Lansdowne, Henry Charles Keith Petty-Fitzmaurice, 5th Marquis of (1845-1927)

เฮนรี ชาลส์ คีท เพตตี-ฟิตซ์มอริตซ์ มาร์ควิสที่ ๕ แห่งแลนส์ดาวน (๒๓๘๗-๒๔๗๐)

​​

     เฮนรี ชาลส์ คีท เพตตี-ฟิตซ์มอริตซ์ มาร์ควิสที่ ๕ แห่งแลนส์ดาวน์ เป็นข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำแคนาดา (Governor-General of Canada) และอุปราชอังกฤษประจำอินเดีย (Viceroy of India) อีกทั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามและกระทรวงการต่างประเทศก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ลอร์ดแลนส์ดาวน์มีบทบาทสำคัญในการทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสทำความตกลงฉันมิตร (Anglo-French Entente หรือ Entente Cordiale)* ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ ซึ่งปูทางสู่ความเป็นพันธมิตรร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เขาเริ่มชีวิตการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกพรรคเสรีนิยม แต่เมื่อวิลเลียม อีวาร์ต แกลดสโตน (William Ewart Gladstone ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๙๘)* หัวหน้าพรรคเสรีนิยมมีนโยบายอะลุ้มอล่วยต่อไอร์แลนด์ (Ireland)* และต่อมาถึงกับมีนโยบายให้สิทธิปกครองตนเอง (Home Rule) ลอร์ดแลนส์ดาวน์อยู่ในกลุ่มสมาชิกพรรคที่ไม่เห็นด้วยและต้องการให้อังกฤษผนวกไอร์แลนด์ตลอดไป (Liberal Unionists) เขาจึงหันไปร่วมมือกับวิพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และเข้าร่วมรัฐบาลพรรคนี้ที่ มีรอเบิร์ต เซซิล มาร์ควิส ที่ ๓ แห่งซอลส์เบอรี (Robert Cecil, 3rd Marquis of Salisbury ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๙๐๓)* เป็นผู้นำ
     เฮนรี ชาลส์ คีท เพตตี-ฟิตซ์มอริตซ์เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ค.ศ. ๑๘๔๕ ที่กรุงลอนดอนในตระกูลขุนนางชั้นสูง โดยเป็นบุตรชายคนโตของมาร์ควิสที่ ๔ แห่งแลนส์ดาวน์กับสตรีซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาร์ล โมรีซ เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์ เจ้าชายแห่งเบเนวอง (Charles Maurice de Talleyrand-Périgord, Prince de Bénévent ค.ศ. ๑๗๕๔-๑๘๓๘)* นักการเมืองฝรั่งเศสผู้ช่ำชองและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First French Empire)* และสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๒๔)* เขาได้รับการศึกษาจากโรงเรียนอีตัน (Eton) และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) เมื่อบิดาเสียชีวิตลงใน ค.ศ. ๑๘๖๖ เขาก็ได้รับสืบทอดบรรดาศักดิ์เป็นมาร์ควิสที่ ๕ แห่งแลนส์ดาวน์ พร้อมทั้งได้มรดกทรัพย์สินและที่ดินจำนวนมหาศาลด้วย
     ในช่วงรัฐบาลพรรคเสรีนิยมชุดแรกของแกลดสโตน ลอร์ดแลนส์ดาวน์เริ่มมีบทบาทบริหารจากตำแหน่งไม่สำคัญนักในกระทรวงการคลังเมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๘ ต่อมาก็ได้เป็นปลัดกระทรวงสงครามระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๒-๑๘๗๔ เมื่อแกลดสโตนกลับมาจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งที่ ๒ แทนที่เบนจามิน ดิสเรลี (Benjamin Disreali ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๘๑)* หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมใน ค.