Lytton, Victor Alexander George Robert Bulwer-Lytton, 2nd Earl of (1876-1947)

วิกเตอร์ อะเล็กซานเดอร์ จอร์จ รอเบิร์ต บุลเวอร์-ลิตตัน เอิร์ลที่ ๒ แห่งลิตตัน (๒๔๑๙-๒๔๙๐)

​​​      ​​วิกเตอร์ อะเล็กซานเดอร์ จอร์จ รอเบิร์ต บุลเวอร์-ลิตตัน เอิร์ลที่ ๒ แห่งลิตตันเป็นข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำเบงกอล (Bengal) ในอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมสำคัญของอังกฤษระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๗ และเป็นประธานคณะกรรมาธิการของสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ที่ เดินทางไปสอบสวนเหตุการณ์ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย (Manchuria) และได้ จัดทำรายงานผลการสอบสวนซึ่งเรียกกันทั่วไปว่ารายงานลิตตัน (Lytton Report) ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ซึ่งต้องการประนีประนอมระหว่างญี่ปุ่นกับจีน


      บุลเวอร์-ลิตตันเกิดเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๗๖ ที่เมืองศิมลา (Simla) ประเทศอินเดีย ขณะที่เอดเวิร์ด รอเบิร์ต บุลเวอร์-ลิตตัน เอิร์ลที่ ๑ แห่งลิตตัน (Edward Robert Bulwer-Lytton, 1st Earl of Lytton ค.ศ. ๑๘๓๑-๑๘๙๑)* บิดาของเขาเพิ่งเข้ารับตำแหน่งอุปราชแห่งอินเดีย (Viceroy of India) ได้ไม่นาน บิดาของเขาถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่เขายังเป็นนักเรียน เขาจึงสืบทอดบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ ของบิดารวมทั้งเอิร์ลที่ ๒ แห่งลิตตัน บุลเวอร์-ลิตตันได้รับการศึกษาจากโรงเรียนอีตัน (Eton) และวิทยาลัยทรินิตี (Trinity) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* นั้น เขาได้รับราชการครั้งแรกในกระทรวงทหารเรือ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอินเดีย และใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ได้เป็นข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำเบงกอล ซึ่งในช่วงที่ดำรงตำแหน่งหลังนี้ บุลเวอร์-ลิตตันได้ปฏิบัติหน้าที่อุปราชแห่งอินเดียด้วยเป็นครั้งคราวเมื่อใดที่ อุปราชแห่งอินเดียอยู่ในช่วงลาพัก
     ระหว่างที่บุลเวอร์-ลิตตันประจำอยู่ในอินเดียนั้น เป็นช่วงสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองอินเดียเพราะอังกฤษกำลังจะบังคับใช้พระราชบัญญัติการปกครองอินเดีย ค.ศ. ๑๙๑๙ (Government of India Act of 1919) ท่ามกลางการคัดค้านของสภาแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress) ซึ่งต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เป็นโมฆะ พรรคสวราช (Swaraj Party) ซึ่งมักได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งสมาชิกสภา แต่ปฏิเสธที่จะจัดตั้งรัฐบาลมาโดยตลอด ก็ต้องการเลิกล้มรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๑๙ ที่ฝ่ายอังกฤษมีบทบาทสำคัญในการร่าง เมื่อพรรคใหญ่ไม่ร่วมมือ บุลเวอร์-ลิตตันจึงได้เชิญพรรคการเมืองเล็ก ๆ อื่น ๆ ร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลแทน แต่ภายในเวลา ๖ เดือน รัฐบาลก็ล้มและลาออกเพราะถูกสมาชิกพรรคสวราชอภิปรายไม่ไว้วางใจ
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ บุลเวอร์-ลิตตันซึ่งพ้นตำแหน่งข้าหลวงใหญ่แห่งเบงกอลแล้ว ได้รับมอบหมายจากสันนิบาตชาติให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการสอบสวนว่ากรณีที่ญี่ปุ่นบุกยึดครองแมนจูเรียซึ่งเป็นของจีนและเรียกกันว่า เหตุการณ์แมนจูเรีย (Manchurian Incident) นั้นเป็นการกระทำที่คุกคามต่อสันติภาพหรือไม่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ อิทธิพลของจีนซึ่งปกครองโดยราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) ที่เป็นพวกแมนจูเสื่อมลง ญี่ปุ่นและรัสเซียจึงแย่งกันขยายอิทธิพลเข้าไปในเขตแมนจูเรียซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ (ราชวงศ์ชิงนำดินแดนส่วนนี้รวมเข้ากับจีนใน ค.ศ. ๑๖๔๔) อันเป็นเขตที่มีถ่านหินและแร่เหล็กอุดมสมบูรณ์มาก ใน ค.ศ. ๑๘๙๖ จีนอนุญาตให้รัสเซียเช่าที่ดินบางส่วนบนคาบสมุทรเลียวตง (Liaodong) และให้สร้างทางรถไฟข้ามภาคเหนือของแมนจูเรียเพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทาง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย (Trans Siberian Railway) ของรัสเซียได้ เมื่อเกิดกบฏนักมวย (Boxer Rebellion) ขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๘-๑๙๐๐ ซึ่งชาวจีนลุกขึ้นโจมตีชาวต่างชาติและชาวจีนที่หันไปนับถือศาสนาคริสต์ รัสเซียจึงส่งทหารเข้าแมนจูเรีย ทำให้ญี่ปุ่นเห็นว่ารัสเซียอาจคุกคามเกาหลีซึ่งญี่ปุ่นมีผลประโยชน์อยู่มากและเป็นดินแดนในอารักขาที่ญี่ปุ่นได้จากการทำสงครามจีน-ญี่ปุ่น (Sino-Japanese War) ครั้งแรกระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๘๙๕ และหากรัสเซียเข้าไปยึดครองเกาหลีก็จะสกัดกั้นเส้นทางที่ญี่ปุ่นวางแผนจะเชื่อมต่อไปยังจีนญี่ปุ่นเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากแมนจูเรียเมื่อไม่สำเร็จจึงเกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo- Japanese War)* ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕ ขึ้น รัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โดยยอมลงนามในสนธิสัญญาพอร์ตสมัท (Treaty of Portsmouth) และต้องถอนตัวออกจากแมนจูเรีย ญี่ปุ่นได้สิทธิเช่าเมืองท่าพอร์ตอาเทอร์ [(Port Arthur) ปัจจุบันคือ ต้าเหลียน (Dalian)] ซึ่งอยู่ทางใต้ของคาบสมุทรเลียวตงแทนรัสเซีย ได้สิทธิสร้างทางรถไฟสายแมนจูเรียใต้ (South Manchurian Railway) และสามารถส่งทหารเข้ารักษาการตามเส้นทางรถไฟสายนี้และในคาบสมุทรเลียวตง ญี่ปุ่นจึงได้ครอบครองดินแดนแมนจูเรียประมาณครึ่งหนึ่ง
     เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ซึ่งกระทบกระเทือนเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งญี่ปุ่นซึ่งมีการลงทุนในต่างประเทศมากร้อยละ ๘๒ ของการลงทุนคือในจีนซึ่งประมาณ ๒ ใน ๓ คือในดินแดนแมนจูเรีย ญี่ปุ่นซึ่งต้องการให้ชาวญี่ปุ่นออกไปตั้งรกรากในแมนจูเรียจึงคิดจะผนวกแมนจูเรียอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อกีดกันรัสเซียอีกด้วยเมื่อมีข่าวว่าเจียง ไคเชก (Chiang Kaishek ค.ศ. ๑๘๘๗-๑๙๗๕) ผู้นำพรรคกว๋อหมินตั่งหรือก๊กมินตั๋ง (Guomindang) วางแผนจะรวมดินแดนจีนทั้งหมดเข้าด้วยกัน ในวันที่ ๑๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๑ กลุ่มทหารญี่ปุ่นชั้นผู้น้อยที่ประจำการที่คาบสมุทรเลียวตงก็เริ่มก่อการขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหมและฝ่ายเสนาธิการทหารที่กรุงโตเกียว แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่เห็นด้วยนักมีการระเบิดเส้นทางรถไฟนอกเมืองมุกเดน [(Mukden) ปัจจุบันคือเสิ่นหยาง (Shenyang)] และโจมตีค่ายทหารของจีนที่เมืองนี้จนญี่ปุ่นสามารถยึดครองเมืองมุกเดนและแมนจูเรียทั้งหมดได้ ทั้งนี้โดยอาศัยทหารญี่ปุ่นจากเกาหลีเดินทางมาสมทบภายหลังด้วย
     จีนจึงร้องเรียนไปยังองค์การสันนิบาตชาติคณะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีบุลเวอร์ลิตตันเป็นประธานได้เดินทางไปถึงแมนจูเรีย หลังจากที่ญี่ปุ่นได้สถาปนาแมนจูเรียเป็นแมนจูกัว (Manchukuo หรือดินแดนของชาวแมนจู) ซึ่งมีฐานะเป็นเพียงรัฐหุ่น (puppet state) เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ โดยมีเมืองมุกเดนเป็นเมืองหลวง และมีผู่อี๋ (Puyi) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนเป็นประมุข คณะกรรมาธิการได้สืบค้นข้อเท็จจริงและหาสาเหตุของการรุกรานอย่างจริงจังโดยพำนักอยู่ในแมนจูเรียเป็นเวลา ๖ สัปดาห์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๒ คณะกรรมาธิการได้นำเสนอ ‘รายงานลิตตัน’ ซึ่งระบุว่าจีนและญี่ปุ่นต่างก็ผิดด้วยกันทั้งคู่ จีนทำผิดที่มีการรณรงค์ต่อต้านญี่ปุ่นและปฏิเสธการประนีประนอมใด ๆ โดยกล่าวหาว่าญี่ปุ่นเป็นผู้รุกราน ส่วนญี่ปุ่นนั้นแม้ไม่ถูกประณามแต่รายงานก็ระบุว่าคณะกรรมาธิการไม่อาจยอมรับคำอธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามที่ญี่ปุ่นกล่าวอ้างได้ รายงานนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ และใน ค.ศ. ๑๙๓๓ สันนิบาตชาติได้รับรองรายงาน ญี่ปุ่นไม่พอใจและปฏิเสธที่จะรับรองรายงานแม้ว่ารายงานนั้นจะไม่ได้เสนอประเด็นการให้ความช่วยเหลือแก่จีน ญี่ปุ่นจึงได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติในปีเดียวกันนั้น ด้วยเหตุนี้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจึงคงดำเนินต่อไปและนำไปสู่สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ซึ่งต่อมาได้รวมเข้ากับสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕)*
     คณะกรรมาธิการของบุลเวอร์-ลิตตันแม้จะได้รับความชื่นชมจากการประกอบภารกิจสอบสวนเหตุการณ์แมนจูเรีย แต่สันนิบาตชาติก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในรายงานนัก บุลเวอร์-ลิตตันจึงผิดหวังมาก หลังจากนั้น เขายังได้ดำรงตำแหน่งประธานอีกหลายหน่วยงานแต่ไม่สู้สำคัญ เขาลาออกจากหน้าที่ต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๔๕
     วิกเตอร์ อะเล็กซานเดอร์ จอร์จ รอเบิร์ต บุลเวอร์-ลิตตัน เอิร์ลที่ ๒ แห่งลิตตันถึงแก่อนิจกรรมที่เนบเวิร์ทซึ่งเป็นที่ดินของตระกูลในมณฑลฮาร์ตฟ อร์ดเชียร์ (Hertfordshire) ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ขณะอายุ ๗๑ ปี.



คำตั้ง
Lytton, Victor Alexander George Robert Bulwer-Lytton, 2nd Earl of
คำเทียบ
วิกเตอร์ อะเล็กซานเดอร์ จอร์จ รอเบิร์ต บุลเวอร์-ลิตตัน เอิร์ลที่ ๒ แห่งลิตตัน
คำสำคัญ
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาพอร์ตสมัท
- สันนิบาตชาติ
- พระราชบัญญัติการปกครองอินเดีย ค.ศ. ๑๙๑๙
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- รายงานลิตตัน
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- เหตุการณ์แมนจูเรีย
- ลิตตัน, วิกเตอร์ อะเล็กซานเดอร์ จอร์จ รอเบิร์ต บุลเวอร์-ลิตตัน เอิร์ลที่ ๒ แห่ง
- ลิตตัน, วิกเตอร์ อะเล็กซานเดอร์ จอร์จ รอเบิร์ตบุลเวอร์-ลิตตัน เอิร์ลที่ ๒ แห่ง
- สงครามจีน-ญี่ปุ่น
- กบฏนักมวย
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1876-1947
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๑๙-๒๔๙๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf