ยุทธการที่แวร์เดิงเป็นการยุทธ์ที่นองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดและยืดเยื้อที่สุดในแนวรบด้านตะวันตกในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เป็นการรบระหว่างกองทัพเยอรมันกับฝรั่งเศสที่เมืองแวร์เดิงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสระหว่างวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ถึงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ เยอรมนีมีเป้าหมายจะทำลายแวร์เดิงซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสุดท้ายของฝรั่งเศสเพื่อบุกเข้ายึดกรุงปารีสให้ได้อย่างรวดเร็ว และเพื่อทำลายขวัญและกำลังใจของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งกำลังเพลี่ยงพล้ำในแนวรบด้านตะวันออก พลเอก เอริช ฟอน ฟัลเคนไฮน์ (Erich von Falkenhayn)* ประธานคณะเสนาธิการทหารเยอรมัน (Chief of the German General Staff) จึงวางแผนยุทธศาสตร์เผด็จศึกฝรั่งเศสในแนวรบด้านตะวันตกและสนับสนุนนโยบายการทำสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด (Unrestricted Submarine Warfare)* แต่ฝรั่งเศสยืนหยัดต่อสู้และต้านการบุกอย่างเหนียวแน่นและนำไปสู่หายนะทางการทหารของเยอรมนี ฟัลเคนไฮน์จึงถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกย้ายไปบัญชาการกองทัพทำสงครามกับโรมาเนียจอมพล เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* ซึ่งบัญชาการในแนวรบด้านตะวันออกจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพเยอรมันแทนฟัลเคนไฮน์ในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๖
ยุทธการที่แวร์เดิงเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์สงครามและการรบใน ค.ศ. ๑๙๑๕ ที่ฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* เป็นฝ่ายได้เปรียบโดยเฉพาะในแนวรบด้านตะวันออกซึ่งรัสเซียพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องจนเยอรมนีรุกเข้าไปในเขตรัสเซียจนถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำรีกา (Riga) จอมพล โชแซฟ ชาก-เซแซร์ ชอฟร์ (Joseph Jacque-Césaire Joffre)* ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝรั่งเศสจึงจัดการประชุมทางทหารระหว่างประเทศที่เมืองช็องตียี (Chantilly Inter-Allied Military Conference) ซึ่งเป็นเมืองเลื่องชื่อด้านการแข่งม้าและผ้าลูกไม้ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ เพื่อหารือการกำหนดแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกใหญ่หลาย ๆ ด้านโดยเน้นการกดดันทางทหารทางเรือ และทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะเป็นการแตกหักเพื่อบีบเยอรมนี ที่ประชุมมีมติให้เปิดการโจมตีใหญ่ต่อเนื่องในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๑๖ ในแนวรบด้านตะวันตก ทางทิศตะวันตก ทิศตะวันออก อิตาลี และเมืองซาโลนิกา (Salonika) มีการกำหนดให้รัสเซียโจมตีออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ทางแนวรบด้านตะวันออก ฝรั่งเศสและอังกฤษจะร่วมกันโจมตีที่ลุ่มแม่น้ำซอม (Somme) การเปิดยุทธการที่แม่น้ำซอม (Battle of Somme)* จะเป็นการยุทธ์ใหญ่ที่จะไม่ให้เยอรมนีทันตั้งตัว