ศ. ๑๘๘๐ แลนส์ดาวน์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอินเดีย อย่างไรก็ดี เขาลาออกจากตำแหน่งในเวลาอันสั้นเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายยืดหยุ่นต่อไอร์แลนด์ของแกลดสโตนในการผลักดันให้ผ่านร่างกฎหมายที่ดินในไอร์แลนด์ เพราะเดิมนั้นชาวไอริชถูกจำกัดสิทธิในการถือครองและซื้อขายที่ดิน และยังจะให้มีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้เช่าที่ดินชาวไอริชที่ถูกเจ้าของขับไล่ออกจากที่ดิน [ฝ่ายชาวไอริชที่ต่อสู้เพื่อการถือครองที่ดินในเขตประเทศตนได้จัดตั้ง สันนิบาตที่ดินแห่งไอร์แลนด์ (Irish Land League) ขึ้น โดยมีชาลส์ สจวต พาร์เนลล์ (Charles Stewart Parnell ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๘๙๑)* เป็นผู้นำ เขามีฉายาว่า "กษัตริย์ไร้มงกุฎแห่งไอร์แลนด์" (The uncrowned King of Ireland)] การที่แลนส์ดาวน์ไม่เห็นด้วยกับแกลดสโตนนั้นเป็นที่เข้าใจได้เพราะเขาครอบครองที่ดินอันกว้างใหญ่ไพศาลในไอร์แลนด์ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ กล่าวคือ ลอร์ดแลนส์ดาวน์เป็นทายาทสายตรงของเซอร์วิลเลียม เพตตี (William Petty ค.ศ. ๑๖๒๓-๑๖๘๗)* ชาวอังกฤษซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายแพทย์ประจำกองทหารอังกฤษในไอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๖๕๒ ทำให้เขามีโอกาสสำรวจที่ดินในไอร์แลนด์ที่อังกฤษเข้ายึดครองใน ค.ศ. ๑๖๔๑ จากนั้นเซอร์เพตตีก็ได้ตั้งโรงงานผลิตเหล็กทำเหมืองตะกั่ว ทำอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในเขตที่ดินที่เขาซื้อทางตะวันตกเฉียงใต้ของไอร์แลนด์ อีกทั้งในสมัยพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ (Charles II ค.ศ. ๑๖๖๐-๑๖๘๕)* เซอร์วิลเลียม เพตตียังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมรังวัดที่ดินอีกด้วย
     อย่างไรก็ดี แม้แลนส์ดาวน์จะมีปฏิกิริยาต่อนโยบายไอร์แลนด์ของรัฐบาล ใน ค.ศ. ๑๘๘๓ แกลดสโตนก็แต่งตั้งเขาเป็นข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำแคนาดา ช่วงที่เขาอยู่ในตำแหน่งนี้ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๘๘๘ แลนส์ดาวน์ทำความตกลงกับชาวอินเดียนพื้นเมืองที่ก่อการประท้วงอังกฤษเป็นระยะ ๆ และสามารถใช้ความรู้ภาษาฝรั่งเศสในการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้ชาวแคนาดาซึ่งเป็นพวกเชื้อสายฝรั่งเศสยอมรับเขามากขึ้น นอกจากนี้ แลนส์ดาวน์ยังได้อำนวยการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายแคนาดาแปซิฟิก (Canadian Pacific Railway) จนสำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๘๖
     เมื่อแลนส์ดาวน์พ้นตำแหน่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำแคนาดา รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมของมาร์ควิสที่ ๓ แห่งซอลส์เบอรีกำลังบริหารประเทศอยู่ลอร์ดซอลส์เบอรีส่งเขาไปเป็นอุปราชแห่งอินเดีย ช่วงที่เขาประจำการที่นั่นระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๘๙๔ แลนส์ดาวน์ก็ทำงานได้อย่างดี อินเดียอยู่ในภาวะสงบยกเว้นแต่มีการประท้วงช่วงสั้น ๆ ในรัฐมณีปุระ (Manipur) ซึ่งเป็นรัฐอิสระเท่านั้น ในการประท้วงครั้งดังกล่าว ติเกนทราชิต (Tikendrajit) ผู้นำในการก่อความวุ่นวายก็ถูกตัดสินประหารชีวิต ที่อินเดียนี้ แลนส์ดาวน์ได้จัดตั้งหอสมุดและหอจดหมายเหตุแห่งจักรวรรดิขึ้นสั่งปิดโรงกษาปณ์ของชาวอินเดียที่เคยผลิตเหรียญเงินอย่างเสรี จึงทำให้เงินรูปีมีเสถียรภาพมากขึ้น ยกเลิกระบบกองทัพและจัดระบบตำรวจใหม่ จัดตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นใหม่ซึ่งให้สมาชิกสภาอภิปรายเรื่องการเงินและแปรญัตติได้ มีการขยายเส้นทางรถไฟและระบบงานชลประทาน อาณาจักรสิกขิม (Sikkhim) ที่เป็นอิสระอยู่ก็ถูกผนวกเข้ามาเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ ซึ่งใน ค.ศ. ๑๘๘๘ ได้มีการแบ่งเขตแดนของรัฐนี้กับทิเบตและใน ค.ศ. ๑๘๙๒ ฮุนซา (Hunza) และนาการ์ (Nagar) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของอัฟกานิสถานที่อยู่ติดกับอินเดียก็ถูกผนวกเข้ามารวมกับอินเดียด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ ลอร์ดซอลส์เบอรีได้แต่งตั้งลอร์ดแลนส์ดาวน์ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามซึ่งเขาก็ได้ปรับปรุงงานของกระทรวงนี้ด้วยดีแต่การที่กองทหารอังกฤษเพลี่ยงพล้ำในการรบในสงครามบัวร์ (Boer Wars)* ครั้งที่ ๒ หลายหนในช่วงนี้ แลนส์ดาวน์จึงถูกโจมตีอย่างรุนแรงว่าไม่ได้เตรียมกองทัพอังกฤษให้พร้อมจนทำให้การสู้รบระหว่างอังกฤษกับพวกบัวร์ที่แคว้นนาตาล (Natal) และทางเหนือของเคปโคโลนี (Cape Colony)* ใน ค.ศ. ๑๘๙๙-๑๙๐๐ นั้นเพลี่ยงพล้ำ พวกบัวร์สามารถล้อมเมืองเลดีสมิท (Ladysmith) ในแคว้นนาตาล [เมืองเลดีสมิทเรียกตามชื่อภริยาของเซอร์แฮรีสมิท (Sir Harry Smith ค.ศ. ๑๗๘๗-๑๘๖๐) ผู้ว่าราชการเคปโคโลนีใน ค.ศ. ๑๘๔๗] เมืองคิมเบอร์ลีย์ (Kimberley) ในเคปโคโลนีซึ่งเป็นแหล่งเพชรที่โด่งดังตั้งแต่มีการขุดพบแร่นี้ใน ค.ศ. ๑๘๗๑ และเมืองเมฟิกิง (Mafiking) ในเคปโคโลนีได้ถึง ๔ เดือน ที่กล่าวขวัญกันมากคือความพ่ายแพ้ของฝ่ายอังกฤษในช่วงการรบเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๙ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ ๑๐-๑๕ ธันวาคม ซึ่งอังกฤษแพ้ในยุทธการที่เมืองสตอร์มเบิร์ก (Stormberg วันที่ ๑๐ ธันวาคม) เมืองมาเกิร์สฟอนเตน (Magersfontein,วันที่ ๑๑ ธันวาคม) และเมืองโคเลนโซ (Colenso วันที่ ๑๕ ธันวาคม) ทหารอังกฤษเสียชีวิตทั้งหมดเกือบ ๓,๐๐๐ คนเพียงใน ๑ สัปดาห์จนถึงกับใช้คำว่า "สัปดาห์ที่มืดมน" (black week) ในการเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ ชาวอังกฤษตื่นตกใจมากเมื่อทราบข่าว รัฐบาลจึงต้องส่งกำลังเข้าไปในแอฟริกาใต้เพิ่มเติม และเมื่อมีเสียงเรียกร้องให้ถอดถอนลอร์ดแลนส์ดาวน์ออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีซอลส์เบอรีจึงเปลี่ยนให้เขาไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนเขาใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างอื้ออึง
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๐๖ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญในประวัติศาสตร์การทูตของอังกฤษที่มีการหันเหจากการดำเนินนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว (Splendid Isolation) แลนส์ดาวน์ก็ทำหน้าที่ได้ดีจนทำให้มีการลงนามในสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่นใน ค.