สนธิสัญญาเวเรนิกิงเป็นสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษกับพวกบัวร์ที่ลงนามเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ เพื่อยุติสงครามบัวร์ (Boer War ค.ศ. ๑๘๙๙–๑๙๐๒)* ในแอฟริกาใต้ ทำให้ทรานสวาล (Transvaal) และเสรีรัฐออเรนจ์ (Orange Free State) ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ
สนธิสัญญาเวเรนิกิงเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์การจู่โจมของเจมสัน (Jameson Raid)* ที่นำไปสู่การเกิดสงครามบัวร์ครั้งที่ ๒ (Second Boer War) ระหว่างทรานสวาลและเสรีรัฐออเรนจ์กับอังกฤษเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๙ พวกบัวร์มี ปีต ชูแบร์ (Piet Joubert) เป็นผู้นำในการรบ ในขณะที่อังกฤษมี เรดเวิร์ส บุลเลอร์ (Redvers Buller) ซึ่งมีประสบการณ์การรบในสงครามอังกฤษ-ซูลู (Anglo-Zulu War ค.ศ. ๑๘๗๙) เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ในช่วงแรกของสงคราม พวกบัวร์เป็นฝ่ายได้เปรียบเนื่องจากชำนาญสภาพภูมิประเทศเป็นอย่างดี ในการสู้รบหลาย ๆ ครั้งทหารบัวร์บุกขับไล่ทหารอังกฤษให้ออกไปจากที่ยึดครองหรือปิดล้อมที่มั่นของทหารอังกฤษไว้จนอังกฤษต้องยอมแพ้ เช่น ในยุทธการที่เมืองเลดีสมิท (Battle of Ladysmith) เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๙ ซึ่งเรียกกันว่า “วันจันทร์โศกสลด” (Mournful Monday) กองทหารอังกฤษถูกปิดล้อมอยู่ที่เลดีสมิท เมืองเล็ก ๆ ในนาทาล จนทำให้ทหารบัวร์ส่วนหนึ่งสามารถเคลื่อนกำลังเข้ายึดเมืองสำคัญในนาทาล รวมทั้งเมืองหลวงปีเตอร์มาริซบูร์ก (Pietermaritzburg) ได้ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๙ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๐
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา สถานการณ์การรบของฝ่ายอังกฤษเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อได้รับกำลังหนุนที่มาเสริมไม่ขาดระยะมีการเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นจอมพลเฟรเดอริก สเล รอเบิตส์ (Frederic Sleigh Roberts)* ซึ่งมีชัยชนะในการยึดกรุงคาบูล (Kabul) ได้ระหว่างสงครามอังกฤษ-อัฟกานิสถานครั้งที่ ๒ (Second Anglo-Afghan War ค.ศ. ๑๘๗๘–๑๘๘๐) และเฮอร์เบิร์ต คิชเนอร์ (Herbert Kitchener)* ซึ่งปราบปรามการลุกฮือของพวกมะฮ์ดิสต์ (Mahdist Revolt) ในซูดานระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๖–๑๘๙๙ เป็นเสนาธิการทหารบกอังกฤษ คิชเนอร์ปรับปรุงระบบการบริหารกองทัพให้มีประสิทธิภาพสามารถต่อต้านการโจมตีของพวกบัวร์และเริ่มปลดปล่อยเมืองต่าง ๆที่พวกบัวร์ยึดไว้ได้ และสามารถยึดกรุงบลูมฟอนเทน (Bloemfontein) เมืองหลวงของเสรีรัฐออเรนจ์ได้เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ และอีก ๓ เดือนต่อมาก็ยึดพริทอเรีย (Pretoria) เมืองหลวงของทรานสวาลได้เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ส่งผลให้ประธานาธิบดีพอล ครูเกอร์ (Paul Kruger)* แห่งทรานสวาลหนีเข้าไปในอาณานิคมของโปรตุเกสซึ่งปัจจุบันคือประเทศโมซัมบิก
พวกบัวร์ยังไม่ยอมแพ้และหันมาใช้ยุทธวิธีสงครามแบบกองโจรโดยมีคริสตีอาน เดอ เวต (Christiaan De Wet) เป็นผู้นำระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๐๐–พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ และมีชัยชนะหลายครั้งเนื่องจากสันทัดสภาพภูมิประเทศเป็นอย่างดี อังกฤษตอบโต้ด้วยการสร้างเครือข่ายค่ายทหารสกัดกั้นหน่วยจู่โจมของพวกบัวร์ตามเขตต่าง ๆ และเผาทำลายบ้านเรือนไร่นาของพวกบัวร์ที่ยังไม่ยอมวางอาวุธตลอดจนยกทัพเข้าบุกโจมตี พวกบัวร์ยืนหยัดต่อสู้อย่างกล้าหาญและทำให้สงครามดำเนินต่อไปอีกถึง ๒ ปี อังกฤษตอบโต้ด้วยการเผาไร่นาเป็นจำนวนมากและจับพวกบัวร์ที่ไม่ได้ร่วมรบ รวมถึงผู้หญิงและเด็กกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนไปคุมขังในค่ายกักกัน (Concentration Camp)* จนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เนื่องมาจากสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย สถานการณ์ดังกล่าวทำให้พวกบัวร์ซึ่งไม่อาจต้านแสนยานุภาพของกองทัพอังกฤษได้จึงยอมแพ้และลงนามในสนธิสัญญาเวเรนิกิงเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ ที่เมลโรสเฮาส์ (Melrose House) ศูนย์บัญชาการทหารของอังกฤษในกรุงพริทอเรีย ฝ่ายอังกฤษมีคิชเนอร์และเซอร์อัลเฟรด มิลเนอร์ (Alfred Milner) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำแอฟริกาใต้เป็นผู้ลงนาม ส่วนพวกบัวร์มีนายทหารคนสำคัญคือ เดอ เวตและหลุยส์ โบทา (Louis Botha) จากทรานสวาล คูส เดอ ลา เร (Koos de la Rey) และเจมส์ บาร์รี มุนนิค แฮร์ทซ็อก (James Barry Munnick Hertzog) จากเสรีรัฐออเรนจ์เป็นผู้แทนร่วมลงนาม
สาระสำคัญของสนธิสัญญาเวเรนิกิงระบุว่า รัฐทรานสวาลและเสรีรัฐออเรนจ์ตกเป็นอาณานิคมใต้การปกครองของอังกฤษ และยังได้รับสิทธิในการปกครองตนเองอยู่ โดยอังกฤษจะสนับสนุนให้พวกบัวร์มีรัฐบาลของตนเองต่อไป ทหารบัวร์ถูกอังกฤษปลดอาวุธและต้องกล่าวสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์อังกฤษ อังกฤษยอมรับรองว่าทหารบัวร์ที่ยอมแพ้และวางอาวุธจะไม่ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพส่วนตัวไม่ถูกยึดทรัพย์และจะได้รับการอภัยโทษ อังกฤษจะไม่เปิดการเจรจาเกี่ยวกับเรื่องการให้สิทธิในการเลือกตั้งกับชาวพื้นเมืองผิวดำ จนกว่าทั้งทรานสวาลและเสรีรัฐออเรนจ์จะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ อังกฤษรับรองว่าจะไม่เก็บภาษีที่ดินและอนุญาตให้พวกบัวร์ยังคงใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาราชการในทั้ง ๒ สาธารณรัฐรวมทั้งใช้ภาษาแอฟริกาน (Afrikaans) ในโรงเรียนและในศาล อนุญาตให้พวกเขาครอบครองอาวุธปืน และจะจัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูดินแดนของพวกบัวร์และช่วยเหลือพวกบัวร์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสงคราม โดยอังกฤษตกลงชำระค่าเสียหายให้แก่รัฐทั้งสองเป็นเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ปอนด์ เพื่อให้นำไปบูรณะฟื้นฟูบ้านเมืองและพัฒนาไร่นาต่อไป
ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ทรานสวาลได้สิทธิปกครองตนเองและอีก ๒ ปีต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ เสรีรัฐออเรนจ์ซึ่งเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ออเรนจ์ริเวอร์โคโลนี (Orange River Colony) ก็ได้สิทธิการปกครองตนเองเช่นกัน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๙ ผู้แทนอาณานิคมทั้ง ๔ แห่งในแอฟริกาใต้ได้มาประชุมร่วมกันที่บลูมฟอนเทนและตกลงจะรวมกันเป็นสหภาพ ซึ่งอังกฤษให้การสนับสนุนอย่างดีดังนั้น ในวันที่ ๒๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๐๙ รัฐสภาอังกฤษจึงออกกฎหมายการก่อตั้งสหภาพแอฟริกาใต้ (South Africa Act) และมีผลให้ดินแดนเคปโคโลนี นาทาลทรานสวาล และออเรนจ์ริเวอร์โคโลนี เป็นสหภาพแอฟริกาใต้ (Union of South Africa) ซึ่งมีสถานะเป็นอาณาจักรในเครือจักรภพอังกฤษที่มีสิทธิปกครองตนเอง (self-governing dominion) เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๐ และมีโบทา อดีตนายพลของพวกบัวร์และนายกรัฐมนตรีทรานสวาลเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก อีก ๕๐ ปีต่อมา ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ รัฐบาลจัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวออกจากเครือจักรภพอังกฤษเพื่อจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบให้ออกจากเครือจักรภพอังกฤษ รัฐบาลจึงร่างรัฐธรรมนูญแห่งแอฟริกาใต้ขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๑ และเมื่อรัฐธรรมนูญได้รับการลงนามเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ สหภาพแอฟริกาใต้จึงสลายลงโดยเปลี่ยนชื่อเป็นสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (Republic of South Africa).