การปฏิวัติกำมะหยี่หรือที่เรียกว่า “การปฏิวัติอันนุ่มนวล” (Gentle Revolution) เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติวิธีซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๖–๒๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ที่กรุงปราก (Prague) เชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* เป็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากระบอบคอมมิวนิสต์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ปราศจากการนองเลือดกลุ่มกฎบัตร ๗๗ (Charter 77)* ซึ่งเป็นขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและกลุ่มฝ่ายค้านต่าง ๆ ของนักศึกษาและปัญญาชนที่ได้ชื่อว่าเป็นพวกนอกรีต (dissidents) ได้รวมตัวเป็นขบวนการเดียวกันโดยเรียกชื่อว่า ซีวิกฟอรัม (Civic Forum) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ซีวิกฟอรัมเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเชโกสโลวะเกีย (Communist Party of Czechoslovakia)* ทั้งเรียกร้องให้ปลดผู้นำคอมมิวนิสต์รุ่นเก่าออกและให้ปฏิรูปทางการเมือง รัฐบาลคอมมิวนิสต์ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้จนต้องประกาศยอมรับสถานภาพของขบวนการซีวิกฟอรัมและขอเจรจากับ วาซลาฟ ฮาเวล (Vaclav Havel)* ผู้นำขบวนการเพื่อให้ช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง จนท้ายที่สุดผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และสมาชิกพรรคคนสำคัญหลายคนถูกกดดันให้ลาออก
การปฏิวัติกำมะหยี่เป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโปแลนด์และฮังการีในกลาง ค.ศ. ๑๙๘๙ ซึ่งทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์และฮังการีที่ครองอำนาจมาเป็นเวลายาวนานหมดบทบาทลง และนำไปสู่การเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ในเชโกสโลวะเกียการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปประเทศเริ่มก่อตัวขึ้นในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ และขยายตัวมากขึ้นภายหลังกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* พังทลายลงเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ในเย็นวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน หนึ่งวันก่อนวันนักศึกษาสากล (International Students Day) ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันครบรอบวาระ ๕๐ ปีที่ทหารนาซีสังหารนักศึกษาชาวเช็กในช่วงการยึดครองประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* รวมทั้งเป็นวันครบรอบ๒๐ปีที่ยานพาลัค (Jan Palach) นักศึกษาชาวเช็กจุดไฟเผาตนเองที่จัตุรัสเวนเซสลัซ (Wenceslas) ใจกลางกรุงปรากใน ค.ศ. ๑๙๖๙ เพื่อประท้วงการบุกเชโกสโลวะเกียของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๖๘ นักศึกษาซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพสังคมนิยมเยาวชน (Socialist Union of Youth) ที่อยู่ใต้การกำกับดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์และสมาชิกส่วนใหญ่ต้องการการปฏิรูปทางการเมืองได้รวมตัวกับนักศึกษามหาวิทยาลัยชาลส์ (Charles University) คณะต่าง ๆ เตรียมจัดงานการชุมนุมรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น รวมทั้งฉลองวันนักศึกษาสากลด้วย
ในแผนโครงงานที่กำหนดกันไว้ นักศึกษาจะนัดพบกันในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน เวลา ๑๖.๐๐ น. ที่เขตอัลเบียร์ตอฟ (Albertov) บริเวณด้านนอกของตึกคณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยชาลส์ จากนั้นจะเดินไปวางดอกไม้และจุดเทียนที่หลุมศพของคาเรล ไฮเนค มาคา (Karel Hynek Mácha) กวีชาวเช็กที่มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ณ สุสานสลาวิน (Slavin) เขตวีเชรัด (Vyšehrad) มีการกล่าวคำปราศรัยและหลังจากนั้นจะแยกย้ายกันกลับอย่างไรก็ตามเนื่องจากแนวคิดของการชุมนุมคือ “การต่อต้านฟาสซิสต์” (Anti-Fascist) แกนนำนักศึกษาของสหภาพสังคมนิยมเยาวชนจะเป็นผู้แทนกล่าวปราศรัยซึ่งจะเน้นเหตุการณ์ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ปรากฏว่าจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมกลับมีมากกว่าที่คิดกันไว้รวมประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน และส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพสังคมนิยมเยาวชน ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่กำหนด หลังการปราศรัยนักศึกษาจำนวน ๒ ใน ๓ แยกย้ายกันกลับ แต่ยังมีนักศึกษาประมาณ ๕,๐๐๐ คน ชุมนุมกันต่อและเริ่มเรียกร้องให้มีการปฏิรูป พวกเขาตะโกนส่งเสียงคำขวัญและถ้อยคำต่าง ๆ ที่ปลุกเร้าอารมณ์ เช่น “เสรีภาพ” “ทำลายการผูกขาดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์” “ปลดปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด” “พวกเราต้องการกลุ่มกฎบัตร ๗๗”
จากนั้น นักศึกษาพากันเดินขบวนไปยังจัตุรัสเวนเซสลัซ ใจกลางเมือง ประชาชนเริ่มเข้ามาสมทบเป็นระยะ ๆ ประมาณ ๒๐.๐๐ น. ขบวนชุมนุมมาได้ครึ่งทางตรงถนนนาร็อดนี (Narodni) ก็เผชิญกับตำรวจซึ่งตั้งแถวเป็นกำแพงขวางกั้นและปิดถนนทุกเส้นทาง เมื่อไม่มีทางไป นักศึกษาต่างนั่งลงจุดเทียนไขและเริ่มร้องเพลงปลุกขวัญและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนตะโกนด่ารัฐบาล เหล่าผู้ชุมนุมได้ชูพวงกุญแจหรือลูกกุญแจที่ติดตัวขึ้นเหนือศีรษะและแกว่งให้กระทบกันจนเสียงกุญแจดังไปทั่ว พวกเขาส่งเสียงว่า “มิโลออกไป” “เราไม่ต้องการมิโล” [มิโล หมายถึง มิโลช ยาเกช (Miloš Jakeš) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวะเกีย] ในเวลาต่อมากุญแจได้กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของขบวนการ ตอน ๒๐.๔๕ น. หัวหน้าตำรวจและตำรวจปราบจลาจลขอให้สลายการชุมนุม แต่เนื่องจากทุกเส้นทางถูกปิดและนักศึกษาไม่มีทางออก บรรยากาศความตึงเครียดและความหวาดวิตกเริ่มเกิดขึ้น จากนั้นตำรวจหน่วยพิเศษเริ่มทุบตีนักศึกษาที่นั่งแถวหน้า ความโกลาหลปั่นป่วนจึงเกิดขึ้นและท้ายที่สุดตำรวจเปิดทางแคบ ๆ ให้ผู้ชุมนุมเดินออกโดยตำรวจคอยทุบตีและจับกุมคนที่ต้องสงสัยประมาณว่า ๑๗๙ คน ถูกจับ ๑๔๕ คน ถูกคุมตัว และ ๓๘ คน บาดเจ็บสาหัส สถานการณ์ความรุนแรงวุ่นวายกลับสู่ภาวะปรกติ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ของวันที่ ๑๗ ได้จุดชนวนระเบิดซึ่งลุกลามขยายตัวจนนำไปสู่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในที่สุด ข่าวความรุนแรงของตำรวจในการสลายการชุมนุมและข่าวลือว่ามีนักศึกษาหลายคนเสียชีวิตทำให้ความไม่พอใจของประชาชนขยายตัวมากขึ้น ระหว่างวันที่ ๑๘–๒๑ พฤศจิกายน กระแสการต่อต้านรัฐบาลขยายตัวและการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ฮาเวลนักเขียนบทละครแนวเสียดสีซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มกฎบัตร ๗๗ ได้ประสานการเคลื่อนไหวและร่วมหารือกับกลุ่มฝ่ายค้านอื่น ๆ รวมทั้งกลุ่มของนักศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ โดยเรียกร้องให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่ทั่วประเทศในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ฮาเวลให้รวมการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ เป็นขบวนการเดียวกันในชื่อซีวิกฟอรัม ซีวิกฟอรัมเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้ปลดผู้นำคอมมิวนิสต์ที่มีส่วนรับผิดชอบในการปราบปรามผู้ชุมนุม ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งอย่างเสรี และให้ปล่อยนักโทษการเมืองทันที
ในช่วงเวลาเดียวกับที่ซีวิกฟอรัมเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง นักศึกษาจากกรุงปรากต่างจับกลุ่มเดินทางไปยังเมืองและเขตชนบทต่าง ๆ ทั่วประเทศพวกเขานำวีดิทัศน์ที่มีเนื้อหาการแสดงความทารุณและการใช้ความรุนแรงของตำรวจในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไปเผยแพร่ให้ประชาชน นักเรียน และนักศึกษาได้รับรู้ และให้เตรียมเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน การเคลื่อนไหวของพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะประชาชนนักเรียนและนักศึกษาต่างตื่นตัวและพร้อมที่จะเข้าร่วมปฏิบัติการกระแสการต่อต้านที่มีมากขึ้นทำให้รัฐบาลเริ่มหวาดวิตกและหาทางแก้ไข ยาเกชออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ประกาศจะไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนและยืนยันการจะปกป้องระบอบสังคมนิยม ทั้งจะพัฒนาระบอบสังคมนิยมด้วยแนวทางการปฏิรูป ในเวลาเดียวกันระหว่างวันที่ ๒๓–๒๔ พฤศจิกายน รัฐบาลก็ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปฏิบัติการของตำรวจในการสลายการชุมนุมของนักศึกษาเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน โดยสุ่มสำรวจประชาชน ๗๘๐ คน ซึ่ง ๒๓๐ คนอยู่ที่กรุงปรากและอีก ๕๕๐ คน จากเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ร้อยละ ๗๙ เห็นว่าตำรวจดำเนินการไม่เหมาะสมและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง ร้อยละ ๑๔ เห็นว่าควรปฏิบัติการอย่างละมุนละม่อมกว่านี้ ร้อยละ ๔ เห็นว่าเหมาะสม และร้อยละ ๑ เห็นว่าควรดำเนินการให้เฉียบขาดกว่านี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ร้อยละ ๘๘ เห็นว่าควรมีการปรับเปลี่ยนผู้นำพรรค ร้อยละ ๘๑ ต้องการให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหา ร้อยละ ๘๕ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปตามแนวทางเปเรสตรอยกา (perestroika) และร้อยละ ๔๕ ยังคงเชื่อมั่นในเส้นทางสังคมนิยม ผลการสำรวจความคิดเห็นสร้างความมั่นใจให้กับรัฐบาลมากขึ้น
เมื่ออะเล็กซานเดอร์ ดูบเชก (Alexander Dubček)* อดีตผู้นำการปฏิรูปประเทศในปลายทศวรรษ ๑๙๖๐ ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่าฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก (Prague Spring)* ค.ศ. ๑๙๖๘ ซึ่งเก็บตัวเงียบมานานปรากฏตัวต่อสาธารณชนและประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการซีวิกฟอรัมการเคลื่อนไหวของซีวิกฟอรัมก็มีพลังมากขึ้น และชาวสโลวักเริ่มออกมาสนับสนุนมากขึ้นทั้งเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสโลวาเกีย (Communist Party of Slovakia)* ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปราบปรามนักศึกษาและให้มีการปฏิรูปทางการเมืองทั้งดูบเชกและฮาเวลต่างคาดหวังว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างระบอบสังคมนิยมที่มีความเป็นมนุษย์ (Socialism with a Human face) ในเวลาต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้นำกองทัพออกแถลงการณ์ร่วมผ่านสถานีโทรทัศน์โดยกล่าวว่ากองทัพจะไม่ทำร้ายประชาชนและเรียกร้องให้ยุติการเคลื่อนไหวทั้งให้หันหน้าเจรจากัน
ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวะเกียมีมติจะดำเนินนโยบายปฏิรูปตามแนวทางกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perestroika)* ของประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)* แห่งสหภาพโซเวียตและมีมติให้ผ่อนปรนการเกณฑ์ทหารการลดหย่อนภาษีแก่นักศึกษา การจำกัดขอบเขตอำนาจของหน่วยตำรวจปราบปรามหรือกองกำลังประชาชน (People’s Militia) เฉพาะในกรณีที่เป็นการคุกคามระบอบสังคมนิยมเท่านั้นและอื่น ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการปลดยาเกช เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์หัวอนุรักษ์และแต่งตั้งคาเรล อูร์บาเนค(Karel Urbánek)คอมมิวนิสต์แนวทางปฏิรูปให้ดำรงตำแหน่งสืบแทน อูร์บาเนคสัญญาว่าจะดำเนินการปฏิรูปตามความต้องการของประชาชน
ในคืนวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ฮาเวลผู้นำกลุ่มซีวิกฟอรัมให้สัมภาษณ์สดทางสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรก เขากล่าวถึงสังคมเช็กที่ถูกปิดหูปิดตาและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นและการชุมนุม สิทธิมนุษยชน และปัญหาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ รวมทั้งกำหนดให้มีการชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศระหว่างเวลา ๑๒.๐๐–๑๔.