Rathenau, Walter (1867-1922)

นายวัลเทอร์ ราเทเนา (พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๖๕)

 วัลเทอร์ ราเทเนาเป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่มีชื่อเสียงในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๓๓)* เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Party-DDP) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ (Ministry of Reconstruction) ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ราเทเนาสนับสนุนนโยบายของนายกรัฐมนตรีโยเซฟ แวร์ท (Josepf Werth) ที่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทสำคัญในการเจรจาร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับสหภาพโซเวียตจนนำไปสู่การลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาราปัลโล (Treaty of Rapallo)* ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๒ หลังการลงนามในสนธิสัญญาราปัลโลได้ ๒ เดือน ราเทเนาถูกสมาชิกชาตินิยมขวาจัดที่เกลียดชังยิวลอบสังหาร เพราะเชื่อว่าเขาเป็นคนหนึ่งในกลุ่มของนักปราชญ์อาวุโสชาวยิวที่วางแผนยึดครองโลกตามที่กล่าวไว้ในพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน (Protocols of the Learned Elder of Zion)*

 ราเทเนาเกิดในครอบครัวนักธุรกิจอุตสาหกรรมที่มั่งคั่งที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ค.ศ. ๑๘๖๗ เป็นบุตรคนโตในจำนวน ๒ คนของเอมิล โมริทซ์ ราเทเนา (Emil Moritz Rathenau) นักธุรกิจชาวยิวผู้ก่อตั้งบริษัทวิศวกรรมไฟฟ้าเยอรมันหรืออาเอเก (Allemeine Elektri-zitäts-Gellellechaft-AEG) มาทิลเดอ นัคมันน์ (Mathilde Nachmann) มารดามาจากครอบครัวนายธนาคารที่มั่งคั่งเขาศึกษาวิชาฟิสิกส์ เคมี และปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินและมหาวิทยาลัยสตราสบูร์ก (Strasbourg) และสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินใน ค.ศ. ๑๘๘๙ หลังสำเร็จการศึกษา เขายึดอาชีพเป็นวิศวกรก่อนที่จะเข้าทำงานในบริษัทอาเอเกของบิดาและต่อมาได้เป็นผู้บริหารบริษัท ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ราเทเนาทำงานในกรมทรัพยากรของกระทรวงสงคราม ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เมื่อบิดาถึงแก่กรรม เขาก็ได้เป็นประธานบริษัทอาเอเก เขามีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงสงคราม เพราะผลักดันและส่งเสริมเศรษฐกิจให้มั่นคงจนเยอรมนีสามารถทำสงครามต่อไปได้เป็นเวลาถึง ๔ ปี ทั้ง ๆ ที่ขาดแคลนแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ

 ภายหลังสงครามราเทเนาร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยเยอรมัน เขาต่อต้านแนวความคิดสังคมนิยมซึ่งกำลังมีอิทธิพล ต่อสังคมเยอรมันและคัดค้านการที่รัฐจะเข้าควบคุมธุรกิจอุตสาหกรรม ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เขาเขียนหนังสือชื่อ The New Economy เสนอความคิดต่อต้านการโอนกิจการด้านอุตสาหกรรมเป็นของรัฐและสนับสนุนให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของบริษัท ความคิดดังกล่าวมีอิทธิพลไม่น้อยต่อรัฐบาลในช่วงหลังสงคราม ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ โยเซฟ แวร์ท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งเขาให้ร่วมในคณะกรรมาธิการด้านสังคม (Socialization Committee) และต่อมาแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยด้านเทคนิคในการประชุมลดกำลังอาวุธที่องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม เมื่อแวร์ทดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ราเทเนาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขาสนับสนุนนโยบายของแวร์ทในการยึดมั่นพันธกรณีของประเทศภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายโดยเยอรมนีจะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการชำระค่าปฏิกรรมสงคราม ในขณะเดียวกัน เขาร่วมกับมัททีอัสแอร์ซแบร์เกอร์ (Matthias Erzberger)* ผู้นำปีกซ้ายของพรรคเซนเตอร์ (Centre Party)* ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพยายามแก้ไขเงื่อนไขอันรุนแรงของสนธิสัญญาแวร์ซาย นอกจากนี้ ราเทเนายังสนับสนุนการรื้อฟื้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตและนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาราปัลโลเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๒ สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง ๒ ประเทศที่ขาดสะบั้นตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ ฟื้นคืนขึ้นและเป็นการรับรองอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาต่อต้านสนธิสัญญาราปัลโลอย่างมาก และพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party-NSDAP; Nazi Party)* วิพากษ์โจมตีราเทเนาอย่างรุนแรงว่าเขาร่วมมือกับยิวคอมมิวนิสต์บั่นทอนความมั่นคงของประเทศ

 หลังการลงนามในสนธิสัญญาราปัลโลได้ ๒ เดือนราเทเนาก็ถูกลอบสังหารในตอนเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๒ ขณะขับรถออกจากบ้านไปทำงานซึ่งเป็นกิจวัตรประจำทุกเช้า ฆาตกร ๒ คนซึ่งเป็นนายทหารสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายขวาระดมยิงด้วยปืนกลขณะเขาขับรถแล่นผ่านจุดที่ดักซุ่มอยู่ ส่วนแอนสท์ ฟอน โซโลมอน (Ernst von Solomon) ผู้ร่วมวางแผนอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุทำหน้าที่จัดหารถ กลุ่มก่อการ ๔ คนซึ่งรวมทั้งแอนสท์ แวร์เนอร์ เทโค (Ernst Werner Techow) คนขับรถยนต์ถูกจับในเวลาต่อมา นักโทษ ๒ คนก่ออัตวินิบาตกรรมในขณะที่ตำรวจล้อมจับ เทโคและฟอน โซโลมอนถูกศาลตัดสินจำคุก ๑๕ ปี แต่เทโคได้รับการปล่อยตัวใน ค.ศ. ๑๙๒๗ เพราะมีความประพฤติดี ส่วนฟอน โซโลมอนหลังจากพ้นโทษในเวลาต่อมากลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง หนังสือเรื่อง Der Fragebogen (The Questionaire) ของเขาซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เยอรมนีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๔๖ เป็นหนังสือขายดีในเยอรมนีตะวันตกแต่ถูกห้ามเผยแพร่ในอังกฤษด้วยข้ออ้างมีเนื้อหาต่อต้านสหรัฐอเมริกาและบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

 วัลเทอร์ ราเทเนาเสียชีวิตขณะอายุได้ ๕๕ บี นักประวัติศาสตร์เยอรมันหลายคนมีความเห็นว่าการสังหารราเทเนามีผลกระทบระยะยาวต่อการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของเยอรมนีและยุโรป เพราะนำไปสู่การก่อตัวของขบวนการต่อต้านชาวยิว (Anti-Semitism)* และขบวนการต่อต้านพวกรักสันติ (anti-pacifist) ในเยอรมนี ทั้งมีส่วนทำให้แผนการแก้ไขเศรษฐกิจของเยอรมนีล้มเหลวและเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๓ นอกจากนี้ ก็ยังเป็นสัญญาณที่สะท้อนความไร้เสถียรภาพและความรุนแรงที่บ่อนทำลายสาธารณรัฐไวมาร์ ต่อมาเมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ก้าวสู่อำนาจทางการเมืองในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ พรรคนาซีใช้ประเด็นคำสารภาพของฆาตกรที่สังหารราเทเนาโดยอ้างว่าราเทเนาเป็นคนหนึ่งของกลุ่มนักปราชญ์อาวุโสชาวยิวที่มีแผนยึดครองโลกเป็นเหตุผลหนึ่งของการดำเนินนโยบายต่อต้านชาวยิวฮิตเลอร์ก็ให้ประกาศยกย่องกลุ่มฆาตกรที่สังหารราเทเนาเป็นวีรชนแห่งชาติและให้วันที่ ๒๔ มิถุนายนซึ่งเป็นวันสังหารราเทเนาเป็นวันหยุดของทางการ.



คำตั้ง
Rathenau, Walter
คำเทียบ
นายวัลเทอร์ ราเทเนา
คำสำคัญ
- การประชุมลดกำลังอาวุธ
- ขบวนการต่อต้านชาวยิว
- โซโลมอน, แอนสท์ ฟอน
- เทโค, แอนสท์ แวร์เนอร์
- นัคมันน์, มาทิลเดอ
- พรรคนาซี
- พรรคประชาธิปไตย
- พรรคประชาธิปไตยเยอรมัน
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน
- เยอรมนีตะวันตก
- ราเทเนา, วัลเทอร์
- แวร์ท, โยเซฟ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาราปัลโล
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สันนิบาตชาติ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1867-1922
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๖๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ปราณี สิริจันทพันธ์
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-