อย่างไรก็ตาม เยอรมนีซึ่งตระหนักว่าฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังเพลี่ยงพล้ำและสูญเสียกำลังพลมากก็เห็นเป็นโอกาสที่จะเผด็จศึก ฟัลเคนไฮน์ซึ่งประสบความสำเร็จในแนวรบด้านตะวันออกมาก่อนเห็นว่าอังกฤษคือศัตรูที่อันตรายมากที่สุดของเยอรมนี และกองทัพฝรั่งเศสคือ “ดาบที่ดีที่สุดของอังกฤษ” (The bestsword of England) หากปราศจากฝรั่งเศสอังกฤษจะอ่อนแอลง เขาจึงทูลเสนอแผนการรบแก่ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๕ เพื่อบุกฝ่าแนวสนามเพลาะในแนวรบด้านตะวันตกโจมตีฝรั่งเศสที่อ่อนแออยู่แล้วให้ยับเยิน การโจมตีฝรั่งเศสเพื่อขจัดให้ออกไปจากสนามรบได้จะทำให้เยอรมนีได้เปรียบ เขาเชื่อว่าฝรั่งเศสต้องต้านการบุกและป้องกันจนถึงที่สุดโดยไม่คำนึงว่าจะสูญเสียมากน้อยเพียงใด ทั้งต้องพยายามแย่งชิงพื้นที่ที่ถูกยึดครองกลับคืนเยอรมนีอาจทำลายแนวรบศัตรูไม่ได้แต่การทำสงครามเพื่อสร้างความอ่อนล้า (war of attrition) และการสูญเสียจำนวนมหาศาลก็อาจมีส่วนทำลายขวัญและกำลังใจของฝ่ายศัตรูจนท้ายที่สุดจะนำไปสู่การขอเปิดเจรจาเพื่อสันติภาพ ความปราชัยของฝรั่งเศสจะเปิดทางให้อังกฤษต้องหาทางยุติสงคราม ฟัลเคนไฮน์ยังสนับสนุนนโยบายการทำสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดอย่างเต็มที่เพื่อเอาชนะอังกฤษด้วย ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงเห็นชอบกับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวและโปรดให้เจ้าชายวิลเฮล์ม (Wilhelm) มกุฎราชกุมารควบคุมกองทัพที่ ๕ เข้าร่วมในการยุทธ์ครั้งนี้ พระองค์ทรงสัญญากับพระราชโอรสว่าหากมีชัยชนะจะทรงพระราชทานยศจอมพลให้ด้วย
ฟัลเคนไฮน์เลือกแวร์เดิงเมืองสมัยกลางซึ่งตั้งอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำมูเซ (Meuse) และโอบล้อมด้วยป้อมปราการยาวหลายกิโลเมตรเป็นเป้าหมายการโจมตี แวร์เดิงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเพราะอยู่ห่างจากกรุงปารีสไปทางตะวันออก ๒๖๐ กิโลเมตร และห่างจากฐานกำลังของเยอรมันที่เมืองเม็ทซ์ (Metz) เพียง ๖๐ กิโลเมตร ทั้งอยู่ในแนวรบที่สามารถบุกโจมตีได้ทั้ง ๓ ด้าน ฝรั่งเศสเห็นว่าแวร์เดิงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการป้องกันภูมิภาคช็องปาญ (Champagne) และกรุงปารีสเพราะในช่วงสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐–๑๘๗๑)* ปรัสเซียไม่อาจตีฝ่าแนวป้องกันที่แวร์เดิงบุกเข้ากรุงปารีสได้ ฟัลเคนไฮน์ตระหนักว่าหากยึดแวร์เดิงได้จะมีส่วนทำให้ฝรั่งเศสเสียขวัญและกำลังใจ ทั้งนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในที่จะทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสยอมแพ้ ดังนั้น ฝรั่งเศสต้องปกป้องแวร์เดิง
