สนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีเป็นสนธิสัญญาที่เกิดจากความร่วมมือของประเทศมหาอำนาจทั้งสี่ ได้แก่ อังกฤษ ออสเตรีย ปรัสเซีย และรัสเซีย ลงนามที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๕ เป็นการยํ้าความร่วมมือระหว่างกันที่มีมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๑๓ ในการทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศสในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* วัตถุประสงค์สำคัญของสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีคือ เพื่อป้องกันมิให้ฝรั่งเศสขยายอำนาจได้อีกและรักษาสันติภาพของยุโรปใน ค.ศ. ๑๘๑๘ ฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอีก ๑ ประเทศ และเกิดเป็นสนธิสัญญาพันธไมตรีเบญจภาคี (Quintuple Alliance) แม้ต่อมาจะมีความขัดแย้งกันในระหว่างสมาชิกในการตีความของข้อตกลงที่แตกต่างกันและการประชุมร่วมกันได้ยุติลงใน ค.ศ. ๑๘๒๕ แต่เจตนารมณ์ของการรักษาสันติภาพของสนธิสัญญาก็ดำรงในหมู่สมาชิกไปจนกระทั้งเกิดสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)* ที่ประเทศภาคีสมาชิกเข้าสู้รบกันเอง
หลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ทรงพ่ายแพ้แก่กองทัพของฝ่ายประเทศมหาอำนาจพันธมิตรในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)* เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดของสงครามนโปเลียนที่เริ่มขึ้นนับตั้งแต่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงสถาปนาจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)* ใน ค.ศ. ๑๘๐๔ ความปราชัยของฝรั่งเศสมีผลให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จำต้องสละราชบัลลังก์อีกครั้งในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ โดยครั้งนี้อังกฤษส่งพระองค์ไปคุมขังที่เกาะเซนต์เฮเลนา (St. Helena) ซึ่งตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ในฐานะนักโทษทางการเมือง ขณะเดียวกัน ฝ่ายประเทศมหาอำนาจพันธมิตรก็ได้ดำเนินการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ต่อให้เสร็จสิ้นตามข้อตกลงสนธิสัญญาแห่งเวียนนา (Treaty of Vienna) ที่ได้ร่วมกันลงนามเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน เพื่อป้องกันการขยายอำนาจและอิทธิพลของฝรั่งเศสในอนาคต ตลอดจนการจัดดุลอำนาจในยุโรป โดยประเทศมหาอำนาจที่ชนะในสงครามจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของดินแดนหรือในรูปแบบใด ๆ อย่างทัดเทียมกัน นอกจากนี้ ยังต้องทำให้ยุโรปเกิดสันติภาพอีกครั้ง ดังนั้น ด้วยเจตนารมณ์ดังกล่าวของที่ประชุมจึงทำให้เกิดการจัดทำสนธิสัญญาพันธไมตรีขึ้น ๒ ฉบับ ได้แก่ พันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Alliance)* ในวันที่ ๒๔ กันยายน ค.ศ. ๑๘๑๕ โดยซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)* เป็นผู้ที่เสนอให้ใช้หลักการทำงคริสต์ศาสนาเป็นกรอบในการดำเนินกิจกรรมระหว่างประเทศ ให้กษัตริย์และประมุขทุกพระองค์ในยุโรปใช้สายสัมพันธ์ทางคริสต์ศาสนาสร้างความรักและความสามัคคีดุจพี่น้องชาวคริสต์ ยึดหลักความยุติธรรม ความโอบอ้อมอารี และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตลอดจนหลักการสันติภาพเป็นหลักปฏิบัติต่อกัน แต่ว่าคำประกาศดังกล่าวก็มีความสับสนและคลุมเครือ และไม่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังไม่มีความสำคัญทางด้านการเมืองในเวลาต่อมาด้วย ส่วนสนธิสัญญาพันธไมตรีอีกฉบับคือ สนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีที่มีความสำคัญมากกว่าและถือว่าเป็นการสร้าง “นวัตกรรมทางการทูต” ขึ้นในประวัติศาสตร์การทูตในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ด้วย
สนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการทำสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒ (Second Treaty of Paris) เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๕ โดยมีประเทศมหาอำนาจทั้งสี่คือ อังกฤษ ออสเตรีย ปรัสเซีย และรัสเซีย ร่วมกันลงนาม ความตกลงดังกล่าวนี้มาจากความคิดริเริ่มของอังกฤษ ซี่งมีไวส์เคานต์รอเบิร์ต สจวร์ต คาสเซิลเร (Robert Stewart Castlereagh)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษเป็นผู้ริเริ่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสันติภาพที่เกิดขึ้นหลังสงครามนโปเลียนให้ยืนยาวถาวรสาระสำคัญของความตกลงคือ มหาอำนาจพันธมิตรทั้งสี่ สัญญาจะช่วยรักษาข้อตกลงของสนธิสัญญาต่าง ๆ ได้แก่ สนธิสัญญาโชมง (Treaty of Chaumont ค.ศ. ๑๘๑๔) ที่มหาอำนาจพันธมิตรทั้งสี่ให้คำมั่นสัญญากันว่าจะเป็นพันธมิตรกันเป็นเวลา ๒๐ ปี เพื่อคานอำนาจกับฝรั่งเศสสนธิสัญญาเวียนนา ค.ศ. ๑๘๑๕ และสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒ ค.ศ. ๑๘๑๕ เกี่ยวกับการแบ่งดินแดนและป้องกันภัยคุกคามของฝรั่งเศส ตลอดจนการบังคับฝรั่งเศสให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสนธิสัญญาที่ได้กระทำร่วมกับนานาประเทศมหาอำนาจทั้งสี่สัญญาจะร่วมกันปฏิบัติตามข้อตกลงต่าง ๆ ดังกล่าวนี้เป็นเวลา ๒๐ ปี แต่ความตกลงที่สำคัญที่สุดระบุไว้ในมาตราที่ ๖ ของความตกลงพันธไมตรีจตุรภาคี กล่าวคือ ประเทศภาคีสนธิสัญญาตกลงจะจัดการประชุมร่วมกันเป็นครั้งคราวตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อพิจารณาปัญหาหรือกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่สนใจร่วมกันของประเทศภาคีสนธิสัญญา และกำหนดมาตรการที่จำเป็นในเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อรักษาสันติภาพของยุโรป มาตราที่ ๖ ของสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคียังนำไปสู่ความร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe)* หรือที่เรียกกันว่าระบบการประชุมใหญ่ (Congress System) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๒๕ ด้วย นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศมหาอำนาจยุโรปได้วางมาตรการและระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการรักษาสันติภาพ โดยการกำหนดให้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ระหว่างกันหรือวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศก่อนที่ปัญหาหรือวิกฤตการณ์จะลุกลามและนำไปสู่สงครามได้
ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๑๘ ประเทศมหาอำนาจทั้งสี่ได้จัดการประชุมใหญ่แห่งเอกซ์-ลา-ชาแปล (Congress of Aix-la-Chapelle) ที่เมืองเอกซ์-ลา-ชาแปลหรืออาเคิน (Aachen) ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีขึ้นเป็นครั้งแรก ทั้งยังเป็นการประชุมใหญ่ครั้งแรกเพื่อพิจารณาเรื่องสถานภาพของฝรั่งเศส ผู้แทนของประเทศมหาอำนาจต่างต้องการให้ฝรั่งเศสมีการปกครองที่ราบรื่นเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเมืองของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๒๕)* ในระหว่างการประชุม ชาร์ล โมริซ เดอ ตาเลรอง เปรีกอร์ (Charles Maurice de Tallyrand Périgord)* ผู้แทนฝรั่งเศสได้แสดงความสามารถทางการทูตและโน้มน้าวให้ที่ประชุมเห็นว่าฝรั่งเศสได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒ อย่างเคร่งครัด ทั้งยังได้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามตามข้อผูกมัดโดยไม่บิดพลิ้ว