Mahan, Alfred Thayer (1840-1914)

พลเรือตรี อัลเฟรด เทเยอร์ มาฮาน (๒๓๘๓-๒๔๕๗)

​​     อัลเฟรด เทเยอร์ มาฮาน เป็นพลเรือตรีแห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาและนักประวัติศาสตร์ด้านยุทธนาวีที่มีชื่อเสียง เขาเสนอทฤษฏีเรื่องอำนาจทาง ทะเลซึ่งมีสาระสำคัญว่า ประเทศที่มีแสนยานุภาพทางทะเลและสามารถครอบครองอำนาจทางทะเลได้จะประสบความสำเร็จทางการเมืองระหว่างประเทศ มีความยิ่งใหญ่ทางการทหารและมั่งคั่งจากการค้าทางทะเล ทฤษฎีของเขามีบทบาทและอิทธิพลต่อการสร้างแสนยานุภาพและการแข่งขันในยุคจักรวรรดินิยมที่ทำให้หลายประเทศนอกจากสหรัฐอเมริกา ได้แก่

อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น เร่งสร้างกองทัพเรือให้ยิ่งใหญ่และมีประสิทธิภาพเพื่อความเป็นชาติมหาอำนาจอย่างแท้จริง
     มาฮานเกิดเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ค.ศ. ๑๘๔๐ ที่เมืองเวสต์พอยต์ (West Point) รัฐนิวยอร์ก เขาเป็นบุตรชายของเดนนิส ฮาร์ต มาฮาน (Dennis Hart Mahan) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโยธาและการทหารของโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ และแมรี เฮเลนา มาฮาน (Mary Helena Mahan) มาฮานศึกษาที่ มหาวิทยาลัยโคลัมเบียรัฐนิวยอร์ก ๒ ปีก่อนจะย้าย ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายเรือสหรัฐอเมริกาที่เมืองแอนแนโพลิส (Annapolis) รัฐแมริแลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๕๖ และสำเร็จการศึกษาเป็นลำดับที่ ๒ ของชั้นเรียนใน ค.ศ. ๑๘๕๙ เขาเริ่มรับราชการเป็นนายทหารเรืออาชีพยศ เรือตรี และแม้ว่ามาฮานจะเป็นนายทหารเรือที่มีความรู้ด้านทฤษฎีและยุทธศาสตร์ทางทะเลเป็นเลิศ แต่เขากลับไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่เป็นกะลาสีเรือและผู้บัญชาการเรือเท่าที่ควร เพราะเรือที่เขาประจำการอยู่มักเกิดอุบัติเหตุชนกับเรือลำอื่นที่จอดทอดสมอหรือขณะกำลังแล่นอยู่หลายครั้ง
     ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของสงครามกลางเมืองอเมริกัน (American Civil War) มาฮานได้ปฏิบัติหน้าที่บนเรือคองเกรส (Congress) เรือพอคาฮอนทัส (Pocahontas) และเรือเจมส์ แอดเจอร์ (James Adger) ของฝ่ายสหพันธรัฐตามลำดับ ทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารประจำตัวนาวาเอก เพอร์ซิวัลเดรย์ตัน (Percival Drayton) ผู้บัญชาการเรือรบสหรัฐพอคาฮอนทัส เรือที่เขาประจำการปฏิบัติหน้าที่ปิดล้อมฝ่ายสมาพันธรัฐทางทะเล ยกเว้นเพียงครั้งเดียวที่มีส่วนร่วมในการต่อสู้เมื่อเรือพอคาฮอนทัสได้รับคำสั่งให้ร่วมกับเรือลำอื่น ๆ ของฝ่ายสหพันธรัฐโจมตีฟอร์ตวอล์กเกอร์ (Fort Walker) ที่เมืองพอร์ตรอยัล (Port Royal) รัฐเซาท์แคโรไลนาของฝ่ายสมาพันธรัฐ อย่างไรก็ตาม เรือพอคาฮอนทัสเผชิญกับพายุและมีปัญหา เครื่องยนต์ขัดข้องทำให้เดินทางมาถึงสมรภูมิเมื่อทหารของฟอร์ตวอล์กเกอร์ยอมแพ้ไปแล้ว
     หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง มาฮานยังคงปฏิบัติหน้าที่ทางทะเลในน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกใน ค.ศ. ๑๘๖๕ เขาก็ได้เลื่อนยศเป็นนาวาตรี และใน ค.ศ. ๑๘๗๒ เป็นนาวาโท ค.ศ. ๑๘๘๕ มาฮานก็ได้เลื่อนยศเป็นนาวาเอก ในการปฏิบัติภารกิจทางทะเลครั้งสุดท้ายของมาฮานบนเรือรบสหรัฐชิคาโก (USS Chicago) ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ ก็ยังเกิดอุบัติเหตุขึ้นเมื่อเรือชิคาโกได้ชนเข้ากับเรือรบสหรัฐแบนครอฟต์ (USS Bancroft) ซึ่งเป็นเรือฝึกของราชนาวี ที่ท่าเรือเมืองบรุกลิน (Brooklyn) กรุงนิวยอร์ก แม้ว่าเรือทั้ง ๒ ลำ ไม่เสียหายมากนักแต่ก็ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุในประวัติการทำหน้าที่ ทหารเรือของเขาเพิ่มขึ้น หลังจากนั้น มาฮานทำหน้าที่สอนหนังสือเพียงอย่างเดียวจนกระทั่งเกษียณอายุราชการใน ค.ศ. ๑๘๙๖
     นอกจากการปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพเรือแล้วมาฮานยังมีความสามารถในการเขียนหนังสือเกี่ยวกับยุทธนาวี ใน ค.ศ. ๑๘๘๓ หนังสือเล่มแรกของเขาว่าด้วยประวัติศาสตร์ยุทธนาวีในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกันชื่อ The Gulf and Inland Waters ก็ได้รับการจัดพิมพ์เผยแพร่ และต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๘๖ เขาได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนด้านยุทธศาสตร์และประวัติศาสตร์นาวีที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ที่เมืองนิวพอร์ต (Newport) รัฐโรดไอแลนด์ (Rhode Island) และในกลาง ค.ศ. ๑๘๘๐ เขาก็ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือจนถึงต้น ค.ศ. ๑๘๘๙ เขากลับมาดำรงตำแหน่งนี้อีกครั้งหนึ่งระหว่างวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๙๒ ถึงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ ที่โรงเรียนเสนาธิการแห่งนี้ มาฮานได้รู้จักและเป็นเพื่อนกับทีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) อาจารย์แลกเปลี่ยนซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีของประเทศ นอกจากนี้ เขายังรู้จักกับจอห์น เจย์ (John Jay) และเฮนรี แคบอต ลอดจ์ (Henry Cabot Lodge) นักการเมืองผู้มีอำนาจซึ่งสนับสนุนการขยายดินแดนโพ้นทะเลของสหรัฐอเมริกา และต่างเห็นพ้องกันว่า แสนยานุภาพทางทะเลมีความสำคัญและจำเป็นต่อการสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งของสหรัฐอเมริกา
     มาฮานเคยมีความคิดว่าสหรัฐอเมริกาควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศและมีกองทัพก็เพียงเพื่อป้องกันประเทศเท่านั้น แต่หลังจากศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และอิทธิพลของอำนาจทางทะเลเพื่อใช้ในการสอนแล้ว เขาเริ่มเปลี่ยนความคิดโดยเห็นว่าสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องมีกองทัพเรือที่เข้มแข็งเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่แก่ประเทศ แนวความคิดดังกล่าวจึงเป็นที่มาของทฤษฏีว่าด้วยอำนาจทางทะเลซึ่งนับว่าเป็นความคิดใหม่มากสำหรับคนอเมริกันในขณะนั้นที่ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งความสนใจให้กับการขยายดินแดนไปทางตะวันตก ในเวลาต่อมาทฤษฎีของเขามีอิทธิพล อย่างมากต่อการสร้างจักรวรรดินิยมอเมริกันซึ่งรวมถึงการยึดครองหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน หมู่เกาะฮาวายหมู่เกาะฟิลิปปิน และเกาะอื่น ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อใช้เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือในการปกป้องเส้นทางการค้าและรักษาดุลอำนาจในเอเชียเพื่อให้นโยบายเปิดประตูด้านการค้าและวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกาดำเนินไปได้ รวมทั้งการขุดคลองปานามาเพื่อเป็นเส้นทางลัดสำหรับเรือสินค้าและเรือรบในการเดินทางระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก
     หลักยุทธศาสตร์ของมาฮานได้มาจากการศึกษาเรื่องการแข่งขันอำนาจระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษในการสร้างอาณานิคม (colonialism) และการขยายแสนยานุภาพของประเทศ โดยเฉพาะนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา เขาเห็นว่าการที่อังกฤษมีแสนยานุภาพทางทะเลทำให้สามารถป้องกันเกาะอังกฤษจากการบุกยึดครองและการปิดล้อมทางทะเลของฝรั่งเศสได้หลายครั้ง เช่น ในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* โดยเฉพาะยุทธนาวีที่แหลมทราฟัลการ์ (Battle of Trafalgar)* และช่วงที่ฝรั่งเศสใช้ระบบภาคพื้นทวีป (Continental System)* อย่างไรก็ตาม มีผู้โต้แย้งมาฮานว่า การพิจารณาว่ากองทัพเรือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการขึ้นมามีอิทธิพลของอังกฤษเป็นการละเลยต่อปัจจัยอื่น ๆ ที่อังกฤษมีอยู่แล้ว เช่น ความสามารถด้านการทูตประสิทธิภาพของกองทัพบก ทฤษฎีของเขายังไม่สามารถอธิบายถึงการขึ้นมามีอิทธิพลของประเทศที่ไม่ได้มีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง เช่น เยอรมนีในสมัยของอัครมหาเสนาบดีออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* มาฮานเห็นว่าประเทศในโลกแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายคือฝ่ายที่เป็นเจ้าทางทะเล เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น กับฝ่ายที่มีอิทธิพลทางบกเช่นเยอรมนีรัสเซียเขาสนับสนุนให้ฝ่ายที่มีอำนาจทางทะเลร่วมมือกันปราบปรามฝ่ายที่มีอิทธิพลทางพื้นดินโดยเชื่อว่าหากฝ่ายที่มีอำนาจทางทะเลสามารถปิดล้อมทางทะเลได้สำเร็จก็จะมีชัยชนะในสงคราม และเมื่อญี่ปุ่นสามารถขยายอำนาจในเอเชียตะวันออกได้จากชัยชนะในสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย (Russo-Japanese War)*ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ มาฮานก็ยิ่งมองเห็นความสำคัญของอำนาจทางทะเลมากขึ้น
     มาฮานเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือการแสวงหาอำนาจของประเทศต่าง ๆ นั่นเอง ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างประเทศจึงเกิดขึ้นได้เสมอโดยเฉพาะในยุคของการสร้างจักรวรรดิโพ้นทะเลที่ชาติมหาอำนาจต่างพยายามจะครอบครองเส้นทางการค้าและทรัพยากรเขาเชื่อว่าประเทศที่สามารถควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลจะได้เปรียบในการทำสงคราม เพราะหากสามารถกีดกันประเทศคู่แข่งไม่ให้ใช้เส้นทางติดต่อค้าขายทาง ทะเลได้ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจของคู่แข่งตกต่ำและเปิดโอกาสให้สามารถเอาชนะได้ง่าย องค์ประกอบพื้นฐานใน การเป็นผู้ครองอำนาจทางทะเลตามทฤษฏีของมาฮานมี ๓ ประการ ประการแรก ต้องมีอาวุธเพียงพอและมี ประสิทธิภาพซึ่งหมายถึงเรือรบขนาดใหญ่และฐานทัพที่มีทรัพยากรพร้อม ประการที่ ๒ มีความสามารถในการผูกขาดเส้นทางการค้าเพื่อสร้างความมั่งคั่ง เพิ่มกำลังพลและทรัพยากร และประการสุดท้าย มีอาณานิคมที่สามารถให้การสนับสนุนปัจจัยทั้ง ๒ อย่างที่กล่าวมาข้างต้น มาฮานเชื่อว่าประเทศที่จะชนะสงครามต้องมีกองเรือรบที่มีเรือรบขนาดใหญ่ติดอาวุธที่มีประสิทธิภาพประจำการอยู่เพื่อให้สามารถต่อสู้แบบเผชิญหน้ากับศัตรูได้ทันท่วงที เขาไม่เห็นด้วยกับการมีเรือรบขนาดเล็กและใช้ยุทธวิธีซุ่มโจมตีซึ่งเป็นยุทธวิธีที่กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเคยใช้มาโดยตลอด ส่งผลให้มีการปฏิรูปกองทัพเรืออเมริกันจนประสบชัยชนะในการทำสงครามกับสเปน ค.ศ. ๑๘๙๘ และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* การรบทางทะเลก็มีบทบาทสำคัญในการปกป้องประเทศและจักรวรรดิโพ้นทะเลเป็นอย่างยิ่ง มาฮานยังเห็นว่ายุทธวิธีสำคัญในการทำสงครามทางทะเลคือต้องพยายามทำลายเรือรบที่เป็นกำลังสำคัญของศัตรูให้เสียหายยับเยินเพื่อให้สามารถปิดล้อมเส้นทางการค้าและทำลายเรือลำอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะศัตรูจะสร้างเรือหรือเสริมกำลังทหารขึ้นมาใหม่ได้ยากและไม่ทันเหตุการณ์ ส่วนฝ่ายที่มีกำลังอ่อนแอกว่าก็ต้องพยายามต่อสู้ถ่วงเวลาให้สงครามยืดยาวไปนานเท่าที่จะทำได้เพราะเมื่อศัตรูยังไม่สามารถจัดการขั้นเด็ดขาดได้ ก็จะไม่กล้าแบ่งเรือรบส่วนหนึ่งไปปิดกั้นเส้นทางคมนาคม มาฮานเรียกร้องให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอาวุธทันสมัยที่ประเทศต่าง ๆ ครอบครองอยู่น่าจะมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขึ้นได้
     ทฤษฏีว่าด้วยอำนาจทางทะเลที่มาฮานสอนที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือได้รับการจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The Influence of Sea Power upon History, 1660-1783 ( ค.ศ. ๑๘๙๐) และเป็นหนังสือชุด ๒ เล่มชื่อ The Influence of Sea Power upon the French Revolution and Empire, 1793-1812 ( ค.ศ. ๑๘๙๒) ในช่วงที่เป็นอาจารย์ มาฮานมีงานเขียนทั้งหมด ๒๑ เล่มในจำนวนนี้เป็นหนังสือรวมบทความ ๑๑ เล่มหนังสือชีวประวัตินายทหารเรือ ๒ คนคือ พลเรือเอกเดวิด ฟาร์รากัต (David Farragut) และไวส์เคานต์ฮอเรชีโอ เนลสัน (Horatio Nelson)* หนังสือบันทึกความทรงจำ ๒ เล่ม และหนังสือชุดเกี่ยวกับอิทธิพลของ อำนาจทางทะเลซึ่งเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๖๖๐-๑๘๑๕
     หนังสือที่ว่าด้วยอิทธิพลของอำนาจทางทะเลที่มาฮานเขียนขึ้นได้รับความสนใจมากโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังแข่งขันกันขยายอำนาจและสะสมอาวุธเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย ญี่ปุ่น และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย สเปน ญี่ปุ่น ทฤษฏียุทธนาวีของเขาได้รับการศึกษาอย่างละเอียดและมีอิทธิพลต่อการสร้างกองทัพเรือของหลายประเทศในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ อังกฤษทำการปฏิรูปกองทัพเรือครั้งใหญ่ให้ทันสมัยและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเรือรบของตนเอง เยอรมนีก็เห็นความจำเป็นที่ต้องสร้างกองทัพเรือ ไกเซอร์ วิลเลียมที่ ๒ (William II)* ทรงรับสั่งให้ทหารเรือเยอรมันทุกคนศึกษาผลงานของมาฮาน พลเรือเอก อัลเฟรด ฟอน ทิร์พิทซ์ (Alfred von Tirpitz) ก็ยังอ้างถึงทฤษฎีของมาฮานในการของบประมานเพื่อสร้างกองเรือได้สำเร็จ นอกจากนี้ การทำสงครามทางทะเลหลายครั้งก็เป็นไปตามทฤษฎีของมาฮาน เช่น ยุทธนาวีที่สึชิมา (Battle of Tsushima ค.ศ. ๑๙๐๔)* และยุทธนาวีที่คาบสมุทรจัตแลนด์ (Battle of Jutland ค.ศ. ๑๙๑๖)* หนังสือชุดอิทธิพลของอำนาจทางทะเลยังเป็นตำราเรียนของนักเรียนนายเรือญี่ปุ่นและอยู่ในชุดอุปกรณ์ ของกัปตันเรือรบของญี่ปุ่นด้วย
     มาฮานยืนยันว่าทุกประเทศควรฉวยโอกาสจากการที่บ้านเมืองสงบสุขในการเพิ่มผลผลิตและสร้างเรือที่มีประสิทธิภาพในการขนส่งมากขึ้น และควรแสวงหาดินแดนโพ้นทะเลไม่ว่าในรูปแบบของอาณานิคมหรือสิทธิพิเศษในการทำการค้า อย่างไรก็ตาม เขาก็เห็นว่าดินแดนโพ้นทะเลที่ใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพไม่ควรจะใหญ่จนใช้ทรัพยากรของประเทศแม่มากเกินไป ในกรณีที่ กองทัพเรือไม่สามารถป้องกันรักษาความปลอดภัยของน่านน้ำของประเทศไปพร้อม ๆ กับดูแลปกป้องเส้นทางเดินเรือในทะเลที่อยู่ไกลออกไป ก็ควรใช้เรือที่มีสมรรถภาพสูงในการป้องกันรักษาน่านน้ำของประเทศและใช้กองเรือที่ มีสมรรถนะต่ำลงไปป้องกันส่วนพื้นน้ำที่อยู่ไกลออกไป
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๘๙๒ มาฮานได้รับมอบหมายงานในสำนักเดินเรือ (Bureau of Navigation) และเกษียณใน ค.ศ. ๑๘๙๖ หลังเกษียณอายุจนกระทั่งถึงแก่กรรม เขาอาศัยอยู่ที่ลองไอแลนด์ นครนิวยอร์กกับภรรยาและบุตรสาว อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสงครามสเปน-สหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๘๙๘ มาฮานได้เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการทหารเรือซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา อย่างไม่เป็นทางการของผู้บัญชาการทหารเรือ หลังสงครามสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๘๙๙ เขาได้เป็นผู้แทนของสหรัฐอเมริกาในการประชุมกรุงเฮก (Hague Conference)* ครั้งแรกซึ่งมีรัสเซียเป็นผู้ริเริ่มเพื่อแสวงหาวิธีการระงับความขัดแย้งระหว่างประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกตลอดจนควบคุมการลดกำลังอาวุธแต่ที่ประชุมไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่สำคัญในการจำกัดอาวุธยกเว้นการเห็นชอบให้จัดตั้งศาลระหว่างประเทศที่กรุงเฮก แม้เกษียณราชการแล้ว แต่มาฮานก็ยังคงเขียนหนังสือเกี่ยวกับยุทธนาวีอย่างต่อเนื่อง เขาได้รับรางวัลเกียรติคุณจากสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั้งในอังกฤษ เช่น มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และในสหรัฐอเมริกา เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยเยล มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในเดือน กันยายน ค.ศ. ๑๙๐๒ มาฮานเขียนบทความชื่อ "The Persian Gulf and International Relations" ลงในวารสาร National Review และเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า "ตะวันออกกลาง" (Middle East) ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นพลเรือตรีจากการที่สภา คองเกรสเลื่อนตำแหน่งให้นายทหารยศเรือเอกทุกคนที่รบในสงครามกลางเมืองและเกษียณแล้ว ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ มาฮานรับตำแหน่งในสถาบันคาร์เนกี (Carnegie Institution) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ เขาแสดงความเห็นใจอังกฤษ แต่ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) สั่งห้ามเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันทุกคนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสงครามมาฮานเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ เริ่มต้นได้ไม่กี่เดือน ขณะอายุ ๗๔ ปี
     ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* แนวความคิดว่าด้วยอำนาจทางทะเลของมาฮานยังมีอิทธิพลต่อการวางแผนสงครามของญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก เพราะญี่ปุ่นมุ่งสร้างเรือดำน้ำที่มีระบบการทำงานประสานกับกองเรือรบและใช้ยุทธวิธีเน้นการทำลายฐานที่มั่นสำคัญซึ่งเป็นไปตามทฤษฏีของมาฮานที่ว่าเมื่อกองกำลังหลักของศัตรูถูกทำลายก็จะประสบอุปสรรคในการฟื้นฟูสมรรถนะเพื่อต่อสู้ต่อไปญี่ปุ่นคาดหวังว่าการทิ้งระเบิดถล่มฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Habour) ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ จะทำให้สหรัฐอเมริกาทำสงครามในแปซิฟิกไม่ได้ผล แต่ญี่ปุ่นคาดการณ์ผิดเพราะสหรัฐอเมริกายังคงสามารถต่อสู้ทำสงครามได้ต่อไปจนมีชัยชนะในที่สุด ยุทธวิธีของมาฮานเกี่ยวกับอำนาจทางทะเลจึงล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของสงครามครั้งใหม่ที่เป็นการต่อสู้ทางทะเลด้วยเรือดำน้ำและการทำสงครามทางอากาศ.



คำตั้ง
Mahan, Alfred Thayer
คำเทียบ
พลเรือตรี อัลเฟรด เทเยอร์ มาฮาน
คำสำคัญ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- เพิร์ลฮาร์เบอร์
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- เนลสัน, ไวส์เคานต์ฮอเรชีโอ
- ฟาร์รากัต, เดวิด
- สงครามนโปเลียน
- สงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย
- ระบบภาคพื้นทวีป
- รูสเวลต์, ทีโอดอร์
- ลอดจ์, เฮนรี แคบอต
- ยุทธนาวีที่ทราฟัลการ์
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- เจย์, จอห์น
- สงครามกลางเมืองอเมริกัน
- เวสต์พอยต์, เมือง
- พอร์ตรอยัล, เมือง
- ฟอร์ตวอล์กเกอร์
- เดรย์ตัน, เพอร์ซิวัล
- มาฮาน, แมรี เฮเลนา
- มาฮาน, เดนนิส ฮาร์ต
- บรุกลิน, เมือง
- มาฮาน, อัลเฟรด เทเยอร์
- การประชุมที่กรุงเฮก
- ทิร์พิทซ์, อัลเฟรด ฟอน
- ยุทธนาวีที่คาบสมุทรจัตแลนด์
- วิลสัน, วูดโรว์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1840-1914
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๘๓-๒๔๕๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf