ทอมัส รอเบิร์ต มัลทัส เป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักประชากรศาสตร์ชาวอังกฤษ งานเขียนชิ้นสำคัญของเขาเกิดจากการสังเกตการเพิ่มของประชากรในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งทำให้เขาคาดการณ์ว่าหากไม่มีการควบคุมการเพิ่มของประชากรให้ได้สัดส่วนที่ พอเหมาะกับปริมาณอาหารที่ผลิตได้ จะก่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมในอนาคตแน่นอน งานชิ้นนี้ได้เผยแพร่อย่างกว้างขวาง
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และทำให้มัลทัสเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วเพราะมีทั้งผู้ตระหนกตกใจ ผู้เห็นด้วย และผู้วิพากษ์วิจารณ์เขาอย่างเผ็ดร้อน อย่างไรก็ดี ข้อคิดเห็นของมัลทัสซึ่งเรียกกันว่า "ทฤษฎีของมัลทัส" (Malthusian Theory) มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยน นโยบายช่วยเหลือคนยากจนของรัฐบาลอังกฤษครั้งใหญ่ในทศวรรษ ๑๘๓๐ และต่อการเสนอทฤษฎีการคัดเลือก โดยธรรมชาติของชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)* นักธรรมชาติวิทยาผู้โด่งดังจากงานเขียนเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในเวลาต่อมา อีกทั้งสนับสนุนหลักการปล่อยค่าแรงให้ขึ้นลงตามกลไกตลาดโดยรัฐไม่ต้องเข้าแทรกแซงซึ่งเป็นไปตามหลักเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
มัลทัสเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๖๖ ในครอบครัวของคหบดีชนบทซึ่งครอบครองเขตที่ดินที่ตั้งชื่อว่า "เดอะรูเคอรี (The Rookery)" ใกล้เมืองดอร์กิง(Dorking) ในมณฑลเซอเรย์ (Surrey) เขาเป็นบุตรชายคนที่ ๒ ในหมู่พี่น้อง ๘ คน ซึ่งเป็นหญิง ๖ คน บิดาชื่อแดเนียล มัลทัส (Daniel Malthus) ซึ่งเขียนจดหมายติดต่อเป็นประจำกับนักคิดแห่งสมัยภูมิธรรม (Age of Enlightenment) ได้แก่ เดวิด ฮูม (David Hume) วอลแตร์ (Voltaire) และชอง ชาก รูโซ (Jean Jacques Rousseau) นอกจากนี้ ฮูมยังเคยพารูโซมาพบปะพูดคุยกับบิดาของมัลทัสที่บ้านด้วย ผลงานเรื่อง Emile ของรูโซเกี่ยวกับวิธีให้การศึกษาแก่เด็กด้วยการให้ครูและพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลขณะที่เด็กค่อย ๆ เรียนรู้ไปตามวัยโดยไม่ขีดเส้นหรือตีกรอบให้เด็กเดินไปตามที่ตนต้องการ การสอนเด็กไม่ควรมีแบบแผนสำเร็จรูปตายตัว แต่ควรปล่อยให้เด็กมีความเป็นอิสระในการเรียนรู้โลกรอบตัวเพราะจะช่วยพัฒนาสติปัญญา ทักษะ และส่งเสริมโลกทัศน์ของเด็กซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามเอกลักษณ์ของแต่ละคน Emile อาจมีอิทธิพลต่อความคิดในการเลี้ยงดูบุตรของแดเนียล มัลทัส ทำให้ขณะที่ยังอยู่ในวัยเยาว์ มัลทัสได้รับการศึกษาแบบนอกระบบโรงเรียนกล่าวคือ เขาเรียนหนังสือที่บ้านโดยมีครูมาสอนให้ ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน และเรียนรู้หลายเรื่องจากบิดาของเขาเอง จนกระทั่งถึงขั้นอุดมศึกษา มัลทัสจึงได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยเยซู (Jesus College) ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๔ ณ ที่นั้น มัลทัสศึกษาหลายวิชาและได้รางวัลผลการเรียนดีในวิชาภาษากรีกและละติน เขาจบปริญญาตรีใน ค.ศ. ๑๗๘๘ ด้วยคะแนนดีเยี่ยมในวิชาคณิตศาสตร์ และได้เป็นนักบวชในนิกายแองกลิคันในปีเดียวกัน ๓ ปีต่อมาเขาเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท
ใน ค.ศ. ๑๗๙๓ มัลทัสได้รับเลือกเป็นอาจารย์วิทยาลัยเยซูที่เขาเรียนจบ และใน ค.ศ. ๑๗๙๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นนักบวชประจำเมืองออลเบอรี (Albury) ในมณฑลเซอเรย์ ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ เงียบสงัดอยู่ห่างจากที่ดินของบิดาไม่กี่กิโลเมตร มัลทัสจึงต้องแบ่งเวลาให้กับการทำงานทั้ง ๒ แห่ง คือที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และที่โบสถ์ของเมืองออลเบอรี มัลทัสเริ่มงานเขียนด้านวิชาการตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๙๖ โดยเป็นเขียนงานชิ้นเล็กๆเรื่อง "The Crisis" ซึ่งแสดงทัศนะที่สนับสนุนการเสนอร่างกฎหมายใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับคนยากจน ข้อความในกฎหมายว่าด้วยแนวทางที่จะปฏิรูประบบความช่วยเหลือคนยากจนของประเทศ เช่น การก่อสร้างบ้านพักคนจน (workhouse) ให้เพียงพอสำหรับผู้มาขอให้รัฐช่วยเหลืองานชิ้นนี้ซึ่งไม่ได้ตีพิมพ์แสดงการเปลี่ยนทัศนะของมัลทัสที่เคยมีต่อปัญหาที่ว่าด้วยความยากจนของพลเมืองซึ่งเขาเสนอไว้เมื่อ ๒ ปีก่อน
ใน ค.ศ. ๑๗๙๘ มัลทัสตีพิมพ์จุลสารเรื่อง An Essay on the Principle of Population as It Affects the Future Improvement of Society, with Remarks on the Speculations of Mr. Godwin, M. Condorcet, and other Writers แต่ไม่ระบุว่าเขาเป็นผู้แต่ง งานชิ้นนี้ได้รับความสนใจในวงกว้างและในเวลาอันรวดเร็ว จุลสารเรื่องนี้เกิดจากการถกเถียงระหว่างเขากับบิดาเรื่องความสมบูรณ์แบบของสังคม หรือสังคมในอุดมคติซึ่งเป็นประเด็นที่นักคิดนักเขียนในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ คือวิลเลียม กอดวิน (William Godwin) ชาวอังกฤษซึ่งมีผลงานเด่นเรื่อง Political Justice ( ค.ศ. ๑๗๙๓) และ มาร์กี เดอ กงดอร์เซ (Marquis de Condorcet) ชาวฝรั่งเศสผู้เขียน Progrès de l’esprit humain ( ค.ศ. ๑๗๙๔) เคยแสดงทัศนะไว้ มัลทัสจึงต้องการเสนอความคิดบ้างด้วยการเขียนความเรียงว่าด้วยประชากรชิ้นนี้ขึ้น
เขาแสดงความเห็นแย้งนักคิดสมัยนั้นที่คาดหวังว่าจะมีสังคมในอุดมคติเกิดขึ้นโดยมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวเพราะมนุษย์รู้จักคิดอย่างมีเหตุมีผลและเข้าใจเรื่องกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติแล้ว มัลทัสเห็นว่าสังคมแบบนั้นไม่อาจจะเป็นจริงขึ้นมาได้หากพิจารณาสภาวะที่เป็นอยู่ในอังกฤษขณะนั้น ตราบใดที่อัตราการเพิ่มของประชากรยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นที่เป็นอยู่ ก็มีแนวโน้มว่าจำนวนประชากรจะสูงกว่าปริมาณอาหารที่ผลิตได้ ดังนั้นชะตากรรมของมนุษยชาติในอนาคตคือความยากจนเพราะอาหารมีไม่เพียงพอ มัลทัสกล่าวว่าประชากรนั้นเพิ่มในอัตราส่วนแบบอนุกรมเรขาคณิต (๒, ๔, ๘, ๑๖, ๓๒, …) แต่ปัจจัยในการดำรงชีพเพิ่มในอัตราส่วนแบบอนุกรมเลขคณิต (๒, ๔, ๖, ๘, ๑๐, …) ในที่สุด เมื่อประชากรเพิ่มมากถึงระดับหนึ่งก็จะเกิดการลดลงอันเนื่องมาจากอัตราการตายสูงขึ้น การตายนั้นเกิดจากการขาดแคลนอาหาร สงคราม การเจ็บป่วย และโรคระบาด มัลทัสจึงเห็นว่าจะต้องควบคุมการเพิ่มของประชากรโดยเฉพาะคนระดับล่างของสังคมซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้ เป็นการสกัดการเพิ่มของประชากรในลักษณะของการยับยั้งโดยการป้องกัน (preventive check) เพื่อไม่ให้เกิดการเพิ่มมากจนธรรมชาติต้องใช้การยับยั้งที่ได้ผลแน่ชัด (positive check) อย่างที่กล่าวมา มัลทัสถือว่าวิธีดังกล่าวเป็นการก่อความทุกข์ยากและความชั่วร้ายให้แก่ชีวิต มาตรการป้องกันที่มัลทัสเสนอ ได้แก่ การชะลอการแต่งงานออกไปเพื่อให้มีบุตรน้อยคน และการยับยั้งทางศีลธรรม (moral restraint) คือ สะกดกลั้นความปรารถนา ตามความคิดของนักบวชอย่างมัลทัส วิธีการเหล่านี้ถือเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม
มัลทัสเชื่อว่าการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษยชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้หากถ้าสังคมควบคุมการเพิ่มของประชากรไม่สำเร็จ เพราะจำนวนประชากรมีแนวโน้มที่จะนำหน้าปริมาณอาหารอย่างแน่แท้ การแก้ปัญหาความยากจนของพลเมืองด้วยวิธีการเพิ่มรายได้ หรือเพิ่มผลผลิตด้านอาหารไม่ใช่วิธีการแก้ไขเพราะจะเป็นการจูงใจให้พลเมืองเพิ่มจำนวนสมาชิกในครอบครัวขึ้นอีกเมื่อเห็นว่าความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าได้รับการบรรเทา มัลทัสต้องการให้ยกเลิกกฎหมายช่วยเหลือคนยากจน (poor laws) ที่ใช้บังคับอยู่ซึ่งช่วยให้คนยากจนสามารถประทังชีพต่อไปโดยการโอบอุ้มของรัฐ แต่ไม่ได้กระตุ้นให้พลเมืองขยันขันแข็งในการสร้างงานเพื่ออยู่เหนือระดับความยากจน เพราะ นอกจากจะทำให้พลเมืองเกียจคร้านแล้ว ยังจะทำให้นายจ้างพยายามรักษาระดับค่าแรงให้ต่ำอยู่เสมอเพราะรู้ว่ารัฐจะชดเชยส่วนที่แตกต่างให้เมื่อใดที่ราคาสินค้าบริโภคขึ้นไปสูงเกินกว่ารายได้ของกรรมกร ดังที่มีการใช้ระบบสปีนแฮมแลนด์ (Speenhamland system) ที่เริ่มขึ้นครั้งแรกในมณฑลเบิร์กเชียร์ (Berkshire) ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ ที่หมู่บ้านสปีนแฮมแลนด์เพราะเกิดภาวะอดอยากขึ้น และได้ขยายขอบเขตการปฏิบัติไปถึงเกือบครึ่งหนึ่งของมณฑลในอังกฤษ โดยเฉพาะมณฑลทางใต้ตามระบบนี้ เมื่อราคาขนมปังสูงเกินกว่ารายได้ที่กรรมกรได้รับ ทางการจะจ่ายส่วนต่างให้แก่กรรมกรเพื่อให้สามารถดำรงชีพต่อไปได้ มัลทัสเห็นว่าการช่วยเหลือแบบนี้ไม่ถูกต้องและทำให้แรงงานหยุดนิ่งอยู่กับที่ทั้งที่ ควรจะเคลื่อนย้ายอย่างเสรีตามระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ทั้งนี้เพราะกรรมกรจะไม่ได้รับการช่วยเหลือหากย้ายออกไปนอกภูมิลำเนาของตน