เยอรมนีกำหนดการบุกแวร์เดิงในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๖ แต่เพราะอากาศแปรปรวนลมกรรโชกแรง และมีฝนตกหนักทำให้ต้องเลื่อนวันโจมตีออกไป เมื่ออากาศดีขึ้นการบุกก็เริ่มขึ้นในเช้าวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ หลัง ๐๗.๐๐ น. เล็กน้อย เยอรมนีเปิดฉากระดมยิงด้วยปืนใหญ่พิสัยไกลขนาด ๑๖ นิ้ว รวม ๑,๒๐๐ กระบอก ซึ่งยิงได้ไกล ๖๐ กิโลเมตร รวม ๑๐ ชั่วโมง ติดต่อกันเพื่อทำลายกำแพงป้อม หน่วยทหารราบกองพันที่ ๒๑ เคลื่อนกำลังบุกตรงไปเพื่อยึดแนวสนามเพลาะให้ได้ ขณะเดียวกัน กองทัพที่ ๕ ของเจ้าชายวิลเฮล์มก็บุกโจมตีด้านข้าง ตามด้วยกองพลทหารราบ ๖ กองพล ซึ่ง ๓ กองพลเป็นกำลังสำรอง ฝรั่งเศสไม่ยอมถอยทั้งยิงตอบโต้และตั้งรับอย่างเหนียวแน่น ใน ๒ วันแรกเยอรมนีรุกคืบหน้าได้ ๓ กิโลเมตร ทั้ง ๒ ฝ่ายสูญเสียทหารเป็นจำนวนมากแต่ฝรั่งเศสสูญเสียมากกว่า ประมาณว่าเยอรมนีใช้กระสุนปืนใหญ่ยิงโจมตีวันละ ๗๐,๐๐๐ นัด กระสุนจำนวนไม่น้อยพลัดตกตามบ้านเรือนจนพังพินาศ พื้นที่โดยรอบเป็นเสมือนลูกคลื่นไกลลิบสุดลูกหูลูกตา การยิงปืนใหญ่ส่งผลให้แวร์เดิงพินาศย่อยยับ สนามรบเต็มไปด้วยศพทับถมกันและอบอวลด้วยกลิ่นศพ เมื่อมีการเคลื่อนกำลังไปแนวรบข้างหน้า กองทหารฝังศพจะรีบตามไปฝังศพที่เพิ่งเสียชีวิตใหม่ ๆ แต่ไม่นานกระสุนปืนใหญ่ของอีกฝ่ายก็ลอยมาตก พลิกดินพังกระจายนำซากศพกลับขึ้นมาใหม่ สนามรบจึงคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นศพและดินปืนทั้งเต็มไปด้วยแมลงวันและหนูตัวโต ๆ วิ่งไปมา นอกจากปืนใหญ่และกระสุนปืนใหญ่แล้ว ยังมีการใช้เครื่องพ่นไฟ (flame thrower) เป็นอาวุธทำลายทหารฝรั่งเศสในสนามเพลาะในระยะใกล้เป็นครั้งแรกรวมทั้งใช้แก๊สพิษฟอสจีน (phosgene) ที่ร้ายแรงกว่าแก๊สพิษคลอรีน (chlorine gas) ที่มี
หลังกองกำลังเยอรมันบุกเข้าถึงพื้นที่เขตฉนวนในสมรภูมิ (noman’sland) เข้าไปในแนวรบฝรั่งเศสได้ป้อมดูโอมงต์ (Douaumont) ที่แข็งแกร่งที่สุดก็แตกในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ เมื่อเยอรมนียึดป้อมดูโอมงต์ทหารฝรั่งเศสต่อต้านน้อยมาก เพราะก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสได้สละป้อมถอยหนีไปก่อนแล้วจึงมีทหารเหลือประจำการไม่มากนักอย่างไรก็ตามการยึดป้อมได้ทำลายขวัญและกำลังใจของกองทัพฝรั่งเศส และมีการหารือกันถึงการจะถอนกำลังส่วนที่เหลือจากฝั่งขวาของแม่น้ำเมิส อย่างไรก็ตาม นายพลนอแอล-มารี-โชแซฟ เอดูอาร์ เดอ กูรีแยร์ เดอ กัสเตลโน (Noël-Marie-Joseph Édouard de Curières de Castelnau) ผู้ช่วยของจอมพล ชอฟร์ตัดสินใจที่จะป้องกันแวร์เดิงซึ่งในช่วงนั้นหิมะตกหนักไว้ต่อไปโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายใด เขามีคำสั่งให้กองทัพที่ ๒ ซึ่งมีพลตรีอองรี-ฟิลิป เปแตง (Henri-Philippe Pétain)* เป็นผู้บัญชาการมาปกป้องแวร์เดิง นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสอาริสตีด บรียอง (Aristide Briand)* ก็ตระหนักว่าการสูญเสียแวร์เดิงจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างมาก เขาจึงสั่งให้เปแตงป้องกันแวร์เดิงไว้เต็มกำลังและทุกวิธีการ
เปแตงเดินทางมาถึงแวร์เดิงเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ เขาเป็นนักยุทธวิธีที่มีชื่อเสียงว่าเป็นนายทหารที่เอาใจใส่ทหารใต้บังคับบัญชามากและให้ความสำคัญแก่ยุทธวิธีแบบตั้งรับมากกว่ายุทธวิธีเชิงรุกเพื่อลดอัตราการสูญเสีย แต่หากแน่ใจว่าการบุกโจมตีจะไม่สร้างความสูญเสียให้แก่กองทัพมากเกินไป เขาก็พร้อมจะใช้ยุทธวิธีเชิงรุกในการบุกโจมตีด้วย เมื่อเปแตงมาถึงแวร์เดิง เขาให้สัญญาต่อทหารใต้บังคับบัญชาว่าจะไม่ยอมให้เยอรมนีผ่านแนวป้องกันของฝรั่งเศสไปได้ ปัญหาใหญ่ของการป้องกันแวร์เดิงคือการต้องพยายามหนุนแนวรบด้วยกำลังทหารและวัตถุปัจจัยเพราะเยอรมนียึดเส้นทางรถไฟทางตะวันตกและทางใต้ที่จะเข้าถึงแวร์เดิงไว้ การป้องกันแวร์เดิงจึงขึ้นอยู่กับเส้นทางบาร์-เลอ-ดุก (Bar-Le-Duc) แคบ ๆ สายเดียวที่ยาว ๖๔ กิโลเมตร เข้าไปยังแนวรบซึ่งปืนใหญ่เยอรมนียังทำลายไม่ได้ เส้นทางสายนี้ซึ่งรวมทางรถไฟแคบ ๆ ด้วยจึงเป็นเส้นเลือดสำคัญที่ชื่อว่า “ทางศักดิ์สิทธิ์” (sacred way) สายเดียวที่จะลำเลียงรถบรรทุก อาวุธยุทโธปกรณ์ เสบียงสัมภาระ และทหารทั้งเป็นเส้นทางที่นำทหารจำนวนไม่น้อยไปสู่ความตายด้วย เปแตงให้ซ่อมแซมถนนเพื่อให้แข็งแรงใช้การได้คล่องและเสริมกำลังโดยให้ทหารทุกหน่วยหมุนเวียนไปประจำการในแนวรบและป้องกันเส้นทางทุก ๒ สัปดาห์ เขากล่าวว่า “พวกมัน (เยอรมัน) จะผ่านมาไม่ได้” (They shall not pass) เปแตงให้ขนส่งกระสุนและเสบียงรวมทั้งทหารตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยให้ทหารพยายามตรึงพื้นที่ไว้และหลีกเลี่ยงการปะทะใหญ่ ในการป้องกันแวร์เดิงหน่วยทหารราบที่ ๓๓ ใต้บัญชาการของร้อยเอก ชาร์ล อองเดร โชแซฟ มารี เดอ โกล (Charles André Joseph Marie de Gaulle)* ได้ร่วมต่อสู้อย่างกล้าหาญและเดอ โกลถูกจับเป็นเชลยสงคราม การปะทะโจมตีเกิดขึ้นทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนการรบส่วนใหญ่เกิดขึ้นรอบๆเนินเลอมอร์ตอม (Le Mort Homme) หรือที่เรียกว่า เนินแห่งความตายทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูเซ ที่ได้ชื่อว่าเป็นนรกของแวร์เดิงเพราะทั้ง ๒ ฝ่ายสูญเสียหนัก ในปลายเดือนเมษายน ฝรั่งเศสบุกฝ่าแนวรบไปได้ เยอรมนียอมให้ทหารฝรั่งเศสยึดที่มั่นไว้ แต่ในเดือนต่อมาก็พยายามบุกหนัก
อองรี บาร์บุส (Henri Barbusse) นักเขียนและทหารในแนวรบบันทึกว่าทหารแต่ละคนต่างแบกโลงศพของตนเอง การรบในสนามโคลนทำให้ยากที่แยกมิตรออกจากศัตรูเนื่องจากสีเครื่องแบบและเครื่องหมายที่สังกัดเปื้อนโคลน ทั้ง ๒ ฝ่ายต่อสู้ท่ามกลางศพเน่าอืดของเหล่าสหายและศัตรูที่ล้อมรอบในขณะที่พวกหนูวิ่งแทะกินซากศพบางครั้งทหารวิ่งไปบนกองศพที่ขึ้นอืดและสะดุดเนื้อศพที่เน่าหลุดออกมา กล่าวได้ว่า การยุทธ์ไม่ถึงกับเป็นการฆ่าตัวตายโดยสิ้นเชิง แต่การมีชีวิตรอดก็ขึ้นกับโชค ตลอดเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม การรบไม่ได้ลดความรุนแรงลง ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างสูญเสียหนัก ในต้นเดือนมิถุนายน เยอรมนีบุกยึดป้อมโว (Vaux) แต่ฝรั่งเศสซึ่งมีทหารเพียง ๖๐๐ นาย ก็ต่อต้านอย่างเหนียวแน่นด้วยการระดมยิงปืนใหญ่ ในช่วงการต่อสู้ ผู้บัญชาการกองทัพฝรั่งเศสไม่อาจติดต่อกับศูนย์บัญชาการได้และต้องใช้นกพิราบสื่อสารเพื่อขอกำลังหนุนอย่างเร่งด่วน
แม้ฝรั่งเศสจะอ่อนล้าและเกิดความลังเลในการรบแต่ก็ไม่ยอมถอยหนี และการสู้รบยังคงดำเนินต่อไปฝรั่งเศสเพียงพยายามตรึงกำลังและป้องกันพื้นที่ไว้ให้ได้เท่านั้น การป้องกันแวร์เดิงและการมุ่งมั่นที่จะมีชัยชนะทำให้ในเวลาต่อมาเปแตงได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษแห่งแวร์เดิง ส่วนฟัลเคนไฮน์เริ่มยอมรับความไร้ประโยชน์ของการสู้รบและต้องการยุติการยุทธ์ที่แวร์เดิง แต่ฝ่ายเสนาธิการทหารปฏิเสธและยืนกรานให้รบต่อไป ในปลายเดือนมิถุนายน เยอรมนีพยายามโหมบุกโจมตีหนักอีกครั้ง แต่ล้มเหลวและสถานการณ์รบย่ำแย่ลงไปอีก ในช่วงเวลาเดียวกัน ฝรั่งเศสซึ่งทราบข่าวว่าอังกฤษกำลังจะเปิดการรุกที่แม่น้ำซอมมีกำลังใจดีขึ้นและยืนหยัดที่จะรักษาพื้นที่ไว้
ฝรั่งเศสเรียกร้องให้อังกฤษนำกำลังเข้าช่วยปลดเปลื้องความกดดันที่แวร์เดิงในช่วงครึ่งแรกของ ค.ศ. ๑๙๑๖ แต่พลเอก ดักลาส เฮก (Douglas Haig)* ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพที่ ๑ เห็นว่าทหารอังกฤษยังไม่พร้อมเพราะได้รับการฝึกไม่เพียงพอและยังขาดอาวุธยุทธภัณฑ์ หากรุกใหญ่อังกฤษจะย่อยยับหนัก เขาจึงประวิงเวลาที่จะเปิดการรบในการรุกใหญ่อย่างไรก็ตาม การยืนหยัดต่อต้านของฝรั่งเศสที่แวร์เดิงและกำลังพลที่เพิ่มมากขึ้นจาก ๓๖ กองพลในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ เป็น ๕๘ กองพลในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๖ ทำให้เฮกตัดสินใจที่จะเปิดแนวรบตอบโต้ฝ่ายมหาอำนาจกลางที่บริเวณแม่น้ำซอมในเดือนกรกฎาคม ในวันที่ ๑ กรกฎาคม อังกฤษเปิดการรุกเพื่อดึงเยอรมนีออกจากการรบที่แวร์เดิงและนำไปสู่ยุทธการที่แม่น้ำซอม (๑ กรกฎาคม–๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๖) ฝรั่งเศสนำทหาร ๕ กองพลมาร่วมโจมตีทางตอนใต้ของแม่น้ำซอม ขณะเดียวกัน กองทัพของอิตาลีและรัสเซียก็ประสานการรบเพื่อโจมตีกองทัพเยอรมันในแนวรบด้านตะวันออกตามจุดต่าง ๆ พร้อมกันด้วย จอมพล เซแซร์ ชอฟร์ให้เปแตงไปคุมแนวรบด้านเหนือและนายพลโรแบร์-ชอร์ช นีแวล (Robert-George Nivelle) มาบัญชาการกองทัพที่ ๒ แทนเปแตงการรุกของฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้เยอรมนีต้องถอนกำลังบางส่วนจากแวร์เดิงไปยังแม่น้ำซอม และในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ฟัลเคนไฮน์ก็สั่งเลิกการบุกที่แวร์เดิงและให้ตั้งรับไว้
หลังเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ฝรั่งเศสเริ่มทำการรุกและตีโต้กองทัพเยอรมันอย่างหนักหลายครั้งจนสามารถยึดพื้นที่ที่เคยสูญเสียกลับคืนมาได้มากขึ้นนายพลนีแวลซึ่งสันทัดการรบในเชิงรุกได้เคลื่อนกำลังจู่โจมที่มั่นเยอรมันครั้งใหญ่ ๒ ครั้ง ระหว่างวันที่ ๒๔ ตุลาคมถึงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ซึ่งเป็นการรุกแบบจำกัด (limited of fensive) ในการรุกครั้งแรกสามารถยึดป้อมดูโอมงต์กลับคืนได้และได้เชลยศึกกว่า ๖,๐๐๐ คน ในการรุกครั้งที่ ๒ เยอรมนีถอยร่นไป ๓ กิโลเมตร จับเชลยศึกได้กว่า ๑๐,๐๐๐ คน พร้อมปืนใหญ่ ๑๑๕ กระบอก สภาวการณ์สงครามที่เปลี่ยนแปลงโดยเยอรมนีกำลังเริ่มเพลี่ยงพล้ำตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมาได้เปิดโอกาสให้เทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์ ฮอลล์เวก (Theobald von Bethmann Hollweg)* อัครมหาเสนาบดีและอาร์ทูร์ ซิมเมอร์มันน์ (Arthur Zimmermann)* เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งขัดแย้งกับฟัลเคนไฮน์เกี่ยวกับนโยบายการทำสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด กราบทูลไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ว่าฟัลเคนไฮน์ดำเนินนโยบายสงครามผิดพลาดและกดดันให้ทรงปลดเขาออกจากตำแหน่ง พระองค์ไม่อาจต่อต้านแรงกดดันจากบุคคลสำคัญทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนได้ กอปรกับโรมาเนียซึ่งเห็นว่าฝ่ายมหาอำนาจกลางกำลังอ่อนล้าในด้านตะวันออกก็เห็นเป็นโอกาสประกาศเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ จึงทรงจำต้องปลดฟัลเคนไฮน์ในปลายเดือนสิงหาคม และแต่งตั้งจอมพล เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก ดำรงตำแหน่งสืบแทน ทันทีที่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพเยอรมัน ฮินเดนบูร์กก็แต่งตั้งนายพลเอริช ฟอน ลูเดนดอร์ฟ (Erich von Ludendorff)* คนสนิทเป็นผู้ช่วยในตำแหน่งพลเอกฝ่ายพลาธิการ (Quartermaster General)
ในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ฝรั่งเศสรุกจู่โจมเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการใช้ทหารคลานลากปืนใหญ่ยิงกั้นล่วงหน้าและตามด้วยการเคลื่อนกำลังบุกของกองทหารราบ เยอรมนีพ่ายแพ้อย่างยับเยิน การต่อสู้เพื่อแย่งชิงแวร์เดิงซึ่งกินเวลานาน ๑๐ เดือนสิ้นสุดอย่างเป็นทางการในปลายเดือนธันวาคม ฝรั่งเศสสูญเสียทหารกว่า ๕๕๐,๐๐๐ นาย เยอรมนีกว่า ๔๓๔,๐๐๐ นายยุทธการที่แวร์เดิงหรือที่รู้จักกันว่า “เครื่องบดเนื้อแห่งแวร์เดิง” (Mincing Machine of Verdun) ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นของฝรั่งเศสที่เป็นแรงบันดาลใจแก่ทหารและพลเรือนที่พลีชีพเท่านั้น แต่ยังเป็นยุทธการที่ยืดเยื้อที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทั้งจำนวนทหารที่บาดเจ็บและเสียชีวิตก็สูงสุดในประวัติศาสตร์การรบในเวลาต่อมามีการเปรียบเทียบยุทธการที่แวร์เดิงกับยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad ๒๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๒–๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๓)* ในแง่มุมของความอาจหาญความทรหดอดทน และความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นของมนุษย์ที่ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมอันน่าสะพรึงกลัวที่ไม่อาจบรรยายได้ แต่ เอ. เจ. พี. เทย์เลอร์ (A. J. P. Taylor) นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงกล่าวว่ายุทธการที่แวร์เดิงเป็นการรบและการสูญเสียที่ไร้ประโยชน์.