๐๐ น. ในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน สื่อมวลชนขานรับข้อเรียกร้องของฮาเวลและรณรงค์ให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมในวันเวลาดังกล่าว หนังสือพิมพ์ Pravda ของพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวะเกียก็ประกาศสนับสนุนฮาเวลพรรคคอมมิวนิสต์พยายามควบคุมสถานการณ์และปลดแกนนำพรรคหัวอนุรักษ์หลายคนออกในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เพื่อหวังลดกระแสการต่อต้าน อูร์บาเนคจัดการประชุมร่วมกับสื่อมวลชน แต่ผลการประชุมก็ไม่มีข้อสรุปใด ๆ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิรูปและรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ยังคงยืนยันอำนาจและความชอบธรรมในการบริหารปกครองประเทศ การประชุมที่ไม่มีข้อสรุปดังกล่าวสร้างความขุ่นเคืองอย่างมากแก่ประชาชน การเคลื่อนไหวชุมนุมในกรุงปรากจึงมีประชาชนเข้าร่วมมากขึ้นประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ คน และที่กรุงบราติสลาวาจำนวนผู้ชุมนุมมีมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ในวันเดียวกันนั้น กอร์บาชอฟผู้นำสหภาพโซเวียตก็เขียนบทความที่มีเนื้อหาสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเชโกสโลวะเกียในหนังสือพิมพ์ Pravda ของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและกล่าวเป็นนัยว่าสหภาพโซเวียตจะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับปัญหาการเมืองภายในของเชโกสโลวะเกีย
ในเช้าวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวข่าวเรื่องการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นและก่อนเที่ยงวัน
ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน รัฐบาลสัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้งเสรีภายใน๑สัปดาห์และรัฐบาลผสมที่จะจัดตั้งขึ้นไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกคอมมิวนิสต์ ในวันรุ่งขึ้นรัฐบาลยังประกาศว่าการบุกเชโกสโลวะเกียของกองทัพกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact)* ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เป็นปฏิบัติการทางทหารที่ไม่ชอบธรรม แม้พรรคคอมมิวนิสต์จะยอมโอนอ่อนต่อข้อเรียกร้องของซีวิกฟอรัม แต่การชุมนุมก็ยังคงดำเนินต่อไปเพราะประชาชนเห็นว่าคณะรัฐบาลยังคงประกอบด้วยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐบาลโดยเร็ว ในวันที่ ๗ ธันวาคม ลาดิสลัฟ อะดาเมตซ์ (Ladislav Adamec) นายกรัฐมนตรีประกาศลาออก และอีก ๓ วันต่อมาประธานาธิบดีกุสตาฟ ฮูซาก (Gustav Husak)* ซึ่งควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ก็ลาออกจากตำแหน่งในวันเดียวกันมีการจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมชั่วคราวขึ้นบริหารประเทศซึ่งแทบจะไม่มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าร่วมด้วย ขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ก็เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อเตรียมลงสมัครเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ในช่วงเวลาเดียวกันมีการโค่นล้มรูปปั้นขนาดใหญ่ของเคลเมนต์ กอตต์วัลด์ (Klement Gottwald)* อดีตผู้นำคอมมิวนิสต์ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงบราติสลาวา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าการปกครองแบบเผด็จการรวมศูนย์และคอมมิวนิสต์หัวอนุรักษ์ถูกทำลายลงและมีนัยว่าเชโกสโลวะเกียกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่
ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ ฮาเวลในวัย ๕๓ ปีได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีซึ่งนับเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia Socialist Republic) ที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ดูบเชกก็ได้รับเลือกเป็นประธานรัฐสภา การก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองของฮาเวลและดูบเชกนับเป็นชัยชนะของการปฏิวัติอันนุ่มนวลและการสิ้นสุดของระบอบคอมมิวนิสต์โดยปริยาย วันที่ ๑๗ พฤศจิกายนซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการปฏิวัติกำมะหยี่ในเวลาต่อมาจึงถือเป็นวันชาติสำคัญวันหนึ่งของสาธารณรัฐเช็กที่เรียกว่า “วันแห่งเสรีภาพและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” (Day of Freedom and Struggle for Democracy) ใน ค.ศ. ๒๐๐๙ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๒๐ ปีของเหตุการณ์การปฏิวัติกำมะหยี่ สาธารณรัฐสโลวักได้จัดทำเหรียญพิเศษที่ระลึกราคา ๒ ยูโร เผยแพร่เป็นรูประฆังแห่งเสรีภาพที่มีกุญแจห้อยติดลูกตุ้มระฆังโดยกุญแจเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเปิดประตูไปสู่การปฏิวัติ.