นอกจากนี้ มัลทัสต้องการให้ล้มเลิกวิธีการช่วยเหลือคนจนแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งมีการช่วยคนที่เข้ามาขอพึ่งพิงรัฐแบบให้เงินและเครื่องอุปโภคบริโภคโดยไม่ต้อง เข้ามาอยู่ในบ้านพักคนจน วิธีนี้เรียกว่า การบรรเทาทุกข์แบบนอกอาคาร (outdoor relief) และแบบที่ให้เข้ามาอยู่ในเรือนพักของทางการซึ่งเรียกว่า การบรรเทาทุกข์แบบในอาคาร (indoor relief) ซึ่งความเป็นอยู่ภายในอาคารจะสะดวกสบายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการจัดหาของแต่ละตำบล (parish) มัลทัสชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือคนจนที่ทำมาตั้งแต่ปลายสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๑ (Elizabeth I ค.ศ. ๑๕๕๘-๑๖๐๓) ไม่เคยลดลงเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้น จึงแสดงว่าระบบการช่วยเหลือคนจนนี้ไม่ได้ผล อีกทั้งยังทำให้รัฐมีประชากรที่นอกจากจะไม่มีคุณภาพแล้ว ยังสร้างภาระให้แก่รัฐเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
จุลสารเรื่องการเพิ่มของประชากรได้รับการปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาใน ค.ศ. ๑๘๐๓ และตีพิมพ์ในรูปหนังสือหลังจากที่มัลทัสได้ใช้เวลาอ่านหนังสือต่าง ๆ มากขึ้นและเดินทางท่องไปในยุโรป อันได้แก่ รัฐเยอรมัน รัสเซีย และสแกนดิเนเวีย แม้เขาจะเพิ่มข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงสนับสนุนความคิดเห็น และหนังสือได้มีการจัดพิมพ์ครั้งที่ ๓ ใน ค.ศ. ๑๘๒๖ แต่ก็ยังคงการวิเคราะห์สภาพสังคมไว้ตามฉบับที่พิมพ์ครั้งแรก มัลทัสไม่ได้ใช้ข้อมูลทางสถิติซึ่งจะเป็นการให้น้ำหนักแก่ความคิดเห็นทั้ง ๆ ที่ศาสตร์ทางด้านสถิติกำลังพัฒนาทั้งบนภาคพื้นทวีปยุโรปและอเมริกา ทฤษฎีของมัลทัสจึงมีจุดอ่อนให้โต้แย้งเพราะไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมยังยึดเงื่อนไขของเวลาเดิมในการสร้างทฤษฎี อย่างไรก็ดี ทฤษฎีของเขาก็ถูกจัดรวมอยู่กับกลุ่มทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และมีอิทธิพลในการยับยั้งกระแสการมองเศรษฐกิจในแง่ดีและมีส่วนจูงใจให้ผู้คนในสังคมหลายคนล้มเลิกการช่วยเหลือในรูปแบบของการกุศลต่าง ๆ ที่ทำกันมา เพราะ ถือว่าเป็นวิธีที่ไม่ได้ก่อผลในเชิงสร้างสรรค์หากแต่จะเป็นการเหนี่ยวรั้งสังคมทั้งหมดไม่ให้พัฒนาไปได้ก้าวไกล
ข้อเสนอของมัลทัสได้กลายเป็นหัวข้อโต้แย้งในสังคมอย่างกว้างขวาง วิลเลียม คอบเบตต์ (William Cobbett)* นักวิพากษ์สังคมซึ่งอยู่ฝ่ายสนับสนุนคนจนประณามว่าความคิดแบบมัลทัสนั้นไร้มนุษยธรรมและขาดสำนึกของการช่วยเหลือแบบคริสเตียน แต่นักเศรษฐศาสตร์อย่างเดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) เห็นด้วยกับเขาเพราะริคาร์โดเชื่อว่าแรงงานและค่าจ้างควรเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี และกำหนดโดยหลักอุปสงค์อุปทาน ไม่ใช่รัฐไปกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ ในที่สุดใน ค.ศ. ๑๘๓๔ รัฐบาลอังกฤษได้ออกพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายช่วยเหลือคนยากจน (Poor Law Amendment Act) ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่า กฎหมายช่วยเหลือคนยากจนฉบับใหม่ (New Poor Law) ที่ระบุว่า ผู้ต้องการรับความช่วยเหลือจากรัฐจะต้องเข้ามาอยู่ในบ้านพักคนจนที่รัฐจัดหาให้เท่านั้นโดยชาย หญิง คนชรา และเด็กจะถูกแยกให้อยู่บ้านพักคนจนคนละแห่งกัน ซึ่งหมายความว่าความเป็นครอบครัวจะดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้หากให้รัฐช่วยเหลือ สภาพชีวิตในบ้านพักคนจนจะต้องไม่ดีไปกว่าการเลี้ยงชีพด้วยตนเองของกรรมกรภายนอกทั่วไป
ใน ค.ศ. ๑๘๐๔ มัลทัสสมรสกับแฮเรียตต์ เอกเกอร์ซอลล์ (Harriett Eckersall) การสมรสทำให้เขาต้องยุติการเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเยซู มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขามีชีวิตคู่ที่มีความสุข และมีธิดา ๓ คน ใน ค.ศ. ๑๘๐๕ มัลทัสได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์สาขา ประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมืองที่วิทยาลัยแห่งบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company’s College) เมืองเฮลีเบอรี (Haileybury) ในมณฑลฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ (Hertfordshire) ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาพื้นฐานแก่พนักงานของบริษัทอินเดียตะวันออก นับเป็นครั้งแรกที่ทำให้เกิดตำแหน่งทางวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองในอังกฤษมัลทัสใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ ที่เมืองนี้ตั้งแต่นั้นจนถึงแก่กรรม มีเพียงการเดินทางไปไอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๑๗ และไปยุโรปด้วยปัญหาสุขภาพใน ค.ศ. ๑๘๒๕ เท่านั้น
มัลทัสเขียนงานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์อีกหลายชิ้น เช่น An Inquiry into the Nature and Progress of Rent ( ค.ศ. ๑๘๑๕) และ Principles of Political Economy ( ค.ศ. ๑๘๒๐) แต่ไม่ได้แก้ไขปรับปรุงงานเขียนเรื่องการเพิ่มของประชากรที่ ทำให้เขาโด่งดังแต่ประการใด ใน ค.ศ. ๑๘๑๙ เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ ราชบัณฑิตยสถานแห่งอังกฤษ และใน ค.ศ. ๑๘๒๑ ได้เข้าเป็นสมาชิกสโมสรเศรษฐศาสตร์การเมืองซึ่งมีริคาร์โดและเจมส์ มิลล์ (James Mill) ผู้แต่ง History of British India และ Elements of Political Economy ร่วมอยู่ด้วย ๑ ปีก่อนเสียชีวิต มัลทัสก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสถานฝรั่งเศส และราชบัณฑิตยสถาน ปรัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๓๓
ทอมัส รอเบิร์ต มัลทัสถึงแก่กรรมที่ตำบลเซนต์ แคเทอรีน (St. Catherine) ใกล้เมืองบาท (Bath) ในมณฑลโซเมอร์เซต (Somerset) เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๓๔ ขณะอายุ ๖๗ ปี ศพของเขาฝังที่สุสานวัลคอต (Walcot Cemetery) ใกล้เมืองบาท ชาลส์ ดาร์วินเขียนในหนังสืออัตชีวประวัติ ( ค.ศ. ๑๘๓๘) ไว้ว่าเมื่อเขาได้อ่านงานเขียนเรื่องการเพิ่มประชากรของมัลทัส เขาได้นำความคิดเรื่องจำนวนประชากรที่เพิ่มเกินปริมาณอาหารดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการเสนอทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของเขาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ด้วย เป็นการเสนอทฤษฎีที่เลื่องชื่อว่าด้วย "ผู้ที่เหมาะสมเท่านั้นจึงจะมีชีวิตรอดอยู่ต่อไปได้ (survival of the fittest)".