ศ. ๑๙๐๒ เพื่อที่ จะถ่วงดุลและสะกัดการรุกคืบของรัสเซียในเขตชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และเพื่อป้องกันการเข้าไปแบ่งเขตอิทธิพลในจีนระหว่างเยอรมนี รัสเซีย และฝรั่งเศสต่อมาแลนส์ดาวน์ก็มีบทบาทสำคัญในการจัดทำความตกลงฉันมิตรระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๔ เพราะทั้ง ๒ ฝ่ายเริ่มตระหนักแล้วว่าเยอรมนีกำลังจะเป็นภัยที่ น่าเกรงขามยิ่งกว่าความรู้สึกเป็นอริที่มีมาตั้งแต่เก่าแก่ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสจึงเห็นพ้องกันว่าควรจะยุติข้อพิพาทที่มีอยู่ระหว่างกันอันเนื่องมาจากการหาประโยชน์ในดินแดนต่าง ๆ ได้แก่ แอฟริกาตะวันตก มาดากัสการ์ (Madagascar) สยามหมู่เกาะนิวเฮบริดีส [ (New Hebrides) ปัจจุบันคือสาธารณรัฐวานูอาตู (Vanuatu) ในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้] และสิทธิในการทำประมงนอกชายฝั่งนิวฟันด์แลนด์ (Newfoundland) อย่างไรก็ตาม ชาวอังกฤษจำนวนมากก็ยังคงคิดว่าฝรั่งเศสเป็นชาติศัตรูของตน ส่วนชาวฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยก็ถือว่าอังกฤษเป็นชาติทรยศและไว้ใจไม่ได้ (perfidious Albion)
     ตามความตกลงนี้ ฝรั่งเศสเปิดทางสะดวกให้แก่อังกฤษในการพัฒนาดินแดนอียิปต์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ฝรั่งเศสเข้าไปขยายอิทธิพลในดินแดนโมร็อกโกแต่ต้องไม่มีการสร้างป้อมค่ายอันจะเป็นการคุกคามดินแดนยิบรอลตาร์ (Gibraltar)* อาณานิคมของอังกฤษที่ตั้งอยู่ปากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน การทำความตกลงระหว่าง ๒ ชาตินี้เป็นการยุติความขุ่นเคืองใจที่มีต่อกันอย่างรุนแรงตั้งแต่ ๖ ปีก่อนในเหตุการณ์ฟาโชดา (Fashoda Incident)* ซึ่งเกือบจะก่อให้เกิดสงครามระหว่างกันแล้วในครั้งนั้นหากฝรั่งเศสไม่ลดความแข็งกร้าวลง และเป็นการประสานการทำงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๓ ระหว่างลอร์ดแลนส์ดาวน์เอเวอลีน แบริง เอิร์ลแห่งโครเมอร์ (Evelyn Baring, Earl of Cromer ค.ศ. ๑๘๔๑-๑๙๑๗) กงสุลใหญ่อังกฤษประจำอียิปต์ เตโอฟีล เดลกาเซ (Théophile Delcassé ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๙๒๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส และปอล กองบง (Paul Cambon ค.ศ. ๑๘๔๓-๑๙๒๔) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอน
     อนึ่ง มีหลายคนเข้าใจว่า พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๑๐)* ประมุของค์ใหม่ของอังกฤษ มีบทบาทสำคัญซึ่งมีส่วนผลักดันให้เกิดการทำความตกลงฉันมิตร ค.ศ. ๑๙๐๔ กล่าวคือ การเสด็จเยือนกรุงปารีสในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๓ ได้ช่วยปูทางในการปรับความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ประเทศ ในระยะแรกของการเสด็จไปถึงพระองค์ทรงเผชิญกับการต้อนรับอย่างเย็นชา แต่ในที่สุดพระราชอัธยาศัยที่เป็นกันเองและพระจริยาวัตรอันงดงามก็ทำให้ชาวฝรั่งเศสพึงพอใจกับการเสด็จเยือนครั้งนี้ อีก ๓ เดือนต่อมาประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็ไปเยือนอังกฤษตอบแทน อย่างไรก็ดี การทำความตกลงครั้งนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ ไม่ใช่สนธิสัญญาพันธมิตรที่ผูกพันให้ ๒ ประเทศร่วมมือในการต่อต้านเยอรมนี แต่เป็นการทำความตกลงเพื่อขจัดปัดเป่าข้อพิพาทที่ทำให้ทั้ง ๒ ฝ่ายบาดหมางกันอยู่เท่านั้น ส่วนสนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสได้ลงนามกันเมื่อสงครามโลกเกิดขึ้นแล้ว