คำชี้แจงของตาเลรองทำให้มหาอำนาจพันธมิตรเห็นใจฝรั่งเศสและมีมติให้ถอนกองทัพพันธมิตรออกจากภาคเหนือของฝรั่งเศสก่อนกำหนดการยึดครอง ๕ ปี ซึ่งในขณะนั้นได้ยึดครองมาแล้วเป็นเวลา ๓ ปี นอกจากนี้ ที่ประชุมยังยอมรับให้ฝรั่งเศสมีฐานะเป็นมหาอำนาจเท่าเทียมตนและเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสร่วมลงนามเป็นพันธมิตรด้วย ก่อให้เกิดสนธิสัญญาพันธไมตรีเบญจภาคี ทำให้ฝรั่งเศสมีบทบาทและมีส่วนร่วมในความร่วมมือแห่งยุโรปหรือระบบการประชุมใหญ่ และทำให้ความสำคัญของสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีถูกแทนที่ด้วยสนธิสัญญาพันธไมตรีเบญจภาคี
หลังจากการประชุมใหญ่แห่งเอกซ์-ลา-ชาแปลแล้วประเทศมหาอำนาจยุโรปซึ่งรวมฝรั่งเศสด้วยได้จัดการประชุมใหญ่อีก ๔ ครั้ง ได้แก่ การประชุมใหญ่แห่งทรอพเพา (Congress of Troppau ค.ศ. ๑๘๒๐) การประชุมใหญ่แห่งไลบัค (Congress of Laibach ค.ศ. ๑๘๒๑) การประชุมใหญ่แห่งเวโรนา (Congress of Verona ค.ศ. ๑๘๒๒) และ การประชุมใหญ่แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Congress of St. Petersburg ค.ศ. ๑๘๒๔) ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้งก็เห็นถึงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันในหลักการและเป้าหมายของสนธิสัญญาพันธไมตรี สำหรับคาสเซิลเรซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดทำสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีต้องการใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นเครื่องมือในการป้องกันการขยายอำนาจของฝรั่งเศสและในการรักษาสันติภาพในยุโรป แต่สำหรับซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ และ เจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิช (Klemens Furst von Metternich)* เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรีย (ค.ศ. ๑๘๒๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดี) สาระของสนธิสัญญาพันธไมตรีคือ การปราบปรามการปฏิวัติในที่ต่าง ๆ เพื่อผดุงรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ในยุโรป ความขัดแย้งในการตีความหลักการและแนวคิดดังกล่าวทำให้คาสเซิลเรถอนตัวออกจากการประชุมใหญ่แห่งทรอพเพา ค.ศ. ๑๘๒๐ และการประชุมใหญ่แห่งไลบัค ค.ศ. ๑๘๒๑ ที่มีเป้าหมายในการส่งกองกำลังของออสเตรียเข้าปราบปรามการปฏิวัติในคาบสมุทรอิตาลี แม้อังกฤษจะพยายามคัดค้านอย่างมากต่อการแทรกแซงดังกล่าวแต่ไร้ผล ทั้งการประชุมใหญ่ดังกล่าวโดยเฉพาะที่ไลบัคก็ได้สร้างความแตกแยกอย่างมากยิ่งขึ้นในประเทศพันธมิตรอื่นๆ คือ ออสเตรีย รัสเซีย และปรัสเซียด้วย ส่วนฝรั่งเศสยังคงสงวนท่าทีอยู่ คาสเซิลเรเองก็ยังถูกพิษการเมืองโดยประชาชนอังกฤษโจมตีเขาอย่างรุนแรงว่าจัดทำสนธิสัญญาพันธไมตรีเพื่อปราบปรามพวกเสรีนิยมและพวกชาตินิยมกอปรกับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนที่มีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลสนับสนุนพระเจ้าจอร์จที่ ๔ (George IV ค.ศ. ๑๘๒๐-๑๘๓๐)* ให้ทรงหย่าขาดจากพระนางแคโรลีน (Caroline) เหตุการณ์ดังกล่าวจึงสร้างแรงกดดันทางอารมณ์ให้แก่คาสเซิลเรเป็นอันมากจนกลายเป็นโรคเครียด ทั้งเขายังหวาดระแวงผู้คนจนต้องพกพาอาวุธปืนติดตัวตลอดเวลาในที่สุด เขาก็ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๒๒ ก่อนการเปิดประชุมใหญ่แห่งเวโรนาเพียงเล็กน้อย ซึ่งคาสเซิลเรมีกำหนดการจะเข้าประชุมเพื่อพิจารณาปัญหากรีซและสเปน
ในการประชุมใหญ่แห่งเวโรนา ค.ศ. ๑๘๒๒ เมื่อรัสเซียและออสเตรียสนับสนุนให้ฝรั่งเศสส่งกองทัพไปปราบปรามพวกปฏิวัติในสเปนอังกฤษจึงถอนตัวออกจากการประชุมและปฏิเสธที่จะส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมอีก ซึ่งรวมถึงการประชุมใหญ่แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กใน ค.ศ. ๑๘๒๔ ที่จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของความร่วมมือของภาคีสมาชิกสนธิสัญญาพันธไมตรีหรือความร่วมมือแห่งยุโรปหรือระบบการประชุมใหญ่ ความล้มเหลวดังกล่าวนอกจากเกิดจากการถอนตัวของอังกฤษที่เป็นผู้จัดริเริ่มสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีและการที่อังกฤษสนับสนุนให้พระเจ้าจอห์นที่ ๖ (John VI ค.ศ. ๑๘๑๖-๑๘๒๖) แห่งโปรตุเกสซึ่งทรงสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยให้กลับคืนสู่พระราชอำนาจในขณะที่มหาอำนาจทั้ง ๔ ประเทศในที่ประชุมใหญ่แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสนับสนุนพระอนุชาที่นิยมระบอบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว ยังเกิดจากที่มหาอำนาจพันธมิตรทั้ง ๔ ประเทศโดยเฉพาะออสเตรีย ปรัสเซีย และรัสเซียต่างดำเนินโยบายแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นมากเกินขอบเขตและมีจุดมุ่งหมายจะขัดขวางขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปการเมืองตาม แนวคิดเสรีนิยม
ดังนั้น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความร่วมมือตามหลักการของสนธิสัญญาพันธไมตรีหรือความร่วมมือแห่งยุโรปหรือระบอบการประชุมใหญ่ก็หมดความหมายและความสำคัญลง และสิ้นสุดลงโดยปริยายเมื่อมหาอำนาจยุโรปก่อสงครามไครเมียใน ค.ศ. ๑๘๕๓ สงครามครั้งนี้ได้ดึงเอาอังกฤษ ฝรั่งเศสและปรัสเซียเข้าสู่สงครามกับรัสเซีย ซึ่งต่างก็เป็นประเทศพันธมิตรกันตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๒๐ ที่ผูกพันกันด้วยสนธิสัญญาพันธไมตรีเบญจภาคีที่มีพื้นฐานและเงื่อนไขจากสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคี
แม้ว่าในการดำเนินการของสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีหรือเบญจภาคีจะล้มเหลวแต่โดยทั่วไป นักการทูตของนานาประเทศต่างเห็นประโยชน์ของการจัดทำสนธิสัญญาพันธไมตรีเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ โดยสันติวิธีก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายเพื่อร่วมมือกันรักษาและเสริมสร้างสันติภาพ ข้อกำหนดของสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีที่จุดประกายความร่วมมือระหว่างประเทศรวมทั้งหลักการของความร่วมมือแห่งยุโรปหรือระบบการประชุมใหญ่ในการจัดการประชุมหารือและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาร่วมกันจึงเป็นแนวปฏิบัติที่ทุกประเทศต่างนำมาใช้กันอีกครั้งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และก่อนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* เช่น ในการประชุมกรุงเฮก (The Hague Conference)* ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ และ ค.ศ. ๑๙๐๗ เพื่อกำหนดแนวทางในการระงับความขัดแย้งระหว่างประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันตกมิให้บานปลายเป็นสงครามใหญ่ ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตการณ์สงครามบอลข่าน (Balkan Wars)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ อังกฤษซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้งสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีและเคยเห็นประโยชน์ของระบบการประชุมใหญ่อยู่แล้วจึงเรียกประชุมเอกอัครราชทูตของประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมปรึกษาหารือกันในการแก้ไขวิกฤติการณ์ จนประเทศคู่กรณียอมเจรจาทำสนธิสัญญาสงบศึกและสามารถหลีกเลี่ยงมหาสงครามไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง.