Redmond, John Edward (1856-1918)

นายจอห์น เอดเวิร์ด เรดมอนด์ (พ.ศ. ๒๓๙๙-๒๔๖๐)

จอห์น เอดเวิร์ด เรดมอนด์ เป็นสมาชิกสภาสามัญอังกฤษ นักชาตินิยมไอริช และหัวหน้าพรรคไอร์แลนด์ (Irish Parliamentary Party) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๑๘ เขาทุ่มเทชีวิตกับการเจรจาต่อรองกับอังกฤษเพื่อให้ไอร์แลนด์ ได้สิทธิปกครองตนเอง (Home Rule) หลังการเสียชีวิตของชาลส์ สจวร์ต พาร์เนลล์ (Charles Stewart Parnell)* เขาเป็นผู้นำกลุ่มพาร์เนลไลต์ (Parnellite) ซึ่งร่วมมือกับรัฐบาลพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* จนสามารถผลักดันให้สภาสามัญผ่านร่างกฎหมายปกครองตนเองของไอร์แลนด์ฉบับที่ ๓ (Third Home Rule bill) ได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๑๒


กฎหมายฉบับนี้ต้องชะลอการบังคับใช้เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* แต่หลังสงครามโลกสิ้นสุดก็ไม่มีการบังคับใช้ เพราะกลุ่มสมาชิกสภาจากไอร์แลนด์ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐซึ่งนำไปสู่การสู้รบระหว่างอังกฤษกับฝ่ายกองกำลังชาตินิยมไอริชอย่างรุนแรง

 เรดมอนด์เกิดเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๘๕๖ ที่คฤหาสน์บัลลีเทรนต์ (Ballytrent) เมืองคิลเรน (Kilrane) เคาน์ดีเวกซ์ฟอร์ด (Wexford) ไอร์แลนด์ เป็นบุตรชายคนโตของวิลเลียม อาร์เชอร์ เรดมอนด์ (William Archer Redmond) สมาชิกสภาสามัญ กับแมรี (Mary) ซึ่งเป็นสมาชิกตระกูลโฮอี (Hoey) ที่ครองที่นั่งในสภาจากเขตดันแกนส์ทาวน์คาสเซิล (Dunganstown Castle) เคาน์ตีวิกโลว์ (Wicklow) ตระกูลเรดมอนด์เป็นตระกูลคหบดีคาทอลิกเก่าแก่กว่า ๗๐๐ ปี แห่งเวกซ์ฟอร์ดทาวน์ (Wexfordtown) ในเคาน์ตีเวกซ์ฟอร์ดซึ่งรํ่ารวยจากการเป็นนักธุรกิจและนายธนาคาร สมาชิกของตระกูลจึงได้เป็นผู้แทนจากเขตเวกซ์ฟอร์ดเรื่อยมา ส่วนสกุลฝ่ายมารดานับถือนิกายโปรเตสแตนต์และเป็นพวกยูเนียนนิสต์ (Unionist) ซึ่งต้องการอยู่รวมกับอังกฤษเช่นเดิม แมรีโฮอีเปลี่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิกเมื่อสมรส แต่ยังคงยึดหลักการอยู่กับอังกฤษต่อไป

 เรดมอนด์ได้รับการศึกษาจากคลอนโกวส์วูดคอลเลจ (Clongowes Wood College) ซึ่งเป็นโรงเรียนของพวกเยซูอิต (Jesuit) นอกจากสนใจวิชาวรรณคดีและกวีนิพนธ์ก็ยังแสดงบทบาทนำในการละครของโรงเรียน และได้ชื่อว่าเป็นนักพูดปีปากเอกของสโมสรโต้วาทีของโรงเรียนอีกด้วยเมื่อเรียนที่นั่นจบแล้ว เขาได้เข้าเรียนกฎหมายที่ทรินีตี คอลเลจ (Trinity College) นครดับลิน แต่เรียนอยู่ได้ไม่นานก็ลาออกเพราะบิดาสุขภาพไม่ดี ใน ค.ศ. ๑๘๗๖ เรดมอนด์เดินทางไปพำนักกับบิดาซึ่งเป็นสมาชิกสภาในกรุงลอนดอนและทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยบิดาจนได้เป็นเสมียนในสภาสามัญการทำงานดังกล่าวทำให้เขาค่อย ๆ สนใจเรื่องการเมืองมากกว่าด้านกฎหมายที่เคยเล่าเรียนมา ทั้งยังทำให้เขามีโอกาสรู้จักและชื่นชมชาลส์ สจวร์ต พาร์เนลล์ นักชาตินิยมร่วมชาติที่แม้จะนับถือนิกายโปรเตสแตนต์แต่มีอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อให้ไอร์แลนด์ได้สิทธิปกครองตนเองจากอังกฤษ พาร์เนลล์ เป็นผู้คิดกลยุทธ์ให้สมาชิกสภาชาวไอริชใช้เวลาอภิปรายในสภาอย่างยืดยาวจนทำให้สภาปั่นป่วนและไม่อาจเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มสมาชิกสภาจากไอร์แลนด์ อีกทั้งเป็นคนสำคัญในการก่อตั้งสันนิบาตที่ดินไอร์แลนด์ (Irish Land League) ที่รณรงค์ให้อังกฤษปฏิรูประบบที่ดิน และให้ชาวไอริชคาทอลิกมีสิทธิซื้อขายหรือเช่าที่ดินทำกินในไอร์แลนด์ได้โดยไม่ถูกขับไล่โดยง่าย เมื่อบิดาของเขาเสียชีวิตลงใน ค.ศ. ๑๘๙๐ เรดมอนด์ได้มีหนังสือไปถึงพาร์เนลล์ขอให้ส่งเขาเป็นผู้สมัครในนามพรรคชาตินิยม (Nationalist Party) ในการเลือกตั้งซ่อม แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะพาร์เนลล์สนับสนุนทิโมที ฮีลี (Timothy Healy) เลขานุการของเขาก่อนแล้วอย่างไรก็ดี เรดมอนด์ก็สนับสนุนการเสนอชื่อฮีลี และเมื่อมีที่นั่งว่างลงอีกครั้ง เรดมอนด์ก็ลงสมัครในเขตนิวรอสส์ (New Ross) เคาน์ตีเวกซ์ฟอร์ดใน ค.ศ. ๑๘๘๑ และได้รับเลือกตั้งโดยไม่มีคู่แข่ง เรดมอนด์กลายเป็นบุคคลที่ทำสถิติที่เข้านั่งในสภาวันแรก ก็ลุกขึ้นอภิปราย และถูกพักการเป็นสมาชิกสภาในเย็นวันเดียวกันนั้นเลย เพราะเหตุว่าเรดมอนด์และสมาชิกสภาชาวไอริชคนอื่น ๆ อย่างพาร์เนลล์ได้ลุกขึ้นกล่าวประณามการที่รัฐบาลจับกุมไมเคิล เดวิตต์ (Michael Davitt) ผู้ก่อตั้งสันนิบาตที่ดิน (Land League) ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทวิลเลียม เอดเวิร์ด ฟอร์สเตอร์ (William Edward Forster) รัฐมนตรีว่าการไอร์แลนด์ว่าเป็นคนโกหกคำโต บรรดาสมาชิกสภาชาวไอริชจึงถูกไล่ออกจากสภา

 ในต้น ค.ศ. ๑๘๘๒ เรดมอนด์และวิลเลียม โฮอี เคียร์นีย์ เรดมอนด์ (William Hoey Kearney Redmond) น้องชายซึ่งเป็นสมาชิกสภาจากเคาน์ตีเวกฃ์ฟอร์ดเช่นกันได้รับมอบหมายให้เดินทางไปออสเตรเลียซึ่งมีชาวไอริชอพยพอาศัยเป็นจำนวนมาก เพื่อหาเสียงสนับสนุนและระดมทุนสำหรับการรณรงค์ให้ได้สิทธิปกครองตนเองของไอร์แลนด์ซึ่งก็ได้รับการตอบรับพอควร ในปีต่อมา ทั้งสองได้สมรสกับทายาทตระกูลดัลตัน (Dalton) ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลียเชื้อสายไอริชที่มั่งคั่งที่นครซิดนีย์ (Sydney) อย่างไรก็ดีชีวิตสมรสของจอห์น เรดมอนด์แม้จะมีความสุขแต่ก็สิ้นสุดเร็วเพราะโจอันนา แมรี (Johanna Mary) ภรรยาถึงแก่กรรม ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ ทั้งสองมีบุตรชาย ๑ คนและบุตรสาว ๒ คนสิบปีต่อมา จอห์นได้สมรสอีกครั้งกับเอดา บีซลีย์ (Ada Beazley) สตรีชาวอังกฤษซึ่งนับถือนิกายโปรเตสแตนต์แต่เปลี่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิกหลังจากที่เรดมอนด์เสียชีวิตแล้ว

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๔ และ ค.ศ. ๑๘๘๖ เรดมอนด์ได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อหาทุนอีกเช่นกัน ความชื่นชม ชาลส์ สจวร์ต พาร์เนลล์อย่างแรงกล้าทำให้เรดมอนด์รับตำแหน่งผู้คุมเสียงในสภาหรือวิป (whip) ของพรรค และเมื่อพวกชาตินิยมไอริชแตกคอกันหลังจากเกิดกรณีอื้อฉาวจากการที่สามีของแคเทอรีน โอชี (Katherine O’Shea) ฟ้องหย่าเธอในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๐ เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับพาร์เนลล์ ชื่อเสียงและความศรัทธาในตัวพาร์เนลล์ได้ถูกทำลายจนหมดสิ้นทั้งยังทำให้เขาต้องยุติบทบาททางการเมืองและตรอมใจจนเสียชีวิต เรดมอนด์ จึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มพาร์เนลไลต์หรือสันนิบาตแห่งชาติไอริช (Irish National League-INL) ซึ่งเป็นสมาชิกสภาไอริชส่วนน้อยในรัฐสภาอังกฤษ ส่วนกลุ่มใหญ่ในสภาได้รวมตัวเป็นสหพันธ์แห่งชาติไอริช (Irish National Federation-INF) ซึ่งมีจอห์น ดิลลัน (John Dillon) เป็นผู้นำ เรดมอนด์ต้องใช้เวลาถึง ๑๐ ปีจึงสามารถรวมกลุ่มสมาชิกสภาไอริชเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันอีกครั้งภายใต้ชื่อพรรคไอร์แลนด์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากพรรคชาตินิยมใน ค.ศ. ๑๘๙๒ โดยการประสานงานของวิลเลียม โอไบรอัน (William O’Brien) เรดมอนด์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคซึ่งเขาอยู่ในตำแหน่งนี้จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๑๘ แม้ว่าการใช้วาทะของเขาสามารถโน้มน้าวให้ผู้คนในอังกฤษจำนวนไม่น้อย หันมาสนับสนุนการให้สิทธิปกครองตนเองแก่ไอร์แลนด์ แต่เรดมอนด์ก็ต้องคอยบริหารงานในพรรคไม่ให้เพลี่ยงพลํ้าต่อสมาชิกระดับนำของพรรคอย่างจอห์น ดิลลัน วิลเลียม โอไบรอัน และทิโมที ฮีลี

 เมื่อพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* จัดตั้งรัฐบาลขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๐ โดยต้องพึ่งเสียงของสมาชิกสภาชาวไอริช ซึ่งกลายเป็นเสียงชี้ขาดในสภาสามัญที่มีพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* และพรรคเสรีนิยมแข่งขันกันอยู่จึงเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับเรดมอนด์ในการเสนอร่างกฎหมายปกครองตนเองของไอร์แลนด์ เพราะการได้ความเห็นชอบจากสภาสามัญดูจะไม่เป็นปัญหา เขาจึงสนับสนุนรัฐบาลในการออกพระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. ๑๙๑๑ (Parliament Act of 1911) ซึ่งจำกัดอำนาจของสภาขุนนาง (House of Lords) ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของไอร์แลนด์มานานเพราะสภาขุนนางปฏิเสธร่างกฎหมาย ดังกล่าวทั้งฉบับที่ ๑ และฉบับที่ ๒ ที่ผ่านสภาสามัญมาแล้วในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๒ เรดมอนด์หว่านล้อมให้รัฐบาลเฮนรี เฮอร์เบิร์ต แอสควิท (Henry Herbert Asquith)* เสนอร่างกฎหมายปกครองตนเองของไอร์แลนด์ฉบับที่ ๓ ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบอย่างดีและสภาขุนนางก็จะไม่สามารถยับยั้งได้อีกต่อไปแม้ไม่เห็นด้วย เพียงแต่ยืดกำหนดการบังคับใช้ไปได้ ๒ ปีตามพระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. ๑๙๑๑ เรดมอนด์ถึงกับอุทานว่าไม่นึกว่าเขาจะมีชีวิตได้เห็นการผ่านร่างกฎหมายนี้ในที่สุด

 อย่างไรก็ดี แอสควิทพลาดที่จะระบุข้อความในร่างกฎหมายเกี่ยวกับการประนีประนอมบางประการให้แก่พวกอัลสเตอร์ยูเนียนนิสต์ (Ulster Unionist) หรือพวกยูเนียนนิสต์ในเขตอัลสเตอร์ซึ่งเป็นมณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือของไอร์แลนด์ซึ่งเป็นเขตชาวไอริชโปรเตสแตนต์ที่สนับสนุนการรวมอยู่กับอังกฤษอย่างจริงจัง พวกนี้เกรงการตกอยู่ใต้ปกครองของชาวไอริชคาทอลิกและคาดว่าต่อไปจะมีการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากอังกฤษซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมของเขตอัลสเตอร์ การต่อต้านกลุ่มชาตินิยมด้วยการใช้อาวุธจึงเกิดขึ้น เมื่อมีข่าวว่ากลุ่มชาตินิยมจะจับอาวุธขึ้นตอบโต้กลุ่มนี้ที่นครดับลินในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๓ เรดมอนด์จึงเกรงว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ เขาก็จำต้องยอมรับว่ามณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือของไอร์แลนด์ที่ออกเสียงคัดค้านการได้สิทธิปกครองตนเองไม่ต้องรวมเข้าด้วยในชั้นแรก และปล่อยให้อยู่กับอังกฤษต่อไประยะหนึ่ง แต่พวกยูเนียนนิสต์กลับเรียกร้องให้เคาน์ตีทั้ง ๙ แห่งในเขตอัลสเตอร์อยู่นอกการครอบคลุมของกฎหมายและได้สิทธิปกครองตนเองตลอดไป ขณะที่ประเด็นอัลสเตอร์กำลังถกเถียงกันอยู่นั้น สงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ รัฐบาลจึงให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไปก่อนจนกว่าเหตุการณ์สงครามสิ้นสุด

 เรดมอนด์ตกลงกับฝ่ายสัมพันธมิตรว่าไอร์แลนด์จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการทำสงคราม แต่ข้อเสนอของเขาที่ให้ไอร์แลนด์ใต้และกลุ่มอาสาอัลสเตอร์ (Ulster Volunteers) ป้องกันไอร์แลนด์ และพยายามจะจัดตั้งกองทัพทางใต้ไปปฏิบัติการนอกประเทศนั้นถูกอังกฤษขัดขวางเรดมอนด์ผิดหวังมากขึ้นและโดยเฉพาะเมื่อทราบว่าเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* ซึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษแทนแอสควิทได้ลอบเจรจากับพวกยูเนียนนิสต์ที่มีเซอร์เอดเวิร์ด คาร์สัน (Edward Carson) เป็นผู้นำว่าจะให้อัลสเตอร์ผนวกอยู่กับอังกฤษตลอดไปตามต้องการไม่ใช่ประมาณ ๖ ปีดังที่บอกกับเรดมอนด์ นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์การจลาจลในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ที่กรุงดับลินใน ค.ศ. ๑๙๑๖ โดยพวกชาตินิยมไอริช เรดมอนด์ไม่ระแคะระคายมาก่อนเลยและคิดว่าเป็นการวางแผนของเยอรมนีเขาผิดหวังมากและเห็นว่านักชาตินิยมที่ก่อการรุนแรงทำลายนโยบายให้ความร่วมมือกับอังกฤษที่เขาดำเนินมาตลอดแต่เมื่อฝ่ายอังกฤษปฏิบัติการลงโทษพวกกบฏอย่างรุนแรงเฉียบขาดจนเรดมอนด์และชาวไอริชทั่วไปที่ไม่ได้เห็นชอบกับการกบฏรู้สึกไม่พอใจอังกฤษ เรดมอนด์ก็หัวใจสลายและเห็นว่าเป็นความล้มเหลวของตนทุกด้าน สุขภาพเขาจึงทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ ขณะที่ดิลลันเพิ่มบทบาทนำในพรรคไอร์แลนด์มากขึ้น นอกจากนี้ พรรคชินน์เฟน (Sinn Fein) ที่เพิ่งก่อตั้งใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ก็กำลังได้รับความนิยมจากชาวไอริชและนักชาตินิยมหัวรุนแรงที่เห็นว่าเรดมอนด์ ประนีประนอมกับอังกฤษมากเกินไปในวันที่ ๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๗ เขาก็ต้องประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อริลเลียม เรดมอนด์ น้องชายซึ่งอาสาไปรบเสียชีวิตในสมรภูมิในเขตฟลานเดอส์ (Flanders) เมื่อที่นั่งสมาชิกสภาจากอีสต์แคลร์ (East Clare) ว่างลงจากการเสียชีวิตครั้งนี้เอมัน เดฟเลอรา (Eamon de Valera)* ผู้นำกบฏวันอีสเตอร์อาวุโสสุดที่รอดชีวิตจากโทษประหารเพราะถือสัญชาติอเมริกันก็ได้รับเลือกตั้งแทน เรดมอนด์ลาออกจากการเป็นผู้นำพรรคไอร์แลนด์ในที่สุด

 จอห์น เอดเวิร์ด เรดมอนด์ นักชาตินิยมสายกลางของชาวไอริช ถึงแก่กรรมด้วยอาการหัวใจวายหลังจากผ่าตัดชิ้นเนื้อในลำไส้เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ขณะอายุ ๖๒ ปี คำกล่าวสุดท้ายต่อบาทหลวงเยซูอิตที่อยู่เคียงข้างเขาคือ “Father, I am a broken hearted man.” ศพของเขาได้รับการประกอบพิธีที่วิหารเวสต์มินสเตอร์แต่ครอบครัวปฏิเสธที่จะนำไปบรรจุที่สุสานแกลสเนวีน (Glasnevin Cemetery) ซึ่งเป็นที่ฝังศพวีรบุรุษและรัฐบุรุษชาวไอริชแต่ให้นำไปไว้ที่สุสานเซนต์จอห์น (St. John’s Cemetery) ในเวกซ์ฟอร์ดทาวน์บ้านเกิดเช่นเดียวกับสมาชิกในครอบครัว.



คำตั้ง
Redmond, John Edward
คำเทียบ
นายจอห์น เอดเวิร์ด เรดมอนด์
คำสำคัญ
- กลุ่มพาร์เนลไลต์
- กลุ่มอาสาอัลสเตอร์
- เดฟเลอรา, เอมัน
- เดวิตต์, ไมเคิล
- บีซลีย์, เอดา
- พรรคชินน์เฟน
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- พรรคไอร์แลนด์
- พระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. ๑๙๑๑
- พวกยูเนียนนิสต์
- พวกอัลสเตอร์ยูเนียนนิสต์
- พาร์เนลล์, ชาลส์ สจวร์ต
- ฟอร์สเตอร์, วิลเลียม เอดเวิร์ด
- ร่างกฎหมายปกครองตนเองของไอร์แลนด์ฉบับที่ ๓
- เรดมอนด์, จอห์น เอดเวิร์ด
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สภาขุนนาง
- สภาสามัญ
- สันนิบาตที่ดินไอร์แลนด์
- สันนิบาตแห่งชาติไอริช
- สิทธิปกครองตนเอง
- แอสควิท, เฮนรี เฮอร์เบิร์ต
- โอชี, แคเทอรีน
- โอไบรอัน, วิลเลียม
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1856-1918
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๙๙-๒๔๖๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-