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๑๐ เมื่อพรรคเสรีนิยมกลับมาเป็นรัฐบาล แลนส์ดาวน์ทำหน้าที่ผู้นำสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภาขุนนางและร่วมมือกับสมาชิกพรรคเสรีนิยมที่ต้องการผนวกไอร์แลนด์ไว้ ในช่วงนี้มีความขัดแย้งหลายครั้งระหว่างสภาสามัญกับสภาขุนนางเกี่ยวกับการออกกฎหมายต่าง ๆ ร่างกฎหมายฉบับที่เป็นปัญหามาก คือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณที่เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George ค.ศ. ๑๘๖๓-๑๙๔๕)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ ตามร่างกฎหมายนี้จะมีการเก็บภาษีที่ดินและภาษีรายได้ที่สูงเกินกว่า ๓,๐๐๐ ปอนด์ พร้อมทั้งเพิ่มอัตราอากรมรดกให้สูงขึ้น ทั้งนี้เพราะรัฐบาลพรรคเสรีนิยมมีโครงการปฏิรูปสังคม จำนวนมากรวมทั้งต้องการเสริมแสนยานุภาพด้านทัพเรือ สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมและเสรีนิยมที่ต้องการผนวกไอร์แลนด์ซึ่งมีรายได้จากที่ดินเป็นสำคัญคัดค้านอย่างรุนแรง แลนส์ดาวน์พยายามประนีประนอมทั้ง ๒ ฝ่ายแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะสภาขุนนางไม่ยอมผ่านร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าว ดังนั้นเฮอร์เบิร์ต เฮนรี แอสควิท (Herbert Henry Asquith ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๙๒๘)* หัวหน้าพรรคเสรีนิยมจึงขอพระราชทานคำมั่นสัญญาจากพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ ว่าจะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาขุนนางสังกัดพรรคเสรีนิยมเพิ่มขึ้นเพื่อให้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาสามัญได้รับความเห็นชอบจากสภาขุนนางในที่สุด แม้กษัตริย์จะยังไม่ต้องทรงใช้มาตรการเด็ดขาดดังกล่าวแก้ปัญหา ร่างกฎหมายงบประมาณฉบับประชาชน (People’s Budget) ที่ลือลั่นนี้ก็สามารถผ่านสภาขุนนางได้ภายหลังที่มีการจัดเลือกตั้งทั่วไปถึง ๒ ครั้งใน ค.ศ. ๑๙๑๐ แต่ในที่สุดสภาสามัญก็ได้ออกพระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. ๑๙๑๑ (Parliament Act of 1911) ตัดทอนอำนาจสภาขุนนางลง ตามกฎหมายใหม่นี้สภาขุนนางจะไม่มีสิทธิยับยั้งร่างกฎหมายที่ผ่านสภาสามัญเหมือนเช่นแต่ก่อน ถ้าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินจะชะลอการใช้บังคับได้ ๑ เดือน แต่กฎหมายอื่น ๆ จะชะลอได้ ๒ ปี (ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๙ มีพระราชบัญญัติรัฐสภาฉบับใหม่ออกมาและลดทอนเหลือเพียง ๑ ปี)
     เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ แลนส์ดาวน์ได้เป็นรัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวงในรัฐบาลผสมที่มีแอสควิทเป็นผู้นำระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๕-๑๙๑๖ ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ขณะที่สถานการณ์รบไม่สู้ดีนักสำหรับฝ่ายสัมพันธมิตรจนบางคนเห็นลางแห่งความพ่ายแพ้ แต่ลอยด์ จอร์จซึ่งกำลังรับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุทโธปกรณ์และสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาวุธจนผู้คนชื่นชมได้ให้สัมภาษณ์ในวันที่ ๒๘ กันยายนว่าการรบจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และสงครามจะยุติลงเมื่อศัตรูเป็นฝ่ายถูกโค่นลง (knockout) อย่างไรก็ดี ลอยด์ จอร์จกลับเผยความในใจกับเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเป็นการส่วนตัวว่า "เรากำลังจะแพ้สงคราม" และคงจะเป็นด้วยเหตุนี้ที่ทำให้ไม่กี่วันต่อมา แลนส์ดาวน์จึงได้มีบันทึกช่วยจำให้แก่แอสควิท ระบุว่าการโค่นฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ลงยังคงห่างไกลมากจึงควรจะพิจารณาลู่ทางที่อังกฤษจะตกลงสันติภาพกับเยอรมนีเพื่อยุติสงคราม กล่าวกันว่าแอสควิทเห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าว แต่ความเห็นของคนทั้งสองขัดแย้งกับความรู้สึกของชาวอังกฤษทั่วไปกอปรกับการกดดันภายในรัฐบาลที่จะให้ลอยด์ จอร์จขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศแทนจึงทำให้แอสควิทต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด
     ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๗ หลังจากที่ทั้งแลนส์ดาวน์และแอสควิทพ้นจากตำแหน่งแล้วทั้งคู่แลนส์ดาวน์ยังได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งไปยังหนังสือพิมพ์ London Daily Telegraph ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า "จดหมายแลนส์ดาวน์" (Landsdowne Letter) เรียกร้องให้ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนในการทำสงครามและเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณายุติการสู้รบด้วยการทำความตกลงอย่างสันติกับเยอรมนี จดหมายฉบับนี้ทำให้แลนส์ดาวน์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงและทำให้วิถีทางการเมืองของเขาต้องสิ้นสุดลง
     เฮนรี ชาลส์ คีท เพตตี-ฟิตซ์มอริตซ์ มาร์ควิสที่ ๕ แห่งแลนส์ดาวน์ถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองคลอนเมล (Clonmel) ในไอร์แลนด์เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๗ ขณะอายุ ๘๒ ปี.



คำตั้ง
Lansdowne, Henry Charles Keith Petty-Fitzmaurice, 5th Marquis of
คำเทียบ
เฮนรี ชาลส์ คีท เพตตี-ฟิตซ์มอริตซ์ มาร์ควิสที่ ๕ แห่งแลนส์ดาวน
คำสำคัญ
- เคปโคโลนี
- คลอนเมล, เมือง
- กฎหมายงบประมาณฉบับประชาชน
- โคเลนโซ, เมือง
- ติเกนทราชิต
- นิวเฮบริดีส, หมู่เกาะ
- พระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. ๑๙๑๑
- มหาอำนาจกลาง
- กองบง, ปอล
- เดลกาเซ, เตโอฟีล
- นิวฟันด์แลนด์
- สมิท, เซอร์แฮรี
- เลดีสมิท, เมือง
- สัปดาห์ที่มืดมน
- หลุยส์ที่ ๑๘, พระเจ้า
- เมฟิกิง, เมือง
- สงครามบัวร์
- มาเกิร์สฟอนเตน, เมือง
- เพตตี, เซอร์วิลเลียม
- พรรคอนุรักษนิยม
- คิมเบอร์ลีย์, เมือง
- นโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว
- ยุทธการที่เมืองสตอร์มเบิร์ก
- พาร์เนลล์, ชาลส์ สจวต
- ฝรั่งเศสที่ ๑, จักรวรรดิ
- นาตาล, แคว้น
- สันนิบาตที่ดินแห่งไอร์แลนด์
- ดิสเรลี, เบนจามิน
- ซอลส์เบอรี, รอเบิร์ต แกสคอยน์-เซซิลมาร์ควิสที่ ๓ แห่ง
- แกลดสโตน, วิลเลียม อีวาร์ต
- มาดากัสการ์
- วานูอาตู, สาธารณรัฐ
- แอสควิท, เฮอร์เบิร์ต เฮนรี
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- เพตตี-ฟิตซ์มอริตซ์, เฮนรี ชาลส์ คีท,มาร์ควิส ที่ ๕ แห่งแลนส์ดาวน์
- ชาลส์ที่ ๒, พระเจ้า
- ชาร์ล โมรีซ เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์ เจ้าชายแห่งเบเนวอง
- ความตกลงฉันมิตร
- แบริง, อเวอลีน เอิร์ลแห่งโครเมอร์
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- เหตุการณ์ฟาโชดา
- เอดเวิร์ดที่ ๗, พระเจ้า
- ยิบรอลตาร์
- จดหมายแลนส์ดาวน์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1845-1927
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๘๗-๒๔๗๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf