Rapallo, Treaty of (1922)

สนธิสัญญาราปัลโล (พ.ศ. ๒๔๖๕)

สนธิสัญญาราปัลโลเป็นความตกลงทางการทูตระหว่างเยอรมนีหรือสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* กับสหภาพโซเวียตหรือสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republics-USSR)* ที่ลงนาม ณ เมืองราปัลโล (Rapallo) ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๒ เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ทั้ง ๒ ประเทศ ต่างตกลงยกเลิกหนี้สินและข้อเรียกร้องจากสงครามทั้งทางทหารและพลเรือนที่มีต่อกันซึ่งสืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* และสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* ค.ศ. ๑๙๑๘ สนธิสัญญาราปัลโลไม่เพียงทำให้ทั้งเยอรมนีและสหภาพโซเวียตหลุดพันจากนโยบายการถูกโดดเดี่ยวจากประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่ยังทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองที่เสื่อมโทรมลงตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ ได้รับการฟื้นฟูและรับรองอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง สนธิสัญญาราปัลโลนับเป็นความสำเร็จอันงดงามทางการทูตของเกออร์กี วาซีเลวิช ชิเชริน (Georgi Vasilevich Chicherin)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียตในการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเสมอภาคในเชิงรุก

 สนธิสัญญาราปัลโลเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายต่างประเทศของชิเชรินหลังการสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* ที่มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และโดยเฉพาะกับเยอรมนีเพื่อให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ รับรองสถานภาพของสหภาพโซเวียตและเพื่อให้สหภาพโซเวียตรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศโดยเฉพาะการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้บูรณะฟื้นฟูประเทศ ชิเชรินปรับนโยบายขององค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* หรือ องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* ในการเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์และลดการผลักคันการก่อกระแสการปฏิวัติโลกให้สอดคล้องกับแนวนโยบายใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศโซเวียต การลดบทบาทของโคมินเทิร์นดังกล่าวทำให้ประเทศตะวันตกเริ่มคลายความหวาดระแวงลงและต้องการให้สหภาพโซเวียตมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของยุโรปรวมทั้งเพื่อสะสางค่าปฏิกรรมสงครามและหนี้สินของสหภาพโซเวียตด้วยแต่การที่ชิเชรินได้ประกาศไม่ยอมรับพันธะหนี้สินทั้งหมดของรัสเซียต่อประเทศตะวันตกในช่วงก่อนการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ทำให้การดำเนินงานด้านต่างประเทศของชิเชรินในระยะแรกไม่ราบรื่นเท่าที่ควร

 อย่างไรก็ตาม ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๑ สหภาพโซเวียตได้เปิดการเจรจากับอังกฤษเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันโดยยอมรับเงื่อนไขของอังกฤษว่ารัฐบาลโซเวียตจะยุติการโฆษณาชวนเชื่อโจมตีอังกฤษและหยุดการขยายอิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์ไนดินแดนอังกฤษ จะส่งคืนเชลยสงครามตลอดจนยอมชำระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อน ค.ศ. ๑๙๑๔ ให้แก่ธุรกิจภาคเอกชนของอังกฤษ การยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศทั้งสองในกลางเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ และยังทำให้สหภาพโซเวียตเป็นที่ยอมรับโดยพฤตินัย (de facto recognition) จากรัฐบาลอังกฤษ ในเวลาต่อมาฝรั่งเศสและประเทศตะวันตกอื่น ๆ ก็เจรจาตกลงกับสหภาพโซเวียตในลักษณะเดียวกันกับอังกฤษ ความสัมพันธ์ที่พัฒนาดีขึ้นระหว่างสหภาพโซเวียตกับประเทศตะวันตกทำให้กลุ่มนักธุรกิจเอกชนเยอรมันหวาดวิตกว่าประเทศตะวันตกจะเข้าไปควบคุมการค้าระหว่างประเทศกับสหภาพโซเวียตซึ่งเดิมเป็นคู่ค้าหลักของเยอรมนี บุคคลเหล่านั้นจึงเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลเยอรมันติดต่อและฟื้นฟูการค้ากับสหภาพโซเวียต ในเวลาเดียวกัน นายพลฮันส์ ฟอน เซคท์ (Hans von Seeckt)* ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีซึ่งต่อต้านสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ที่ควบคุมและลดกำลังรบและกำลังพลของเยอรมนีก็ต้องการร่วมมือลับทางทหารกับสหภาพโซเวียต เซคท์จึงมีส่วนช่วยผลักดันรัฐบาลเยอรมันให้เร่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างเป็นทางการกับสหภาพโซเวียตด้วย

 ในต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๒ ประเทศตะวันตกได้จัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศขึ้นที่เมืองเจนัว (Genoa) อิตาลี เพื่อหาแนวทางร่วมมือกันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของยุโรปและได้เชิญสหภาพโซเวียตและเยอรมนีเข้าร่วมประชุมด้วยเพราะเห็นว่าความร่วมมือของทั้ง ๒ ประเทศจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวขึ้นได้ ในระหว่างการเดินทางไปเมืองเจนัว ชิเชรินซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนโซเวียตได้แวะเยือนกรุงเบอร์ลินก่อนและเจรจาหารือกับวัลเทอร์ ราเทเนา (Walter Rathenau)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีเกี่ยวกับความร่วมมือช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจ การเจรจาบรรลุความตกลงถึงขั้นที่เกือบจะมีการจัดทำสนธิสัญญาทวิภาคีระหว่างกันอยู่แล้ว แต่ราเทเนาเกิดหวาดวิตกว่าการทำความตกลงอาจทำให้ประเทศตะวันตกอื่น ๆ ต่อต้านและอาจส่งผลเสียต่อเยอรมนีได้ทั้ง ๒ ฝ่ายจึงล้มเลิกการเจรจาและเดินทางไปเมืองเจนัว

 อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่การประชุมที่เมืองเจนัวกำลังดำเนินอยู่ ชิเชรินก็หาโอกาสเจรจาเป็นการส่วนตัวกับราเทเนาอีกครั้งหนึ่งที่เมืองตากอากาศราปัลโลซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองเจบัวนักและแสดงท่าทีให้รู้ว่าหากเยอรมนีไม่ยอมตกลงร่วมมือ สหภาพโซเวียตจะแยกทำสนธิสัญญากับประเทศตะวันตกอื่น ๆ และจะใช้เงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายมาตราที่ ๑๑๖ ซึ่งให้สิทธิแก่รัสเซียที่จะเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามมาบังคับใช้กับเยอรมนี หากเยอรมนียอมตกลงทำสนธิสัญญากับสหภาพโซเวียต ทั้ง ๒ ประเทศจะยกเลิกหนี้สินที่มีต่อกันและสหภาพโซเวียตจะร่วมมือกับประเทศตะวันตกอย่างผิวเผิน การข่มขู่ดังกล่าวทำให้เยอรมนีซึ่งวิตกกังวลกับปัญหาค่าปฏิกรรมสงครามอย่างมากไม่มีทางหลีกเลี่ยงจึงยอมลงนามในสนธิสัญญาเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับสหภาพโซเวียตที่เมืองราปัลโลเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๒

 สนธิสัญญาราปัลโลมีทั้งหมด ๖ มาตรา สาระสำคัญสรุปได้คือ เยอรมนีและสหภาพโซเวียตยกเลิกหนี้สินและข้อเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวกับสงครามทั้งทางทหารและพลเรือนที่มีต่อกันและจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งทางเศรษฐกิจและการค้า ทั้ง ๒ ประเทศจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นทันทีโดยตกลงแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตและจัดตั้งสถานกงสุลในดินแดนของเยอรมนีและสหภาพโซเวียต ทั้งจะหารือร่วมกันทุกครั้งก่อนจะจัดทำความตกลงสำคัญ ๆ ระหว่างประเทศ ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างตกลงยอมรับสถานภาพการเป็นประเทศที่ได้รับความอนุเคราะห์ระหว่างกันและจะร่วมมือกันในการบรรลุถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจของกันและกัน ความตกลงเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้ทันทีที่มีการลงนามในสนธิสัญญา สนธิสัญญาราปัลโลไม่เพียงทำให้ทั้งเยอรมนีและสหภาพโซเวียตหลุดพ้นจากภาวะที่ถูกแยกให้อยู่โดดเดี่ยวตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๗ เท่านั้น แต่ยังทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง ๒ ประเทศซึ่งขาดสะบั้นลงหลังการลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ ค.ศ. ๑๙๑๘ ฟื้นคืนและเป็นที่รับรองอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง สนธิสัญญาฉบับนี้ จึงนับเป็นชัยชนะและความสำเร็จทางการทูตครั้งสำคัญของสหภาพโซเวียตเพราะสหภาพโซเวียตเป็นผู้ริเริ่มแทนที่จะเป็นฝ่ายตอบสนอง การดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเสมอภาคเชิงรุกที่ไม่ใช่เชิงรับดังกล่าวจึงเป็นหลักปฏิบัติของนโยบายต่างประเทศที่สหภาพโซเวียตยึดถือตลอดช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐-๑๙๓๐

 สนธิสัญญาราบัลโลยังเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรกของเยอรมนีที่จัดทำขึ้นในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ นักการเมืองเสรีนิยมเยอรมันส่วนใหญ่สนับสนุนเพราะถือว่าเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์อันดีทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างทั้ง ๒ ประเทศ แต่พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* และพรรคการเมืองฝ่ายขวาต่อต้านอย่างมากเพราะหวาดระแวงว่าสหภาพโซเวียตจะขยายอิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาในเยอรมนีและจะใช้เยอรมนีเป็นฐานในการผลักดันการก่อการปฏิวัติขึ้นในยุโรป สนธิสัญญาราปัลโลยังมีผลทำให้การประชุมที่เมืองเจนัวต้องสิ้นสุดลงโดยไม่สามารถบรรลุความตกลงใด ๆ ประเทศตะวันตกเริ่มวิตกถึงสถานภาพทางการเมืองระหว่างประเทศที่เข้มแข็งขึ้นของเยอรมนีและสหภาพโซเวียตและต่างโจมตีเยอรมนีอย่างมาก รัฐบาลอังกฤษซึ่งมีเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* เป็นผู้นำก็ถูกโจมตีที่เปิดโอกาสให้มีการลงนามเกิดขึ้น เหตุการณ์ครั้งนี้จึงมีส่วนทำให้เขาหมดอำนาจในเวลาต่อมา ส่วนฝรั่งเศสก็หันกลับไปกระชับความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรในยุโรปตะวันออกมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเมืองของตน

 สนธิสัญญาราบัลโลมีส่วนเอื้อให้ความร่วมมือทางทหารระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตก้าวหน้ามากขึ้นจนนำไปสู่ความตกลงลับทางทหารร่วมกันของทั้ง ๒ ประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ตามความตกลงดังกล่าวสหภาพโซเวียตยอมให้เยอรมนีจัดตั้งโรงงานผลิตอาวุธในดินแดนของโซเวียตและยอมให้ใช้ฐานทัพในประเทศเป็นที่ทดลองอาวุธและฝึกซ้อมรบ ส่วนเยอรมนีก็จะช่วยฝึกอบรมทหารและปรับปรุงกองทัพแดง (Red Army)* ให้ทันสมัยตลอดจนจำหน่ายอาวุธที่ผลิตขึ้นในราคาพิเศษ ผู้แทนทางทหารของทั้ง ๒ ฝ่ายยังตกลงในหลักการที่จะปฏิบัติการทางทหารร่วมกันในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำสงครามกับโปแลนด์และประเทศในกลุ่มสัมพันธมิตร ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๓ กองทัพบกเยอรมันได้จัดตั้งหน่วยประสานงานกองทัพขึ้นในกรุงมอสโกและบริษัทผลิตอาวุธของเยอรมนีที่สำคัญหลายบริษัท เช่น บริษัทตระกูลครุพพ์ (Kruppe family)* เดมเลอร์ (Daimler) ไรน์เมทัล (Rhinemetal) ก็เข้ามาจัดตั้งโรงงานผลิตอาวุธขึ้นที่เมืองฟีลี (Fili) ซามารา (Samara) และคาซาน (Kazan) ความร่วมมือลับทางทหารดังกล่าวมีส่วนทำให้ทั้งเยอรมนีและสหภาพโซเวียตมีความแข็งแกร่งด้านกำลังทัพและเพียบพร้อมด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมากกว่ากองทัพของประเทศตะวันตกในช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)*

 หลังการลงนามในสนธิสัญญาราปัลโล การค้าระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตก็พัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็วระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๓ หนึ่งในสามของสินค้าเข้าของสหภาพโซเวียตเป็นสินค้าเยอรมันและปริมาณสินค้าเข้าจากเยอรมนีก็เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงร้อยละ ๔๗ ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เยอรมนีจึงกลายเป็นประเทศคู่ค้าหลักของสหภาพโซเวียตอีกครั้งหนึ่ง ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๒ เยอรมนีและสหภาพโซเวียตยังขยายความตกลงซึ่งถือเป็นความตกลงเพิ่มเติม (supplementary agreement) ของสนธิสัญญาราปัลโลโดยอนุโลมให้ใช้ร่วมกับสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตที่รวมอยู่ในสหภาพโซเวียตด้วยอีก ๖ สาธารณรัฐ คือ ยูเครน (Ukraine) ไวต์รัสเซีย (White Russia) จอร์เจีย (Georgia) อาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan) อารีเมเนีย (Armenia) และสาธารณรัฐแห่งตะวันออกไกล (Republic of the Far East) ความตกลงเพิ่มเติมฉบับนี้มีทั้งหมด ๘ มาตรา และลงนามร่วมกันที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๒

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เยอรมนีซึ่งมีกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พยายามแก้ไขความขัดแย้งระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับปัญหาเส้นเขตแดนระหว่างประเทศตามที่สนธิสัญญาแวร์ซายกำหนดไว้ ชเตรเซมันน์และเซอร์ออสเตน เชมเบอร์เลน (Austen Chamberlain)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้ร่วมกันผลักดันการประชุมระหว่างประเทศขึ้นในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ และนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaties of Locarno)* ซึ่งมีทั้งหมด ๗ ฉบับ สนธิสัญญาโลคาร์โนทำให้เยอรมนีมีสถานภาพเท่าเทียมกับประเทศตะวันตกอื่น ๆ และความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสก็ลดลงทั้งก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สหภาพโซเรียตกลับเห็นว่าสนธิสัญญาโลคาร์โนเป็นความพยายามของประเทศทุนนิยมตะวันตกที่มุ่งคุกคามสหภาพโซเวียตด้วยการโดดเดี่ยวสหภาพโซเวียตจากยุโรปและต้องการทำลายความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตในสนธิสัญญาราปัลโล ค.ศ. ๑๙๒๒ ความหวาดวิตกของสหภาพโซเวียตดังกล่าวทำให้เยอรมนีต้องจัดทำความตกลงกับสหภาพโซเวียตอีกครั้งเพื่อเน้นความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างทั้ง ๒ ประเทศซึ่งนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเบอร์ลิน (Treaty of Berlin) เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๖ สนธิสัญญาฉบับนี้มีทั้งหมด ๔ มาตรา ซึ่งสรุปสาระสำคัญคือ ทั้ง ๒ ประเทศยืนยันความตกลงร่วมมือในสนธิสัญญาราปัลโล ค.ศ. ๑๙๒๒ ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกโจมตีโดยประเทศที่สาม อีกฝ่ายหนึ่งจะดำเนินนโยบายเป็นกลางและจะไม่ควํ่าบาตรทางการค้าและเศรษฐกิจต่อกัน สนธิสัญญาเบอร์ลินทำให้เยอรมนีสามารถขยายตลาดการค้าและเพิ่มปริมาณการส่งออกกับสหภาพโซเวียตมากขึ้นและสร้างความกดดันแก่โปแลนด์ซึ่งวิตกว่าสหภาพโซเวียตจะสนับสนุนเยอรมนีโนการแก้ไขปรับเส้นเขตแดนระหว่าง ๒ ประเทศ

 อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ (Great Depression ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๒)* ที่สืบเนื่องจากการที่ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาประสบความหายนะ เยอรมนีซึ่งเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถชำระหนี้สินและค่าปฏิกรรมสงครามได้ทั้งถูกบีบให้ชำระเงินกู้ยืมเศรษฐกิจเยอรมนีจึงถลำลงสู่ความพินาศและทำให้พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ที่มีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* เป็นผู้นำก้าวสู่อำนาจทางการเมืองในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ฮิตเลอร์ต่อต้านลัทธิสังคมนิยมและเกลียดชังคอมมิวนิสต์การก้าวสู่อำนาจของเขาได้ทำให้ความสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหารและการค้าของทั้ง ๒ ประเทศสิ้นสุดลง สนธิสัญญาราปัลโลจึงล้มเลิกลงโดยปริยายรวมทั้งสนธิสัญญาฉบับอื่น ๆ ที่ยึดความตกลงของสนธิสัญญาราปัลโลเป็นพื้นฐานของความตกลงระหว่างประเทศ.



คำตั้ง
Rapallo, Treaty of
คำเทียบ
สนธิสัญญาราปัลโล
คำสำคัญ
- กองทัพแดง
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- โคมินเทิร์น
- ชิเชริน, เกออร์กี วาซีเลวิช
- เซคท์, ฮันส์ ฟอน
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- ภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่
- ยูเครน
- ราเทเนา, วัลเทอร์
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- ลัทธิสังคมนิยม
- ไวต์รัสเซีย
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาเบอร์ลิน
- สนธิสัญญาราปัลโล
- สนธิสัญญาโลคาร์โน
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การโคมินเทิร์น
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1922
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-