารและเก็บแผนลอบสังหารเป็นความลับ เมื่อเยอรมนีใกล้จะแพ้สงคราม เขาพาครอบครัวลี้ภัยจากเมืองลีกนิทซ์ไปอยู่ทางพื้นที่ด้านตะวันตกของเยอรมนีในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๕ และต่อมาก็ยอมมอบตัวต่อจอมพล เบอร์นาร์ด ลอว์ มอนต์กอเมอรี (Bernard Law Montgomery)* แห่งกองทัพอังกฤษเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕
     มันชไตน์ถูกกองทัพอังกฤษขังคุกอยู่ในค่ายพิเศษที่ ๑๑ ในเมืองบริดเกนด์ (Bridgend) ในฐานะเชลยสงคราม แต่รัฐบาลโซเวียตกดดันอังกฤษให้ส่งมอบมันชไตน์เพื่อนำตัวไปพิจารณาคดีในสหภาพโซเวียตอังกฤษจึงต้องตั้งข้อกล่าวหาว่าเขาเป็นอาชญากรสงครามและต่อมานำตัวขึ้นศาลทหารอังกฤษในเมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ การที่ยุโรปในขณะนั้นอยู่ในภาวะสงครามเย็น (Cold War)* นายทหารระดับสูงของอังกฤษหลายคน เช่น มอนต์กอเมอรีและ บี.เอช. ลิดเดลล์ฮาร์ต (B.H. Liddell Hart) ได้แสดงความเห็นใจต่อมันชไตน์อย่างเปิดเผย เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* ก็ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาลงโทษมันชไตน์เพราะเห็นว่าเป็นการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอังกฤษซึ่งนายกรัฐมนตรีเคลเมนต์ ริชาร์ด แอตต์ลี (Clement Richard Attlee)* ต้องการจะเอาใจโซเวียต เชอร์ชิลล์ยังช่วยบริจาคเงินเป็นค่าทนายความแก่มันชไตน์ด้วย
     ในการพิจารณาคดี ทอมัส ปาเกต์ (Thomas Paget) ซึ่งเป็นทนายความให้กับมันชไตน์พยายามชี้แจงว่ามันชไตน์ไม่เคยทราบว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในพื้นที่ที่เขารับผิดชอบอยู่ และเขาไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งให้สังหารทหารโซเวียตที่ถูกจับตัวได้ ในการให้ปากคำในฐานะพยานของฝ่ายจำเลยในการพิจารณาคดีที่นูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials)* เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ แม้มันชไตน์จะยอมรับว่าได้รับคำสั่งให้สังหารแต่เขาก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม เขายืนยันว่าจอมพล ฟอน เลบ (von Leeb) ผู้บังคับบัญชาของเขาได้ยอมรับการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเขาด้วย อย่างไรก็ตาม มันชไตน์ ถูกตั้งข้อหาว่าออกคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ให้ทหารใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามคำสั่งของฮิตเลอร์ในการกำจัดผู้ที่มีเชื้อสายยิว เขายังถูกกล่าวหาว่าละเลยความปลอดภัยของพลเรือนและมุ่งแสวงหาประโยชน์จากประเทศที่เข้าไปยึดครองซึ่งถือว่าผิดกฎหมายการทำสงครามในขณะนั้น แม้ปาเกต์จะสามารถช่วยให้เขาพ้นข้อกล่าวหาได้หลายข้อจากทั้งหมด ๑๗ ข้อ แต่มันชไตน์ก็ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิดใน ๒ ข้อหาและมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ๗ ข้อหาโดยส่วนใหญ่เป็นความผิดที่ ละเลยความปลอดภัยของพลเรือนเขาถูกตัดสินจำคุก ๑๘ ปีเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ กลุ่มที่สนับสนุนเขาแสดงความไม่พอใจต่อคำตัดสินอย่างมากซึ่งส่งผลให้เขาได้รับการลดโทษเหลือ ๑๒ ปี อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาด้านสุขภาพเขาก็ได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๓
     หลังจากได้รับอิสรภาพแล้ว มันชไตน์ได้รับแต่งตั้งจากคอนราด อาเดเนาร์ (Konrad Adenauer)* นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (German Federal Republic) หรือเยอรมนีตะวันตกให้เป็นที่ปรึกษาระดับสูงด้านความมั่นคงและเป็นประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาสภานิติบัญญัติในการจัดตั้งกองทัพบกเยอรมนีตะวันตก (Bundeswehr) และการวางแนวทางการให้ความร่วมมือกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO)* อิทธิพลทางการทหารของเขาทำให้ในช่วงเริ่มต้นของกองทัพเยอรมนีตะวันตกมันชไตน์เปรียบเสมือนผู้บัญชาการทหารอย่างไม่เป็นทางการ
     มันชไตน์ไม่มีปัญหาในการอาศัยอยู่ในเยอรมนีตะวันตกเพราะเขาไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคนาซี เขาได้อพยพครอบครัวไปอาศัยอยู่ในแคว้นบาวาเรียและเขียนบันทึกความทรงจำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชื่อ Verlorene Siege ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในเยอรมนีตะวันตกใน ค.ศ. ๑๙๕๕ และอีก ๓ ปีต่อมาก็ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ในหนังสือเล่มนี้ มันชไตน์เสนอความคิดเชิงทฤษฎีว่าถ้าหากทหารอาชีพได้เป็นผู้วางแผนยุทธศาสตร์การรบแทนที่จะเป็นฮิตเลอร์แล้วเยอรมนีจะสามารถเอาชนะในสงครามแนวรบด้านตะวันออกได้ มันชไตน์จึงได้รับความเคารพนับถือจากนายทหารระดับสูงทั้งของกองทัพเยอรมนีตะวันตกและองค์การนาโตมาก ในงานวันเกิดครบ ๘๐ และ ๘๕ ปี ของเขา นายทหารระดับสูงจำนวนไม่น้อยได้ไปร่วมงานวันเกิดของเขาด้วย อาทิ นายพลฮันส์ ชไปเดิล (Hans Speidel) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกของพันธมิตรประจำยุโรปกลางระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๗-๑๙๕๘ สถานภาพของมันชไตน์จึงแตกต่างจากผู้สนับสนุนฮิตเลอร์คนสำคัญหลาย ๆ คนที่ต่างก็ถูกลืมเลือนภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ยุติลง
     จอมพล ฟริทซ์ เอริช ฟอน มันชไตน์ถึงแก่อนิจกรรมในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๓ ที่ เมืองเอียร์เชนเฮาเซน (Irschenhausen) แคว้นบาวาเรีย รวมอายุได้ ๘๕ ปี พิธีฝังศพของเขาเป็นไปตามพิธีการของทหารอย่างสมบูรณ์.



คำตั้ง
Manstein, Fritz Erich von
คำเทียบ
จอมพล ฟริทซ์ เอริช ฟอน มันชไตน์
คำสำคัญ
- เอียร์เชนเฮาเซน, เมือง
- อาเดเนาร์, คอนราด
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- ชไปเดิล, ฮันส์
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- เกอริง, แฮร์มันน์
- ฮาร์คอฟ, เมือง
- การคบคิดเดือนกรกฎาคม
- ยุทธการที่เมืองคุสค์
- ยุทธการที่เมืองสตาลินกราด
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- เพาลุส, ฟรีดริช ฟอน
- แผนปฏิบัติการพายุฤดูหนาว
- แซน, แม่น้ำ
- เคียร์ช, เมือง
- เซวัสโตโปล, เมือง
- การปิดล้อมนครเลนินกราด
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- อาร์เดน, ป่า
- หน่วยแพนเซอร์
- กองทัพแดง
- ลีกนิทซ์, เมือง
- เมิส, แม่น้ำ
- รุนชเตดท์, เกิร์ด ฟอน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- แผนมันชไตน์
- แผนชลีฟเฟิน
- เบค, ลุดวิก
- ปฏิบัติการซีเชลชนิทท์
- เบรสเลา, เมือง
- เทรสโคว์, เฮนนิง ฟอน
- บลูเมนทริทท์, กึนเทอร์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต
- สาธารณรัฐไวมาร์
- เลิช, ยุททา ซีบิล ฟอน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- เลวินสกี, เอดูอาร์ด ฟอน
- เลวินสกี, ฟริทซ์ เอริช ฟอน
- ยุทธการที่แวร์เดิง
- เลนินกราด, นคร
- ชแปร์ลิง, เฮเลเนอ ฟอน
- มันชไตน์, เกออร์ก ฟอน
- ชแปร์ลิง, เฮดวิก ฟอน
- มันชไตน์, ฟริทซ์ เอริช ฟอน
- ปาเกต์, ทอมัส
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- บริดเกนด์, เมือง
- แผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม
- มอนต์กอเมอรี, เบอร์นาร์ด ลอว์
- ฟือเรอร์
- สงครามเย็น
- แอตต์ลี, เคลเมนต์ ริชาร์ด
- ฮัมบูร์ก, เมือง
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- ฮาร์ต, บี.เอช. ลิดเดลล์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1887-1973
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๓๐-๒๕๑๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf